กลางเดือนธันวาคม ๒๕๔๓ ปรากฏข่าวชิ้นเล็ก ๆ บนหน้า ๑ หนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ ว่าด้วยเรื่อง “เพลงชาติ”

สรุปความได้ว่า พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานคณะอนุกรรมการ เอกลักษณ์ไทย เกิดความวิตกว่าเพลงชาติ และภาพวิดีทัศน์ประกอบเพลงชาติ ที่เผยแพร่ตามโทรทัศน์ช่องต่าง ๆ ในปัจจุบัน มีรูปแบบที่แตกต่าง หลากหลาย มากจนเกินไป เนื่องจากปล่อยให้สถานีโทรทัศน์แต่ละแห่ง ผลิตและสร้างสรรค์กันอย่างอิสระ โดยบางครั้งมีการออกเสียงที่ผิดเพี้ยนไป และมีเนื้อหาไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งอาจส่งผลต่อความมั่นคงของชาติ และความรักชาติได้ เช่น มีแต่เพียงภาพของผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ ไม่มีภาพคนไทยที่นับถือศาสนาอื่น ๆ เป็นต้น

คณะอนุกรรมการเอกลักษณ์ไทย ซึ่งแต่งตั้งโดย คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สังกัดสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จึงจะดำเนินการเรียบเรียงดนตรี และขับร้องเพลงชาติขึ้นใหม่ รวมทั้งผลิตภาพประกอบเพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี ที่เป็นมาตรฐานของทางการ เพื่อแจกจ่ายไปตามสถานีวิทยุ โทรทัศน์ โรงภาพยนตร์ทั่วประเทศ โดยขอความร่วมมือ ให้เผยแพร่เป็นแบบเดียวกันทั้งหมด อันจะเป็นการ ปลุกสำนึก ความรักชาติให้บังเกิดขึ้น

แนวความคิดดังกล่าว เกิดขึ้นในการประชุม คณะกรรมการเอกลักษณ์ไทย ครั้งที่ ๑ วันศุกร์ที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๓ ณ หอประชุมกองทัพบก โดยหลังการประชุมในครั้งนั้น สำนักงาน เสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ– หน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นเลขานุการ ของคณะกรรมการ เอกลักษณ์ของชาติ (แต่งตั้งขึ้นในสมัย นายกรัฐมนตรี เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ พ.ศ.๒๕๒๑ เดิมชื่อ “คณะกรรมการ เสริมสร้าง ความมั่นคงแก่ สถาบันสูงสุด ของชาติ”) ได้ส่งข่าวประชาสัมพันธ์ถึงสื่อมวลชน ความว่า

“ที่ประชุมของคณะอนุกรรมการ เอกลักษณ์ไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้การดำเนินงาน เสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการตอบสนอง นโยบายรัฐบาล ในด้านการรักษาความมั่นคง โดยสร้างทัศนคติความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  ได้หารือเพื่อดำเนินการใน ๒ เรื่องหลัก คือ

๑.การจัดทำภาพวิดีทัศน์ประกอบเพลงชาติไทย ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง มีเนื้อหาที่ สามารถสื่อความหมาย ให้คนไทยมีความภาคภูมิใจในชาติ มีความรักความสามัคคี ยอมรับและอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข บนพื้นฐานของ ความหลากหลายของเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณีและร่วมกันแก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยสันติวิธี

๒.การจัดทำภาพยนตร์ และวิดีทัศน์ประกอบเพลงสรรเสริญพระบารมี ที่มีมาตรฐาน ทั้งภาพประกอบและเพลงที่ถูกต้อง ให้โรงภาพยนตร์ทุกโรงทั่วประเทศ และสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง ฉายให้ประชาชนชื่นชมพระบารมี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

นั่นหมายถึงว่า ต่อไปนี้ เราจะได้ยินเพลงชาติในเวอร์ชั่นที่ผลิตโดย คณะอนุกรรมการเอกลักษณ์ไทยเท่านั้น ภาพวิดีทัศน์ประกอบเพลงชาติ ที่โทรทัศน์ช่องต่าง ๆ ฉายในเวลา ๘.๐๐ และ ๑๘.๐๐ น.ก็จะมีให้ชมเพียงแบบเดียวเช่นกัน รวมไปถึงเพลงสรรเสริญพระบารมี และภาพประกอบเพลงสรรเสริญพระบารมี ที่ฉายตามโรงภาพยนตร์ทุกแห่งด้วย

