เพ็ญศิริ จันทร์ประทีปฉาย : เรื่อง
บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช : ภาพ
พวกเราอดขำไม่ได้ เมื่อมิตรชาวฝรั่งเศสตัวโตเล่าให้ฟังว่าเหตุใด “แมลงสาบ” (เพื่อให้ได้ความรู้สึกแบบเดียวกับเรา กรุณาจินตนาการการออกเสียงภาษาไทยที่ไม่ชัดแบบฝรั่งตามไปด้วย) จึงกลายเป็นหนึ่งในคาแร็กเตอร์ตัวการ์ตูนที่เขาชอบวาดอยู่บ่อย ๆ
“สำหรับคนตะวันตกที่มาเยือนประเทศในเขตร้อนชื้นเป็นครั้งแรก เรามักสงสัยว่าทำไม มะ-แลง-สับ ในบ้านคุณถึงตัวใหญ่นัก เพราะที่ฝรั่งเศส เราไม่มี มะ-แลง-สับ ตัวใหญ่ขนาดนี้ มันก็เลยกลายเป็นสิ่งแรกที่สร้างความประทับใจแบบขำ ๆ ให้ผม”
ใครที่เป็นขาประจำเซ็กชั่น opinion ในหนังสือพิมพ์ The Nation ฉบับวันเสาร์และอาทิตย์ตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้วเป็นต้นมา คงคุ้นเคยกับการ์ตูนการเมืองลีลาเจ็บแสบในชื่อคอลัมน์ “Stephff’s View” เป็นอย่างดี Stephff เป็นชื่อที่ชายชาวฝรั่งเศสวัย ๔๐ ผู้นี้ ใช้ในฐานะนักวาดการ์ตูนเศสวัย ๔๐ ผู้นี้ ใช้ในฐานะนักเขียนการเมืองที่มีผลงานตีพิมพ์ใน ๒๘ ประเทศทั่วโลก เขาปักหลักอยู่เมืองไทยมา ๑๕ ปีแล้ว โดยพูดภาษาไทยแทบไม่ได้…แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาสำคัญ
“ผมต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ทำงาน ไม่มีเวลาไปเรียน คอร์สเรียนภาษาไทยก็แพง ผมทำงานกับหนังสือพิมพ์ซึ่งพวกเขาพูดอังกฤษได้อยู่แล้ว ส่วนในชีวิตประจำวัน ผมแค่เรียนรู้บางคำไว้ใช้เวลาซื้อของก็พอ”
ช่วงที่เป็นนักเขียนการ์ตูน สเตฟฟ์เคยลองย้ายไปอยู่ในประเทศอื่นอย่าง มาเลเซีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น แต่ปรากฏว่าเขาต้องเผชิญกับค่าครองชีพที่สูงกว่าเมืองไทยถึงสองเท่า หรืออาจถึงสามเท่าในญี่ปุ่น ขณะที่รายได้จากงานที่ตีพิมพ์ทั่วโลกของเขายังคงเท่าเดิม นอกจากนี้ ภูมิอากาศยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เขาเลือกอยู่หรือไม่อยู่ที่ใดใน ๒๐๐ กว่าประเทศทั่วโลก
“ผมชอบอยู่ประเทศที่อากาศร้อน เพราะผมทนอากาศหนาวไม่ได้”
ความเป็นฝรั่งขี้หนาว ทำให้เขามีโอกาสใช้ภาษาไทยประโยคหนึ่งบ่อยเป็นพิเศา เขาเชื่อว่าในบรรดาฝรั่งที่อยู่เมืองไทย คงมีเขาคนเดียวแหละที่ชอบพูดประโยคนี้
“เวลาผมขึ้นแท็กซี่ คนขับชอบเปิดแอร์ให้เย็นขึ้นอีกเพราะเห็นผมเป็นฝรั่ง แต่เขาไม่รู้ว่าเขากำลังพยายามฆ่าผมด้วยแอร์ที่เป่ามาที่หน้าผม ผมจึงมักพูดว่า chuay-bao-air-dai-mai (ช่วยเบาแอร์ได้ไหม) บ่อยกว่าคำอื่น
