|
- ๑๘๘๓
ฟรานซิส กาลตัน เสนอแนวคิดเรื่องการปรับปรุงพันธุกรรมมนุษย์ (eugenics) เป็นครั้งแรก คือความพยายามปรับปรุงเปลี่ยนแปลงคุณภาพของมนุษย์โดยวิธีควบคุมการเจริญพันธุ์หรือการผลิตลูกหลาน เขาเชื่อว่าสังคมควรจะห้ามปรามไม่ให้ผู้มีโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้มีลูกหลาน ขณะเดียวกันก็ควรสนับสนุน ให้ผู้มีสติปัญญาดีมีลูกหลายคน
|
|
- ๑๙๐๐
มีการค้นพบงานของ เกรกอร์ เมนเดล นักพฤกษศาสตร์ชาวออสเตรียผู้เสนอทฤษฎีการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม ช่วยเพิ่มรากฐานทางพันธุศาสตร์ให้แก่การคัดสรรตามธรรมชาติและเป็น การรับรองแนวคิดของดาร์วินให้หนักแน่นยิ่งขึ้น
|
- ๑๙๐๗
รัฐอินเดียนา สหรัฐอเมริกา เป็นมลรัฐแรกที่ออกกฎหมายบำรุงพันธุ์มนุษย์ (Indiana Eugenics Law) ด้วยเชื่อว่าอาชญากรรม ความยากจน และปัญหาสังคมล้วนสืบทอดทางกรรมพันธุ์ จึงสั่งให้ทำหมันคนเหล่านี้ ต่อมาอีกหลายรัฐในอเมริกาก็ออกกฎหมายทำนองนี้ตามมา
- ๑๙๑๒
มีการก่อตั้ง “สมาคมสุพันธุศาสตร์” (Eugenics Society) ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยนายกสมาคมฯ ในขณะนั้นคือ เลียวนาร์ด ดาร์วิน ลูกชายของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน ผู้สนับสนุนแนวคิดเน้นความสำคัญของพันธุกรรมหรือยีนต่อพัฒนาการของเผ่าพันธุ์มนุษย์ ผลจากการประชุมครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดกระแสพันธุกรรมนิยมในหลายประเทศ
|
|
- ๑๙๒๕
- ๑๘ กรกฎาคม Mein Kampf หนังสือที่ทรงอิทธิพลที่สุดในศตวรรษที่ ๒๐ เขียนโดย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรก และได้กลายเป็นหนังสือขายดีมียอดจำหน่ายทั่วโลกเกือบเท่าคัมภีร์ไบเบิล ถือเป็นคัมภีร์ของลัทธินาซี สนับสนุนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิวในเวลาต่อมา ว่ากันว่าฮิตเลอร์ได้อิทธิพลทางความคิดเรื่องความบริสุทธิ์และเหนือกว่าของเชื้อชาติเยอรมันมาจากนักคิดคนสำคัญของโลก หนึ่งในนั้นคือ ชาร์ลส์ ดาร์วิน
- ๒๑ กรกฎาคม การตัดสินคดีประวัติศาสตร์แห่งศตวรรษที่ ๒๐ หรือ “The Monkey Trial” ในอเมริกา หลังจากที่ จอห์น สโคปส์ ครูวิทยาศาสตร์ วัย ๒๔ ปีท้าทายกฎหมายต่อต้านวิวัฒนาการของรัฐเทนเนสซี ด้วยการสอนเกี่ยวกับวิวัฒนาการของดาร์วินในชั้นเรียน สุดท้ายศาลตัดสินว่าเขามีความผิดและลงโทษปรับ ๑๐๐ เหรียญสหรัฐ
|
|
- ๑๙๓๘
๒๒ ธันวาคม มีการค้นพบปลาซีลาคานท์ในแอฟริกาใต้ ซึ่งเชื่อว่าสูญพันธุ์ไปจากโลกเมื่อ ๓๕๐ ล้านปีก่อน ครีบของมันละม้ายคล้ายกระดูกแขนและขาของสัตว์บกมาก ทำให้นักชีววิทยาสันนิษฐานว่า ซีลาคานท์คือบรรพบุรุษของสัตว์โลก ซึ่งต่อมาได้วิวัฒนาการเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลัง
|
|
- ๑๙๓๙
เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อกองทัพเยอรมันภายใต้การนำของฮิตเลอร์บุกโปแลนด์จนขยายเป็นสงครามโลก มีการโฆษณาชวนเชื่อว่าชาวเยอรมันสืบเชื้อสายมาจากพวกนอร์ดิกอารยัน เป็นชนชาติที่บริสุทธิ์และเหนือกว่าชาติอื่นๆ ชาวเยอรมันจึงต้องปกครองชนชาติอื่น และต้องทำลายชาวยิวให้สิ้นซาก อันนำไปสู่การสังหารชาวยิวถึง ๖ ล้านคน
|
|
- ๑๙๔๐
แอนสท์ บอริส เชน และ โฮเวิร์ด ฟลอเรย์ สองนักวิทยาศาสตร์แห่งออกซฟอร์ดสามารถสกัดยาเพนนิซิลลินได้เป็นครั้งแรก ช่วยผู้ป่วยโรคปอดบวม คอตีบ ซิฟิลิส และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ที่คร่าชีวิตผู้คนไปนับหมื่นต่อปีในอดีต
|
|
- ๑๙๔๙
การคำนวณอายุของซากฟอสซิลด้วยวิธีวัดอายุเรดิโอคาร์บอน (radiocarbon dating) หรือ “คาร์บอน-๑๔” คิดค้นโดยนักฟิสิกส์ชาวอเมริกันชื่อ วิลลาร์ด เอฟ.ลิบบี และได้มีการใช้หลักการนี้วัดอายุซากดึกดำบรรพ์ทั่วโลก รวมถึงอายุของโลก
|
|
- ๑๙๕๓
๒๕ เมษายน เจมส์ วัตสัน และ ฟราน- ซิส คริก ตีพิมพ์สมมุติฐานเรื่องโครงสร้างแบบเกลียวคู่ของดีเอ็นเอ (double helix) ในวารสาร Nature ส่งผลกระทบต่อวงการวิทยาศาสตร์อย่างมาก ต่อมาพวกเขาได้พิสูจน์ด้วยผลการทดลองว่าถูกต้อง ทั้งยังทำนายความเป็นไปได้เชิงโครงสร้างว่าแต่ละสายของเกลียวคู่น่าจะแยกออกจากกันขณะแบ่งตัวเพิ่มจำนวน และทำหน้าที่เป็นแม่พิมพ์สำหรับสร้างสายใหม่ที่จับคู่กัน ซึ่งถูกต้องอีกเช่นกัน นับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่ยืนยันว่า ดีเอ็นเอ “ไม่ใช่โปรตีน” แต่เป็น “สารพันธุกรรม” การค้นพบนี้เปิดประตูสู่การศึกษาด้านอณูชีววิทยา พันธุวิศวกรรม การจัดทำลายพิมพ์ดีเอ็นเอ ฯลฯ
|
|
- ๑๙๗๓
ปีเตอร์และโรสแมรี แกรนต์ สองนักชีววิทยาชาวอังกฤษ ได้ใช้เวลาหลายสิบปีศึกษานกฟินช์ในหมู่เกาะกาลาปากอส เพื่อพิสูจน์ทฤษฎีของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน และพบการวิวัฒนาการของขนาดและจะงอยปากนกฟินช์จากการต่อสู้เพื่อแย่งชิงอาหาร ซึ่งเกิดขึ้นจริงและเร็วมากแทนที่จะกินเวลาหลายพันปี
|
|
- ๑๙๗๔
มีการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ดึกดำบรรพ์ เพศหญิง ออสตราโลพิเทคัส แอฟาเรนซิส (Australopithecus afarensis) หรือรู้จักกันในนาม “ลูซี” ที่เมืองฮาดาร์ ตอนเหนือของประเทศเอธิโอเปีย คาดว่ามีอายุประมาณ ๓.๒ ล้านปี เป็นมนุษย์เดินสองขาอายุเก่าแก่ที่สุด ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญของการวิวัฒนาการของมนุษย์
