สัมภาษณ์ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์
ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต
และผู้อำนวยการศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : สัมภาษณ์
ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรียบเรียง
วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช : ถ่ายภาพ

ประเทศไทยปลายปี ๒๕๕๔ ไม่มีใครคิดว่าเหตุการณ์น้ำท่วมซึ่งช่วงแรกดูจะเป็นปรากฏการณ์ธรรมดาๆ ในช่วงหน้าฝน จะลุกลามบานปลายขยายขอบเขตความเสียหายกระทั่งกลายเป็นวิกฤตมหาอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์

พื้นที่ประสบภัยพิบัติครอบคลุมตั้งแต่จังหวัดทางภาคเหนือไล่เรียงลงมาถึงภาคกลางตอนล่าง ส่งผลให้นิคมอุตสาหกรรม บ้านเรือน พื้นที่เกษตร ศาสนสถาน โบราณสถานหลายแห่งจมอยู่ใต้น้ำ  ไม่เว้นแม้กระทั่งจังหวัดกรุงเทพมหานครทั้งฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี  ระบบป้องกันภัยทั้งหลายพ่ายแพ้ให้แก่มวลน้ำมหาศาลที่ไหลทะลักลงมาจากตอนบน

ท่ามกลางสถานการณ์ภัยพิบัติที่คนไทยทั้งประเทศกำลังสับสนกับรายงานข่าวที่ฟังเข้าใจยาก และประกาศเตือนภัยที่ดูจะผิดไปจากเหตุการณ์จริงซ้ำแล้วซ้ำเล่าของภาครัฐ  บนหน้าจอโทรทัศน์ช่องสถานีทีวีสาธารณะไทยพีบีเอส ก็ปรากฏภาพของนักวิชาการอิสระ ผู้ทำหน้าที่วิเคราะห์สถานการณ์น้ำรายวันด้วยคำอธิบายที่ชัดเจน ตรงไปตรงมา และเข้าใจง่าย พร้อมด้วยแผนภาพแสดงเส้นทางการไหลของน้ำว่ากำลังเคลื่อนจากทิศทางใด มุ่งหน้าไปทางไหน จะไหลบ่าเข้าท่วมถนนหรือล้นพนังกั้นน้ำใด มีผลให้พื้นที่ใดบ้างได้รับผลกระทบ น้ำจะท่วมสูงมากน้อยแค่ไหน ขณะเดียวกันยังชี้แนะแนวทางป้องกันชนิดที่หน่วยงานราชการต้องเงี่ยหูฟังและนำไปปฏิบัติตาม

ลักษณะเฉพาะของนักวิชาการผู้นี้ คือการให้ความสำคัญกับการลงพื้นที่ เพื่อสังเกตการณ์ พูดคุยกับชาวบ้าน ตลอดจนลงมือวัดระดับน้ำหรือความเร็วของน้ำไหลด้วยตัวเอง

ทุกค่ำคืนทางหน้าจอโทรทัศน์ ไม่แปลกที่เราจะเห็นภาพอาจารย์ท่านนี้ถอดสูทสวมชุดกันน้ำ สวมเสื้อชูชีพลงเรือตระเวนไปตามพื้นที่ประสบภัยในทุกเขต และคลองคูประตูระบายน้ำแทบทุกจุด

เบื้องหลังไม่กี่นาทีบนหน้าจอ คือการปฏิบัติภารกิจทุกวันตลอดเวลากว่า ๓ เดือน กับการมุ่งมั่นลงพื้นที่แต่เช้าจรดค่ำ พร้อมกับเตรียมสรุปข้อมูลเพื่อรายงานผู้ชมทางบ้าน  แต่ละวันกว่าจะเสร็จสิ้นภารกิจก็มักล่วงเลยเวลาสามถึงสี่ทุ่มขึ้นไป

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีด้านวิศวกรรมโยธาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ก่อนได้รับทุนไปศึกษาปริญญาเอกด้านวิศวกรรมชายฝั่ง ณ มหาวิทยาลัยโทโฮกุ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะฮอนชู ประเทศญี่ปุ่น  ช่วงนั้นเองที่เขาได้เป็นนักศึกษาภายใต้การดูแลของศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสึนามิที่ได้รับการยกย่องว่าเก่งที่สุดในโลก

สารคดี ชวนผู้อ่านร่วมทบทวนความเป็นไปของมหาอุทกภัยครั้งนี้ กับนักวิชาการชาวไทยผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำและภัยพิบัติมากที่สุดคนหนึ่ง ซึ่งในยามที่ประเทศชาติเผชิญหน้ากับวิกฤต ประชาชนไม่น้อยเชื่อถือคำอธิบายของเขามากกว่าคำแถลงของภาครัฐ

……….

เรารู้จักอาจารย์ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ อยากทราบว่าอาจารย์ศึกษามาทางด้านนี้โดยตรงหรือเปล่าครับ
ผมเป็นศิษย์เก่าจุฬาฯ คณะวิศวกรรมศาสตร์ แผนกโยธา ปี ๒๕๒๐ ประสบการณ์แรกหลังเรียบจบคือสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี  เวลานั้นนักศึกษาจบใหม่ทุกคนอยากทำงานเมกะโปรเจ็กต์  ผมเองเป็นรุ่นบุกเบิกการขุดเจาะอุโมงค์ผันน้ำก่อนสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน  เสร็จเรียบร้อยจึงหันไปรับผิดชอบการสร้างฐานเขื่อน  ช่วงนั้นเอง ผมถูกจับตัวไปเรียกค่าไถ่เพราะการเมืองในพื้นที่ยังแรงมาก  จังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นพื้นที่สีแดง เป็นที่หลบซ่อนของขบวนการพรรคคอมมิวนิสต์ฯ  มีการเผาศาลากลางจังหวัด  ทุก ๑-๒ สัปดาห์จะมีแนวร่วม พคท. ลงจากเขามาขอระเบิดขอเสบียง  ตอนนั้นผมยังหนุ่มอยู่ในฐานะผู้รับเหมาก่อสร้าง แม้รู้ว่าเป็นพื้นที่อันตรายแต่ตัดสินใจไปเพราะอยากเจองานเขื่อน  กระทั่งวันหนึ่งถูกจับตัวไปเรียกค่าไถ่  เขากักตัวเราไว้ ๑ วัน เรียกค่าไถ่เป็นเงิน ๔ หมื่นบาท  สุดท้ายพูดคุยกันเข้าใจเขาก็ปล่อยผมออกมา  คนที่จับตัวผมคือพวกโจรเมืองที่หลบไปอยู่ในป่ากับนักศึกษาที่มีอุดมการณ์  ผมบอกเขาไปตรง ๆ ว่าเพิ่งเรียนจบมาเงินเดือนแค่ ๓,๐๐๐ บาท คุณเรียกมา ๔ หมื่นจะหาจากไหนให้

หลังสร้างฐานเขื่อนเชี่ยวหลาน อาจารย์ทำอะไรต่อ
ผมกลับไปเรียนต่อที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ได้กลับไปเป็นนักศึกษาอีกครั้งหนึ่ง  พอดีว่าผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ดีทำให้ได้รับทุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาต่อ ที่ญี่ปุ่น ทีแรกผมตั้งใจว่าจะเลือกสาขาวิชาเกี่ยวกับการบริหารจัดการท่าเรือ  เพราะมองอนาคตแล้วว่าธุรกิจท่าเรือของประเทศไทยจะต้องเจริญก้าวหน้า การขนส่งทางน้ำยังก้าวไปได้อีกไกล  ยิ่งได้ไปเห็นระบบขนส่งทางน้ำที่ญี่ปุ่นก็ยิ่งยืนยันความเชื่อเดิม เพราะที่ญี่ปุ่นกิจการด้านนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก สัดส่วนทางการค้าสูง  ได้เห็นท่าเรือโยโกฮามาพอร์ตที่ช่างใหญ่โตโอฬาร ก็ยิ่งอยากจะเดินไปในเส้นทางนั้น

ทว่าด้วยระเบียบทุนการศึกษาของรัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดให้เราต้องเลือก ศาสตราจารย์ที่จะทำงานวิจัยด้วยก่อนเป็นลำดับแรก  ส่วนตัวผมชื่นชอบศาสตราจารย์โนบุโอะ ชูโตะ ผู้ได้ชื่อว่าเป็นกระบี่มือหนึ่งเรื่องสึนามิของโลกในเวลานั้น จึงตัดสินใจมุ่งมั่นว่าจะเลือกท่านเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา  แต่หลังจากแจ้งความจำนงว่าต้องการศึกษาต่อด้านวิศวกรรมท่าเรือ ศาสตราจารย์โนบุโอะจึงชี้แจงว่าที่นี่ไม่มีสอน พร้อมกับยื่นข้อเสนอว่าสนใจเรียนทางด้านวิศวกรรมชายฝั่งหรือไม่  รายละเอียดเป็นการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องโครงสร้างริมทะเล ภัยพิบัติทางทะเล รวมทั้งเรื่องสึนามิ  โดยท่านเน้นย้ำว่าวิชานี้เรียนแล้วไม่ได้เงินนะ สิ่งที่เราได้รับไม่ได้ตีค่าเป็นตัวเงิน แต่เป็นโอกาสในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์  ตอนนั้นคำพูดจากปากศาสตราจารย์ที่เรานับถือถึงกับทำให้เราน้ำตาซึมสุดท้ายก็ ตัดสินใจเลือกเรียนวิชานี้  ทั้ง ๆ ที่สมัยนั้นไม่มีใครคิดว่าจะเกิดสึนามิขึ้นที่เมืองไทย  สุดท้ายก็ได้รับใบปริญญาเอกกลับมา

หลังเดินทางกลับจากญี่ปุ่นแล้วเริ่มงานอะไรเป็นลำดับแรก
ผมเริ่มงานกับบริษัท ปตท.สผ. ต้องเดินทางไป ๆ มา ๆ ระหว่างบนฝั่งกับแท่นขุดเจาะน้ำมันกลางอ่าวไทย  เวลานั้นเรามีแหล่งน้ำมันแห่งแรกของประเทศคือแหล่งบงกช  ผมเองแม้ไม่ต้องประจำอยู่บนแท่น แต่ด้วยความล้าหลังเรื่องเทคโนโลยีที่ทำให้เราต้องพึ่งพาต่างชาติทั้งหมด  อีกทั้งต้องรอนาน ๕ ปีตามสัญญากว่าจะถ่ายโอนเทคโนโลยีมาให้คนไทยเป็นผู้ดำเนินการขุดเจาะเองได้ ก็เริ่มรู้สึกกดดันว่าทำไมคนไทยทำเองไม่ได้ ต้องพึ่งต่างชาติทั้งหมดเลย  แม้แต่ตอนเกิดพายุเกย์ ข้อมูลเรื่องพายุเรายังต้องอาศัยข้อมูลจากสิงคโปร์  พ้นช่วงลงพื้นที่ปฏิบัติการเราก็เริ่มรู้สึกเบื่อ  เมื่อประกอบกับแรงกดดันว่าเราต้องพึ่งพาต่างชาติแทบทุกอย่าง ทำให้คิดอยากลาออกมาเป็นอาจารย์ ถึงตอนนี้ผมเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่ ม.รังสิต มาประมาณ ๑๕ ปีแล้ว

แล้วศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต อาจารย์ก่อตั้งขึ้นเมื่อไร
ผมก่อตั้งทันทีตั้งแต่อยู่ที่ ม.รังสิต  เพียงแต่ช่วงแรกเราใช้ชื่อว่าศูนย์วิจัยภัยธรรมชาติ  ต่อมาท่านอธิการบดีคือ ดร.อาทิตย์  อุไรรัตน์ เล็งเห็นว่าคำว่าวิจัยสำหรับคนไทยดูเป็นเรื่องน่าเบื่อ เป็นเรื่องวิชาการ  จึงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ

ขณะเดียวกันผมมีโอกาสช่วยงานท่าน ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล โดยเป็นงานถวายตามโครงการพระราชดำริฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร จังหวัดเพชรบุรี ทำให้เรารับหน้าที่ ๒ ตำแหน่งพร้อมกัน  ปรกติผมจะอยู่ที่มหาวิทยาลัย ๓ วัน อยู่ที่เพชรบุรี ๓ วัน  แต่บางทีวันอาทิตย์อาจต้องไปหากมีแขกผู้ใหญ่ติดต่อเข้ามาดูงาน

ทั้งหมดหมายความว่าผมทำงานด้านวิชาการ คือการเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยรังสิต  ส่วนภารกิจที่เหลือคือเดินทางไปอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธรเพื่อให้ความรู้เรื่องพลังงานทดแทน การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ทุกวันจะมีเด็กและเยาวชนรวมทั้งชุมชนประมาณ ๒๐๐-๓๐๐ คนเดินทางมาเข้าเยี่ยมชม  เราต้องจัดหาทีมวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถในการสื่อสารองค์ความรู้ต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เข้ามาเยี่ยมชมได้นำกลับไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน  นอกจากนี้ที่อุทยานฯ ยังมีการแสดงนวัตกรรมต่าง ๆ ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมด้วย  หากนวัตกรรมใดผู้เข้าชมสนใจ แต่เราไม่ได้เป็นคนประดิษฐ์เอง ก็ต้องติดต่อขอเจ้าของลิขสิทธิ์มาพูดคุยให้ความรู้

สุดท้ายอาจารย์ได้ทำงานด้านบริหารจัดการท่าเรือตามที่ตั้งใจไว้ไหมครับ
ไม่ได้ทำ ผมหันมาจับเรื่องภัยพิบัติ เรื่องสึนามิอย่างเต็มตัว ทว่าวิศวกรที่คิดจะออกแบบท่าเรือยังต้องมาขอคำปรึกษาจากผม เพราะความรู้พื้นฐานมันเป็นเรื่องเดียวกันคือเรื่องคลื่น  ต้องพิจารณาว่าคลื่นที่ซัดเข้ามากระแทกโครงสร้างท่าเรือด้วยความรุนแรงเท่าไหร่ ซึ่งเรื่องนี้เรายังให้ความรู้ได้ เพียงแต่ไม่ได้ไปบริหารจัดการท่าเรือด้วยตัวเอง

เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ อาจารย์คิดว่าแท้จริงแล้วปัญหาเกิดจากอะไร
ปัญหาเกิดจากปัจจัยหลัก ๒-๓ ประการ  หนึ่งคือต้องยอมรับว่าเหตุการณ์นี้เป็นน้ำท่วมใหญ่  มีปริมาณน้ำมากกว่าน้ำท่วมปี ๒๕๓๘ ถึงเกือบ ๒ เท่า  ปี ๒๕๓๘ อาจจะนับเป็นมวลน้ำมหาศาลที่สุดในรอบ ๓๐ ปี ทว่าครั้งนี้เป็นมวลน้ำมหาศาลในรอบ ๗๐ ปีเลยทีเดียว ฉะนั้นความเสียหายย่อมต้องเกิดขึ้นแน่นอน

โดยปรกติเมื่อเราพูดถึงปริมาณน้ำ จะคำนวณโดยการวัดน้ำที่ไหลผ่านสถานีวัดน้ำที่เราไว้ใจได้  ปัจจุบันใช้ที่จังหวัดนครสวรรค์และอยุธยาเป็นหลัก  ตรวจวัดว่ามีน้ำไหลผ่านสถานีเท่าไหร่แล้วนำมาคำนวณหาปริมาณน้ำ  ส่วนแผนที่ดาวเทียมจะแสดงพื้นที่มีน้ำท่วมขัง ซึ่งมีจุดอ่อนตรงที่เราไม่อาจรู้ระดับความลึกของน้ำ  คือเมื่อดูแผนที่แล้วไม่รู้ว่าน้ำท่วมสูง ๑ เมตรหรือ ๑.๕๐ เมตร  ทันทีที่เราพบว่าปริมาณน้ำครั้งนี้มากกว่าปี ๒๕๓๘ ก็รู้แล้วว่าถึงอย่างไรก็เอาไม่อยู่ เพราะเราทำงานวิจัยชิ้นหนึ่งให้ธนาคารโลก พบว่าระบบป้องกันปัจจุบัของกรุงเทพฯ รับปริมาณน้ำได้เพียงในรอบ ๑๐ ปีเท่านั้น เพียงแต่ทำอย่างไรถึงจะลดผลกระทบลงให้มากที่สุดเท่านั้น

จากปัญหาทางธรรมชาติในข้อแรก เชื่อมโยงมาสู่ปัญหาด้านการบริหารจัดการในข้อสอง  กล่าวคือการบริหารจัดการน้ำของเราทำไม่ได้อย่างที่วางแผนไว้  คุณรู้ไหมผมไปสำรวจระดับน้ำตามสถานีวัดน้ำต่าง ๆ แล้วอดแปลกใจไม่ได้ว่าทำไมจึงปล่อยให้ระดับน้ำผิดปรกติอย่างนี้ บางสถานีระดับน้ำสูงเกินไป บางสถานีก็ต่ำเหลือเกิน ซึ่งเป็นปัญหามาจากการบริหารจัดการ  อาจเป็นเพราะปัญหาสังคม การเมืองท้องถิ่น เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง  เมื่อไม่อาจระบายน้ำตามแผนการที่วางไว้ได้ก็ต้องเปลี่ยนแผนใหม่  ทำให้เห็นชัดว่าเราไม่มีการวางแผนไว้ล่วงหน้าเลย  คือไม่รู้ว่าเมื่อเปลี่ยนแผนแล้วจะเกิดสถานการณ์อย่างไรตามมา  เมื่อไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรตามมาก็เรียกว่าต้องด้นสดหรือเสี่ยงดวงกันแล้ว

ข้อสุดท้ายเป็นปัญหามวลชนในพื้นที่ที่ทำให้สถานการณ์บานปลายและทวีความตึงเครียดมากขึ้น  เป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดคิด  ยกตัวอย่างเมื่อภาครัฐตัดสินใจว่าจะปิดประตูระบายน้ำ  แต่ปรากฏชาวบ้านกลับยึดกุญแจประตูระบายน้ำจากเจ้าหน้าที่เอามาเปิดประตูเองได้  หลายพื้นที่เกิดเหตุการณ์เช่นที่ว่านี้  ล่าสุดผมไปเห็นกับตาที่ประตูระบายน้ำพระอินทร์ราชา  อยู่ดี ๆ ชาวบ้านยกบานประตูขึ้นเองเฉยเลย  คำถามสำคัญว่าทำไมชาวบ้านถึงมีกุญแจและเปิดปิดประตูระบายน้ำเองได้  ถามหาความรับผิดชอบก็ปรากฏว่าผู้อำนวยการโดนย้ายด่วนใน ๒๔
ชั่วโมงข้อหาบกพร่องในหน้าที่ ปล่อยให้เขายึดกุญแจได้อย่างไร  เรื่องการเมืองภายในเราไม่รู้  แต่หากเป็นอย่างนี้เท่ากับต่อไปชาวบ้านอาจยึดธนาคารแห่งประเทศไทยได้เลยนะ นี่เป็นปัญหาหนักที่แม้แต่กรมชลประทานหรือหน่วยงานราชการก็จัดการอะไรไม่ได้  กระทั่งนายกฯ ประกาศใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หลังจากนั้นสถานการณ์โดยรวมเริ่มดีขึ้น  แต่ก็ยังเจอปัญหามวลชลอีก คือชาวบ้านนับร้อยมากดดันเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีจำนวนเพียง ๒๐-๓๐ คน

นอกจากเรื่องปริมาณน้ำที่มากกว่าปี ๒๕๓๘  ยังมีอะไรอีกบ้างที่แตกต่าง
โดยรวมโครงสร้างสาธารณะที่อยู่ริมแม่น้ำสายหลักของเราเปลี่ยนแปลงไปเยอะ  ก่อนหน้าปี ๒๕๓๘ เราไม่มีพนังกั้นน้ำริมตลิ่ง  แต่หลังเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปีนั้นหลายจังหวัดก็เริ่มสร้าง เริ่มรู้จักหาทางป้องกันตัวเอง ไม่ยอมให้น้ำเข้าท่วมในพื้นที่ปกครองของตน  มาปีนี้ช่วงแรกดูเหมือนชุมชนจะปกป้องตนเองได้ แต่ก็ทำให้มีมวลน้ำอยู่ในลำน้ำสายหลักจำนวนมาก และเพิ่มระดับสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนเกินกว่าที่พนังกั้นจะทานรับไหว  จากที่เคยประเมินว่าน่าจะรับมือได้ สุดท้ายกลายเป็นว่าสู้ไม่ได้แล้ว  พนังกั้นน้ำแตกพร้อมกันหลายจุด  น้ำไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่ด้านในอย่างรวดเร็วและไม่รู้ทิศทาง ไม่มีจุดไหนต้านทานแรงดันน้ำที่สูงขึ้นอย่างผิดปรกติได้เลย  แม้แต่คันกั้นน้ำของกรมชลประทานอย่างประตูระบายน้ำบางโฉมศรีก็ไม่มีใครคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์คันประตูกั้นน้ำด้านข้างแตกเป็นครั้งแรก  นั่นเป็นเพราะทุกคนไม่ต้องการน้ำ  เมื่อไม่ต้องการน้ำก็ทำให้น้ำต้องอยู่ในแม่น้ำ จนระดับน้ำที่บานประตูเพิ่มสูงขึ้น  เมื่อคันแตกน้ำก็ไหลบ่าท่วมเมือง ทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบเหมือนกัน

หรือถ้ามองลงมายังพื้นที่กรุงเทพมหานครฝั่งตะวันออกซึ่งเคยกำหนดให้เป็นพื้นที่รองรับน้ำ  เมื่อปี ๒๕๓๘ เรายังไม่มีสนามบินสุวรรณภูมิหรือหมู่บ้านจัดสรร โรงงานต่าง ๆ มากมายขนาดนี้  นี่เป็นปัญหาเรื่องผังเมือง ภาพถ่ายทางอากาศแสดงพื้นที่การใช้ที่ดินชัดเจนว่า flood way หรือเส้นทางระบายน้ำเรามีปัญหา  ดูรู้ว่าไปไม่รอดแล้ว

หากมองย้อนไปตั้งแต่ช่วงกลางปีที่มีพายุเข้าหลายลูกติด ๆ กัน  อาจารย์คิดว่าถ้าเราวางแผนจัดการดี ๆ จะรับมือได้หรือไม่
ผมเคยให้ข้อมูลแก่หน่วยงานรัฐมาตั้งแต่ต้นปีแล้วว่า หลังปีลานีญาคือปี ๒๕๕๓ ซึ่งเกิดน้ำท่วมใหญ่ ตามสถิติจะมีพายุเข้ามากติดต่อกันอีก ๓-๔ ปี นี่คือสถิติที่ข้อมูลวิทยาศาสตร์บ่งชี้ แม้ว่าปีนี้จะมีพายุพัดเข้ามาเกินกว่าค่าเฉลี่ย (ปัจจุบันตัวเลขอยู่ที่ ๓๗ ลูก จากค่าเฉลี่ย ๓๑ ลูก) ความเสียหายต้องเกิดขึ้นแน่เพราะปริมาณน้ำมากกว่าที่ระบบจะรองรับไหว  แต่ก็ต้องยอมรับว่าปัญหาในการบริหารจัดการมีส่วนผลักดันให้เรื่องราวใหญ่โตขึ้น หากมีมาตรการรองรับที่ดีคงไม่เสียหายเท่านี้

ยกตัวอย่างระบบการป้องกันของกรุงเทพมหานครซึ่งออกแบบมาสำหรับรับมือน้ำท่วมในระดับปี ๒๕๓๘  ขณะที่จังหวัดนนทบุรีหรือปทุมธานีกำลังเผชิญช่วงวิกฤต  ปรากฏว่าทางกรุงเทพฯ ไม่อนุญาตให้ระบายน้ำผ่านคูคลองจนเกิดคำถามว่าเหตุใดน้ำในคูคลองของกรุงเทพฯ ถึงไม่ค่อยมีน้ำ  กลายเป็นว่าคนเมืองนนท์ คนเมืองปทุม ต้องจมอยู่กับน้ำท่วมนานเนื่องจากไม่อาจแบ่งเบามวลน้ำลงมาทางด้านล่างได้  และกว่าจะแหวกน้ำซึ่งจ่อเข้ากรุงเทพฯ ทางด้านบนออกไปสองข้างก็ต้องใช้เวลานานกว่าการปล่อยให้น้ำไหลลงมาตรง ๆ

ทางด้านกรุงเทพฯ ก็ออกมาชี้แจงว่าระบบระบายน้ำของกรุงเทพฯ ออกแบบมาเพื่อรองรับน้ำฝนเท่านั้น ไม่ใช่น้ำหลาก ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเคยบอกว่ารับได้ เลยกลายเป็นปัญหาเรื่องการเมืองไปในที่สุด

มีผู้อ้างว่าเมืองไทยตอนนี้ คนที่มีสิทธิ์สั่งการให้น้ำไหลไปทางใด ไม่ใช่ผู้มีความรู้จริงเรื่องน้ำ แต่เป็นนักการเมืองอาจารย์มีความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร
ผมไม่รู้ และไม่ขอออกความเห็น  คุณเชื่อไหมระบบการตัดสินใจทุบโต๊ะในบ้านเราไม่มีเลยนะ  ยกตัวอย่างการตัดสินใจปล่อยน้ำออกจากเขื่อน โดยปรกติจะมีคณะกรรมการชุดหนึ่งซึ่งมีตัวแทนจากภาคส่วนต่าง ๆ อาทิ กรมชลประทาน การไฟฟ้าฯ กรุงเทพมหานคร เชิญมานั่งพูดคุยกัน ลงความเห็นว่าวันนี้ควรเปิด-ปิดบานประตูเขื่อนเท่าไหร่ ให้น้ำไหลผ่านไปอย่างไร  ทว่าคณะทำงานชุดที่แต่งตั้งมานี้ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย  เพียงแต่อาศัยการขอความร่วมมือกัน  ขอร้องการไฟฟ้าฯ ว่าอย่าเพิ่งปล่อยน้ำจากเขื่อนลงมานะ หากปล่อยน้ำลงมาชาวบ้านจะได้รับผลกระทบ ซึ่งแม้ทุกคนจะพูดคุยกันด้วยเหตุด้วยผล และต่างคนก็เป็นผู้มีความรู้เรื่องน้ำ  แต่เมื่อนำข้อมูลกลับไปชี้แจงยังหน่วยงานต้นสังกัด แต่ละหน่วยงานก็ยังคงยึดเกณฑ์การพิจารณาของตนว่าจะปล่อยหรือไม่ปล่อย  อีกทั้งตัวแทนของแต่ละหน่วยงานที่ถูกส่งมาร่วมประชุมก็ไม่มีอำนาจตัดสินใจ

เปรียบกับชุดทำงานของต่างประเทศ คณะทำงานที่ตัดสินใจจะมีไม่เกิน ๕ คน ประเทศเนเธอร์แลนด์มีนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง มีรัฐมนตรีด้านความมั่นคงคนหนึ่ง และมีผู้เชี่ยวชาญด้านการปฏิบัติงานอีกคนหนึ่ง  เขาจัดการกันแค่ ๓ คนแล้วให้นายกรัฐมนตรีทุบโต๊ะเลย  ประชุมจบเป็นเรื่อง ๆ ไป  แต่คณะกรรมการของเราแต่งตั้งมา ๒๐ คน คนนี้ชี้ทางหนึ่ง อีกคนชี้อีกทางหนึ่ง ในอนาคตหากมีข้อเสนอให้ตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมา ผมขอให้คณะกรรมการชุดนั้นมีอำนาจเด็ดขาด ไม่ต้องมีหลายคน แค่ไม่เกิน ๕ คนก็น่าจะพอ

