ทุกปีเมื่อฤดูแล้งมาเยือน ระดับน้ำในแม่น้ำโขงจะลดต่ำลงแต่ไม่เคยต่ำมากเท่าปีนี้ ในหลายพื้นที่ระดับน้ำลดลงเหลือไม่ถึง ๑ เมตร เป็นสถิติต่ำสุดในรอบหลายสิบปี แต่สิ่งที่น่ากังวลไม่น้อยกว่าวิกฤตน้ำโขงแห้ง คือความผันผวนของแม่น้ำที่ไม่อาจคาดเดาได้ (ภาพ : วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์) |
ผืนทรายกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา
มหาธาราที่เคยมีระดับน้ำลึกท่วมหัวนับสิบเมตร แผ่ออกกว้างไกลนับหลักกิโลเมตร มาบัดนี้ไม่ผิดแผกอะไรกับร่องน้ำแคบตื้นที่สัญจรผ่านได้เพียงเรือหาปลาพื้นบ้านและเรือโดยสารขนาดไม่ใหญ่นักเท่านั้น
ในปี ๒๕๕๑ พื้นที่ริมฝั่งโขงจังหวัดเชียงรายประสบเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ ประเมินความเสียหายได้กว่า ๘๕ ล้านบาท หลังจากนั้นไม่ถึง ๓ ปี ชาวบ้านริมฝั่งเดิมต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางน้ำอีกครั้ง หากแต่คราวนี้เป็นไปในทางตรงกันข้าม เมื่ออำเภอเชียงแสน เชียงของ และเวียงแก่นต่างประสบภาวะน้ำโขงแห้งสุดในรอบ ๒๐ ปี ส่งผลกระทบต่อวิถีการดำรงชีวิต การเกษตรริมฝั่ง การทำประมง เช่นเดียวกับสถานการณ์น้ำแห้งตลอดพื้นที่ริมฝั่งโขงตอนล่าง ไล่ตั้งแต่สามเหลี่ยมทองคำ หลี่ผี คอนพะเพ็ง ทะเลสาบเขมร ยันที่ราบลุ่มดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงเวียดนาม ส่งผลให้ผู้คนบนพื้นที่ลุ่มน้ำต่างประสบปัญหาโดยถ้วนหน้ากัน
แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติ มีขนาดใหญ่สุดในภูมิภาคอุษาคเนย์ ความยาวตั้งแต่ต้นน้ำถึงปากน้ำวัดได้ ๔,๙๐๙ กิโลเมตร ไหลผ่าน ๖ ประเทศ คือ จีน พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ผ่านพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ กลุ่ม และมีผู้คนจำนวนไม่น้อยกว่า ๖๐ ล้านคนใช้ประโยชน์จากแม่น้ำสายนี้ พวกเขาเรียนรู้และมีประสบการณ์การอยู่ร่วมกับแม่น้ำจนรู้จักแม่น้ำของพวกเขาเป็นอย่างดี
แต่มาวันนี้ ลูกน้ำโขงกลับพบว่าวิถีชีวิตพวกเขาต้องเปลี่ยนแปลงไป พร้อมการขึ้นลงของแม่น้ำที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติเหมือนเช่นเดิม
ความหลากหลายของพันธุ์ปลาในแม่น้ำโขงสูงเป็นอันดับ ๓ ของโลก รองจากแม่น้ำแอมะซอนและแม่น้ำคองโก ในแต่ละปชาวประมงจับปลาได้มากถึง ๒ ล้านตัน นับเป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพและราคาถูกของคนลุ่มน้ำ ความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ส่งผลต่อวิถีชีวิตของทั้งคน และปลา (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล) |
