เพ็ญศิริ จันทร์ประทีปฉาย : เรื่อง
วิจิตต์ แซ่เฮ้ง : ภาพ

“ทันทีที่เราออนไลน์ อันตรายมันก็วิ่งเข้ามาหาเรา”

ฟังดูเว่อร์ไปใช่มั้ย ?

ใครเลยจะคาดคิดว่าอุปกรณ์ไร้ชีวิตอย่างคอมพิวเตอร์ซึ่งตั้งอยู่ในบ้านของเราเอง–บ้านที่มีรั้วรอบขอบชิด มีลูกกรงเหล็กดัด ติดตั้งระบบกันขโมย แถมเลี้ยงหมาเฝ้าบ้านพันธุ์ที่ดุที่สุด–จะเชื้อเชิญอาชญากรให้มาถึงตัวเราได้

สำหรับสถานการณ์ในปัจจุบัน คำพูดข้างต้นไม่ได้เกินจริง มนุษย์กำลังเผชิญกับอาชญากรรมรูปแบบใหม่ โจรผู้ร้ายเป็นพวกมีการศึกษาสูง เลิกใช้กำลังฉกชิงวิ่งราวให้เหนื่อยแรง เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้การก่ออาชญากรรมง่ายขึ้น ได้เงินมากขึ้น และเสี่ยงต่อการถูกจับกุมน้อยลง อาวุธประเภทมีดหรือปืนน่ะหรือ…ลืมไปได้เลย แค่มีเครื่องคอมพิวเตอร์กับอินเทอร์เน็ต เจ้าโจรไฮเทคก็สามารถนั่งจิบกาแฟสบายใจเฉิบอยู่ที่ไหนก็ได้ในโลก แล้วล่อให้เหยื่อจำนวนมากเข้ามาติดกับ กอบโกยผลประโยชน์เข้ากระเป๋าแบบสบาย ๆ

เราเรียกอาชญากรรมรูปแบบใหม่นี้ว่า “อาชญากรรมทางเทคโนโลยี” หรือ “อาชญากรรมคอมพิวเตอร์” คือการใช้เทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ มือถือ หรืออุปกรณ์ไฮเทคอื่น ๆ เป็นเครื่องมือช่วยในการกระทำความผิด ลักษณะของอาชญากรรมประเภทนี้ คือ รวดเร็ว กินพื้นที่กว้างขวางทั่วโลก และสืบสวนติดตามจับกุมได้ยาก ช่องทางการกระทำความผิดมีทั้งทางเว็บไซต์, เว็บบอร์ด, ห้องสนทนา, อีเมล, ICQ, MSN และ SMS รูปแบบก็มีสารพัดตั้งแต่หมิ่นประมาท ฉ้อโกง ก่อการร้าย การพนัน ค้าประเวณี ขายสินค้าผิดกฎหมายจำพวกยาเสพติด สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ วัตถุลามกอนาจาร เผยแพร่ภาพโป๊ การเจาะระบบ (hacking) เพื่อขโมยข้อมูลหรือเปลี่ยนหน้าเว็บเพจ และอื่น ๆ อีกมากมายเท่าที่สติปัญญาของมนุษย์จะคิดขึ้นมาได้

เมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติประเมินว่าสถานการณ์ของอาชญากรรมไฮเทคนี้กำลังทวีความรุนแรงขึ้น ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานหรือกฎหมายใด ๆ มารองรับ จึงมีการคัดสรรเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์เข้ามาปฏิบัติงานช่วยราชการเพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว จัดตั้งเป็นหน่วยงานชั่วคราวที่เรียกว่า “ศูนย์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี” (High Tech Crime Center) เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๔๗ โดยเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ได้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรอาชญากรรมคอมพิวเตอร์จากสำนักงานรักษาความมั่นคงทางการทูต สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และในเดือนเมษายน ๒๕๔๘ นี้จะมีการปรับโครงสร้างเป็น “กองบังคับการวิเคราะห์และตรวจสอบอาชญากรรมทางเทคโนโลยี” ซึ่งจะทำให้มีความชัดเจนในการทำงานยิ่งขึ้น

เราขอเรียกเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำศูนย์ฯ นี้ด้วยชื่อที่ไม่เป็นทางการแต่ฟังดูล้ำสมัยว่า “ตำรวจไซเบอร์”

ภารกิจใหม่ของเหล่ามือปราบ
แหล่งข่าวของเราในครั้งนี้คือตำรวจไซเบอร์ ๓ นาย จากทั้งหมด ๕ นายที่ประจำอยู่ที่ศูนย์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี ประกอบด้วย พ.ต.ท. ธนาวุฒิ จงจิระ พ.ต.ต. นิเวศน์ อาภาวศิน และ ร.ต.ท. ยศพัทธ์ ศรีวิสทิยกุล

