เรื่องและภาพ : วิทิตนันท์ โรจนพานิช

ในประวัติศาสตร์โลกที่มีการบันทึกกันมาเป็นเวลาเกือบศตวรรษแล้วที่มีคนพยายามพิชิตยอดเขาสูงที่สุดในโลก–เอเวอเรสต์ ที่ความสูง ๘,๘๔๘ เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

จากสถิติความพยายามปีนเอเวอเรสต์ภายในระยะเวลา ๘๖ ปี นับจากปี ค.ศ. ๑๙๒๑-๒๐๐๗ พบว่ามีผู้ปีนสู่ยอดเขาได้สำเร็จ ๓,๖๘๔ คน และมีผู้เสียชีวิต ๒๑๐ ราย

ถ้าเทียบเป็นสัดส่วนก็ราว ๖ ต่อ ๑ กล่าวคือ ในจำนวนคนที่ปีนเอเวอเรสต์ ๖ คน จะมีคนตายอย่างน้อย ๑ คน

แม้คนจำนวนไม่น้อยจะเอาชีวิตไปเสี่ยงความตาย แต่ก็มีผู้คนอีกมากมายนับไม่ถ้วนจากทั่วทุกมุมโลกที่สมัครใจมายังเทือกเขาหิมาลัยแห่งนี้ เพื่อจะสัมผัสกับมนต์เสน่ห์แห่งเอเวอเรสต์สักครั้งหนึ่งใน
ชีวิต

ทำไมผู้คนมากมายจึงขวนขวายจะไปถึงยอดเอเวอเรสต์

ทำไมความพยายามเอาชนะธรรมชาติด้วยการพิชิตยอดเขาแห่งนี้จึงเกิดเป็นเรื่องราวเล่าขาน เป็นตำนานน่าหลงใหล

เหล่านี้เป็นคำถามค้างคาใจผม จนมาได้รับคำเฉลยก็เมื่อได้ลงมือลงเท้าปีนสู่ยอดเอเวอเรสต์แล้วนั่นละ

อันที่จริง เรื่องราวเกี่ยวกับภูเขาหิมาลัยและยอดเขาเอเวอเรสต์นั้น ผมเคยได้ยินได้ฟังมาตั้งแต่เมื่อครั้งยังเด็ก ทั้งจากแบบเรียน หนังสือ นิตยสาร หนังสารคดี และจากคำบอกเล่าของผู้คนมากมาย

ไม่เคยคิดเลยว่าวันหนึ่ง ตนเองจะมีโอกาสได้เหยียบยืนอยู่บนยอดเขาที่เป็นความใฝ่ฝันของคนทั่วโลก

ไม่เพียงเท่านั้น สิ่งที่นำความภาคภูมิใจอันยิ่งใหญ่มาสู่ตัวผมก็คือ การได้เป็นคนไทยคนแรกที่สามารถอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขึ้นสู่ยอดเอเวอเรสต์สำเร็จต่อไปนี้คือเรื่องราวครั้งหนึ่งในชีวิตของผม กับประสบการณ์รอนแรมสู่ยอดเขาทั่วโลก เพื่อขึ้นสู่จุดสูงสุดของหลังคาโลก–เอเวอเรสต์

ใกล้จะถึงยอดคิลิมันจาโรเต็มที ตรงจุดนี้เรียกว่า Stella Point จากจุดนี้ไปเส้นทางไม่ลาดชัด เรียกว่าเดินขึ้นเนินไปอีกครึ่งชั่วโมง (อย่างช้า) ก็จะถึงยอดเขาคีโบ หรือในภาษาพื้นเมืองว่า อูฮูรู (Uhuru) ที่ความสูง ๕,๘๙๕ เมตรจากระดับน้ำทะเล และเราก็จะได้ยืนอยู่ ณ จุดสูงสุดของทวีปแอฟริกาแล้ว

ถึงแม้ไอส์แลนด์พีกจะมีความสูงเพียง ๖,๑๘๙ เมตรจากระดับน้ำทะเล และชาวเชอร์ปาจะนับว่าเป็นแค่เนินเขา แต่ไอส์แลนด์พีกก็เปรียบเสมือนภูเขาครูให้นักปีนเขาหลายๆ คนมาฝึกฝน รวมทั้ง เทนซิง นอร์เกย์ ๑ ใน ๒ คนแรกที่พิชิตยอดเอเวอเรสต์สำเร็จเป็นครั้งแรก บางช่วงของไอส์แลนด์พีกอย่างในภาพนี้ก็ปีนไม่ง่ายเลย ยอดเขานี้มีความละม้ายคล้ายคลึงกับยอดเอเวอเรสต์มาก จนผู้นำทางชาวเชอร์ปาหลายๆ คนบอกว่ายอดเขาทั้งสองเป็นฝาแฝดกัน

ก่อนจะขึ้นเขา

“วันนั้นเอง การเดินทางครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิตผมได้เริ่มต้นขึ้น”

ราวปลายปี ๒๕๔๗ ระหว่างพวกเรากำลังดำน้ำกันที่เบอร์มาแบงก์ คุณสาโรจน์ เปรื่องวิริยะ ก็ถามขึ้นว่าอยากไปปีนเขาเอเวอเรสต์ไหม ความที่เป็นคนรักการผจญภัยและอยากเรียนรู้การมองโลกจากมุมอื่นๆ ผมจึงตอบรับเขาในทันที มารู้ภายหลังว่าการปีนเขาเอเวอเรสต์ต้องใช้เงินราว ๒ ล้านบาท พี่สาโรจน์ เจ้าของบริษัทนอร์ก้า นักธุรกิจใจบุญผู้มีความกล้าและบ้าไม่แพ้ผม ออกรับเป็นสปอนเซอร์ให้ทั้งหมด เพราะความฝันของพี่สาโรจน์คือการนำคนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยและคนไทยที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศทั่วโลกไปปีนยอดเขาสูงที่สุดในโลกด้วยกัน โดยประกาศรับและคัดเลือกบุคคลที่พร้อมที่สุดจำนวน ๒๐ คน พี่สาโรจน์ไม่ต้องการสิ่งใดตอบแทน เขาเพียงหวังจะให้คนไทยมีชื่อเสียงทัดเทียมคนชาติอื่นๆ ทั่วโลก

แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าโครงการนี้ต้องถูกยุบไปด้วยเหตุผลหลายประการ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจและความพร้อมของทีมปีนเขาที่จะมาเป็นพี่เลี้ยง

ถึงแม้ว่าโครงการดังกล่าวจะกลายเป็นเพียงความฝัน แต่ความฝันในใจผมไม่ได้มลายหายไปด้วย ผมกลับยิ่งสนใจใคร่รู้เรื่องราวเกี่ยวกับภูเขาลูกนี้มากยิ่งขึ้น ยิ่งค้นหาก็ยิ่งสงสัยว่าทำไมผู้คนมากมายจึงพยายามขวนขวายที่จะไปให้ถึงยอดเขาเอเวอเรสต์ ด้วยอยากจะเป็นส่วนหนึ่งของตำนานอันยิ่งใหญ่นี้ ผมจึงเริ่มต้นเก็บสตางค์หาทุนรอนเพื่อทำให้ฝันเป็นจริง

มีด่านทดสอบมากมายรอท้าทายผมอยู่กว่าจะได้ขึ้นไปยืนบนยอดเอเวอเรสต์ และ ๓ สิ่งสำคัญที่ต้องมีก็คือ กำลังกาย กำลังใจ และกำลังทรัพย์

กระบวนการเตรียมตัวนั้นจึงหมายถึงเงินจำนวนมหาศาลและเวลาอันยาวนานพอดู ลำพังทุนทรัพย์ของผมคงไม่ทันการณ์หรืออาจจะไม่มีโอกาสเลยก็เป็นได้ ด้วยเหตุนี้ ราวเดือนมีนาคม ๒๕๔๙ ผมจึงออกเดินทางไปยังยอดเขาเล็กๆ แห่งหนึ่งในเนปาล อาจจะเรียกว่าเนินเขาเตี้ยๆ ก็ได้เมื่อเทียบกับยอดเอเวอเรสต์ เนินเขานี้ชื่อ คาลาปาทาร์ (Kala Patthar) จุดชมวิวเอเวอเรสต์ที่โด่งดังที่สุดในโลก ด้วยความสูง ๕,๕๕๐ เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

การปีนเขาในครั้งนี้เอง ผมมีโอกาสได้รู้จักคุณเกอลู เชอร์ปา (Gelu Sherpa) เจ้าของบริษัท Peak Paldor Trekking and Expeditions ผมขอร้องให้เขาเป็นที่ปรึกษาแม้ไม่มีสตางค์จะจ่าย ไปๆ มาๆ ก็จ้างเขานำทางให้จนได้

การเดินทางครั้งนี้นอกจากเป็นการเตรียมตัวฝึกฝนร่างกายสำหรับการปีนเขาแล้ว ยังมีจุดประสงค์เพื่อเก็บภาพและเรื่องราวทำเป็นตัวอย่างรายการโทรทัศน์นำเสนอสปอนเซอร์ ซึ่งในท้ายที่สุดก็ไม่มีสปอนเซอร์รายใดในขณะนั้นตอบรับเลยด้วยซ้ำ เมื่อเล่าให้เกอลูฟังว่าผมจะทำรายการโทรทัศน์เกี่ยวกับการปีนยอดเอเวอเรสต์ เกอลูก็แนะนำให้รู้จักลูกพี่ลูกน้องของเขาชื่อ เซอรัป เชอร์ปา (Serap Sherpa) ผู้เคยขึ้นถึงยอดเอเวอเรสต์มาแล้ว ๔ ครั้ง ซึ่งต่อมาจะมาเป็นหัวหน้าทีมผู้นำทางในการปีนเอเวอเรสต์ของผม

ผมเดินทางไปเนปาลอีกหลายครั้งก่อนจะมีใครตอบตกลงทำรายการหรือเป็นสปอนเซอร์ ในใจคิดเพียงว่าถ้าอยากทำให้ได้ก็ต้องทุ่มเท ต้องอยู่ใกล้ๆ ทั้งๆ ที่ทุกอย่างเป็นแค่ความฝัน ผมเริ่มสนิทสนมและเริ่มนับญาติกับชาวเชอร์ปาที่นั่น ผมไปกินอยู่หลับนอนกับเกอลูและเซอรัป พ่อแม่พี่น้องและญาติๆ ของพวกเขา จนพวกเขาตั้งชื่อเชอร์ปาให้ผมว่า เทนซิง วิทิตนันท์ เชอร์ปา (Tenzing Vitidnan Sherpa)

อันที่จริงผมคงหมดกำลังใจและเลิกล้มความฝันนี้ไปนานแล้ว ถ้าไม่เป็นเพราะเหตุการณ์ในวันนั้น

๙ มิถุนายน ๒๕๔๙ ภาพคลื่นมหาชนคนไทยที่มารอชื่นชมพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบริเวณหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมในงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี เป็นภาพประทับในใจผมมิรู้ลืม และวันนั้นเอง การเดินทางครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิตผมได้เริ่มต้นขึ้น

หลังจากความพยายามเดินเข้าไปขอสปอนเซอร์อีกเป็นสิบครั้ง จนกระทั่ง-จะด้วยเหตุบังเอิญหรือพรหมลิขิตก็ตาม คุณนิรัตติศัย กัลย์จาฤก ได้มีโอกาสดูภาพยนตร์สั้นที่ผมทำไว้ขอสปอนเซอร์ เขาเกิดความรู้สึกดีเกี่ยวกับโครงการนี้ จึงนำเสนอเรื่องราวความตั้งใจของผมกับคุณจาฤก กัลย์จาฤก กรรมการบริษัทกันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) คุณจาฤกได้ให้ความอนุเคราะห์ช่วยเหลือและวางแผนในการผลิตรายการที่จะนำคนไทยไปปีนเอเวอเรสต์เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ติดปัญหาเรื่องเวลาในการออกอากาศ คุณจาฤกจึงได้นำเสนอแนวทางการผลิตรายการนี้กับเพื่อนชาวเวียดนาม คือคุณเตี๋ยน เจ้าของบริษัท Lasta Joy Stock บริษัทผลิตรายการโทรทัศน์ที่โฮจิมินห์ซิตี คุณเตี๋ยนตอบรับแนวความคิดนี้ทันที จนผมรู้สึกประหลาดใจและซาบซึ้งใจเป็นอย่างมาก

