ลุ่มน้ำไนล์ถึงแม่น้ำจอร์แดน ตามรอยทางสู่ดินแดนแห่งพันธสัญญา
เรื่องและภาพ : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ฉากแสดงยุทโธปกรณ์โบราณอาจเป็นรถศึกแบบเดียวกันนี้ที่ทหารขององค์ฟาโรห์ ใช้ตามไล่ล่าขบวนทาสชาวยิวที่อพยพออกจากอียิปต์
มหาพีระมิดแห่งเมืองกิซา ที่ใช้แรงงานคนนับแสนในการก่อสร้าง และแน่นอนว่าในจำนวนนั้น คงมีทาสชาวฮิบรูรวมอยู่ด้วย
แม่น้ำไนล์ กับหอคอยแห่งไคโร ที่เห็นอยู่มุมขวาบนของภาพ แม่น้ำยาวที่สุดในโลกสายนี้ คือแหล่งกำเนิดอารยธรรมอียิปต์โบราณ ตามตำนานว่า “โมเสส” ในวัยทารกก็ถูกมารดานำมาลอยในมหานทีสายนี้ กระทั่งได้รับการ “ฉุดขึ้นมาจากนั้น” โดยพระราชธิดาขององค์ฟาโรห์
ภาพแผนที่โมเสกภายในโบสถ์เซนต์จอร์จ เมืองมาดาบา แสดงดินแดนสำคัญหลายแห่งที่กล่าวอยู่ในพระคัมภีร์ไบเบิล–บนดินแดนเหล่านั้นที่ชนชาวยิวเคลื่อนไหวไปมาอยู่ก่อนยุคคริสต์ศักราชจะเริ่มต้น
เหตุการณ์สำคัญที่สุดหนหนึ่งได้แก่คราวที่โมเสสพาชาวยิวอพยพออกจากแผ่นดินลุ่มน้ำไนล์ของชนชาติอียิปต์ ข้ามทะเลแดงมุ่งสู่ดินแดนแห่งพันธสัญญาของพระเจ้า เรื่องราวนี้เคยถูกถ่ายทอดอยู่ในรูปของภาพยนตร์และการ์ตูนมาหลายครั้ง คำเล่าในพระคัมภีร์ปรากฏเป็นภาพสำเร็จรูปติดตาคนดู โดยเฉพาะฉากมหัศจรรย์ตอนโมเสสพาชาวยิวข้ามทะเลแดง ที่ต้องใช้จินตนาการ-หากเป็นการอ่าน
เป็นเรื่องราวเมื่อนับพันปีก่อนพระเยซูประสูติ
เวลานั้นกลุ่มชนชาวยิว (คนอิสราเอล หรือชาวฮีบรู ในยุคโบราณ) อาศัยอยู่ในอียิปต์ในฐานะทาสแรงงานขององค์ฟาโรห์ กระทั่งเกิดลูกเกิดหลานจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น จนองค์ฟาโรห์ทรงกังวลว่าจะเป็นภัยต่อประเทศอียิปต์ จึงสั่งให้สังหารเด็กฮีบรูเกิดใหม่ทุกคนที่เป็นผู้ชาย ด้วยการโยนลงแม่น้ำ
โมเสส ผู้นำชาวยิวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของคริสต์ศาสนาก็เกิดในยุคนี้ แม่ไม่อยากให้ลูกชายตายเลยเก็บซ่อนเขาไว้ จนอายุได้ ๓ เดือนก็ไม่อาจหลบซ่อนได้อีกต่อไป จึงเอาลูกใส่ตะกร้าต้นกกยาชันและยางมะตอย แล้วลอยไปในแม่น้ำไนล์
พระคัมภีร์ไบเบิล ภาคพันธสัญญาเดิม (Old Testa-ment) เล่าเรื่องไว้ในตอน อพยพ ๒ : ๕-๑๐ เมื่อพระราชธิดาของฟาโรห์ลงไปสรงที่แม่น้ำ และพวกสาวใช้เดินเที่ยวไปตามริมฝั่ง พระนางทรงเห็นตะกร้าอยู่ระหว่างกอปรือ จึงทรงสั่งให้สาวใช้ไปนำมา เมื่อเปิดตะกร้านั้นออกก็เห็นทารกกำลังร้องไห้ พระนางทรงเมตตาทารกนั้น ตรัสว่า “นี่เป็นลูกชาวฮีบรู” พี่สาวทารกจึงทูลถามพระราชธิดาของฟาโรห์ว่า “จะให้หม่อมฉันไปหานางนมชาวฮีบรูมาเลี้ยงทารกนี้ให้พระนางไหม” พระราชธิดาของฟาโรห์จึงมีรับสั่งว่า “ไปหาเถิด” หญิงสาวนั้นจึงไปเรียกมารดาของทารกนั้นมา ฝ่ายพระราชธิดาของฟาโรห์จึงตรัสสั่งหญิงนั้นว่า “รับเด็กนี้ไปเลี้ยงไว้ให้เราแล้วเราจะให้ค่าจ้าง” หญิงนั้นจึงรับทารกไปเลี้ยงไว้ เมื่อทารกเติบใหญ่ขึ้นแล้ว นางก็พามาถวายพระราชธิดาของฟาโรห์ พระนางก็รับไว้เป็นพระราชบุตรของนาง ประทานชื่อว่า โมเสส ตรัสว่า “เพราะเราได้ฉุดขึ้นมาจากน้ำ” (โมเสส คล้ายคำฮีบรูที่แปลว่า ฉุดขึ้นมา)
จนโตเป็นหนุ่ม โมเสสไปฆ่าหัวหน้าคนงานชาวอียิปต์ที่กำลังทุบตีทาส ด้วยความเกรงอาญาขององค์ฟาโรห์เขาจึงหนีไปเร่ร่อนเลี้ยงแกะและมีลูกเมียอยู่ในทะเลทราย จนกระทั่งฟาโรห์พระองค์นั้นสิ้นพระชนม์