เกษตรริมโขงเริ่มในช่วงน้ำลดตามริมฝั่ง หาดทราย และตอนให้ผลผลิตสูงเนื่องจากดินบริเวณนั้นได้รับปุ๋ยธรรมชาติที่แม่น้ำพัดพามาในฤดูน้ำหลาก ในบางพื้นที่ไม่จำเป็นต้องรดน้ำเลย แตต่เมื่อน้ำแห้งลงอย่างผิดปรกติ ชาวบ้านต้องหาบน้ำมารดหรือซื้อเครื่องสูบน้ำมาใช้ ในภาพชาวบ้าน อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ต้องใช้น้ำรดพืชผักมากกว่าเคย (ภาพ : บุญกิจ สุทธิญาณานนท์) |
ชะตากรรมคนลุ่มน้ำโขงตอนล่าง
“ไม่เคยเจอเหตุการณ์ที่ทำให้แม่น้ำโขงแห้งขนาดนี้”
ชายชาวเชียงแสนวัย ๖๐ ปี ประกอบอาชีพขับเรือท่องเที่ยวมานานกว่า ๔๐ ปี บอกกับเรา
เมื่อก่อน ลุงจู ปินปันคง เคยมีรายได้หลักจากการเดินเรือรับนักท่องเที่ยวล่องไปตามลำน้ำบนเส้นทางเชียงแสน-เชียงของ แต่มาวันนี้เรือท่องเที่ยวของแกทั้งสองลำกลับจอดนิ่งอยู่ริมฝั่งอย่างไม่มีกำหนด เมื่อระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดต่ำจนต้องงดการเดินเรือ
สุดชายแดนสยามริมอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ทัศนียภาพที่ปรากฏเบื้องหน้าคือลานทรายกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา สลับกับผืนดินแห้งแตกระแหง แผ่นดินชั่วคราวที่งอกขึ้นมาทอดยาวจากริมฝั่งไทยไปถึงสันดอนทรายซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเกาะกลางลำน้ำ มองเห็นมหาธาราซึ่งเคยแผ่กว้างถึงหลักกิโลเมตรอยู่ไกลลิบ เหลือเพียงร่องน้ำเล็กแคบทางฝั่ง สปป. ลาวเท่านั้น
ในช่วง ๒-๓ ปีที่ผ่านมา ชาวเชียงแสนกำลังหาทางปรับตัวอย่างหนักเพื่อรับกับสภาพลำน้ำโขงที่มักไหลเอ่อล้นตลิ่ง มาถึงปีนี้กลับเกิดเหตุการณ์ที่ชาวบ้านไม่ทันเตรียมรับมือ นั่นคือระดับน้ำลดต่ำลงจนน่าใจหาย วัดระดับต่ำสุดได้ ๐.๙๓ เมตร (สถานีวัดระดับน้ำเชียงแสน ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓) ส่งผลกระทบต่อวิถีการดำรงชีวิตของลูกแม่น้ำอย่างเลี่ยงไม่พ้น
ที่บ้านปากอิง อำเภอเชียงของ พรานปลาบอกว่าปริมาณปลาในแม่น้ำสายหลักของพวกเขาลดลงมาก จากที่เคยขายปลาได้วันละ ๓๐๐-๔๐๐ บาท มาวันนี้กลับได้ปลาไม่คุ้มค่าน้ำมันเรือ การเกษตรริมฝั่งพังทลาย จากที่ไม่เคยต้องใช้น้ำรดพืชผักเลยตลอดอายุการเก็บเกี่ยว มาวันนี้ ชฎาทิพย์ บุญพันธุ์ และชาวบ้านปงโขง อำเภอเชียงแสน กลับต้องหาบน้ำมารด และหากแล้งหนักคงต้องลงทุนซื้อเครื่องสูบน้ำมาใช้ เสริมสวย อินทวงศ์ พร้อมกลุ่มแม่บ้านห้วยลึก อำเภอเวียงแก่น ที่เคยมีรายได้พิเศษจากการเก็บไก ต่างก็ประสบปัญหาโดยถ้วนหน้า พวกเธอเล่าว่า “ไกหรือสาหร่ายแม่น้ำโขงเป็นพืชที่มีความอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมเป็นอย่างมาก น้ำต้องใสสะอาด ลึกไม่ต่ำกว่า ๔๐-๔๕ เซนติเมตร ทุกปีเราเคยเก็บไกได้ผลดี มีระยะเวลาเก็บนานถึง ๒-๓ เดือน แต่ปีนี้เรายังเก็บไกไม่ได้เลย ไกเกิดใหม่ไม่ทันไรน้ำก็แห้งขอดลงไปจนไกถูกแสงแดดแผดเผาตายไปเสียก่อนแล้ว”
