วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง : รายงาน
วิจิตต์ แซ่เฮ้ง : ถ่ายภาพ

คนเกาะลันตาพูดกันว่านี่เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

นับแต่ชาวเลอูรักลาโว้ยเข้ามาบุกเบิกเกาะลันตาเมื่อ ๒๐๐ กว่าปีที่แล้ว และหลังจากนั้นคนมุสลิมกับคนจีนก็ตามเข้ามา

ยังไม่เคยมีการชุมนุมเรือมากมายเท่านี้

๘ ธันวาคม ๒๕๔๘

เรือหัวโทงจากหมู่บ้านในละแวกตำบลลันตาใหญ่ อันได้แก่ บ้านศรีรายา บ้านหัวแหลม บ้านสังกาอู้ บ้านเกาะปอ บ้านเจ๊ะหลี ทยอยมารวมตัวกันที่ท่าเรือบ้านศรีรายา หน้าเกาะลันตาใหญ่ตั้งแต่เช้าตรู่

ตะวันไม่ทันสาย ท่าเรือของชุมชนชาวจีนเก่าแก่ก็คลาคล่ำไปด้วยเรือหัวโทงร่วม ๒๐๐ ลำ ทุกลำประดับด้วยธงทิวหลากสี เขียว เหลือง ส้ม ม่วง ฟ้า ฟ้าอ่อน ขาว แดง ชมพู ฯลฯ แตกต่างกันไปเป็นกลุ่มๆ ตามแต่ละบ้าน ดูราวสีสันบนลายปีกผีเสื้อ

ได้เวลาประกอบพิธีกรรมบูชาเรือและสักการะธรรมชาติ ตัวแทนชาวเล (หมู่บ้านสังกาอู้) ได้รับเกียรติให้ทำพิธีเป็นลำดับแรก โต๊ะหมอเข้ามานั่งหลังเครื่องเซ่นไหว้อันประกอบไปด้วย ข้าวสวย ข้าวเหลือง ข้าวเหนียว ข้าวตอก ไก่ต้ม ปลาหมึก ปลาปิ้ง เหนียวกวน เหล้าขาว (๓๕ ดีกรี) น้ำ หมากพลู และบุหรี่ กะลาใส่พด (กาบ) มะพร้าว เผาไฟควันคลุ้งเป็นพวยถูกนำมาวาง โต๊ะหมอจุดเทียนฟั่นจากขี้ผึ้งปักลงเคียง แล้วสวดบวงสรวงเชิญวิญญาณบรรพบุรุษมารับการสักการะและขอความคุ้มครอง

จากนั้นก็ต่อด้วยพิธีของชาวมุสลิม และการเจริญพระพุทธมนต์ของสงฆ์สำหรับคนเรือชาวพุทธ

เมื่อได้ฤกษ์งามยามมงคล ขบวนเรือก็เคลื่อนออกจากท่า วนเลียบเกาะไปทางซ้าย มุ่งหน้าสู่ย่านตำบลศาลาด่าน

มีบางช่วง ทางเรือผ่านไปในลำบางที่ไหลคั่นเกาะลันตาน้อย-เกาะลันตาใหญ่ ริมฝั่งทั้งสองข้างเขียวพรืดด้วยป่าโกงกางที่ฟื้นตัวขึ้นใหม่แล้วหลังจากเคย เป็นพื้นที่สัมปทานไม้เผาถ่าน

ที่ท่าศาลาด่าน ตรงกันข้ามที่ว่าการอำเภอเกาะลันตา (ใหม่) ซึ่งตั้งอยู่หัวมุมเกาะลันตาน้อยด้านที่หันออกทะเล เรือหัวโทงอีก ๑๐๐ ลำจากบ้านในไร่ บ้านโต๊ะบาหลิว บ้านโละดุหยง บ้านคลองโตบ บ้านคลองหิน บ้านคลองโขง บ้านคลองนิน บ้านคลองดาว บ้านพระแอะ และบ้านศาลาด่าน เข้าสมทบกับขบวนและมุ่งหน้าสู่ชายหาดพระแอะด้วยกัน

เวิ้งทะเลหน้าเกาะลันตาในยามนั้นแลละลานตาเหมือนหมู่ผีเสื้อฝูงใหญ่บินมาเล่นน้ำ

ถ้าจะกล่าวว่านี่เป็นความสดใสรื่นเริงครั้งแรกในรอบปีก็คงว่าได้

นับแต่เกิดเหตุการณ์สึนามิเมื่อปลายปีที่แล้ว คนทั้งเกาะยังหวาดหวั่นทะเลอยู่ไม่หาย ชาวประมงที่เคยออกไปลอยลำแรมคืนอยู่กลางทะเลกันเป็นสามัญวิถี-ก็กลับไม่กล้า ทะเลอันเป็นแหล่งทำมาหากินที่คุ้นเคยแทบถูกปิดตายมาตั้งแต่คลื่นยักษ์มา เยือน และนับแต่นั้นก็คล้ายว่าคนเลกับลำเรือคู่ชีพจะห่างร้างกันไปเสียนาน