โดยตำแหน่งจริง ๆ นั้น พ.ต.ท. ธนาวุฒิเป็นรองผู้กำกับการอำนวยการ ตำรวจภูธรจังหวัดลพบุรี ไม่ได้จบด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Sciences) แต่มีความชอบเทคโนโลยีเป็นทุนเดิมอยู่ จึงเรียนรู้ด้วยตัวเองมาตลอด

สารวัตรนิเวศน์และหมวดยศพัทธ์ได้รับการคัดสรรมาจากกองกำกับการ ๒ ศูนย์ข้อมูลข้อสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่พัฒนาระบบคอมพิวเตอร์สำหรับการใช้งานของตำรวจ ทั้งสองจึงมีประสบการณ์ในคดีอาชญากรรมคอมพิวเตอร์มาก่อนที่จะมีการจัดตั้งศูนย์ฯ เพราะมักได้รับการร้องขอจากเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ให้ไปช่วยในคดีต่าง ๆ ที่เกี่ยวพันกับอุปกรณ์ไฮเทคนี้อยู่เสมอ

สารวัตรนิเวศน์นั้นมีดีกรีจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจและปริญญาโทวิทยาการคอมพิวเตอร์ จึงมีความรู้ทั้งเรื่องคอมพิวเตอร์ งานสืบสวน และกฎหมายในคดีรูปแบบปรกติ ส่วนหมวดยศพัทธ์เรียนจบด้านวิศวกรรมไฟฟ้า แล้วมาต่อปริญญาโทวิทยาการคอมพิวเตอร์ จึงมีความเชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์มากกว่างานด้านสืบสวนสอบสวน

ศูนย์อาชญากรรมทางเทคโนโลยีแห่งนี้จึงเป็นที่รวมคนที่เก่งคอมพิวเตอร์ รอบรู้เรื่องกฎหมาย และเชี่ยวชาญกลยุทธ์แบบตำรวจ เข้ามาช่วยกันทำงาน

สำหรับกำลังพลที่มีเพียง ๕ นาย แน่นอนว่าภารกิจหลักไม่ใช่การไล่ล่าอาชญากรกันแบบรายวัน แต่เน้นหนักไปที่การ “เตรียมความพร้อม” ให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อกฎหมายอาชญากรรมคอมพิวเตอร์มีผลบังคับใช้

“ภารกิจของเราคือผลักดันให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศสามารถทำงานสืบสวนติดตามคดีอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ได้ด้วยตัวเอง โดยในปีที่ผ่านมาเราได้ฝึกอบรมตำรวจฝ่ายสืบสวนปราบปรามและเจ้าหน้าที่ตรวจพิสูจน์หลักฐานไปแล้วจำนวนหนึ่ง ขณะเดียวกันเราก็คอยให้คำแนะนำและเข้าไปให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหา

“ส่วนภารกิจที่ทำเป็นกิจวัตร คือการตรวจสอบและสืบหาผู้กระทำผิด เรารับแจ้งเบาะแสเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมหรือผิดกฎหมายผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และทางอีเมล ถ้าตรวจสอบแล้วพบว่าเว็บดังกล่าวเป็นเว็บที่อยู่ต่างประเทศ เราจะแจ้งกระทรวงไอซีทีให้ทำการปิดกั้นไม่ให้ประชาชนในประเทศไทยเรียกดูได้ แต่ถ้าเป็นเว็บในประเทศไทย เราจะสืบหาตัวผู้กระทำผิด หาตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดนั้น ๆ มาปรับใช้ แล้วแจ้งตำรวจในพื้นที่ให้ดำเนินคดี เพราะเราเองไม่มีอำนาจในการจับกุม

“เราจะต้องทำให้ตำรวจในแต่ละพื้นที่ทำงานเองให้ได้ เนื่องจากมีงานอีกหลายอย่างรออยู่ ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันเรื่องกฎหมายและมาตรการป้องกัน เทคนิคการสืบสวน ติดตาม รวมถึงการกำหนดระเบียบวิธีปฏิบัติในการเก็บและตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นของจับต้องไม่ได้ การจะทำให้พยานหลักฐานเหล่านี้น่าเชื่อถือจึงต้องมีกระบวนการที่เป็นมาตรฐานสากล มีซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์เฉพาะที่ใช้ในการตรวจพิสูจน์ด้วย

“คนที่กระทำความผิดบนอินเทอร์เน็ตมักจะคิดว่าเขาได้ใช้เทคโนโลยีที่สุดยอดแล้ว ตำรวจไม่มีวันตามจับเขาได้ การที่เราสามารถสืบสวนด้วยเทคนิคที่เหนือกว่า แล้วตามจับเขาได้ จึงถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง ทั้งยังเป็นเครื่องกระตุ้นให้เรารักที่จะพัฒนาตัวเองในเรื่องเทคโนโลยีอยู่เสมอ”

