รัชตวดี จิตดี : รายงาน
“ขุนอิน” บุรุษผู้เดี่ยวระนาดเอกได้อย่างดุดัน และเป็นคู่ปรับคนสำคัญของ “ศร” ตัวเอกในภาพยนตร์เรื่อง โหมโรง ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากชีวิตของหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) แม้จะไม่ได้มีตัวตนจริง แต่ผู้ที่สวมบทบาทนั้น เป็นบุคคลที่มีเลือด เนื้อ และลมหายใจเข้าออกเป็นดนตรีไทยจริง ๆ
“ผมหัดดนตรีไทยตั้งแต่ยังจำความไม่ได้ รู้ตัวก็เป็นแล้ว…” คือคำบอกเล่าของ ณรงค์ฤทธิ์ โตสง่า คนปี่พาทย์ตัวจริงที่มารับบทขุนอินในจอเงิน ด้วยความเหมาะสมกับลักษณะของตัวละคร ทายาทตระกูลดนตรีไทยที่มีชื่อเสียงโดดเด่นทางด้านระนาดเอกผู้นี้ จึงได้รับเลือกให้แสดงบทบาทดังกล่าว
ณรงค์ฤทธิ์เป็นบุตรชายคนโตของครูสุพจน์ โตสง่า ครูดนตรีไทยและนักระนาดมือหนึ่ง เจ้าของสมญา “ระนาดน้ำค้าง” สายเลือดคนดนตรีไทย ทำให้เขาเรียนรู้อย่างรวดเร็ว ปรกติการหัดเครื่องดนตรีไทยจะต้องเริ่มจากฆ้องวงใหญ่ก่อน แต่ว่าณรงค์ฤทธิ์สามารถเล่นเครื่องตีได้ทุกประเภท ตอน ๒ ขวบกว่าเขาได้เล่นฉิ่งฉับเล็กออกโทรทัศน์ร่วมกับวงดุริยประณีต ทั้งที่พอนั่งพับเพียบกับพื้นแล้วศีรษะยังไม่พ้นระนาดด้วยซ้ำ ครั้นอายุ ๓-๔ ขวบ ก็ไปช่วยตีตะโพนแทนนักดนตรีในคณะลิเกที่เมาจนเล่นไม่ไหว
ส่วนระนาดที่เป็นเครื่องดนตรีคู่ใจนั้น เขาบอกว่าลงนั่งปุ๊บก็ตีได้เลยโดยไม่ต้องมีใครสอน ระนาดจึงกลายเป็นเครื่องดนตรีชิ้นแรกที่ณรงค์ฤทธิ์เริ่มหัดอย่างจริงจัง แต่พ่อของเขากลับไม่สนับสนุน กระทั่งณรงค์ฤทธิ์มีโอกาสได้เดี่ยวระนาดออกโทรทัศน์ในวัยเพียง ๖ ขวบ
“สมัยก่อน ช่อง ๔ บางขุนพรหมหรือช่อง ๙ สมัยนี้ เขามีรายการ “แมวมองดารา” เอาเด็กไปออกทีวี คุณพ่อก็เลยต่อเดี่ยวระนาดให้ คือ “เดี่ยวเชิดนอก” ถือว่าเป็นเครื่องดนตรีชนิดแรกที่เรียน จากนั้นก็หัดต่อเนื่องกันมา ก่อนที่ผมจะตีเดี่ยวระนาดเชิดนอก ผมว่าผมตีได้ก่อนแล้วนะ แต่พ่อไม่ยอมต่อระนาดให้เลย แต่ตอนนั้นเขาจนใจเพราะรายการทีวีมันออกมาแล้ว เขาถึงต้องต่อให้ ก็เลยต่อเรื่อย ๆ มา แต่ผมเป็นคนที่ไม่ต้องต่อมาก ผมจะจำเพลงได้แบบมาล่วงหน้าเลย ตีเที่ยวเดียวถ้าผมได้ยิน ผมจำได้แล้ว เพราะว่าผมได้ยินมาก่อนตั้งแต่อยู่ในท้อง โดยสายเลือดมา จึงไม่ต้องมาต่ออะไรให้วุ่นวายเหมือนคนอื่นเขา อาศัยว่าจำคนโน้นมาคนนี้มาก็ตีได้”