เมื่อรวบรวมกำลังและฟื้นขวัญกันได้แล้ว คนบนเกาะลันตาจึงได้ชักชวนกันเอาเรือมาชุมนุมแล่นรอบเกาะกันสักครั้ง ว่ากันตามภาษาปักษ์ใต้ว่า เปิดเล-เขเรือ

เปิดเล ในความหมายของการ เปิดทะเล เบิกฟ้าเปิดน่านน้ำอันดามันกันใหม่อีกครา

ส่วน เขเรือ ก็คือ นั่งเรือ (เข = นั่ง ; เขรถ – นั่งรถ , เขเรือบิน – นั่งเครื่องบิน)

เคลื่อนขบวนมาได้ราวครึ่งทาง กองเรือหัวโทงร่วม ๓๐๐ ลำที่มาร่วมชุมนุมในงานเปิดเล-เขเรือ ก็แวะพักพลกันคราวหนึ่งที่หาดพระแอะ บนชายหาดมีแคร่ไม้ไผ่ขนาดเกินห้าคนโอบบรรจุข้าวปลาอาหารและขนมพื้นบ้านอยู่ เต็ม

ข้าวอยู่ในห่อใบตอง มีทั้งข้าวหมกไก่ ข้าวกับปลาหมึก ข้าวกับปลาเค็มทอดและน้ำชุบเคย (น้ำพริกกะปิ) ส่วนที่เป็นขนมมีมากกว่าสิบชนิด ขนมกรวย (ขี้มอด) ขนมเทียน เหนียวปิ้ง ขนมจาก ขนมโค ขนมชั้น ต้ม (ห่อใบกะพ้อ) ต้มใบ (มะ) พร้าว ต้มลาว (ข้าวเหนียวห่อกล้วย) และข้าวเหนียวหุงกะทิในหม้อข้าวหม้อแกงลิง

ต่อจากนั้นขบวนก็เคลื่อนไปสู่จุดหมายที่หาดคลองนินอันเป็นลานที่ตั้งเวทีงานวัฒนธรรม

ตั้งแต่บ่ายคล้อยไปจนจวบค่ำวันนั้น การแสดงพื้นบ้านดั้งเดิมถูกรื้อฟื้นขึ้นมาแสดงกันไม่ขาดสาย ไล่มาตั้งแต่ กาหยง (ปัญจสีลัต) ลิเกป่า รองเง็ง (๒ คณะสุดท้ายของเกาะลันตา) รวมทั้งการแสดงของเด็กๆ นักเรียนในชุมชน

ไม่กี่ปีให้หลังมานี้เกาะลันตาเปลี่ยนไปมากด้วยพายุการท่องเที่ยว หลายคนพูดและวิตกกันว่าลันตากำลังจะเป็นเหมือนสมุย ภูเก็ต ในแง่ของความเจริญด้านวัตถุ ขณะที่วิถีเดิมของคนท้องถิ่นมีแต่จะถูกเบียดขับให้สูญหาย

แต่สึนามิก็มาช่วยหยุดกระแสอันเชี่ยวกรากนั้นไว้ก่อน

ในการชุบชูพลิกฟื้นท้องถิ่นกันใหม่คราวนี้ชาวบ้านจึงขอร่วมเป็นเจ้าภาพ ด้วย–เป็นการแสดงตนของเจ้าของถิ่นผู้อยู่มาก่อน ก่อนที่กฎหมาย นายทุน ผู้ประกอบการ นักจัดการ กระทั่งเจ้าหน้าที่รัฐ จะเดินทางมาถึง เขาจึงควรมีสิทธิที่จะเข้ามีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตถิ่นฐานบ้านเกิดของตัว เอง และในบัดนี้พวกเขาก็ประกาศเจตจำนงพร้อมที่จะชุบชูประเพณี วิถีชีวิต วัฒนธรรมพื้นถิ่น แนวทางการดำเนินชีวิต การทำมาหากินที่ทำกันมาแต่ดั้งเดิมให้ตื่นฟื้นขึ้นมาใหม่

เย็นวันนั้น ชายหาดคลองนินไม่มีดวงไฟแสงสี ไม่มีเสียงเพลงอึกทึก ไม่มีบาร์เหล้า แต่นักท่องเที่ยวก็ดูครึกครื้นรื่นรมย์กันดีกับเสียงเพลงรองเง็งที่เร่งเร้า เคล้าคลอกับเสียงคลื่น