เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

เหมือนเป็นเรื่องมหัศจรรย์อย่างหนึ่งในมหาอุทกภัยครั้งนี้ก็ว่าได้

ขณะที่เกาะเมืองอยุธยาและพื้นที่รายรอบเกือบทั้งจังหวัดจมอยู่ใต้กระแสน้ำหลาก  วัดพนัญเชิงซึ่งตั้งอยู่มุมด้านล่างปากแม่น้ำป่าสักที่ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยา กลับรอดจากกระแสน้ำใหญ่ในครั้งนี้อย่างน่าอัศจรรย์

พระครูสุธีกิจจาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพนัญเชิงวรวิหาร ที่เป็นผู้ดูแลการสร้างพนังกั้นน้ำบอกว่า นี่เป็นผลจากการได้ “ใจ” สู้ภัยน้ำท่วม

วัดพนัญเชิงวรวิหารอยู่ในพื้นที่ตำบลกะมัง (ต.คลองสวนพลู) อำเภอเมืองพระนครศรีอยุธยา  มีพื้นที่ ๘๒ ไร่  แนววัดด้านหนึ่งขนาบไปกับฝั่งแม่น้ำป่าสัก จากโค้งสุดท้ายไปสุดปากแม่น้ำ แล้วเลียบริมฝั่งเจ้าพระยาไปจดกับโรงเรียนซึ่งมีแนวถนนคั่นตลอดด้านนั้น ส่วนอีกด้านต่อรั้วอยู่กับชุมชน  แต่ในช่วงน้ำหลากเขตแดนบนแผ่นดินทุกอย่างเลือนอยู่ใต้สายน้ำผืนเดียวกันทั้งหมด เว้นแต่เขตวัดที่อยู่ภายในวงล้อมของพนังกระสอบทราย

“ตรงนี้น้ำไหลเชี่ยวมาก แม่น้ำป่าสักเข้าโค้งมาก็ชนเรา ปีไหนรู้ว่าน้ำมากเราก็ต้องทำพนัง” พระครูสุธีกิจจาภรณ์เล่าสภาพปัญหา

ในช่วงแรกจำนวนพระเณรทั้งวัดเกือบ ๑๐๐ รูป กับ ตชด. และตำรวจภูธรอีก ๑๐๐ นาย ร่วมแรงกันตั้งแต่หลังฉันเช้าเสร็จไปจนค่ำ จนตั้งแนวยันน้ำได้แล้วก็คอยเสริมพนังให้สูงกว่าระดับน้ำ ๕๐ เซนติเมตรไว้เสมอ  วันหลังวันที่ ๒๐ ตุลาคมที่ระดับน้ำเริ่มทรงจึงเริ่มวางใจได้

พระครูสุธีกิจจาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพนัญเชิงที่ดูแลการสร้างพนังกั้นน้ำของวัด

เดิมพระครูสุธีกิจจาภรณ์เป็นพระอยู่ต่างอำเภอ มาจำพรรษาที่วัดพนัญเชิงตั้งแต่ปี ๒๕๓๖  คราวน้ำท่วมใหญ่ปี ๒๕๓๘ ได้ร่วมต้านภัยน้ำแต่ล้มเหลว  แต่หลังจากนั้นมาก็ไม่เคยพลาดอีกเลย

“เมื่อปี ๒๕๓๘ เราล้มเหลวมาแล้ว  ตอนนั้นเราใช้หลักการทั่วไปคือ ใส่ทรายเต็มกระสอบ ผูกปาก แล้วไปวาง ๒-๓ แถวแล้วซ้อนกันขึ้นไป ให้สูงกว่าระดับน้ำ  คราวนั้นเราไม่ได้คิดเรื่องความหนาของพนัง มันจึงไม่มีความแข็งแกร่งที่จะต้านทานแรงอัดได้  ก็พังลงมาในจุดที่แม่น้ำพุ่งเข้าโค้งมาชน  ปุงเดียวแตกเลย เพราะปีนั้นเราใช้แค่ ๒ แถว เรียงแบบเรียงอิฐ ก่อขึ้นไป”