|
|
- ๑๙๗๖
ในสหรัฐอเมริกา นักวิทยาศาสตร์ประสบความสำเร็จในการนำชิ้นส่วนของดีเอ็นเอจากสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งไปถ่ายฝากในดีเอ็นเอของสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง เป็นจุดเริ่มต้นของจีเอ็มโอ (GMOs-Genetically Modified Organisms) หรือสิ่งมีชีวิตที่ได้จากการดัดแปลงหรือตกแต่งสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ
|
|
- ๑๙๘๐
ทีมนักวิจัยนำโดยหลุยส์และวอลเตอร์ อัลวาเรซ ค้นพบหลักฐานหลายๆ อย่าง ที่เชื่อถือได้ว่า การสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์น่าจะเกิดจากการพุ่งชนของอุกกาบาตในราว ๖๕ ล้านปีก่อน
|
|
- ๑๙๘๑
มีการค้นพบโรคเอดส์ (Acquired Immune Deficiency Syndrome-AIDS) อันมีสาเหตุมาจากร่างกายได้รับเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) เข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาวซึ่งเป็นแหล่งสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้ลดน้อยลง นักวิทยาศาสตร์พบว่าไวรัสชนิดนี้เคยอยู่ในลิงและได้วิวัฒนาการแพร่เข้าสู่มนุษย์ ประมาณการว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์อย่างน้อย ๒๕ ล้านคน
|
- ๑๙๘๒
การไปรษณีย์ของประเทศอังกฤษออกแสตมป์เป็นที่ระลึกครบรอบ ๑๐๐ ปีการตายของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน
- ๑๙๘๔
บัวผุดพันธุ์ไทย (Rafflesia kerrii) ได้รับการประกาศเป็นพันธุ์ไม้ชนิดใหม่ ของโลก พบโดยนายแพทย์ เอ.เอฟ. จี. เคอร์ เมื่อปี ๑๙๒๙ พืชวงศ์บัวผุดเป็นพืชลึกลับแห่งป่าดิบที่นักพฤกษศาสตร์ยังไม่อาจไขปริศนาได้ว่ามันผุดตามที่ต่างๆ ได้อย่างไร อันจะนำไปสู่การค้นพบกลไกพิสดารที่เกื้อกูลกันในป่าเขตร้อน
|
|
- ๑๙๙๕
ตุลาคม มีการขุดพบฟอสซิลกระดูก ไดโนเสาร์ซอโรพอด ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน ยุคครีเทเชียสตอนต้น อายุ๑๓๐ ล้านปี ที่ภูกุ้มข้าว อ. สหัสขันธ์จ. กาฬสินธุ์ นับเป็นการขุดพบโครงกระดูกไดโนเสาร์เกือบครบสมบูรณ์ครั้งแรกในไทย
|
- ๑๙๙๗
- ๒๓ กุมภาพันธ์ นักวิทยาศาสตร์ของสถาบันรอสลินแห่งเอดินบะระประกาศความสำเร็จในการโคลนนิงแกะดอลลีตัวแรกในโลก สร้างความตื่นเต้นและจุดประกายความหวังในการโคลนนิงมนุษย์ แต่ในที่สุดมันก็ต้องถูกจบชีวิตลงเมื่อกุมภาพันธ์ ๒๐๐๓ เนื่องจากปัญหาแก่ก่อนวัยและโรคร้าย
