วรวดี วงศ์สง่า

คอลัมน์ “คนบันดาลใจ” เป็นการนำเสนอเรื่องราวของบุคคลหรือกลุ่มคน ทั้งในประวัติศาสตร์ ในตำนานรวมทั้งคนร่วมสมัยที่มีความคิดหรือการกระทำที่จุดประกายความคิดสร้างสรรค์ สร้างแรงบันดาลใจ และเสริมพลังทางบวกให้แก่คนในสังคมและชนรุ่นหลัง

เลดี้โกไดวา

ภาพ Lady Godiva โดย John Collier (๑๘๙๗)

เมื่อเอ่ยถึงชื่อโกไดวา (Godiva) คนส่วนมากมักทราบว่าเป็นชื่อช็อกโกแลตยี่ห้อหนึ่งที่มีโลโกเป็นรูปผู้หญิงผมยาวเปลือยร่างนั่งอยู่บนหลังม้า แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่า ผู้หญิงบนโลโกนั้นเคยมีชีวิตและตัวตนอยู่จริงเมื่อเกือบ ๑,๐๐๐ ปีก่อน ทั้งยังมีเรื่องราวอันน่าทึ่ง ซึ่งไม่ว่าท้ายสุดจะเป็นเรื่องจริงหรือตำนาน แต่อิทธิพลจากเรื่องราวของเธอได้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ชนรุ่นหลัง

เลดี้โกไดวา (Lady Godiva) เป็นสตรีสูงศักดิ์ผู้เป็นสัญลักษณ์แห่งเมืองโคเวนทรี (Coventry) ประเทศอังกฤษมีชีวิตอยู่ในช่วงปี ค.ศ. ๙๙๗-๑๐๖๗ เธอเป็นภรรยาของลีโอฟริก (Leofric) เอิร์ลแห่งเมอร์เซียและลอร์ดแห่งเมืองโคเวนทรี หนึ่งในเอิร์ล ๓ คนที่มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดินอังกฤษ ลีโอฟริกผู้นี้เก็บภาษีประชาชนอย่างโหดหิน โกไดวาเฝ้าขอร้องสามีให้ลดภาษี แต่เขาไม่เคยยอม กระทั่งวันหนึ่งเพื่อตัดความรำคาญ เขาบอกเธอว่าถ้าเธอกล้าเปลือยกายขี่ม้ารอบเมือง เขาจะยอมลดภาษีให้ตามที่ขอ

ทว่าการกระทำดังกล่าวสำหรับผู้หญิงอังกฤษสมัยกลางย่อมถือเป็นเรื่องต่ำช้าอย่างยิ่ง แต่ความที่โกไดวามีจิตเมตตาต่อผู้ยากไร้และตระหนักว่านี่คือหนทางเดียวที่เธออาจสามารถช่วยเหลือพวกเขาได้ เพราะแม้เธอมีทรัพย์สินมากมาย ทั้งยังเป็นภรรยาผู้ทรงอิทธิพล แต่เธอไม่มีอำนาจใดในมือแม้แต่น้อย

โกไดวาได้ส่งข่าวการตัดสินใจถึงชาวบ้านเพื่อขอให้พวกเขาร่วมมือด้วยการปิดประตูหน้าต่างหลบอยู่ในที่พักอาศัยขณะเธอขี่ม้าผ่านโดยไร้เสื้อผ้าอาภรณ์ ซึ่งแน่นอนว่าชาวบ้านได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีเพื่อตอบแทนสิ่งที่เธอทำให้พวกเขา โกไดวาจึงขี่ม้ารอบเมืองโดยมีเพียงเส้นผมยาวปกปิดร่างเปลือยเปล่าเหลือไว้เพียงช่วงขาห้อยลงจากหลังม้า ท่ามกลางความตะลึงงันของผู้เป็นสามีที่คิดไม่ถึงว่าเธอจะกล้า ในที่สุดเขาต้องแพ้ใจเธอ ยอมยกเลิกภาษีที่ไม่สมเหตุสมผลตามสัญญา

โกไดวาจึงไม่เพียงไม่ถูกประณาม หากยังกลายเป็นวีรสตรีของชาวเมืองไปในทันที ทุกวันนี้ที่จัตุรัสกลางเมืองโคเวนทรีมีอนุสาวรีย์เลดี้โกไดวาตั้งอยู่อย่างโดดเด่นเป็นสัญลักษณ์ที่ชาวเมืองภาคภูมิใจ ในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๖๗๘ สภาเมืองโคเวนทรีได้เริ่มจัดให้มีขบวนแห่ “เลดี้โกไดวา” บันทึกไว้เป็นครั้งแรก โดยจัดหาผู้หญิงมาสวม body stocking หรือผ้าสีเนื้อรัดกายให้ดูคล้ายเปลือยเปล่า นั่งบนหลังม้าแห่ไปรอบเมืองเพื่อรำลึกการกระทำอันงดงามของโกไดวา