ถึงฤดูน้ำท่วมปีถัดมา ภิกษุหนุ่มคิดว่าถ้าทำเหมือนเก่าก็ต้องแตกเหมือนเก่า  ก็เริ่มมาวิเคราะห์ว่าการใส่ทรายมากแล้วผูกปากแน่น กระสอบตึงไม่มีที่ให้ทรายเคลื่อนตัวไปลบรอยต่อระหว่างกระสอบ  ท่านลองแก้ปัญหานี้ด้วยการลดปริมาณทรายเหลือครึ่งกระสอบ หรือไม่เกิน ๒ พลั่วครึ่ง และไม่ต้องผูกปากกระสอบ  ตอนนำไปวางก็พับเอาตัวกระสอบทับปากกระสอบไว้ด้านล่าง  เรียงสูงขึ้นมา ๓-๔ ชั้นกระสอบ ก็กลับกระสอบทรายจากที่เรียงจากข้างหน้ามาข้างหลัง ให้กลับเป็นเรียงแบบขวาง โดยเปิดปากกระสอบทรายเข้าหากัน แล้วใช้กระสอบทรายชั้นที่ ๔-๕ วางทับ ให้ส่วนปากถุงที่ปล่อยไว้ได้ยึดกันเอง เป็นการสร้างจุดเชื่อมให้กระสอบได้เกาะกันไว้ ส่วนด้านกว้างของพนังใช้ราว ๘ แถวกระสอบ

เป็นวิธีที่ทำมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๙  และได้ผลมาตลอด

“มาปีนี้ พระเดชพระคุณหลวงพ่อ พระเทพรัตนากร เจ้าอาวาสวัดพนัญเชิง และเจ้าคณะจังหวัด ให้คนงานปักหลัก ใช้ไม้ราว ๔ เมตร ตอกลงดินจนเหลือราว ๒ เมตร เอากระดานมาตีกั้นเหมือนคอก เสริมความแข็งแกร่งก่อนจะวางกระสอบทราย”

โดยมีพระครูสุธีกิจจาภรณ์นำการก่อสร้าง

“เวลาทำงานเราต้องมีการปลุกใจ โดยใช้ความเป็นมาของวัดพนัญเชิง ว่าสร้างมาตั้งแต่ก่อนกรุงศรีอยุธยาจะเป็นราชธานี ๒๖ ปี จนถึงปัจจุบันก็ ๖๘๗ ปี  ก็พูดให้พระเณรฟังว่าหลวงพ่อโตองค์ใหญ่กว่าจะสัมฤทธิผลออกมา ลองนึกย้อนไปดูว่าคนโบราณต้องใช้พละกำลังในการก่อสร้าง ใช้ความพยายามในการหาอุปกรณ์ที่คงไม่ได้มาง่ายๆ  และสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยคือ พลังศรัทธาของโบราณชน เมื่อเขาทำมาด้วยแรงศรัทธาในพระพุทธศาสนา เมื่อเราได้มาอยู่ในวัดนี้ แล้วได้เกิดเหตุเภทภัยขึ้นมา น้ำหลากมาอย่างนี้ เรานิ่งดูดายไม่ได้ ต้องรักษาเอาไว้ให้ได้เท่าชีวิตของเรา

“อาตมาพูดแบบนี้ไม่กี่ครั้งทุกคนก็เข้าใจ  อยากให้มาเห็นภาพตอนนั้น ประชาชนมาช่วยตักทราย เป็นภาพของพลังความสามัคคี  เป็นวิถีของชาวพุทธอย่างที่พูดกันว่า น้ำท่วมหนักแค่ไหนแต่น้ำใจมีมากกว่า ใครมาเห็นที่นี่จะรู้เลยว่าจริง  อาตมาใช้คำว่าน้ำใจต้านน้ำท่วม”

ปริมาณน้ำมหาศาลจากสายน้ำป่าสัก (มุมล่างขวาของภาพ) ไหลลงรวมกับมวลน้ำเหนือในแม่น้ำเจ้าพระยา เอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่สองฟากฝั่งเป็นบริเวณกว้างไกล แต่วัดพนัญเชิงวรวิหารซึ่งตั้งอยู่บริเวณสามเหลี่ยมปากน้ำป่าสัก ต่อสู้จนอยู่รอดจากภัยน้ำท่วมได้อย่างน่าอัศจรรย์

พนังรอบวัดพนัญเชิงใช้กระสอบทรายไปทั้งสิ้นนับแสนใบ จากที่ อบจ. นำมาช่วย และของวัดเองซึ่งใช้ทรายจากราชบุรี ๒๐๐ คันรถสิบล้อพ่วง เพราะตอนนั้นทรายในพื้นที่หาไม่ได้อีกแล้ว  ซึ่งหลังจากช่วยอยู่แล้ว ต่อมาส่วนที่เหลือ ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ กระสอบ ก็ยังได้ส่งไปช่วย กทม. ซึ่งประสบภัยตามมา

