๘๔ พรรษา จากทิพย์วิมานประทานกล่อมใจ
“บ้านอยู่ไหน อายุเท่าไร มีลูกกี่คน ทำมาหากินอะไร มีแหล่งน้ำใกล้หมู่บ้านหรือไม่ น้ำไหลไปทางไหน ใช้น้ำทำประโยชน์อะไร…”
กว่า ๕๐ ปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชปฏิสันถารกับราษฎรทั่วประเทศด้วยคำถามซ้ำ ๆ ไม่รู้ว่ากี่หมื่นกี่แสนครั้ง ด้วยพระองค์ทรงถือเอาเป็นพระราชธุระเสมอในอันที่จะพระราชทานพระราชดำริว่าด้วยการแสวงหาแหล่งน้ำ และสร้างที่กักเก็บน้ำเพื่อการเกษตร ตลอดจนถึงการแก้ปัญหาน้ำเสียและป้องกันน้ำท่วม นับแต่ต้นน้ำจรดฝั่งทะเล จากเขาสูงสู่ทุ่งราบ ทั้งในชนบทและเมืองหลวง เพื่อให้พสกนิกรทุกคนได้อยู่ “เป็นสุขทั้งสิ้น”
๒๕๕๔ น้ำเหนือนองปฐพี วารีพิบัติ
ย่างเข้าไตรมาสที่ ๓ ของปี ๒๕๕๔ ประเทศไทยเผชิญวิกฤตอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบเกินครึ่งศตวรรษ ๖๕ จังหวัดถูกประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัย รวมทั้งกรุงเทพมหานครใน ๓๗ เขตจาก ๕๐ เขต ทั้งประเทศมีผู้ไดรับความเดือดรอนกว่า ๔ ล้านครัวเรือน
เฉพาะเดือนกันยายนถึงตุลาคมประเมินว่ามีน้ำเหนือไหลบ่าลงมารวมกัน ณ ที่ราบลุ่มภาคกลาง-เจ้าพระยา ๒๑,๐๓๙ ล้านลูกบาศก์เมตร หรือราว ๒ เท่าของความจุเขื่อนภูมิพล
เราเห็นมวลน้ำเอ่อล้นเต็มพื้นที่ เห็นสายน้ำไหลปรี่ท่วมทะลักจนดูราวกับว่าทุ่งนา บ้านเรือน เรือกสวน แม่น้ำ ถนนหนทางทุกแห่งหนจมอยู่ในห้วงกระแสน้ำทั้งสิ้น สิ่งที่ตามมาคือภาพผู้คนทุกชนชั้นปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับน้ำ เราเห็นรอยยิ้ม-คราบน้ำตา มิตรภาพ-ความหวาดระแวง เห็นการกักตุนสินค้า เห็นศูนย์อพยพนับร้อยนับพันแห่ง
มหาอุทกภัย ’๕๔ คงทำให้คนไทยทั้งประเทศจดจำแบบไม่มีวันลืม แม้เมื่อฤดูกาลผันผ่าน กระแสน้ำก็ย่อมผ่านพ้นไป แต่เรื่องราวทั้งหลายในเหตุการณ์นี้ย่อมต้องได้รับการจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์แห่งภัยพิบัติของสังคมไทย