อนุสาวรีย์เลดี้โกไดวาที่จัตุรัสกลางเมืองโคเวนทรี ประเทศอังกฤษ

ประเพณีนี้ได้จัดติดต่อกันมาจนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ก็เริ่มมีปัญหา เพราะแบบฉบับของผู้หญิงสมัยวิกตอเรียนนั้นต้อง “รักนวลสงวนตัว” การหาผู้แสดงเป็นเลดี้โกไดวาที่ต้องสวมผ้ารัดกายแนบเนื้อจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ก็เลยมีการไปจ้างนักแสดงหญิงหรือนักเต้นในสถานเริงรมย์มานั่งบนหลังม้าในขบวนแห่แทน สร้างความตะขิดตะขวงใจให้ชาวเมืองไม่น้อย

กระทั่งในปี ๑๘๕๔ บิชอปแห่งวูสเตอร์ทนไม่ไหวจึงออกมาประท้วง เพราะผู้แสดงเป็นโกไดวาในปีนั้นแทนที่จะสวมผ้ารัดกาย เธอกลับมีเพียงเส้นผมคลุมร่างเปลือยเปล่าแบบในตำนานจริงๆ ซึ่งไม่ว่าจุดประสงค์ของผู้จัดงานคืออะไร แต่คำพูดของท่านบิชอปได้กลายเป็นกระบอกเสียงแทนความไม่พอใจของชาวเมืองได้เป็นอย่างดี เมื่อท่านประกาศไม่ยอมรับ “นางกลางเมืองที่แสดงเป็นเลดี้โกไดวาผู้สูงส่งให้ประชาชนแห่สรรเสริญตามท้องถนน” ผลก็คือเทศกาลโกไดวาได้ถูกงดจัดไปถึง ๘ ปี ก่อนจะมีการรื้อฟื้นจัดขึ้นใหม่จนถึงปัจจุบันด้วยรูปแบบและเนื้อหาที่เปลี่ยนแปลงไป

นอกจากนี้ เรื่องราวของเลดี้โกไดวาเองได้ถูกแต่งเติมและวิเคราะห์วิจารณ์ในวงกว้าง เริ่มจากตอนที่ชาวเมืองโคเวนทรีให้สัญญาว่าจะหลบอยู่ในบ้านยามเธอขี่ม้าผ่านโดยไร้เสื้อผ้าอาภรณ์ ในราวคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ ได้มีการใส่สีตีไข่ว่าในบรรดาชาวเมืองที่หลบเงียบ กลับมีช่างตัดเสื้อชื่อทอมแอบดูเธอจากรูฝาผนัง เป็นที่รู้จักในนามว่า Peeping Tom หรือ “นายทอมถ้ำมอง” ซึ่งภายหลังนายทอมถ้ำมองโดนรุมประชาทัณฑ์จนตาบอด บ้างก็ว่าจนตาย อยู่ที่ว่าจะอ่านจากบันทึกหรือบทกวีบทใด

เหตุผลในการแต่งเติมเรื่องนายทอมถ้ำมองนี้ไม่มีใครทราบ แต่ แดเนียล โดโนฮิว (Daniel Donoghue) ศาสตราจารย์ด้านภาษาและวรรณคดีอังกฤษแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ระบุไว้ในหนังสือ Lady Godiva: A Literary History of the Legend ว่า การแอบมองของนายทอมคือภาพสะท้อนของผู้มีความอยากรู้อยากเห็นทางเพศและหาความสุขจากการแอบมองผู้อื่น ซึ่งทางจิตวิทยาเรียกว่า Voyeurism หรือ Scopophilia ในขณะที่การกระทำของโกไดวาคือการเปิดเผยร่างกายในส่วนลับให้ผู้อื่นชม หรือ Exhibitionism ซึ่งในพจนานุกรมศัพท์ทางเพศก็ระบุคำนี้ว่าเป็น Lady Godiva Syndrome ส่วนการที่นายทอมตาบอดหรือถูกประชาทัณฑ์ก็คือสัญลักษณ์ของความรู้สึกผิดของผู้คนที่มีความอยากรู้อยากเห็นทางเพศ นายทอมจึงตกเป็นแพะรับบาปอันเกิดจากตัณหาตามธรรมชาติที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคน

