วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา
บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาส่วนสำคัญของภาพยนตร์
เขากับเธออยู่กินกันมา ๑๔ ปี ลูกสาวของทั้งคู่อายุย่าง ๑๑ ขวบตอนที่ทั้งคู่เดินทางไปหย่ากัน ซิมิน (Simin) และครอบครัวของเธอกำลังจะย้ายไปอยู่ต่างประเทศ เธออยากให้สามีไปด้วย แต่เขาจะออกจากอิหร่านโดยทิ้งพ่อที่ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ไว้ไม่ได้ เธออยากเอาลูกไปด้วย เขาอยากได้ลูกไว้ ทั้งคู่หย่ากัน เขาเห็นชอบให้ลูกเลือกว่าจะอยู่กับใคร ลูกสาวดูเหมือนอยากอยู่กับพ่อและไม่พอใจที่แม่ทิ้งพ่อกับปู่ไป
เมื่อไม่มีใครดูแลพ่อ นาเดอร์ (Nader) ตัดสินใจจ้างแม่บ้านคนหนึ่งคือราเซียห์ (Razieh) เธอยากจน ต้องเดินทางไกลมาทำงานพร้อมลูกเล็กติดมาด้วย ดูเหมือนเธอกำลังท้องอ่อน ๆ ซ่อนตัวในชุดคลุมมิดชิดตามหลักศาสนา
แรกทีเดียวเธอลังเลถึงขนาดต้องโทร.ไปถามโต๊ะอิหม่ามว่าเธอจะเช็ดตัวให้ชายชราไม่รู้ความที่ฉี่ใส่เสื้อผ้าตัวเองได้หรือไม่ เธอคิดจะไม่ทำงานนี้ แต่สามีมีหนี้สิน ลูกสาวก็ยังเล็กไหนจะเด็กในท้องอีก เธอจึงยอมทำ
วันหนึ่ง นาเดอร์กลับบ้านมาพบว่าพ่อนอนหมดสติอยู่กับพื้นและถูกมัดไว้กับหัวเตียง หญิงแม่บ้านออกไปข้างนอกโดยขังพ่อเขาไว้ เขาโมโหไล่เธอออกจากบ้าน ดันเธอออกไปหน้าประตู ก่อนจะพบว่าในวันต่อมาเธอตกเลือดเข้าโรงพยาบาล แท้งลูก และฟ้องเขาในข้อหาฆาตกรรม สามีของเธอ ภรรยาของเขา ลูกสาวของเขา
ลูกสาวของเธอ จึงต้องเผชิญหน้ากับกระบวนการศาลที่ราวกับรถไม่มีเบรก ฉุดทุกคนให้ถลำลึกลงไปในบาปที่ไม่อาจแก้ไข
ภายใต้เนื้อเรื่องที่เข้มข้น Nader and Simin: A Separation ภาพยนตร์รางวัลหมีทองคำประจำปี ค.ศ.๒๐๑๑ (รางวัลสูงสุดของเทศกาลหนังเบอร์ลิน) โดย อัสการ์ ฟาร์ฮาดี (Asghar Farhadi) ผู้กำกับชาวอิหร่าน ซึ่งหนังเรื่องที่แล้วของเขาอย่าง About Elly ก็คว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเบอร์ลินเหมือนกัน ต่างไปจากรสชาติที่คุ้นลิ้น หนังอิหร่านในภาพจำมักเป็นเรื่องของคนเล็กคนน้อย เด็ก ๆ ยากจนบนแผ่นดินห่างไกล ดินแดนรกร้างปลายขอบโลก และความยากลำบากที่ถูกบีบรัดด้วยความเคร่งครัดของศาสนาหรือความเป็นหญิง
อันที่จริงแล้วประเด็นอันหนักแน่นนั้นยังอยู่ครบถ้วน (สมราคาหนังอิหร่าน) แต่หนังกลับเลือกเปลี่ยนมุมมองในทำนองภาพแทนเชิงสัญลักษณ์ (ประเภทบอลลูน ปลาทอง รองเท้า) มาเป็นเหตุการณ์จำลองชีวิตชนชั้นกลางในเมือง คนที่ไม่ยากจนอะไรมากนัก และสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออกทางจริยธรรมที่พวกเขาต้องเผชิญหน้า และค่อย ๆ ถูกฉุดดึงลงไปในหลุมลึกไร้ก้นของการติดกับตนเอง
