เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

“จักรพันธ์ลากเข้ามา…จักรพันธ์ลูกนี้ล็อกเข้ามาตรงกลาง…ไหลมาให้สุเชาว์ !  สุเชาว์ลูกนี้มาต่ออาเชียมปง  แล้วก็โอแฮนด์ซ่า โอ้โฮ ! เรียบร้อย !  แฮตทริกครับ โอ้โฮสุดยอดครับลูกนี้ !”

เสียงผู้บรรยายกำลังพากย์เกมรุกอันเร้าใจผ่านการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ พร้อมๆ กับภาพนักเตะทีมบุรีรัมย์ พีอีเอ วิ่งเข้าไปแสดงความดีใจกับเพื่อนร่วมทีม

ศึกลูกหนังระหว่าง “ปลาทูคะนอง” เอสซีจี สมุทรสงคราม เอฟซี กับ “ปราสาทสายฟ้า” บุรีรัมย์ พีอีเอ ที่เมืองแม่กลองวันนั้น ได้รับการบันทึกว่ามีแฟนบอลเข้าชมการแข่งขันในสนามไม่ต่ำกว่า ๕,๐๐๐ คน

ในสนามฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีกเวลานี้ ทำเอาแฟนบอลเลือดลมสูบฉีดได้ไม่น้อยหน้าบอลอังกฤษ อิตาลี สเปน เลยทีเดียว

ภาพแฟนบอลพาเหรดเข้าชมการแข่งขันแน่นสนาม ส่งเสียงเชียร์อย่างมีสีสันด้วยหัวใจเดียวกันเป็นทีมเวิร์ก มีอารมณ์ร่วมไปกับนักเตะที่วิ่งไล่บอลชนิดลืมตายตลอด ๙๐ นาที ดูจะไม่ใช่เรื่องปรกติสำหรับวงการฟุตบอลไทย

อย่างน้อยก็ในรอบ ๑๐ ปี ๒๐ ปีที่ผ่านมา

ด้วยรูปเกมสนุกสุดระทึก ด้วยความผูกพันระหว่างแฟนคลับกับสโมสรอันเป็นที่รักของพวกเขา

สำหรับแฟนบอล “ปลาทูคะนอง”  ผลแพ้ชนะครั้งนั้นอาจไม่สลักสำคัญเท่าการได้มีส่วนร่วมตะเบ็งเสียงเชียร์ทีมรัก-ทีมบ้านเกิด

สำหรับแฟนบอล “ปราสาทสายฟ้า” ที่ตามมาเชียร์ทีมรักของตน  นี่อาจเป็นอีกหนึ่งนัดที่สโมสร “เต็งจ๋า” คว้า ๓ แต้มมาครองได้ตามเป้าหมาย

ทว่าสำหรับวงการฟุตบอลอาชีพของไทย การแข่งขันทุกนัดคือประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่จารึกว่า วงการฟุตบอลไทยตื่นจากการหลับใหลอันยาวนานแล้ว

 

นักเตะต่างชาติเป็นสีสันและเป็นกำลังสำคัญของหลายสโมสรในฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีก
นักเตะเหล่านี้ต้องมีใบไอทีซีจึงมีสิทธิ์ค้าแข้งในลีกไทย

เปิดเทปบันทึกภาพความทรงจำ

ภาพความทรงจำครั้งยังสวมเครื่องแบบขาสั้นพร่ามัว ไม่แน่ชัดนักว่าเป็นการแข่งขันระดับสโมสรหรือทีมชาติ

หลังสัญญาณเลิกเรียน พวกเราจับรถเมล์สาย ๑๑ มุ่งหน้าสู่สนามศุภชลาศัย ชมการแข่งขันฟุตบอลไทยครั้งแรกในชีวิต

รูปเกมกระทั่งผลการแข่งขันเป็นอย่างไร ดูเหมือนจะจางหายไปในภาพความทรงจำ หากสิ่งที่จดจำได้แม่นยำคือภาพอัฒจันทร์สีขาวโพลนนั้นแทบไม่ปรากฏกองเชียร์