ปริมาณน้ำที่ลดลงอย่างฮวบฮาบยังส่งผลกระทบต่อธุรกิจเดินเรือท่องเที่ยวและเรือขนส่งสินค้า ทำให้ต้องหยุดให้บริการอย่างไม่มีกำหนด ที่ท่าเรือเชียงแสน เรือสินค้าจากไทยไปจีนหยุดการขนส่งสินค้ามานานกว่า ๒ เดือน ขณะที่เรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่รองรับนักท่องเที่ยวได้คราวละ ๔๐-๖๐ คนบนเส้นทางเชียงของ-หลวงพระบาง เจ้าของต้องจอดเรือไว้ริมฝั่งนับสิบลำ เพราะเกรงจะได้รับอันตรายจากโขดหินใต้น้ำระหว่างการเดินเรือ นักท่องเที่ยวบางส่วนต้องหันไปใช้ทางถนน ทั้งที่เส้นทางเดินเรือจากอำเภอเชียงของไปหลวงพระบางเป็นเส้นทางแห่งมนต์เสน่ห์ที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก
ในบางช่วงของแม่น้ำซึ่งทำหน้าที่เป็นพรมแดนระหว่างไทย-ลาว ทั้งทางภาคเหนือและอีสาน ยังพบว่าระดับน้ำลดต่ำจนชาวบ้านสองฝั่งสามารถเดินข้ามไปมาหากันได้ ก่อปัญหาใหญ่ตามมาคือการลักลอบขนส่งยาเสพติดข้ามแดน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจอำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ สามารถจับกุมผู้ค้ายาบ้าที่เดินข้ามแม่น้ำอันแห้งขอดจากฝั่งลาวมาฝั่งไทยได้จำนวนกว่า ๓ แสนเม็ดภายในเวลา ๑ เดือนเศษ (มติชนออนไลน์ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓)
ชาวบ้านหลายคนบอกเราว่า หากแม่น้ำค่อยๆ มีความเปลี่ยนแปลงทีละน้อยตามกาลเวลา นั่นย่อมเข้าใจได้ว่าเป็นวิถีทางตามธรรมชาติของแม่น้ำ และไม่น่าเป็นเรื่องยากเกินกว่าจะปรับตัวตาม หากแต่สิ่งที่ทำให้พวกเขาเป็นกังวล คือความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำที่มีความผันผวน เพิ่มขึ้นหรือลดลงภายในระยะเวลาอันสั้น ยกตัวอย่างปรากฏการณ์น้ำท่วมเชียงราย ๒ ครั้งในรอบ ๔๐ ปีที่ผ่านมา
ในปี ๒๕๐๙ น้ำท่วมครั้งนั้นชาวบ้านยังคงจดจำได้มั่นว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นช้าๆ และมีน้ำไหลบ่ามาจากแม่น้ำสาขาทั้งแม่น้ำกก แม่น้ำอิง และลำห้วย น้ำค่อยๆ ท่วมแล้วค่อยๆ ลดลง ทั้งหมดกินเวลานานเกือบ ๑ เดือน ชาวบ้านยังพอมีเวลาอพยพเคลื่อนย้ายสิ่งของมีค่าหนีน้ำได้ทัน
แตกต่างจากคราวน้ำท่วมเฉียบพลันเมื่อวันที่ ๙-๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ เพียง ๑ วันระดับน้ำในแม่น้ำโขงสูงขึ้นเกือบ ๒ เมตร ส่งผลให้น้ำไหลทะลักเข้าสู่ปากแม่น้ำอิงและแม่น้ำกก ลึกเข้าไปในแผ่นดินเกือบ ๓๐ กิโลเมตร ทั้งที่ไม่มีรายงานน้ำฝนไหลมาจากต้นน้ำทั้งสองแต่อย่างใด ส่งผลให้พื้นที่การเกษตร บ้านเรือน รวมทั้งผืนดินริมฝั่งเสียหายมหาศาล ก่อนที่ระดับน้ำจะลดลงภายในเวลาอันสั้น หลังวันที่ ๑๕ สิงหาคม ประเมินความเสียหายเบื้องต้นได้กว่า ๘๕ ล้านบาท ไม่นับรวมความเสียหายที่เกิดกับเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป. ลาว ที่อยู่ฝั่งตรงข้าม
