จักรพันธุ์ กังวาฬ
การฝึกโยคะเริ่มได้รับความนิยมในประเทศมาเลเซียมาได้ระยะหนึ่ง จนกระทั่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑ สภาฟัตวาแห่งชาติมาเลเซีย (Malaysia’s national Fatwa Council) ซึ่งมีอำนาจในการออกกฎระเบียบปฏิบัติของชาวมุสลิม ได้ประกาศ
ฟัตวา หรือคำวินิจฉัยหลักปฏิบัติทางศาสนาอิสลาม ว่าการฝึกโยคะถือเป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับชาวมุสลิม
ในคำวินิจฉัยระบุว่า โยคะประกอบด้วยการปฏิบัติพิธีกรรมของศาสนาฮินดู ซึ่งจะบั่นทอนความศรัทธาต่อศาสนาอิสลาม แม้คำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ถือเป็นข้อผูกมัดตายตัว ทว่าตามปรกติชาวมุสลิมผู้มีศรัทธาจะปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
ประเทศมาเลเซียมีประชากรราว ๒๕ ล้านคน ประมาณ ๖๐ % เป็นชาวมุสลิม รัฐธรรมนูญของมาเลเซียบัญญัติว่าประชากรเชื้อชาติมาเลย์ทุกคนต้องนับถือ ศาสนาอิสลาม ขณะที่ประชากรเชื้อชาติอินเดียหรือจีนในมาเลเซียสามารถเลือกนับถือศาสนาได้ อย่างอิสระ
ชาวมาเลเซียที่มาเรียนโยคะแทบทั้งหมดเป็นคนเชื้อสายจีนและอินเดีย มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เป็นชาวมุสลิม
ดีไลลาห์ นักธุรกิจสตรีมุสลิมวัย ๔๙ ปีที่เริ่มฝึกโยคะมาได้ ๕ ปี ให้ความเห็นว่าเธอไม่ถือว่าโยคะเป็นกิจกรรมทางศาสนา
“การฝึกโยคะทำให้ฉันผ่อนคลาย” ดีไลลาห์กล่าว “ฉันรู้ว่าอะไรดีหรือไม่ดีสำหรับตัวเอง”
ครูฝึกโยคะของดีไลลาห์คือ ไนนี อาห์มัด วัย ๒๗ ปี เป็นสตรีมุสลิมเช่นเดียวกัน เธอเพิ่งเปิดสถานที่สอนโยคะในห้างสรรพสินค้าหรูในกรุงกัวลาลัมเปอร์ และมีความเห็นว่าไม่มีความขัดแย้งระหว่างโยคะกับศาสนาอิสลาม
“ช่วงเวลา ๑๐ ปีที่ฝึกโยคะทำให้ฉันเข้าถึงความเป็นมุสลิมยิ่งกว่าเดิม” ไนนีกล่าว “ฉันพบว่าร่างกายและจิตใจของตนเกิดความผสานกลมกลืน”
ทว่าสำหรับประธานสภาฟัตวา คือ อับดุล ชูกอร์ ฮุซิน มีความเห็นต่อการฝึกโยคะว่า
“โยคะประกอบด้วยการออกกำลังกาย พิธีกรรมทางศาสนา (ฮินดู) การท่องมนต์และการบูชาเพื่อความสงบในจิตใจและเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า (เทพเจ้าของศาสนาฮินดู)”
เขายังแย้งว่าชาวมุสลิมไม่จำเป็นต้องทำโยคะเพื่อการผ่อนคลาย เพราะการสวดมนต์ก็ให้ผลเช่นเดียวกัน
ขณะที่หู ครูฝึกโยคะเชื้อสายจีนที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามกล่าวว่า “ชั้นเรียนของเรามีไว้สำหรับการออกกำลังกายเท่านั้น”
เขากล่าวว่าการท่องมนต์เป็นเพียงการสร้างแรงสั่นสะเทือนเพื่อชำระร่างกายจิต ใจ รวมทั้งพลังงานที่ไหลเวียน ทำให้เกิดความผ่อนคลาย ทว่าปัจจุบันหูยกเลิกการท่องมนต์ในชั้นเรียนโยคะสำหรับผู้เริ่มต้น เพราะเกรงว่าผู้เรียนชาวมุสลิมบางคนอาจกังวลใจในเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม ครูฝึกโยคะหลายคนเห็นตรงกันว่า ความขัดแย้งครั้งนี้จะยิ่งกระตุ้นความสนใจของชาวมุสลิม และทำให้มีคนมาสมัครเรียนโยคะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
“บางทีตลาดใหญ่มากกำลังจะเปิดสำหรับเรา” ครูฝึกบางคนให้ความเห็น