โฉมหน้าอาชญากรรมในโลกเสมือนจริง
ในโลกที่เป็น “virtual” หรือโลกเสมือนจริงนั้นเต็มไปด้วยภัยหลากรูปแบบ บางครั้งภัยเหล่านั้นสามารถสร้างความเสียหายรุนแรงกว่าอาชญากรรมทั่วไป น่าแปลกที่แม้มนุษย์จะมีการศึกษาสูงขึ้น แต่กลับตกเป็นเหยื่อของอาชญากรไฮเทคได้ง่ายมาก เพียงเพราะถูกความโลภเข้าครอบงำ

“คนส่วนใหญ่ถูกหลอกเพราะอยากได้ของถูก ยอมโอนเงินไปให้เขาง่าย ๆ ทั้งที่ไม่ได้เห็นตัวสินค้าและคนขาย บางทีโดนหลอกไปในที่เปลี่ยวโดยคนร้ายอ้างว่าจะซื้อขายแบบยื่นหมูยื่นแมว พอไปแล้วก็โดนปล้น บางคนได้รับอีเมลมาจากต่างประเทศ บอกว่าคุณได้รับรางวัล ๑ แสนเหรียญ ให้โอนเงินไปก่อนเป็นค่าธรรมเนียม แบบนี้อย่าไปหลงเชื่อ อยู่ดี ๆ คงไม่มีใครมาให้เงินเราฟรี ๆ

“รูปแบบที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คือการเจาะระบบเพื่อขโมยข้อมูลหรือการหลอกให้พิมพ์ username, password และหมายเลขบัตรเครดิต การเข้าเว็บโป๊ก็เป็นอีกช่องทางที่เปิดโอกาสให้ซอฟต์แวร์อันตรายบุกเข้ามาขโมยข้อมูลในคอมพิวเตอร์ของเราไปได้โดยไม่รู้ตัว แต่กรณีที่สร้างความเสียหายรุนแรงคือการเจาะระบบเพื่อขโมยข้อมูลบัตรเครดิตของธนาคาร

“รูปแบบที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุดคือการโพสต์ข้อความหมิ่นประมาท ซึ่งถือเป็นคดีอาญา แม้ว่ากฎหมายอาญาไม่ได้กำหนดเอาไว้ว่า ในกรณีที่ใช้อินเทอร์เน็ต “พื้นที่เกิดเหตุ” อยู่ตรงไหน แต่เราก็สามารถนำกฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มาปรับใช้ได้ โดยให้คิดง่าย ๆ ว่าเราใช้งานที่ใดเป็นประจำ ก็ถือตรงนั้นเป็นจุดเกิดเหตุ แล้วไปแจ้งความที่ สน. พื้นที่นั้น เราจะตรวจสอบหาผู้กระทำผิดโดยการติดต่อกับเจ้าของเว็บไซต์และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ซึ่งโดยปรกติเว็บไซต์ที่ดีจะต้องเก็บรายละเอียดของคนที่มาโพสต์ข้อความไว้ ส่วนเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมายจะตามได้ยาก แต่เราก็มียุทธวิธีที่ช่วยให้ติดตามได้เหมือนกัน

“กรณีหมิ่นประมาทมีผลด้านจิตใจซึ่งประเมินค่าเป็นเงินไม่ได้ บางคนต้องลาออกจากงานเพราะถูกกลั่นแกล้งผ่านทางอินเทอร์เน็ตโดยคนในที่ทำงานเดียวกัน เด็กผู้หญิงบางคนอยู่ดี ๆ ก็มีคนโทรมาที่บ้านว่าจะซื้อบริการ อาจเพราะเพื่อนล้อเล่น หรือผู้ชายจีบไม่ติดแล้วแกล้งเอาเบอร์ผู้หญิงไปโพสต์ในเน็ตว่า “ขายค่ะ” แค่นี้ก็ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพพจน์ของผู้หญิงมากมายแล้ว

“นอกจากนี้ทุกครั้งที่มีข่าวเกี่ยวกับภาพลามกอนาจารบนหน้าหนังสือพิมพ์ ก็จะมีการส่งต่อภาพเหล่านั้นไปให้เพื่อน ๆ ผ่านทางอีเมล กรณีนี้ถือว่าผู้ส่งอีเมลเป็นผู้เผยแพร่หรือช่วยเผยแพร่ภาพลามกอนาจาร ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ดังนั้นเมื่อได้รับอีเมลประเภทนี้มาแล้วไม่ควรส่งต่อ เพราะผู้รับไม่มีความผิด แต่ผู้ส่งมีความผิด”