แม้การเรียบเรียง, ขับร้องและทำภาพประกอบเพลงชาติขึ้นใหม่นี้ จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงคำร้อง- ทำนองใด ๆ คือ ยังคงใช้ทำนองของพระเจนดุริยางค์ และคำร้องของพันเอก หลวงสารานุประพันธ์ ตามที่จอมพลป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีประกาศไว้ในรัฐนิยมฉบับที่ ๖ (๑๐ ธันวาคม ๒๔๘๒) ตามเดิมทุกประการ แต่การกำหนดให้สื่อมวลชน และหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วประเทศเปิดเพลงชาติที่เป็นแบบเดียวกันหมด ไม่มีหลากหลายรูปแบบอย่างทุกวันนี้ นับว่า เป็นปรากฏการณ์ที่ แปลกใหม่พอสมควร ในสังคมไทย

เมื่อถึงเวลานั้น ความเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่คณะอนุกรรมการเอกลักษณ์ไทย จะทำกับเพลงชาติอาจส่งผลต่อความรู้สึก และความรับรู้ของผู้คน ที่มีต่อเพลงชาติ และภาพประกอบเพลงชาติ อย่างใหญ่หลวงก็เป็นได้

ธัชกร เหมะจันทร
ผู้อำนวยการ สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ

  • ภาพวิดีทัศน์ประกอบเพลงชาติ ที่เผยแพร่ทางโทรทัศน์ทุกวันนี้
    มีความหลากหลายมากเพราะ แต่ละสถานีเป็นผู้ผลิตเอง
    ทำให้เกิดความไม่เป็นเอกภาพ
  • ภาพประกอบเพลงชาติ ที่เอกชนทำขึ้น
    บางครั้งมีเนื้อหาไม่เหมาะสม และสื่อความหมายของเพลง ได้ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์
    ซึ่งอาจส่งผลต่อความรักชาติ และความมั่นคงของชาติ
  • เพลงชาติเป็นสัญลักษณ์ของชาติ จึงควรเรียบเรียงขึ้นใหม่
    ให้เป็นฉบับมาตรฐานของทางการ คนรุ่นนหลังจะได้เห็นความสำคัญ
    และซาบซึ้งในบทเพลง อันจะนำมาซึ่งพลังสามัคคี

“ปัจจุบันนี้ภาพวีดีทัศน์ประกอบเพลงชาติไทย ที่ออกอากาศทางโทรทัศน์ช่องต่าง ๆ ในเวลา ๘.๐๐ และ ๑๘.๐๐ น.นั้นมีความหลากหลายแตกต่างกันไป เพราะแต่ละสถานีเป็นผู้ดำเนินการผลิตเอง คณะอนุกรรมการเอกลักษณ์ไทย ซึ่งแต่งตั้งขึ้นโดยคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ จึงมีความคิดที่จะจัดทำภาพวิดีทัศน์ ประกอบเพลงชาติ ให้เป็นแบบเดียวกัน โดยเนื้อร้อง และทำนองยังคงเดิม แต่ทำการปรับปรุงการร้อง และดนตรีประกอบใหม่ เพื่อกระตุ้นให้เกิดความซาบซึ้งใจมากยิ่งขึ้น และขอความร่วมมือจากสถานีโทรทัศน์ทุกแห่ง ให้ออกอากาศวิดีทัศน์ชุดนี้เหมือนกันหมด

“เพลงชาติถือเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติ และเป็นแหล่งรวมใจของคนในชาติ ทำให้สำนึกในความเป็นพี่เป็นน้อง และรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทั้งยังเป็นเพลงปลุกใจให้รัก และภูมิใจในศักดิ์ศรีของชาติ เนื่องจากมีเนื้อร้อง ที่แสดงถึงความเป็นเอกราชของไทย ไว้อย่างชัดเจน ภาพต่าง ๆ ที่ใช้ประกอบเพลงชาติ จึงควรจะต้องมีความครบถ้วนสมบูรณ์ คือ มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสถาบันสำคัญ คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ ภาพที่ปรากฏยังต้องช่วยให้ผู้คนตระหนักว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่คนทุกหมู่เหล่า ทุกสาขาอาชีพ ทุกศาสนาอยู่ร่วมกันอย่างปรองดอง และมีสันติสุขบนพื้นฐานของความหลากหลายของเชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งนับว่าเป็นเอกลักษณ์ที่มีความสำคัญ ต่อความมั่นคงของประเทศชาติ เพราะเป็นที่มาของพลังความสามัคคี

