มายาดีมีจริงหรือ

ผมครุ่นคิดคำถามนี้ทุกครั้ง เมื่อได้ยินหรือได้เห็น “พฤติกรรมดี” ของคนร่วมสมัยในสังคม ซึ่งมากับรูปแบบที่ตั้งใจ “ปรุงแต่ง” ให้หวือหวา โดยมีเหตุผลรองรับแบบคลาสสิกทำนองว่า “บางครั้งสิ่งที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น ยา ผัก ตำราเรียน หรือธรรมะ อาจต้องนำมาเคลือบลายใส่สีสดใสเหมือนลูกกวาด เพื่อชักจูงให้คนสนใจเข้ามาหามันมากขึ้น”–เป็นกุศโลบายผลักดันให้คน “ใฝ่ดี” ด้วยการ “ลวงล่อ” โดยหวังว่าเปลือกภายนอกที่ไม่ใช่แก่นแท้นั้น จะชักนำให้คนติดกับ รับสารแห่งความดีเข้าไปเองโดยไม่รู้ตัว

กับแนวคิดอย่างนี้ ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า ยาที่ถูกเคลือบสารเคมีหวานๆ จะยังคงสภาพเป็นยาตัวเดิมอยู่หรือ ผักชุบแป้งทอดยังให้คุณค่าดังที่มันมีในสภาพสดดิบได้ไหม ตำราเรียนถ้าเขียนโดยดาราวัยรุ่นหรือนักแสดงตลก จะหลงเหลือความรู้ความเข้าใจที่แท้จริงมากน้อยกี่เปอร์เซ็นต์ และธรรมะ หากชี้ชวนโดยพระหรือวัดที่มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์ตัวเองและคำสอนสั่งงมงายเพียงเพราะหวังผลเป็นปัจจัย จะทำให้คนหัดรู้จักตัดกิเลสเพื่อบรรเทาความทุกข์ได้จริงแค่ไหน

บางทีความขม ความยาก ความลำบาก ความไม่บันเทิง อาจเป็นสัดส่วนสำคัญของสิ่งมีประโยชน์เหล่านั้น และการ “เคลือบ” หรือปรุงแต่งมันด้วยมายา นอกจากจะทำให้คนเกิดความเข้าใจผิดๆ (เช่นเชื่อว่าเครื่องดื่มผสม “กลิ่น” ชาเขียว ดีต่อสุขภาพ) ยังเป็นการบิดเบือนให้คุณค่าที่แท้ของมันกลายพันธุ์ไปด้วย

ของดีที่ไม่มีใครแตะต้อง ยังดีกว่าของดีที่ถูกฉีดยาพิษเข้าไปในเส้นเลือด–หลายครั้งผมรู้สึกอย่างนั้น

ทำให้นึกถึงสำนวนเซนในภาษาอังกฤษ: Even a good thing is not as good as nothing. แม้แต่การมีสิ่งดีก็ยังไม่ดีเท่าการไม่มีอะไรเลย

รายการทีวีอายุยังเยาว์ที่ชื่อ “หลุมดำ” เป็นหนึ่งในรายการประเภท “สาระ” จำนวนไม่มากที่คนดูจำนวนไม่น้อยชื่นชมว่ามีคุณภาพ คำสรรเสริญนั้นไม่น่าแปลกใจเลย เมื่อรู้ว่าผู้ผลิตคือบริษัททีวีบูรพา ที่สร้างความศรัทธามหาศาลมาก่อนแล้วจากรายการ “คนค้นฅน” แม้ผมจะไม่ใช่นักดูทีวี และได้ดูรายการ “คนค้นฅน” เพียงไม่กี่ตอน แต่กระแสความศรัทธาของผองชนก็โชยมากระทบถึงผมด้วย และยิ่งเมื่อได้สัมผัสความนึกคิด มุมมองต่อสังคมของคุณ (พี่) เช็ค-สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ-พ่อบ้านใหญ่แห่งทีวีบูรพา ผ่านตัวหนังสือและจากการพบเจอตัวจริงเสียงจริง ยิ่งเป็นเรื่องยากที่จะปฏิเสธความเป็น “ของแท้” กับความมุ่งมั่นในอุดมการณ์ของผู้ผลิตรายการโทรทัศน์กลุ่มนี้

