เปาโล คำสวัสดิ์
เยาวชนปากมูน  อำภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี

ช่วงเรียนอยู่ชั้นประถม วันเสาร์อาทิตย์ผมก็มาร่วมชุมนุมกับพ่อแม่ พี่น้องที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล ผมขึ้นพูดบนเวที หนังสือพิมพ์ถ่ายรูปเอาไปลงข่าวหน้าหนึ่ง  ผอ.ที่โรงเรียนไม่ชอบที่มีนักเรียนไปพูดถึงรัฐบาล เขาก็มาพูดใส่ผมว่า พวกขัดขวางความเจริญ  ลูก ผอ.ก็ชวนเพื่อนล้อ ผมน้อยใจว่าทำไมเราเป็นผู้เสียสละแต่ถูกมองว่าเป็นคนผิด คนไม่ดี  ถูกล้อจนไม่อยากไปโรงเรียน ก็ไม่ไปเลย ต้องออกแค่ ป.4 และไม่ใช่ผมคนเดียวมีนักเรียนถูกล้อจนต้องลาออกหลายคน

หลังจากนั้นผมก็ร่วมทำกิจกรรมกับขบวนการชุมนุมโดยไม่ต้องไปกับพ่อแล้ว ชุมนุมไปเรียนรู้ไป พอผมโตขึ้นมาก็คิดได้ว่าการชุมนุมคือการศึกษาของผม ผมเรียนกับที่ชุมนุม  แต่ก่อนเป็นคนขี้กลัวมาก กลัวตำรวจ กลัวข้อกล่าวหาว่าเป็นผู้ขัดขวางความเจริญ  กลัวถูกตี ถูกจับ กลัวเจ้านาย ยิ่งต้องต่อสู้อยู่คนละฝั่งกับรัฐบาลก็ยิ่งกลัว แต่ที่ผมได้กล้าพูดกล้าทำอะไรก็เพราะผมเรียนรู้จากชาวบ้านพ่อๆ แม่ๆ  ได้คำตอบว่าเราต่อสู้เพื่อใคร เพื่ออะไร ไม่ใช่เพื่อตัวเองเท่านั้น แต่เพื่อแม่น้ำที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ของแผ่นดินอีสาน เพื่อผู้คนตลอดลำน้ำ และเพื่อลูกหลานที่จะเกิดมาในวันข้างหน้า

พวกผู้ใหญ่เล่าว่าแต่ก่อนน้ำมูนกินได้ ดำลงไปกินที่ท้องน้ำใต้หินลึกๆ น้ำเย็นกินได้เลย ไปมูนไม่ต้องพกน้ำ ผักก็ไม่ต้องพกไปเก็บเอาริมฝั่งมูนและยังเก็บกลับบ้านได้ด้วย มาถึงรุ่นผมไม่เคยได้เห็น เรื่องราวเหล่านี้เป็นเหมือนวิชาประวัติศาสตร์ที่ต้องฟังจากคนรุ่นก่อน

ตั้งแต่จำความได้ ผมไม่เคยเห็นแก่งเลย ไม่เคยรู้ว่าแก่งอยู่ตรงไหน ปลาอยู่อย่างไร ปลาขนาดใหญ่ได้ยินแต่ในคำบอกเล่า พอมีการรวมกลุ่มชุมนุมผมก็มานั่งฟังเขาพูดคุยกัน ปลาขึ้นมาอย่างไร หน้านี้มีปลาอะไร มันกินอะไรเป็นอาหาร ผมก็ไปนั่งฟัง  การจักสานเครื่องมือหาปลา ผมก็เรียนรู้จากผู้เฒ่าในที่ชุมนุม เขาสอนให้ ตอนนี้เป็นแล้ว เราเรียนรู้จากเขา ขณะเดียวกันเราก็ได้พูดคุยถึงสภาพชีวิตของเขา พอขึ้นไปพูดที่ไหน ผมก็พูดถึงปัญหาความเดือดร้อนเหล่านั้น

แต่ก่อนพื้นที่แถบลุ่มน้ำลำโดมน้อยถือเป็นอู่ข้าว ชาวปากมูนต้องเอาปลาไปแลกข้าว แต่การสร้างเขื่อนสิรินธรทำให้คนปลูกข้าวไม่มีข้าวจะกินชุมชนแตกสลายหมด เห็นตัวอย่างจากชาวเขื่อนสิรินธร ทำให้ชาวบ้านปากมูน ต้องออกมาต่อสู้

