ปริญญากร วรวรรณ

ผมเชื่อว่าไม่ว่าใครก็ตามที่เฝ้ามองธรรมชาติด้วยความรู้สึกว่าเป็นเพียงสาวก มิใช่ศาสดาผู้อยู่เหนือ จะสัมผัสได้ถึงความจริงอย่างหนึ่ง นั่นคือไม่มีชีวิตใดเลยที่ “ไม่จริง”

ทุกชีวิตแสดงออกอย่างแจ่มชัดว่า ตนมีบทบาทหน้าที่ รวมทั้งรู้สึกเช่นไร ด้วยวิธีการตรงไปตรงมา

สัตว์ผู้ล่าแสดงเจตนาอย่างแน่วแน่ว่ามีหน้าที่ต้องจัดการกับบรรดาสัตว์กินพืช

ดอกไม้ใช้ความซับซ้อนล่อหลอกแมลงมาใช้งาน

พูดง่าย ๆ ว่า มีความชัดเจนและแสดงออกโดยไม่มีการอำพราง

ผมเชื่ออีกนั่นแหละว่า ผู้ที่คลุกคลีอยู่กับสัตว์ ย่อมรู้ความจริงข้อนี้เป็นอย่างดี

และผมก็เชื่ออีกเช่นกันว่า คุณสมบัติเช่นนี้คือสิ่งที่มนุษย์ควรใช้ปฏิบัติต่อกัน

มีคนจำนวนมากเอา “สัตว์” มาไว้ในหัวใจ และลงมือทำงานอย่างเอาจริง ปกป้อง เป็นปากเป็นเสียง หรือแม้แต่เอาชีวิตเข้าแลก เพื่อให้สัตว์ได้รับโอกาสมีชีวิตอยู่บนโลก

หากความ “ซับซ้อน” เป็นคุณสมบัติประการหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นว่า มนุษย์มีความ “เหนือ” กว่า “สัตว์” ผมยินดีที่จะเลือกอยู่ในพวกหลัง

มัสบูด หะแว คือผู้ชายอายุ ๒๔ ปีคนหนึ่ง รูปร่างล่ำสัน ผิวคล้ำจัด ขี้อาย และพูดน้อย ความแข็งแรงล่ำสันของมัสบูดได้มาจากการทำงานหนัก รับจ้างลากไม้ซึ่งแปรรูปแล้วลงจากภูเขา

มัสบูดเกิดในหมู่บ้านตะโหนด เชิงเทือกเขาบูโด เป็นมุสลิมที่เคร่งครัดเช่นเดียวกับพ่อของเขา มาฮะมะ หะแว

ผู้คนในหมู่บ้านเป็นเช่นเดียวกับชาวบ้านรอบ ๆ เทือกเขาแห่งนี้ คือ เชื่อว่าบนภูเขาคือสวนหลังบ้าน เป็นสถานที่พึ่งพาเก็บเกี่ยวพืชผลและสิ่งต่าง ๆ เพื่อเลี้ยงชีพ

มาฮะมะ หะแว ยึดการเลื่อยไม้บนภูเขาเป็นอาชีพ ไม้เนื้อแข็งโดยเฉพาะไม้ตะเคียน มีมูลค่าสูง คุ้มค่ากับแรงกายที่ทุ่มเท

การโค่นล้มไม้ใหญ่ รวมทั้งแปรรูปในป่าทึบไม่ใช่เรื่องง่าย การลากไม้เหล่านั้นลงจากภูเขาก็ไม่ได้ง่ายกว่า

ตั้งแต่อายุครบ ๑๐ ปี มัสบูดเริ่มงานลากไม้โดยได้ค่าแรงในการลากเที่ยวละ ๑๕๐ บาท ไม้กระดานกว้าง ๘ นิ้ว ยาว ๔ เมตร ครั้งละ ๒-๓ แผ่น วิธีการลากไม่ได้ยุ่งยาก มีอุปกรณ์เพียงโซ่มอเตอร์ไซค์เก่า ๆ คล้องหัวไม้ ต่อด้วยยางจักรยานคล้องกับบ่า ดึงไม้นั่นลงมาตามเส้นทางเล็ก ๆ