แม้พวกเราจะไปกันหลายคน ทว่าทั้งหมดซื้อตั๋วฟุตบอลเพียงใบเดียว

“ซื้อตั๋วหนึ่งใบเวียนใช้เข้าสนามได้”  เพื่อนคนหนึ่งยืนยันให้เรามั่นใจ ซึ่งก็เป็นดังที่ว่าจริง

ความหลังฝังใจทั้ง ๒ เรื่องคงพอปะติดปะต่อเรื่องเล่าของกูรูลูกหนัง (และก็คงเป็นอย่างที่เราพอรู้กัน) ว่า “ฟุตบอลไทยสมัยนั้น จำนวนนักเตะในสนามมากกว่ากองเชียร์”  อีกทั้งระบบระเบียบบริหารจัดการแข่งขันก็ยังอยู่ห่างชั้นจากคำว่ามืออาชีพ

นั่นคือประสบการณ์สัมผัสฟุตบอลไทยในสมัยที่วัยรุ่นคนหนึ่งเริ่มอดนอนรอดูเทปฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ และมีความคิดว่าน่าจะหาโอกาสทำความรู้จักฟุตบอลไทยบ้าง

ก่อนพบว่าฟุตบอลไทยสมัยนั้นแทบไม่มีอะไรให้น่าจดจำ

อย่างน้อยก็ในสายตาเด็ก ม.ต้นกลุ่มหนึ่ง

…………………………………

 

การแข่งขันฟุตบอลสโมสรไทยสมัยนั้นประกอบด้วยทัวร์นาเมนต์ชิงถ้วยรางวัลพระราชทานประเภท ก ข ค และ ง

“ถ้วย ก” เป็นถ้วยรางวัลสูงสุด เป็นเวทีสำหรับสโมสรชั้นแนวหน้า  ฟาดแข้งกันมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๙  ผู้คว้าแชมป์แรกไปครองคือสโมสรจากกรมมหรสพ ด้วยระบบการแข่งขันแบบ “ทัวร์นาเมนต์” คือเตะแพ้ตกรอบ ผู้ชนะผ่านเข้าไปพบสโมสรต่อไป

มีบันทึกว่าสโมสรทหารอากาศคว้าแชมป์ถ้วย ก ไปครองสูงสุด ๑๒ สมัย  และเป็นสโมสรสร้างชื่อให้แก่ศูนย์หน้าทีมชาติไทย ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ผู้ได้รับยกย่องเป็นนักเตะดาราเอเชีย

นั่นอาจเป็นยุคสุดท้ายก่อนฟุตบอลระดับสโมสรของไทยจะซบเซา  เล่ากันเป็นเชิงขำขันว่านักเตะในสนามมีจำนวนมากกว่ากองเชียร์  ซูเปอร์สตาร์ติดทีมชาติอย่าง เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง  เทิดศักดิ์ ใจมั่น  ดัสกร ทองเหลา  ตะวัน ศรีปาน ฯลฯ พาเหรดกันออกไปค้าแข้งยังต่างประเทศ ไม่ว่า “เอ็มลีก” ของมาเลเซีย  “เอสลีก” ของสิงคโปร์  “วีลีก” ของเวียดนาม ซึ่งล้วนให้ค่าจ้างสูงกว่าเมืองไทย ทั้งยังได้รับความสนใจจากแฟนบอลมากกว่า

ฟุตบอลถ้วย ก จัดการแข่งขันในฐานะถ้วยรางวัลระดับสูงสุดของไทยมาจนปี ๒๕๓๙  สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์จึงริเริ่มให้มีการแข่งขันระบบ “double round robin league” หรือฟุตบอลลีกเก็บคะแนนที่มีการแข่งแบบ “ทีมเหย้า” (เจ้าบ้าน) และ “ทีมเยือน”  ใช้เวลาการแข่งขัน ๘-๙ เดือนต่อ ๑ ฤดูกาล  ให้สโมสรที่เก็บสะสมคะแนนสูงสุดเมื่อสิ้นสุดฤดูกาลเป็นทีมชนะเลิศ สโมสรที่มีคะแนนน้อยร่วงตกชั้นลงไปเล่นในลีกระดับรองถัดไป