ปัญหาเขื่อนขนาดใหญ่ทางภาคเหนือกักน้ำไว้จนเต็มเขื่อนแล้วปล่อยลงมาพรวดเดียว เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือไม่ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
เรื่องเขื่อนมีข่าวออกมาเยอะ แต่ผมไม่ทราบข้อเท็จจริง บางคนว่ามีนักการเมืองสั่ง บางคนว่าเขาคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนผิด  ในคณะทำงานที่ดูแลการปล่อยน้ำจากเขื่อน ซึ่งผมได้เข้าร่วมประชุมด้วย ก็ไม่ได้พูดคุยกันในเรื่องนี้ เพียงแต่เรามารู้ภายหลังจากรายงานข่าว

อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าการกักเก็บน้ำไว้จนเต็มเขื่อนแล้วปล่อยออกมาในช่วงดังกล่าว มีบางอย่างที่เราไม่รู้ในการบริหารเขื่อน บางทีอาจเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการความเสี่ยงของตัวเขื่อนด้วย  กล่าวคือเขื่อนภูมิพลเป็นเขื่อนเก่าแก่ที่สร้างมานาน ผู้บริหารอาจกังวลเรื่องความเสี่ยงหรือความแข็งแรงของตัวเขื่อน เมื่อมีน้ำเต็มเขื่อนและมีสัญญาณว่าน้ำจะถูกเติมเข้ามาอีกระลอก จึงต้องรีบระบายออก ไม่ว่าจะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านอย่างไร  เรียกว่าหากปล่อยให้น้ำเต็มเขื่อนจะไม่อาจควบคุมปริมาณน้ำได้

หากเปรียบกับเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ที่ยังเป็นเขื่อนใหม่เพิ่งสร้างเสร็จ เรื่องการบริหารความเสี่ยงไม่มีปัญหาน่ากังวล  แม้น้ำในเขื่อนจะถูกกักจนเต็ม แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่จำเป็นต้องเร่งระบายออก เพราะมั่นใจว่าเขื่อนยังแข็งแรง เขายอมกักน้ำไว้ ช่วยให้เกิดที่ว่างพอหายใจ  เรื่องการบริหารจัดการความเสี่ยงนี้ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้บริหารจัดการเขื่อนด้วย

หากเป็นเช่นนั้นเราสมควรสร้างเขื่อนเพิ่มเพื่อป้องกันน้ำท่วมหรือไม่
ถึงสร้างเขื่อนใหม่ แต่ถ้าหากมีฝนตกท้ายเขื่อนก็เกิดปัญหาอยู่ดี  การสร้างเขื่อนไม่ได้รับรองว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมซ้ำ  ยกตัวอย่างแผนการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นกั้นแม่น้ำยมที่อยู่ทางตอนเหนือ หากฝนตกใต้เขื่อนเหมือนปี ๒๕๕๓ น้ำก็ท่วมบ้านเรือนทางด้านล่างอยู่ดี

ตอนนี้ยิ่งหาที่สร้างเขื่อนยาก หากคิดจะสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งอยู่ต่ำลงมาทางด้านล่าง ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะหลักการสร้างเขื่อนทั่วไปต้องใช้พื้นที่มีความลาดเอียงเพียงพอ  สำคัญคือต้องมีที่ว่าง หรือมูลค่าในการเวนคืนที่ดินไม่สูง เห็นได้ว่าที่ผ่านมาเรามักสร้างเขื่อนไว้ในป่าบนภูเขา

ประเทศไทยมี ๒๕ ลุ่มน้ำ ขณะนี้เรามีแผนบริหารจัดการทั้ง ๒๕ ลุ่มน้ำแล้วหรือยัง
มี แต่ไม่ได้ทำอย่างจริงจัง  คณะกรรมการบริหารจัดการทั้ง ๒๕ ลุ่มน้ำก็อ่อนแอ  เป็นภาคประชาชนจับมือกับภาครัฐร่วมกันบริหารจัดการลุ่มน้ำ ซึ่งผมคิดว่ายังไม่เข้มแข็ง  ตัวอย่างลุ่มน้ำท่าจีนอาจจะเข้มแข็งกว่าเพื่อน  ใครจะมาทำอะไรไม่โปร่งใสกับลุ่มน้ำของเขา เขาจะรวมตัวกัน แต่ลุ่มน้ำอื่น ๆ ยังต่างคนต่างทำอยู่

การประสานความร่วมมือกับต่างหน่วยงานในการบริหารจัดการน้ำของสังคมไทยยังเป็นปัญหาเรื้อรัง สังเกตตั้งแต่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วม เรายังไม่เคยเห็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคุยปรึกษากับผู้ว่าราชการจังหวัดต้นน้ำและปลายน้ำ ตั้งแต่นครสวรรค์ถึงสมุทรปราการเลย  แม้แต่ปริมณฑลอย่างนนทบุรี ปทุมธานี ก็ยังไม่เคยเห็น

เพราะเหตุนี้ประเทศเราจึงไม่มีแบบจำลองช่วยสนับสนุนการตัดสินใจในภาพรวมและในเฉพาะพื้นที่ ทำให้ไม่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลตามจริงได้ ทั้งนี้เพราะเมื่อมอบหมายให้หน่วยงานใด สมมุติว่าให้กรมชลประทานเป็นผู้รับผิดชอบ  กรมชลฯ ก็วิเคราะห์ได้แต่เฉพาะในขอบเขตพื้นที่รับผิดชอบของตนเท่านั้น  แต่กรมชลฯ ไม่รู้ว่าพื้นที่ติดกันซึ่งกรุงเทพฯ เป็นผู้รับผิดชอบว่าเป็นอย่างไร  กรุงเทพฯ อาจไม่ได้ให้ข้อมูล หรือถึงให้ข้อมูลก็ไม่อาจยืนยันว่าได้ดำเนินการตามข้อมูลจริงหรือไม่  ทำให้กรมชลฯ รู้เฉพาะข้อมูลในส่วนตน ไม่อาจวางแผนตั้งเครื่องสูบน้ำจัดการน้ำในภาพรวมทั้งหมดได้

สรุปคือตราบใดที่ระบบราชการยังบริหารงานแบบแยกส่วน การแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมคงไม่สัมฤทธิผล  อย่าลืมว่ามวลน้ำไม่ได้แบ่งแยกตามขอบเขตจังหวัด แต่รวมกันเป็นผืนเดียว  จะแบ่งเป็นน้ำกรุงเทพฯ-น้ำเมืองนนท์-น้ำเมืองปทุมไม่ได้

เรามีแผนป้องกันน้ำท่วมหรือไม่ หรือมีแต่ไม่ถูกหยิบมาใช้จนเกิดความเสียหายมากมายขนาดนี้
เรามีแผน แต่เป็นแผนรองรับสถานการณ์น้ำท่วมระดับปรกติธรรมดาว่าจะผันน้ำไปยังพื้นที่รับน้ำใด ผ่านทางลำคลองสายไหน  แต่ถ้าถามถึงแผนฉุกเฉินสำหรับสถานการณ์น้ำท่วมระดับวิกฤตอย่างครั้งนี้ เราไม่มีเลย  ทำให้เมื่อเดินตามแผนเดิมไม่ได้ ก็ต้องหาแผนใหม่มาใช้อย่างกะทันหัน คล้ายกับทำไปทดลองไป ลองดูซิว่าทำอย่างนี้แล้วผลจะออกมาดีไหม ไม่มีการประเมินสถานการณ์ไว้ล่วงหน้า