แม้จะมีฝีมือ แต่ในช่วงแรกณรงค์ฤทธิ์ยังไม่ได้ตีระนาดเอกอย่างที่ฝันไว้ เนื่องจากในสมัยที่พ่อเขายังอยู่นั้น มีคนระนาดฝีมือดีเยอะมาก ทุกคนก็อยากจะตีแต่ระนาดเอก ไม่มีใครยอมตีระนาดทุ้ม เขาจึงต้องรับหน้าที่มือระนาดทุ้มที่มักถูกมองเป็นพระรอง แต่ณรงค์ฤทธิ์เห็นว่าเครื่องดนตรีทั้งสองชิ้นนี้มีเสน่ห์คนละแบบ ระนาดเป็นเครื่องดนตรีที่ต้องใช้ทั้งกำลังและสมอง แต่ระนาดเอกจะมีเสน่ห์โดดเด่นอยู่ที่ต้องใช้กำลังในการตีมากกว่าระนาดทุ้ม ส่วนระนาดทุ้มมีการดำเนินทำนองยากกว่าระนาดเอก ซึ่งผู้ตีระนาดทุ้มจะต้องมีไหวพริบและอารมณ์ขันด้วย จึงจะทำให้ผู้ฟังรู้สึกสนุก
“คณะศิษย์สุพจน์ โตสง่า มีการฝึกเด็กและเลี้ยงดูแบบโบราณ ลูกศิษย์ยังคงกินอยู่ที่บ้านครูดนตรีเหมือนกับบ้านท่านครูหลวงประดิษฐ์สมัยก่อน… การฝึกของพ่อผมเขาจะเข้มมาก เพราะตอนหนุ่ม ๆ เขาถูกฝึกมามาก โดนไม้ระนาดเคาะกบาลจนเห็นเดือนเห็นดาว แต่มาในรุ่นผมเขาไม่ทำอย่างนั้นเลยนะ ไม่บังคับ จะไม่ให้หัดด้วยซ้ำ
“ทีนี้การฝึก ปรกตินี่ผมรู้ว่าพ่อของผมเขามีวิธีการฝึกยังไง เขาเอาระนาดมาตีกลางน้ำค้าง สมัยก่อนบ้านเป็นโรงเรียน สนามมันกว้าง เขาก็เอาลูกศิษย์เขามาไล่มาตีระนาดตากน้ำค้าง ฝึกวิธีไล่ว่าไล่ยังไง คุมจังหวะยังไง เขาจะศึกษามาตลอด” ณรงค์ฤทธิ์เล่าถึงที่มาของสมญา “ระนาดน้ำค้าง” ของบิดา
แต่ณรงค์ฤทธิ์ก็ควบคุมวินัยการฝึกซ้อมดนตรีของตนเองได้โดยที่ไม่ต้องให้พ่อคอยเตือนหรือบังคับ เขาจะตื่นตั้งแต่ตีห้าเพื่อฝึกตีระนาด กลางวันก็ไปฝึกตีต่อที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ ในช่วงเย็นหลังเลิกเรียนเขาก็จะซ้อมตั้งแต่ห้าโมงเย็นไปจนเกือบสองทุ่ม เว้นช่วงหกโมงเย็นซึ่งนักดนตรีไทยเชื่อว่าเป็ฯเวลาที่ครูดนตรีไทยไปเฝ้าพระอิศวร
เมื่อจบจากวิทยาลัยนาฏศิลป์ ณรงค์ฤทธิ์เข้ารับราชการครูอยู่ที่โรงเรียนวัดห้วยจรเข้วิทยาคม จังหวัดนครปฐม เรื่อยมาถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา ๑๙ ปี โดยสอนวิชาดนตรีวิชาเดียว ขณะเดียวกันก็เล่นดนตรีกับวงของบิดามาเรื่อย ๆ จนกระทั่งปี ๒๕๓๒ เขาตอบรับไปร่วมเล่นกับวงกังสดาล ซึ่งมีครูจำเนียร ศรีไทยพันธ์ ศิลปินแห่งชาติปี ๒๕๓๖ และ เทวัญ ทรัพย์แสนยากร เป็นแกนนำ แต่เข้าไปร่วมได้สักพักหนึ่งก็เกิดจุดพลิกผันวงแตก เทวัญแยกตัวออกจากวง ณรงค์ฤทธิ์และชัยยุทธผู้เป็นน้องชายพร้อมเพื่อนอีก ๒ คนจึงได้ร่วมกันก่อตั้งวงดนตรีบอยไทย