โครงการ Vietnam Spirit to the world เป็นรายการโทรทัศน์ที่จะนำผู้ชมเดินทางไปปีนเขากับนักปีนเขาที่รับสมัครจากทั่วประเทศ โดยคัดเฉพาะคนที่มีความพร้อมที่สุดเพียง ๒๐ คนไปปีนยอดเขา ๓ ลูกก่อนจะขึ้นสู่ยอดเอเวอเรสต์ ในระหว่างนั้นก็ต้องคัดคนออกจนเหลือผู้เข้าแข่งขัน ๔ คนเท่านั้นเป็น ๔ คนที่มีสิทธิ์จะได้ไปยืน ณ จุดสูงสุดของโลก

โครงการนี้ได้สุดยอดนักคิดอย่างพี่อาร์ท ธีรชัย ศิริสัมพันธ์ ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ผู้คร่ำหวอดในวงการโฆษณาเมืองไทยมาหลายสิบปีเป็นผู้วางแผน ส่วนผมทำหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์ ร่วมกับโปรดิวเซอร์ชาวเวียดนาม แถมด้วยการเป็นตากล้องบันทึกภาพบนภูเขา รายการนี้ออกอากาศทุกวันทางสถานี HTV วันละ ๕ นาที และ ๓๐ นาทีในวันอาทิตย์ เป็นเรียลลิตี้โชว์ปีนเขาครั้งแรกในโลก

เพราะได้มาดูแลการผลิตรายการนี้เอง ความฝันของผมจึงเป็นความจริงในเวลาต่อมา

เมื่อหมอกเริ่มจาง

“การปีนเขากลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตผม”

เอเวอเรสต์ในภาษาถิ่น ชาวเนปาลีเรียกว่า “ซาการ์มาทา” (Sagarmatha) แปลว่า หน้าผากแห่งท้องฟ้า (Forehead of the Sky) ส่วนชาวทิเบตเรียกว่า “โชโมลุงมา” (Chomolungma, Qomolangma, Zhumulangma) แปลว่า มารดาแห่งจักรวาล (Mother of the Universe) อย่างไรก็ตาม เมื่อปี ค.ศ. ๒๐๐๒ ทางการจีนได้ประท้วงว่ายอดเขานี้ไม่ควรมีชื่อตามภาษาตะวันตก แต่ควรใช้ชื่อว่า “Mount Qomolangma” ตามที่ปรากฏในแผนที่จีนมากว่า ๒๘๐ ปีแล้ว !

ไม่ว่าจะถูกเรียกขานด้วยนามและภาษาใด ความยิ่งใหญ่พิสุทธิ์แห่งธรรมชาติบนขุนเขาหิมาลัยต่างหากที่เราควรปกปักรักษายิ่งกว่าชื่อนามใดๆ ของมัน ปัจจุบันมียอดเขาจำนวนมากบนเทือกเขาหิมาลัยที่ไม่อนุญาตให้ปีนหรือสำรวจ ด้วยคนท้องถิ่นยังเชื่อว่า ที่นั่น บนขุนเขาหิมะและสายหมอกหนาวเย็นโอบล้อมนั้น คือวิมานศักดิ์สิทธิ์แห่งทวยเทพ ผู้ทรงสถิตตราบชั่วนิรันดร์

ว่าไปแล้วสำหรับผม เอเวอเรสต์ก็คือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ผม-ในนามของคนไทยคนหนึ่ง จะได้อัญเชิญพระบรมฉายา-ลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขึ้นสู่ยอดเขาเพื่อประกาศพระบารมีและพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ไปทั่วโลก

สารภาพว่าสิ่งนี้คือแรงบันดาลใจ คือพลังแห่งความใฝ่ฝันของผม

เอาเข้าจริงตลอดเวลาเกือบ ๒๐ ปีที่ผ่านมา ผมเองก็เป็นนักเดินทางชีพจรลงเท้าคนหนึ่ง เดินทางมาแล้วแทบทั่วทุกมุมโลก แต่การเดินเขาปีนป่ายทำนองนี้มีน้อยครั้งมาก ความคิดเรื่องการปีนเขาไม่เคยมีในหัวเลยแม้แต่น้อย จนได้อาศัยแรงบันดาลใจที่ว่ามานี้ผลักดันให้ผมมุ่งหน้าทำฝันให้เป็นจริง

นับแต่นั้นมา การปีนเขาได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตอย่างคาดไม่ถึง ผมตั้งหน้าตั้งตาฝึกฝนอย่างมุมานะ ด้วยการเดินทางไปปีนเขาที่ถือว่าเป็นด่านทดสอบนักปีนเขามาแล้วหลายลูก

การปีนเขาเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้ความพร้อมหลายด้าน ทั้งร่างกาย จิตใจ และความรู้ ที่สำคัญต้องอาศัยทุนทรัพย์ไม่น้อย ดูเผินๆ แล้วการปีนเขาไม่น่าจะจัดอยู่ในกิจกรรมสันทนาการเลย แต่ถึงกระนั้นการปีนเขาก็ยังเป็นกิจกรรมที่ท้าทายและเย้ายวนผู้คนให้แวะเวียนมาสัมผัสไม่ขาดสาย ทั้งมากขึ้นๆ ทุกปี

เท่าที่ผมสังเกตดู กิจกรรมเกี่ยวกับการปีนป่ายนั้นอาจแบ่งได้เป็น ๓ ประเภทใหญ่ๆ คือ หนึ่ง การปีนหน้าผา (rock climbing) ซึ่งกำลังได้รับความนิยมไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นหน้าผาเทียมในห้างสรรพสินค้าหรือหน้าผาตามแหล่งท่องเที่ยวที่มีภูมิทัศน์สวยงามซึ่งส่วนใหญ่มักถูกปรับเตรียมไว้สำหรับกิจกรรมนี้

สอง การเดินป่าหรือเดินเขา ที่เรียกกันว่า trekking เป็นกิจกรรมที่ต้องใช้เวลาและอุปกรณ์มากขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าจะไปเทรกกิงที่ไหน เริ่มเป็นที่นิยมแพร่หลายมากขึ้นในไทย ส่วนในต่างประเทศเป็นที่นิยมมานานแล้ว สังเกตได้จากร้านค้าขายอุปกรณ์ประเภทแคมปิงหรือเทรกกิงซึ่งมีอยู่มากมาย สถานที่ที่บรรดา trekker โปรดปรานเห็นจะได้แก่ ยอดเขาคินาบาลู ที่ตั้งอยู่ในรัฐซาบาห์ เมืองโกตากินะบะลู ประเทศมาเลเซีย เป็นที่นิยมของผู้คนจากทั่วทุกสารทิศ และนับเป็นภูเขาครูที่นักปีนเขาต้องมาเริ่มต้นที่นี่

กิจกรรมปีนป่ายหมวดสุดท้ายคือ การปีนภูเขาสูง (expedition) เป็นการเดินทางแบบจริงจังและเข้มข้น ต้องมีความมุ่งมั่นแน่วแน่และมั่นคง ด้วยไม่เพียงต้องใช้กำลังทรัพย์มหาศาลแล้วยังต้องมีกำลังกายเข้มแข็งเป็นเลิศ และสิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือกำลังใจอันเด็ดเดี่ยว เพราะถ้าโชคไม่ดีเราอาจต้องทิ้งชีวิตไว้ที่นั่น ด้วยต้องเผชิญกับเหตุการณ์ไม่คาดคิดและไม่อาจวิ่งหนีได้ทัน เช่นหิมะถล่ม ผมแนะนำว่าทางที่ดีให้ยืนเฉยๆ เก็บภาพความงามของธรรมชาติตรงหน้าไว้จนวินาทีสุดท้ายจะดีกว่า ดังนั้นการเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมและได้มาตรฐานจึงถือว่ามีชัยไปกว่าครึ่ง ทั้งต้องมีความรู้และทักษะการปีนภูเขาสูงและการใช้อุปกรณ์เครื่องช่วยต่างๆ เป็นอย่างดี อาทิ การใช้ ice stick หรือ ski pole ที่ใช้ค้ำยันขณะเดินลงเขาซึ่งอันตรายกว่าขาขึ้นมาก เพราะทรงตัวยากกว่า ถ้าพลาดเพียงก้าวเดียวก็อาจร่วงตกเขาทันที

ภูเขายอดนิยมตลอดกาลสำหรับกิจกรรมนี้ก็คือเอเวอเรสต์ นอกจากนี้ยังมี K2 (๘,๖๑๑ เมตร) ที่ปากีสถาน และสุดยอดแห่งความท้าทายก็คงจะเป็น Annapurna I (๘,๐๙๑ เมตร) ที่เนปาล สำหรับยอดเขาสูง ๘,๐๐๐ เมตรแห่งอื่นๆ ก็มีทั้งคนที่มาซ้อมเพื่อไปปีนเอเวอเรสต์ หรือไม่ก็ปีนเพื่อเก็บสถิติอยู่ตลอดเวลา

การปีนภูเขาสูงไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แต่ทำไมคนถึงอยากมาเสี่ยงกันนัก เป็นคำถามค้างคาใจผมจนมาได้รับการเฉลยก็เมื่อได้ลงมือลงเท้าปีนเองนั่นละ

“คินาบาลู” นายโย่งแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การเดินทางสู่เอเวอเรสต์ของผมเริ่มต้นที่คินาบาลู (Mount Kinabalu) ภูผาสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มียอดโลว์ (Low’s Peak) เป็นยอดสูงสุด (ชื่อนี้ตั้งเป็นเกียรติแก่เซอร์ฮิว โลว์ นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ หัวหน้าทีมสำรวจคินาบาลูคนแรก) ด้วยความสูง ๔,๐๙๕ เมตรจากระดับน้ำทะเล ที่นี่เองผมมีโอกาสได้เดินทางกับมิสเตอร์คู สวี เชา ชาวสิงคโปร์คนแรกที่ปีนถึงยอดเอเวอเรสต์สำเร็จ การเดินทางครั้งนี้จึงนับเป็นการเปิดโลกการผจญภัยครั้งใหญ่ ด้วยได้มีโอกาสเดินทางไปกับคนที่เคยขึ้นสู่ยอดเขาสูงที่สุดในโลกมาแล้ว

สวี เชา แนะนำผมหลายเรื่อง ทั้งความรู้เกี่ยวกับภูเขา เทคนิคต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมตัวก่อนขึ้นเขาและการเลือกซื้ออุปกรณ์ ผมจึงได้รู้ว่าแค่ใจอย่างเดียวอาจไม่พอเสียแล้ว หลังจากปีนคินาบาลูผมไม่มีโอกาสได้พบ สวี เชา อีก แต่ความรู้ที่ได้รับจากเขาเป็นเหมือนประตูสู่โลกแห่งการปีนเขา ทำให้ผมสามารถต่อยอดความรู้ได้อย่างมีหลักการ

ผมไปซื้ออุปกรณ์ปีนเขาที่ร้านค้าแห่งหนึ่งในย่านไชนาทาวน์ ประเทศสิงคโปร์ ถึงจะเป็นร้านเล็กๆ แต่มีข้าวของครบจาก top to toe คือตั้งแต่หัวจรดเท้า ความเข้าใจเดิมที่ว่าการปีนเขาแค่มีรองเท้าดีหน่อย มีเสื้อกันหนาวหนาๆ ก็พอ เอาเข้าจริงแล้วเป็นความเข้าใจที่ผิด ผมเริ่มเข้าใจแล้วว่ารองเท้าเทรกกิงดีกว่ารองเท้ากีฬาอย่างไร เสื้อผ้าที่เราใส่กันหลายๆ ชั้นเพื่อกันความหนาวนั้นอาจจะทำให้เกิดอันตรายกับตัวเราได้อย่างไร ดังนั้นถ้าเรามีอุปกรณ์ที่ดี อุปกรณ์เหล่านี้จะช่วยทุ่นแรงและปกป้องเราจากอันตรายหรือการบาดเจ็บได้เป็นอย่างดี ชีวิตเราจึงฝากไว้กับของพวกนี้

ยอดเขาคินาบาลูตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะบอร์เนียวในเขตปกครองของรัฐซาบาห์ ประเทศมาเลเซีย เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาครอกเกอร์ที่ทอดยาวกว่า ๑๕๐ กิโลเมตร พาดผ่านใกล้เส้นศูนย์สูตรของโลก เป็นผลให้บริเวณนี้อุดมไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและงดงามราวแดนสวรรค์

ภูเขาหินแกรนิตตั้งตระหง่านโอบล้อมด้วยป่าร้อนชื้นรกชัฏอันเป็นแหล่งพืชพันธุ์เฉพาะถิ่นหายากระดับโลกนับพันชนิด โดยเฉพาะบัวผุด (Rafflesia) และหม้อข้าวหม้อแกงลิงราชาบรู๊ก (Rajah Brook’s Pitcher-Plant) หม้อข้าวหม้อแกงลิงขนาดใหญ่ที่สุดในโลก รวมถึงเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าหายากอย่างนกเฉพาะถิ่นที่พบบนยอดเขาสูง ป่าดิบแห่งคินาบาลูจึงลึกลับน่าค้นหาไม่แพ้ป่าผืนใดในโลก

แม้คินาบาลูจะถูกระบุไว้ในคู่มือเดินป่าว่ามีความยากระดับ “ปานกลาง” และใช้เวลาเดินขึ้นลงเขาเพียง ๓ วัน ๒ คืน ทว่าก็มีหลายคนพ่ายแพ้ต่อภูผานี้ ด้วยสภาวะบนที่สูงกว่า ๔,๐๐๐ เมตรอาจทำให้หลายคนเกิดอาการปวดหัวต่อเนื่องยาวนานอันเป็นอาการเบื้องต้นของโรคแพ้ความสูง (altitude sickness) แต่ด้วยค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงนักจึงดึงดูดนักผจญภัยเข้ามาทดสอบพละกำลัง สังเกตได้จากสถิติการขึ้นยอดเขาสำเร็จมีถึงปีละหลายพันคน

สำหรับโครงการ Vietnam Spirit to the world รายการเรียลลิตี้โชว์ปีนเขานั้น ผมวางโปรแกรมให้ทุกคนต้องมาเริ่มต้นที่ภูเขาลูกนี้ เพราะปีนง่ายและใช้เวลาน้อย ในขณะเดียวกันความสูง ๔,๐๙๕ เมตรจากระดับน้ำทะเลนั้นสามารถตรวจเช็กความคงทนและการปรับตัวของร่างกายต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับความสูงได้เป็นอย่างดี ถ้าขึ้นไปแล้วเกิดอาการปวดหัวคลื่นไส้อาเจียนอันเนื่องจากแพ้ความสูงแล้วละก็ เห็นทีจะต้องพิจารณาตัวเองไปทำกิจกรรมอื่นที่ไม่เสี่ยงจะดีกว่า

“คิลิมันจาโร” ผู้เฒ่าที่หนาวเย็น

จากความสูง ๔,๐๙๕ เมตรแห่งคินาบาลู เราเดินทางต่อไปที่ประเทศแทนซาเนีย ทวีปแอฟริกา

คิลิมันจาโร (Mount Kilimanjaro) ฉายา “มงกุฎสีขาวแห่งกาฬทวีป” (The White Crown of Africa) ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศแทนซาเนีย เป็นยอดเขาสูงที่สุดของแอฟริกาด้วยความสูง ๕,๘๙๕ เมตรจากระดับน้ำทะเล นับเป็น ๑ ใน ๗ Summits–๗ ยอดสูงสุดใน ๗ ทวีป ที่นักปีนเขาทั่วโลกครั่นคร้ามในชื่อเสียงเรียงนามเป็นอย่างดี

คิลิมันจาโรมีสัณฐานเป็นภูเขาไฟที่ดับแล้ว โดยแบ่งเป็น ๓ ส่วนย่อย คือ คีโบ (Kibo) ยอดสูงสุดซึ่งมีหิมะปกคลุมตลอดทั้งปี มาเวนซี (Mawenzi) เป็นกลุ่มเขายอดแหลมตั้งอยู่ทางตะวันออกของคีโบ และชีรา (Shira) เป็นส่วนของภูเขาไฟเก่าที่ทลายลงเหลือเพียงกลุ่มภูเขาเล็กๆ อยู่ทางตะวันตกของคีโบ

 

มุมหนึ่งของเอเวอเรสต์เบสแคมป์เรียงรายด้วยเต็นท์ของนักปีนเขาหลายคณะจากทั่วโลก ตลอดทั่วทั้งแคมป์มีการแขวนธงมนตร์พิมพ์คาถาศักดิ์สิทธิ์และยันต์หลากหลายลวดลาย เป็นการอวยพรให้นักปีนเขาและทีมสนับสนุนโชคดี

เต็นท์สำหรับรับประทานอาหารในแคมป์ของทีมนักปีนเขาอิตาลี ยามโพล้เพล้อันแสนเหน็บหนาว

จุดประสงค์ที่ทีมงานเลือกยอดเขานี้ก็เพื่อให้ผู้เข้าแข่งขันได้สัมผัสความสูงในระดับเกือบ ๖,๐๐๐ เมตร และสัมผัสอากาศที่หนาวเย็น เพื่อให้รู้จักปรับตัวในยามที่อยู่บนพื้นที่สูงยิ่งขึ้น หนาวยิ่งขึ้น แต่ระดับออกซิเจนน้อยลง งานนี้ถือได้ว่าเป็นการทดสอบทีมสนับสนุนไปในตัว เพราะหลังจากนี้ทุกคนจะต้องใช้ชีวิตอยู่ในสภาพความสูง ๕,๓๖๔ เมตรจากระดับน้ำทะเลของเอเวอเรสต์เบสแคมป์เป็นเวลา ๒ เดือน คิลิมันจาโรจึงเป็นประสบการณ์ที่ดีมากสำหรับพวกเราทุกคน ตลอดเส้นทางสู่
ยอดเขานั้นอุดมด้วยพรรณไม้แปลกๆ มากมาย อาทิ Macaranga Kilimandsharica ต้นไม้ที่มีใบคล้ายรูปหัวใจ หรือต้นไม้ใหญ่ที่มีหญ้า Old Man’s Bread คล้ายเคราแพะห้อยอยู่ตามปลายกิ่ง
ดูแปลกตา ฯลฯ จนผมรู้สึกเหมือนว่าได้เข้าไปในจูแรสสิกปาร์กอย่างไรอย่างนั้น

กลับจากคิลิมันจาโร เรามาเตรียมตัวกันที่ประเทศไทยอยู่พักหนึ่ง ช่วงนั้นตรงกับวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ ผมพาเกอลูและเซอรัป สองเชอร์ปาผู้นำทางปีนเขาเอเวอเรสต์ไปดูไฟที่ท้องสนามหลวง

เราสามคนยืนรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่ตรงสนามมวยราชดำเนิน ชั่วขณะที่ขบวนเสด็จพระราชดำเนินผ่านโดยรถยนต์พระที่นั่ง พระองค์โบกพระหัตถ์มาทางเรา ผมถึงกับน้ำตาไหลด้วยความตื้นตันใจ จากนั้นสองเชอร์ปาก็ชวนผมเดินตามขบวนไปยังท้องสนามหลวง เราไปถึงหน้าเวทีจัดงาน ๕ ธันวามหาราช และอยู่ตรงนั้นจนจบงาน ตอนที่เพลงสดุดีมหาราชาบรรเลงจบมีการจุดพลุและร้องไชโย ผมสังเกตเห็นเกอลูและเซอรัปโบกธงชาติในมือ น้ำตาไหลอาบแก้ม เราสามคนกอดกันแน่น เกอลูบอกผมว่า เขาอยากเป็นคนไทยและเขารักในหลวง เซอรัปเองก็รู้สึกไม่ต่างกัน เวลานั้นผมเชื่อมั่นอยู่ลึกๆ ว่าอย่างไรเสีย ผมก็จะไปถึงแผ่นดินสูงที่สุดในโลกได้จริง

“ไอส์แลนด์พีก” เกาะอะไรสูงเทียมเมฆ ?

หลังจากนั้นคณะ expedition ของเราได้ไปฝึกซ้อมกันต่อที่ไอส์แลนด์พีก (Island Peak) ยอดเขาที่นับว่าเป็นครูของผู้ใฝ่ฝันจะปีนเอเวอเรสต์

ไอส์แลนด์พีกตั้งอยู่บนเทือกเขาหิมาลัยฝั่งตะวันออกของประเทศเนปาล อยู่ห่างจากยอดเอเวอเรสต์ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ไม่ไกลนัก มีความสูง ๖,๑๘๙ เมตรจากระดับน้ำทะเล การเลือกปีนเขาลูกนี้ก็เพื่อจะเรียนรู้การปีนเขาที่ต้องอาศัยเทคนิค (technical climbing) ได้ทดลองใช้เชือก จูม่าหรืออุปกรณ์ดึงตัว รวมถึงต้องเพิ่มอุปกรณ์ขึ้นมาอีกเล็กน้อย นั่นคือสโนว์บูตและขาหนาม (crampons) และเพื่อฝึกให้คุ้นกับสภาพอากาศที่เย็นจัด ด้วยเส้นทางและสภาพอากาศใกล้เคียงกับเอเวอเรสต์ นอกจากนี้เส้นทางเดินสู่เอเวอเรสต์กับไอส์แลนด์พีกก็มีจุดเริ่มต้นเดียวกัน คือจากลุกลา (Lukla) ไปจนถึงดิงโบเช (Dingboche) และจากดิงโบเช ถ้าจะไปเอเวอเรสต์ต้องเดินแยกซ้ายไปดุกลา (Dughla) แต่ถ้าไปไอส์แลนด์พีกต้องเดินแยกขวาไปชูกุง (Chhukhung)

คนที่มีแผนจะปีนเอเวอเรสต์ส่วนใหญ่มักมาซ้อมปีนเขากันที่นี่ ไม่เว้นแม้แต่ เทนซิง นอร์เกย์ เชอร์ปาคนนำทางของเอ็ดมันด์ ฮิลลารี สองคนแรกในโลกที่พิชิตเอเวอเรสต์สำเร็จเมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๕๓ ไอส์แลนด์พีกมีความสูงกำลังดีเหมาะสำหรับฝึกฝน อีกทั้งค่าใช้จ่ายและค่าขออนุญาตปีนเขา (climbing permit) ก็ไม่แพงนัก รวมแล้วใช้เวลาเดินไปกลับราวไม่เกิน ๒๐ วัน

ผมขึ้นถึงไอส์แลนด์พีกในตอนเช้า ระหว่างทางพบหนุ่มสาวชาวสวีเดน เยอรมัน และดัตช์ แต่น่าเสียดายที่พวกเขาขึ้นถึงยอดไม่สำเร็จเพราะอาการปวดหัวอันเนื่องมาจากโรคแพ้ความสูง

ในระหว่างเดินทางกลับไปขึ้นเครื่องบินที่ลุกลา เราได้จัดงานเลี้ยงในทีเฮาส์เล็กๆ ที่หมู่บ้านปักดิง (Phakding) ผมร้องเพลง “What a Wonderful World” ของ หลุยส์ อาร์มสตรอง ให้ทีมเชอร์ปาฟังเป็นการขอบคุณ จากนั้นพี่น้องเชอร์ปาก็เปิดฟลอร์ระบำเชอร์ปาเป็นการตอบแทน แล้วทุกคนก็เต้นระบำด้วยกัน ตอนนั้นผมรู้สึกราวกับว่าได้ขึ้นถึงยอดเอเวอเรสต์แล้วอย่างไรอย่างนั้น