บิ๊กแบ็กเป็นกรณีตัวอย่างสำคัญ ใครที่ติดตามข่าวมาตลอดจะรู้ว่าเรื่องการวางบิ๊กแบ็กเกิดขึ้นเร็วมาก ฉับพลันเลย หมายความว่ามันไม่ถูกบรรจุไว้ในแผนการล่วงหน้าตั้งแต่แรก ทั้งที่โดยหลักการ คุณจะวางบิ๊กแบ็กต้องตั้งสมมุติฐาน ต้องวิเคราะห์ก่อนว่าจะเกิดผลลัพธ์อะไรตามมา  แต่นี่เหมือนการทดลอง ชาวบ้านก็เป็นหนูทดลอง  ฉันจะวางบิ๊กแบ็กอย่างนี้ ดูซิว่าผลเป็นอย่างไร สุดท้ายกลายเป็นความกดดันจากมวลชนที่ต้องรับผลกระทบไปเต็ม ๆ

เหตุผลที่ต้องด้นสดตลอดเวลา เนื่องจากรัฐไม่มีความรู้มากพอหรือเปล่า
ผมคิดว่าส่วนหนึ่งคือเราขาดการประเมิน ไม่รู้ว่ามวลน้ำมีปริมาณเท่าไร แรงดันน้ำมากแค่ไหน  คุณใช้เหตุผลอะไรมารับประกันว่านิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ จะรับมือไหว เอาข้อมูลอะไรมาประเมิน

อีกเรื่องคือ put the man to the right job การวางคนลงบนตำแหน่งงานที่ถูกต้อง เป็นสิ่งสำคัญ เชื่อมโยงกับเรื่องบริหารจัดการ เห็นได้ชัดว่าเรามีปัญหาในจุดนี้

อาจารย์เดินทางทุกวัน เจอสภาพพื้นที่จริงทุกวัน  คิดว่าอะไรเป็นปัญหาสำคัญที่สุด
ปัญหาคือการที่หน่วยงานราชการไม่มีการสื่อสารกับประชาชนในพื้นที่  เราเข้าไปสัมผัสแล้วรู้เลย เพราะชาวบ้านถามเรา ๓ คำถาม กล่าวคือ ๑.น้ำจะท่วมเขาเมื่อไร  ๒.ระดับน้ำจะสูงขนาดไหน และ ๓.น้ำจะท่วมนานไหม หรือเขาจะกลับบ้านได้เมื่อไร  คำถามเหล่านี้บางพื้นที่ผมก็ตอบได้ แต่บางครั้งก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน เพราะหน่วยงานราชการจะย้ายเครื่องสูบน้ำมาทางนี้หรือเปล่า ผมไม่รู้ รวมทั้งจะมีการสกัดด้วยบิ๊กแบ็กหรือไม่

รัฐบาลมีปัญหาว่าไม่พูดความจริงกับประชาชน  ไม่ให้ข้อมูลที่ถูกต้องตลอด ๒-๓ เดือนที่ผ่านมา ผมไม่ทราบข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ผู้เชี่ยวชาญเนเธอร์แลนด์พูดสั้น ๆ ว่ากุญแจสำคัญที่ใช้แก้ปัญหา คือเราต้องให้ความจริงกับประชาชน นี่เป็นสิ่งที่สังคมไทยยังขาดอยู่ในยามเผชิญหน้ากับสถานการณ์ภัยพิบัติ

เหตุการณ์น้ำท่วมนี้ยังถือเป็นบทเรียนสำคัญ แต่ต่อจากนี้ไป ชาวบ้านเขาเรียนรู้แล้วว่าเขาจำเป็นต้องทราบข้อมูลว่าคุณกำลังทำอะไร คุณมีความสามารถในการระบายน้ำแค่ไหน  คนที่จะทำงานด้านนี้ต้องมีความโปร่งใสในการให้ข้อมูล  เวลานี้ปัญหาเรื่องน้ำถูกฝังเข้าในหัวของเขาแล้ว หน่วยงานราชการจะมุบมิบทำอะไรยากขึ้น ทางออกคือต้องให้ความจริงกับประชาชน

คุณบอกว่าจะทำให้น้ำแห้งเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลในวันพ่อ  บอกแค่นี้ชาวบ้านที่จมอยู่กับน้ำมานาน ๒ เดือนจะเชื่อหรือเปล่า เมื่อมองไม่เห็นวิธีดำเนินการ ไม่เห็นคำอธิบายในการแก้ปัญหาเลย

การพูดความจริงในที่นี้ยังหมายถึงการพูดความจริงกับทุกฝ่าย ทั้งเหนือและใต้ จะพูดความจริงกับคนเพียงฝั่งใดฝั่งหนึ่งเหมือนที่ผ่านมาไม่ได้  เมื่อคุณลงมือทำอะไรซึ่งทำให้ชาวบ้านทั้งสองฝั่งได้รับผลกระทบ เช่นตัวอย่างบิ๊กแบ็กเป็นการคิดเพียงครึ่งเดียว  แม้จะถูกต้องที่การวางบิ๊กแบ็กช่วยชะลอน้ำไม่ให้ไหลเข้าสู่กรุงเทพฯ แต่เขาไม่บอกว่าสำหรับคนที่อยู่เหนือคันกั้นบิ๊กแบ็กจะเป็นอย่างไร จะระบายน้ำเหนือบิ๊กแบ็กลงแม่น้ำต้องทำอย่างไร ใช้เวลานานแค่ไหน ต้องสูบวันละกี่ลูกบาศก์เมตร  กรมชลฯ ออกมาชี้แจงว่ายังมีน้ำอีก ๖ พันล้านลูกบาศก์เมตรที่ยังค้างอยู่ เท่ากับน้อง ๆ เขื่อนสิริกิติ์  ฉะนั้นคนปทุมธานี คนนนทบุรี อาจต้องรับศึกหนักข้ามปี  ปีใหม่อาจจะยังต้องอยู่กับน้ำ  ถ้าไม่มีบิ๊กแบ็ก ปล่อยน้ำไหลผ่านอาจใช้เวลาแค่ ๑ เดือนจบ  แต่เมื่อมีบิ๊กแบ็กต้องเพิ่มเป็น ๒ เดือนนะ

เมื่อภาครัฐคิดทำอะไรก็ตามที่ทำให้ชาวบ้านสองฝั่งได้รับผลกระทบ  เมื่อมีฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์ ก็ต้องมีฝ่ายหนึ่งเสียประโยชน์  พูดความจริงไปเลยว่าทำอย่างนี้แล้วฝั่งนี้จะดีขึ้นนะ ฝั่งนี้จะแย่ลงนะ เอาอย่างไรก็พูดกัน แต่ที่ผ่านมาไม่ได้พูด

เพราะเหตุใดอาจารย์จึงให้ความสำคัญกับการลงพื้นที่ด้วยตนเอง
เพราะสถานการณ์น้ำเปลี่ยนแปลงทุกวัน  วันนี้เราวิเคราะห์สถานการณ์ออกมาอย่างหนึ่ง ถึงวันพรุ่งนี้เขาไปตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มขึ้นอีกแล้ว หรือไปกั้นกระสอบทราย ทำให้เราตามไม่ทันถ้าดูแต่แผนที่หรือเอกสาร เพราะข้อมูลที่มีอยู่ไม่ตรงกัน แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญจากอิสราเอลที่รับมอบข้อมูลตรงจากหน่วยงานรัฐ ก็ยังถามผมว่าข้อมูลที่แท้จริงเป็นอย่างไร