ป่าเทือกเขาบูโดมีพื้นที่ติดต่อระหว่างจังหวัดยะลาและนราธิวาส ไม่เพียงแต่จะเป็นป่าดิบฝนอันสมบูรณ์ แต่ความพิเศษของที่นี่คือ เป็นแหล่งอาศัยของนกเงือกรวม ๖ ชนิด จากจำนวน ๑๓ ชนิดที่มีอยู่ในประเทศไทย

นอกจากงานเลื่อยไม้ งานอีกอย่างหนึ่งของมาฮะมะ คือ ล้วงลูกนกเงือกในโพรงไปขาย

ถึงแม้ว่านกเงือกจะมีการวางไข่ เลี้ยงลูกโดยใช้โพรงของต้นไม้ใหญ่ ๆ ซึ่งอยู่สูงจากพื้นไม่ต่ำกว่า ๒๐ เมตร ตัวเมียจะขังตัวเองอยู่ในนั้น ปิดปากโพรงเหลือเพียงช่องเล็ก ๆ ตัวผู้มีหน้าที่หาอาหารมาเลี้ยงลูกและเมีย แต่มัสบูดซึ่งช่วยพ่อในงานนี้ด้วยก็บอกว่า “ไม่ยากหรอกถ้าจะล้วงเอาลูกนก ถ้ามีรังอยู่ตรงไหน นกจะบินเสียงดังอยู่แถว ๆ นั้น สักวันที่ ๑๖ เดือนมิถุนายนเราจะขึ้นไปเอา”

นกเงือกเริ่มเข้าโพรงราว ๆ เดือนมีนาคม เดือนมิถุนายน ลูกนกโตพอจะเลี้ยงให้รอด

“เราเตรียมไม้ยาวขนาดท่อนแขนไป แล้วก็เถาวัลย์เหนียว ๆ พอไปถึงก็เอาไม้ยาววางพาดต้น เหวี่ยงเถาวัลย์อ้อม เสร็จแล้วเอาไม้สั้น ๆ สอดเหยียบขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึงโพรง เอาไม้งัดปากโพรงล้วงลูกนกใส่กระสอบ” มัสบูดเล่า

“ตอนนั้นเอาไปขายที่ตันหยง ถ้าเป็นลูกบูหรงบาลง (นกเงือกหัวแรด) ได้ ๑,๕๐๐ บาท แต่ถ้าเป็นลูกบูหรงตอเราะ (นกชนหิน) แพงหน่อย ๓,๐๐๐ บาท”

ผู้คนในหมู่บ้านส่วนหนึ่งมีอาชีพเช่นนี้ นอกเหนือจากทำสวนผลไม้และยางพารา

ทัศนะรวมทั้งความเชื่อของมาฮะมะเปลี่ยนไป เมื่อผู้หญิงคนหนึ่งเดินทางมาถึงเทือกเขาบูโดในปี พ.ศ. ๒๕๓๗

ศ. ดร. พิไล พูลสวัสดิ์ เริ่มโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก (ส่วนภาคใต้) ของเธอในปีนี้

เธอไม่ได้เข้ามาเปลี่ยนวิถีของชาวบ้าน เพียงแต่ชาวบ้านผู้พบรังนกเงือกจะได้รับค่าตอบแทนเมื่อมาแจ้งการพบรัง และจะได้เป็นผู้ดูแลรังนกนั้นไปจนกระทั่งลูกนกออกมาโบยบิน

ชาวบ้านส่วนหนึ่งเห็นด้วยจึงเข้าร่วมโครงการฯ แม้จะมีชาวบ้านบางส่วนยังคงดำเนินชีวิตไปตามปรกติ นั่นคือ เลื่อยไม้บนภูเขา

“เจ้านี่เป็นเด็กลากไม้ ปีนต้นไม้เก่ง คล่องเหมือนลิง ช่วยเอาไปทำงานนกเงือกหน่อย”

ดาโอ๊ะ สามะ ผู้ใหญ่บ้านตะโหนด พาชายหนุ่มอายุ ๑๗ ปี ผิวคล้ำจัด มาพบ ปรีดา เทียนส่งรัศมี เจ้าหน้าที่โครงการฯ พร้อมกับแนะนำ

ตั้งแต่วันนั้นชีวิตของมัสบูดเปลี่ยนแปลง ถึงทุกวันนี้ เขาคือผู้ช่วยนักวิจัยผู้เอาจริง เข้มแข็ง