จนวันหนึ่ง เขาไปเจอต้นไม้มีเปลวไฟลุกโชน แต่พุ่มไม้ไม่มอดไหม้
นั่นเป็นครั้งแรกที่พระเจ้าปรากฏต่อโมเสส และเป็นจุดเริ่มต้นที่เขาได้ติดต่อกับพระเจ้า
พระเจ้าตรัสแก่เขาว่า “เราเห็นความทุกข์ของประชากรของเราที่อยู่ในประเทศอียิปต์แล้ว เราได้ยินเสียงร้องของเขา เพราะการกดขี่ของพวกนายงาน เรารู้ถึงความทุกข์ร้อนต่างๆ ของเขา เราลงมาเพื่อจะช่วยเขาให้รอดจากมือชาวอียิปต์ และนำเขาออกจากประเทศนั้น ไปยังแผ่นดินที่อุดมกว้างขวาง เป็นแผ่นดินที่มีน้ำนม และน้ำผึ้งไหลบริบูรณ์” (อพยพ ๓ : ๗-๘)
และ
“เราจะใช้เจ้าไปเฝ้าฟาโรห์ เพื่อจะได้พาประชากรของเราคือชนชาติอิสราเอลออกจากอียิปต์” (อพยพ ๓ : ๑๐)
โมเสสไม่มั่นใจว่าฟาโรห์ หรือแม้แต่ชาวยิวจะเชื่อฟังเขา พระเจ้าจึงให้อำนาจในการทำอัศจรรย์ต่างๆ ไว้กับโมเสส และตรัสแก่เขาว่า “เจ้าจงถือไม้เท้านี้ไว้สำหรับทำหมายสำคัญเหล่านั้น” (อพยพ ๔ : ๑๗)
แต่เมื่อโมเสสเข้าเฝ้าฟาโรห์ ทูลขอให้ปล่อยชาวยิว พระองค์กลับมีบัญชาให้พวกเขาทำงานหนักยิ่งขึ้น
โมเสสจึงไปเฝ้าฟาโรห์อีกครั้ง โยนไม้เท้าลงต่อหน้าพระองค์และข้าราชสำนัก ไม้เท้านั้นกลายเป็นงู !
ฟาโรห์เรียกนักแสดงมายากลเข้ามา โดยอาศัยศิลปะอันลึกลับ-พวกเขาก็ทำได้เช่นกัน เมื่อแต่ละคนโยนไม้เท้าลงพื้นต่างก็กลายเป็นงู
แต่งูจากไม้เท้าของโมเสสกลืนงูของพวกเขาเสียทั้งหมด
ถึงอย่างนั้นฟาโรห์ก็ยังไม่ใจอ่อน
พระเจ้าตรัสสั่งโมเสสอีกว่า “จงบอกอาโรนว่า ‘เอาไม้เท้าของท่านชี้ไปเหนือน้ำแห่งอียิปต์ คือเหนือแม่น้ำลำคลอง บึง และสระทั้งหมดของเขา น้ำจะกลายเป็นโลหิต จะมีแต่โลหิตตลอดแผ่นดินอียิปต์ ทั้งที่อยู่ในภาชนะไม้หรือภาชนะหิน'” (อพยพ ๗ : ๑๙)
เจ็ดวันหลังจากนั้น พระเจ้าให้โมเสสไปยื่นข้อเสนอเดิมต่อองค์ฟาโรห์อีกครั้ง แต่พระทัยของพระองค์ยังคงแข็งกระด้าง ไม่ใส่ใจต่อคำร้องขอของทาสชาวฮีบรู
พระเจ้าจึงบันดาลให้เกิดภัยพิบัติต่างๆ ตามมา ตั้งแต่ภัยพิบัติจากกบ ภัยพิบัติจากเหลือบริ้น ภัยโรคระบาดต่อฝูงสัตว์เลี้ยง ภัยโรคฝี ภัยพิบัติจากลูกเห็บ ภัยจากแมลงตั๊กแตน ภัยความมืด จนกระทั่งเกิดภัยพิบัติสุดท้าย คือความตายของ ลูกหัวปี ตั้งแต่ราชบุตรหัวปีขององค์ฟาโรห์จนถึงลูกหัวปีของทาส รวมทั้งลูกหัวปีของสัตว์เดรัจฉานบนแผ่นดินอียิปต์
องค์ฟาโรห์ซึ่งตามความเชื่อทางศาสนาระบุว่าคือ กษัตริย์รามเสสที่ ๒ เรียกโมเสสกับอาโรนมาเฝ้าในคืนวันนั้น ตรัสว่า “เจ้าทั้งสองกับทั้งชนชาติอิสราเอลจงยกออกไปจากประชากรของเราเถิด ไปนมัสการพระเจ้าตามที่ได้พูดไว้นั้น” (อพยพ ๑๒ : ๓๑)
ชาวอิสราเอลจึงได้เดินทางออกจากเมืองรามเสส แถบสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์ หลังจากอยู่ในอียิปต์เป็นเวลา ๔๓๐ ปี
หลายจุดตามเส้นทางการอพยพของโมเสสกลายเป็นที่แสวงบุญของคริสตชนจากทั่วโลก โบสถ์เซนต์จอร์จ เมืองมาดาบา ที่มีแผนที่โมเสกขนาดใหญ่อยู่บนพื้น ปัจจุบันอยู่ในประเทศเล็กๆ ของภูมิภาคตะวันออกกลางที่ชื่อ จอร์แดน
แผนที่แสดงสถานที่ในประเทศจอร์แดนและพื้นที่ใกล้เคียง
วิหารเฮอร์คิวลิส บนยอดเขาซิตาเดลกลางเมืองหลวงของประเทศจอร์แดน สร้างแต่ยุคโรมันในราวคริสต์ศตวรรษที่ ๒ ยังคงหลงเหลือเสาบางส่วนให้คนยุคปัจจุบันจากทั่วโลกได้มาเที่ยวชม