หลังจากฝึกฝนจนมั่นใจ คราวนี้พวกเราก็พร้อมจะเดินทางสู่ยอดเขาอันเป็นตำนาน ยอดที่ ๑๕ หรือ Mount Everest

“เอเวอเรสต์” ภูเขาที่ยืนค้ำโลก

“หากยอดเขาเอเวอเรสต์ถูกพิชิตตั้งแต่แรก
ความสำเร็จครั้งนั้นคงจะเป็นที่ยกย่องสรรเสริญ
แต่ไม่ช้าก็คงจะลืมเลือนกันไป
หากความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่านั้นเอง
ที่ทำให้ภูเขานี้ยิ่งใหญ่ขึ้นมา”

วอลต์ อันส์เวิร์ท นักประวัติศาสตร์เอเวอเรสต์

ในสมัยโบราณ ชาวชมพูทวีปไม่เคยคิดจะปีนขึ้นไปบนขุนเขาหิมาลัย เนื่องจากมีความเชื่อว่าบนยอดเขาเป็นที่สถิตแห่งทวยเทพ จนย่างเข้าศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ เมื่ออังกฤษเริ่มส่งคณะสำรวจเข้ามาจัดทำแผนที่ในเขตหิมาลัยเป็นครั้งแรก แต่เดิมยังมีความเชื่อกันว่ายอดเขาสูงที่สุดในโลกคือยอดเขาคังเชนจุงกา (Kangchenjunga) แห่งเทือกเขาหิมาลัย กระทั่งคณะของพันเอก เซอร์จอร์จ เอเวอเรสต์ เข้ามาสำรวจในปี ค.ศ. ๑๘๕๒ ขณะทำการสำรวจ เขาได้รับข้อความวิทยุจากช่างเทคนิค
ราชนาถ สิกดาร์ ว่า “ท่านครับ ผมคิดว่าได้ค้นพบยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกแล้ว !” นั่นคือจุดเริ่มต้นของ “ยอดที่ ๑๕” (Peak XV) ซึ่งได้รับการขนานนามใหม่ในอีก ๑๓ ปีต่อมาว่า “เอเวอเรสต์” เพื่อเป็นเกียรติแก่เซอร์จอร์จ เอเวอเรสต์ ผู้มีคุณูปการใหญ่หลวงในการสำรวจหิมาลัยอย่างเป็นระบบ โดยใช้วิธีการคำนวณเส้นเมอริเดียน ประกอบกับการรังวัดแบบตรีโกณมิติ (Triangulation Network) จนได้ความสูงของยอดเอเวอเรสต์เท่ากับ ๒๙,๐๐๒ ฟุต

อย่างไรก็ตาม การค้นพบอันยิ่งใหญ่นี้ก็ยังไม่ได้รับการประกาศต่อชาวโลกจนอีก ๒ ปีต่อมา ด้วยว่าคณะสำรวจต้องการสำรวจซ้ำให้แน่ใจก่อน จวบจนปี ค.ศ. ๑๙๘๔ สมาคมเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิกแห่งสหรัฐอเมริกาได้ทำการวัดความสูงของยอดเอเวอเรสต์ใหม่อีกครั้ง โดยใช้พิกัดดาวเทียมและการตั้งจุดสมมุติ ๖ จุดในประเทศอินเดีย ทำให้ได้ความสูงอันเป็นที่ยอมรับกันในปัจจุบันคือ ๒๙,๐๒๘ ฟุต หรือ ๘,๘๔๘ เมตร ต่างจากความสูงที่เซอร์จอร์จ เอเวอเรสต์ วัดได้เพียง ๒๖ ฟุตเท่านั้น ทว่าผลของแผ่นเปลือกโลกอินเดียที่ยังเคลื่อนเข้าชนแผ่นเปลือกโลกยูเรเซียอย่างต่อเนื่องทำให้ยอดเอเวอเรสต์สูงขึ้นปีละประมาณ ๔ มิลลิเมตร และเคลื่อนที่ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือปีละ
๓-๖ มิลลิเมตร ในปี ค.ศ. ๑๙๙๙ สมาคมเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิกจึงได้วัดความสูงของเอเวอเรสต์ใหม่อีกครั้ง ได้ค่า ๒๙,๐๓๕ ฟุต หรือ ๘,๘๕๐ เมตร อย่างไรก็ตาม ทางการเนปาลยังไม่ยอมรับระดับความสูงใหม่นี้

หลังจากศึกษาหาความรู้เรื่องการปีนเขามาระยะหนึ่ง
ผมก็ได้รู้ว่าการจะปีนเขาไม่ว่าลูกไหน ถ้าเรายังไม่รู้จักคุ้นเคยก็ไม่ควรอวดเก่งไปปีนคนเดียว โดยเฉพาะภูเขาสูงเสียดฟ้าอย่างหิมาลัย ซึ่งไม่เพียงมีอุปสรรคนานัปการเป็นรูปธรรมรอท้าทายเราอยู่เท่านั้น แต่ขุนเขาแห่งนี้ยังมีข้อห้ามและข้อปฏิบัติเป็นนามธรรมอีกมากมายด้วย การจะปีนสู่ยอดเขาอันเป็นที่สถิตของมหาเทพจึงไม่ใช่ใครนึกอยากปีนก็ปีน และอาจเป็นเรื่องโชคดีอยู่ไม่น้อยที่ชาวเชอร์ปาคนภูเขายอดนักนำทางนั้น มีทั้งกำลังกายอันแข็งแรงและมีความเชื่อความเคารพภูเขาลูกนี้ในฐานะมารดาแห่งสวรรค์

ด้วยเหตุนี้ผมจึงเริ่มมองหาทีมเชอร์ปาผู้นำทางตั้งแต่ความคิดจะปีนเอเวอเรสต์ยังเป็นฝันลมๆ แล้งๆ ในใจลึกๆ ผมเชื่อว่า ถ้าวันหนึ่งผมมีโอกาสได้มาปีนเอเวอเรสต์จริงๆ ผมคงอยากจะมาเสี่ยงตายกับญาติมิตรเพื่อนฝูงของผมมากกว่าคนที่ผมจ้างมา และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ด้วยความรักและเชื่อมั่นที่ผมมีต่อพวกเขาและที่พวกเขามีให้ผมประดุจคนในครอบครัวเดียวกันนี้เองเป็นพลังผลักดันให้ผมสามารถไปถึงจุดสูงสุดได้

เรามีสุดยอดนักนำทางชาวเชอร์ปา ๗ คน ได้แก่ เซอรัป เป็นหัวหน้าทีมผู้นำทาง ปาซัน (Pasant) ผู้ขึ้นยอดเอเวอเรสต์มาแล้ว ๗ ครั้ง ดาวา (Dawa) ขึ้นยอดเอเวอเรสต์มาแล้ว ๒ ครั้งทั้งฝั่งเหนือและใต้ เปมบา (Pemba) ขึ้นยอดเอเวอเรสต์มาแล้ว ๕ ครั้ง และเพิ่งจะพิชิตยอดลอตเซ (Lhotse) สูง ๘,๕๑๖ เมตร ด้านที่ยากที่สุดที่ยังไม่เคยมีใครในโลกทำสำเร็จ คามี (Kami) พิชิตยอดเอเวอเรสต์มาแล้ว ๓ ครั้ง ซังบู (Sangbu) พิชิตยอดเอเวอเรสต์มาแล้ว ๓ ครั้ง และทีเล (Teele) เด็กในครัวที่ยังไม่เคยขึ้นยอดเอเวอเรสต์ แต่ด้วยความแข็งแรงของเขา เซอรัปจึงให้โอกาสมาเป็นผู้นำทางครั้งแรก

๘ เมษายน ๒๕๕๑
ผมออกเดินทางจากกรุงเทพฯ มุ่งสู่นครกาฐมาณฑุ เมืองหลวงของเนปาล ผมรับหน้าที่หัวหน้าทีมคอยจัดการเรื่องการขอใบอนุญาตปีนเขาและอำนวยความสะดวกระหว่างการเดินทาง ร่วมกับคุณเกอลู เชอร์ปา เจ้าของบริษัท Peak Paldor Trekking and Expeditions ซึ่งรับหน้าที่เป็นเอเยนซี่ในการปีนเขาครั้งนี้ ทีมงานทั้งหมดมีคนไทย ๖ คน นอกจากผมแล้วก็มีคุณธีรชัย ศิริสัมพันธ์ ผู้ทำหน้าที่ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์และโปรดิวเซอร์ร่วม คุณจุลนาท เอี่ยมบุญเสริฐ หัวหน้าช่างเทคนิคของทีม ผู้ชำนาญเรื่องการส่งสัญญาณดาวเทียมและเป็นสารพัดช่างแก้ไขอะไรก็ได้ที่เป็นเครื่องยนต์กลไกทั้งอนาล็อกและดิจิทัล คุณพรนรินทร์ ศรีบัวโรย ผู้ป่วย SLE คนแรกของโลกที่สามารถเอาชนะความสูงของคิลิมันจาโรได้ รับหน้าที่เป็นอาร์ตไดเร็กเตอร์และตากล้อง คุณชยากร คุณธรรม รับหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ประสานงานระหว่างประเทศ และพ่อบ้านคนเก่ง คุณปิยะ พันธุชัยศรี รับตำแหน่งไลน์โปรดิวเซอร์และโปรดิวเซอร์เมเนเจอร์ รวมถึงคุณแบรด เคลมองต์ (Brad Clement) ช่างภาพนักปีนเขาอิสระ ผู้ช่ำชองการปีนเขาและเคยขึ้นถึงยอดเอเวอเรสต์มาแล้ว นอกจากนี้ก็มีทีมช่างภาพ หมอ ช่างตัดต่อ ช่างเทคนิค และโปรดิวเซอร์ชาวเวียดนาม รวมแล้วอีก ๑๒ คน

ผมเดินทางถึงเอเวอเรสต์เบสแคมป์ล่าช้ากว่าคนอื่นๆ ในทีม ด้วยติดปัญหาเรื่องการทำใบอนุญาตปีนเขา เนื่องจากในเวลานั้นประเทศเนปาลมีการเลือกตั้งทั่วไป การดำเนินการทุกอย่างจึงหยุดชะงัก และเนื่องจากประเทศจีนเป็นเจ้าภาพการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนในปีนี้ ทางจีนมีกำหนดจะให้นักกีฬาถือคบเพลิงขึ้นไปบนยอดเขาเอเวอเรสต์ด้วย จึงทำการปิดพรมแดนด้านทิศเหนือที่ติดกับทิเบต ซึ่งความจริงแล้วการปีนเอเวอเรสต์ทางทิศเหนือคือแผนการเดิมของเรา ทีมปีนเขาอื่นๆ ที่วางแผนจะขึ้นเอเวอเรสต์ทางทิเบตต่างก็ต้องย้ายฝั่งมาทางเนปาลกันหมด ทำให้เกิดความวุ่นวายในการทำเอกสาร และปัญหาที่ตามมาคือคนล้นเอเวอเรสต์เบสแคมป์ ทางกระทรวงวัฒนธรรม การท่องเที่ยว และการบินพลเรือนของเนปาลจึงต้องสงวนสิทธิ์ไม่รับทีมที่มาช้า ซึ่งเราก็เกือบจะเข้าข่ายนี้ไปด้วย