เราอาจจะอภิปรายถึงหนังเรื่องนี้ได้ทั้งในแง่ของการพูดถึงการต่อสู้ระหว่างชนชั้นของตัวเอก ชนชั้นกลางกับคนจนชนชั้นแรงงาน หรือเราอาจจะมองหนังผ่านมุมการกดทับของศาสนาซึ่งแทนที่จะเป็นทางออกกลับทำให้เรื่องเลวร้ายลง หรืออาจจะมองจากมุมของความเป็นหญิงและความเป็นชายที่งัดคานกดขี่กันอยู่อย่างแนบเนียน ทั้งคนที่เคร่งครัดต่อความเป็นหญิงตามจารีต และคนที่กำลังผละไปจากความเป็นหญิงแบบดั้งเดิม ขณะเดียวกันเราอาจมองมันในฐานะภาพจำลองความเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์ก็เป็นได้ และไม่ว่ามองจากมุมไหนมันก็เกี่ยวร้อยเชื่อมโยงกันด้วยลักษณะทางสังคมเฉพาะตัวที่น่าสนใจยิ่ง
ภาพยนตร์เรื่องนี้อาจแบ่งตัวละครได้เป็น ๓ รุ่น คนรุ่นพ่อของนาเดอร์เป็นภาพแทนของคนจากโลกเก่าที่บัดนี้ความจำเสื่อมไม่อาจดูแลตัวเองได้อีกต่อไป พ่อคือโลกเก่าที่รอวันล่มสลาย ทั้งในฐานะของโลกสมัยราชวงศ์ Pahlavi ยุคกษัตริย์รุ่นสุดท้ายของอิหร่านก่อนการเปลี่ยนเข้าสู่ยุคสมัยของการเป็นสังคมอิสลามแบบเคร่งครัด (ด้วยการประท้วงขับไล่พระเจ้าชาห์ในปี ๑๙๗๘) ดังเช่นปัจจุบัน ซึ่งหมายถึงตัวละครกลุ่มหลักของเรื่อง ทั้งคู่ผัวเมียชนชั้นกลางอย่างนาเดอร์กับซิมิน หรือคู่ชนชั้นแรงงาน ราเซียห์กับสามี ที่ตกอยู่ในกรอบของศาสนาอย่างเคร่งครัด ในขณะที่ตัวละครรุ่นลูกของทั้งคู่ที่ติดอยู่ระหว่างหัวเลี้ยวหัวต่อของโลกสมัยใหม่ซึ่งถาโถมเข้าสาดใส่โลกเก่าที่ปิดและเคร่งครัด อาการสับสนเลือกไม่ได้ระหว่างพ่อกับแม่ไปจนถึงความถูกต้อง (ทั้งต่อตนเองและต่อศาสนา) กับการเอาตัวรอด
อาจกล่าวได้ว่าภาพแทนของตัวละครคือภาพแทนของสังคมอิหร่านในปัจจุบัน โลกเก่าที่มีแต่ล่มสลายเสื่อมทรุด กลายเป็นแอกอัดทับลงบนคนรุ่นปัจจุบัน คนดี ๆ ที่ติดดิ้นรนอยู่ในโลกปิด ขณะที่โลกาภิวัตน์ถาโถมเข้ามา เด็ก ๆ ยังไม่แน่ใจว่าอะไรกันแน่คือโลกที่เหมาะกับเขา มากไปกว่านั้นการทำให้โลกเก่าเป็นเรื่องของผู้ชาย (พ่อของนาเดอร์) ในขณะที่โลกใหม่เป็นของผู้หญิง (ลูกของทั้งสองครอบครัวเป็นลูกสาว) คนที่อยากไปเมืองนอกก็คือซิมิน แม่ที่เป็นอาจารย์สอนหนังสือและไม่มีเวลาทำหน้าที่เมียแบบเก่าอีกแล้ว ในขณะที่ราเซียห์แสดงภาพผู้หญิงในโลกมุสลิม ทั้งความยึดมั่นในศาสนาไปจนถึงการกระเตงลูกสาวไปทำงาน หรือที่หนักกว่านั้นคือสถานภาพความเป็นแม่ที่อุ้มท้องอยู่ การถูกทำลายความเป็นแม่เป็นการทำลายความเป็นหญิงของเธอ เท่ากับทำลายความเป็นครอบครัวอิสลามเคร่งครัด (ไม่คุมกำเนิด) ลงไปด้วย