และไม่รวมตะกอนความหวาดระแวงในใจผู้คนภายหลังระดับน้ำลดลงสู่ภาวะปรกติ
ด้วยปรากฏการณ์อันไม่น่าเชื่อว่าเป็นไปตามธรรมชาติที่ว่านี้ ทำให้ลูกแม่น้ำกังวลว่าพวกเขาไม่อาจใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมคาดเดาพฤติกรรมการขึ้นและลงของน้ำได้อีกต่อไป
แม่น้ำสาขาและลำห้วยมีควาามสำคัญยิ่งต่อปริมาณน้ำ และระบบนิเวศโดยรวมของแม่น้ำโขง โดยช่วยเพิ่มปริมาณน้ำและทำให้ป่าต้นน้ำอุดมสมบูรณ์ เมื่อน้ำโขงแห้งขอดย่อมส่งผลกระทบตต่อลำน้ำสาขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (ภาพ : บุญกิจ สุทธิญาณานนท์) |
พระธาตุหล้าหนอง หรือพระธาตุกลางน้ำ จ.หนองคาย จมลงแม่น้ำในลักษณะล้มตะแคงตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๙๐ ทุกปีเมื่อถึงฤดูน้ำลดจะเห็นขอบฐานด้านล่างองค์พระธาตุราว ๑-๒ เมตร มาปีนี้วัดระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำหนองคายได้ ๐.๓๒ เมตร ล่าสุดในรอบ ๕๐ ปี เผยให้เห็นองค์พระธาตุ ๔-๕ เมตร (ภาพ : บุญกิจ สุทธิญาณานนท์) |
การตัดไม้ทำลายป่าและเผาไร่เป็นปัญหาสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เมื่อพิจารณาถึงการแก้วิกฤตแม่น้ำโขงอย่างเป็นองค์รวม (ภาพ : วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์) |
ใต้ร่มเงาเขื่อนยักษ์ทางต้นน้ำ
“ผมถูกส่งมาที่นี่เพื่อเฝ้าระวังภัยน้ำท่วม เพราะช่วง ๓-๔ ปีที่ผ่านมามีสถานการณ์ไม่ธรรมดาที่ทำให้แม่น้ำโขงเพิ่มระดับขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว แต่ปัจจุบันเหตุการณ์กลับเป็นตรงกันข้าม สิ่งนี้ทำให้ชาวบ้านมองแม่น้ำด้วยสายตาเป็นกังวล” เรือเอก ธงชัย จันทร์มิตร เจ้าหน้าที่หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำน้ำโขงกล่าว
พลิกดูสถิติในรอบปีที่ผ่านมาจะพบว่าบ่อยครั้งที่แม่น้ำโขงมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว บางวันระดับน้ำเพิ่มขึ้นหรือลดลงถึง ๑ เมตร ยกตัวอย่างในระหว่างวันที่ ๔-๘ สิงหาคม ๒๕๕๒ ระดับน้ำเพิ่มขึ้นจาก ๔.๕ เมตรเป็น ๖.๙ เมตร ทั้งที่ไม่มีรายงานฝนตกแต่อย่างใด
ความผันผวนของแม่น้ำทำให้ชาวบ้านไม่สามารถจับปลาได้ เพราะเบ็ดดักปลาที่ปักไว้ตามริมฝั่งลอยอยู่เหนือน้ำเมื่อระดับน้ำลดต่ำลงเพียงชั่วข้ามคืน หรือแม้กระทั่งปลาเกิดอาการหลงทิศหลงทางจนไม่ออกหากินหรือวางไข่ อีกทั้งพืชผักริมฝั่งที่ปลูกไว้รอเวลาเก็บเกี่ยวก็ถูกน้ำท่วมขัง
ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน รวมทั้งภัยแล้งบริเวณต้นน้ำทางตอนใต้ของประเทศจีนอาจเป็นปัจจัยสำคัญ แต่สิ่งที่ทำให้สถานการณ์ของประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างวิกฤตไปกว่านั้น คือการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำในมณฑลยูนนานของจีน
นับตั้งแต่ปี ๒๕๓๙ เป็นต้นมา แม่น้ำโขงไม่ได้ไหลตามธรรมชาติอีกต่อไป
“จากการติดตามสถานการณ์พบว่าแม่น้ำโขงไม่ไหลอย่างเป็นธรรมชาติมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๙ ตรงกับปีที่เขื่อนม่านวาน เขื่อนกั้นลำน้ำโขงแห่งแรกในประเทศจีนสร้างเสร็จ
“ความผิดปรกติของน้ำที่เราสังเกตพบมาจากการเปรียบเทียบสถิติทั้งก่อนหน้าและหลังการสร้างเขื่อน ตามปรกติในรอบปีแม่น้ำโขงจะไหลตามฤดูกาล ปลายเดือนเมษายนฝนจะเริ่มตก จนกระทั่งน้ำขึ้นสูงสุดที่เดือนสิงหาคม หลังจากนั้นจึงเริ่มลดระดับลงมา จนต่ำสุดในเดือนเมษายน เมื่อ
นำข้อมูลดังกล่าวมาพล็อตกราฟจะได้กราฟที่มี curve ขึ้นลงตรงกันไม่ว่าปีนั้นจะมีน้ำมากหรือน้อยก็ตาม แต่หลังปี ๒๕๓๙ ที่เขื่อนม่านวานสร้างเสร็จ ตามด้วยเขื่อนต้าเฉาชาน เขื่อนจิงฮง เขื่อนเซี่ยวหวาน น้ำในแม่น้ำโขงก็ไม่ได้ไหลอย่างเป็นธรรมชาติอีกต่อไป ภายใต้ curve ขึ้นลงโดยรวม ยังมี curve ขึ้นๆ ลงๆ ระหว่างฤดูกาลที่เราสังเกตความเปลี่ยนแปลงได้ซ่อนอยู่ บางครั้งระดับน้ำมีความแตกต่างกันถึง ๒ เมตร หากชาวบ้านไม่ทราบก็ย่อมได้รับผลกระทบในการดำรงชีวิต” เรือเอกธงชัยอธิบาย
ตารางเปรียบเทียบระดับน้ำเฉลี่ย (เมตร) ที่สถานีวัดน้ำในแม่น้ำโขงสายประธาน
สถานีวัดน้ำ | ระยะเวลาเก็บข้อมูล | ระดับน้ำเฉลี่ย (เมตร) | ||||||
ก่อนมีเขื่อนในจีน | หลังมีเขื่อนในจีน | ปี พ.ศ.๒๕๕๒ | ปี พ.ศ.๒๕๕๓ | |||||
หน้าฝน | หน้าแล้ง | หน้าฝน | หน้าแล้ง | หน้าฝน | หน้าแล้ง | หน้าแล้ง | ||
เชียงแสน จ.เชียงราย เชียงคาน จ.เลย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร โขงเจียม จ.อุบลราชธานี |
ปี ๒๕๐๔-๒๕๕๒ ปี ๒๕๑๑-๒๕๕๒ ปี ๒๕๑๓-๒๕๕๒ ปี ๒๔๖๘-๒๕๕๒ ปี ๒๔๖๗-๒๕๕๒ ปี ๒๕๑๐-๒๕๕๒ |
๕.๔ ๙.๔ ๗.๗ ๖.๑ ๗.๐ ๘.๗ |
๒.๓ ๓.๙ ๒.๓ ๐.๙ ๑.๕ ๒.๓ |
๕.๔ ๙.๗ ๗.๙ ๖.๘ ๗.๒ ๘.๕ |
๒.๒ ๔.๑ ๒.๓ ๑.๒ ๑.๖ ๒.๒ |
๔.๔ ๘.๕ ๖.๓ ๖.๒ ๖.๒ ๗.๕ |
๒.๔ ๔.๓ ๒.๓ ๑.๗ ๑.๙ ๒.๕ |
๑.๐ ๓.๘ ๒.๑ ๐.๙ ๑.๕ ๒.๑ |
ที่มา : สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย, เอกสารการวิเคราะห์สถานการณ์น้ำหน้าแล้ง ปี พ.ศ.๒๕๕๓ ในแม่น้ำโขง, กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓
บ้านผาชัน อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี พื้นที่ท้ายๆ ในภาคอีสานก่อนลำน้ำโขงหายไปในแผ่นดินลาว ได้รับการประกาศเป็นหนึ่งในพื้นที่ประสบภัยแล้งของอุบลฯ เนื่องจากโดยปรกติสภาพพื้นที่ยากต่อการดูดซับและกักเก็บน้ำเป็นทุนเดิม (ภาพ : บุญกิจ สุทธิญาณานนท์) |