มาตรการสกัดกั้นอาชญากรออนไลน์
พ่อแม่ยุคใหม่จำนวนมากมักจะหัวปั่นอยู่กับการทำมาหากินจนไม่มีเวลาดูแลลูก จึงใช้วิธีมอบเทคโนโลยีให้เป็นเพื่อนแก้เหงา โดยคิดว่าการที่ลูกตัวเองขลุกอยู่ในห้องกับคอมพิวเตอร์ทั้งวัน จะทำให้ลูกเป็นคนเก่ง แต่นั่นคือการเข้าใจผิด

“ถ้าผู้ปกครองไม่อยากให้ลูกตัวเองตกเป็นเหยื่อ ก็ไม่ควรปล่อยให้เขาใช้เทคโนโลยีตามลำพัง การปล่อยให้เด็กเล่นเกมออนไลน์ก็เท่ากับปล่อยให้เขาไปคุยกับคนแปลกหน้ามากมาย ไม่รู้ว่าจะถูกชักจูงไปทางไหน วิธีการที่ดีที่สุดคือต้องหาเวลาอยู่ใกล้ชิดบุตรหลาน ควบคุมดูแลให้การใช้คอมพิวเตอร์ของเด็กเป็นไปในทางที่เหมาะสม ก็จะป้องกันอันตรายจากภัยออนไลน์ได้ส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ถ้าครอบครัวเอาใจใส่บุตรหลานตั้งแต่เล็ก สอนให้มีจริยธรรมในการใช้อินเทอร์เน็ต เขาก็จะไม่สร้างปัญหาให้แก่สังคมไซเบอร์

“ในส่วนของโรงเรียนก็ควรมีการควบคุมว่าเทคโนโลยีอะไรที่ควรสอน อะไรที่ไม่ควรสอน เช่นวิธีการ chat (การสนทนาสดผ่านอินเทอร์เน็ต) นอกจากไม่ควรสอนแล้วยังควรควบคุมไม่ให้ใช้ด้วย เพราะทุกวันนี้เด็ก chat โดยมีเว็บแคม (WebCam-กล้องออนไลน์ที่ทำให้สามารถเห็นภาพทั้งสองฝ่ายขณะคุยกันผ่านอินเทอร์เน็ต) ติดที่หน้าคอมพิวเตอร์ แล้วไม่ใช่คุยกันธรรมดา มีการโชว์ภาพลับกันด้วย ซึ่งผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่รู้”

ปัจจุบันมีคดีอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์หลายคดีที่เกิดขึ้นในเมืองไทยซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่สามารถจัดการดำเนินคดีได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับ ไม่ว่าจะเป็นการเจาะระบบคอมพิวเตอร์เพื่อเปลี่ยนหน้าแรกของเว็บไซต์ หรือการขโมยข้อมูลดิจิทัลโดยการก๊อบปี้ข้อมูล ซึ่งถือว่า “ทรัพย์” ไม่ได้เคลื่อนที่ จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ทางออกในเรื่องนี้จึงอยู่ที่กฎหมายอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งคาดว่าประมาณปลายปี ๒๕๔๘ หรือต้นปี ๒๕๔๙ น่าจะบังคับใช้ได้ ทว่าที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ การร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคม

“เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก เรากำลังอยู่ในช่วงวิกฤตของยุคไอที การคอยไล่ตามปัญหาอย่างเดียวมันไม่เพียงพอ เราจำเป็นต้องหามาตรการไปสกัดกั้นล่วงหน้า ซึ่งตรงนี้หน่วยงานของเราไม่สามารถทำได้โดยลำพัง เราจึงต้องการให้ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน โรงเรียน สื่อ และองค์กรต่าง ๆ ร่วมมือกัน สื่อควรมีความรับผิดชอบในการโฆษณาและการนำเสนอข่าว ไม่นำเสนอในลักษณะที่ชักจูงคนให้ทำในสิ่งที่ผิด ผู้ที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ตควรร่วมมือกันหาทางป้องกัน อย่างการโพสต์ข้อความบนอินเทอร์เน็ตก็ควรจะต้องมาจากผู้ที่สามารถระบุตัวบุคคลได้เท่านั้นเพื่อป้องกันมิให้ไปกระทบสิทธิของผู้อื่น เราคิดว่าสังคมต้องอยู่ด้วยความพอดี ไม่ใช่ปล่อยให้มีเสรีภาพกันจนเกินขอบเขต แต่ถ้าเรายังมองว่านี่คือสิทธิเสรีภาพที่ควรจะให้ประชาชน เราก็จะต้องสร้างกำลังพลจำนวนมากเพื่อป้องกันและไล่ตามปัญหาเหล่านี้”

หมายเหตุ : ผู้ที่ต้องการแจ้งเบาะแสเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่ http://cyber.police.go.th/webreport/ หรืออีเมล htcc@police.go.th
อ่านข้อมูลเพื่อการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยได้ที่ www.thaicleannet.com หรือ www.thaiparents.net (อื่นๆ เวบไซต์ได้ปิดไปแล้ว)