คอลัมน์ เปลี่ยนเป็นเย็น
เรื่อง : หอยทากตัวนั้น (snailday@gmail.com)

เขตพระนครและธนบุรี แผนที่ฉบับรู้ทันน้ำ พ.ศ.๒๕๕๔ (ภาพ : rootannam.com)

คุณจ๋า

เหมือนคนกรุงเทพฯ อีกหลายคนที่ย้ายหนีน้ำสองวันก่อนน้ำจะมา  ฉันจากบ้านย่านตลิ่งชัน (ที่ตอนนี้น้ำในซอยบ้านสูงถึงระดับอก) มายังบ้านเดิมในชุมชนกุฎีจีน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ถิ่นน้ำท่วมถึงที่ครอบครัวคุ้นเคย

แม้กุฎีจีนเป็นฮอตสปอตอันมีแต่ความเสี่ยงที่น้ำจะท้นท่วมเมื่อไหร่ก็ได้ แต่บ้านส่วนใหญ่ในชุมชนก็ยังไม่ก่ออิฐกั้นประตู (รวมทั้งบ้านที่ฉันย้ายมาอยู่) เพราะทั้งชุมชนวางเดิมพันทั้งหมดไว้ที่พนังกระสอบทรายซึ่งทางสำนักงานเขตธนบุรีและชาวชุมชนช่วยกันทำเอาไว้  ทุกวันที่ต้องการความร่วมมือ เสียงตามสายในหมู่บ้านจะประกาศให้ทุกคนออกมาช่วยแบกขนกระสอบทราย  ฉันเองผู้ย้ายเข้าไปตั้งหลักที่นั่น จึงได้ร่วมลงแขกกับเขาด้วย  ถึงต้นเดือนพฤศจิกายนที่เขียนต้นฉบับอยู่นี้ กุฎีจีนจึงยังแห้งเหือด

ในเวลาเดียวกัน ทีวีก็รายงานข่าวเรื่องชุมชนเข้มแข็งรับมือน้ำท่วมอย่างได้ผลหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นชาวหมู่บ้านแมกไม้ย่านรามอินทรา ที่วางระบบระบายน้ำและบำบัดน้ำเสียแยกจากส่วนกลาง  หรือคอนโดซิตี้โฮม รัชดา-ปิ่นเกล้า ที่บางพลัด ก็ยังดำรงชีวิตแนวดิ่งอยู่ได้ โดยไม่ต้องอพยพไปไหน เพราะป้องกันหัวใจอย่างห้องเครื่องระบบไฟฟ้าไว้อยู่  ทั้งสองแห่งล้วนอยู่ได้เพราะพลเมืองในชุมชนมีจิตอาสาและร่วมมือร่วมใจ

มันให้มู้ดเหมือนเราอยู่บ้านบางระจัน  ด้วยมีดพร้าและอาวุธบ้านๆ เรากำลังต้านทานกับข้าศึกทัพใหญ่น้อยที่ไหลบ่ามาอย่างสุดกำลัง

ระหว่างที่ช่วยคนอื่นๆ ลำเลียงกระสอบทรายอยู่นั้น ฉันคิดว่าสิ่งที่เราต้องทำมีเท่านี้หรือไร  การกั้นไม่ให้น้ำท่วมบ้านของเรา (ในร่างของชุมชนทั้งหมด) เป็นคำตอบของการป้องกันน้ำท่วมหรือ

น้ำที่กำลังไหลบ่ามาจากทางทิศเหนือเป็นข้าศึกของเราตั้งแต่เมื่อไหร่กัน

น้ำไม่ใช่ข้าศึกของคนที่ก่อร่างสร้างกรุงเทพฯ เมื่อ ๒๐๐ กว่าปีก่อนแน่นอน

ผู้รู้บอกว่าบรรพบุรุษของเราก๊อบปี้การเลือกทำเลตั้งถิ่นฐานเหมือนคนอยุธยา  หนึ่งในเหตุผลสำคัญคงผูกพันอยู่กับการทำมาหากิน  บางกอกสมัยก่อนย่อมต้องน้ำหลากเช่นที่เมืองหลวงเดิมเป็น

ฉันคิดว่าชีวิต ๔๐๐ ปีของคนอยุธยาที่พึ่งพาน้ำ อาจไม่ต่างจากคนต้นยุครัตนโกสินทร์มากนัก  ต้องพึ่งน้ำท่วมพาเอาตะกอนและปุ๋ยอาหารที่พัดมาเพื่อเพาะปลูกเหมือนๆ กัน จนน้ำในความคิดของผู้คนคือมิตร เป็นสิ่งที่ทุกคนรอคอย มากกว่าข้าศึกศัตรู

ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา เคยพูดถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า “กรุงศรีอยุธยาไม่มีระบบทดน้ำ ยกเว้นในฤดูแล้งซึ่งมีเขื่อนชั่วคราวสร้างอยู่หัวและท้ายคลองเพื่อกักน้ำไว้ในเมือง  เขื่อนดังกล่าวทำด้วยไม้ระเนียดปักคู่กันลงไปในคลอง มีดินถมระหว่างกลาง  ในฤดูน้ำหลาก เขื่อนดินจะถูกรื้อทิ้ง ทำให้น้ำไหลผ่านเข้าไปในเมืองได้อย่างเต็มที่  ปีใดน้ำมาก น้ำก็จะท่วมท้นฝั่งคลองขึ้นมาถึงใต้ถุนบ้าน  ในเมื่อเรือนไทยยกพื้นสูงหมด สภาพน้ำนองทั่วไปเช่นนี้จึงเป็นเรื่องที่อำนวยแต่ความสะดวกให้แก่ชาวเมือง ซึ่งสามารถแจวเรือไปมาหาสู่กันได้อย่างสบาย ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแต่ประการใด”

อ่านแล้วทึ่ง เพราะคนรุ่นก่อนอยู่ได้แบบเปียกก็ได้แห้งก็ดี มีวิถีชีวิตและสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานรองรับเสมอ

ชั่ว ๑๐๐ กว่าปีที่ผ่านมา ชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไปเหมือนอยู่ในดาวดวงใหม่ เปลี่ยนไปมากกว่า ๔๐๐ ปีที่คนอยุธยาเปลี่ยนข้ามมาอยู่กรุงเทพฯ มากนัก  ความเป็น “ชาวน้ำ” อย่างที่ฝรั่งรุ่นล่าอาณานิคมเคยพูดถึงไว้อย่างพิศวงว่า คนไทยเป็น “คนที่ใช้แม่น้ำลำคลองเป็นที่สัญจรแต่โบราณกาล  จนกระทั่งทุกวันนี้ (พ.ศ.๒๔๕๔) ก็ยังใช้ลำน้ำเหล่านี้เพราะสะดวกและประหยัด…และเนื่องจากผู้คนชินอยู่กับสิ่งเหล่านี้มาแต่เกิด ฝรั่งที่มาเห็นเข้าคิดว่า คนไทยอยู่ในน้ำสะดวกสบายและปลอดภัยกว่าอยู่บนบก” [G.E. Gernini (๑๙๑๑), Siam and Its Production, Arts, and Manufactures] นั้นหายไปอย่างไร้ร่องรอย

จุดเริ่มต้นเมื่อ ๑๐๐ ปีก่อนอยู่ที่เราพยายามเปลี่ยนแปลงเมืองแบบชาวน้ำ ให้กลายเป็นเมืองแบบชาวบกของคนตะวันตก  ถนนหนทาง ตึกรามและบ้านเรือนแบบใหม่ถูกสร้างขึ้นแทนที่พื้นที่เดิมด้วยเหตุผลมากมาย จนลืมเหตุผลเก่าแก่ว่าทำไมเราถึงเลือกมาตั้งเมืองอยู่ที่นี่

และเราลืมความสัมพันธ์ดั้งเดิมกับน้ำ เพราะว่าชีวิตประจำวันและการทำมาหากินของเราห่างไกลจากน้ำ  สายตาที่เรามองน้ำจึงเปลี่ยนไป เพราะคนเมืองใหญ่ไม่คิดว่าตัวเองต้องการตะกอนและธาตุอาหารที่น้ำจะพามาให้อีกแล้ว

 

เมื่อเรารู้จักน้ำอีกครั้ง น้ำอยู่ในรูปของ “น้องน้ำ”-“ป้าน้ำ” -“วาฬสีน้ำเงิน” ที่เราต้องหนีสุดฤทธิ์

J. Hoche ทำนายถึงอนาคตของบางกอกไว้ตั้งแต่ ๑๑๓ ปีก่อนในหนังสือ Le Siam et les Siamois ว่า “สองเมืองที่ซ้อนกันอยู่ คือเมืองน้ำและเมืองบก ทั้งสองเมืองอยู่ด้วยกันอย่างขัดๆ และต่างทำหน้าที่ซ้ำซ้อนกัน…วิธีไม่ตรงกัน   ยิ่งกาลเวลาผ่านไป ก็ยิ่งจะเห็นความขัดแย้งดังกล่าว  อีกไม่ช้า เมืองบกจะต้องชนะเมืองน้ำ  และเมื่อนั้นนักภูมิศาสตร์ที่ชอบให้สมญานามแปลกๆ แก่กรุงเทพฯ เห็นจะต้องเลิกใช้คำว่าเวนิสตะวันออกเสียที”

พ.ศ.๒๕๕๔ เมืองบกเจริญขึ้นก็จริง แต่พอมวลน้ำมากมายผ่านมาทางนี้ เขตแล้วเขตเล่าต้องถอยร่นด้วยการประกาศอพยพ