ผมรออยู่ที่กาฐมาณฑุจนอ่อนใจ แต่ก็ได้มีเวลามากพอจะสังเกตเห็นสิ่งน่าสนใจมากมายทั้งในเรื่องวัฒนธรรมและชีวิตผู้คน กาฐมาณฑุเป็นเมืองมหัศจรรย์โดยแท้ โดยเฉพาะย่านทาเมล ศูนย์รวมความเชื่อทางศาสนาทั้งพุทธและฮินดู ทั้งเป็นแหล่งรวมของเหล่าฮิปปี้ สวรรค์ของชาวแบ็กแพ็ก และศูนย์กลางของนักปีนเขาระดับโลก ในระหว่างรอใบอนุญาตปีนเขา ผมได้จ้างแขกที่รับปักเสื้อทำป้ายผ้าข้อความว่า “ทรงพระเจริญ อยู่ยิ่งยืนนาน ทรงพระเกษมสำราญ ตลอดกาลตลอดไป” ซึ่งเป็นท่อนหนึ่งของบทเพลง “ทรงพระเจริญ” แต่งโดยพี่แอ๊ด คาราบาว และพี่ป้อม อัสนี โชติกุล แต่งทำนองและขับร้องในอัลบัมพิเศษเนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา เพลงเพลงนี้มีส่วนเป็นพลังใจให้ผมสามารถปีนเอเวอเรสต์ได้สำเร็จ

หลังจากทุกอย่างพร้อม ผมก็ออกเดินทางจากกาฐมาณฑุมุ่งสู่ลุกลาโดยเครื่องบินลำเล็กประมาณ ๒๔ ที่นั่ง และเดินเทรกกิงไปยังเอเวอเรสต์เบสแคมป์อีก ๗ วัน ผมได้พบกับนักเดินทางมากมายเมื่อพวกเขารู้ว่าผมกำลังจะไปปีนเอเวอเรสต์ ทุกคนก็อวยพรขอให้ประสบความสำเร็จ ระหว่างการเดินทางฝ่าแดด ลม หิมะ และแรงโน้มถ่วงของโลก ผมได้พบว่า ความสุขที่เรียบง่ายนี้เป็นความสุขที่แท้และยั่งยืนเหนือความสุขใดในโลก

Everest Base Camp: ๕,๓๖๔ เมตรจากระดับน้ำทะเล

เอเวอเรสต์เบสแคมป์ คือความฝันของใครหลายคนรวมทั้งตัวผม ด้วยความสูง ๕,๓๖๔ เมตรจากระดับน้ำทะเลนี้เองเป็นแม่เหล็กดึงดูดผู้คนมาเยี่ยมเยียน มาทำสถิติ หรือมาบันทึกความทรงจำมากมาย เพราะอย่างน้อยๆ ไม่ก้าวใดก็ก้าวหนึ่งของเราอาจจะเหยียบซ้ำรอยเท้าของมนุษย์ผู้สามารถพิชิตยอดเขาสูงที่สุดในโลกมาแล้ว อย่างเซอร์เอ็ดมันด์ ฮิลลารี เทนซิง นอร์เกย์ หรือ ไรน์โฮลด์ เมสส์เนอร์ ก็เป็นได้

๒๔ เมษายน ๒๕๕๑
ผมมาถึงเอเวอเรสต์เบสแคมป์ราวสี่โมงเย็น ทุกคนวิ่งเข้ามาสวมกอดแสดงความยินดี แต่ละคนยังดูสดใส ไม่มีใครเป็นโรคแพ้ความสูง ผมถูกจัดให้นอนในเต็นท์เดียวกันกับคุณพรนรินทร์ หรือพี่หมัด รุ่นพี่ที่เรียนมาด้วยกันในคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผมเดินสังเกตการณ์รอบๆ แคมป์พบว่าในปีนี้มีคนมาปีนเอเวอเรสต์ประมาณ ๔๐ ทีม เอเวอเรสต์เบสแคมป์ในยามนี้ไม่ต่างจากหมู่บ้านขนาดใหญ่ ข้างๆ แคมป์ของผมเป็นแคมป์ของคุณยูอิชิโร มิอุระ ชายชาวญี่ปุ่นผู้มีอายุมากที่สุดในโลกที่สามารถพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ (เมื่อ ๕ ปีที่แล้วขณะอายุ ๗๐ ปี) คุณมิอุระเดินทางมาครั้งนี้เพื่อทำลายสถิติของตัวเอง อีกแคมป์หนึ่งที่อยู่ติดกันคือแคมป์ของมิสเตอร์เซวิโอ นักปีนเขาชาวอิตาลี ผู้พิชิตยอดเขาสูง ๘,๐๐๐ เมตรมาแล้ว ๑๗ ยอด รวมทั้งยอดเอเวอเรสต์ มาคราวนี้เขาจะพิชิตยอดลอตเซโดยไม่ใช้ออกซิเจน

ถัดขึ้นไปหลังแคมป์ของคุณมิอุระเป็นแคมป์ของชาวอินเดียซึ่งมีความผูกพันกับทีมเรามาก เพราะเราชอบไปขอปันกับข้าวแสนอร่อยกิน อีกทั้งนักปีนเขาและเจ้าหน้าที่ทุกคน โดยเฉพาะคุณหมอบลูเฟลและผู้ช่วยคุณหมอบลูตัสนั้น นับว่าเป็นบุคคลที่น่ายกย่องเป็นที่สุด ด้วยน้ำใจไมตรีและความเมตตาคอยเป็นห่วงเป็นใยช่วยเหลือรักษาคนป่วยไข้ในแคมป์โดยไม่แบ่งกลุ่มแบ่งพวกเลยแม้แต่น้อย

กล่าวถึงวิธีปีนภูเขาสูงอย่างเอเวอเรสต์นั้น ต้องปีนขึ้นและลงหลายรอบเพื่อให้ร่างกายปรับตัวกับสภาวะความกดอากาศต่ำและออกซิเจนน้อยบนพื้นที่สูง โดยเริ่มต้นจากการปีนไปยังแคมป์ ๑ ที่ความสูง ๖,๑๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล พักแรม ๑ คืนแล้วลงมายังเบสแคมป์ จากนั้นอีก ๕-๗ วันจึงจะปีนต่อไปยังแคมป์ ๒ ที่ความสูง ๖,๓๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล พักแรม ๑ คืนแล้วกลับลงมายังเบสแคมป์ อีก ๕-๗ วันต่อมาจึงปีนขึ้นไปค้างแรมยังแคมป์ ๒ แล้วปีนต่อไปถึงแคมป์ ๓ ที่ความสูง ๗,๓๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล พักแรม ๑ คืนแล้วจึงลงมายังแคมป์ ๒ ค้างแรมอีก ๑ คืนก่อนจะกลับลงมาที่เบสแคมป์ และจะพักอยู่อีก ๕-๗ วัน ในช่วงนี้ถ้าสภาพอากาศดี เราจะกำหนดวันดีเดย์ในการปีนขึ้นสู่ยอดเอเวอเรสต์ การปีนครั้งสุดท้ายนั้น เราจะปีนผ่านแคมป์ ๑ แคมป์ ๒ ไปยังแคมป์ ๓ และพักแรม ๑ คืน ในคืนนี้ต้องใช้ออกซิเจนช่วยหายใจเพื่อให้ร่างกายปรับตัวกับการใช้ออกซิเจน แล้วจึงปีนต่อไปยังแคมป์ ๔ ที่ความสูง ๘,๐๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล หลังจากพักเหนื่อยราว ๔-๕ ชั่วโมงแล้วก็จะปีนสู่ยอดเขา การปีนถึงยอดเอเวอเรสต์นั้นใช้เวลาเฉลี่ย ๑๐-๑๒ ชั่วโมงขึ้นอยู่กับพละกำลัง เมื่อขึ้นสู่ยอดเขาแล้วก็จะกลับลงมาที่แคมป์ ๔ พักแรม ๑ คืน จากนั้นลงมายังแคมป์ ๓ และพักแรมที่แคมป์ ๒ อีก ๑ คืน ก่อนจะกลับลงมาฉลองความสำเร็จกันที่เบสแคมป์ในวันรุ่งขึ้น

ด้วยเหตุนี้การใช้ชีวิตในเอเวอเรสต์เบสแคมป์จึงยาวนานนับเดือน สำหรับนักปีนเขาที่มาเพื่อปีนเขาอย่างเดียว ช่วงเวลาแห่งการพักเพื่อให้ร่างกายปรับตัวนั้น คือวันคืนอันยาวนานน่าเบื่อหน่ายที่อาจทำให้จิตใจห่อเหี่ยวพานจะป่วยไข้เลยก็มี

แต่สำหรับพวกเราแล้ว เวลาเกือบ ๒ เดือนดูเหมือนจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว ภารกิจในการถ่ายทำรายการและส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมไปเวียดนามทำให้ทีมงานทุกคนมีหน้าที่ต้องทำมากมาย ทั้งเป็นพิธีกร ตากล้อง ช่างเทคนิค ช่างตัดต่อ หมอ รวมถึงงานบริหารจัดการความเป็นอยู่ภายในแคมป์

ในยามว่าง ผมกับพี่หมัดยังได้อาศัยเล่นกีตาร์เปิดหมวกไปตามแคมป์ต่างๆ สร้างบรรยากาศให้เบสแคมป์มีชีวิตชีวาขึ้นมาบ้าง

ถามว่าอะไรเป็นปัญหาที่สุดของการดำรงชีวิตในเบสแคมป์แห่งนี้ หลายคนอาจตอบว่าการปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง แต่สำหรับผม เรื่องอาหารการกินดูจะเป็นปัญหามากที่สุด ทุกครั้งที่มีการส่งสัญญาณว่าอาหารพร้อมแล้ว นั่นคือช่วงเวลาที่ผมไม่มีความสุขเอาเสียเลย ทั้งๆ ที่เรามีอาหารแห้ง อาหารสด น้ำพริก เครื่องแกงพร้อม แต่วิธีการปรุงและความชำนาญของพ่อครัวชาวเชอร์ปาไม่ถูกปากผมเลยแม้แต่น้อย ผมจึงแก้ปัญหาด้วยการเข้าครัวเอง ถึงรอดมาได้จนบัดนี้

หิมะถล่ม(avalanche) เกิดขึ้นแทบทุกวันทั้งกลางวันและกลางคืนเป็นอันตรายอันดับแรกที่ยากจะป้องกัน

ธารน้ำแข็งตกคุมบู เป็นอีกจุดหนึ่งซึ่งถือว่าอันตรายที่สุดในการปีนเขาเอเวอเรสต์ สถิติการเสียชีวิตของนักปีนเขาเกิดขึ้นในบริเวณนี้ไม่แพ้บริเวณที่เรียกว่า Death Zone ถึงกระนั้นก็ยังมีผู้คนมากมายยอมเสี่ยงเพื่อเอาชนะขีดจำกัดของความเป็นมนุษย์

สัญลักษณ์อย่างหนึ่งของธารน้ำแข็งตกคุมบูก็คือ ladder หรือบันได(อะลูมิเนียม) เครื่องช่วยในการข้ามช่องว่างระหว่างพื้นน้ำแข็งที่มีความลึกตั้งแต่ไม่กี่เมตรไปจนถึงระดับเกิน ๑๐๐ เมตร

Camp I: ๖,๑๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล

ตอนที่ผมมาถึงเบสแคมป์ คนอื่นๆ ในคณะขึ้นไปถึงแคมป์ ๑ แล้วกำลังเดินทางกลับลงมายังเบสแคมป์ การมาถึงทีหลังทำให้ผมไม่มีเวลาพอที่จะปรับร่างกายเข้ากับสภาพอากาศเหมือนคนอื่นๆ ซึ่งหัวหน้าทีมเชอร์ปารู้สึกหนักใจแทนไม่น้อย เซอรัปรู้ดีว่าการเดินทางครั้งนี้สำคัญต่อชีวิตผมมากเพียงใด และเป็นความฝันที่ผมฟันฝ่ามามากแค่ไหนกว่าจะมาถึงจุดนี้

