เรื่อง : เกศินี จิรวณิชชากร
- โทรศัพท์มือถือย่อโลกให้เล็กลง ธุรกรรมบนมือถืออาจมีส่วนช่วยลดใช้พลังงานในการเดินทาง ลดใช้กระดาษ และทรัพยากรอื่นๆ
- ย้อนไปเพียง ๑๐ ปีก่อน หากคุณเป็นเจ้าของโทรศัพท์มือถือสักเครื่อง ก็ถือได้ว่าเดิ้นเกินใคร มาปีนี้ประชากรโลกที่ไม่มีมือถือกำลังจะกลายเป็นชนส่วนน้อย หลายประเทศในยุโรปจำนวนโทรศัพท์มือถือมีมากกว่าจำนวนประชากรเสียอีก
- เฉลี่ยคนไทยใช้งานมือถือเครื่องหนึ่งเพียง ๒ ปีก่อนจะโยนทิ้งแล้วซื้อเครื่องใหม่ ทั้งที่อายุการใช้งานจริงนานกว่านั้นมาก แต่ละปีมือถือเครื่องใหม่ๆ ถูกผลิตออกมาเกินกว่าพันล้านเครื่องทั่วโลก แต่การรีไซเคิลกลับมีไม่ถึง ๑ % ฉะนั้นซากมือถือเก่าหลายร้อยล้านชิ้นจึงถูกฝังอยู่ใต้บ่อขยะ หรือไม่ก็กระจัดกระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก (อาจรวมถึงในลิ้นชักโต๊ะคุณด้วย)
- มือถือเครื่องเล็กจิ๋วในมือเราประกอบด้วยสารประกอบทางเคมีถึง ๒๐๐ กว่าชนิด ซึ่งยากต่อการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสุขภาพได้ครบถ้วน เฉพาะตัวเด่นๆ ก็ได้แก่ ตะกั่วทำลายประสาทส่วนกลาง มีผลต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก แคดเมียมสะสมที่ไต ทำลายระบบประสาท มีผลต่อพันธุกรรม ฯลฯ ว่ากันว่าเฉพาะฤทธิ์ของแคดเมียมจากแบตเตอรี่มือถือเพียงก้อนเดียวทำให้น้ำถึง ๖ แสนลิตรเกิดมลพิษได้
- ในมือถือเครื่องหนึ่งๆ ๔๐ % ประกอบไปด้วยโลหะมีค่าหลายชนิด ในปี ค.ศ. ๒๐๐๖ บริษัทโดะโคะโมะในญี่ปุ่นสามารถสกัดทองแดงได้ ๒๙,๐๒๕ กก. และทองคำ ๑๒๔ กก. จากซากโทรศัพท์มือถือและแบตเตอรี่ ๘ ล้านกว่าชิ้น
- กรีนพีซตรวจพบสารหน่วงไฟโบรมีน หรือบีเอฟอาร์ (Brominated Flame Retardants) และพีวีซี (Polyvinyl Chloride) ในส่วนประกอบของมือถือบางยี่ห้อ สารทั้งสองนี้เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตไปถึงการกำจัดหรือแม้แต่การรีไซเคิล เพราะทำให้แหล่งน้ำเป็นพิษ และเมื่อเผาจะปล่อยสารไดออกซินซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งรุนแรง ข่าวดีคือขณะนี้ มือถือหลายค่ายเริ่มออกผลิตภัณฑ์มือถือปลอดบีเอฟอาร์และพีวีซีกันแล้ว
- โทรศัพท์มือถือตกเป็นจำเลยในกรณีที่ผึ้งงานพากันหายตัวไปอย่างลึกลับ ปล่อยให้ราชินีผึ้งและตัวอ่อนตายคารัง หรือปรากฏการณ์ Colony Collapse Disorder ซึ่งเกิดขึ้นในยุโรปและอเมริกาเหนือในช่วงปลายปี ๒๐๐๖ เมื่อหนังสือพิมพ์ The Independent ของอังกฤษอ้างงานวิจัยสัญชาติเยอรมันตีพิมพ์เรื่องนี้ว่าน่าจะเป็นผลจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าของสัญญาณมือถือ แต่ภายหลังเจ้าของงานวิจัยออกมาแย้งว่าในการทดลองของเขาพบว่า ผึ้งสูญเสียความสามารถในการบินกลับรังหลังจากได้รับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดที่ใช้กับโทรศัพท์ไร้สายในบ้าน ซึ่งเป็นคนละชนิดกับคลื่นโทรศัพท์มือถือ ปรากฏการณ์ผึ้งหายจึงยังคงเป็นปริศนาต่อไป
- โทรศัพท์มือถือกำลังเบียดเบียนชีวิตกอริลลาในคองโก สาเหตุมาจากแหล่งอาศัยของกอริลลาเป็นแหล่งที่พบแร่โคลแทน (Coltan) สารเก็บประจุไฟฟ้าในโทรศัพท์มือถือ เหมืองแร่เหล่านี้ถูกผูกขาดโดยกองทัพรวันดาและยูกันดาโดยการหนุนหลังจากสหรัฐอเมริกา และขายให้แก่บรรษัทข้ามชาติผู้ผลิตมือถือทั้งหลายก่อนมาถึงมือเราในเวลาเพียง ๕ ปี ประชากรกอริลลาในบริเวณเหมืองลดลงกว่า ๙๐ % ทั้งจากการถูกรุกรานที่อยู่อาศัย ขาดแหล่งอาหาร และถูกล่าจากมนุษย์
ลด แลก แจก แถม
ร่วมส่งเสียงถึงผู้ผลิตมือถือให้หลีกเลี่ยงการใช้แร่โคลแทนที่มาจากแหล่งในคองโก และที่สำคัญคือการใช้มือถือให้คุ้มค่าการใช้งาน และรีไซเคิลมือถือเครื่องเก่า เพื่อลดปริมาณความต้องการใช้แร่โคลแทน
เทศบาลบางแห่งมีจุดรับซากมือถือและแบตเตอรี่เพื่อรีไซเคิล จุดใหญ่ในกรุงเทพฯ คือห้างมาบุญครอง หรืออาจมองหากล่องรับซากมือถือที่แผนกเครื่องใช้ไฟฟ้าในห้างคาร์ฟูร์ทุกสาขาทั่วประเทศ
ช่วยกันดึงสายชาร์จออกจากปลั๊กเมื่อชาร์จไฟเสร็จแล้วกันดีกว่า เพราะหากเสียบทิ้งไว้ตลอดเวลาเท่ากับว่าเราใช้ไฟฟ้าในการชาร์จจริงเพียง ๕ % เท่านั้น ส่วนอีก ๙๕ % คือพลังงานที่เสียไปกับ
การเสียบทิ้งไว้ทั้งวันทั้งคืน
ที่มา : กรมควบคุมมลพิษ, กรีนพีซ, บริษัทยูมิคอร์มาร์เก็ตติ้ง เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด, UNEP, International Telecommunication Union, NTT Docomo, Future Forests, Treehugger