การทุ่มเทเวลาให้แก่การค้นคว้าข้อมูล และการออกภาคสนามถ่ายทำจริงอย่างสมบุกสมบันของทีวีบูรพา เป็นขั้นตอนการทำงานที่น่ายกย่องเมื่อวัดจากมาตรฐานรายการโทรทัศน์เมืองไทย ยิ่งไปกว่านั้น หลายต่อหลายคนที่รายการ “คนค้นฅน” หยิบยกมาเป็นประเด็นนำเสนอ ล้วนมีความน่าสนใจในระดับกว้าง ช่วยเพิ่มแง่คิด เปิดหูเปิดตานักดูทีวีที่โดยปรกติได้เห็นเพียงดารา นักร้อง ไฮโซ หน้าเดิมๆ วนเวียนกันเล่นเกมโชว์อย่างไม่รู้เบื่อมาเป็นทศวรรษ

รายการ “คนค้นฅน” มีประสิทธิภาพมากถึงขั้นสามารถเปลี่ยนแปลงสถานการณ์บางอย่างในสังคม เมื่อคนดูสะเทือนใจหรือได้แรงบันดาลใจจากบุคคลที่พวกเขาเห็นผ่านจอ–นี่เป็นอีกกรณีหนึ่งที่พิสูจน์ว่าสื่อดีมีบทบาทกระทบกระเทือนความเป็นไปในโลกได้จริง

รายการอย่าง “คนค้นฅน” น่าจะเป็นตัวอย่างของการผลิตงาน “เพื่อชีวิต” ที่ตรงความหมายและเห็นผลเป็นรูปธรรม มากกว่าความเป็น “เพื่อชีวิต” ลักษณะอื่นๆ ที่ไม่ชัดเจนว่าทำเพื่อชีวิตใครกันแน่ ชีวิตคนอื่น หรือชีวิตตัวคนผลิตเอง

แม้จะมีบางรายละเอียดที่ผมไม่ค่อยเห็นด้วย เช่นเสียงดนตรีประกอบที่จงใจครวญครางสร้างความสะเทือนใจต่อเนื่องกันตลอดเวลา เหมือนอยากให้เคลิบเคลิ้มไปว่าชีวิตบางคนน่าสงสารไปเสียทุกอิริยาบถ เปิดประตูบ้านก็น่าสงสาร เดินก็น่าสงสาร ขึ้นรถก็น่าสงสาร กะพริบตาก็น่าสงสาร รวมถึงเทคนิคสโลว์โมชันที่จงใจเน้นความน่าสงสารเหล่านั้นให้น่าสงสารแบบช้า…ช้า จนน่าสงสารยิ่งกว่าเดิมไปกันใหญ่ แต่ก็ถือเป็นสัดส่วนความไม่ชอบน้อยนิด เมื่อเทียบกับความทึ่งในคุณภาพและความเอาจริงกับด้านสำคัญอื่นๆ ของรายการโดยรวม

“หลุมดำ” ดูเหมือนจะเป็นอีกความตั้งใจหนึ่งของทีวีบูรพาที่ต้องการ “สะกิดเตือน” สังคม โดยเน้นการนำเสนอประเด็น “มืดๆ” ของพฤติกรรมคนร่วมสมัย โดยเฉพาะวัยรุ่น หรือที่สื่อนิยมนิยามว่า “คนรุ่นใหม่”

เนื่องจากผมดูทีวีไม่บ่อยดังที่บอกไว้แล้ว จึงไม่ได้รับรู้ว่าผู้ผลิตรายการ “หลุมดำ” เคยออกมาอธิบายจุดประสงค์หรือจุดยืนของรายการบ้างหรือยัง ความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาของรายการเป็นบทสรุปที่ผมไตร่ตรองจากการได้ดูเองสองสามตอน ตอนหนึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับสาวใจแตกที่ตกดึกไม่ทำอะไรนอกจากออกไปซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ของหนุ่มแก๊งนักซิ่งป่วนเมือง ที่สร้างความรำคาญแก้วหูให้คนจะหลับจะนอนในหลายจุดของกรุงเทพฯ และอีกตอนหนึ่งคือตอน “การ์ตูนสายพันธุ์ใหม่” ที่กลายเป็นกรณีถกเถียงรุนแรงถึงขั้นได้รับเชิญไปออกรายการ “ถึงลูกถึงคน” เพื่อให้คนดูทำความเข้าใจกับความเห็นที่แตกต่างระหว่างฝ่ายผู้ผลิต “หลุมดำ” กับฝ่ายคนดูที่คิดว่า “หลุมดำ” นำเสนอเนื้อหาเกินเลยและไม่เป็นธรรมต่อแวดวงหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น