บอยไทยสร้างปรากฏการณ์ในวงการดนตรีไทยอยู่เกือบ ๕ ปี ก็แยกวง ณรงค์ฤทธิ์ไปอยู่กับวงของเทวัญ และยังแสดงร่วมกับวงดนตรีของครูสุพจน์ผู้เป็นบิดา หลังจากครูสุพจน์เสียชีวิตลง ณรงค์ฤทธิ์จึงเข้าไปควบคุมวงอย่างเต็มตัว
ผลงานการแต่งเพลงประกอบละครเรื่อง ทิพยดุริยางค์ ให้ผู้กำกับ นพพล โกมารชุน ในปี ๒๕๔๓ จนได้เข้าชิงรางวัลโทรทัศน์ทองคำ ทำให้ณรงค์ฤทธิ์ค้นพบว่า การแต่งเพลงไทยร่วมสมัยไม่ใช่สิ่งที่ยากกว่าการแต่งดนตรีไทยเดิมที่เขาเคยแต่งมา ณรงค์ฤทธิ์จึงตัดสินใจร่วมก่อตั้งวงดนตรีไทยร่วมสมัยตามคำชักชวนของเพื่อน โดยใช้ชื่อวงว่า บางกอกอคูสติก
แม้ในช่วงแรกพวกเขาจะยังสับสนหาตัวเองไม่เจอ แต่ในที่สุดก็ค้นพบสไตล์ดนตรีเป็นของตนเอง คือ เป็นวงดนตรีไทยร่วมสมัยที่นำเครื่องดนตรีไทยมาผสมผสานกับดนตรีสากลหลากหลายสไตล์ ซึ่งเมื่อมองเผิน ๆ อาจจะดูคล้ายคลึงกันกับวงบอยไทย แต่บางกอกอคูสติกนั้นจะเน้นซาวนด์แบบอคูสติกที่ฟังง่าย สบาย ๆ ฉีกจากแนวดนตรีไทยร่วมสมัยอื่น ๆ เพราะจะมีความเป็นดนตรีพ็อปสูง
ณรงค์ฤทธิ์เห็นว่าวงดนตรีอย่างฟองน้ำ บอยไทย หรือวงของเทวัญนั้น มีกลุ่มคนฟังเฉพาะกลุ่มเพียงกลุ่มเดียว และจากประสบการณ์ในการเล่นร่วมกับวงของเทวัญและบอยไทย ทำให้เขาเห็นว่าดนตรีของทั้งสองวงประสบผลสำเร็จด้านการยอมรับจากนักวิจารณ์และกลุ่มผู้ฟังที่ชอบดนตรีแนวนี้ ทว่าไม่ประสบผลสำเร็จในแง่ธุรกิจ เพราะไม่เป็นที่นิยมของตลาดเพลง ณรงค์ฤทธิ์จึงนำจุดนี้มาปรับใช้ในงานดนตรีของเขา โดยให้มีลักษณะความเป็นพ็อปมากขึ้น แต่ก็ไม่มากจนเกินไป เพราะเขาเชื่อมั่นแนวคิดที่ว่า “เพลงเดียวก็โดนแล้ว” ขณะเดียวกันเขาก็ไม่ทิ้งกลุ่มผู้ฟังดนตรีไทยดั้งเดิม นอกจากนี้ณรงค์ฤทธิ์ยังทดลองทำเพลงจังหวะลูกทุ่งโดยใช้เครื่องดนตรีไทยในสไตล์อคูสติกอีกด้วย