ในขณะเดียวกัน นักประวัติศาสตร์ร่วมสมัยหลายคนไม่คิดว่าเรื่องของโกไดวาได้เกิดขึ้นจริง เนื่องจากหลักฐานระบุไว้เพียงว่าเธอเป็นภรรยาของเอิร์ลลีโอฟริก และข้อมูลยังบ่งชี้ว่าทั้งคู่ต่างก็มีน้ำใจงามและเคร่งศาสนา เช่นในปี ๑๐๔๓ ท่านเอิร์ลและเลดี้ได้บริจาคเงินพร้อมที่ดินเพื่อสร้างวัดในนิกายเบเนดิกทีนที่โคเวนทรี ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเดียวกับโบสถ์โคเวนทรีที่ถูกระเบิดทำลายไปบางส่วนในสงครามโลกครั้งที่ ๒ วัดแห่งนี้ประดับด้วยพลอยล้ำค่างดงามอย่างที่ไม่มีวัดใดในอังกฤษยุคนั้นเทียบได้ และในช่วงทศวรรษ ๑๐๕๐ ทั้งสองยังบริจาคที่ดินและเงินมหาศาลเพื่อสร้างวัดและโบสถ์อีกหลายแห่ง เช่นที่ลินคอล์นเชียร์ ลีโอมินสเตอร์ และอีฟแชม นักประวัติศาสตร์หลายคนจึงไม่คิดว่าท่านเอิร์ลจะโหดหินจนโกไดวาต้องเปลือยร่างขี่ม้าขอความเป็นธรรมให้ประชาชน

ส่วนผู้ที่เชื่อว่าตำนานนี้เป็นเรื่องจริงก็จะอิงบันทึกเกร็ดประวัติศาสตร์อังกฤษฉบับภาษาละตินที่ชื่อ Flores Historiarum (Flowers of History) ของโรเจอร์แห่งเวนโดเวอร์ (Roger of Wendover) ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ ที่ระบุเรื่องราวของเลดี้โกไดวาไว้ตามที่ระบุข้างต้น ซึ่งนักประวัติศาสตร์บางคนแย้งว่าเวนโดเวอร์เป็นเพียงผู้บันทึกตำนานและเกร็ดประวัติศาสตร์ แต่ไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขาเขียนบันทึกนี้ขึ้นเมื่อ ๒ ศตวรรษหลังการตายของโกไดวา ข้อความดังกล่าวจึงไม่มีน้ำหนักพอให้เชื่อถือ แม้จะมีบันทึกระบุว่าครั้งหนึ่งลีโอฟริกได้ยกเลิกภาษีให้ประชาชนจริง และประทับตราด้วยตราประจำตัวของเขาเองเลยก็ตาม

ส่วน โรเบิร์ต เลซีย์ (Robert Lacey*) นักประวัติศาสตร์อีกคนแย้งว่า แม้เวนโดเวอร์ไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ แต่เขาเป็นพระในวัดเบเนดิกทีนแห่งเซนต์อัลบันส์ ซึ่งเป็นเครือข่ายใกล้ชิดกับวัดเบเนดิกทีนที่ลีโอฟริกและโกไดวาสร้างไว้ในโคเวนทรี และแม้การเปลือยร่างขี่ม้าของโกไดวาจะไม่มีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ แต่อาจปรากฏอยู่ในบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ของวัด ซึ่งเป็นไปได้ว่าเวนโดเวอร์ไปพบเข้าจึงนำมาบันทึกต่อ

นอกจากนี้ เลซีย์ยังคิดว่าในบันทึกของเวนโดเวอร์ที่เป็นภาษาละติน เขาใช้คำว่า denudata ซึ่งแปลว่า stripped หรือ “ปลดเปลื้อง” ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นการเปลือยเปล่าแบบคำว่า nude หรือ naked ในภาษาอังกฤษ ดังนั้น การปลดเปลื้องของโกไดวาอาจเป็นการปลดเชิงสัญลักษณ์ คือปลดทั้งเครื่องประดับกายและผม เพราะเมื่อสตรีสูงศักดิ์ปราศจากเครื่องประดับก็เท่ากับลดเกียรติของตนลงเทียบเท่าสตรีสามัญ ซึ่งในจุดนี้ก็มีนักประวัติศาสตร์อีกกลุ่มแย้งว่าจะปลดหรือเปลื้องก็คือการเปลือยเปล่าแบบไร้เสื้อผ้าอาภรณ์อยู่ดี เพราะในยุคนั้นไม่มีคำอื่นที่ตรงกับคำว่า naked แบบในความหมายปัจจุบัน*

