http://www.fringer.org
การส่งพลังงานแบบไร้สายด้วยต้นทุนต่ำเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งยวดต่อมนุษย์ เพราะมันจะทำให้เขาเป็นนายเหนือท้องฟ้ามหาสมุทร และทะเลทราย ทำให้เขาสามารถขจัดความจำเป็นในการขุดเจาะ สูบ ขนส่ง และเผาผลาญเชื้อเพลิง และดังนั้นจึงกำจัดแหล่งที่มาไม่รู้จบของความสิ้นเปลืองอันชั่วร้าย
นิโคลา เทสลา (Nikola Tesla, ๑๘๕๖-๑๙๔๓)
…………………
ในบรรดาสิ่งประดิษฐ์ทั้งหมดที่จำเป็นต่อวิถีชีวิตอันสะดวกสบายของคนสมัยนี้ที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีมากกว่าธรรมชาติแทบทุกคนคงนึกถึงหลอดไฟฟ้าและระบบจ่ายไฟฟ้าของ โทมัส อัลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison) อัจฉริยะผู้คิดค้นสิ่งประดิษฐ์มากมายจนได้รับสมญา “พ่อมดแห่งเมนโลปาร์ก”
เอดิสันมิใช่นักประดิษฐ์ยุคปลายศตวรรษที่ ๑๙ “รุ่งอรุณแห่งเทคโนโลยีสมัยใหม่” เพียงคนเดียวที่เราสำนึกบุญคุณจวบจนปัจจุบัน ผู้ยิ่งใหญ่ร่วมรุ่นหลายคนเป็นตำนานที่คนทั่วไปจำขึ้นใจตั้งแต่สมัยเรียน อาทิ กูกลีเอลโม มาร์โคนี (Guglielmo Marconi) นักประดิษฐ์รางวัลโนเบลผู้ได้รับการขนานนามว่า “บิดาแห่งวิทยุ” เจ.พี. มอร์แกน (J.P. Morgan) นายธนาคารผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ หรือ จอร์จ เวสติงเฮาส์ (George Westinghouse) ผู้คิดค้นเบรกรถไฟและเผยแพร่ระบบจ่ายไฟฟ้กระแสสลับที่เอาชนะระบบจ่ายไฟฟ้ากระแสตรงของเอดิสันในการต่อสู้อันน่าตื่นเต้นที่คนปัจจุบันรู้จักในชื่อ “สงครามคลื่น” (War of Currents แต่ตอนนี้ก็มีแนวโน้มว่าในอนาคตเอดิสันอาจหัวเราะทีหลังดังกว่า เพราะระบบจ่ายไฟกระแสตรงแบบกระจายศูนย์ที่ใช้พลังงานทดแทน เช่นพลังแสงอาทิตย์และพลังลม กำลังได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ)
ถึงแม้ว่ายุครุ่งอรุณแห่งเทคโนโลยีจะมีคนที่เรายกย่องเป็น “วีรบุรุษ” มากมาย ชื่อของ นิโคลา เทสลา นักประดิษฐ์และวิศวกรชาวยูโกสลาเวีย (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของโครเอเชีย) กลับเลือนหายไปจากกระแสสำนึกของสังคม ทั้งที่เขาไม่เพียงเป็นอัจฉริยะเจ้าของสิทธิบัตรกว่า ๓๐๐ รายการ หากยังเป็นบิดาแห่งวงการวิศวกรรมศาสตร์ไฟฟ้า มีชื่อเสียงโด่งดังทัดเทียมเอดิสันในครึ่งแรกของชีวิต เป็นผู้ประดิษฐ์และค้นพบสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย อาทิ มอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับ (ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เวสติงเฮาส์เอาชนะเอดิสันในสงครามคลื่นได้) ขดลวดเทสลา (Tesla coil) เครื่องวัดความเร็วติดรถยนต์ การกระจายเสียงผ่านวิทยุ และวิธีการเปลี่ยนสนามแม่เหล็กเป็นสนามไฟฟ้า อันเป็นที่มาของหน่วยวัดสนามแม่เหล็กเทสลาซึ่งวิศวกรรุ่นหลังตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่เขา
การค้นพบเหล่านี้ล้วนเป็น “ฟันเฟือง” สำคัญที่ทำให้สังคมได้รับประโยชน์อย่างยั่งยืนจากงานของเอดิสัน มาร์โคนี เวสติงเฮาส์ และนักประดิษฐ์อีกจำนวนมาก จนกล่าวได้ว่าวิถีชีวิตสมัยใหม่ที่เราคุ้นเคยไม่อาจสัมฤทธิผลได้ถ้าปราศจากงานของเทสลา
นิโคลา เทสลา ในห้องทดลองของเขาี่ที่เมืองโคโลราโด สปริงส์ วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๑๘๙๙ ถ่ายคู่กับเครื่องส่งกระแสไฟฟ้ายักษ์ ซึ่งมีความถี่สูงมากจนสามารถส่งกระแสไฟนับล้านวัตต์
มอเตอร์กระแสไฟฟ้าสลับของเทสลาได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในสิ่งประดิษฐ์ ๑๐ ชิ้นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์
แต่แล้ว เทสลากลับกลายเป็นคน (ไม่) สำคัญที่โลกลืมก่อนตัวเขาจะล่วงลับนานนับสิบปี ถูกเย้ยหยันจากนักวิทยาศาสตร์ด้วยกันและสังคมอย่างไม่ไยดี ตายอย่างยากไร้และเดียวดายในห้องน้ำของโรงแรมโกโรโกโสแห่งหนึ่งในนิวยอร์ก ไม่มีใครรู้วันตายที่แน่นอน งานทั้งชีวิตของเขาถูกรัฐบาลอเมริกันตีตรา “ลับที่สุด” และห้ามใครพูดถึงในที่สาธารณะจวบจน ๑๐๐ ปีให้หลัง
สาเหตุที่ชีวิตของนักประดิษฐ์ผู้ยิ่งใหญ่พลิกผันชนิดหน้ามือเป็นหลังมืออาจเป็นส่วนผสมระหว่างอัจฉริยภาพ นิสัยส่วนตัวตั้งแต่เกิด กับความบังเอิญ (บางคนอาจเรียกมันว่า “โชคชะตา”) ที่เล่น “ตลกร้าย” กับเขาอย่างเหลือเชื่อ
ดร. โรเบิร์ต โลมัส (Robert Lomas) คลี่คลายปริศนาเกี่ยวกับบั้นปลายชีวิตของเทสลาไว้อย่างน่าประทับใจในบทความเรื่อง “Spark of Genius” ตีพิมพ์ในวารสาร The Independent วันที่ ๒๑ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๙๙ ผู้เขียนได้แปลและตัดต่อบางตอนมาพอสังเขป
………………………………………………………………
นิสัยของเทสลาเองเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของความไร้ชื่อเสียงของเขา เทสลาไม่เหมือนกับเอดิสัน เวสติงเฮาส์ มาร์โคนี หรือมอร์แกน ตรงที่เขาไม่ได้เป็นเจ้าของบริษัทที่ช่วยอนุรักษ์ชื่อเสียงและเชิดชูผลงานต่อสาธารณชนตลอดมา หากคนทั่วไปจะจำเทสลาได้ พวกเขาก็จำได้แต่ในฐานะคนประหลาดที่เขียนบทความส่งหนังสือพิมพ์ (ด้วยหัวข้ออย่าง “คลื่นยักษ์ของเทสลาในการทำสงคราม”, “การนอนหลับด้วยไฟฟ้า”, “วิธีส่งสัญญาณไปดาวอังคาร” ฯลฯ) …ในช่วงบั้นปลายชีวิต ๒๖ ปีสุดท้าย ภาพพจน์ของเขาในสายตาคนทั่วไปเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง คนเลิกมองเขาว่าเป็นวิศวกรผู้เก่งกาจ กลับมองว่าเขาเป็น “คนแก่สติเฟื่อง” ที่พยากรณ์ปาฏิหาริย์ต่างๆ ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงที่ว่าปาฏิหาริย์ส่วนใหญ่ที่เทสลาพยากรณ์และเกิดขึ้นจริงๆ นั้นดูเหมือนจะไม่ช่วยให้ชื่อเสียงของเขาดีขึ้นเลย
ในวันเกิดครบรอบ ๗๕ ปี เทสลาขึ้นปกนิตยสาร Time ในขณะที่เขาพำนักฟรีอยู่ในโรงแรม Grosvoner Clinton ด้วยความเอื้อเฟื้อของผู้จัดการ ก่อนหน้านี้เขาถูกเชิญออกจากโรงแรมหลายแห่งเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าห้อง หลังจากเหตุการณ์นี้เขาต้องอพยพออกจากโรงแรม Grosvoner Clinton และยอมทิ้งสัมภาระไว้เป็นค่าห้องแทน วิกฤตเศรษฐกิจ (Great Depression) ในอเมริกาช่วงนั้นซ้ำเติมให้เทสลามีปัญหาการเงินมากกว่าเดิม เขาพบ “บ้าน” ที่จะอาศัยอยู่ไปชั่วชีวิตก็ต่อเมื่อรัฐบาลยูโกสลาเวียรู้สึกสงสารพลเมืองที่โด่งดังที่สุดของประเทศ เลยอนุมัติเงินบำนาญให้เทสลาจำนวน ๗,๒๐๐ เหรียญสหรัฐต่อปี แต่ถึงกระนั้นเทสลาก็ยังต้องย้ายโรงแรมบ่อยครั้ง เพราะเขาชอบให้อาหารนกบนโต๊ะ ทำให้มีนกพิราบบินเข้ามาในห้องอยู่เสมอ
เป็นเรื่องน่าเสียดายที่เทสลาไม่เคยตีพิมพ์ทฤษฎีแรงโน้มถ่วงที่มีพลวัตของเขา องค์ความรู้ที่เรามีเกี่ยวกับแรงโน้มถ่วงในปัจจุบันบอกว่า เมื่อวัตถุหนักเคลื่อนที่ มันจะแผ่คลื่นแรงโน้มถ่วง (gravity wave) ออกมา ซึ่งมีความเร็วเท่ากับความเร็วแสง คลื่นแรงโน้มถ่วงนี้มีคุณสมบัติคล้ายกันกับคลื่นชนิดอื่นๆ อีกหลายชนิด สิ่งประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเทสลาล้วนตั้งอยู่บนองค์ความรู้เกี่ยวกับคลื่น เขาเชื่อมั่นว่า เสียง แสง ความร้อน รังสีเอกซเรย์ และคลื่นวิทยุ ล้วนเป็นคลื่นที่เกี่ยวข้องกัน และเราสามารถค้นคว้าได้ด้วยสมการคณิตศาสตร์ประเภทเดียวกัน ความเห็นของเทสลาที่ไม่ตรงกันกับไอน์สไตน์สะท้อนให้เห็นว่าเขาได้ขยายแนวคิดนี้ไปสู่แรงโน้มถ่วงด้วย
ขึ้นปกนิตยสาร Time
ศูนย์ HAARP ในมลรัฐอะแลสกา
