เรื่อง : ฐิตินันท์ ศรีสถิต

“จงอ่าน ในพระนามแห่งองค์อภิบาลของเจ้า…ทรงสอนความรู้ด้วยปากกา พระองค์ทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่เขาไม่รู้” 

คัมภีร์อัลกุรอาน บทที่ ๙๖ โองการที่ ๑-๕

 


การเรียนอ่านอัลกุรอานแบบเป็นกลุ่มในช่วงหัวค่ำที่โรงเรียนปอเนาะอะมานะตุรเราะห์มาน ตำบลระแว้ง อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี 

หากการอ่านเป็นรากฐานของมนุษย์ ในศาสนาอิสลาม การอ่านดูเหมือนจะสำคัญยิ่งกว่า เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการเข้าถึงหลักศาสนาอิสลามที่หลอมรวมกับวิถีชีวิตคนมุสลิมในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้

เช่นเดียวกับชาวพุทธที่ให้ความสำคัญกับการเรียนหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า คนมุสลิมก็ให้ความสำคัญกับการอ่านคำสอนของศาสดามูฮำหมัดซึ่งได้รับการบันทึกไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานดุจเดียวกัน คนมุสลิมถือว่าการอ่านคัมภีร์อัลกุรอานเป็นสิ่งที่มุสลิมพึงกระทำ

มองให้ทะลุกระแสข่าวร้าย ๆ ที่ปกคลุมจังหวัดชายแดนภาคใต้ การอ่านคัมภีร์อัลกุรอานของคนมุสลิมกำลังเผชิญความเปลี่ยนแปลงดุจเดียวกับการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนสงฆ์ของศาสนาพุทธ

เดิมคนมุสลิมในภาคใต้เรียนและอ่านคัมภีร์อัลกุรอานจากฉบับที่เขียนเป็นภาษาอารบิก (อาหรับ) ซึ่งสำหรับคนเรียนนั้นเป็นเรื่องยากเพราะมีอุปสรรคทางภาษา แม้ต่อมาจะมีการแปลคัมภีร์อัลกุรอานเป็นภาษาไทย แต่คนมุสลิมก็ยังต้องอ่านอัลกุรอานฉบับภาษาอารบิกเพื่อเรียนรู้ภาษาและใช้เรียนต่อด้านศาสนาในระดับสูงขึ้น ไม่ต่างจากการที่พระสงฆ์ในศาสนาพุทธต้องเรียนภาษาบาลี

“หลายปีก่อนหน้านี้ คนมุสลิมโดยเฉพาะเด็ก ๆ แถบนี้อ่านคัมภีร์อัลกุรอานไม่ได้”

อดุลย์ มะหะหมัด อาจารย์โรงเรียนปอเนาะอะ-มานะตุรเราะห์มาน ตำบลระแว้ง อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ซึ่งทำโครงการจัดตั้ง “โรงเรียนอัลกุรอานและภาษากาลามุลลอฮ์” สอนการอ่านคัมภีร์อัลกุรอานแบบกีรออาตีย์ในอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี มักเล่าให้คนที่มาเยี่ยมเยียนฟังเช่นนี้

เดิมที การสอนอ่านคัมภีร์อัลกุรอานในพื้นที่แถบนี้ เป็นการสอนแบบเดิมที่เรียก “บัฆดาดี” ซึ่งอดุลย์เล่าว่า “เด็ก ๆ แม้จบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ก็ยังอ่านคัมภีร์อัลกุรอานไม่ได้ อ่านได้ก็อ่านแบบได้หน้าลืมหลัง”