นอกจากบทบาทคนดนตรีอาชีพแล้ว บทบาทในฐานะครูดนตรีไทยของณรงค์ฤทธิ์ ที่ฝึกลูกศิษย์โดยใช้ระบบเดียวกับพ่อของเขา ก็โดดเด่นไม่แพ้กัน ศิษย์เอกของเขามีฝีมือการเล่นระนาดเอกยอดเยี่ยมจนได้รางวัลชนะเลิศแชมป์ดนตรีไทยเยาวชนถึงสี่สมัยซ้อน ได้รับความสนใจจากหลายสถาบันจนถึงขั้นมีการขอซื้อตัว แม้จะมีบางคนเห็นว่าดนตรีไทยเป็นศิลปะชั้นสูง จึงไม่ควรทำเป็นเรื่องธุรกิจ แต่ณรงค์ฤทธิ์กลับมองต่างมุม
“ถ้าเขาติดต่อผมนะ ผมขายเลย เพื่อเป็นประวัติศาสตร์ มีการซื้อขายนักดนตรีไทยคนแรก การค้ากับศิลปะดนตรีไทยมันไปด้วยกันได้ แต่ยังไม่มีอย่างนี้เกิดขึ้น ผมมองไกล ๆ น่ะ ทีนักฟุตบอลอย่าง เดวิด เบ็กแฮม ยังซื้อตัวกันได้เลย แล้วทำไมเด็กผมจะซื้อไม่ได้ ผมขายเลย ให้เป็นสถิติใหม่ว่ามีการซื้อขายนักระนาดเกิดขึ้นแล้ว ไม่ต้องเป็นเงินมากมายหรอก นิดหน่อยก็ให้ไปแล้ว ถือว่าเป็นการบุกเบิก”
ณรงค์ฤทธิ์เชื่อมั่นว่า ปรากฏการณ์นี้จะเป็นนิมิตหมายที่ดีต่อวงการดนตรีไทย เพราะเป็นเรื่องน่าชื่นชมยินดีที่นักดนตรีไทยได้รับการยกย่องและสามารถสร้างรายได้จากพรสวรรค์ทางดนตรีของตน ซึ่งจะเป็นสิ่งกระตุ้นให้นักดนตรีไทยมีกำลังใจขยันฝึกซ้อมให้มีฝีมือดีขึ้น ช่วยให้วงการดนตรีไทยกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งหนึ่ง
“หัวใจสำคัญของดนตรีไทยอยู่ที่ความอดทนและการฝึกซ้อม ซึ่งทั้งสองอย่างนี้เป็นสิ่งที่จะต้องมาคู่กัน และที่สำคัญคือ จะต้องมีครูผู้สอนที่ดี ครูที่ดีไม่ใช่ครูที่เก่ง ไม่ใช่ครูที่เลิศเลอ แต่เป็นครูที่ทุ่มเทให้ลูกศิษย์ อย่างตัวผมก็พยายามทุ่มเทฝึกซ้อมให้ลูกศิษย์ สอนทั้งเทคนิคและความอดทนควบคู่กันไป” ณรงค์ฤทธิ์เชื่อว่าตัวอย่างที่ดีนั้นสำคัญพอๆ กับคำสอน ดังเช่นที่พ่อของเขาเคยฝึกซ้อมและอบรมสั่งสอน ถ่ายทอดความรู้ทางด้านดนตรีไทยแก่ลูกศิษย์จำนวนมากมาย รวมทั้งตัวเขาเองด้วย
เมื่อมองย้อนกลับไป ณรงค์ฤทธิ์คิดว่าสาเหตุที่พ่อไม่หัดระนาดให้เขาแต่ทีแรก คงเพราะต้องการบ่มให้เขามีความอยาก และพิสูจน์ความตั้งใจจริงของเขาว่าจะสามารถแปรความอยากนั้นให้เป็นเครื่องมือหาเลี้ยงชีพตัวเองได้หรือไม่
ผลงานของณรงค์ฤทธิ์ในวันนี้คงจะเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ในระดับหนึ่งแล้วว่า ดนตรีไทยเป็นอาชีพ ซึ่งไม่ได้มีแต่รับหรือตักตวง หากแต่ยังให้สุนทรียรสแก่ผู้ฟัง รวมทั้งความภาคภูมิและศักดิ์ศรีแก่นักดนตรีไทยอีกด้วย