การปีนขึ้นแคมป์ ๑ ของผมช่างยากลำบาก จากเบสแคมป์สู่แคมป์ ๑ ต้องผ่านช่วงที่ยากและอันตรายที่สุดคือ ธารน้ำแข็งตกคุมบู (Khumbu Icefall) ซึ่งด้านล่างมีธารน้ำไหลอยู่ใต้น้ำแข็ง และด้านบนคือหิมะถล่ม (avalanche) ระหว่างผมกำลังปีนอยู่บริเวณนี้เอง จู่ๆ หิมะก็ถล่มลงมาห่างออกไปประมาณ ๒๐๐ เมตรจากจุดที่ผมยืนอยู่ ผมคว้ากล้องถ่ายรูปออกมาจากเสื้อดาวน์แจ๊กเกต (Down Jacket-เสื้อชั้นที่ ๔ สำหรับป้องกันร่างกายจากอากาศหนาวจัดอุณหภูมิติดลบ เก็บความอุ่นให้ร่างกายด้วยขนเป็ดขนห่านที่อยู่ด้านใน) แล้วบันทึกภาพ พอถ่ายรูปเสร็จมองไปรอบตัวไม่มีใครอยู่ใกล้ๆ ผมเลย คนที่ปีนมาด้วยกันพร้อมทั้งทีมเชอร์ปาเป็นสิบคนหลบอยู่หลังก้อนน้ำแข็งยักษ์ห่างออกไปประมาณ ๑๐๐ เมตร พร้อมทั้งตะโกนให้ผมรีบตามไป ผมสังเกตจากสีหน้าของพวกเขาเห็นทีจะต้องตะกายไปโดยเร็ว กว่าจะผ่านธารน้ำแข็งตกคุมบูไปถึงแคมป์ ๑ ได้กินเวลาเกือบ ๙ ชั่วโมง ทั้งที่เวลาโดยเฉลี่ยที่ปีนกันแค่ ๕-๖ชั่วโมงเท่านั้น

แคมป์ ๑ เป็นพื้นราบ มียอดเอเวอเรสต์เวสต์โชลเดอร์
(Everest West Shoulder) อยู่ด้านซ้าย และยอดนุปต์เซ (Nuptse) อยู่ด้านขวา คืนนี้ลมแรงมาก ผมกับปาซันต้องออกมาผูกเต็นท์ไม่ให้หลุดลอยไปกับสายลม ท่ามกลางความหนาวเย็นกว่า -๒๐ องศาเซลเซียส ทั้งเหนื่อยทั้งหิว เวลาอยู่ที่เบสแคมป์มีอาหารสด (แช่แข็งโดยตู้เย็นธรรมชาติ) ให้รับประทานแต่สำหรับแคมป์ ๑ เราต้องกินอาหารประเภทไฮฟูดไม่ก็บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เราประกอบอาหารโดยการนำน้ำแข็งมาต้มแล้วจึงเทน้ำเดือดลงไปในซอง อาหารบนแคมป์ ๑ นี้รสชาติยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ นอกจากเรื่องการกินแล้วผมยังมีโรคประจำตัวอีกโรคคือโรคนอนไม่หลับ ช่างขัดแย้งกับชีวิตนักเดินทางเสียจริง ผมโชคดีในคราวนี้เพราะการปีนภูเขาสูงนั้นคนเราจะนอนสั้นลง คืนนั้นทั้งคืนผมหลับๆ ตื่นๆ จวบจนรุ่งเช้าจึงเดินกลับลงไปยังเบสแคมป์

อาหารเช้าที่แคมป์ ๒ เซอรัป หัวหน้าคณะผู้นำทางชาวเชอร์ปา (ขวาสุด) กำลังสั่งการลูกทีมด้วยอารมณ์แจ่มใสโดยมี (จากซ้ายไปขวา) ทีเล(คิตเชนบอย) นำกา(พ่อครัว) เปมบา(ผู้นำทาง) และปาซัน(ผู้นำทาง) นั่งฟังอยู่

Camp II: ๖,๓๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล

หลังจากพักแรมอยู่ ๕-๖ วัน คราวนี้ผมต้องขึ้นไปที่แคมป์ ๒ ซึ่งต้องพยายามทำเวลาในการปีนให้น้อยลงกว่าเดิมด้วย เส้นทางระหว่างแคมป์ ๑ ไปแคมป์ ๒ ไม่โหดร้ายเท่าไรนัก เป็นทางเรียบๆ ค่อยๆ ไต่ระดับจากความสูง ๖,๑๐๐ เมตรสู่ความสูง ๖,๓๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล แต่การเดินด้วยรองเท้าสโนว์บูตติดขาหนามนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ผมใช้เวลาทั้งสิ้น ๘ ชั่วโมงเศษ เซอรัป หัวหน้าทีมเชอร์ปายิ้มออกมาได้ เขาคงหมดห่วงเสียที เพราะผมสามารถทำเวลาตามสถิติโดยทั่วไปในการปีนจากเบสแคมป์สู่แคมป์ ๒

หลังอาหารมื้อค่ำผ่านพ้น ผมออกเดินไปรอบๆ แคมป์ ท้องฟ้าเต็มไปด้วยหมู่ดาวระยิบระยับ ในชีวิตนี้ไม่เคยเห็นดวงดาวมากมายและงดงามขนาดนี้มาก่อน

 

ระหว่างทางจากแคมป์ ๓ สู่แคมป์ ๔ นักปีนเขาต้องผ่านเส้นทางอันลาดชันบนความสูง ๗,๓๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล ถ้าโชคดีอากาศเปิดจะเห็นทิวทัศน์งดงามราวภาพสวรรค์ แต่ถ้าโชคร้ายอาจพบกับกระแสลมแรงหรือพายุหิมะ อากาศอันหนาวเหน็บและอาจโดนเศษหินหรือก้อนน้ำแข็งตกลงมาเจาะศีรษะ หรืออาจโดนหิมะกัดถ้าเคลื่อนไหวช้าเกินไป

พระอาทิตย์ทรงกลดซ้อนกันสองวงในวันก่อนการปีนสู่ยอดเอเวอเรสต์ครั้งสุดท้ายซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชา ด้านซ้ายคือ Everest West Shoulder ส่วนด้านขวาเป็นยอด Nuptse

เส้นทางลาดชัดก่อนจะถึงแคมป์ ๓ หลายชีวิตแขวนอยู่บนเชือกเส้นเดียว บนความสูงระดับ ๗,๐๐๐ เมตร ก้าวแต่ละก้าวต้องใช้พละกำลังมหาศาล

Camp III: ๗,๓๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล

ราวตีห้าของวันรุ่งขึ้น พวกเราพร้อมจะปีนขึ้นไปยังแคมป์ ๓ แล้ว การปีนสู่แคมป์ ๓ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย เราจะต้องไต่ผ่านน้ำแข็งที่เรียกว่า Blue Ice ก้อนเท่าตึกสยามพารากอน โดยใช้จูม่า (อุปกรณ์ดึงตัว) และขวานน้ำแข็ง ผาน้ำแข็งสูงชันแทบจะเป็นแนวตั้งระยะ ๑,๐๐๐ เมตร ต้องใช้เวลากว่า ๗ ชั่วโมงถึงผ่านพ้นไปได้ แถมวันนี้มีคนปีนมากเสียจนเส้นทางติดขัดอีกต่างหาก

ในระหว่างทางราว ๕๐๐ เมตร เหล่านักปีนเขาที่ปีนอยู่เบื้องหน้าผมต่างพากันหยุด เพราะคนหน้าสุดเกิดอาการปีนต่อไปไม่ไหว ตอนนี้พวกเรากำลังห้อยโหนกันด้วยเชือกเส้นเดียว และด้วยความชันประมาณ ๔๐-๕๐ องศา มีนักปีนเขานับสิบคนเกาะท้ายตามผมมา ระหว่างที่พวกเราหยุดอยู่นั้น ผมสังเกตเห็นฝุ่นสีขาวลอยลงมาจากยอดเอเวอเรสต์ทางเซาท์โคล (South Col-ช่องเขาระหว่างภูเขาเอเวอเรสต์กับภูเขาลอตเซ) ผมก้มลงมาชี้ให้เซอรัปดู เซอรัปบอกให้ผมจับเชือกแน่นๆ และเอาขวานน้ำแข็งมาค้ำตัวเองไว้ด้วย

นั่นเอง พายุหิมะ ! ลมเย็นยะเยือกที่คงไม่มีลมใดจะเย็นไปกว่านี้อีกแล้วมาปะทะใบหน้าผม เกล็ดหิมะวิ่งมาชนเป็นระลอก แล้วความเย็นก็แผ่กระจายมากขึ้นเป็นเท่าตัว ในขณะที่พวกเราทำอะไรไม่ได้ ต้องแขวนตัวเองอยู่อย่างนั้นนานราวครึ่งชั่วโมง แต่ความรู้สึกยาวนานเหมือนครึ่งค่อนวัน ใบหน้าผมชาไร้ความรู้สึก ผมพยายามขยับนิ้วและปลายเท้า แต่ปลายเท้านั้นหมดความรู้สึกไปแล้ว และแล้วลมพายุก็ผ่านไป ฟ้ากลับใสขึ้นแทน

เรามาถึงแคมป์ ๓ ด้วยอาการเหนื่อยล้าสุดกำลัง เราพักค้างแรมที่นี่ ๑ คืน อาหารเย็นวันนี้คือไฮฟูดซึ่งผมก็กินไม่ได้อีกเช่นเคย ผมทิ้งตัวลงนอนแบบหมดสภาพ

รุ่งขึ้น จากแคมป์ ๓ เราเดินลงไปถึงแคมป์ ๒ ใช้เวลาเพียง ๔ ชั่วโมง อากาศดีมาก เมื่อถึงแคมป์ ๒ เราก็พักแรมที่นี่ ๑ คืน

เราใช้เวลาประมาณ ๕ ชั่วโมงกว่าๆ ในการเดินทางจากแคมป์ ๒ กลับลงไปที่เบสแคมป์ แล้วก็ต้องพักอีก ๖ วัน ในระหว่างพักการปีนอยู่นั้น ผมสังเกตเห็นผู้คนมากมายที่เทรกกิงมาถึงเอเวอเรสต์เบสแคมป์ สายตาที่พวกเขาจ้องมองมายังเราเปี่ยมไปด้วยความชื่นชม นึกย้อนไปเมื่อ ๒ ปีที่แล้ว ผมก็มาในฐานะ trekker คนหนึ่ง น่าปลื้มใจที่วันนี้ตัวเองได้มาเป็นคนที่ปีนเอเวอเรสต์จริงๆ เวลาผ่านไปรวดเร็ว วันพรุ่งนี้ผมกำลังจะปีนเอเวอเรสต์ครั้งสุดท้าย และที่หมายก็คือยอดเอเวอเรสต์ที่สูงที่สุดในโลก ขณะกำลังพนมมือขอพรต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดวงอาทิตย์เบื้องหน้าดูเหมือนจะรับรู้ในคำขอของผม พลันนั้นเองพระอาทิตย์ก็ทรงกลดเหนือยอดเอเวอเรสต์ซ้อนกันสองวง เป็นความมหัศจรรย์ที่ผมได้เห็นด้วยตาตัวเอง…หรือนี่จะเป็นสัญญาณบอกความสำเร็จ ผมคิดเช่นนั้น

นักปีนเขากำลังเกาะเชื้อกและไต่ไปตามความสูงเหนือแคมป์ ๓ ถัดจากนี้ไปคือ Yellow Band แนวหินแกรนิตสีเหลืองขนาดใหญ่เท่าตึกเซ็นทรัลเวิลด์ที่จะต้องผ่านไปให้ได้ อากาศที่เบาบางทำให้การเดินของเราเชื่องช้าไปมาก แต่ใจของทุกคนยังสู้ไม่ถอย

“The Death Zone” Camp IV: ๘,๐๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล

การเดินทางจากเบสแคมป์สู่แคมป์ ๓ ไม่มีอุปสรรคอะไรมากนัก อาจมีกระแสลมแรงบ้าง พายุหิมะบ้าง แต่พวกเราก็ฟันฝ่ามาได้โดยการนำของหัวหน้าทีมเชอร์ปา จากแคมป์ ๓ สู่แคมป์ ๔ จะต้องผ่านช่วงโขดหินอีกช่วงหนึ่งไปให้ได้ ช่วงที่โหดเอามากๆ ก็คือช่วงผาหินแกรนิตสีเหลืองสูงพอๆ กับตึกเซ็นทรัลเวิลด์ ที่เรียกกันว่า Yellow Band มองจากแคมป์ ๒ ดูสวยงามมาก แท้จริงแล้วกลับเป็นภาระอันหนักหน่วงเมื่อปรากฏต่อหน้าและจะต้องข้ามมันไปให้ได้