“เนื้อหาของภาพวิดีทัศน์ ประกอบเพลงชาติ ที่เผยแพร่กันอยู่ตอนนี้ยังไม่สมบูรณ์ และเหมาะสมเท่าที่ควร เช่น มีแต่ภาพของผู้ที่นับถือศาสนาพุทธทั้ง ๆ ที่เราเป็นประเทศที่ไม่มีการกีดกันทางศาสนา ถ้ามีภาพของผู้ที่นับถือศาสนาอื่นด้วย ก็จะช่วยให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อกันมากขึ้น นอกจากนี้ ขนาดของธงชาติที่ปรากฏในวิดีทัศน์ ก็มีสัดส่วนของแถบสีที่ไม่ถูกต้อง บางครั้งธงชาติก็ใหญ่เกินไปหรือเล็กเกินไป ดูแล้วไม่สวยงาม

“ส่วนแนวดนตรี ก็จะยังคงเป็นดนตรีสากลเหมือนเดิม โดยคาดว่าจะใช้วงดนตรีของสี่เหล่าทัพ คือ วงเฉลิมราษฎร์ นอกจากนี้ เรายังมีแนวความคิด จะทำเพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี ที่บรรเลงโดยเครื่องดนตรีไทย เพื่อใช้ในโอกาสพิเศษต่าง ๆ ของหน่วยงานราชการ หรือผู้ใหญ่ในบ้านเมืองขึ้นอีกแบบหนึ่งด้วย

“ถึงแม้ว่าวิดีทัศน์ประกอบเพลงชาติ ที่ใช้อยู่ตอนนี้จะไม่ได้สร้างความเสียหายอะไร แต่ถ้าปล่อยให้ต่างคนต่างทำอย่างนี้ต่อไป พลังความสามัคคีอาจไม่เกิดขึ้น เด็กรุ่นหลังซึ่งอยู่ในสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป พ่อแม่ไม่มีเวลาปลูกฝังความรักชาติ อาจจะไม่รู้สึกซาบซึ้งกับเพลงชาติอีกแล้ว เห็นได้จากการที่คนสมัยนี้ ให้ความสำคัญกับการเคารพธงชาติน้อยลง ได้ยินเพลงชาติก็ไม่หยุดทำความเคารพ เราจึงเห็นความจำเป็นที่ต้องกระตุ้น ให้คนทำความเคารพธงชาติ และเพลงชาติ เพราะเป็นสิ่งที่รวมจิตใจของคนไทยไว้ด้วยกัน

“เอกลักษณ์ไทยที่ต้องดำเนินการเสริมสร้าง และปรับปรุงนั้นมีหลายอย่างเนื่อง จากกระแสโลกาภิวัฒน์ ทำให้มีการรับวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามามาก เห็นได้จากการแสดงออกของเด็กรุ่นใหม่ เช่น ไหว้ไม่สวย พูดเพี้ยนเป็นสำเนียงฝรั่ง เป็นต้น แต่คณะอนุกรรมการ ที่เข้าร่วมประชุมเมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๓ เห็นพ้องต้องกันหมดว่า การปรับปรุงเพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี เป็นงานหนึ่งที่ควรจะทำเป็นอันดับแรก ๆ เพราะเพลงชาติ มีเนื้อหาที่กล่าวถึงเอกลักษณ์ของชาติ ซึ่งได้แก่สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และสถาบันการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขไว้อย่างครบถ้วน ถ้าผู้คนรับรู้ถึงความหมายของเพลงชาติอย่างลึกซึ้ง ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจถึงความเป็นไทย และเอกลักษณ์ของชาติ ซึ่งเป็นพื้นฐานความมั่นคงของชาติ ทำให้ชาติคงอยู่ได้ ส่วนเพลงสรรเสริญพระบารมีนั้น ก็จะทำวิดีทัศน์ภาพประกอบ ที่มีเนื้อหาครอบคลุมครบถ้วน ในเรื่องของพระมหากรุณาธิคุณ พระราชกรณียกิจด้านต่าง ๆ แล้วจึงนำไปใช้เผยแพร่ในโรงภาพยนตร์ทุกแห่ง รวมทั้งบันทึกลงในแผ่นซีดี เพื่อเผยแพร่ไปตามโรงเรียนทั่วประเทศด้วย