นี่เป็นระบบแข่งขันที่แฟนบอลไทยคุ้นเคยดีจากการติดตามฟุตบอลต่างประเทศ ไม่ว่าพรีเมียร์ลีกอังกฤษ บุนเดสลีกาเยอรมนี กัลโช่เซเรียอาอิตาลี ล้วนใช้ระบบนี้จนเป็นที่โปรดปรานของคอบอลทั่วโลก

ปี ๒๕๓๙ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ตกลงกับสโมสรที่เคยร่วมแข่งขันในฟุตบอลถ้วย ก จัดการแข่งขันฟุตบอลไทยลีกขึ้นครั้งแรก  เรียกชื่ออย่างเป็นทางการตามผู้สนับสนุนว่า “จอห์นนี วอล์กเกอร์ ไทยแลนด์ซอกเกอร์ลีก” แชมป์แรกตกเป็นของสโมสรธนาคารกรุงเทพ

ทว่าการแข่งขันฟุตบอลลีกของไทยในความคาดหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้น “ลีกอาชีพ” ก็ยังไม่ได้รับความนิยม ด้วยสโมสรทั้งหมดล้วนมีที่ตั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล  อีกทั้งเป้าหมายของการสร้างทีมก็เป็นไปเพื่อประชาสัมพันธ์องค์กรหรือหน่วยงาน  นักเลงลูกหนังบางคนถึงกับออกปากว่าบางสโมสรต้องการเพียงโควตาในการลงคะแนนเลือกตั้งนายกสมาคมฟุตบอลฯ ด้วยซ้ำไป

ปี ๒๕๔๒ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) จึงจัดการแข่งขันฟุตบอลลีกเพิ่มขึ้นอีก ๑ ลีก เรียกว่า โปรวินเชียลลีก หรือโปรลีก เตะคู่ขนานไปกับการแข่งขันฟุตบอลลีกของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ  กำหนดให้สโมสรในโปรลีกเป็นตัวแทนจากจังหวัดต่างๆ ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ

ทว่าโปรลีกก็ยังไม่ได้รับความนิยม

เจ็ดปีผ่านไปภายใต้ความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า ว่าวงการลูกหนังไทยคงไม่มีวัน “จุดติด” ได้รับความนิยมเหมือนฟุตบอลต่างประเทศ

ปี ๒๕๔๙ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ และ กกท. ตัดสินใจยุบรวมสองลีกเข้าเป็นหนึ่งเดียว  โดยรับเอา ๒ สโมสรที่มีผลงานดีที่สุดจากโปรลีกเข้ามาร่วมสังฆกรรมกับสโมสรชื่อดังในเมืองหลวง  การรวมตัวครั้งนั้นทำให้การแข่งขันฟุตบอลลีกของไทยประกอบขึ้นจากสโมสร “องค์กร-หน่วยงาน” และ สโมสร “ท้องถิ่น” ครั้งแรก

สิ้นสุดฤดูกาล ๒๕๕๐ ประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งก็ได้รับการจารึกเมื่อ “ฉลามชล”–ชลบุรี เอฟซี ยอดทีม “ภูธร” จากแผ่นดินริมทะเลตะวันออกที่มีฐานแฟนคลับของสโมสรรวมตัวเป็นกลุ่มก้อน ก็โชว์ฟอร์มสดคว้าตำแหน่งแชมป์ลีกไปครองชนิดหักปากกาเซียน

นี่อาจเป็นดั่งคำประกาศให้สาธารณชนทราบว่าสโมสรจากภูมิภาคไม่ได้อ่อนเชิงกว่าสโมสรจากส่วนกลางแต่อย่างใด

กระแสคลั่งไคล้ฟุตบอลไทยลีกก่อตัวขึ้นช้าๆ ทว่ามั่นคงแข็งแรง  ครึ่งหลังฤดูกาล ๒๕๕๒ ความสนใจฟุตบอลไทยลีก “ฟีเวอร์” ขึ้นอย่างเห็นได้ชัด  จากยอดผู้ชมในสนามเฉลี่ย ๑,๙๓๖ คนตอนต้นฤดูกาล  เพิ่มขึ้นเป็น ๔,๙๐๔ คนตอนท้าย  นับว่ามากขึ้นเกือบ ๓ เท่าตัว

