สุเจน กรรพฤทธิ์ : รายงาน
ประเวช ตันตราภิรมย์ : ถ่ายภาพ
เพิงพักชั่วคราวบนหาดแหลมปะการังเป็นที่เก็บข้าวของ และบางครั้งยังเป็นป้อมยาม สำหรับเฝ้าเครื่องมือประกอบอาชีพของชาวบ้าน แทน “บ้าน” ที่ถูกสึนามิกวาดลงทะเล
“ตำรวจถามชื่อ ขอดูบัตรประชาชน บอกจะดำเนินคดีข้อหาบุกรุกถ้าไม่รื้อถอนเพิงพัก แต่คนแหลมปะการังอยู่ที่นี่มานานตั้งแต่ยังไม่มีถนนเข้ามาสักสาย เราอยู่กันแบบหมู่บ้านชาวประมง ไม่เคยกวนนายทุนเจ้าของรีสอร์ต น้ำสักขวดก็ไม่เคยขายตัดราคา ไม่ให้เราทำประมงแล้วให้เราทำอะไร ทำสวนยางก็ไม่ใช่อาชีพเรา”
บ่ายวันนั้น ที่แหลมปะการัง ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ระหว่างรอสามีกลับจากหาปลา กรนิกา ชูแก้ว เล่าเรื่องที่เธอเพิ่งประสบเมื่อ ๒-๓ วันก่อนให้ผู้มาเยือนฟังด้วยน้ำเสียงเศร้า
เธอว่ามันเป็นเคราะห์กรรมที่ซัดเอากับตาสียายสาอย่างโหดร้าย
สามปีก่อน กรนิกากับคนทั้งหมู่บ้านร่วมร้อยแทบสิ้นเนื้อประดาตัว เมื่อสึนามิถล่มหมู่บ้านแหลมปะการังแล้วกวาดทุกสิ่งทุกอย่างลงทะเล
หลายชั่วโมงกว่าความช่วยเหลือจะมาถึง ผู้รอดชีวิตเอาตัวรอดกันตามมีตามเกิด บางคนเอาป้ายชื่อไปปักบนซากที่เคยเป็นบ้าน บางคนหนีขึ้นภูเขาด้วยความกลัวว่าคลื่นยักษ์จะกลับมาอีก อีกหลายคนไม่รู้จะทำอย่างไรกับชีวิตหลังรอดจากคลื่นยักษ์แล้วพบว่าตนเองไม่มีอะไรเหลือแม้กระทั่งญาติพี่น้อง
เมื่อเหตุการณ์สงบลง คนในหมู่บ้านกระจัดกระจายไปอยู่ตามศูนย์พักพิงต่างๆ จากนั้นก็ได้รับการจัดสรรที่อยู่ในหมู่บ้านที่สร้างขึ้นใหม่ ๒ แห่ง คือ หมู่บ้านบางขยะและหมู่บ้านต้นเหลียง ซึ่งอยู่บนพื้นที่สูงห่างจากแหลมปะการังร่วม ๗ กิโลเมตร โดยภาครัฐและเอกชนผู้ให้ความช่วยเหลือมีเจตนาให้ชาวบ้านได้อยู่ในที่ที่ไม่มีความเสี่ยงกับการเผชิญธรณีพิบัติภัยในอนาคต
แต่ทว่า
“อึดอัด ปรับตัวยาก หน้าบ้านมันชนกัน เราไม่เคยอยู่แบบนั้นมาก่อน บ้านที่ไปอยู่ก็เป็นบ้านแฝด อีกซีกหนึ่งก็มีครอบครัวอื่นมาอยู่ แถมบ้านหลังเล็กนิดเดียว เราอยู่กันตั้ง ๗ คน เทียบกับบ้านเดิมมันต่างกันมาก” กรนิกาเล่าถึงชีวิตใหม่ในบ้านหลังใหม่
ทุกวันกรนิกาจะมารอสามีที่ออกหาปลาอยู่ที่เพิงเล็กๆ แห่งนี้
ช่วงสี่ห้าโมงเย็นของทุกวัน เรือประมงพื้นบ้านจะทยอยกันกลับเข้าฝั่งพร้อมกับปลาที่จับได้
ปัญหาอีกอย่างที่ตามมาคือ ความลำบากในการทำประมง เนื่องจากว่าเรือของคนแหลมปะการังส่วนมากจอดอยู่ที่ชายทะเลบ้านแหลมปะการัง ซึ่งปัจจุบันใครเห็นคงนึกไม่ออกว่าที่นี่เคยมีหมู่บ้านชาวประมงอยู่นับร้อยหลังคาเรือน เพราะแผ่นดินส่วนหนึ่งนั้นบัดนี้สูญหายกลายเป็นส่วนหนึ่งของท้องทะเลไปแล้ว