อาคารพระราชวังอุไมยยาดโบราณ บนยอดเขาซิตาเดลถูกออกแบบมาอย่างดี ทั้งการถ่ายน้ำหนักของหลังคาไปตามแนวโค้งรูปโดม และการเว้นช่องสำหรับเป็นทางเข้าของแสงและลม
ใจกลางกรุงอัมมาน มองจากยอดเขาซิตาเดล หรือป้อมปราการแห่งอัมมาน ที่เคยเป็นจุดสังเกตการณ์บ้านเมืองเมื่อครั้งโบราณ และกลายเป็นจุดชมวิวที่สวยที่สุดของเมืองหลวงแห่งนี้ในปัจจุบัน
Hashemite Kingdom of Jordan หรือราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดน เพิ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. ๑๙๔๖ แต่แถบนี้ถือเป็นดินแดนเก่าแก่ที่พบหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์ในแถบแม่น้ำจอร์แดนมานับพันปีก่อนคริสตกาล ดังมีเมืองที่ปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์ อาทิ Jericho Sodom Moab Ammon ด้วยทำเลที่ตั้งอยู่กลางการขนาบของอาณาจักรเมโสโปเตเมีย-ทางตะวันออก และอียิปต์-ทางตะวันตก ทำให้พื้นที่แถบนี้ถูกรุกรานเรื่อยมาจากพวกอัสซีเรีย อียิปต์ บาบิโลน เปอร์เซีย และเมื่อ ๓๓๓ ปีก่อนคริสตกาล อเล็กซานเดอร์มหาราชก็ใช้จอร์แดนเป็นทางผ่านสู่อียิปต์ ในคริสต์ศตวรรษที่ ๗ อาหรับอิสลามก็แผ่ขยายเข้ามาและครอบครองดินแดนสองฝั่งแม่น้ำจอร์แดนอยู่ถึงศตวรรษที่ ๑๖ ในช่วง ค.ศ. ๑๐๙๕ พระสันตะปาปาเออร์บันที่ ๒ เรียกร้องให้ชาวคริสต์ทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ กลุ่มนักรบครูเสดเข้ามายึดนครเยรูซาเลมไว้ได้ราว ๒๐๐ ปีก็ถูกขับออกไป กระทั่งกลุ่มมุสลิมอาหรับอ่อนกำลังลงก็ถูกออตโตมัน-เติร์กยึดในปี ๑๕๑๖ และครอบครองพื้นที่อยู่จนถึงยุคสงครามโลกครั้งที่ ๑ หลังจากนั้นจอร์แดนตกอยู่ใต้การปกครองของฝรั่งเศสในปี ๑๙๒๐ ต่อมาอังกฤษเข้าควบคุมและก่อตั้งรัฐทรานส์จอร์แดน (State of Transjordan) ขึ้นเมื่อ ๑๑ เมษายน ค.ศ. ๑๙๒๑ เป็นประเทศปกครองโดยระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ มีอับดุลลาห์ที่ ๑ เป็นกษัตริย์องค์แรก ตั้งกรุงอัมมานเป็นเมืองหลวง ต่อมาเกิดการเจรจากันหลายครั้ง จนได้รับเอกราชจากอังกฤษในที่สุด เป็นราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดน เมื่อปี ๑๙๔๖ และเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นจอร์แดนในปี ๑๙๕๐ โดยผนวกเขตเวสต์แบงก์และเมืองเก่าเยรูซาเลมเข้ามาด้วย แล้วถูกอิสราเอลยึดคืนใน “สงครามหกวัน” เมื่อปี ๑๙๖๗ ในสมัยกษัตริย์ฮุสเซน หลังสงครามคราวนั้น จอร์แดนเหลือพื้นที่ประมาณ ๙๒,๓๐๐ ตารางกิโลเมตรตามแผนที่ประเทศในปัจจุบัน
จอร์แดนปัจจุบันอยู่ในยุคของกษัตริย์อับดุลลาห์ที่ ๒ เกือบทั้งหมดของประชากรราว ๖ ล้านคนเป็นคนอาหรับ และเกินร้อยละ ๙๐ นับถือศาสนาอิสลาม แต่เท่าที่สังเกตเห็นคนที่มาเยือนโบสถ์เซนต์จอร์จส่วนใหญ่เป็นกลุ่มทัวร์คนขาวผมทอง
ส่วนกลุ่มคนเดินทาง ๑๐ กว่าคนจากสยาม ความจริงพวกเขาอาจเป็นแค่นักทัศนาจรที่ไปเปิดหูเปิดตาดูโลกที่ไม่เคยพบเห็น แต่การได้รู้เรื่องราวภูมิหลังของดินแดนที่ไปเยือนก็เป็นเรื่องไม่เสียเปล่า ทั้งยังทำให้การเดินทางได้รสสาระและเร้าความสนใจยิ่งขึ้น
พระคัมภีร์ไบเบิล ภาคพันธสัญญาเดิม บันทึกว่า ในขบวนของผู้อพยพชาวยิว เฉพาะผู้ชายนับได้ราว ๖ แสนคน ยังไม่รวมผู้หญิงและเด็ก แต่ไม่นานมานี้ทีมงานสารคดีดิสคัฟเวอรีคำนวณจากการจำลองภาพทางประวัติศาสตร์แล้วเสนอข้อสรุปใหม่ไว้ในหนังสารคดีเรื่อง Rameses: Wrath of God or Man? ว่า จำนวนผู้อพยพออกจากอียิปต์น่าจะแค่หลักพัน