“การใช้ภาพประกอบเพลงชาติที่เหมือนกันหมด ทุกสถานีโทรทัศน์ นอกจากจะทำให้เกิดความเป็นเอกภาพแล้ว ถ้าเราทำได้ดี สื่อความหมายได้ครบถ้วนสมบูรณ์  ก็จะทำให้คนในชาติเกิดความรู้สึกฮึกเหิม และภูมิใจในความเป็นไทย ซึ่งปัจจุบันนี้เพลงชาติ ก็สร้างความรู้สึกเหล่านี้ขึ้นอยู่แล้ว เพียงแต่เราต้องการทำให้เข้มข้นขึ้น โดยคณะอนุกรรมการเอกลักษณ์ไทย จะขอความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญหลาย ๆ ด้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ และกรมศิลปากร ในการผลิตวิดีทัศน์ และเพลงชาติแบบใหม่นี้ ขณะนี้อยู่ในขั้นพิจารณาว่า จะให้ใครดำเนินการ ซึ่งคงแยกเป็นฝ่ายทำดนตรี และฝ่ายที่ทำภาพ แล้วเอามาผสมผสาน ให้สอดคล้องกลมกลืนกัน โดยเน้นให้มีภาพของคนทุกกลุ่มทุกศาสนา และมีภาพที่แสดงถึงเรื่องราว ของความเป็นไทยให้มากขึ้น เช่น ภาษา ศิลปวัฒนธรรมและวรรณคดี ซึ่งถ้าเราทำออกมาได้ดี คนก็จะหันมาให้ความสำคัญ และรู้สึกดีกับเพลงชาติ ไม่เกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย

“วิดีทัศน์ภาพประกอบเพลงชาติ ที่คณะอนุกรรมการเอกลักษณ์ไทย จะทำขึ้นใหม่นี้ คาดว่าจะเสร็จในปีหน้า แล้วจึงขอความร่วมมือจากสถานีโทรทัศน์แต่ละแห่ง ให้ออกอากาศอย่างพร้อมเพรียงกัน ส่วนสถานีโทรทัศน์ของรัฐ คงไม่มีปัญหา เพราะเป็นคำสั่งจากรัฐบาล ซึ่งหน่วยงานราชการ ต้องปฏิบัติตามอยู่แล้ว

“ภาพประกอบเพลงชาติในรูปแบบใหม่นี้ ไม่น่าจะสร้างความไม่พอใจ หรือขัดแย้งกับใคร เพราะทุกวันนี้ก็ไม่มีใครร้องเรียน หรือไม่เห็นด้วยกับวิดีทัศน์ ที่เผยแพร่อยู่ตามสถานีโทรทัศน์ต่างๆ แต่ถ้ามีเราก็สามารถชี้แจงได้ว่าภาพต่าง ๆ นั้นหมายถึงอะไร เราต้องการจะสื่ออะไร เพราะหน้าที่ของสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์แห่งชาติ คือ ให้ความรู้ว่าเอกลักษณ์ของชาติคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร สังคมไทย มีลักษณะอะไรที่ดีเด่น เพราะถ้าคนไม่รู้ก็ภาคภูมิใจไม่ได้