รศ.ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ชี้ให้เราเห็นว่าการหาประโยชน์ใส่ตัวโดยไม่ใส่ใจธรรมชาติและลักษณะของพื้นที่คือต้นเหตุของน้ำท่วมใหญ่หนนี้

สวนยางพาราหรือไร่ส้มที่ปลูกบนพื้นที่ชายเขาทำให้เกิดดินถล่ม  การตัดไม้ในพื้นที่ป่าต้นน้ำเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างข้าวโพดย่อมทำลาย “ฟองน้ำ” ธรรมชาติที่คอยดูดซับน้ำฝนและอุ้มน้ำไว้สำหรับฤดูแล้ง  ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมย่านรังสิตเปลี่ยนไปเป็นหมู่บ้านจัดสรร  พื้นที่รอบเขตประวัติศาสตร์อย่างอยุธยากลายเป็นนิคมอุตสาหกรรม  บ้านเรือน ร้านอาหาร และรีสอร์ตมากมายบุกรุกทางไหลของน้ำ  ถนน บ้านจัดสรรและอสังหาริมทรัพย์ปลูกขวางทางน้ำ ฯลฯ เป็นตัวอย่างที่ รศ.ดร. อดิศร์ยกขึ้นให้เราเข้าใจว่าที่ดินเป็นมากกว่าที่ทำมาหากิน และผังเมืองไม่ใช่เป็นของที่ขีดเขียนขึ้นมาโดยไม่มีเหตุผล

นั่นคือเราจำเป็นต้องรู้ว่าพื้นที่ที่เราอยู่เราหากินนั้นเป็นอย่างไร มีความสัมพันธ์กับระบบธรรมชาติทั้งหมด ผู้คน
และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อย่างไร  ต้องเข้าใจจริงๆ ว่าทำไมต้องรักษาป่าต้นน้ำไว้อย่างเข้มแข็ง ว่าทำไมควรจัดพื้นที่อุตสาหกรรมแยกจากพื้นที่เกษตรกรรมซึ่งจะรับน้ำ และทำไมเราต้องใช้ชีวิตสอดคล้องกับลักษณะธรรมชาติของพื้นที่

 

แค่ ๓๐-๕๐ ปีก่อนที่บางลี่ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี มีภาพเมือง “สะเทินน้ำสะเทินบก” ปรากฏอยู่ อย่างน้อยก็เป็นตัวอย่าง

เมืองที่เมื่อน้ำแห้งก็เป็นเหมือนเมืองอื่นๆ แต่เมื่อยามน้ำหลาก “ชาวบ้านจะเตรียมเก็บข้าวของล่วงหน้าไว้  และก่อนที่น้ำจะมาเพียงวันหรือสองวัน ก็จะย้ายข้าวของและสินค้าขึ้นไปชั้นบนพร้อมกันทั้งชุมชน  สัญชาตญาณนี้ไม่เคยพลาด”  เมื่อน้ำมาถึง เมืองทั้งเมืองก็กลายเป็นเมืองลอยน้ำที่ “กิจการที่เคยอยู่บนพื้นดิน ก็โผล่ขึ้นไปอยู่ระดับชั้นสอง เช่น ตลาดกลางใจเมือง ร้านตัดผม ร้านขายยา และร้านอาหาร เป็นต้น  แม้แต่ปั๊มน้ำมันซึ่งเคยบริการรถยนต์อยู่เป็นปรกติ  พอรุ่งขึ้นกลับย้ายขึ้นไปอยู่ชั้นสองมีเรือยนต์เข้ามาเทียบเรียงกันเป็นแถวเข้าซื้อน้ำมันแทนทันที”*

เราย้อนเวลากลับไปหาบางลี่ในอดีตไม่ได้ แต่ว่าเราทำตัวเราเองให้คุ้นเคยกับน้ำมากกว่านี้ได้  ชุมชนของเราหัดสะเทินน้ำสะเทินบกกว่านี้ได้อีก  ถ้าจิตสาธารณะที่เรามีต่อชุมชนของเราแผ่ขยายไปไกลกว่าการขนกระสอบทรายปกป้องชุมชนของตัวเอง ให้ไปถึงชุมชนถัดๆ ไป สู่จังหวัดอื่นๆ ที่คนอื่นๆ อยู่ด้วยได้ ความเดือดร้อนอันเกิดจากน้ำท่วมจะบรรเทากว่านี้อีกมาก  เราจะเปราะบางน้อยลงกว่านี้อีกมาก

 

ปีนี้เป็นปีที่เราทุกคนได้เรียนรู้เกี่ยวกับน้ำท่วมอย่างจริงจัง ทั้งจากประสบการณ์และจากข้อมูลหลายด้าน
อย่าปล่อยให้มันผ่านไปฟรีๆ

เผื่อคราวหน้าน้ำมาอีก จะได้เครียดน้อยลงอีกหน่อยไงล่ะ 😉

* น้ำ บ่อเกิดแห่งวัฒนธรรมไทย, สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา, กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๒๘