- ดร. เยาวลักษณ์ ชัยมณี แห่งกรมทรัพยากรธรณี ค้นพบฟอสซิลของ สยามโมพิเทคัส อีโอซีนัส (Siamopithecus eocaenus) ในจังหวัดกระบี่ เป็นไพรเมตชั้นสูงสกุลใหม่ ของโลก อายุ ๓๗-๓๕ ล้านปีก่อน ถือเป็นการค้นพบหลักฐานบรรพบุรุษร่วมของมนุษย์และลิงครั้งสำคัญ
|
- ๒๐๐๑
– มิถุนายน มีการประกาศความสำเร็จของโครงการจีโนมมนุษย์ (Human Ge-nome Project) ที่ทำมาตั้งแต่ปี ๑๙๙๐ โดยการตีพิมพ์ลำดับดีเอ็นเอทั้งหมดของมนุษย์ราว ๓,๐๐๐ ล้านลำดับดีเอ็นเอ ผลการศึกษาทำให้รู้ว่า ดีเอ็นเอของคนและลิงชิมแปนซี-สิ่งมีชีวิตที่คล้ายกับคนมากที่สุด มีลำดับดีเอ็นเอที่คล้ายกันมากถึง ๙๘-๙๙ %
– การจำแนกซากช้างโบราณจากตัวอย่าง ฟอสซิลที่ขุดพบใน ต. ท่าช้างและ ต. ช้างทอง อ. เฉลิมพระเกียรติ จ. นครราชสีมา พบว่ามีถึง ๘ สกุลใน ๓๘ สกุล ที่พบทั่วโลก อาทิ ช้างสเตโกดอน (๙-๐.๗ ล้านปีก่อน), ช้างซิโนมาสโตดอน (๑๑-๐.๗ ล้านปีก่อน) ช้างกอนโฟเทอเรียม (๑๖-๕ ล้านปีก่อน) เป็นต้น เป็นฟอสซิลที่สมบูรณ์และหลากหลายชนิด ทั้งยังมีความต่อเนื่องในเชิงวิวัฒนาการมากกว่าที่พบในแหล่งอื่นๆ ทั่วโลก
|
|
- ๒๐๐๓
กันยายน ขุดพบโครงกระดูกของมนุษย์สายพันธุ์ใหม่ลักษณะใกล้เคียงกับมนุษย์ ยุคปัจจุบัน บนเกาะฟลอเรส อินโดนีเซีย ได้ชื่อว่า “มนุษย์ฮอบบิต” หรือมนุษย์แคระ (Homo floresiensis) อายุ ๙๕,๐๐๐-๑๘,๐๐๐ ปีมาแล้ว นำไปสู่การถกเถียงเกี่ยวกับวิวัฒนาการของมนุษย์อย่างกว้างขวาง เนื่องจากมีลักษณะผสมผสานระหว่างมนุษย์วานรกับมนุษย์สมัยใหม่
|
|
- ๒๐๐๕
เมษายน เริ่มโครงการจีโนกราฟิก (Genographic Project) ที่มีเป้าหมายในการศึกษาและทำแผนที่การอพยพของมนุษย์ไปยังบริเวณต่างๆ ของโลก ตามทฤษฎีการกำเนิดและอพยพของมนุษย์ว่าต้นตระกูลมนุษย์ทั้งหมดเคยอยู่ในทวีปแอฟริกา ก่อนอพยพไปยังบริเวณอื่นๆ ของโลก โครงการนี้เก็บรวบรวมและวิเคราะห์ตัวอย่างดีเอ็นเอ จากผู้คนต่างเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์มากกว่า ๑ แสนคนทั่วโลก
|
|
- ๒๐๐๘
กันยายน The Church of England ซึ่งเป็นสถาบันหลักของศาสนาคริสต์นิกาย Church of England ได้ออกแถลงการณ์ขอโทษชาร์ลส์ ดาร์วิน อย่างเป็นทางการที่สถาบันแห่งนี้เคยกล่าวร้ายเขาเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่
|
|
- ๒๐๐๙
ธนาคารแห่งประเทศอังกฤษได้ผลิตเหรียญ ๒ ปอนด์เป็นที่ระลึกในวาระครบรอบ ๒๐๐ ปี ชาร์ลส์ ดาร์วิน
|
- ๒๐๐๙
นิตยสาร Scientific American ฉบับเดือนมกราคม ยกย่องหนังสือ The Origin of Species ของดาร์วินว่า “เป็นแนวคิดที่ทรงพลังมากที่สุดทางวิทยาศาสตร์” และเว็บไซต์ www.nature.com/darwin ระบุว่า “ดาร์วินอาจจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ทรงอิทธิพลสูงสุดในยุคใหม่”
|