“นอกจากนี้ เพื่อเป็นการปลุกใจให้คนไทยเกิดความรักชาติ คณะกรรมการเอกลักษณ์ไทย ยังมีความคิดที่จะจัดประกวดเพลงปลุกใจ ให้รักชาติ หรืออาจจ้างนักแต่งเพลงมืออาชีพ ให้แต่งเพลงปลุกใจขึ้นใหม่ ซึ่งมีเนื้อหาที่ช่วยให้เด็ก ๆ รู้ว่าควรจะรักชาติเพราะอะไร ชาติเรามีอะไรดี มีอะไรที่น่าอวดชาติอื่น แล้วให้นักร้องดัง ๆ ที่วัยรุ่นชื่นชอบ มาขับร้องเพื่อดึงความสนใจของเด็ก ๆ โดยจะจัดทำขึ้น หลังจากทำเพลงชาติ และเพลงสรรเสริญในรูปแบบใหม่เสร็จสิ้นแล้ว”

 

 

มาลินี คุ้มสุภา
อาจารย์พิเศษประจำคณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

  • การมีภาพประกอบเพลงชาติ ที่เป็นของทางการอยู่แบบเดียว ยิ่งสร้างความไม่ปรองดอง ให้เกิดขึ้น เพราะภาพต่าง ๆ ที่ถูกเลือกมาไม่สามารถ เป็นตัวแทนของคน ทุกกลุ่มได้จริง
  • การปล่อยให้หลาย ๆ ฝ่ายทำภาพประกอบ เพลงชาติ และ เพลงสรรเสริญพระบารมีขึ้นเอง เป็นการแสดง ถึงความต้องการมีส่วนร่วม และให้ความสำคัญกับบทเพลงของรัฐ ทางการจึงไม่ควรสกัดกั้น
  • เพลงชาติ ไม่ได้มีบทบาท ต่อความมั่นคงของชาติ และความรักชาติเหมือนในอดีต จึงไม่มีประโยชน์ ที่จะเน้นความสำคัญของเพลงชาติในยุคปัจจุบัน

 

“ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพลงชาติในขณะนี้ เพราะสังคมไทยไม่จำเป็นต้องปลุกสำนึกในความเป็นชาติ เหมือนในอดีตอีกแล้ว เนื่องจากเราไม่ได้อยู่ในช่วงที่ต้องต่อสู้ หรือเป็นศัตรูกับชาติอื่น จึงถือเป็นเรื่องไร้สาระ ที่จะมาเน้นความสำคัญของเพลงชาติในปัจจุบัน

“การที่คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ มีแนวคิดจะให้ใช้ภาพประกอบเพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นแบบเดียวกันหมดนี้ เป็นเพียงการแสดงอำนาจว่า รัฐสามารถกำหนดให้ทุกอย่าง เป็นไปอย่างที่ต้องการได้ ซึ่งเป็นธรรมชาติของรัฐ คือ เมื่อเขารู้สึกว่า ปล่อยให้ทำกันอย่างอิสระมากเกินไปแล้ว ก็จะต้องออกมาบอกให้รู้ว่า จะทำอะไรกันตามใจชอบไม่ได้ เพราะมีหน่วยงานที่ควบคุมคุณอยู่

“คณะกรรมการเอกลักษณ์ฯ บอกว่าตนยอมรับ ความแตกต่างหลากหลาย โดยยกตัวอย่างว่า วิดีทัศน์ที่ทำขึ้นใหม่จะมีภาพของศาสนาอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ศาสนาพุทธเท่านั้น แต่กลับไม่ยอมให้มีวิดีทัศน์ภาพประกอบเพลงชาติ ที่แตกต่างกันหลาย ๆ รูปแบบอย่างทุกวันนี้ นับว่าเป็นการกระทำที่ขัดแย้งกันเอง ส่วนการอ้างว่าทำภาพประกอบเพลงชาติขึ้นใหม่ เพื่อให้คนไทยสามัคคี และปรองดองกันมากขึ้น ก็ฟังดูไม่สมเหตุสมผล เพราะจริงแล้ว ๆ ปัญหาเรื่องการแบ่งกลุ่ม กีดกันทางศาสนาในสังคมไทย ไม่ได้รุนแรงถึงขั้นที่จะต้องเข้าไปจัดการแก้ไข เห็นได้ว่าที่ผ่านมา ถึงไม่มีรูปภาพของคนอิสลามปรากฏในเพลงชาติ ก็ไม่ได้สร้างความไม่พอใจให้เขาแต่อย่างใด เพราะคนกลุ่มต่าง ๆ ไม่ได้รู้สึกถึงความแปลกแยกแตกต่างกันเท่าไหร่ การบังคับให้ใช้ภาพประกอบเพลงชาติที่รัฐผลิตขึ้น อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความไม่ปรองดองกันขึ้นเองด้วยซ้ำ เพราะคนจะเพ่งเล็งภาพประกอบเพลงชาติ ซึ่งเผยแพร่อยู่เพียงเวอร์ชั่นเดียวนี้มากขึ้น โดยที่วิดีทัศน์ที่ผลิตโดยคณะกรรมการเอกลักษณ์ฯ นี้ก็ไม่สามารถเป็นตัวแทนของคนทุกกลุ่มได้ และรัฐก็ไม่มีทางที่จะควบคุม ให้คนที่เห็นวิดีทัศน์ชุดนี้ เกิดความรู้สึกปรองดองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เหมือนที่เขาต้องการได้

“สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่มีการกล่าวถึงในเพลงชาติ และเพลงสรรเสริญฯ นั้นไม่ได้เป็นเอกลักษณ์ของชาติ อย่างที่ คณะกรรมการเอกลักษณ์ฯ เข้าใจ เพราะเอกลักษณ์ หมายถึงสิ่งที่ประเทศอื่นไม่มีเหมือนกับที่เรามี แต่ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์เป็นสิ่งที่ประเทศอื่น ก็มีเช่นกัน เอกลักษณ์ของชาติเป็นเรื่องของวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่เสริมสร้างกันไม่ได้ หรือถ้าคณะกรรมการเอกลักษณ์ฯ คิดจะทำอะไร ก็ไม่ควรมาบังคับให้คนทั้งประเทศ ต้องทำตามอย่างนี้

“อย่างไรก็ตาม เพลงชาติยังคงมีความสำคัญในยุคนี้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะในการแข่งกีฬาหรือในการเมืองระดับประเทศ เช่น เมื่อคนไทยได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ในองค์กรระหว่างประเทศ แต่เพลงชาติไม่ได้มีบทบาทสำคัญ ในแง่ความมั่นคงของชาติ เพราะความมั่นคงของชาตินั้น มีมิติที่หลากหลาย ไม่ได้ตั้งอยู่บนอุดมการณ์เพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ และภาคประชาสังคมมากกว่า ดังนั้น การเชื่อมโยงเพลงชาติเข้ากับเรื่องของความมั่นคง และการรวมชาตินั้นล้าสมัยเกินไปแล้ว เพลงชาติเป็นเพียงสัญลักษณ์อย่างคร่าว ๆ ที่ทำให้คนรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน แต่ความรู้สึกนี้ ไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ชาติมั่นคง หรือทำให้ทุกคนรักชาติ ต่อให้เพลงชาติมีเนื้อหาดี สมบูรณ์แค่ไหนก็ตาม ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี หรือภาคประชาสังคมไม่เข้มแข็ง ก็เป็นไปไม่ได้ที่ชาติจะมีความมั่นคง

“นอกจากนี้ กรอบความคิดเกี่ยวกับชาติ ยังได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วอีกด้วย คนไม่ได้คิดถึงชาติ  ในลักษณะที่มีเพียงแค่ดินแดน ประชากร และอำนาจอธิปไตยอีกต่อไป เพราะความเป็นภูมิภาค เริ่มมีความสำคัญมากกว่าดินแดนของประเทศใดประเทศหนึ่ง อำนาจอธิบไตยก็ไม่ได้ดำรงอยู่อย่างโดด ๆ แต่มีความซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะในเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ถ้าคิดจะทำเพลงชาติขึ้นใหม่ ก็ต้องคิดถึงคอนเซ็ปต์ของความเป็นชาติแบบใหม่ด้วย ถ้ายังคงเน้นเรื่องความรู้สึกรวมหมู่ เอกราช ความมั่นคงทางการทหาร และเทิดทูนวีรบุรุษของไทยในอดีต ตามรูปแบบเดิม ๆ ก็คงไม่ได้ส่งผลเปลี่ยนแปลงใด ๆ อาจจะเป็นการเสียเวลาเปล่าด้วยซ้ำ แม้แต่การกำหนดให้ยืนเคารพธงชาติตอน ๘.๐๐ และ ๑๘.๐๐ น. ก็ไม่ได้ช่วยให้คนรู้สึกสำนึกถึงความเป็นชาติ อย่างที่ทางการคิด ถึงยกเลิกไปก็ไม่เสียหาย เพราะความรักชาติแบบเดิมนั้น ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบัน การบังคับให้ฟังเพลงชาติทุกเช้าเย็น อาจยิ่งสร้างความเบื่อหน่าย ให้คนในชาติก็ได้

