เรื่อง : คำข้าว
ภาพประกอบ : วายูร
ฟังแล้วมีแต่แง่ลบนะคำนี้ ไม่เป็นกลางอย่างเขาอื่น
ยิ่งติดลบยกกำลังเข้าไปอีก ถ้าหากคนฟังเป็นดาราหรือคนดัง
คำนี้ดังถึงขีดสุดในปีที่เจ้าหญิงไดอานาสิ้นพระชนม์ เป็นปีที่คนทั้งโลกรู้จักและไม่ลืมวีรกรรมของปาปาราซซีในฐานะเป็น “พวกมือเปื้อนเลือดที่ทำลายชีวิตของเจ้าหญิงที่คนทั้งโลกรักมากที่สุด แม้กระทั่งหลังจากที่เธอจากไปแล้ว ก็ยังทำร้ายเธอซ้ำด้วยการนำภาพรถยนต์ที่พังยับเยินคันนั้นมาขาย”
มีคนซื้อภาพที่ว่านั่นด้วย… ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็หนังสือพิมพ์แทบลอยด์ของอังกฤษนั่นเอง และคนซื้อหนังสือพิมพ์ก็ไม่ใช่ใครที่ไหนอีกเหมือนกัน…
จึงแม้วันนี้คนจะด่าเผ่าพันธุ์ปาปาราซซีกันมาอย่างต่อเนื่อง แต่อาชีพที่ว่าก็ยังไม่เคยสูญพันธุ์เลย
ปาปาราซซี เป็นพหูพจน์ของ ปาปาราซโซ (paparazzo) หมายถึงช่างภาพ-ทั้งภาพนิ่งและเคลื่อนไหว-ที่คอยติดตามดาราคนดังไปตามที่ต่างๆ เพื่อถ่ายภาพในยามที่เขาไม่ได้อยากให้ถ่าย โดยเฉพาะในเวลาที่เป็นส่วนตัว ที่ไม่ค่อยได้ยินคำว่าปาปาราซโซ ก็เพราะเขาทำงานกันเป็นหมู่คณะ
ปี ค.ศ. ๑๙๖๐ คำนี้ปรากฏเป็นครั้งแรกจากหนังเรื่อง La Dolce Vita (ภาษาอิตาลี–แปลว่า The Sweet Life) ของผู้กำกับคนดัง เฟเดอรีโค เฟลลีนี แถมยังเป็นหนังที่ได้รางวัลจากเทศกาลหนังเมืองคานส์และกลุ่มนักวิจารณ์ภาพยนตร์นิวยอร์กเสียด้วย
หนังพูดถึงชีวิตของนักเขียนคอลัมน์ซุบซิบชื่อ Marcello ที่ต้องใช้ชีวิตกลางคืนในวงสังคมชนชั้นกลางในโรมเพื่อหาข่าวฉาว กับเพื่อนช่างภาพชื่อ Paparazzo ซึ่งเฟลลีนีร่างภาพตัวละครตัวนี้ไว้เป็นภาพลายเส้นให้มีลักษณะ “เหมือนมนุษย์ที่ไม่มีโครงกระดูก” กำลังยกกล้องขึ้นสูงเพื่อกดชัตเตอร์ “ดูเหมือนแมลงดูดเลือด เป็นนัยว่าพวกปาปาราซซีก็เหมือนยุง และเหมือนปรสิต”
ต้นกำเนิดจริงๆ ของคำว่า paparazzo ยังเป็นที่ถกเถียงกัน บ้างบอกว่าเป็นคำที่เลียนเสียงคำ papataceo ในภาษาซีซีลีที่แปลว่า ยุงขนาดยักษ์ บ้างว่ามาจากคำในภาษาอิตาลี papatacci หรือตัวริ้น ผสมกับคำว่า razzi ที่แปลว่า แสงแฟลชที่วาบขึ้น ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้งานร่วมกับยานยนต์ประเภทมอเตอร์ไซค์ เรือเร็ว และเครื่องมือสื่อสารประเภทไฮเทค
เมื่อหนังออกฉายในอิตาลีครั้งแรก คำว่าปาปาราซซีก็กลายเป็นคำเหมือนของ “ช่างภาพสอดรู้สอดเห็นผู้ไล่ล่าดาราเพื่อบันทึกภาพลับลงบนฟิล์ม” เฟลลีนีบอกว่า ที่จริงเขาไม่ได้ตั้งใจจะเสียดสีพวกช่างภาพเลย เป้าหมายของเขาคือพวกนักข่าวหนังสือพิมพ์และนิตยสารรายสัปดาห์ที่กระหายข่าวมากกว่า
ปีถัดมา หลังจากหนังเข้าฉายที่อเมริกา คำนี้ก็ปรากฏแก่สาธารณะเป็นครั้งแรกเมื่อนิตยสาร ไทม์ ตีพิมพ์บทความว่าด้วยการล่าเหยื่อของปาปาราซซี (Paparazzi on the Prowl) โดยมีภาพประกอบบทความเป็นภาพหมู่นักข่าวกำลังรุมขวางรถของเจ้าหญิงพระองค์หนึ่งระหว่างการเสด็จเยือนกรุงโรม เป็นการเบิกโรงการใช้คำนี้ในหน้าสิ่งพิมพ์บันเทิงทั่วโลกและในวงการทีวีในเวลาต่อมา
ก่อนจะมาฮิตที่เมืองไทยในปีหลังๆ นี้