เมื่อผ่าน Yellow Band ได้แล้วเราก็ตรงไปที่ไหล่เขาด้านเหนือ ข้ามไหล่เขาไปก็ถึงแคมป์ ๔ ที่มีเต็นท์อยู่เรียงราย บริเวณนี้เรียกว่า เซาท์โคล และถือว่าเป็น Death Zone เขตอันตรายถึงชีวิต เพราะอากาศเบาบางมาก มีออกซิเจนเพียง ๓๐-๔๐ เปอร์เซ็นต์ ส่วนอุณหภูมิอยู่ที่ -๔๐ องศาเซลเซียส สภาพร่างกายจะผุพังได้ง่าย อาจเกิดอาการปอดบวม น้ำท่วมปอด หรือการปะทุของของเหลวในสมอง สมองบวม และหัวใจหยุดเต้น

แต่ที่ดูจะน่ากลัวยิ่งกว่ามิใช่ร่างกายของมนุษย์ หากเป็นลมหายใจของภูเขาที่ต้องแบกรับความมักง่ายของมนุษย์

มองไปรอบแคมป์ ๔ ผมแทบไม่อยากเชื่อสายตาตัวเอง ด้วยความสูงถึง ๘,๐๐๐ เมตรที่น้อยคนจะขึ้นไปถึง กลับเต็มไปด้วยขยะ โดยเฉพาะถังออกซิเจนทิ้งอยู่เกลื่อนกลาด นอกนั้นก็มีถุงพลาสติก ข้าวของเครื่องใช้ เช่น หม้อต้มกาแฟ เป็นต้น เคยมีการรณรงค์กำจัดขยะบนเอเวอเรสต์หลายครั้ง แต่ก็ดูเหมือนจะล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ในปีนี้คุณอปา เชอร์ปา ผู้มาทำสถิติปีนเอเวอเรสต์มากที่สุดในโลกเป็นครั้งที่ ๑๘ ได้เดินทางมาร่วมโครงการรณรงค์เก็บขยะในครั้งนี้ด้วย

ผมมาถึงแคมป์ ๔ ราวสี่โมงเย็น พักดื่มน้ำและฝืนกินบะหมี่ไฮฟูดแล้ว กำหนดการต่อไปคือออกเดินทางสู่ยอดเขา

เมื่อมองลงมาจากบริเวณยอดเขาเอเวอเรสต์ในวันที่อากาศแจ่มใสจะเห็นยอดเขาอื่นๆ ได้อย่างชัดเจน ยอดเขาที่เห็นในภาพคือ Everest South Summit ไกลออกไปทางซ้ายคือยอด Lhotse ส่วนทางขวามือสุดที่มีเมฆบังอยู่เกือบมิดคือยอด Nuptse ใครที่สามารถเดินมาถึงจุดนี้จะรู้ได้ทันทีว่าพื้นโลกที่ยืนอยู่นั้นมีระดับความสูงที่สุดจริงๆ

Hillary Step หน้าผาหินความสูง ๔๐ ฟุต (๑๒ เมตร) คือปราการด่านสุดท้ายที่จะต้องฝ่าฟันไปให้ได้ด้วยความสูงเกิน ๘,๘๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล ทุกก้าวที่ย่ำไปจึงหมายถึงเดิมพันของชีวิต

บนยอดเอเวอเรสต์พื้นที่ประมาณ ๔-๕ ตารางเมตร ลักษณะเป็นยอดพีระมิด อากาศจะปรวนแปรอย่างรวดเร็ว เมื่อขึ้นมาถึงจึงต้องรีบกระทำในสิ่งที่ปรารถนาโดยเร็วแล้วปฏิบัติภารกิจสุดท้ายนั่นคือการกลับลงไปอย่างปลอดภัย (ภาพ : เซอรัป เชอร์ปา)

Everest Summit: ๘,๘๔๘ เมตรจากระดับน้ำทะเล

พอได้เวลาสองทุ่มตรง เซอรัปเรียกทุกคนออกมาเตรียมพร้อม (ส่วนใหญ่การปีนขึ้นยอดเขามักเริ่มต้นในยามค่ำคืน ไม่ก็เช้าตรู่ก่อนแสงอาทิตย์จะสาดส่อง) สมาชิกในทีมตรวจเช็กอุปกรณ์ โดยเฉพาะถังออกซิเจน เพราะการเดินทางครั้งนี้มีความเสี่ยงถึงชีวิต

พวกเราค่อยๆ เดินไปตามทางสู่ยอดเขา ทั้งหนาวและเหนื่อย ความเร็วในการเดินต่ำอย่างที่รู้สึกได้ ผมมองเห็นแสงไฟตรงหน้าต่อกันเป็นสายค่อยๆ เคลื่อนที่ช้าๆ สูงขึ้นและสูงขึ้น พวกเราเดินตามเชือกที่ถูกยึดติดกับพื้นมาเรื่อยๆ หนทางเริ่มชันขึ้นๆ อาจเป็นเพราะความมืดทำให้เรามีสมาธิมากขึ้น เรามองไม่เห็นอะไรนอกจากทางข้างหน้าที่แสงไฟจาก ไฟฉายติดหัว (head lamp) ส่องไปถึงเท่านั้น

ราวห้าทุ่มกว่า ขณะที่ปีนขึ้นมาสูงพอสมควร ผมหันหลังกลับไปมองยอดเขารอบๆ ยอดลอตเซมีพระจันทร์เป็นแบ็ก-กราวนด์ ผมบอกกับตัวเองว่า ที่ที่ยืนอยู่นี้ก็สวรรค์ดีๆ นี่เอง เราใช้เวลาไปเท่าไรไม่รู้ รู้แต่เพียงว่าโลกนี้มีคำคำเดียวก้องอยู่ในหัว คำว่า…ขออีกก้าวเดียว

และแล้วผมก็มาถึงไหล่ของเอเวอเรสต์ที่เรียกว่า Balcony ตอนนี้น่าจะเป็นเวลาเกือบตีห้า เราพบเพื่อนร่วมทางชาวสวิตเซอร์แลนด์กำลังนั่งพักอยู่ เขาเป็นคนเดียวที่ปีนเอเวอเรสต์โดยไม่ใช้ออกซิเจนในครั้งนี้ หลายๆ คนเข้าไปถามไถ่ เขาก็ตอบว่ายังโอเคอยู่ ผมสังเกตท่าทางเขาดูเหนื่อยมาก ตัวผมก็ไม่ต่างกัน

ถัดขึ้นไปก่อนจะถึงสันเขาที่เชื่อมต่อไปยังเซาท์ซัมมิต(South Summit) เราจะพบร่างของ สกอตต์ ฟิสเชอร์ นักปีนเขาชาวอเมริกันผู้เป็นตำนาน ฟ้ายังมืดอยู่ ผมสาดไฟฉายส่องไปพบร่างร่างหนึ่งนั่งคุดคู้อยู่ใกล้ๆ เนินหิมะใหญ่ เซอรัปบอกว่าเขาคนนั้นละ สกอตต์ ฟิสเชอร์ นักปีนเขาชาวอเมริกันที่ต้องสังเวยชีวิตระหว่างปีนเอเวอเรสต์ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ค.ศ.๑๙๙๖ เป็นโศกนาฏกรรมของการปีนเขาที่มีผู้เสียชีวิตพร้อมกันถึง ๘ คนในครั้งนั้น ซึ่งต่อมาเรื่องราวนี้ได้กลายเป็นหนังสือขายดีตลอดกาลและถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อ Into Thin Air

แสงสว่างเริ่มจับขอบฟ้าแล้ว ยอดเอเวอเรสต์ใกล้เข้ามาทุกที ผมก้มหน้าก้มตาเดินต่อไปพร้อมกับฮัมเพลงทรงพระเจริญอยู่ในใจ

ในที่สุดเราก็มาถึงด่านหินสุดท้ายก่อนจะถึงยอดเอเวอเรสต์ นั่นก็คือ ฮิลลารีสเต็ป (Hillary Step) บริเวณนี้เป็นหินโค้งหลังเต่าทั้งดิ่งชันและคดโค้ง ต้องใช้พละกำลังมหาศาล มิเช่นนั้นอาจลื่นพลัดตกมาได้ง่ายๆ ระหว่างกำลังนั่งพัก ผมเกือบจะนั่งทับร่างร่างหนึ่งที่นอนอยู่ข้างซอกหินเสียแล้ว ถ้าลิห์น (Lihn) นักปีนเขาชาวเวียดนามไม่เตือนเสียก่อน ถัดไปอีกไม่กี่สิบเมตรเราก็พบศพชาวเชอร์ปา ๒ คนนั่งแหงนมองฟ้า หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมจึงไม่มีการเก็บศพเหล่านั้นลงมา คำตอบคงเป็นเพราะ หนึ่ง ค่าใช้จ่ายในการเก็บศพนั้นสูงลิบลิ่ว ลำพังคนที่ปีนขึ้นไปถึงก็แทบเอาตัวเองไม่รอดแล้ว จะให้แบกศพลงมาด้วยก็คงสาหัสเอาการ ค่าจ้างจึงแพงมากตกราว ๕-๖ ล้านบาททีเดียว และอีกประการหนึ่ง คงเป็นความประสงค์ของผู้คนเหล่านั้นที่อยากจะทอดร่างไร้ลมหายใจของตนไว้ที่นั่น จึงมีเพียงการสร้างอนุสาวรีย์เพื่อระลึกถึงผู้เสียชีวิตบนเอเวอเรสต์ตรงเนินเขาบริเวณดุกลา(Dughla) และโลบูเช (Lobuche) ระหว่างทางสู่เอเวอเรสต์เบสแคมป์

ร่างของนักปีนเขาที่ตกค้างอยู่บนนั้น ผมรู้สึกยกย่องพวกเขาอย่างที่สุด ผมเชื่อว่าคงไม่มีใครอยากมาทิ้งชีวิตไว้ที่นี่เพียงแต่พวกเขาโชคไม่ดีเท่านั้นเอง นาทีแห่งการเอาชีวิตรอดคงเป็นนาทีสำคัญยิ่งก่อนพวกเขาจะหมดลมหายใจ

เช่นกันกับเสี้ยวนาทีก่อนที่ความฝันของผมจะบรรลุเป็นความจริง

แปดโมงเช้าของวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๑
และแล้วเราก็ผ่านฮิลลารีสเต็ปไปได้อย่างไม่ยากเย็นนัก ตรงหน้าผม ทีมเชอร์ปาของเราชูมือไชโยโห่ร้องอยู่ ปาซันตรงเข้ามาบอกผมว่า “เราทำสำเร็จแล้ว”

ชั่วขณะนั้นผมคิดไปว่า โลกเรานี้ช่างสวยงามและยิ่งใหญ่เหลือเกิน ในขณะที่มนุษย์อย่างเรานั้นช่างเล็กเหมือนฝุ่นผง เวลาในชีวิตของเราก็แสนสั้น ไม่อาจเทียบกับขุนเขายิ่งใหญ่ตรงหน้าได้เลย ผมสูดหายใจเข้าเต็มปอดแล้วบอกกับตัวเองว่า นี่อาจเป็นลมหายใจบนพื้นที่ที่สูงที่สุดในโลกครั้งเดียวและครั้งสุดท้ายก็เป็นได้ บัดนี้ผมสามารถนอนตายตาหลับแล้ว

แต่ภารกิจของผมยังไม่จบสิ้น เนื่องจากผมมุ่งหมายแน่วแน่ที่จะอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขึ้นสู่ยอดเอเวอเรสต์ ดังนั้นผมจึงไม่รีรอที่จะปฏิบัติภารกิจนี้ทันที