ทำให้อดุลย์หันไปหาวิธีการอ่านแบบ “กีรออาตีย์” ซึ่งเป็นหลักสูตรการอ่านที่นำเข้ามาจากอินโดนีเซีย มีต้นแบบมาจากอุสตาซฮัจยี ดะฮฺลัน ซาลิม ซัรกาซี (Ustaz Haji Dahlan Salim Zarkasyi) ที่ริเริ่มการสอนแบบกีรออาตีย์ในอินโดนีเซียมาตั้งแต่ปี ๒๕๐๙ ซึ่งก่อให้เกิดการพัฒนาตำราแบบฝึกหัดการเรียนอัล-กุรอานอย่างคึกคัก

วิธีการเรียนอัลกุรอานแบบกีรออาตีย์เข้ามาในเมืองไทยตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ จากความพยายามของ สุนทร ปิยะวสันต์ หลังจากที่เขาพยายามอบรมครูและวิทยากรมุสลิมในพื้นที่มานานหลายปี และพยายามเปิดโรงเรียนสอนอ่านอัลกุรอานด้วยวิธีนี้โดยเฉพาะขึ้น หลักสูตรนี้ก็เริ่มเห็นผลในปี ๒๕๕๑

“การเรียนแบบกีรออาตีย์เริ่มจากเด็กต้องรู้จักพยัญชนะอาหรับ ๒๘ ตัว มีการเปรียบเทียบพยัญชนะแต่ละตัวกับสิ่งของเพื่อช่วยให้จำง่ายขึ้น

เช่น ‘อาลีฟ’ ที่มีลักษณะเหมือนกับเลข 1 ก็จะนำไปเปรียบกับเสาธง ส่วนสระ ตัวอย่างคือ ฟัตฮะ หรือ ‘สระบน’ ก็จะเทียบได้กับสระอาในภาษาไทย ระหว่างสอนพบว่าวิธีนี้ทำให้เด็กสนใจเรียนมากกว่าวิธีการแบบเดิม” อาจารย์อดุลย์อธิบาย


เด็กๆ กำลังอ่านคัมภีร์อัลกุรอานจากที่เคยยาก กลับง่ายขึ้นเมื่อเรียนการอ่านแบบ “กีรออาตีย์”

เขายังเสริมว่าวิธีนี้ต่างจากเดิมที่ให้จำเป็นประโยค ๆ ซึ่งยากกว่ามาก และจะใช้ครู ๑ คนต่อเด็ก ๑๕ คน ซึ่งการเรียนเป็นกลุ่มทำให้สังเกตและสอนเด็กแต่ละคนได้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น และยังทำให้เด็ก ๆ ได้ช่วยเพื่อนที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน

“การเรียนการสอนไม่ได้จำกัดว่าเด็กต้องอ่านได้กี่หน้า คนขยันก็จะสามารถอ่านจบเล่มได้ก่อนเพื่อน ๆ ทำให้สามารถก้าวไปเรียนคัมภีร์อัลกุรอานเล่มใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว หลังการสอนยังอาจมีกิจกรรมเสริมด้วยการเล่าประวัติศาสตร์อิสลาม นิทานเกี่ยวกับเหล่านบี เป็นต้น”

สุนทร ปิยะวสันต์ ยังอธิบายว่า “โรงเรียนสอนอ่านคัมภีร์อัลกุรอานนั้นถือว่าเป็นการศึกษาตามอัธยาศัย ต่างจากการศึกษาตามปรกติของโรงเรียนปอเนาะ สิ่งที่ผมทำก็คือการสอนพิเศษนั่นเอง เป็นการเรียนเสริมจากชั้นเรียน”

การเรียนวิธีการอ่านอัลกุรอานที่โรงเรียนอัลกุรอานและภาษากาลามุลลอฮ์ ซึ่งตอนนี้เป็นเพียง “โครงการจัดตั้งโรงเรียน” เริ่มตั้งแต่เวลา ๑๘.๑๕
-๒๐.๔๕ น. เด็ก ๆ ที่มาเรียนต่างสวมเครื่องแต่งกายแบบมุสลิม คือ ผู้ชายใส่เสื้อโต๊บสีขาว กางเกงขายาวสีขาว สวมกะปิเยาะห์ (หมวก) สีขาว ผู้หญิงใส่ชุดอาบายะห์ (ชุดยาว) สีดำ สวมผ้าคลุมยาวสีดำ สวมถุงเท้าสีดำ โดยพวกเขาจะทำละหมาดร่วมกันก่อนเริ่มเรียน