ทว่าด้วยระบบการจัดการแข่งขันและการบริหารงานของสโมสรในช่วงนั้นก็ยังไม่พอที่จะเรียกว่านี่คือการแข่งขันฟุตบอล “อาชีพ” ของไทย ด้วยเบื้องหลังหลายสโมสรยังต้องพึ่งพางบประมาณจากหน่วยงานต้นสังกัดซึ่งมักเป็นรัฐวิสาหกิจหรือราชการ หาได้ยืนอยู่ได้ด้วยลำแข้งตัวเองจากการบริหาร “ธุรกิจลูกหนัง” เช่น จำหน่ายสินค้าที่ระลึก บัตรผ่านประตู ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดรวมทั้งหาสปอนเซอร์ ฯลฯ เหมือนสโมสรฟุตบอลในต่างประเทศไม่

แม้กระทั่งนักฟุตบอลจำนวนหนึ่งก็ยังคงใช้ชีวิตแบบ “เช้าชามเย็นชาม”  กลางวันซ้อมบอล กลางคืนดื่มเหล้า บางคนถึงขนาดประกอบอาชีพอื่นเป็นงานหลัก รับจ๊อบเตะฟุตบอลเป็นรายได้เสริมด้วยซ้ำไป

ต่อเมื่อสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ได้รับสาส์นฉบับหนึ่งจากสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย (เอเอฟซี)

เมื่อนั้นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ก็มาถึง

คำสั่งขาใหญ่  จุดเริ่มต้นลีกอาชีพของไทย

“ในปี ๒๕๕๑ เอเอฟซีประกาศวิสัยทัศน์ ‘วิชันเอเชีย’ (Vision Asia) ตั้งเป้าให้สโมสรฟุตบอลเอเชียดำเนินกิจการอย่างมืออาชีพและเติบใหญ่เทียบเท่ามาตรฐานยุโรป

“ข้อบังคับของวิชันเอเชียมีนับสิบข้อ ที่สำคัญเช่นให้สโมสรฟุตบอลในแต่ละประเทศต้องจดทะเบียนนิติบุคคลแสวงหาผลกำไรและรายได้ในรูปบริษัทธุรกิจอย่างเต็มตัว จะแจกบัตรฟรีหรือหาเสียงทางการเมืองไม่ได้ และต้องตั้งหน่วยงานรับผิดชอบจัดการแข่งขันขึ้นเฉพาะ หากไม่ปรับตัวก็ต้องถูกเขี่ยไปเป็นประเทศชั้นสองของวงการลูกหนังเอเชีย…

“คือถูกตัดสิทธิ์ส่งทีมลงเล่นในถ้วยสูงสุดของสโมสรเอเชีย คือ ‘เอเอฟซีแชมเปียนส์ลีก’ (AFC Champions League) ที่มีเงินรางวัลก้อนใหญ่เป็นรายได้ให้สโมสร  นี่เป็น ‘ยาแรง’ ที่ทำให้สโมสรฟุตบอลต้องยกเครื่องใหม่ถอดด้าม”

องอาจ ก่อสินค้า เลขาธิการสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ อธิบายเหตุการณ์ในยุค “เปลี่ยนผ่าน” ราว ๒-๓ ปีก่อน

นับตั้งแต่ปี ๒๕๓๙ ที่ประเทศไทยจัดการแข่งขันฟุตบอล “ไทยลีก” ขึ้นครั้งแรก  มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับลีกแห่งความฝันนี้แล้วหลายครั้ง ตั้งแต่เรื่องใหญ่ๆ อย่างการปรับรูปแบบเพื่อดึงดูดแฟนบอลเข้าสนาม ผลักดันกันทุกวิถีทาง  ครั้งหนึ่งถึงกับเคยจ้างคณะตลกมาเล่นช่วงพักครึ่ง !