ในทศวรรษ ๑๙๘๐ ความคิดของเทสลาได้รับการพิสูจน์ว่าถูกต้อง ผลการวิจัยเรื่องการสูญเสียพลังงานในพัลซาร์ดาวคู่นิวตรอน (double neutron star pulsar) ชื่อ PSR 1913+16 พิสูจน์ว่าคลื่นแรงโน้มถ่วงมีอยู่จริง ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจกับความคิดของเทสลาที่ว่า แรงโน้มถ่วงเป็นสนามพลัง มากกว่าที่ไอน์สไตน์ให้ความสนใจ โชคร้ายที่เทสลาไม่เคยอธิบายว่าอะไรทำให้เขาสรุปแบบนี้ และไม่เคยอธิบายทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของเขาให้โลกรู้ การโจมตีงานของไอน์สไตน์ทำให้แวดวงวิทยาศาสตร์ตอนนั้นโจมตีเทสลาอย่างมหาศาล เราเพิ่งจะเข้าใจแรงโน้มถ่วงมากพอที่จะระลึกได้ว่าความคิดของเทสลานั้นถูกต้องเมื่อไม่นานมานี้เอง
ในปี ๑๙๔๐ หลังวันเกิดครบรอบ ๘๔ ปีไม่กี่วัน เทสลาให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ The New York Times ฉบับวันที่ ๒๒ กันยายน ค.ศ. ๑๙๔๐ ว่า “…เขาพร้อมที่จะเปิดเผยความลับเกี่ยวกับพลัง ‘โทรกำลัง’ (teleforce) ต่อรัฐบาลสหรัฐอเมริกา พลังนี้มีอานุภาพหลอมละลายเครื่องยนต์ของเครื่องบินจากระยะไกลถึง ๒๕๐ ไมล์ ทำให้สามารถสร้างแนวกำแพงป้องกันรอบประเทศแบบกำแพงเมืองจีน แต่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า”
ไม่มีนักวิทยาศาสตร์ร่วมสมัยคนใดวิจารณ์บทความชิ้นนี้ กว่าจะถึงตอนนั้น ชื่อเสียงของเทสลาในฐานะคนอยากดังก็พุ่งสูงกว่าความสามารถของเขาที่จะทำให้คนเชื่อ และขณะที่ฮิตเลอร์กรีฑาทัพเข้ายุโรป ทุกคนก็มีเรื่องอื่นให้ปวดหัวมากกว่า
ในปีถัดมา สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ ๒ และเทสลาเองก็คงเป็นกังวลกับการที่ยูโกสลาเวีย ประเทศบ้านเกิดของเขา ได้พ่ายแพ้ต่อกองทัพเยอรมัน เทสลาต้องการยก “รังสีหายนะ” (Death Ray ชื่อที่หนังสือพิมพ์ขนานนามขีปนาวุธ “โทรกำลัง” ของเขา) ให้แก่รัฐบาลอเมริกัน เพื่อช่วยทั้งประเทศบุญธรรมและประเทศบ้านเกิดเมืองนอน ดังนั้น อีก ๒ ปีต่อมาคือปี ๑๙๔๓ เทสลาจึงโทรศัพท์ไปที่แผนกการสงครามสหรัฐฯ ขอคุยกับพันเอกเออร์สไกน์ (Colonel Erskine) เสนอยกความลับของขีปนาวุธ “โทรกำลัง” ทั้งหมดให้แก่รัฐบาล เออร์สไกน์ไม่รู้ว่าเทสลาคือใคร คิดว่าเขาเป็นแค่คนบ้าคนหนึ่ง เออร์สไกน์ให้สัญญากับเทสลาว่าจะติดต่อกลับ แล้วหลังจากนั้นเขาก็ลืมสนิท นั่นคือครั้งสุดท้ายที่เทสลาติดต่อกับโลกภายนอก ถึงตอนนี้เขาล้มป่วยอย่างรุนแรง หัวใจที่อ่อนแอของเขาทำให้เกิดอาการเวียนหัวบ่อยครั้ง ตอนนั้นเทสลาพักอยู่ในโรงแรม New Yorker ในเย็นวันที่ ๕ มกราคม วันเดียวกัน เทสลาแจ้งทางโรงแรมว่าไม่ต้องการให้ใครรบกวน แล้วหลังจากนั้นก็เข้านอน เขามักแจ้งพนักงานโรงแรมว่าไม่ให้ใครรบกวนเป็นช่วงๆ ช่วงละ ๒-๓ วัน แต่นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่มีคนเห็นเขาขณะมีชีวิต