ที่บอกว่าข้อมูลไม่ตรง เพราะเขาเขียนในเอกสารอย่างหนึ่งแล้วทำอีกอย่างหนึ่ง เช่นในเอกสารระบุว่าติดตั้งเครื่องสูบน้ำตรงนี้ มีกำลังสูบรวมกันเท่านี้  แต่พอเราเดินทางไปดูของจริง ปรากฏว่าบวกลบคูณหารแล้วไม่ตรงกัน อย่างกรณีคลองแสนแสบที่ผมเคยวิเคราะห์ว่าน่าจะมีปัญหา เนื่องจากตามเอกสารแจ้งว่าติดตั้งเครื่องสูบเพียง ๑๕๕ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที  แต่ของจริงปรากฏว่าเขาอัดเครื่องสูบน้ำเพิ่มเป็น ๒๑๕ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที  แม้แต่เจ้าหน้าที่ก็ออกมาให้ข้อมูลยืนยันตามเอกสาร เพราะกลัวข้อมูลจะขัดแย้ง

บางครั้งเราเสนอคำแนะนำไป เช่นให้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำช่วงกลางคลอง เพราะบางคลองมีความยาวมากเกินไป รอให้น้ำไหลเองตามธรรมชาติไม่ไหว  แนะนำไปก็ไม่มีเสียงตอบรับ แต่พอเราไปลงพื้นที่ดูปรากฏว่าเขามาติดตั้งเครื่องสูบเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวแล้ว

ถ้าผมไม่ออกไปสำรวจดูข้อเท็จจริงก็วิเคราะห์ไม่ได้  อย่างเรื่องประตูกั้นน้ำคลองสามวา ชาวบ้านตกลงกับเจ้าหน้าที่ว่าจะเปิดขึ้น ๑ เมตร  ผมต้องไปดูกับตาว่าเปิด ๑ เมตรจริงหรือเปล่า  แล้วผมอยากรู้ข้อมูลการไหลของน้ำ อยากรู้ว่าเปิดประตูระบายน้ำแล้วน้ำไหลเข้ามาเท่าไหร่ เพื่อจะได้นำไปวิเคราะห์และให้ข้อมูลต่อประชาชน  ผมส่งทีมงานไปถามเจ้าหน้าที่ เขาก็บอกว่าไม่รู้  นี่เป็นเรื่องยากในการทำงาน

พูดง่าย ๆ คือเมื่อคุณไม่ให้ข้อมูลผม ผมลงมือวัดของผมเองได้ ระดับน้ำท่วมสูงเท่าไหร่ น้ำไหลเร็วเท่าไหร่ คลองลึก-กว้างเท่าไหร่  ที่ผ่านมาหลายอย่างเราต้องวัดเอง

จากเหตุการณ์ครั้งนี้ อาจารย์มีข้อเสนอแนวทางแก้ปัญหาอะไรบ้าง
ผมคิดว่าเราจะปล่อยให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกไม่ได้ คือปล่อยให้น้ำไหลผ่านนครสวรรค์มาวันละเกือบ ๕,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที  ในเบื้องต้นผมเสนอแนวทางเร่งด่วน ๒ แนวทางคือ ๑.การใช้มาตรการเชิงโครงสร้างโดยทำฟลัดเวย์ หรือเส้นทางระบายน้ำ เป็นทางธรรมชาติให้น้ำไหลผ่านไปเฉย ๆ ตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ไล่ลงมาด้านล่าง เน้นพื้นที่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่เน้นฝั่งขวาเพราะพื้นที่เจริญมากกว่า  ภาครัฐไม่จำเป็นต้องไปไล่ซื้อที่ดินชาวบ้าน ในช่วงฤดูกาลปรกติก็ปล่อยให้ชาวบ้านทำไร่ทำนาไปตามวิถีเดิม เพียงแต่เราขอเช่าที่ดินเขาตั้งแต่เดือนกันยายนถึงพฤศจิกายนของทุกปี  หากปลูกอะไรไว้แล้วยังไม่ได้เก็บเกี่ยว ให้ภาครัฐรับซื้อทั้งหมด  หากพื้นที่ถูกน้ำท่วมขังได้รับความเสียหายก็ไม่เป็นไร เพราะเราเช่าที่ดินจากชาวบ้านไว้แล้ว  จากนั้นจัดการถมดินสองข้าง บดอัดให้เป็นคันกั้นน้ำ ให้มีความสามารถรับน้ำได้อย่างน้อย ๑,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที นอกจากนี้ยังมีการขยายขนาดคลองเดิมทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งขุดคลองฟลัดเวย์ระบายน้ำคู่ขนานกับการสร้างถนนวงแหวนรอบที่สาม  เรื่องฟลัดเวย์เป็นแผนระยะยาว จะตกลงกันทันน้ำท่วมครั้งต่อไปหรือไม่ยังเป็นเรื่องท้าทาย

สำหรับมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง ผมเสนอให้มีการสร้างระบบสนับสนุนการตัดสินใจ เพื่อให้สามารถประเมินความรุนแรงของเหตุการณ์ ประเมินการใช้แนวทางต่าง ๆ เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงตัดสินใจได้อย่างมีความมั่นใจ

คนไทยเคยยกย่องตัวเองว่าเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญเรื่องน้ำ เพราะว่าเราคลุกคลีกับน้ำมานานตั้งแต่บรรพบุรุษ  อาจารย์คิดว่าคำกล่าวนี้ยังเป็นจริงอยู่หรือไม่
ผมว่าไม่จริงนะ ถ้าเราเป็นผู้มีความรู้เรื่องน้ำจริง ทำไมถึงเอาตัวไม่รอด ปล่อยให้เกิดความเสียหายมากมายขนาดนี้  ถึงเวลานี้ต้องตั้งคำถามว่าเรารู้เรื่องน้ำจริงหรือเปล่า  ถ้ารู้จริง ตัดสินใจถูกหลักการ ทำไมถึงเสียหายยับเยิน ยังมีอีกหลายเรื่องที่เราไม่รู้

คนไทยควรสรุปบทเรียนอะไรบ้างจากอุทกภัยครั้งนี้
ก่อนจบจากรายการที่สถานีไทยพีบีเอส ผมคิดว่าจะขอเวลาสรุปบทเรียน ตอนนี้เริ่มเขียนไว้แล้วแต่ยังเป็นร่างคร่าว ๆ  ในที่นี้ผมขอพูดกว้าง ๆ ก่อน

เรื่องหนึ่งคือภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หลายเรื่องคนไทยยังไม่รู้ ทั้งที่มีการศึกษามาตั้งนานแล้ว  สหประชาชาติออกรายงานมาก็มากแล้ว แต่ทำไมแต่ละรายงานไม่เคยแปลเป็นภาษาไทยให้คนไทยอ่านเลย  รายงานสุดท้ายบอกชัดเจนเลยว่าประเทศไทยฝนจะตกหนัก น้ำจะท่วม