การเดินทางไปสู่อิสรภาพของชาวยิวไม่ราบรื่น เพราะถูกติดตามจากกองทหารของกษัตริย์อียิปต์ พลโยธา พลม้า และรถศึกตามมาทัน ขบวนผู้อพยพมาจนตรอกอยู่ที่ริมฝั่งทะเลแดง
และตรงนั้นเองที่ประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของคริสต์ศาสนาได้บันทึกว่า
โมเสสยื่นมือของท่านออกไปเหนือทะเล และพระเจ้าก็ทรงบันดาลให้ลมทิศตะวันออกพัดโหมไล่น้ำทะเลตลอดคืน ทำให้ทะเลกลายเป็นดินแห้ง น้ำแยกออกจากกัน ชนชาติอิสราเอลก็พากันเดินบนดินแห้งกลางทะเล ส่วนน้ำนั้นตั้งเป็นเหมือนกำแพงสำหรับเขาทั้งทางขวาและทางซ้าย
คนอียิปต์ก็ไล่ตามเขาเข้าไปกลางทะเลทั้งกองม้าและราชรถ และพลม้าทั้งปวงของฟาโรห์ เวลาปัจฉิมยามพระเจ้าทอดพระเนตรจากเสาเพลิงและเสาเมฆทรงเห็นพลโยธาอียิปต์ ก็ทรงบันดาลให้กองทัพอียิปต์เกิดโกลาหล พระองค์ทรงกระทำให้ล้อรถฝืดจนแล่นไปแทบไม่ไหว คนอียิปต์จึงพูดกันว่า “ให้เราหนีไปจากคนอิสราเอลเถิด เพราะพระเจ้าทรงต่อสู้กับคนอียิปต์แทนเขา”
ขณะนั้นพระเจ้าตรัสกับโมเสสว่า “จงยื่นมือออกไปเหนือทะเล เพื่อให้น้ำทะเลไหลกลับคืนมาท่วมคนอียิปต์ ทั้งรถรบและพลม้าของเขา” โมเสสจึงยื่นมือออกไปเหนือทะเล ครั้นรุ่งเช้า ทะเลก็กลับไหลดังเก่า คนอียิปต์พากันหนีกระแสน้ำ แต่พระเจ้าทรงสลัดคนอียิปต์ลงกลางทะเล น้ำก็ท่วมพลรถและพลม้า คือพลโยธาทั้งหมดของฟาโรห์ ซึ่งไล่ตามเขาเข้าไปในทะเล ไม่เหลือสักคนเดียว ฝ่ายชนชาติอิสราเอลเดินไปตามดินแห้งกลางท้องทะเล น้ำตั้งขึ้นเหมือนกำแพงสำหรับเขาทั้งทางขวาและทางซ้าย (อพยพ ๑๔ : ๒๑-๒๙)
ชาวยิวรอดปลอดภัยเข้าสู่ดินแดนไซไน ไปวนเวียนอยู่ในแถบที่เรียกขานกันเมื่อครั้งโบราณว่าแผ่นดินมีเดียน อีก ๔๐ ปี
ปัจจุบันพื้นที่แถบนั้นเป็นรอยต่อของทวีปเอเชียกับแอฟริกา มีเวิ้งทะเลแดงคั่นกลาง ตอนบนผืนน้ำฉีกออกสองทางเป็นรูปตัววี (V) ผืนดินในง่ามน้ำรูปตัววีคือแหลมไซไนของประเทศอียิปต์ บนสุดของอ่าวสุเอซ ซึ่งอยู่ข้างซ้ายหรือทางตะวันตกของไซไน เป็นปากด้านใต้ของคลองสุเอซที่เพิ่งถูกขุดขึ้นภายหลังเพื่อเป็นทางเดินเรือไปออกทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ส่วนอ่าวทางขวาคืออ่าวอากาบา (Aqaba) ฟากตรงกันข้ามของไซไนคือชายฝั่งของประเทศซาอุดีอาระเบีย จอร์แดน และเหนืออ่าวอากาบาขึ้นไปคือจุดที่ผืนแผ่นดินแอฟริกา คือส่วนที่เป็นไซไนของประเทศอียิปต์ เชื่อมต่อกับประเทศอิสราเอลของทวีปเอเชีย
อ่าวอากาบาตอนบนสุดวาดโค้งเป็นรูปเกือกม้า พรมแดนของ ๓ ประเทศบรรจบกันที่อ่าวนี้ ชายฝั่งของอิสราเอลอยู่ตรงกลาง ขนาบซ้ายขวาด้วยอียิปต์และจอร์แดน มองจากชายหาดเมืองอากาบา ประเทศจอร์แดน ที่อยู่ทางด้านตะวันออกของอ่าว แลเห็นฝั่งทะเลแดงฟากตรงกันข้ามอยู่ห่างออกไปนับสิบกิโลเมตร ชายทะเลฟากตะวันตกของอ่าวอากาบาทั้งแถบเป็นของประเทศอียิปต์ แต่มีการพัฒนาอยู่เพียงบางจุด ต่างจากชายฝั่งของอิสราเอลและจอร์แดนที่มีเมืองขนาดใหญ่ทอดไปตลอดชายฝั่งที่ยาวไม่มากนักของทั้งสองประเทศ