จากคำบอกเล่าของสเตฟฟ์ พอสรุปได้ว่าเขาฉายแววความเป็นนักเขียนการ์ตูนมาแต่เด็ก เขามักหยิบเรื่องราวของคนรอบข้างมาวาดเพื่อความสนุก เวลาอยู่ในห้องเรียน หากคุณครูทำอะไรไม่เข้าท่า เขาจะถ่ายทอดความรู้สึกออกมาเป็นการ์ตูนแสบ ๆ แล้วไปอวดให้เพื่อนในห้องดู แน่นอนว่าการ์ตูนของเขาสร้างความบันเทิงให้เพื่อน ๆ แต่ดูเหมือนว่ามันก็คงเป็นเหตุให้เขามีปัญหากับครูอยู่บ่อย ๆ
อย่างไรก็ตาม พรสวรรค์ในทางการ์ตูนของเขาไม่ได้แปรเป็นความมุ่งมั่นที่จะเป็นนักเขียนการ์ตูนอาชีพในช่วงเวลานั้น ด้วยความรู้สึกว่าทุกสิ่งรอบตัวเขาช่างน่าเบื่อ เขาโบกมือลาชีวิตในโรงเรียนตอนอายุ ๑๗ แล้วไปเป็นทหารของกองทัพเรือฝรั่งเศสอยู่ ๗ ปี
“เป็นทหารเรือฝรั่งเศสเงินดี สวัสดีการก็ดี แถมได้เดินทางไปทั่วโลก ผมรักการท่องเที่ยว แต่พอนานไป ผมกลับรู้สึกว่าการท่องเที่ยวแบบนี้ไม่ค่อยมีสาระนัก ตอนนั้นผมก็เลยอยากจะเป็นช่างภาพและนักข่าว เพราะเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่ผมจะได้ท่องเที่ยวแบบใช้สมอง และนั่นคงเป็นงานแรกที่ทำให้รู้สึกว่าชีวิตมีแก่นสารขึ้นมาบ้าง”
สเตฟฟ์ลาออกจากกองทัพเรือตอนอายุ ๒๔ แล้วไปเข้าคอร์สเรียนเป็นช่างภาพข่าวกับ Gamma Agency ในปารีสอยู่ ๑๐ วัน จากนั้นก็เริ่มลิ้มรสชีวิตการทำงานจริง ๆ ทันที และในช่วงของการเป็นช่างภาพนั้นเองที่เขาได้มีโอกาสมาเมืองไทย แม้จะไม่ได้ตั้งใจมาปักหลักที่นี่แต่ต้น แต่ยิ่งต้องอยู่นานขึ้น เขายิ่งรู้สึกดีมากขึ้น และเมื่อเริ่มขายเรื่องให้กับนิตยสารในฮ่องกงและญี่ปุ่นได้ เขาจึงตัดสินใจว่า…เอาล่ะ ที่นี่น่าจะเหมาะสำหรับเขา เขาสามารถทำงานแล้วส่งไปขายให้กับนิตยสารในแถบภูมิภาคเอเชียได้
แม้จะยึดอาชีพเป็นช่างภาพข่าวอิสระ แต่สเตฟฟ์ไม่เคยทิ้งสิ่งที่เขาชอบทำมากที่สุดมาตั้งแต่เด็ก เขายังคงวาดการ์ตูนทุกครั้งที่มีเวลาว่าง วันหนึ่งด้วยอารมณ์นึกสนุก สเตฟฟ์เห็นว่าไหน ๆ หนังสือพิมพ์ที่เพื่อนของเขาออกในกัมพูชายังไม่มีนักเขียนการ์ตูน เขาจึงอาสาช่วยเขียนให้ Le Mekong ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาฝรั่งเศสรายเดือนที่มีสำนักงานอยู่ที่กรุงพนมเปญ จึงเป็นที่แรกที่งานการ์ตูนของสเตฟฟ์ได้ตีพิมพ์ เขาได้เงินค่าจ้างมานิดหน่อย จากนั้นเขาเริ่มวาดให้กับนิตยสาร เอเชียวีค และค่อย ๆ ขยายไปเล่มอื่น ๆ รายได้จากการเขียนการ์ตูนของเขาค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจนวันหนึ่งก็มากจนกลายเป็นรายได้หลัก เขาตัดสินใจขายกล้องในที่สุด
