นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
โรคจิตเภท (Schizophrenia) สามารถรักษาได้หากเริ่มการรักษาเร็ว ข้อดีของการเริ่มรักษาเร็วคือเป็นช่วงเวลาที่ผู้ป่วยยังต้องการความช่วยเหลือและยังต้องการการรักษา ข้อเสียของการเริ่มรักษาช้า นอกจากเรื่องที่ว่าผลการรักษาไม่ค่อยดีแล้ว ที่สำคัญคือผู้ป่วยมักไม่ต้องการความช่วยเหลือและไม่ต้องการการรักษาอีกแล้ว
จะเห็นได้ว่าโรคจิตเภทเป็นโรคที่มีลักษณะแตกต่างจากโรคอื่นๆ ตรงที่ตัวโรคเองได้กัดกินจิตใจของผู้ป่วย และริบเอาความสามารถที่จะขอความช่วยเหลือไปเสียด้วย ไม่เหมือนโรคอื่นๆ เช่นเบาหวาน คนเราเป็นเบาหวานกี่ปีก็ยังต้องการความช่วยเหลือได้เสมอๆ เป็นต้น
ก่อนที่ผู้ป่วยจะเริ่มป่วยด้วยจิตเภทอย่างจริงจัง คือเริ่มมีอาการเหล่านี้เต็มรูปแบบ ได้แก่ บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง อารมณ์เปลี่ยนแปลง เกิดอาการหลงผิดหวาดระแวง และประสาทหลอน (เช่นหูแว่วหรือเห็นภาพหลอน) ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะผ่านช่วงที่เรียกว่ามีอาการนำ คือมี prodromal symptoms ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษากรีก แปลว่า running ahead คือ พุ่งตรงไปข้างหน้า ในกรณีของจิตเภทคือพุ่งตรงไปสู่ความบ้าคลั่ง
จิตแพทย์ที่มากประสบการณ์จึงมักใส่ใจตรงช่วงที่เรียกว่ามีอาการนำเป็นพิเศษ เพราะเป็นช่วงเวลาที่อาจจะป้องกันมิให้จิตเภทมาเยือนเต็มรูปแบบ พูดให้ชัดว่าหากเราจะสกัดจิตเภท เราก็ต้องเตะตัดขากันที่ตรงนี้ จิตแพทย์หลายท่านเชื่อว่าจำเป็นมากที่เราจะต้องเตะตัดขาจิตเภทให้ได้ เรียกว่าถึงโดนลูกโทษก็ต้องลอง
ปัญหาจึงมี ๒ ข้อ ข้อแรกคือจะมั่นใจได้อย่างไรว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ คืออาการนำ ข้อ ๒ คือเรามีความสามารถเตะตัดขาหรือหยุดมันได้จริงๆ หรือ
จิตเภทมักเกิดกับคนหนุ่มสาวที่เรียนหนังสือมาดีๆ ถึงมัธยม ๕ หรือ ๖ หรือปี ๑ ปี ๒ ก็เริ่มเงียบๆ เก็บตัว ไม่พูดไม่จา ดูเฉยเมย เหม่อลอย ก้าวร้าวบางครั้ง สร้างความรำคาญให้คุณพ่อคุณแม่ คุณครู หรือเพื่อนๆ ได้เสมอๆ เป็นต้น อาการเหล่านี้อาจเป็นอาการนำของจิตเภท แต่ก็สามารถเป็นอาการของเรื่องอื่นๆ ได้ด้วย เช่นเป็นบุคลิกภาพของเขาเองหรือเป็นบุคลิกภาพผิดปรกติบางชนิด หรือเป็นโรคทางจิตเวชรูปแบบอื่นๆ เป็นต้น
ถ้าเป็นบุคลิกภาพของเขาเองหรือเป็นบุคลิกภาพผิดปรกติบางชนิด เขาจะเป็นและเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ไม่มีอะไรมากกว่านี้ ยังสามารถเรียนหนังสือ ทำงาน แต่งงาน และมีลูกหลานได้ เพียงแต่ออกจะแปลกคน เราพบบุคคลลักษณะนี้ในที่ทำงานทั่วๆ ไป และพวกเขาไม่ใช่ผู้ป่วย
ถ้าเป็นโรคทางจิตเวชในรูปแบบอื่นๆ การรักษาก็จำเพาะกับโรคนั้นๆ เป็นกรณีๆ ไป