เหตุการณ์ต่อจากนั้นเกิดขึ้นเหมือนบทหนังเกรดบี เทสลาตายด้วยอาการหัวใจล้มเหลวระหว่างเย็นวันอังคารที่ ๕ มกราคม และเช้าวันศุกร์ที่ ๘ มกราคม พนักงานทำความสะอาดเป็นคนพบศพเขาในเช้าวันศุกร์ ญาติคนเดียวของเทสลาที่คนรู้จักคือหลานชายที่ชื่อ ซาวา โคซาโนวิช (Sava Kosanovich) นั้นเป็นผู้อพยพจากยูโกสลาเวียที่หลบหนีกองทัพเยอรมันมายังอเมริกา เขาก็เหมือนผู้อพยพอื่นๆ อีกหลายคน คืออยู่ภายใต้การสอดแนมของตำรวจเอฟบีไอในฐานะคนที่อาจเป็นสายลับของศัตรู
เย็นวันเดียวกัน พันเอกเออร์สไกน์แจ้งกับตำรวจเอฟบีไอว่าเทสลาตายแล้ว และบอกว่าหลานชายของเขาคือโคซาโนวิชยึดเอกสารต่างๆ ที่อาจใช้ในการทำสงครามกับรัฐบาลอเมริกันได้ เมื่อได้ยินดังนั้น เอฟบีไอจึงขอให้หน่วยพิทักษ์ทรัพย์สินคนต่างด้าว (Alien Property Custodian) รีบไปยึดทรัพย์สินต่างๆ ของเทสลา เนื่องจากเอฟบีไอกลัวว่าโคซาโนวิชจะนำความลับเกี่ยวกับอาวุธสงครามที่เทสลาออกแบบไปบอกศัตรู ผู้อำนวยการ FBI เจ. เอดการ์ ฮูเวอร์ (J. Edgar Hoover) ได้ส่งบันทึกไปยังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ว่า เรื่องราวทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับ นิโคลา เทสลา ต้องถูกจัดการอย่างลับที่สุด และทุกฝ่ายต้องรักษาความลับของสิ่งประดิษฐ์ของเขาให้เป็นความลับตลอดไป
ด้วยเหตุนี้ งานทั้งชีวิตของเทสลาจึงถูกตีตรา “ลับที่สุด” และห้ามไม่ให้ใครอภิปรายเรื่องนี้อีกเลย
คงเป็นตลกร้ายที่รังสีหายนะของเทสลากลับกลายเป็นเรื่องจริง วงการวิทยาศาสตร์เพิ่งตามเขาทันเมื่อไม่กี่ปีนี้เอง ในปี ๑๙๙๓ กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เริ่มก่อสร้างศูนย์วิจัยไอโอโนสเฟียร์ (ionosphere คือชั้นบรรยากาศโลกที่ความสูงตั้งแต่ ๗๐-๕๐๐ กิโลเมตร) ในเมืองกาโคนา มลรัฐอะแลสกา ศูนย์นี้มีชื่อว่า HAARP (High Frequency Active Auroral Research Program) ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยหลายแห่ง อาทิ อะแลสกา สแตนฟอร์ด คอร์แนลล์ ยูซีแอลเอ และเอ็มไอที ในการดำเนินโครงการเพื่อศึกษาคุณสมบัติการสะท้อน (resonant properties) ของโลกและชั้นบรรยากาศโลก โครงการนี้มีความเกี่ยวโยงกับงานของเทสลาอย่างชัดเจน กล่าวคือ HAARP กำลังศึกษาปรากฏการณ์เดียวกันกับที่เทสลาค้นคว้าที่โคโลราโดเมื่อกว่า ๑๐๐ ปีก่อน