กรณี “ภัย” จากหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นเป็นประเด็นที่มีมาตั้งแต่ผมตัวสูงกว่าหมาไทยขนาดมาตรฐานนิดเดียว และในฐานะที่ผมเองก็เป็นหนึ่งใน “เหยื่อ” การ์ตูนญี่ปุ่นอยู่พักใหญ่ ต้องรายงานการสังเกตให้ทราบว่า หากเทียบกับสมัยนี้ การ์ตูนประเภทลามกเรตเอกซ์ โหดเหี้ยมเลือดสาด หรือวิปริตวิตถาร ในสมัยของผมดูเหมือนจะมีมากและเกลื่อนกลาดกว่าเสียอีก ตอนผมเรียนมัธยม เดินออกไปนอกรั้วโรงเรียนสองสามก้าวก็สามารถหาการ์ตูนโป๊อ่านได้ในราคาย่อมเยาทันที (มิน่า ผมถึงกลายเป็นคนโรคจิตอย่างที่เป็นอยู่) หนำซ้ำหลายสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ที่ครองตลาดการ์ตูนในปัจจุบัน เมื่อก่อนต้องถือว่าทำธุรกิจผิดกฎหมาย เป็นอาชญากร เพราะไม่มีการขอลิขสิทธิ์การแปลพิมพ์ขายใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้น สำหรับผู้ศึกษาประวัติศาสตร์การนำเข้าการ์ตูนญี่ปุ่นที่ละเอียดลออจริง น่าจะสรุปว่าสถานการณ์ด้านนี้ดีขึ้นกว่าเดิม และมีการคัดสรรการ์ตูน “ดี” เข้ามามากขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจที่การ “ตัดสิน” ของรายการ “หลุมดำ” ผ่านรูปแบบและเทคนิคภาพ จะสร้างความปั่นป่วนใจในหมู่คอการ์ตูนญี่ปุ่น เพราะดูเหมือนทางรายการจะยัดเยียดให้ร้ายการเสพการ์ตูนเพียงอย่างเดียว โดยไม่เน้นความเป็นจริงที่ว่า สื่อทุกรูปแบบล้วนมีด้านที่เป็นประโยชน์และเป็นโทษ ไม่ว่าจะในวงการการ์ตูน วงการอินเทอร์เน็ต หรือวงการธรรมะ–หากให้เปรียบเทียบ จำนวนหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นที่มีเนื้อหาดี น่าจะมีมากกว่าจำนวนรายการทีวีที่ดีด้วยซ้ำ

การถ่ายภาพเด็กนักเรียนอ่านหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นผ่านแสงอินฟราเรดเขียวๆ หม่นๆ ไหวๆ ย่อมทำให้ดูเป็นพฤติกรรมที่มีพิรุธและน่ารังเกียจ แต่หากนักเรียนคนเดียวกันนั้นนั่งอยู่ใต้ร่มไม้ที่มีลำแดดสอดส่องสีส้มละมุนละไม ย่อมแลดูอบอุ่นน่าเอ็นดู เหมือนโฆษณาซุปไก่สกัดไม่ผิดเพี้ยน ทั้งๆ ที่หนังสือการ์ตูนในมือเป็นเล่มเดียวกัน

ภาพทั้งสองแบบไม่บ่งบอกแก่นสารที่แท้จริงในพฤติกรรมของเด็กแม้แต่น้อย

เขาอาจจะเติบโตขึ้นเป็นบุคคลตัวอย่างของสังคม (ที่อาจได้ออกรายการ “คนค้นฅน” สักวันหนึ่ง !) หรือเป็นนักข่มขืนฆ่าหั่นศพที่ไม่เกรงกลัวกฎหมาย