ชาวปากมูนไม่มีนา อยู่ได้จากการหาปลาไปแลกข้าว ไปขายเอาเงินส่งลูกเรียน หลังปิดเขื่อนไม่มีปลาให้จับ พ่อแม่ไม่ทุนจะส่งลูกเรียนในระบบ เราไม่มีโอกาสเป็นข้าราชการ เราจะอยู่อย่างนี้จึงต้องเรียนทางนี้ เรียนรู้ว่าเขาอยู่อย่างไรกินอย่างไร เราอยากอยู่แบบที่พ่อแม่เราเคยอยู่มา เรียนเพื่อดำเนินชีวิตตามที่พ่อแม่ทำมา ผมไม่อยากไปเป็นลูกจ้าง ในเมืองอากาศไม่เหมือนบ้านเรา มันไม่ใช่ธรรมชาติ ผมอยากอยู่แบบพื้นบ้านอยู่ที่บ้านชีวิตมันง่าย ผมจึงต่อสู้เพื่อให้เปิดเขื่อนอย่างถาวร

ถ้าเขื่อนยังปิดคนที่นี่ยังจนเหมือนเดิม จะเอาเงินมาให้ชีวิตก็ไม่ดีขึ้น น้ำมูนเป็นสายเลือด แม่น้ำขาด ชาวบ้านตาย  หลายคนต้องร้องไห้ บ้าน นา ถูกน้ำท่วม ปลาไม่มี ปลาปล่อยก็อยู่ไม่ได้เพราะมันต้องกินอาหาร น้ำขังนิ่ง เน่า นาก็ไม่ได้ใช้น้ำ เพราะไม่มีคลองส่งน้ำ เรารู้แล้วว่าเขื่อนไม่ดีจริง รัฐเคยเอาเงินค่าสูญเสียโอกาสมาให้บ้าง แต่มันไม่สามารถเยียวยาชีวิตชาวบ้านได้ ให้ไปทำอาชีพอื่นอาจทำเป็นแต่ไม่ชำนาญ อย่างคนอายุ ๖๐ ให้ไปเป็น
กรรมกร ไม่ไหวแล้ว แต่ยังวางข่ายเป็น ช่วยปลดปลาลูกหลานได้ ลูกหลานอยู่พร้อมหน้าพร้อมตาเขาก็มีความสุข ถ้าแม่น้ำยังอยู่คนที่นี่อยู่ได้ชั่วลูกชั่วหลาน

ต้นปี ๒๕๔๔ นายกทักษิณสั่งเปิดเขื่อนเพื่อทำวิจัย บอกว่าผลวิจัยอย่างไรจะเอาตามนั้น ชาวบ้านก็ทำวิจัยควบคู่ไปกับมหาวิทยาลัยอุบลฯ ช่วงนั้นผมร่วมทำวิจัยกับชาวบ้าน ร่วมจับปลากับเขา เขาทำอะไรทำด้วยหมด  ช่วงนั้นปลาขึ้นเยอะ ใส่มอง วางข่าย ชาวบ้านมีความสุขมาก วิถีชีวิตเดิมกลับมา เขาไม่อยากได้อะไรแล้ว ผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยอุบลฯ บอกเปิดเขื่อนตลอดปีดี ปิดเขื่อนได้ไฟฟ้าไม่กี่เมกกะวัตต์ แต่รัฐบาลไม่ปฏิบัติ บอกให้เปิด ๔ เดือน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นฤดูที่ปลาลง และปกติช่วงนี้เขื่อนต้องเปิดทุกปีอยู่แล้วเพราะเป็นหน้าน้ำหลาก เราชุมนุมเพื่อให้รัฐบาลถือตามผลการวิจัย แต่ถูกรัฐบาลส่งผู้ว่าฯ สมัครมาไล่ม็อบ

หลายปีที่ร่วมในการชุมนุม ผมเคยโดนตีหัว โดนแก๊สน้ำตา โดนเตะเหมือนลูกบอลกลิ้งมาบนถนนตั้งแต่ประตูทำเนียบรัฐบาลมาจนถึงที่ชุมนุมข้างวิทยาลัยพาณิชพระนคร  ผมร้องไห้ ไม่ใช่เพราะเจ็บ แต่เสียใจที่คนเฒ่าคนแก่ถูกกระบอกตี ถูกปล่อยหมากัด  ถูกกระทำถึงขนาดนั้นทำไมเรายังไม่ยอมกลับบ้าน กลับมาเราก็ตาย ไม่มีที่จะทำกิน เราสู้เพื่อชีวิตใหม่  ถ้าแม้มันยังไม่เกิดผลในวันนี้ ให้ลูกหลานวันข้างหน้าได้รับผลเราก็พอใจ เรากลัวเด็กๆ จะไม่รู้จักปลาในแม่น้ำ เราไม่ต้องการให้เขารู้จักแต่ปลาหัวขาด ปลากระป๋อง

“ตราบใดที่ประตูเขื่อนยังไม่เปิด ผมคงไม่กล้ามีลูก ไม่รู้จะเอาอะไรให้เขากิน”

(อนึ่งภาพประกอบในหน้าเวบไซต์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเนื้อหาภายใน)