กว่าครึ่งของเรื่องดำเนินไปในช่วงการต่อสู้ระหว่างกันและกันของนาเดอร์ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นฆาตกร (ในทางกฎหมาย) และกระทำผิดทางศาสนา ทั้งเรื่องที่กล่าวหาว่าราเซียห์เป็นโจรขโมยเงิน หรือการแตะต้องตัวเธอ ในขณะที่ราเซียห์กลายเป็นจำเลยที่ไปมัดพ่อของนาเดอร์เอาไว้ (ในทางกฎหมาย) และในทางศาสนา เธอต้องทนทุกข์กับการปิดบังความจริง กฎหมายไม่เคยปรานีผู้ใด แม้ดูเหมือนว่ากฎหมายนั้นล้อไปตามหลักทางศาสนา แต่หนังค่อย ๆ คลี่ขยายให้เราเห็นว่าหลักการทั้งสองที่ดูเหมือนจะคลอคู่กันนั้นอันที่จริงแล้วอาจจะไปกันไม่ได้ขนาดนั้น เมื่อทั้งนาเดอร์และราเซียห์ต่างต้องโกหกเพื่อเอาตัวรอดและเพื่อชนะคดี เอาเข้าจริงแล้วกฎหมายอาจจะเหมือนศาสนาในแง่ของความเป็นกฎที่ไม่ยืดหยุ่นต่อภาระจำเป็นของผู้ใด (หนังย้ำเรื่องนี้ในฉากการจับนาเดอร์ไปคุมขังในฐานะฆาตกร และการที่ราเซียห์ต้องปรึกษาผู้นำศาสนาก่อนแตะต้องตัวพ่อของนาเดอร์) ดูเหมือนถึงที่สุดศาสนานั้นเป็นสิ่งที่เข้าไม่ได้กับกฎหมาย ถึงที่สุดการต่อสู้เพื่อเอาตัวรอดในโลกจริงทำให้ตัวเอกต้องทนรับทุกข์เป็นสองเท่า ทั้งจากการต่อสู้ที่ไม่มีผู้ชนะ และทุกข์จากการเป็นคนนอกศาสนา
แล้วโลกใหม่ช่วยได้จริงหรือ โลกเสรีนำมาซึ่งทางออกนี้จริงหรือ
หนังขยายความประเด็นนี้อย่างน่าสนใจ เมื่อในที่สุดซิมินลงมาประนีประนอมความขัดแย้งนี้ด้วยการเสนอเงินชดเชย (เธอมั่นใจว่าสามีของเธอก็ไม่ได้เป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหา เขารู้ตลอดว่าราเซียห์ท้อง) จากจุดนี้เราอาจบอกได้ว่าคู่ขัดแย้งของซิมินคือสามีของราเซียห์ ในฐานะชนชั้นกลางที่ใช้เงินหว่านกับคนจนไร้ทางออกที่ลุกลามไปสู่การใช้กำลังข่มขู่ทั้งกับนาเดอร์และลูกสาว แต่ก็เช่นเดียวกับคู่ขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ไม่มีสิ่งใดเป็นดำขาว การคลี่คลายหนึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งอื่น ๆ เงินไม่อาจแก้ปัญหาทุกอย่างได้ เพราะราเซียห์ไม่ต้องการรับเงิน เธอโกหก (แต่การโกหกของเธอก็ไม่ได้เป็นไปเพื่อเงิน) และเธอเชื่ออย่างสุดหัวใจว่าเงินที่ได้มาอย่างสกปรกจะทำให้สวรรค์ลงทัณฑ์เธอและครอบครัว ในขณะที่สามีของเธอก็ไม่ใช่คนหิวเงิน เขาเป็นคนจนที่มีศักดิ์ศรี มีศาสนา เมื่อเขารู้ความจริงทุกอย่างก็ค้างคาอยู่ตรงนั้น
การณ์กลายเป็นว่าในโลกอันเต็มไปด้วยหลักการมากหลายที่ซ้อนทับไปมานี้ การต่อสู้เพื่อความจริงเป็นเพียงเรื่องตลกที่ขำไม่ออก ศาสนา หรือเงิน หรือความซื่อตรง ไม่ได้ให้คำตอบอะไรเลย เมื่อเราทำตามหลักการหนึ่ง เราก็ขัดแย้งกับหลักการหนึ่งเสมอ ไม่มีหลักการใดเป็นหลักการเดียวที่ยึดถือได้อีกต่อไป ไม่ใช่เพราะหลักการนั้นไม่ดี ไม่ใช่เพียงเพราะหลักการนั้นกดทับ แต่มันเป็นเพราะโลกของเรานั้นเชื่อมต่ออยู่กับโลกอื่น ๆ ค่านิยมแบบอื่น ๆ ผู้คนอื่น ๆ เราไม่อาจปฏิเสธ ปิดกั้นโลกใบอื่นจากประตูบ้านของเราได้ ตราบใดที่เราต้องเข้าออกทางประตูนั้น