กับคนที่ปีนต้นไม้คล่องเหมือนลิง เมื่อเจอเข้ากับอุปกรณ์ช่วยปีนอย่างเชือก จึงไม่ต่างกับพบของเล่นชิ้นโปรด มัสบูดได้รับการยอมรับจากเจ้าหน้าที่โครงการคนอื่น ๆ โดยเรียกว่า “น้า”

“บูดเสียใจที่ป้องกันต้นตะเคียนเอาไว้ไม่ได้” วันหนึ่งมัสบูดมาหาเรา แจ้งข่าวด้วยน้ำตาคลอเบ้า เมื่อต้นไม้ที่มีโพรงนกชนหินที่เขาเป็นผู้ดูแลถูกโค่นล้ม

ไม่เพียงแต่ชีวิตของมัสบูดจะเปลี่ยนแปลง หัวใจของเขาก็เปลี่ยนไปแล้ว

หลายเดือนมานี้ ผมกับมัสบูดมีโอกาสทำงานอยู่บนภูเขา ร่วมอยู่ในทีมเดียวกันเสมอ

การติดตั้งห้างเพื่อเป็นบังไพรอยู่บนต้นไม้ในระดับความสูงไม่ต่ำกว่าตึก ๖ ชั้นเพื่อเฝ้าดูรังนกชนหิน ต้องอาศัยทักษะการปีนต้นไม้ของมัสบูด

มัสบูดไม่ช่างพูด และยังคงขี้อาย วันนี้เขาคือชายหนุ่มผู้มีมอเตอร์ไซค์ยางเตี้ย ๆ รวมทั้งเบาะนั่งเทลาดเอียงบางราบไปกับตัวถัง

มัสบูดใช้โทรศัพท์มือถือ พร้อมกับชุดแฮนด์ฟรี ถึงแม้กระต๊อบเล็ก ๆ ของเขาซึ่งมัสบูดสร้างด้วยตัวเองเพื่อแยกมาอยู่ลำพังจะไม่มีสัญญาณโทรศัพท์

ขณะอยู่บนภูเขา มัสบูดช่วยให้การทำงานของผมสะดวกมากยิ่งขึ้น

มัสบูดจะเดินชะลอเมื่อต้องไต่ไปตามขอนไม้เล็ก ๆ ข้ามลำห้วยเพื่อให้ผมก้าวตาม

เมื่อถึงทางแยก เขาจะหยุดรอ เมื่อปีนต้นไม้ สายตาของมัสบูดจะมองด้วยความห่วงคนที่ปีนไม่คล่องเหมือนลิง

แน่นอนว่าเราเกิดมาใน “โลก” อันแตกต่างกัน ขณะเดินอยู่บนภูเขา ไม่มีทักษะอันใดเลยที่ผมจะ “เหนือ” กว่า อันที่จริง แม้แต่เรื่อง “นอกภูเขา” ก็เถอะ ดูเหมือนมัสบูดจะ “ทันสมัย” กว่าผมเสียด้วยซ้ำ

สิ่งที่เหมือนกันของเรา คือเราต่างอยู่ในโลกที่หมุนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งคนซึ่งเลือกจะเดินตามไปอย่างช้า ๆ ไม่เหลือหนทางอันราบเรียบให้เดิน

ทุกวันนี้ บนภูเขา เสียงเลื่อยยังดังอย่างสม่ำเสมอ มัสบูดอาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่คนส่วนหนึ่งมีอาชีพลากไม้ลงจากภูเขา

มัสบูด หะแว อายุครบ ๒๔ ปี

เติบโตพอจะเลือกอยู่ในโลกแบบไหน

ครั้งหนึ่ง มัสบูดถามผมว่า ทำไมถึงเลือกมาอยู่ในป่า เดินขึ้นภูเขาให้ลำบาก ทำไมถึงภูมิใจเมื่อมีคนเรียกว่า “คนใจสัตว์”

ผมไม่ได้ตอบคำถาม

คนคนหนึ่งมีโอกาสเกิดมาและกล้าพอจะอยู่ใน “โลก” ที่ตัวเองเลือก นับได้ว่าเกิดมาอย่างไม่สูญเปล่า

แต่นี่คงไม่ใช่คำตอบที่จะบอกกับใคร