สัจธรรมของความไม่แน่นอนเป็นสิ่งซ้ำซากน่าเบื่อ-ใช่ แต่ไม่ได้แปลว่ามันควรถูกบิดเบือนให้หวือหวาจนคนเข้าใจผิดว่าทุกอย่างถูกตัดสินได้ง่ายๆ โดยไม่มองให้รอบด้านเสียก่อน แม้ว่าการบิดเบือนนั้นจะมาจากความตั้งใจที่ดีก็ตาม

ในบรรดาผู้ใหญ่ที่ผมรู้จักและนับถือ บางคนยังติดตามอ่านการ์ตูนญี่ปุ่น และบางคนนิยมอ่านเฉพาะเรื่องลามกวิตถารเป็นหลัก ด้วยเพราะชอบเอกลักษณ์ของลายเส้น เห็นมันเป็นศิลปะ (อย่าให้บอกว่าใครเลย เดี๋ยวต้องเซ็นเซอร์เบลอตัวหนังสือให้มากความกันไปอีก) แล้วอย่างนี้จะตัดสินคุณโทษกันอย่างไร

ไม่เพียงแต่เรื่องการ์ตูนญี่ปุ่น ทุกสื่อ ทุกรสนิยม ทุกความคลั่งไคล้ลุ่มหลงของเด็กและวัยรุ่นล้วนมีลักษณะคล้ายกัน นั่นคือเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งในปัจจัยอีกหลายต่อหลายอย่างของชีวิต กระทั่งการโดดเรียน การมั่วสุมซดเหล้าเมายา การเล่นเกมคอมพิวเตอร์–คุณภาพชีวิตและตัวตนของมนุษย์คนหนึ่งเป็นอย่างไร คงไม่สามารถตัดสินได้จากพฤติกรรมบางอย่าง หรืออิทธิพลจากบางสิ่งที่เขาหรือเธอหมกมุ่นในบางช่วงชีวิตเท่านั้น

หากรูปแบบของรายการ “คนค้นฅน” คือการ “สร้าง” ความสะเทือนใจและประทับใจให้คนดูด้วยเทคนิคกระชากความรู้สึก รูปแบบของ “หลุมดำ” ก็น่าจะเป็นการ “สร้าง” ความระทึกขวัญตื่นเต้น หรืออารมณ์ของการได้มีส่วนรู้เห็นเรื่อง “ลับๆ” ที่หากไม่ผิดกฎหมายก็ผิดศีลธรรม หรือเป็นความ “เหลวแหลก เหลวไหล ไร้สาระ” ในความเห็นของผู้ผลิตรายการ ผ่านเทคนิคต่างๆ เช่น ใช้แสงอินฟราเรดที่ให้ภาพเป็นสีเขียวๆ หม่นๆ และถ่ายภาพไหวๆ ให้ความรู้สึกแบบภาพ “แอบถ่าย” ซึ่งในบางสถานการณ์เป็นการแอบถ่ายจริง แต่บางสถานการณ์ก็จงใจแสร้งว่าแอบถ่ายทั้งๆ ที่สามารถจัดแสงให้สว่างชัดเป็นปรกติได้ อย่างช่วงที่มีนักวิเคราะห์หรือผู้รู้เฉพาะด้านมานั่งออกความเห็นคั่นภาพจากภาคสนาม และที่ขาดเสียไม่ได้คือเทคนิค “เบลอ” ใบหน้าของผู้ถูกสัมภาษณ์ในที่สาธารณะ หรือเจ้าตัวที่เป็นประเด็นหลักของแต่ละตอน เพื่อปกป้องตัวตนที่แท้จริง ในลักษณะที่เราเห็นบนภาพเซ็นเซอร์ หรือภาพคนพรางกายด้วยหมวกแก๊ปและแว่นตาดำ บางภาพเบลอขนาดหนักจนไม่เห็นอะไรเลยทั้งจอ ชวนให้สงสัยว่าจะเสนอภาพทำไม ให้ฟังแต่เสียงเสียก็สิ้นเรื่อง