คนท้องถิ่นเล่าว่า เดิมแนวชายฝั่งของประเทศจอร์แดนมีไม่ถึง ๒๖ กิโลเมตรอย่างในปัจจุบัน ต่อมารัฐบาลจอร์แดนยื่นข้อเสนอขอแลกพื้นที่บกจำนวนหนึ่งเพื่อขยายชายฝั่งของตนลงไปทางใต้ ซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นเพื่อนบ้านรับข้อเสนอ และว่ากันว่าต่อมาซาอุดีอาระเบียสำรวจเจอบ่อน้ำมันใต้พื้นดินที่จอร์แดนให้มา
แต่จอร์แดนคงไม่เสียดาย เพราะน้ำมันเป็นทรัพย์ในดินที่มีวันหมด แต่ชายฝั่งทะเลแดงที่สวยงามเป็นขุมทรัพย์ที่ขายการท่องเที่ยวได้ไม่มีวันจบสิ้น ตราบเท่าที่มีการดูแลรักษาและการจัดการที่ดี และว่ากันว่าในบรรดาประเทศแถบตะวันออกกลาง เวลานี้ประเทศจอร์แดนเป็นเป้าหมายแรกของนักท่องเที่ยวจากต่างแดน
ด้วยความเป็นประเทศมุสลิมที่เปิดกว้าง มีเมืองชายทะเลกลางภูมิภาคแห่งทะเลทรายที่แทบปราศจากต้นไม้ จากทุ่งโล่งๆ และภูเขาสีเทาทึม น้ำตาล แดง ลาดลงมาจดกับทะเลที่ใสเป็นสีครามอย่างขัดแย้งกับชื่อ-ทะเลแดง
เชิงอรรถเกี่ยวกับที่มาของชื่อทะเลแดง กล่าวกันว่ามาจากปรากฏการณ์ธรรมชาติซึ่งมีบางฤดูที่ลมพายุจะหอบเอาฝุ่นดินสีน้ำตาลแดงจากแหลมไซไนปริมาณมหาศาลมาตกลงในอ่าว จนผืนน้ำกลายเป็นสีแดงฉาน
นักโบราณคดีไม่เคยพบหลักฐานใดๆ เกี่ยวกับยุทโธปกรณ์หรือซากชุดเกราะของทหารอียิปต์โบราณในทะเลแดง และจากการแกะรอยและตีความของทีมสารคดีดิสคัฟเวอรีระบุว่า จุดข้ามแดนของชาวยิวไม่ใช่ทะเลแดง หรือ Red Sea อย่างที่เข้าใจกันในปัจจุบัน แต่น่าจะเป็น Reed Sea ซึ่งมาจากคำในภาษาฮีบรู ที่แปลว่า ทะเลกก เป็นบึงน้ำอยู่ทางตะวันออกของปากแม่น้ำไนล์ ต่อแดนกับแหลมไซไน และเชื่อกันว่าบึงเหล่านี้อยู่บนเส้นทางที่ชาวฮีบรูโบราณเคยใช้ กระทั่งนำไปสู่ข้อสรุปจากการสืบค้นของทีมสารคดีชั้นนำแห่งโลกปัจจุบันว่า เหตุการณ์นี้ไม่มีปรากฏการณ์เหนือจริง แต่ความพินาศปราชัยที่เกิดกับกองทหารของอียิปต์มาจากการถูกล่อลวงเข้าไปติดกับในบึง จนตกเป็นเหยื่อการซุ่มโจมตีของชาวยิวที่มีอาวุธ นักอียิปต์วิทยาที่ให้สัมภาษณ์กับทีมถ่ายทำสารคดียืนยันด้วยว่า ผู้อพยพไม่ใช่พวกทาสที่อ่อนแอปกป้องตัวเองไม่ได้ “เขามีอาวุธ พันธสัญญาเดิมกล่าวว่า โมเสสมาพร้อมกับคนที่มีอาวุธ”
ข้ามทะเลแดงมาแล้ว โมเสสกับพลพรรคชาวยิวคงผจญความยากลำบากอยู่ในไซไนอย่างสาหัส เส้นทางที่เห็นในปัจจุบันยังคงทอดไปกลางธรรมชาติที่เป็นซอกเขา มีผาสูงขนาบเป็นกำแพงทั้งสองด้าน-ต่อเนื่องไปตลอดทางเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด นานๆ จะเจอทางแยกแตกแขนงออกไป และนานกว่า-ที่จะเจอที่ราบกว้างพอจะตั้งพื้นกระท่อมสักหลัง ตลอดเส้นทางแทบไม่เห็นต้นไม้และแหล่งน้ำ แต่ก็พอเห็นร่องรอยของการอาศัยและฝูงสัตว์เลี้ยง–อย่างน่าฉงนว่าพวกเขาอยู่กินกันอย่างไร กลางสภาพธรรมชาติที่กันดารโหดร้ายเช่นนั้น
บนแหลมไซไนมีสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของคริสต์ศาสนา อยู่บนยอดเขาไซไน (Mt. Sinai) อันเป็นจุดที่โมเสสขึ้นเฝ้าพระเจ้าและรับบัญญัติ ๑๐ ประการจากพระองค์มาเป็นหลักปฏิบัติ จากนั้นเขาก็นำชาวยิวเดินทางต่อ เข้าสู่ดินแดนส่วนที่เป็นประเทศจอร์แดนในปัจจุบัน
ภาพโมเสกโบราณอายุ ๑,๔๐๐ กว่าปีบนพื้นโบสถ์เซนต์จอร์จเมืองมาดาบา ที่่ใช้หินโมเสกกว่า ๒ ล้านชิ้นวางเรียงต่อกัน เป็นรูปแผนที่แสดงดินแดนสำคัญที่กล่่าวอยู่ในพระคัมภีร์ไบเบิล
จนปัจจุบันเมืองมาดาบายังเป็นแหล่งผลิตภาพโมเสกที่เลื่องชื่อของประเทศจอร์แดนในด้านความประณีตงดงามดังภาพบุคคล และเรื่องราวในคริสต์ประวัติ เช่นภาพด้านล่าง