แล้วเรื่องภาวะโลกร้อน รัฐบาลก่อน ๆ เดินผิดทาง เขาไปให้ความสำคัญกับการเจรจาลดก๊าซเรือนกระจก  ซึ่งเราเป็นประเทศที่ตัวนิดเดียว จะไปสู้มหาอำนาจได้ยังไง  เวลามีประชุมระดับโลกเรื่องนี้ รัฐบาลไทยส่งคนไทยไปเข้าร่วมมาก แต่ไม่มีบทบาท  ผมเคยถามว่าไปทำไม เขาบอกว่าไปคอยจดว่าเขาพูดอะไรกัน  ล่าสุดการเจรจาในที่ประชุมหลายครั้งล้มเหลว ไม่มีทางที่ประเทศมหาอำนาจจะลดการปล่อยก๊าซ  เขาต้องคำนึงถึงความร่ำรวย (GDP) ของเขามากกว่า  แทนที่จะออกไปเจรจาเรื่องการลดก๊าซ เราต้องหันกลับมาบอกคนไทยว่า ภัยมาถึงตัวแล้วนะ คุณปรับตัวเถอะ ผังเมืองต้องปรับนะ เป็นต้น

เรื่องต่อไปคือพฤติกรรมน้ำหลากปีนี้ เราต้องบอกความจริงว่าน้ำมีปริมาณเท่าไหร่ มาอย่างนี้เท่านี้ แล้วทำไมไม่ผลักไปทางนี้  ขณะที่คูคลองต่าง ๆ ของเราขาดการเหลียวแล ขาดศักยภาพในการระบายน้ำ คูคลองเรามีมากก็จริงแต่ใช้ประโยชน์จริง ๆ ไม่ได้  เหตุการณ์ครั้งนี้เห็นได้ชัดเจนมาก

เรื่องของเส้นทางคมนาคมถูกตัดขาด หรือเรื่องของโลจิสติก เราไม่มีการวางแผนมาก่อนว่าน้ำท่วมแล้วการคมนาคมขนส่งจะเป็นอย่างไร คนบ่นเรื่องนี้กันมาก  วันก่อนผมไปคุยกับผู้บริหารศูนย์กระจายสินค้าแห่งหนึ่ง เขาบอกว่าศูนย์กระจายสินค้าที่บางบัวทองจมน้ำไปแล้ว เหลือเพียงศูนย์ฯ เดียวบริเวณเขตลาดกระบัง ถ้าตรงนี้พังอีกแห่ง ประเทศไทยจบเลยนะ ไม่มีของขาย  เรื่องนี้จึงมีความจำเป็นต้องคุยกันก่อน  ถ้าเกิดน้ำท่วม ศูนย์กระจายสินค้า เส้นทางคมนาคมจะเป็นอย่างไรต้องวางแผน

เรื่องความขัดแย้งระหว่างชุมชน เช่นกรณีคลองสามวา ลำลูกกา สายไหม  กรณีชุมชนเหนือบิ๊กแบ็ก  รวมไปถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมนี่สำคัญมาก  เราไม่บอกเขาก่อนว่าจะทำอะไร พอเขาไม่ร่วมด้วยก็เกิดปัญหา  หลังจากเขาเข้ามาร่วมแล้ว การแก้ไขปัญหาก็ดีขึ้น

เรื่องการประกาศอพยพ เกี่ยวข้องกับความรู้สึกของคน เวลาผู้ว่ากรุงเทพมหานครออกทีวี ต้องประกาศพื้นที่เฝ้าระวังและประกาศให้อพยพเสมอ คนก็รู้สึกว่าไม่มีอะไรนอกจากสองอย่างนี้แล้วเหรอ  บางครั้งการประกาศก็ทำให้คนแตกตื่น กรณีนิคมอุตสาหกรรมนวนครเป็นบทเรียน มีการประกาศอพยพคนสองแสนคน ตอนนั้นผมอยู่ในเหตุการณ์ ผมติดอยู่บนสะพานลอยเป็นชั่วโมง จะข้ามไปอีกฝั่งทำไม่ได้ คนแน่นมาก เขาอพยพประชาชนกันแบบลูกทุ่ง ไม่มีการวางแผน

สุดท้าย การบริหารจัดการครั้งนี้ทำกันแบบทำไปทดลองไป  ลองแบบนี้สิ ผลจะออกมาเป็นยังไง  ไม่มีแผนงานล่วงหน้า หรือการจำลองเหตุการณ์ล่วงหน้า

เหตุการณ์ครั้งนี้มีเรื่องอะไรที่อาจารย์สะเทือนใจที่สุด
มีอยู่ ๒ เรื่อง กล่าวคือ เรื่องแรกเป็นเรื่องยากที่สุดในการตัดสินใจที่มาประเมินสถานการณ์ เป็นเพราะทั้ง ๆ ที่รู้ดีว่าบ้านผม ทรัพย์สินผม และที่สำคัญครอบครัวผมจะต้องมาเป็นแบบนี้  ความเสียหายที่เกิดขึ้น การที่ไม่มีเวลาในการจัดการตนเอง ไม่มีเวลาให้ครอบครัว เป็นเพราะผมตัดสินใจแบบนี้  แล้วคุณจะอธิบายกับครอบครัวคุณอย่างไร  ผมเป็นมนุษย์ย่อมมีความรู้สึกผิด แต่ที่ตัดสินใจทำไปเพราะว่าชีวิตผมถูกสอนมาให้ช่วยเพื่อนมนุษย์

เรื่องที่สะเทือนใจต่อมา คือมีคนโทร.มาหาผม บอกว่าจะฆ่าตัวตายหากผมไม่รับโทรศัพท์เขา  เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้รุนแรงและยืดเยื้อ มีผู้คนมากมายตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ และผมก็ไม่เคยเจอ มันเป็นความเครียดของคนที่ไม่รู้ข้อมูล จะอยู่กันไปกี่วัน จะท่วมอีกเท่าไหร่  ปรกติมีคนโทร.มาหาผมเยอะ บางทีผมไม่รับเพราะยังยุ่งอยู่ แต่คนนี้โทร.มา ผมรับเลย เป็นผู้หญิงสูงอายุเขาบอกว่าฉันจะฆ่าตัวตายแล้วนะถ้าคุณไม่รับโทรศัพท์  ผมถามคุณป้าว่าอยู่ที่ไหน ท่วมเท่าไหร่ เขาบอกเมตรเดียว  ผมบอกว่าของผมท่วม ๓ เมตร ผมก็เป็นผู้อพยพเหมือนกัน  ความรู้สึกเขาเลยผ่อนคลายขึ้น  เขาบอกว่าป้าจะฆ่าตัวตายเพราะป้าเหนื่อยแล้ว เครียดมาก ถ้ายังมีก้อนใหญ่มาป้าไม่ไหวแล้ว  ผมเลยบอกว่าป้าไม่มีก้อนใหญ่แล้ว มาเท่านี้แหละ ต่อไปมีแต่จะลดลง

ขอขอบคุณ : สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เอื้อเฟื้อสถานที่