ฉะนั้น เทสลาจึงมีเรื่องให้ “หัวเราะทีหลังดังกว่า” ถึง ๒ ข้อด้วยกัน ข้อแรกคือ รัฐบาลได้สร้าง “โทรกำลัง” ของเขาขึ้นมาจริงๆ และข้อสอง เขาเป็นผู้ชนะในสงครามสิทธิบัตรกับมาร์โคนี หลังจากเขาตายไปแล้ว ๖ เดือน เมื่อคำตัดสินของศาลสูงอเมริกายืนยันว่า นิโคลา เทสลา เป็นผู้ประดิษฐ์วิทยุเป็นคนแรกของโลก ไม่ใช่มาร์โคนี อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นชัยชนะที่ว่างเปล่า เพราะสิทธิบัตรทั้งสองได้หมดอายุไปแล้ว นักประดิษฐ์ทั้งคู่ก็ตายไปแล้ว และก็ไม่มีใครคุยกันเรื่องนี้ได้เพราะรัฐบาลมีคำสั่ง “ลับที่สุด” ห้ามทุกคนพูดถึงงานของเทสลา
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากห่วงโซ่เหตุการณ์ที่น่าเศร้าดังกล่าวคือ ผู้ทำประโยชน์มหาศาลให้แก่มนุษยชาติคนหนึ่งต้องกลายเป็นบุคคลที่โลกลืม เทสลาตายแบบเดียวกับที่เขาใช้ชีวิตในบั้นปลายอย่างเดียวดาย ว้าเหว่ และลับที่สุด กลายเป็นคนลึกลับนานหลายปีเพียงเพราะยื่นข้อเสนอที่น่าตกใจต่อรัฐบาลอเมริกันในบั้นปลายชีวิต งานทั้งหมดของเขาถูกตีตรา “ลับที่สุด” จนกระทั่งเวลาผ่านไปเกือบ ๑๐๐ ปี
เทสลาเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้ชาญฉลาดอย่างน่าอัศจรรย์ใจ เป็นนักทำนายที่มองเห็นอนาคตได้จริง แต่ไม่ได้รับการเหลียวแลตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ เขาเป็นปัจเจกชนที่เอาแต่ใจตัวเสียจนไม่เคยมีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับใคร เข้าสังคมไม่เป็น ปฏิเสธที่จะมีความสัมพันธ์กับเพศตรงข้ามและไม่ยอมแตะเนื้อต้องตัวใคร แม้กระทั่งจับมือทักทายคน (ด้วยการโกหกว่ามือของเขาได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุในห้องทดลอง) มีนิสัยเพี้ยนๆ มากมาย เช่น เชื่อว่าตัวเองมีพลังจิต ทำสิ่งต่างๆ ซ้ำซากในจำนวนครั้งที่หารด้วย ๓ ลงตัว (ตัวเลขที่เขาชอบเป็นพิเศษคือ ๒๗ เพราะเท่ากับ ๓๓) แต่ในขณะเดียวกันเขาก็เป็นคนที่มีวัฒนธรรมสูงส่ง เทสลาพูดได้หลายภาษาและอ่านหนังสืออย่างกว้างขวาง
เมื่อไรก็ตามที่คุณเห็นเสาไฟฟ้าแรงสูงที่ส่งพลังงานมาบันดาลให้ชีวิตสมัยใหม่ของคุณเป็นจริง ลองซุกมือข้างหนึ่งไว้ในกระเป๋า ใช้เวลาอึดใจหนึ่งขอบคุณผู้มอบสิ่งนั้นให้แก่คุณ–นิโคลา เทสลา คน (ไม่) สำคัญผู้ว้าเหว่ พูดมาก หมกมุ่น และปราดเปรื่อง ผู้ใฝ่ฝันถึงการแปลงโลกทั้งใบให้เป็นสื่อนำไฟฟ้า ทุกคนจะได้ใช้ไฟฟ้าอย่างเสรี ผู้อุทิศชีวิตให้แก่การไล่ตามความฝันนี้อย่างไม่ใส่ใจว่าจะได้รับอะไรตอบแทนหรือไม่