หรือเรื่องเล็กๆ อย่างเปลี่ยนชื่อลีกไปตามผู้สนับสนุน เช่น จอห์นนี วอล์กเกอร์ ไทยแลนด์ซอกเกอร์ลีก, คาลเท็กซ์ พรีเมียร์ลีก, จีเอสเอ็ม ไทยลีก  แม้บางปีไม่มีผู้สนับสนุนก็ยังเปลี่ยนชื่อเป็น ไทยแลนด์ลีก ไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก หรือไทยพรีเมียร์ลีก

ทว่าคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดจะยิ่งใหญ่และสร้างความสั่นสะเทือนเท่า “วิชันเอเชีย” ระเบียบว่าด้วยการเป็นสโมสรฟุตบอลอาชีพตามที่สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชียกำหนด

สาส์นฉบับดังกล่าวทำให้สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ต้องตั้งบริษัทไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด จดทะเบียนเดือนกันยายน ๒๕๕๑ มาดูแลการจัดการแข่งขันฟุตบอลไทยลีกเป็นการเฉพาะ  รวมทั้งออกระเบียบให้สโมสรฟุตบอลอาชีพจดทะเบียนบริษัทนิติบุคคลเพื่อบริหารสโมสรในเชิงพาณิชย์อย่างเต็มตัว…

นั่นหมายความว่าทุกสโมสรต้องคำนึงถึงผลประกอบการ การอยู่รอดด้วยตัวเลขกำไร/ขาดทุน  บางสโมสรที่ไม่อาจปรับตัวได้ก็จำต้องขายกิจการหรือยุบสโมสรไป

เปิดดูรายชื่อสโมสรฟุตบอลในการแข่งขันฟุตบอลอาชีพของประเทศไทย ประจำปี ๒๕๕๔ “สปอนเซอร์ ไทยพรีเมียร์ลีก ๒๐๑๑” จึงไม่ปรากฏชื่อสโมสรยักษ์ใหญ่ในอดีตอย่างสโมสรธนาคารกรุงเทพ เจ้าของแชมป์ถ้วย ก ๙ สมัย และแชมป์ไทยลีกครั้งแรก

สโมสรธนาคารกรุงไทย แชมป์ไทยลีก ๒ สมัย ถูกเทกโอเวอร์โดยเจ้าของโรงงานขวดแก้วยักษ์ใหญ่และเบียร์ยี่ห้อดัง

ขณะที่บางสโมสรจัดการ “รีแบรนดิ้ง” ตัวเอง เช่น สโมสรทหารบก กลายเป็น “สุภาพบุรุษวงจักร” อาร์มี่ ยูไนเต็ด, สโมสรองค์การโทรศัพท์ กลายเป็น “ฮัลโหล” ทีโอที เอสซี, สโมสรทหารอากาศ กลายเป็น แอร์ฟอร์ซ ยูไนเต็ด

 

แฟนบอล “ไดโนเสาร์พิฆาต” ขอนแก่น เอฟซี ถ่ายภาพหน้าสนามไอ-โมบาย สเตเดียม สนามเหย้า
ของทีม “ปราสาทสายฟ้า” บุรีรัมย์ พีอีเอ ก่อนการพบกันระหว่างสองทีมจากถิ่นอีสาน

การแข่งขันฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีกได้รับความสนใจจากแฟนบอลทุกเพศทุกวัย

กฎ กติกา มารยาท พัฒนาการสู่ลีกอาชีพ

“ฟุตบอลไทยวันนี้แตกต่างจากอดีตอย่างสิ้นเชิง  เมื่อก่อนคนดูไม่มี เล่นกันเองดูกันเอง บางครั้งเอาตลกมาเล่นช่วงพักครึ่ง แต่วันนี้ฟุตบอลไทยกำลังเดินไปถูกทาง ท้องถิ่นนิยม คนดูเยอะ สินค้าที่ระลึกขายดี  แต่ก็มีอีกหลายจุดที่ต้องแก้ไข ไม่ว่าเรื่องโปรแกรมหรือมาตรฐานผู้ตัดสิน ซึ่งถ้าทุกฝ่ายช่วยกันผมเชื่อว่าเราทำได้ ไม่อย่างนั้นฟุตบอลไทยคงไม่พัฒนามาจนทุกวันนี้”