พื้นที่ตรงยอดเอเวอเรสต์กว้างประมาณ ๔-๕ ตารางเมตร ลักษณะเป็นยอดพีระมิด หลายคนยืนรอคิวถ่ายภาพ บรรยากาศวุ่นวายพอสมควร ผมตรงไปหาเซอรัปให้เขาถ่ายรูปให้ แล้วคลี่พระบรมฉายาลักษณ์ที่ม้วนเก็บไว้อย่างดีในท่อพลาสติกออกมาชูไว้เหนือหัว จากนั้นชูธงไตรรงค์ที่เก็บอยู่ในเสื้อดาวน์แจ๊กเกต และกางป้ายผ้าปักอักษรว่า “ทรงพระเจริญ อยู่ยิ่งยืนนาน ทรงพระเกษมสำราญ ตลอดกาลตลอดไป” นั่นละ ภารกิจของผมได้บรรลุแล้ว

ในระหว่างนั้นชาวอินเดียคนหนึ่งตะโกนขึ้นว่า “King of Thailand” แล้วใครอีกคนก็ตะโกนตามว่า “Long live the king” คนที่อยู่บนนั้นต่างยืนขึ้นแล้วปรบมือ หลายคนเดินมาแสดงความยินดี ดาวา เชอร์ปาร่วมทีมถามผมว่าอยากจะพูดอะไรไหม แล้วยกกล้องวิดีโอขึ้นมา ผมจึงร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี แทนคำกล่าวใดๆ ถึงเวลานี้น้ำตาก็ไหลพราก นึกเพียงว่าในวันที่ได้มายืนอยู่ ณ จุดสูงสุดของโลก ผมอยากประกาศให้โลกรับรู้ว่า พระมหากรุณาธิคุณแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ปกแผ่ไพศาลอยู่เหนือฟากฟ้านภากาศ

หลังจากนั้นไม่นานหิมะเริ่มโปรยปราย ลมเริ่มพัดแรงขึ้นๆ เซอรัปบอกให้ทุกคนเตรียมลง ผมเดินลงมาได้ไม่ถึง ๒๐ ก้าวมองลงไปเบื้องล่าง รอบกายนั้นเต็มไปด้วยหมู่เมฆมากมายมาจากไหนก็สุดรู้ เพียงชั่วครู่ก็ปกคลุมเบื้องล่างกลายเป็นพื้นสำลีสุดลูกหูลูกตา คงมีแต่เซาท์ซัมมิตที่เรายังมองเห็นได้ชัด

ระหว่างทางลงผมยังเห็นเพื่อนชาวสวิสนั่งอยู่ตรงจุดเดิมที่พบเขาเมื่อตอนใกล้รุ่ง เพียงแต่ตอนนี้…เป็นเพียงร่างที่ไร้ลมหายใจ

เราใช้เวลาในการปีนลงเพียง ๒ วัน คืนแรกแวะพักแรมที่แคมป์ ๔ และอีกคืนที่แคมป์ ๒ จากนั้นตรงดิ่งกลับลงมายังเบสแคมป์ พอมาถึงแคมป์ ทีมชาวอินเดียต่างกรูกันเข้ามาโห่ร้องแสดงความดีใจกันยกใหญ่ราวกับเราเป็นหนึ่งในสมาชิก นี่คือมิตรภาพและความผูกพันภายในเบสแคมป์ที่เราอยู่ร่วมกันมาเกือบ ๒ เดือน

เราใช้เวลาเก็บข้าวของต่างๆ อีก ๒ วัน ร่ำลาเพื่อนสนิทมิตรสหายกันถ้วนทั่วแล้วจึงเดินทางกลับ ขากลับ จากเบสแคมป์ถึงลุกลาใช้เวลาเพียง ๓ วันเท่านั้น พอมาถึงกาฐมาณฑุ เราต้องไปรับใบประกาศนียบัตรที่กระทรวงวัฒนธรรมฯ เนปาล เจ้าหน้าที่มาแสดงความยินดีและบอกผมเป็นการการันตีอีกครั้งว่า คุณเป็นคนไทยคนแรกที่ขึ้นถึงยอดเอเวอเรสต์

ประกาศนียบัตรรับรองผลการเป็นเอเวอเรสต์ออกโดยกระทรวงวัฒนธรรม การท่องเที่ยว และการบินพลเรือน เนปาล

การควบคุมดูแลและรับรองผลในการปีนเอเวอเรสต์ของรัฐบาลเนปาล

หลายคนอาจสงสัยว่า จะรู้ได้อย่างไรว่าคนคนนี้ไปปีนเอเวอเรสต์มาแล้วจริง แน่นอน จำเป็นต้องมีอะไรสักอย่างยืนยัน สิ่งนั้นคือประกาศนียบัตรที่รับรองโดยรัฐบาลของประเทศนั้นๆ

ก่อนจะไปปีนเอเวอเรสต์ เราต้องยื่นความจำนงจะปีนเขาต่อกระทรวงวัฒนธรรมฯ ของเนปาล (ในกรณีที่ขึ้นจากทางทิศใต้คือฝั่งเนปาล) ราคาค่าธรรมเนียมตกคนละ ๑๐,๗๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อจ่ายค่าขออนุญาตปีนเขาเรียบร้อยแล้ว ทางรัฐบาลจะส่งเจ้าหน้าที่ไปดูแลคณะละ ๑ คน เจ้าหน้าที่จะคอยสอดส่องดูแลว่าเราทำตามข้อตกลงหรือไม่ ข้อตกลงที่ว่านั้นก็ได้แก่ ระเบียบการตั้งแคมป์ การรักษาสิ่งแวดล้อม การรักษาความสะอาด ไม่ก่อปัญหาระหว่างการปีนเขา เป็นต้น ในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ของรัฐก็จะเป็นตัวแทนในการอำนวยความสะดวกต่างๆ และติดต่อประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ในกรณีฉุกเฉินที่อาจต้องใช้เฮลิคอปเตอร์ของทหารเพื่อนำคนเจ็บลงมา เป็นต้น

ส่วนกระบวนการรับรองผลการปีนเขานั้นจะมีผู้ตรวจสอบปีนไปกับเราด้วย ก็ไม่ใช่ใครที่ไหนหรอก ทีมนำทางของเรานั่นเอง ไม่ก็ทีมนำทางของทีมปีนเขาอื่น คณะนำทาง (ส่วนใหญ่เป็นชาวเชอร์ปา) เหล่านี้จะต้องมีคุณสมบัติและผ่านการสอบจนได้ใบอนุญาตจากรัฐบาลจึงจะสามารถเป็นผู้นำทางได้ ประกอบกับคนที่ขึ้นถึงยอดเอเวอเรสต์จะต้องมีภาพถ่ายบนยอดเขามาแสดงให้เจ้าหน้าที่ดูด้วย เพื่อเป็นการยืนยันว่าได้ขึ้นถึงยอดเอเวอเรสต์แล้วจริง

ตอนที่คณะของเราไปถึงยอดเอเวอเรสต์ราวแปดโมงเช้าของวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๑ บ่ายวันนั้นเอง กระทรวงวัฒนธรรมฯ เนปาลก็ออกข่าวประกาศผลการปีนเขาของทีมเราแล้ว

หลังจากกระบวนการพิสูจน์เสร็จสิ้น ทางกระทรวงวัฒนธรรมฯ เนปาลได้ออกประกาศนียบัตร (certificate) รับรองอย่างเป็นทางการ ความว่า

ประกาศนียบัตรนี้รับรองว่า นายวิทิตนันท์ โรจนพานิช พลเมืองจากประเทศไทย ในฐานะหัวหน้าทีม Vietnam Spirit to the World ภายใต้การนำของนายวิทิตนันท์ โรจนพานิช จากประเทศไทยประสบความสำเร็จในการปีนสู่ยอดเอเวอเรสต์ที่ความสูง ๘,๘๔๘ เมตร เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ค.ศ. ๒๐๐๘

ฝากไว้หลังเขา

ความงดงามและความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนชอบปีนเขา ธรรมชาติที่ว่านี้หมายถึงธรรมชาติที่มีอยู่ในตัวเราด้วย ดังนั้นการเอาชนะธรรมชาติก็คือการเอาชนะตัวเราเอง

ผมนึกไปถึงคำที่จัมลิง บุตรชายของ เทนซิง นอร์เกย์ ผู้เดินตามรอยเท้าพ่อขึ้นสู่ยอดเอเวอเรสต์เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๙๖ กล่าวไว้ว่า ควรปีนภูเขายิ่งใหญ่ลูกนี้ด้วยความเคารพและอ่อนน้อมถ่อมตน

อย่างที่จัมลิงว่าไว้ มนุษย์เรารังแต่จะคิดว่าตนเป็นผู้พิชิต และพยายามเอาชนะธรรมชาติทุกวิถีทาง การเดินทางสู่เอเวอเรสต์ทำให้ผมได้เรียนรู้ว่า พลังแห่งศรัทธาในตัวเรานั้นยิ่งใหญ่เกินกว่าความคิดจะเอาชนะแต่เพียงอย่างเดียว ในเวลาเดียวกันผมก็ได้พบว่ามนุษย์เราทำร้ายโลกไปมากมายเพียงใด น้ำแข็งที่หายไปจากยอดคิลิมันจาโร หิมะที่หายไปจากเทือกเขาหิมาลัย เป็นสัญญาณเตือนภัยที่ผมได้เห็นกับตา

เวลานี้ที่ Namche Bazaar หมู่บ้านที่เป็นศูนย์กลางของชาวเชอร์ปาแถบซูลูคุมบู หมู่บ้านแสนสวยที่ความสูง ๓,๔๕๐ เมตรจากระดับน้ำทะเลแห่งนี้มีดิสโกเทกแล้ว ผมถามตัวเองว่าสิ่งเหล่านี้เกิดมาได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้มาจากความคิดของใคร ถ้ามิใช่นักท่องเที่ยว (บางคน) ที่ต้องการเพียงความสะดวกสบายชั่วครั้งชั่วคราว

การเดินทางครั้งนี้ทำให้ผมได้พบเห็นโลกในแง่มุมใหม่ และยืนยันได้ว่าโลกของเราสวยงามเพียงใด

แต่โลกจะงดงามเพียงใดขึ้นอยู่กับมนุษย์อย่างพวกเรา ผมได้พบเจอคนมากมายที่เอาแต่ตั้งคำถามว่าโลกได้ให้อะไรแก่เขาบ้าง หากมีน้อยคนเหลือเกินที่จะตั้งคำถามว่าเราจะให้อะไรคืนแก่โลกบ้าง และยิ่งน้อยกว่านั้นคือคนที่ลงมือทำเพื่อโลก ผมเชื่อว่าถ้าวันหนึ่ง มนุษย์ได้หวนกลับไปใกล้ชิดธรรมชาติ เมื่อนั้นธรรมชาติจะสอนให้มนุษย์รู้จักความรักที่แท้

เฉกเช่นที่เอเวอเรสต์เป็นครูผู้ยิ่งใหญ่ของมนุษย์ตัวเล็กๆ อย่างผม

ข้อมูลอ้างอิง
เกรียงไกร สุวรรณภักดิ์. คู่มือนำเที่ยว คินาบาลู บอร์เนียวเหนือ. กรุงเทพฯ : สารคดี, ๒๕๕๑.
วีระ นุตยกุล. “เส้นทางสู่คิลิมันจาโร”. สารคดี ปีที่ ๑๔ ฉบับที่ ๑๕๙ พฤษภาคม ๒๕๔๑.
George Band. Everest 50 Years on Top of the World. London: HarperCollinsPublishers Ltd., 2003.
National Geographic ฉบับภาษาไทย ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๔๖.
http://www.8000ers.com
http://en.wikipedia.org
http://www.EverestNews.com
http://www.tourism.gov.np/pdf/press_rls_may22.pdf

หมายเหตุ :
ติดตามหนังสือรวมภาพการพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ครั้งนี้ได้ในนิตยสาร Travel Guide ฉบับพิเศษ ต้นเดือนธันวาคมนี้