“ปัญหาของช่างภาพอิสระคือ เราต้องมีเงินมากพอที่จะออกไปทำงานสักเรื่องหนึ่ง ทั้งค่าฟิล์ม ค่าเดินทาง ค่าที่พัก แถมยังต้องรออีกเป็นเดือนกว่านิตยสารจะจ่ายเงินให้ ระหว่างนั้นเราก็เลยไม่มีเงินออกไปทำเรื่องอื่นต่อ”
นับถึงปัจจุบัน สเตฟฟ์วาดการ์ตูนมาได้ ๑๐ ปีแล้ว เขาเริ่มมีรายได้จากการ์ตูนควบคู่ไปกับการเป็นช่างภาพตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ และหันมาเขียนการ์ตูนอย่างเดียวตั้งแต่ปี ๒๕๔๐
“ผมมีความสุขที่ได้มีโอกาสเลือกทำในสิ่งที่ผมชอบมากที่สุดในโลก แต่ขณะเดียวกัน มันก็เป็นงานที่หนักมาก ๆ ผมแทบไม่มีเวลาว่างเลย ลำพังการวาดไม่ได้ใช้เวลามากนัก แต่ผมต้องใช้พลังและเวลาเกือบทั้งวันไปกับการอ่านข่าวจำนวนมาก และการแสวงหาไอเดียที่จะสื่อในการ์ตูน เพื่อนผมที่เป็นช่างภาพเคยถามว่า ผมชอบเป็นนักเขียนการ์ตูนได้ไง ทั้งที่เคยเป็นช่างภาพมาก่อน การที่ต้องอยู่ในห้องทั้งวันมันจะต้องน่าเบื่อมาก ๆ ก็จริงอย่างที่เพื่อนผมบอก ชีวิตผมสมัยเป็นช่างภาพดีกว่านี้มาก เพราะผมได้ท่องเที่ยว เห็นสิ่งแปลกใหม่เสมอ และมีเวลาว่างมากกว่านี้ แต่นี่คือสิ่งที่ผมต้องยอมสละเพื่อให้ได้ทำสิ่งที่ผมรักมากที่สุด คุณจะหวังให้ทุกอย่างเพอร์เฟคไม่ได้หรอก”
สเตฟฟเขียนการ์ตูน ๔๕ ชิ้นต่อเดือน เฉลี่ยอย่างน้อย ๑ ชิ้นต่อวัน ถ้าชิ้นใดพูดถึงข่าวใหญ่ระดับโลก เขาก็จะส่งให้ลูกค้าของเขาทุกฉบับ
ถ้าการ์ตูนที่ลงใน The Nation วันนั้นพูดถึงอิรัก แปลว่าเป็นชิ้นเดียวกับที่ผมส่งไปลงที่อื่นด้วย แต่ถ้าเป็นเรื่องของทักษิณ จะลงที่ The Nation ที่เดียวเท่านั้น การ์ตูนที่พูดถึงเมืองไทยถ้าไม่ใช่ข่าวใหญ่ระดับโลก ผมจะวาดให้ The Nation แห่งเดียว เพราะในประเทศอื่น ไม่มีใครสนใจว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทย
การ์ตูนการเมืองจะต้องพูดถึงข่าวใหญ่เท่านั้น เพื่อให้คนอื่นเชื่อมโยงกับข่าวที่เขาอ่านและเข้าสิ่งที่การ์ตูนต้องการจะสื่อได้ อย่างข่าวที่ทักษิณประกาศจะซื้อทีมลิเวอร์พูล เป็นข่าวใหญ่สำหรรับคนไทยก็จริง แต่ผมไม่สามารถส่งไปลงที่อื่นได้ ผมพยายามจะขายให้กับหนังสือพิมพ์ในอังกฤษ แต่ไม่มีใครสนใจ เพราะถือเป็นข่าวที่เล็กมากเมื่อเทียบกับข่าวสงครามในอิรัก