เทิดศักดิ์ ใจมั่น ตอบคำถามเรื่องพัฒนาการของฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีก  ดาวเตะแกนหลักสโมสรชลบุรี เอฟซี ผู้นี้เคยออกไปค้าแข้งที่ประเทศสิงคโปร์ คว้าแชมป์เอสลีกหลายสมัย ก่อนจะกลับมาค้าแข้งในประเทศไทยเมื่อฟุตบอลลีกไทยเฟื่องฟู

ขณะที่ ดร.วิชิต แย้มบุญเรือง ประธานกรรมการบริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด ในฐานะอดีตนักฟุตบอลทีมชาติและสังกัดสโมสรธนาคารกรุงเทพ เล่าว่า

“สมัยผมติดทีมชาติเมื่อ ๕๐ ปีก่อน จนมาถึงยุค ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน เมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว  คนไทยคลั่งไคล้ฟุตบอลไทยเพราะไม่ค่อยมีถ่ายทอดสดฟุตบอลนอก  ข่าวกีฬาต่างประเทศก็ยังไม่มากนัก  แต่มายุคหลังเมื่อมีบอลนอกให้ดู ข่าวสารเข้าถึงง่าย  บอลไทยก็เริ่มเสื่อมความนิยม

“อย่างไรก็ตาม เมื่อคนไทยรู้สึกอินกับฟุตบอลไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพียงแต่ถูกฟุตบอลนอกแย่งความรักความนิยมไป  หากรู้จักบริหารจัดการให้ดีก็จะดึงความรู้สึกนี้ออกมาได้ คนไทยต้องกลับมาเทใจให้ฟุตบอลไทยอย่างแน่นอน”

…………………………………

 

เบื้องหลังการแข่งขันฟุตบอลระดับสโมสรที่ได้รับความนิยมมากเป็นประวัติการณ์ ล้างภาพอัฒจันทร์ร้าง–ไร้กองเชียร์ นักเตะวิ่งเหยาะแหยะเหมือนหมดแรงเพราะอ่อนซ้อม กลับมาวิ่งลืมตายเมื่อได้ยินเสียงเชียร์ดังกึกก้อง จึงเป็นความพยายามเดินตามมาตรฐานที่สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชียกำหนดไว้

ตั้งแต่เรื่องหัวหน้าผู้ฝึกสอนนักฟุตบอลซึ่งต้องมีประกาศนียบัตรระดับ A License (ควบคุมโดยฟีฟ่า หรือสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย)

นักฟุตบอลต้องเซ็นสัญญาว่าจ้างกับสโมสรต้นสังกัดเป็นลายลักษณ์อักษร ระบุถึงค่าจ้างรวมทั้งกำหนดระยะเวลาของสัญญาชัดเจน  ไม่ใช่อยู่ในรูปแบบ “สัญญาใจ” ที่เพียงแค่พูดคุยกันเพียงลมปาก ไม่มีหลักฐานยืนยันเหมือนในอดีต  หากเป็นนักฟุตบอลต่างชาติต้องมีใบไอซีที (International Transfer Certificate) จึงมีสิทธิ์ค้าแข้งในลีกไทย

ลงรายละเอียดลึกกันไปถึงเรื่องตัวแทนค้าต่าง หรือ “เอเยนต์นักฟุตบอล” บุคคลผู้มีส่วนสำคัญในการ “ซื้อ-ขาย” ผู้เล่นระหว่างสโมสร

แม้มีข้อกำหนดให้เอเยนต์นักฟุตบอลต้องผ่านการทดสอบโดยฟีฟ่าเพื่อเป็นเอเยนต์ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ก็ยังไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเคร่งครัดทั้งในฐานะนักฟุตบอลและตัวเอเยนต์เอง