เมืองมาดาบาคงเป็นแหล่งโมเสกมีชื่อมาแต่ครั้งคริสตกาล เมื่อมีการทำแผนที่แสดงดินแดนสำคัญต่างๆ ในพระคัมภีร์เอาไว้บนพื้นโบสถ์เซนต์จอร์จ เมื่อราว ค.ศ. ๖๐๐ โมเสกจึงถูกนำมาใช้เป็นวัสดุในงานอันศักดิ์สิทธิ์และสำคัญนี้
โมเสก หรือ mosaic เป็นหินสี เมื่อนำมาตัดและจัดวางเป็นรูปใดๆ ก็ให้สีสันอย่างน่าตื่นตา และความสดของเนื้อสีไม่มีวันลบเลือนคงทนถาวรอยู่เท่าอายุของหิน
ปัจจุบันเมืองมาดาบายังคงเป็นแหล่งโมเสกที่ขึ้นชื่อของจอร์แดน ยิ่งในยุคที่การท่องเที่ยวของประเทศกำลังเฟื่องฟู สองฟากทางเดินขึ้นสู่โบสถ์เซนต์จอร์จเต็มไปด้วยร้านขายของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยว โดยมีภาพโมเสกเป็นสินค้าสำคัญ ส่วนใหญ่เป็นภาพบุคคลและเรื่องราวในคริสต์ประวัติ ภาพวิวบ้านเมือง จนถึงภาพจำลองจากภาพโมเสกโบราณ แต่ราคาก็ถือว่าสูงสำหรับเงินไทย ชิ้นละเป็นพันบาท หรือ ๒๐ ดีนาร์ตามอัตราการแลกเปลี่ยน เงินจอร์แดน ๑ ดีนาร์ต่อเงินไทย ๕๐ บาท
มีศูนย์สาธิตการทำภาพโมเสกให้ชมด้วย การทำดูไม่ยาก เริ่มจากร่างภาพลายเส้นลงบนฐานของแผ่นภาพ จากนั้นก็ตัดหินโมเสกสีต่างๆ เป็นชิ้นน้อย-ใหญ่ตามความละเอียดของภาพ ทากาวแล้วปิดต่อกันเป็นภาพ ซึ่งความยากน่าจะอยู่ตรงนี้-ที่ความละเอียดประณีตและทักษะของคนทำ ในการปะติดปะต่อหินก้อนน้อยๆ หลากสีให้ต่อเนื่องเป็นเรื่องราวและสวยเนียนอย่างกลมกลืน
ด้วยฝีมือที่ถึงขั้นกับวัสดุที่คงทน ทำให้หินโมเสกชิ้นเล็กชิ้นน้อยจำนวนกว่า ๒ ล้านชิ้นที่ประกอบกันเป็นแผนที่บนพื้นโบสถ์เซนต์จอร์จยังความสมบูรณ์และบอกเรื่องราวที่ต้องการจะสื่อได้อย่างสมบูรณ์ แม้ผ่านกาลเวลามากว่า ๑,๔๐๐ ปี
มองจากภายนอก โบสถ์กรีก-ออร์ทอดอกซ์เซนต์จอร์จ ไม่ได้วิจิตรอลังการอย่างคริสต์ศาสนสถานที่มีชื่อเสียงโดยทั่วไป ตัวโบสถ์ที่ดูออกจะราบเรียบหลังไม่ใหญ่โต ตั้งอยู่บนพื้นที่แคบๆ ริมถนนสายเล็กที่หนาแน่นด้วยอาคารร้านค้าของชาวเมือง แต่จุดหมายปลายทางของบรรดานักท่องเที่ยวที่ยอมเดินเท้าไต่เนินขึ้นมาเป็นกิโลเมตร อยู่ที่ภาพแผนที่บนพื้นภายในโบสถ์ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ยุคไบแซนไทน์ เมื่อราว ค.ศ. ๖๐๐
แผนที่โมเสกแสดงดินแดนสำคัญยุคโบราณที่มีกล่าวอยู่ในพระคัมภีร์ไบเบิล ตั้งแต่เมืองเยรูซาเลม แม่น้ำจอร์แดน ไซไน อียิปต์ เดดซี ฯลฯ จนถึงแม่น้ำไนล์ ในแม่น้ำสายนี้ยังแสดงการเดินเรือ และมีปลาสำคัญชนิดหนึ่งอยู่ด้วย ซึ่งว่ากันว่าเป็นสายพันธุ์เดียวกับที่คนไทยรู้จักในชื่อ ปลานิล
เส้นทางอพยพของชาวยิวดำเนินไปในพื้นที่เหล่านั้น จากอียิปต์ข้ามทะเลแดงสู่ไซไน ต่อไปยังแผ่นดินคานาอันแห่งยุคโบราณ หรือส่วนบนของคาบสมุทรอาระเบียในปัจจุบัน เพื่อจะข้ามแม่น้ำจอร์แดนไปสู่ดินแดนแห่งพันธสัญญาของพระเจ้า ที่ว่าอุดมไปด้วยนมและน้ำผึ้ง
ในทุกวันนี้หรือเมื่อ ๑,๐๐๐ ปีก่อนคริสตกาล แผ่นดินอาระเบียคงมีสภาพไม่ต่างกันนัก ภูมิประเทศเป็นลุ่มเนินซับซ้อนซ่อนเร้น แผ่ผืนกว้างไกลถึงขอบฟ้า ดินทั้งผืนเป็นสีดินปะปนกรวดหิน ปราศจากไม้ใหญ่หรือแม้เพียงกอหญ้า ไม้พุ่มแคระแกร็นต้นเล็กๆ ก็ยังหาได้ยาก–อย่างน่าฉงนว่าเหล่าผู้อพยพรอนแรมผ่านทางยาวไกลเป็นเวลานานถึง ๔๐ ปีไปได้อย่างไร ท่ามกลางภูมิประเทศที่ดูเสมือนแดนต้องห้ามสำหรับสิ่งมีชีวิต !