แก่งช้างหมอบ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี เป็นแก่งสลับโขดหินที่เกิดจากการกัดเซาะของแม่น้ำ ระดับน้ำที่ลดลงส่งผลกระทบต่อวิถีชาวประมง ในภาพแม่น้ำโขงสายหลักอยู่หลังภูเขาหินทราย (ภาพ : บุญกิจ สุทธิญาณานนท์) |
การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจีนในปีนี้คาดว่าจะก้าวขึ้นมาครองอันดับ ๒ ของโลก เป็นรองเพียงสหรัฐอเมริกา และแซงหน้าญี่ปุ่นด้วยนโยบายเร่งอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ มังกรจีนจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานไฟฟ้า โดยกำหนดให้มณฑลยูนนานเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าที่สำคัญทางตอนใต้ของประเทศ ตั้งเป้าการผลิตไฟฟ้าให้ได้ถึง ๑ แสนเมกะวัตต์ โครงการสร้างเขื่อน ๘ แห่ง (เฉพาะที่เห็นเป็นรูปธรรมแล้ว) ขวางลำน้ำโขงตอนบนหรือที่ชาวจีนเรียกว่า แม่น้ำหลานซาง ซึ่งมีความยาวราวร้อยละ ๔๕ ของแม่น้ำโขงทั้งสาย จึงถูกกำหนดขึ้นประกอบด้วย เขื่อนม่านวาน ความจุน้ำ ๙๒๐ ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนต้าเฉาชาน ความจุน้ำ ๘๙๐ ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนจิงฮง ความจุน้ำ ๑,๒๓๓ ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนเซี่ยวหวาน ความจุน้ำ ๑๔,๕๖๐ ล้านลูกบาศก์เมตร มากกว่าปริมาณน้ำเฉลี่ยในกว๊านพะเยาถึง ๕๑๐ เท่า ใช้เวลากักเก็บน้ำประมาณ ๕-๑๐ ปี มหาเขื่อนนี้มีความสูงของสันเขื่อนถึง ๓๐๐ เมตร ใกล้เคียงกับตึกใบหยกหรือเทียบเท่าตึกระฟ้า ๑๐๐ ชั้น จัดเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ติดอันดับโลก และอีก ๔ เขื่อนกำลังอยู่ระหว่างการออกแบบ ได้แก่ เขื่อนนัวจาตู้ ความจุน้ำ ๒๒,๔๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนกงกว่อเฉียว ความจุน้ำ ๕๑๐ ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนกันลันปา และเขื่อนเมงซอง ทั้ง ๘ เขื่อนนอกจากจะผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อป้อนเมืองอุตสาหกรรมทางตอนใต้และชายฝั่งตะวันออกของจีนแล้ว ทางการจีนยังหวังกักเก็บน้ำเพื่อประโยชน์ทางการเกษตรและป้องกันภัยแล้งภายในประเทศด้วย
คนลุ่มน้ำโขงตอนล่างไม่ว่าไทย ลาว กัมพูชา หรือเวียดนามจะต้องยอมรับชะตากรรมเช่นนั้นหรือ หากว่าน้ำจากแม่น้ำโขงตอนบนไม่ว่าจะไหลรินมาจากการละลายของภูเขาหิมะบริเวณที่ราบสูงทิเบตหรือจากฝนจะถูกเขื่อนทั้งหลายรุมกักเก็บน้ำไว้ ในขณะที่น้ำที่ไหลลงมาทางตอนล่างก็ต้องถูกกักเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าเลี้ยงประชากรจีนเป็นอันดับแรก
สำหรับประเทศไทย แม่น้ำโขงทำหน้าที่เป็นเส้นกั้นพรมแดนไทย-ลาวใน ๗ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงรายในภาคเหนือ คิดเป็นระยะทางราว ๘๕ กิโลเมตร จากนั้นแม่น้ำไหลเลี้ยวเลาะไปตามไหล่เขาเข้าไปในแผ่นดินลาวแล้วออกมาจรดกับประเทศไทยอีกครั้งบนแผ่นดินอีสานในจังหวัดเลย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี คิดเป็นระยะทางราว ๘๓๒ กิโลเมตร