ไม่ใช่แค่เรื่องข่าวใหญ่ข่าวเล็กเท่านั้นที่ส่งผลต่อการเลือกสิ่งที่ต้องการพูดถึงในการ์ตูน ความแตกต่างของสังคม การเมือง วัฒนธรรมในแต่ละประเทศ ยังก่อให้เกิดข้อห้ามที่เขาต้องระมัดระวังเวลาเขียนการ์ตูนด้วย
สำหรับประเทศแถบอาหรับ ห้ามพูดถึงเรื่องศาสนา ประเทศจีนห้ามพูดถึงทิเบต สิทธิมนุษยชน และห้ามวาดใบหน้าของผู้นำจีน ประเทศไทยห้ามพูดถึงสถาบันกษัตริย์ ศาสนา และสิ่งที่ศาลพิพากษาแล้ว ถ้าคุณไม่เห็นด้วยกับคำตัดสิน คุณต้องหาวิธีที่จะพูด ไม่ใช่บอกตรงๆ ส่วนในหลาย ๆ ประเทศอย่างเช่นญี่ปุ่น ห้ามวาดให้เห็นเลือดเด็ดขาด
ในสายตาคนทั่วไป การเป็นนักเขียนการ์ตูน อาจจะถูกเชื่อมโยงกับคำว่า “ศิลปิน” แต่สเตฟฟ์ยืนยันว่า หากรักจะเป็นนักเขียนการ์ตูนการเมือง การเป็นศิลปินที่วาดเส้นในหนังสือพิมพ์ได้เพอร์เฟค ไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด
ศิลปินน่ะมีเยอะ แต่ศิลปินที่มีคุณสมบัติเป็นนักข่าวที่ดีและทำงานเร็วน่ะหายาก ข่าวที่ผมอ่านวันนี้ ผมจะต้องเขียนออกมาเป็นการ์ตูนเพื่อตีพิมพ์ในวันรุ่งขึ้น การตรงต่อเวลาเป็นสิ่งสำคัญมาก บรรณาธิการทั้งหลายจึงมักกลัวที่จะต้องกาทำงานกับศิลปิน เพราะศิลปินไม่เข้าใจว่ากำหนดปิดต้นฉบับสำคัญยังไง
การ์ตูนการเมืองที่ดียังต้องมีประเด็นที่สื่อสารกับคนอื่น ทำให้คนอื่นได้คิดตาม ไม่ใช่แค่วาดอะไรก็ได้เกี่ยวกับข่าวหรือแค่เขียนด่าคนอื่นเพื่อความสะใจ เพราะนั่นไม่ช่วยให้เกิดประโยชน์ขึ้นมา นักเขียนการ์ตูนการเมืองที่ดีจำเป็นต้องมีความเป็นผู้ใหญ่มากพอ มีความคิดเป็นของตัวเองเวลามองสิ่งต่าง ๆ รอบตัวและสามารถสื่อสารออกมาได้
ทีนี้เราลองมาฟังซิว่า ชาวฝรั่งเศสคนนี้ มีความเห็นเกี่ยวกับนายกทักษิณ ซึ่งเป็นคาแรกเตอร์ที่เขาชอบวาดอยู่บ่อย ๆ ว่าอย่างไรบ้าง
เขากำลังครอบงำคนไทย เขาใช้ประโยชน์จากความยากจนและไร้การศึกษาของชนชั้นแรงงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เขารู้ว่าควรทำอย่างไรให้คนเหล่านั้นมีความสุขเพื่อที่เขาจะได้รับเลือกตั้งอีกในสมัยหน้า เขาให้เงินประชาชน ชาวบ้านที่ได้เงินจากทักษิณคิดว่านั่นเป็นเงินจากกระเป๋าทักษิณเอง พวกเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะต้องจ่ายคืนในอนาคต เขาเอาใจประชาชนด้วยการประกาศจะซื้อทีมฟุตบอล ถ้าประเทศฝรั่งเศสมีผู้นำที่คิดจะซื้อทีมฟุตบอล ชาวฝรั่งเศสจะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องตลกมาก เพราะในฐานะผู้นำ มีสิ่งสำคัญอื่น ๆ ที่ต้องทำมากกว่านี้