ท้ายที่สุด แดเนียล โดโนฮิว สรุปไว้อย่างน่าสนใจว่า แม้นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ยุคกลางหลายคนไม่เชื่อว่าการเปลือยร่างขี่ม้าของโกไดวาได้เกิดขึ้นจริง แต่สิ่งที่เขาเห็นว่าสำคัญกว่าข้อเท็จจริงก็คือบทบาทของตำนาน เพราะตำนานคือเครื่องมือที่ชนทุกชาติใช้ในการส่งผ่านคุณค่าทางวัฒนธรรมและความคิดสู่ชนรุ่นหลัง ซึ่งในปัจจุบันโทรทัศน์และสื่ออื่นๆ ได้เข้ามาทำหน้าที่แทนอย่างน่ากลัว

หากเรื่องของเลดี้โกไดวาไม่เคยเกิดขึ้นจริง และหากจะมองตามแง่คิดของโดโนฮิวข้างต้น ก็อาจช่วยให้เข้าใจได้ว่าเหตุใดจึงมีการนำชีวิตของเธอมาแต่งแต้มเป็นตำนาน ความที่เธอเป็นสตรีสูงศักดิ์ เป็นภรรยาของชนชั้นศักดินา และยิ่งเป็นผู้หญิงที่ไม่มีสิทธิมีเสียง โกไดวาจึงเป็นตัวละครที่สมบูรณ์ที่สุดที่จะพลิกบทบาทมากระทำในสิ่งตรงข้ามให้เกิดเป็นวีรกรรมเพื่อเล่าขานเป็นตำนานสืบต่อไป ว่าเลดี้โกไดวาเป็นสตรีชนชั้นปกครองแต่คำนึงถึงความทุกข์ยากของประชาชน เธอเป็นผู้หญิงยุคกลางที่ต้องเชื่อฟังสามี แต่กลับกล้าทักท้วงเมื่อเขาขูดรีดคนจน เธอไม่มีอำนาจทางการเมือง แต่สามารถท้าทายผู้มีอำนาจให้คืนความเป็นธรรมให้ผู้คน และท้ายสุด แม้เธอต้องเปลือยร่างนั่งบนหลังม้ารอบเมืองซึ่งปรกติย่อมทำลายชื่อเสียงความเป็นกุลสตรีของเธอหมดสิ้น หากด้วยเหตุผลข้างต้น การกระทำดังกล่าวกลับกลายเป็นวีรกรรม เพราะเธอทำด้วยหัวใจที่คำนึงถึงแต่ความทุกข์ของผู้ยากไร้ สิ่งนี้เองน่าจะเป็น “คุณค่าทางวัฒนธรรมและความคิด” จากเรื่องราวของโกไดวาที่ผู้สร้างตำนานอาจต้องการส่งผ่านถึงคนรุ่นหลัง

หากเป็นเช่นนั้นจริง การส่งผ่านคุณค่าดังกล่าวด้วยตำนานโกไดวานับว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง

พรู พอร์เร็ตตา เลดี้โกไดวาแห่งศตวรรษที่ ๒๑

โลโกช็อกโกแลตยี่ห้อโกไดวา อีกหนึ่งแรงบันดาลใจจากตำนานโกไดวา

นับแต่กลางทศวรรษ ๑๙๘๐ เป็นต้นมา เทศกาลเลดี้โกไดวาในเมืองโคเวนทรีได้มีเนื้อหาที่เปลี่ยนไปมาก เนื่องจากสตรีชาวเมืองโคเวนทรีผู้หนึ่งคือ พรู พอร์เร็ตตา(Pru Porretta) ผู้ได้รับเลือกเป็นเลดี้โกไดวาในขบวนแห่หลายปีติดต่อกันนี้ ได้นำแนวคิดจากตำนานเลดี้โกไดวามาก่อตั้งกลุ่ม The Godiva Sisters ขึ้นในปี ๒๐๐๒ โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างสิ่งที่ดีให้ชุมชน และเพื่อร่วมสร้างสันติภาพโลกด้วยการสนับสนุนให้สมาชิกที่ประกอบด้วยประเทศหรือกลุ่มต่างๆ เลือกสตรีผู้เป็นแรงบันดาลใจของกลุ่มตนเข้าร่วมขบวนแห่ในเทศกาลโกไดวา