ที่น่าอัศจรรย์ใจไม่น้อยกว่ากันคือ จนปัจจุบันก็ยังมีชนเผ่าเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์อาศัยดำรงชีพอยู่ในพื้นที่แถบนี้ พวกเขาถูกเรียกขานในนาม เบดูอิน
แม้อยู่กลางทะเลทราย แต่ด้วยระบบเกษตรกรรมสมัยใหม ทำให้ชาวเมืองไม่ขัดสนผักสด และผลไม้(ขวาบน) โดยมีเนื้อแพะและแกะ เป็นแหล่งโปรตีนหลัก(ซ้ายบน) กับถั่วชนิดต่างๆ ซึ่งชาวเมืองนิยมบริโภคกันมาก (ขวาล่าง) |
ความพอเหมาะพอดีทั้งในด้านทรัพยากร ประชากร และบ้านเมืองที่สงบปราศจากสงคราม ทำให้คนจอร์แดนปัจจุบันมีฐานะทางเศรษฐกิจ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีเวลาสำหรับการพักผ่อน และท่องเที่ยว ประกอบกับจอร์แดนเป็นประเทศมุสลิมที่ค่อนข้างเปิดกว้าง จึงได้เปรียบประเทศเพื่อนบ้านในคาบสมุทรอาระเบียด้วยกันในแง่จำนวนนักท่องเที่ยว
ประเทศจอร์แดนมีแนวชาวฝั่ง(ทะเลแดง) เพียง ๒๖ กิโลเมตร แต่มีการพัฒนาและใช้สอยพื้นที่อย่างเกิดประสิทธิภาพ กระทั่งตลอดแนวชายฝั่งอากาบา กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญของภูมิภาคนี้
ไม่ไกลจากเมืองมาดาบา ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน กลางอาณาจักรของทิวเขาแห้งแล้งมียอดเขาสูงที่สำคัญชื่อ ยอดเขาเนโบ (Mt. Nebo) เป็นที่ตั้งของโบสถ์โมเสสเมมโมเรียล โบสถ์โบราณมีการสร้างทับซ้อนกันมาหลายครั้งในช่วงหลายพันปี และเชื่อกันว่าศพของโมเสสก็ถูกฝังอยู่ในบริเวณนี้ แต่จนปัจจุบันก็ยังไม่มีผู้ใดรู้ชัดว่าศพถูกฝังอยู่ตรงไหน
บริเวณโบสถ์โบราณยังอยู่ในช่วงของการขุดแต่ง และบูรณะใหม่ หลังพระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ ๒ เสด็จเยือนยอดเขาเนโบเมื่อปี ๒๐๐๐ และที่นี่ได้กลายเป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญของเมืองมาดาบา และของประเทศจอร์แดนไปแล้วในปัจจุบัน
ทางลาดยางสีดำขนาดสองเลนทอดยาวคดเคี้ยวไปตามภูมิประเทศที่เปลี่ยวร้างและแห้งแล้ง นำผู้คนเข้าสู่ศาสนสถานสำคัญในคริสต์ประวัติ และเป็นเส้นทางอันจำเจของคนขับรถขนส่งนักท่องเที่ยว
โชเฟอร์อาหรับวนเวียนรับส่งนักท่องเที่ยวอยู่เที่ยวแล้วเที่ยวเล่า กระทั่งบางคนกล้าบอกกับผู้โดยสารว่า เขารู้จักเส้นทางสายนี้ดีเหมือนชื่อตัวเอง
ขณะที่ความวังเวงหดหู่ของธรรมชาติกลางท้องทะเลทรายที่แทบไม่เห็นสิ่งมีชีวิต-ไม่ว่าพืชหรือสัตว์ พาใจของผู้แปลกถิ่นไพล่นึกไปถึงฉากในหนังเรื่อง Babel ตอนที่ผัวเมียหนุ่มสาวชาวอเมริกันนั่งรถท่องเที่ยวกับกรุ๊ปทัวร์อยู่ในโมร็อกโก ซึ่งภูมิประเทศแลละม้ายกันมากกับภาพสองข้างทางที่เขากำลังท่องไป ก่อนที่ผู้เป็นเมียอเมริกันจะโดนกระสุนปืนลึกลับ (ของเด็กเร่ร่อนเลี้ยงแกะ) พุ่งเข้าเจาะหน้าอก !