แทนที่ทักษิณจะแก้ปัญหาความยากจนโดยทำให้คนไทยเรียนรู้ที่จะลดการใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยลง เรียนรู้การบริหารเงินของตัวเอง แต่เขากลับกระตุ้นให้คนไทยใช้เงินมากขึ้น ผมคิดว่าสิ่งจำเป็นที่สุดสำหรับคนไทย และเป็นหนทางเดียวที่ประเทศไทยจะมีอนาคตที่ดีได้ คือการให้การศึกษาแก่คนไทยมาก ๆ ต่างหาก
การ์ตูนชั้นหนึ่งของสเตฟฟ์นำเสนอประเด็นความรุนแรงในภาคใต้ของไทย โดยนำมาล้อกับคำขวัญ “สยามเมืองยิ้ม” เราสงสัยว่าในสายตาฝรั่งอย่างเขา “สยาม” ยังคงเป็น “เมืองยิ้ม” อยู่หรือไม่
ผมเชื่อว่ายังไงคนไทยก็ยิ้มง่ายกว่าคนในประเทศอื่น ยิ่งเปรียบเทียบกับที่ฝรั่งเศสแล้ว คนที่นั่นจะแสดงสีหน้าบูดบึ้งอยู่เสมอ นั่นคือลักษณะภายนอกของคนฝรั่งเศส คนไทยยิ้มง่ายก็จริง แต่พวกคุณก็มีปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เหมือนทุกแห่งในโลก รอยยิ้มมันเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏอยู่ภายนอกซึ่งช่วยให้อะไร ๆ ดีขึ้นได้บ้าง ผมเชื่อว่าสังคมที่ยังไม่ถูกรุกรานด้วยวัฒนธรรมสมัยใหม่ ผู้คนจะยิ้มแย้มมากว่า ถ้าคุณไปยังหมู่บ้านเล็ก ๆ ในฝรั่งเศส คุณจะต้องแปลกใจว่าคนที่นั่งยิ้มง่ายมาก แต่สำหรับในกรุงเทพฯ คุณแทบจะหารอยยิ้มไม่ได้อีกแล้ว
จริงๆ แล้วสิ่งที่ผมชอบเกี่ยวกับคนไทยคือการเป็นคนสบาย ๆ ใจเย็น ไม่ชอบทำตัวมีปัญหา ผมเคยชินกับวิธีคิดแบบคนไทย จนทำให้ผมรู้สึกอึดอัดเวลากลับไปฝรั่งเศส เพราะคนที่นั่นชอบอารมณ์เสีย มีปัญหากับทุกเรื่อง ครั้งหนึ่งผมออกไปกินข้าวกับครอบครัว น้องสะใภ้ผมเกิดไม่พอใจอะไรบางอย่างในอาหาร เธอก็เลยโวยวาย ทำให้มันเป็นเรื่องใหญ่ แต่ผมรู้สึกว่า เราออกมากินข้าวเพื่อที่จะมีความสุขนะ แล้วทำไมต้องทำให้มีปัญหาด้วย
แต่ในทางกลับกัน ข้อดีข้อนี้ของคนไทย ก็กลายเป็นปัญหาด้วย เพราะมันทำให้คนไทยไม่กล้าเผชิญปัญหา
สิ่งที่ผมไม่ชอบก็คือ เวลาที่คนไทยขับรถ โดยธรรมชาติคนไทยไม่ชอบมีปัญหา แต่เมื่อขับรถ พวกเขาก็ไม่น่ารักอีกต่อไป กลายเป็นคนก้าวร้าวอย่างไม่มีเหตุผล อาจจะจริงอย่างที่มีคนเคยศึกษาไว้เมื่อ ๕๐ ปีก่อนว่า เมื่อคนเราอยู่ในรถ โดยเฉพาะผุ้ชาย เราจะรู้สึกว่ามีพลังอำนาจมากขึ้น เพียงใช้เท้าเหยียบคันเร่ง ก็รู้สึกเหมือนเป็นเจ้าถนนแล้ว
อยู่มา ๑๕ ปี คุณคิดว่าตัวเองคิดและทำอะไรแบบคนไทยไปแล้วหรือยัง ?
ไม่หรอก ผมยังคงเป็นชาวต่างชาติอยู่ดี แต่อะไรที่ผมชอบในความเป็นคนไทย ผมก็นำมาใช้กับตัวผมเอง ผมชอบที่คนไทยใจดี ผมก็เลยกลายเป็นคนใจดีกว่าตอนที่อยู่ฝรั่งเศส