สิ่งสุดท้ายที่กล้องจับในฉากนี้คือดวงตาของลูกสาวนาเดอร์ที่จ้องมองไปยังลูกสาวราเซียห์ สายตายากบรรยายผสมไปด้วยความรวดร้าว ความผูกพัน และความเคียดแค้นที่เด็กทั้งคู่มีต่อกัน แสดงสภาพการล่มสลายไม่ว่าต่อค่านิยมใด ๆ ที่ยึดถือมา
ตลอดเวลาลูกสาวเข้าข้างพ่อที่ยึดมั่นในศาสนา ในครอบครัวแบบเก่า พ่อคนดีที่ทำงานธนาคารและสอนให้เธอเข้มแข็งในการเรียกร้องสิ่งที่เธอควรได้ เธอคิดมาตลอดว่าครรลองของพ่อนั้นเหมาะเจาะกว่าแม่ที่รักเสรีจนยินดีทิ้งครอบครัว แต่เมื่อเธอค้นพบว่าพ่อของเธออาจจะโกหก (ซึ่งเท่ากับทำลายคุณค่าที่เธอยึดถือลงไปอีกด้วย) นอกเหนือไปจากนี้ สิ่งที่ทั้งพ่อและแม่ทำลงไป ทั้งการพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ชนะคดี หรือพยายามจบคดีด้วยการประนีประนอม ล้วนแล้วแต่ทำลายความดีงามพื้นฐานที่ทั้งพ่อและแม่สอนให้เธอยึดถือ การที่เธอเรียนรู้ความเจ็บปวดว่าไม่ว่าเธอจะเลือกอะไรก็จะไม่มีโลกดีงามอะไรรออยู่ คือความเจ็บปวดขั้นสุดของการพรากจากในครั้งนี้
ถึงที่สุด คำว่า การพรากจากกัน (The Separation) จึงไม่ได้มีความหมายเพียงการพลัดพรากของผัวเมีย แต่ยังหมายถึงการพรากจาก การแยกออกของค่านิยมหนึ่ง โลกใบหนึ่ง รูปแบบชีวิตหนึ่ง จากรูปแบบชีวิตอีกแบบหนึ่ง ซึ่งมันไม่ได้ง่ายดายเพียงถ่ายเอกสารบัตรประชาชน (อันเป็นฉากเครดิตเปิดเรื่อง) แล้วเซ็นใบหย่า
หนังเลือกจบลงด้วยฉากที่ลูกสาวของนาเดอร์กับซิมินต้องแจ้งความจำนงต่อเจ้าหน้าที่ว่าจะไปอยู่กับพ่อหรือแม่ หนังจบลงอย่างค้างคาที่ตรงนี้ ค้างคาพอ ๆ กับฉากสำคัญเมื่อการประนีประนอมคดีลงเอยอย่างค้างคาและโหดร้าย ในฉากนี้เราไม่ได้เห็นอะไร เพราะทั้งพ่อและแม่ถูกกันออกจากห้องพิจารณาคดี พวกเขาออกไปรอที่โถงทางเดินซึ่งมีผนังกระจกกั้นอยู่ส่วนหนึ่งเพื่อกันให้โถงนั้นแบ่งออกเป็นสองส่วน นาเดอร์อยู่หน้ากล้อง นั่งด้านหน้าของผนัง ซิมินยืนอยู่ที่อีกข้างหนึ่งโดยมีกระจกกั้นระหว่างเธอกับกล้อง ในฉากนี้โถงทางเดินเปิดสู่ภายนอกนั้นเต็มไปด้วยผู้คนขวักไขว่และประตูที่ปิด เราจ้องมองภาพนั้นตลอดเครดิตขึ้น ประตูไม่เคยเปิดออก ได้ยินเพียงเสียงทะเลาะทุ่มเถียงสอดแทรกมาจากระยะไกล ราวกับว่าไม่ว่าจะดิ้นรนไปทางใด ถึงที่สุดก็มีแต่โลกที่กลับไม่ได้และไปไม่ถึง เราติดอยู่ตรงกลางของหลักการต่าง ๆ ซึ่งค่อย ๆ ทำลายตัวเราลงไปเรื่อย ๆ เท่านั้น
ย้อนกลับไปยังคดีของนาเดอร์กับราเซียห์ ดูเหมือนว่าถึงที่สุดศาสนาอาจจะเป็นสิ่งที่เข้ากันไม่ได้กับกฎหมาย เนื่องเพราะผลที่สุดการย้อนแย้งกันเองได้ทำลายทั้งคนที่เคร่งและไม่เคร่งศาสนา คนที่เคร่งและไม่เคร่งในกฎหมายลง จนเขาและเธอไม่อาจจะยึดถืออะไรได้อีก ในบ้านเรายังมีเรื่องทำนองนี้อยู่เช่นกัน เพียงแต่เปลี่ยนจากความศรัทธาในศาสนาเป็นศรัทธาในสิ่งอื่นเท่านั้นเอง