พื้นที่ริมฝั่งโขงจังหวัดเชียงรายเป็นตัวอย่างของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนทางตอนใต้ของจีนอย่างชัดเจน เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้กับเขื่อนจิงฮงซึ่งอยู่ห่างจากไทยไปทางเหนือเพียง ๓๔๕ กิโลเมตร การเดินทางของน้ำจากบริเวณดังกล่าวมาถึงแถบจังหวัดเชียงรายใช้เวลา ๒๑ ชั่วโมง ประกอบกับระหว่างทางไม่มีแม่น้ำสาขาขนาดใหญ่ไหลรินลงมาเติมน้ำให้แก่แม่น้ำโขงเลย
ดังนั้น แม่น้ำโขงที่ไหลลงมายังพื้นที่แถบนี้จึงจำเป็นต้องพึ่งพิงน้ำจากแผ่นดินจีนคิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ ๙๕ ในหน้าแล้ง ร้อยละ ๗๕ ในหน้าฝน นับเป็นปริมาณน้ำที่มีความสม่ำเสมอเนื่องจากไหลมาจากภูเขาหิมะละลาย ในขณะที่พรมแดนไทย-ลาวทางภาคอีสาน ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในจีนอาจไม่ชัดเจนเท่าพรมแดนทางเหนือ เนื่องจากน้ำในแม่น้ำโขงได้รับการเติมน้ำโดยแม่น้ำสาขาและฝนตกในพื้นที่ สปป. ลาว ก่อนจะไหลลงมายังดินแดนไทย
“ที่ผ่านมาทางการจีนเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับเขื่อนและปริมาณการกักเก็บน้ำให้ประเทศที่อยู่ปลายน้ำทราบน้อยมาก มีเพียงข้อมูลระดับน้ำที่เขื่อนจิงฮงและเขื่อนม่านวานเฉพาะฤดูฝนเท่านั้นที่ได้รับการเผยแพร่สู่สาธารณะ ปล่อยให้แม่น้ำนานาชาติที่ไหลผ่าน ๖ ประเทศตกอยู่ภายใต้การควบคุมการเปิดปิดประตูระบายน้ำของบริษัทพลังงานไฟฟ้าที่รับหน้าที่บริหารจัดการเขื่อนของจีน ทำราวกับการให้น้ำเกลือคนไข้ ถ้าเขามีความเมตตาเราก็จะได้รับน้ำ ส่วนคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงหรือเอ็มอาร์ซีที่มีประเทศสมาชิกคือ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา ก็ไม่เคยออกมาปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของชาวบ้านอย่างแท้จริง ไม่ต่างจากทางการไทยที่ดูจะเกรงใจรัฐบาลจีนจนออกนอกหน้า ออกมาฟันธงสรุปว่าปัญหาไม่ได้มาจากเขื่อน แต่เกิดจากภาวะโลกร้อน พวกเราเข้าใจเรื่องโลกร้อน แต่เขื่อนมันเป็นตัวเร่งที่สุดแล้ว” นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา ให้ความเห็น
“เป็นความจำเป็นที่คนเหนือน้ำอย่างจีนจะต้องเข้าใจคนท้ายน้ำ เพื่อการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำร่วมกันอย่างยั่งยืน”