ยศรัณย์ โควสุรัตน์ เอเยนต์นักฟุตบอลของไทยเล่าว่า “เรื่องเอเยนต์เป็นสิ่งที่นักบอลไทยไม่ให้ความสำคัญ บ้างก็ใช้เอเยนต์เถื่อน หรือเชื่อระบบอุปถัมภ์ที่ฝังรากลึกมานานในวงการฟุตบอลไทย  ไม่เหมือนนักเตะต่างชาติ หากย้ายสโมสรเขาจะนึกถึงเอเยนต์เป็นอันดับแรก เพราะนี่คือคนที่จะคอยติดต่อประสานงาน ดูแลรายได้-ผลประโยชน์ไม่ให้ถูกสโมสรเอาเปรียบ”

ลองคลิกเข้าไปในเว็บไซต์ของฟีฟ่า (www.fifa.com) ในหมวด Players’ agents List จะเห็นว่าปัจจุบันเมืองไทยมีเอเยนต์นักฟุตบอลขึ้นทะเบียนถูกต้องเพียง ๖ คนเท่านั้น  ขณะที่อังกฤษมี ๔๕๐ คน  บราซิล ๓๓๙ คน  เดนมาร์ก ๔๗ คน  ญี่ปุ่น ๒๙ คน  อินโดนีเซีย ๑๑ คน  จนกล่าวได้ว่านักฟุตบอลไทยแทบทุกคนยังไม่มีเอเยนต์ถูกต้องตามกฎหมายขณะที่นักฟุตบอลต่างชาติจะให้ความสำคัญเรื่องนี้มากกว่า

“บางคนอาจนึกถึง ปินี่ ซาฮาวี เอเยนต์จอมแสบผู้อยู่เบื้องหลังการย้ายทีมครั้งสำคัญ ผู้ปั่นราคานักเตะหรือยุยงให้นักเตะเรียกร้องค่าเหนื่อยสูงๆ ทว่านี่คือผู้ดูแลสิทธิประโยชน์  หากถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมหรือถูกฉีกสัญญาจ้าง เอเยนต์คือผู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่นักเตะที่อาจไม่มีความรู้ทางกฎหมาย”

นอกจากนี้ในเรื่องสนามแข่งขัน ต้องมีอัฒจันทร์ความจุไม่ต่ำกว่า ๕,๐๐๐ ที่นั่ง  มีการแบ่งเขตกองเชียร์ฝั่งเจ้าบ้านกับทีมเยือนชัดเจน  มีที่นั่งสื่อมวลชน  มีห้องอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน คือห้องพักผู้ตัดสิน ห้องพักนักกีฬา ห้องแถลงข่าวหลังจบเกม  หากต้องจัดแข่งขันหลังสี่โมงเย็น ไฟส่องสนามต้องมีความเข้มของแสงไม่ต่ำกว่า ๑,๒๐๐ ลักซ์ เป็นต้น

…………………………………

 

ทว่าแม้จะมีความพยายามผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงตามมาตรฐานของสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชียสักเพียงใด  ปี ๒๕๕๒ สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชียก็ตัดสินใจถอดสิทธิ์ทีมแชมป์ฟุตบอลไทยไม่ให้ลงเตะรายการเอเอฟซีแชมเปียนส์ลีกโดยอัตโนมัติ  กำหนดให้แชมป์ไทยลีกต้องผ่านการเตะรอบคัดเลือกเสียก่อน ทั้งที่สโมสรจากเมืองไทยเป็นขาประจำของฟุตบอลรายการนี้ และเคยมีผลงานดีสุดคือตำแหน่งแชมเปียนฤดูกาล ๒๕๓๗ และ ๒๕๓๘ จากสโมสรธนาคารกสิกรไทย

การหวนคืนสู่สังเวียนลูกหนังระดับทวีปที่มีสโมสรชั้นนำจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ซาอุดีอาระเบีย จีน ฯลฯ เป็นบันไดอีกหนึ่งขั้นที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับฟุตบอลไทยทุกคนต้องก้าวผ่านไปให้ได้

นี่อาจเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายที่พอจะพูดได้ว่าฟุตบอลลีกของไทยได้มาตรฐาน และมีความเป็น “มืออาชีพ” กว่าที่เป็นอยู่เดิม