เมื่อทะเลและเครื่องมือหากินอยู่ที่นั่น พรานปลาทั้งชายหญิงที่พลัดถิ่นก็ต้องเดินทางจากบ้านใหม่ไปยังที่จอดเรือเดิมวันหนึ่งๆ หลายกิโลเมตร ส่วนมากพวกเขาจะออกหาปลาตั้งแต่เช้ามืดและกลับเข้าฝั่งในช่วงเย็น ทิ้งเรือและเครื่องมือเอาไว้ที่ชายหาดโดยไม่มีคนเฝ้าเหมือนแต่ก่อน ทำให้ขโมยอาศัยโอกาสขโมยเครื่องยนต์เรือและสิ่งของต่างๆ ไปได้อย่างง่ายดาย จนพวกเขาต้องแก้ปัญหาด้วยการปลูกเพิงเป็นที่นอนเฝ้าเรือและเครื่องมือในเวลากลางคืน
เพิงที่ว่าสร้างขึ้นจากไม้เก่าปุปะบนชายหาด ปัจจุบันมีอยู่ ๒ แห่ง แห่งหนึ่งอยู่ในพื้นที่ซึ่งเป็นบ้านเดิมของกรนิกา อีกแห่งหนึ่งมีลักษณะเป็นศาลานั่งเล่นมากกว่าเพิง ทั้งสองแห่งถูกใช้เป็นที่เก็บของและบางคืนก็กลายเป็นที่นอนเฝ้าเครื่องมือทำมาหากิน
“หลังเกิดสึนามิ ชาวประมงพื้นบ้านทุกคนรู้ดีว่าดินฟ้าอากาศเปลี่ยนไป หน้ามรสุมลมแรงกว่าสมัยก่อน หน้าร้อนก็ร้อนมาก ปลาก็น้อยลง นี่ก็ปลายปี ๒๕๕๐ แล้ว ฝนยังไม่ยอมหยุดตก” ชาวประมงคนหนึ่งเล่าให้ฟัง
ขณะที่ชาวแหลมปะการังพยายามฟื้นฟูอาชีพของตน ปลายกันยายนที่ผ่านมาก็กลับมีหนังสือจากนายอำเภอตะกั่วป่ายื่นคำขาดให้ชาวบ้านรื้อเพิงออกจากชายหาดภายในวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๐ ไม่เช่นนั้นจะถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา ๙ และมาตรา ๑๐๘ ทวิ ข้อหาบุกรุกพื้นที่สาธารณะ โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปี และปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งที่ที่ดินที่ใช้สร้างเพิงนั้นเป็นบ้านของคนแหลมปะการังมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๓ สมัยที่หาดยังรก ไม่มีถนนตัดเข้าไปและไม่มีใครอ้างสิทธิครอบครอง อีกทั้งชาวบ้านส่วนใหญ่ก็มีสำเนาทะเบียนบ้านอย่างถูกต้อง
“ปัญหาอาจเริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๓๘ ที่ทางราชการประกาศให้พื้นที่กว่า ๑๐ ไร่ริมทะเลเป็นพื้นที่สาธารณะ ชาวบ้านก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะต้องทำประมง จะย้ายไปไกลทะเลก็ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ จนเกิดสึนามิขึ้น” ชาวบ้านคนหนึ่งเล่า ก่อนชี้ไปยังแนวรีสอร์ตที่อยู่ระหว่างก่อสร้างบนอีกฝั่งของถนนเลียบหาดแล้วเสริมว่า เจ้าของซึ่งเป็นนายทหารเรือร้องเรียนอำเภอว่าชาวบ้านปลูกเพิงพักไม่เรียบร้อย เป็นที่ขายหน้าแก่นักท่องเที่ยว