แต่ถ้าใช่อาการนำของจิตเภทล่ะ เราจะปล่อยให้เขาพุ่งตรงไปสู่ความบ้าคลั่งเช่นนั้นหรือ แล้วเพียงไม่กี่เดือนหรือไม่กี่ปีหลังจากนั้น จิตเภทก็จะริบเอาบุคลิกภาพเดิมของเขาไป รวมทั้งริบเอาความสามารถที่จะขอความช่วยเหลือไปด้วย
จิตแพทย์ที่มากประสบการณ์จึงมักจะกล้าเตะตัดขาจิตเภทให้ล้มลง แม้ว่าจะไม่มีข้อพิสูจน์ว่ายุทธวิธีเตะตัดขานี้จะได้ผลก็ตาม
นั่นนำไปสู่คำถามทางจริยธรรมทันที
นายแพทย์วิลเลียม แมคฟาร์เลน จิตแพทย์จากพอร์ต-แลนด์ รัฐเมน สหรัฐอเมริกา พร้อมทีมวิจัยได้ริเริ่มโปรแกรมวิจัยเรื่องอาการนำ เรียกว่า Portland Identification and Early Referral (PIER) เป้าหมายของงานวิจัยคือหยุดจิตเภทให้ได้
ทีมวิจัยใช้ ๓ วิธีร่วมกัน หนึ่งคือให้ยากิน สองคือใช้กลุ่มบำบัด สามคือใช้กลุ่มบำบัดสำหรับญาติซึ่งส่วนใหญ่ก็คือพ่อแม่ วิธีที่ ๒ และ ๓ ไม่ค่อยเท่าไร แต่วิธีแรกนั้นสร้างคำถามให้แก่ชุมชนวิชาการพอสมควร
วิธีที่ ๒ คือให้เด็กๆ เข้ากลุ่มบำบัด มีเป้าหมายคือช่วยให้เด็กปรับตัวและค้นพบวิธีลดความเครียดหรือลดเหตุกระตุ้น กล่าวคือจิตเภทนั้นมักทำตัวคล้ายๆ จุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่เป็นปรกติในร่างกายคนทั่วไป ถ้าเราไม่อ่อนแอมากจนเกินไป จุลินทรีย์เหล่านี้ก็ไม่ทำอันตรายเรา ดังนั้น หากเราสามารถสอนให้เด็กๆ รู้วิธีดูแลสุขภาพจิตของตนเอง หลีกเลี่ยงพฤติกรรมหาเรื่องใส่ตัว มีความสามารถลดความเครียดได้ด้วยตนเอง เด็กๆ ก็น่าจะปรับตัวเข้ากับอาการนำที่เป็นอยู่ได้ สามารถพัฒนาบุคลิกภาพต่อไปโดยไม่ให้อาการนำพัฒนาต่อหรือจิตเภทมาเยือน
ความยากของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่กลุ่ม แต่อยู่ที่การสร้างความไว้ใจ จิตแพทย์ที่มากประสบการณ์ทราบดีว่า การดึงผู้ป่วยจิตเภทหรือที่มีอาการนำของจิตเภทให้ติดตามการรักษาไปได้นานๆ มีปัจจัยกำหนดข้อหนึ่งคือ ความไว้ใจ (trust) และไม่ใช่หมายถึงผู้ป่วยไว้ใจเราซึ่งเป็นแพทย์ แต่เป็นเราที่ไว้ใจเขา !
วันที่ผู้ป่วยสัมผัสได้ว่าคุณหมอไว้ใจเขา เขาจึงจะให้ติดตามการรักษาตลอดไป
วิธีที่ ๓ คือให้ญาติซึ่งก็มักเป็นคุณพ่อคุณแม่เข้ากลุ่มบำบัดด้วย เรื่องนี้สำคัญเพราะคนส่วนใหญ่ทั่วโลกยังคงเข้าใจผิดว่าจิตเภทเกิดจากการเลี้ยงดูที่ผิดพลาด ซึ่งไม่จริง จิตเภทไม่ได้เกิดจากการเลี้ยงดูที่ผิดพลาด แต่เกิดจากรอยโรคในสมอง และมักมีปัจจัยทางพันธุกรรมร่วมด้วย