ขบวนแห่ดังกล่าวจึงไม่ได้มีเพียงพอร์เร็ตตาแต่งตัวเป็นโกไดวานั่งบนหลังม้า หากยังมี “สตรีพี่น้องโกไดวา” จากอีกหลายประเทศหลายกลุ่มเข้าร่วม จากเมื่อเริ่มก่อตั้งที่มีเพียง ๖ กลุ่ม ในปี ๒๐๐๘ ที่ผ่านมา สตรีพี่น้องโกไดวาในขบวนแห่มีถึง ๑๔ กลุ่ม เช่นพี่น้องโกไดวาจากญี่ปุ่นแสดงเป็นซาดาโกะกับนกกระเรียน ๑,๐๐๐ ตัว พี่น้องโกไดวาจากจีนแสดงเป็นมู่หลาน พี่น้องโกไดวากลุ่มฮินดูแสดงเป็นรานีลักษมี ไบ(ค.ศ. ๑๘๓๐-๑๘๕๘) ผู้นำชาวอินเดียลุกขึ้นสู้กับเจ้าอาณานิคมอังกฤษ รวมทั้งสตรีพี่น้องโกไดวาอีกหลายประเทศจากทุกมุมโลก

นอกจากนี้ กลุ่มสตรีพี่น้องโกไดวายังจัดให้สมาชิกได้แสดงทางวัฒนธรรม เช่น ละคร ดนตรี ฯลฯ ซึ่งครั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือเมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๒๐๐๗ ที่สมาชิกได้แสดงต่อหน้าผู้ชมที่เป็นตัวแทนจาก ๖๙ ประเทศ จำนวน ๙๐๐ คน ระหว่างเข้าร่วมประชุม The World Council for Gifted and Talented Children Biennial Conference ที่ศูนย์ศิลปะแห่งมหาวิทยาลัยวอริก (University of Warwick) ในเมืองโคเวนทรี

กิจกรรมของกลุ่มสตรีพี่น้องโกไดวานี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าไม่ได้เน้นเพียงวีรกรรมของเลดี้โกไดวาและประวัติศาสตร์ของเมืองโคเวนทรี หากเป็นการสานต่อเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของโกไดวาในครั้งนั้นสู่สากล ด้วยการนำ “เลดี้โกไดวา” หรือสตรีผู้สร้างสิ่งดีๆ ให้ทุกชุมชนในโลก มาทำความรู้จักกันบนพื้นฐานแห่งความเคารพซึ่งกันและกัน เพื่อเผยแพร่สิ่งดีๆ ให้เป็นแบบอย่างแก่เยาวชน

แนวคิดและการกระทำของพอร์เร็ตตาได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีตลอดมา ทั้งจากสมาคมโกไดวาแห่งเมืองโคเวนทรีและองค์กรอื่นๆ ในปี ๒๐๐๒ เธอจึงได้รับปริญญาโทกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยโคเวนทรี และเมื่อปี ๒๐๐๘ บิชอปแห่งวอริกได้มอบ “มงกุฎเลดี้โกไดวา” หรือเครื่องประดับศีรษะสตรีชั้นสูงในยุคกลางชิ้นใหม่ที่ออกแบบโดยศิลปินท้องถิ่นแห่งโคเวนทรีให้เธอ ในฐานะที่แสดงเป็นเลดี้โกไดวาติดต่อกันนานถึง ๒๕ ปี งานนี้ได้รับการอุปถัมภ์จากนายกเทศมนตรีเมืองโคเวนทรี โดยมีตัวแทนจากหลายเมืองในภาคกลางของอังกฤษกว่า ๑๐๐ คนเข้าร่วม ณ ศาลากลางเมือง St. Mary’s Guildhall อันเก่าแก่ พอร์เร็ตตาจึงเป็นที่รู้จักในฐานะทูตแห่งเมืองโคเวนทรี และเลดี้โกไดวาแห่งยุคปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของโกไดวาจะเป็นเพียงตำนานหรือความจริงย่อมยากที่จะพิสูจน์ไม่ต่างจากทุกตำนานในโลก หากเหนือข้อเท็จจริงย่อมเป็นคุณค่าของตำนานที่ถูกส่งผ่านมากับกาลเวลา เฉกเช่นเรื่องของเลดี้โกไดวาที่เนื้อหาแท้จริงได้แทรกตัวอยู่ทั้งในบทกวี รูปปั้น ภาพเขียนของจิตรกรหลายยุคสมัย หรือกระทั่งในกระดาษห่อช็อกโกแลตยี่ห้อโกไดวา

ขอเพียงคนรุ่นหลังสามารถรับเนื้อหาแท้จริงนั้น คุณค่าแห่งตำนานย่อมสามารถดำรงอยู่คู่โลกสืบไป

 


* Robert Lacey, “The Legend of Lady Godiva”, in Great Tales From English History, 2003.