“ในอีกด้านหนึ่ง การที่มีเพลงสรรเสริญพระบารมี และเพลงชาติหลาย ๆ แบบอย่างทุกวันนี้ เป็นการแสดงให้เห็นว่าประชาชน มีความรู้สึกร่วม และเห็นความสำคัญของบทเพลงแต่ละฝ่าย จึงตั้งใจทำขึ้นมา แต่คณะกรรมการเอกลักษณ์ฯ กลับแปลงเจตนารมณ์ผิดไป มองว่าความหลากหลาย คือความไม่เป็นเอกภาพ จึงต้องการสกัดกั้น และผลิตเวอร์ชั่นที่เป็นทางการขึ้นมา ทั้ง ๆ ที่การเปิดให้มีการสร้างสรรค์ อย่างหลากหลายต่างหาก ที่แสดงให้เห็นว่าประชาชนต้องการมีส่วนร่วม และมีความรู้สึกกับมันจริง ๆ รวมทั้งอาจทำให้คนอยากฟังเพลงชาติ หรือเพลงสรรเสริญฯ มากขึ้น เพราะมีหลายแบบให้ติดตามดู เช่น ก่อนหน้านี้ภาพประกอบเพลงสรรเสริญฯ ที่ฉายตามโรงภาพยนตร์ จะเป็นแบบเดียวกันหมดซึ่งแห้งแล้ง ไม่ค่อยน่าสนใจ แต่เมื่อโรงภาพยนตร์แต่ละเครือผลิตขึ้นเอง กลับยิ่งทำให้รู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ของในหลวง ซึ่งเห็นได้ว่า เขาทำด้วยความตั้งใจจริง ถ้าภาพประกอบบทเพลง เป็นเหมือนกันหมด คนจะยิ่งรู้สึกเบื่อหน่าย เพราะเห็นว่ามันเหมือนเดิม ไม่แตกต่าง เพราะฉะนั้นดูครั้งเดียวก็พอ

“แต่สิ่งที่น่าวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดในตอนนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องการกำหนดให้ใช้ภาพประกอบเพลงชาติ หรือเพลงสรรเสริญฯ ที่ทางการจะทำขึ้นเท่านั้น แต่เป็นคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติต่างหาก เพราะเราไม่ควรจะมีหน่วยงานที่ประกาศว่าตน เป็นตัวแทนของประเทศ เป็นผู้ที่คอยบอกว่าเอกลักษณ์ของประเทศนี้คืออะไร เหมือนกับว่าถ้ามีคน ๆ หนึ่งอ้างว่า เป็นตัวแทนของวัยรุ่นสมัยนี้ทั้งหมดแล้ว จะมาบอกว่าวัยรุ่นสมัยนี้คิดอย่างไร ก็คงไม่มีใครเชื่อ เอกลักษณ์ของชาติ เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถนิยามได้อย่างอิสระ คณะกรรมการเอกลักษณ์ฯ น่าจะเป็นองค์กรที่ส่งเสริมให้วัฒนธรรม หรือเอกลักษณ์แบบต่าง ๆ ได้แสดงตนออกมา และเรียนรู้ซึ่งกันและกัน มากกว่าจะกำหนดให้แบบใดแบบหนึ่งเป็นมาตรฐาน

“ถ้าคณะกรรมการเอกลักษณ์ฯ ยืนยันที่จะกำหนดให้ใช้วิดีทัศน์ ภาพประกอบเพลงชาติที่รัฐผลิตขึ้นมาเหมือนกันหมดจริง ก็น่าจะเปิดเวทีให้คนร่วมเสนอความเห็นเสียก่อน แทนที่จะมุบมิบทำกันอยู่ โดยที่มีทหารเป็นประธานคณะกรรมการจัดทำ หรือผ่านความเห็นชอบ ของคนเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น”