การปล่อยให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจผิดว่าตนเองเป็นสาเหตุการเจ็บป่วยของลูกมักนำมาซึ่งความรู้สึกผิดพอๆ กับความรู้สึกโกรธ รู้สึกผิดก็จะโทษตนเองหรือโทษกันและกัน ทำให้ความสามารถที่จะช่วยกันดูแลลูกต่อไปลดลง โกรธก็จะโกรธตัวเอง แต่กลไกทางจิตของมนุษย์นั้นซับซ้อน พ่อแม่โกรธตัวเองด้วยแต่ก็โกรธลูกด้วย เรียกว่าความปรารถนาที่จะให้ผู้ป่วยหายจากโรคหรือหายจากโลกอาจจะพอๆ กันหรือสลับไปมาเป็นระยะๆ การเข้ากลุ่มบำบัดสำหรับญาติ ช่วยให้ญาติเข้าใจตนเองว่าความรู้สึกแบบนี้เป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีอะไรที่เรียกว่าผิดปรกติ บางครั้งคนรักกันก็ปรารถนาให้อีกฝ่ายหายไปบ้าง มิใช่เรื่องใหญ่
ขออนุญาตแทรกตรงนี้เรื่องคนรักกัน พอล นิวแมน ดาราฮอลลีวูดที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกคนหนึ่งถึงแก่กรรมเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ผมอ่านข่าวการเสียชีวิตของเขาขณะนั่งอยู่ในสนามบินแห่งหนึ่ง โทรทัศน์แพร่ภาพข่าวย้อนหลัง และหนังเก่าๆ ของเขาซ้ำไปซ้ำมา มีตอนหนึ่งนักข่าวถามพอลว่าอยู่กินกับภรรยาคือ โจแอนน์ วูดเวิร์ด มานานแสนนานแบบนี้ได้อย่างไร ทะเลาะกันบ้างหรือเปล่า พอลตอบว่า คนสองคนที่รักกันและอยู่ด้วยกันทุกวัน ไม่มีเสียละที่จะไม่มี เหตุการณ์ประเภทฝ่ายหนึ่งทำให้อีกฝ่ายหนึ่งคลั่งแทบเป็นบ้า บางทีก็อยากให้อีกฝ่ายหายไปต่อหน้าต่อตา
ประเด็นนี้สำคัญ ความรู้สึกแบบนี้ต่อคนที่เรารักนั้นธรรมดา ต้องคิดว่าเราโชคดีมากแล้วที่ไม่มีความสามารถแบบที่พ่อมดแม่มดพึงมี นั่นคือเสกคาถาเนรมิตให้คนที่เรากำลังโกรธนั้นหายไปเลย ถ้าเรามีความสามารถเช่นนั้น เราก็จะสูญเสียความสามารถในการปรับตัวไปด้วย เพราะเอาแต่เสกคาถาแต่ไม่ปรับนิสัยตัวเอง นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่พ่อมดแม่มดสูญพันธุ์
กลับมาถึงวิธีที่ ๑ ของการเตะตัดขาจิตเภท คือให้ยากิน
ทีมวิจัยให้ยารักษาโรคจิตโดส (ขนาดยา) ต่ำๆ แก่เด็กๆ ที่มีอาการนำ และอ้างว่าได้ผล แต่ก็ไม่มีการตีพิมพ์งานวิจัย จะเห็นได้ว่าเป้าหมายของยาที่ให้นั้นดีและด้วยความหวังดีแต่นักวิชาการที่ซื่อสัตย์ต่องานวิจัยและจริยธรรมการวิจัยยอมรับเรื่องดีๆ ที่เลื่อนลอยไม่ได้
ข้อคัดค้านงานวิจัยนี้ที่สำคัญคือ ทีมวิจัยกำลังเห็นเด็กๆ ที่มีอาการนำนั่งอยู่ต่อหน้าต่อตา แล้วยังมัวแต่ให้ยาโดสต่ำๆและรอดู ทั้งนี้จิตแพทย์กลุ่มหนึ่งไม่ลังเลที่จะให้ยาโดสสูงเพื่อรักษาจิตเภททันทีแบบไม่ต้องรอ ขณะที่จิตแพทย์อีกกลุ่มหนึ่งกลับจะให้รอโดยไม่ให้ยาอะไรเลย เพราะไม่มีข้อพิสูจน์ใดๆ บอกว่าการให้ยาในช่วงที่มีอาการนำจะได้ประโยชน์อะไรนอกจากไม่ได้ประโยชน์แล้วยังมีฤทธิ์ข้างเคียงจากยาที่กินด้วย
เป้าหมายที่ดีก็ยังไม่สามารถนำไปสู่วิธีการที่ดี อย่างไรก็ตามเป้าหมายที่ดีมักนำไปสู่การถกเถียงที่ดี การถกเถียงที่ดีควรทำต่อหน้าสาธารณชน ข้อเขียนที่ผมนำมาขยายความ ๒ ตอนจบนี้ได้มาจากการอ่านข่าวที่ปรากฏทางเว็บไซต์วิทยาศาสตร์หนึ่ง
ประเทศไทยควรมีวัฒนธรรมการถกเถียงเรื่องยากๆ ในที่สาธารณะครับ