ทั้งนี้ รูปแบบการเรียนอัลกุรอานที่เปลี่ยนไปมีผลกับคนในพื้นที่และมีผลต่อเนื่องมาถึงการอยู่ร่วมกันในสังคมกับคนที่นับถือศาสนาอื่น ๆ

“เราพยายามนำการเรียนแบบกีรออาตีย์มาแก้ปัญหาสังคม ไม่ว่าเด็กติดเกม ติดยาเสพติด ฯลฯ เพราะมีข้อกำหนดว่าต้องมีระเบียบวินัย มีการสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน“ รองผู้อำนวยการโรงเรียนปอเนาะอะมานะตุรเราะห์มานเล่าให้ฟัง

กิจกรรมที่ว่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของการเรียน ไม่ว่าการละหมาดร่วมกัน การทดสอบอ่านอัลกุรอานในชั้นเรียนที่ผู้อ่านต้องจับมือครูกล่าว “สลาม” ก่อนและหลังการอ่านคัมภีร์ มีกิจกรรมนอกเวลาคือเชื่อมสัมพันธ์ชุมชน อาทิ ไปเยี่ยมกุโบร์ (สุสาน) สอนเด็กอ่านซางี (ชีวประวัติของท่านศาสดามูฮำหมัดในรูปแบบร้อยกรอง) โดยช่วงปิดภาคเรียนของโรงเรียนรัฐบาล เด็ก ๆ ที่มาเรียนที่นี่มีเวลาพอที่จะจัดกลุ่มออกไปร้องตามบ้านผู้ปกครองทุกบ้าน ซึ่งผู้ปกครองบางคนก็จะมอบของที่ระลึกให้แก่เด็ก เลี้ยงอาหาร และมอบเงินสนับสนุนกิจกรรม

ตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ ที่ผ่านมา การสอนแบบกีรออาตีย์ในพื้นที่ตำบลระแว้ง อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในโครงการ “แนวทางการพัฒนาทักษะการอ่านและการสอนอัลกุรอานที่ถูกต้องตามหลักการอ่านแบบกีรออาตีย์ ต. ระแว้ง อ. ยะรัง จ. ปัตตานี” มีการไปดูงานศูนย์กีรออาตีย์ศูนย์อื่น ๆ ที่ตั้งกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงและนำมาพัฒนาศูนย์กีรออาตีย์ในชุมชน โดยชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลและบริหารงาน มีการอบรมบุคลากรครู และผลิตหนังสือประกอบการสอนออกมาจำนวนหนึ่ง

ทุกวันนี้การเรียนการสอนแบบกีรออาตีย์กำลังได้รับความนิยมนำไปปรับกับหลักสูตรปรกติของโรงเรียนปอเนาะในพื้นที่

หลายคนโดยเฉพาะคนไทยพุทธอาจมีคำถามว่า การส่งเสริมและพัฒนาหลักสูตรการอ่านคัมภีร์อัลกุรอานให้เกิดความเข้าใจอย่างแท้จริงเพื่อเยาวชนมุสลิมในพื้นที่ชายแดนภาคใต้นั้น จักก่อผลแบบใด

คำถามนี้อาจารย์อดุลย์ไม่ได้ตอบแต่เราคงพอมองเห็นแล้วว่าการอ่านที่นำไปสู่ความเข้าใจหลักศาสนาอย่างแท้จริงนั้นย่อมไม่นำไปสู่ความรุนแรง

เพราะศาสนาทุกศาสนาไม่เคยสอนให้คนฆ่ากัน ไม่ว่าจะในนามของอะไรก็ตาม

ขอขอบคุณ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)