และแม้จะสร้างคันกั้นน้ำได้แข็งแกร่งอย่างไร อีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการอุดท่อระบายน้ำ  พระครูสุธีกิจจาภรณ์เล่าวิธีการของวัดพนัญเชิงว่า “เปิดผาท่อ เอากระสอบทรายลงไปเรียงๆๆๆ ให้กระสอบทรายหย่อนๆ เพื่อให้ทรายในถุงเคลื่อนตัวไปสมานรอยต่อระหว่างแต่ละกระสอบได้ อัดให้แน่นแล้วโบกปูนทับ  เพราะปีก่อนๆ แค่อุดแล้วน้ำเคยดันหลุดกลางดึก ต้องลุกกันมาซ่อม”

แต่ปราการจะแน่นหนาอย่างไร น้ำยังคงหาทางไหลไปสู่ที่ต่ำกว่า  ตามพื้นวัดซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำจะมีน้ำซึมผุดอย่างที่ชาวบ้านเรียกว่าน้ำตามด ก็ต้องปล่อยให้ไหลไปรวมกันในลำรางแล้วสูบออก ซึ่งต้องดูแลและมีค่าใช้จ่ายต่อเนื่องเรื่องค่าสูบน้ำ

เมื่อปี ๒๕๓๘ ที่น้ำเข้าท่วมวัด พระครูสุธีกิจจาภรณ์เปิดเผยว่าต้องใช้งบปฏิสังขรณ์วัดเกือบ ๒๐ ล้านบาท ซึ่งหากเทียบกับราคาข้าวของในปัจจุบันก็คงตก ๔๐-๖๐ ล้านบาท

การที่วัดใช้เงินลงทุนรวมกว่า ๑๐ ล้านบาทในการป้องกันน้ำใหญ่ปีนี้ไว้ได้ ก็ถือว่าเกินคุ้ม

พระครูสุธีกิจจาภรณ์เล่าด้วยว่า น้ำท่วมใหญ่ปีนี้ในอยุธยามีสถานที่ ๖ แห่งเท่านั้นที่รอดพ้นภัย ทั้งที่ท่านมองว่าหลายวัดหรือหลายหน่วยงานมีปัจจัย อุปกรณ์ และกำลัง แต่ที่ไม่ประสบความสำเร็จคือขาด “ใจ”

“การทำงานแบบนี้ ต้องเอาใจลงไปทำ  อาตมาบอกทีมงานเสมอว่า อย่าทำเพียงให้เสร็จ เราต้องเอาใจไปทำ เหนื่อยก็พัก  งานในวัดเราพักบ่อยมาก เราต้องรักษาอารมณ์ของทีมงาน  ถ้าทำตามอารมณ์ก็ได้งานชิ้นหนึ่งระดับหนึ่ง แต่ถ้าเอาใจใส่เข้าไปในงานชิ้นนั้น ไม่ว่างานนั้นเราจะชอบหรือไม่ชอบ งานนั้นก็จะมีประสิทธิผลมากกว่าการทำตามอารมณ์  และอย่าตื่นตระหนก ให้กำหนดรู้  ถ้าตระหนกตกใจ จะหวาดวิตก กลัวไม่ทัน ความประมาทก็จะตามมาเพราะรีบ งานไม่ประณีต ทำแต่พอให้เสร็จๆ  อย่างนั้นเราน่ะแหละจะเสร็จ คือมันพัง”

สำหรับวัดพนัญเชิงวรวิหารนั้น มีคนพูดกันว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ฝ่าพ้นกระแสน้ำท่วมครั้งนี้มาได้ เพราะมีความเป็นตัวของตัวเอง คือรู้ว่าควรจะทำอะไรไม่ทำอะไรด้วยตัวเอง ไม่ต้องรอฟังจากคนอื่น

และเป็นความอยู่รอดที่ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้พื้นที่ข้างเคียง เพราะน้ำเอ่อขึ้นมาจากแม่น้ำหลากเข้าท่วมฟากฝั่งอย่างเท่าเทียม  แต่วัดได้สร้างพนังล้อมพื้นที่ตนเอง กระทั่งพ้นภัยน้ำไปได้อีกปี