แต่สาเหตุของการนำเสนอเทคนิคเหล่านั้นคือ “เอ็ฟเฟ็กต์” (effect) ที่ผู้ผลิตรายการต้องการสร้างให้เกิดกับโสตประสาทคนดู การมองไม่เห็นอะไรเลยนั่นเองที่ชักจูงความสนใจให้คน “อยาก” เห็นมากยิ่งขึ้น หรือมิเช่นนั้นก็ทำให้เกิดความรู้สึกร่วม ว่าพฤติกรรมของคนบนจอเป็นเรื่องน่าสมเพช น่าอับอาย และไม่แนะนำสำหรับพลเมืองดี–จากดนตรีประกอบเฉื่อยช้าน่าเคลิ้มหลงจนหลั่งน้ำตา กลายเป็นดนตรีเขย่าขวัญ กระแทกอารมณ์ให้ขนลุกขนพอง เหมือนดูหนังอาชญากรรม

หาก “คนค้นฅน” คือรายการเชิดชูความดี คงไม่ผิดนัก หากจะบอกว่ารายการ “หลุมดำ” คือรายการ “เปิดโปง” ความเสื่อมทรามในสังคม หรืออาจใช้คำว่า “investigative journalism”–สื่อสืบสวนที่เน้นการตรวจสอบสภาพทรุดโทรมของสังคมเป็นหลัก

ทว่าเป็นความทรุดโทรมและเสื่อมทรามในสายตาใคร ที่สำคัญ “มายา” ที่ถูกอัดฉีดใส่รูปแบบรายการให้ดูเหมือนเป็นคำพิพากษาถูก-ผิด โดยการตัดสินใจของฝ่ายนำเสนอแต่ฝ่ายเดียว (รวมถึงนักวิเคราะห์ทั้งหลาย ที่ล้วนออกความเห็นให้ท้ายรายการเหมือนกันทุกคน และการสัมภาษณ์คนทั่วไปที่เจาะเฉพาะผู้มีทัศนคติ “เข้าทาง” ของรายการเท่านั้น) ถือเป็นการ “บิดเบือน” และ “ปรักปรำ” ข้อเท็จจริงที่ละเอียดอ่อนเกินการตัดสินชุ่ยๆ ได้หรือไม่

ข้อมูลต่างๆ ที่ผู้ผลิตรายการนำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นใด ล้วนน่าสนใจและมีประโยชน์ในแง่การขยายความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพสังคมให้คนดูหูตากว้างไกลขึ้น ดังนั้นคงไม่มีใครตั้งข้อสงสัยกับ “ความตั้งใจดี” ของรายการ “หลุมดำ” ทว่าอันตรายที่แฝงมากับมายาปรุงแต่งเพื่อสร้างสีสันให้รายการมีรูปแบบหวือหวาน่าติดตาม แต่โอนเอียงไปด้านเดียวอย่างชัดเจน เป็นเรื่องควรพิจารณาไม่ใช่น้อยว่าเหมาะสมกับการสะท้อนความจริงแล้วหรือ

คงต้องเสริมอีกว่า มายาปรุงแต่งแบบนี้ก็เป็น “อิทธิพลวัฒนธรรมต่างประเทศ” ที่มาจากการผลิตรายการโทรทัศน์ฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะรายการจากอเมริกา มหาอำนาจแห่งการปรุงแต่ง ที่มุ่งเน้น “sensation” หรือการกระตุ้นอารมณ์เกินธรรมชาติ เพื่อสร้างเรตติ้งให้คนนั่งตาติดจอ ไม่อยากลุกไปไหน

การใช้รสหวานและสีสันสดใสเคลือบไว้กับยา ผู้เคลือบควรต้องระมัดระวัง ไม่หลงสนุกไปกับกิจกรรมการเคลือบจนลืมอธิบายให้ผู้เสพเข้าใจในภายหลังว่ารสหวานและสีสันนั้นเป็นเพียงกลลวงที่นำสู่คุณประโยชน์แก่นกลาง

ผมว่ามายาในสื่อก็เช่นกัน–มันควรเปิดโปงตัวมันเองในที่สุด ว่ามันคือสีสันที่เล่นเป็นทั้งบทร้ายและดี

และในตัวมันเองมีแต่ความว่างเปล่า

ไม่มีสิทธิ์ออกความเห็นใดแทนใครได้เลย