“หน่วยราชการรังแกคนจน ทีนายทุนไม่ไปรังแก นี่เราก็ไม่ยอมรื้อทั้งที่เลยกำหนดแล้ว เราไม่กลัวเพราะเราไม่ได้ทำผิดอะไร” กรนิการะบายอย่างเหลืออด
ผืนน้ำตรงหน้านี้เคยมีบ้านเหือบ 60 หลังคาเรือนตั้งอยู่ และครั้งหนึ่งมันเคยเป็นแผ่นดิน
ขณะที่ ภูวนาท เอกรัตน์ นายอำเภอตะกั่วป่า ให้คำตอบสื่อมวลชนว่า บริเวณหาดบ้านแหลมปะการังเป็นพื้นที่สาธารณะ มีไว้ให้ทุกคนใช้ร่วมกัน ห้ามไม่ให้มีการปลูกเพิงพักอย่างเด็ดขาด ทั้งตนยังได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบการโรงแรมว่าการปลูกสร้างเพิงพักดังกล่าวบดบังทัศนียภาพสำหรับนักท่องเที่ยว จึงมีคำสั่งให้รื้อถอน
“ผมทำตามกฎหมาย ไม่ทำก็ถือว่ามีความผิดในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จังหวัดพังงามีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การปลูกสร้างเพิงหรือทำการใดๆ ในพื้นที่ชายทะเลถือว่าไม่ส่งเสริมการท่องเที่ยวตามนโยบาย ฉะนั้นจึงยินยอมไม่ได้” (คมชัดลึก ๔ พ.ย. ๒๕๕๐)
ห่างจากเพิงที่ปลูกอยู่บนที่ดินเดิมของกรนิกาไม่ไกลนัก ในเวิ้งอ่าวเล็กๆ กลิ่น อู่บำรุง ผู้เฒ่าทะเลที่หาปลาอยู่แถบนี้มานาน เล่าว่าตอนนี้ทางการกำลังจะห้ามไม่ให้ชาวบ้านจอดเรือไว้ที่หาดแหลมปะการัง ทั้งยังมีเรืออวนลากจากทับละมุและบ้านน้ำเค็มมาหากินจนทำให้สัตว์น้ำถูกจับไปจำนวนมาก และยังทำลายเครื่องมือประมงพื้นบ้านที่ชาวประมงพื้นบ้านนำไปวางไว้เสียราบเรียบ
“บางทีเห็นต่อหน้าต่อตามันชักปืนขึ้นขู่ว่าอย่ามายุ่ง แล้วเราจะทำอะไรได้ ส่วนเรื่องที่จอดเรือทางการไปสร้างไว้ในคลองไม่ไกลจากตรงนี้ แต่ไม่เคยมาถามเราว่าตรงนั้นคลื่นลมเป็นอย่างไร ตรงนั้นเข้าไปไม่ได้ในฤดูมรสุม ถ้าไม่จอดเรือตรงนี้จะให้เอาไปจอดตรงไหน ที่หน้าหาดส่วนมากรีสอร์ตก็ถือครองเป็นที่ของตัวเองหมดแล้ว ตอนนี้มีการกำหนดให้รีสอร์ตและโรงแรมต้องสร้างห่างจากชายหาด ๕ เมตร แต่ก็มีพนักงานโรงแรมมาห้ามชาวบ้านเข้าไปแถบนั้นเพราะเป็นเขตของเขา กลายเป็นหาดส่วนตัวไป”
“เดิมเรามีบ้านของตัวเอง มีอาชีพของตัวเอง แต่หลังสึนามิเราไม่มีบ้าน หน่วยงานต่างๆ เข้ามาช่วยสร้างบ้านให้ก็จริง แต่เราก็ต้องจ่ายค่าเช่าอยู่ดี เพราะที่ดินไม่ใช่ของเรา แถมไกลจากแหล่งทำมาหากิน มาตอนนี้อาชีพเขาก็จะไม่ให้เราทำ จะให้เราไปเป็นลูกจ้างคนอื่น เขากำลังบังคับให้ชาวบ้านเป็นโจร” กรนิกาทิ้งท้าย
ที่แหลมปะการัง นอกจากแผ่นดินจะหายไป หัวใจของคนก็ดูเหมือนจะหายไปเช่นกัน