ฟุตบอลลีกไทยในยุคสมัยแห่งความหวัง

ทุกเย็นวันหยุดสุดสัปดาห์ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงธันวาคม

ถนนทุกสายในจังหวัดสมุทรสงครามล้วนมุ่งหน้าสู่สนามกีฬาจังหวัด เช่นเดียวกับอีกหลายจังหวัด เช่นที่สนามไอ-โมบาย สเตเดียม จังหวัดบุรีรัมย์  สนามกีฬาจังหวัดขอนแก่น  สนาม ศรีนครลำดวน จังหวัดศรีสะเกษ  สนามกีฬามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย

ที่จังหวัดชลบุรี ถนนสายลูกหนังแบ่งออกเป็น ๔ สาย ด้วยมีสโมสรฟุตบอลจากจังหวัดชายทะเลโลดแล่นอยู่ใน
ไทยพรีเมียร์ลีกถึง ๔ สโมสร คือ ชลบุรี เอฟซี, พัทยา ยูไนเต็ด, ศรีราชา ซูซูกิ เอฟซี และราชนาวีสโมสร  ใกล้เคียงกับกรุงเทพมหานคร รังเหย้าของสโมสรการท่าเรือไทย เอฟซี, บีอีซี เทโรศาสน, อาร์มี่ ยูไนเต็ด และทีโอที เอสซี

ที่คลอง ๓ จังหวัดปทุมธานี  ถนนเลียบคลองรังสิตซึ่งทอดยาวผ่านหน้าสนามลีโอ สเตเดียม คึกคักไปด้วยแฟนบอลทีม “กระต่ายแก้ว”- -บางกอกกล๊าส เอฟซี จนทำให้การจราจรคับคั่งก่อนถึงเวลาแข่งขันนานนับชั่วโมง ไม่ต่างจากลานจอดรถย่านเมืองทองธานีที่เต็มพรึบไปด้วยแฟนบอล “อุลตร้าเมืองทอง” – -เมืองทอง-หนองจอก ยูไนเต็ด

ยิ่งหากสัปดาห์ใดมี “บิ๊กแมตช์” สโมสรระดับแม่เหล็กเดินทางมาเยือน  รังเหย้าความจุกว่า ๑๕,๐๐๐ ที่นั่งแทบไม่มีที่ว่างพอสำหรับผู้ต้องการเข้าชม–หากใครเคยขับรถผ่านทางด่วนแจ้งวัฒนะ-บางปะอินคงพอสังเกตเห็น

……………………………………………

 

แม้ค่ำนี้ยังมีฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษยิงสดข้ามทวีปให้ติดตามเชียร์ทีมโปรดอย่าง “ปีศาจแดง” “หงส์แดง” “ปืนใหญ่” “เรือใบสีฟ้า” ฯลฯ

ทว่าตอนนี้คนไทยมีสโมสรฟุตบอลอย่าง “ฉลามชล” “ปลาทูคะนอง” “กิเลนผยอง” “กูปรีอันตราย” “ปราสาทสายฟ้า” “สิงห์เจ้าท่า” “สุภาพบุรุษวงจักร” “กว่างโซ้งมหาภัย” ฯลฯ ให้สัมผัสใกล้ชิดชนิด “จับต้องได้” ถึงขอบสนาม

ฟุตบอลไทยที่หลับใหลมายาวนาน ได้ตื่นขึ้นพร้อมความหวังอันเรืองรอง

ขอขอบคุณเป็นพิเศษสำหรับมิตรภาพและความอนุเคราะห์
คุณมิตติ ติยะไพรัช  คุณกอปรทิพย์ อัจฉริยโสภณ คุณวิทยา เลาหกุล  คุณอรรณพ สิงห์โตทอง  คุณจีระศักดิ์ โจมทอง คุณเนวิน ชิดชอบ  คุณกรุณา ชิดชอบ  คุณประมูลชัย นพสุวรรณวงศ์ คุณกิตติภณ นทีทอง  คุณยิ่งรัก รักษ์สุวรรณ  คุณรักชนก ไชยรัตน์