รถจอดที่ตีนเขา บริเวณนั้นมีรถโค้ชแบบเดียวกันจอดเรียงเป็นแถว นอกรถแดดจัดจ้าจนแทบลืมตาไม่ขึ้น เรื่องคิดจะหาเงาไม้หลบร่มอย่างในบ้านเมืองที่อุดมด้วยต้นไม้นั้นไม่ต้องนึกถึง นอกจากอาศัยแต่ร่มเงาของผืนผ้าที่มีติดตัว นี่คงเป็นคำตอบว่าทำไมชาวทะเลทรายจึงใส่เสื้อผ้ากันแบบรุ่มร่ามมิดชิด
ทางเดินขึ้นสู่ยอดเขามีคนขวักไขว่อยู่ตลอดเวลา ดูจากหน้าตา ผิวพรรณ การแต่งกาย มีทั้งคนในถิ่นและจากนานาชาติ นี่อาจเป็นเส้นทางเดียวกับที่โมเสสเดินนำชาวยิวขึ้นไป ก่อนเขาจะลาโลกไปในวัย ๑๒๐ ปี
โมเสสพาชาวยิวขึ้นไปบนยอดเขา แล้วชี้ให้ดูดินแดนไกลโพ้นเบื้องหน้า บอกว่านั่นคือดินแดนที่พระเจ้าสัญญา
แต่ในชั่วชีวิตของโมเสส เขาไม่สามารถพาชาวยิวไปถึงที่นั่นได้ พันธกิจศักดิ์สิทธิ์ได้รับการสานต่อจนลุล่วงโดยผู้นำรุ่นหลัง
วันที่เราไปเยือนยอดเขาเนโบ ขอบฟ้าตะวันตกอวลหมอกแดด สายตาเราจึงไม่อาจเห็นแห่งหนที่ถูกกล่าวถึงในพระคัมภีร์ แต่ก็พอนึกภาพออกจากการดูแผนที่
เดดซี ทะเลสาปที่เค็มที่สุดในโลก จนไม่มีสิ่งมีชีวิตใดอาศัยอยู่ได้ และคงไม่มีการใช้ประโยชน์ใดเหมาะเท่าเป็นที่ท่องเที่ยว
เบดูอิน ชาวทะเลทรายดั้งเดิมบนแผ่นดินอาระเบีย
สุดเวิ้งทิวเขาซับซ้อนเบื้องล่างคือ เดดซี (Dead Sea) ทะเลสาบที่ข้นด้วยเกลือจนคนนอนลอยตัวได้ ตามข้อมูลว่าหากตักน้ำในเดดซีมา ๑๐ กิโลกรัม แยกเอาน้ำออก จะได้เกลือถึง ๓ กิโลกรัม น้ำเค็มจัดจนไม่มีสัตว์น้ำชนิดใดอาศัยอยู่ได้นอกจากแบคทีเรียบางชนิดและอัลจี จึงถูกขานนามว่าเป็นทะเลแห่งความตาย ทะเลปิดแห่งนี้รับน้ำจากแม่น้ำจอร์แดนที่ไหลมาจากทางเหนือ ข้ามไปยังฝั่งตะวันตกของแม่น้ำคือนครเยรูซาเลม ถัดจากนั้นเป็นเขตประเทศอิสราเอลไปจนจดทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ส่วนบริเวณที่ว่าเป็นดินแดนอันอุดมด้วยนมและน้ำผึ้งนั้น อยู่ถัดขึ้นไปทางทิศเหนือของเดดซี ปัจจุบันคือเมืองเจริโค อยู่ในเขตเวสต์แบงก์ บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน ห่างจากเทือกเขาเนโบไป ๒๗ กิโลเมตร
คนในยุคปัจจุบันที่ใช้เวลา ๘ ชั่วโมงครึ่งเดินทางจากสุวรรณภูมิถึงจอร์แดน อาจนึกไม่ออกว่าทำไมบรรพชนของชาวคริสต์ใช้เวลาถึง ๔๐ ปีในการเดินทางจากลุ่มน้ำไนล์ถึงริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน ซึ่งดูไม่ไกลกันนักในแผนที่ แม้เดินด้วยเท้าตลอดเส้นทาง ก็ไม่ควรใช้เวลายาวนานปานนั้น
อิงตามบทบันทึกในพระคัมภีร์ นักเทววิทยาชาวคริสต์บางท่านตีความว่า เพราะพวกเขามัวแต่หลงทาง
ไม่ใช่ในความหมายของการหลงเส้นทางที่จะเดินไปยังจุดหมาย
แต่เป็นการหลงออกไปนอกแนวทางแห่งความศรัทธาในพระเจ้า
อ้างอิง :
- พระคริสตธรรมคัมภีร์ ภาคพันธสัญญาเดิม ฉบับ ๑๙๗๑. สมาคมพระคริสตธรรมไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๑, เมษายน ๒๐๐๖.
“Rameses: Wrath of God or Man? ราเมเสส ฟาโรห์แห่งตำนาน”. สารคดีวีซีดี ดิสคัฟเวอรีแชนเนล, พฤษภาคม ๒๐๐๘.
ขอขอบคุณ :
- มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย, บริษัทโตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด, มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สนับสนุนการเดินทาง
- อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, อาจารย์ทรงยศ แววหงษ์ ให้ความรู้ตลอดการเดินทาง
- พี่ธีรภาพ โลหิตกุล ด้วยความยินดีและเป็นเกียรติยิ่งที่ได้แรมทางด้วยกัน
- คุณสุภัตรา ภูมิประภาส ช่วยแปลข้อมูลในพื้นที่
- คุณนิรมล มูนจินดา พี่สาวชาวคริสต์ให้ยืมหนังสือพระคัมภีร์