ล่าสุด คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission-MRC) ร่วมกับรัฐบาลไทยจัดการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่างครั้งที่ ๑ (The First MRC Summit) ขึ้นในวันที่ ๒-๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓ ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีนายกรัฐมนตรีของไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนามเข้าร่วมประชุม พร้อมด้วยผู้แทนระดับสูงจากจีนและพม่าเข้าร่วมในฐานะประเทศคู่เจรจา
ผลการประชุม นายกรัฐมนตรีทั้ง ๔ ประเทศสมาชิกเอ็มอาร์ซีได้ร่วมลงนามใน “ปฏิญญาหัวหิน” เพื่อร่วมมือกันพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืนระหว่างปี ๒๕๕๓-๒๕๕๘ มุ่งเน้นความร่วมมือทางด้านการใช้น้ำและทรัพยากร หลีกเลี่ยงผลกระทบอันเกิดจากธรรมชาติและการกระทำของมนุษย์ นอกจากนี้ประเทศสมาชิกยังเรียกร้องให้จีนและพม่าเข้าร่วมเป็นสมาชิกของเอ็มอาร์ซี เนื่องจากการพัฒนาลุ่มน้ำโขงตอนล่างจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากประเทศต้นน้ำ ข้อเรียกร้องดังกล่าวยังคงได้รับการปฏิเสธจากผู้แทนทั้งสองประเทศ โดยนายสง เทา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนชี้แจงว่าจีนยินดีแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องอุทกศาสตร์มากขึ้น รวมถึงการพิจารณายกเลิกการสร้างเขื่อนเมงซองที่จะส่งผลกระทบต่อสายพันธุ์ปลาในแม่น้ำโขง ทั้งนี้ยังคงยืนยันว่าการสร้างเขื่อนในจีนไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ขณะเดียวกันเครือข่ายภาคประชาชนคนลุ่มน้ำโขงทั้งทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็ได้เปิดเวทีคู่ขนานการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่างขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อตีแผ่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน และเรียกร้องให้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างจริงใจ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างมีส่วนร่วม
………………………………………………….
มีคำถามเกิดขึ้นมากมายภายหลังแม่น้ำโขงแห้งขอดลงเป็นประวัติการณ์ในครั้งนี้
ขณะที่ยังไม่มีคำตอบแน่ชัดไปในทิศทางเดียวว่า วิกฤตโขงครั้งนี้เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติหรือเกิดจากน้ำมือมนุษย์
โครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขากว่า ๑๐๐ แห่งจึงยังคงอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาต่อไป เมื่อประเทศที่แม่น้ำสายนี้ไหลผ่านต่างอ้างอธิปไตยเหนือดินแดนและสิทธิอันชอบธรรมในการใช้น้ำ
หากแต่สิทธิอันชอบธรรมย่อมต้องมาเคียงคู่กับหน้าที่
หน้าที่ในการรักษ์น้ำให้เอื้อประโยชน์ต่อสรรพชีวิตที่ต้องพึ่งพิงแหล่งน้ำมิใช่หรือ ?
แล้ววิถีชีวิตลูกแม่น้ำโขงจะต้องเปลี่ยนแปลงสักเท่าไร เมื่อแม่น้ำไม่ได้รับอนุญาตให้ไหลตามธรรมชาติเหมือนเช่นเดิม