เอกสิทธิ์ เข้มงวด  ชมรมนักพับกระดาษไทย
อีเมล : thaiorigami-club@hotmail.com
เว็บไซต์ : www.thaiorigami-club.net46.net


อากิระ โยชิซาวะ กับโมเดลกอริลลาตัวโปรด (ภาพจากปกนิตยสาร ORU ฉบับฤดูร้อนปี ๑๙๙๔)

โอริงามิ หรือการพับกระดาษ เคยเป็นความลับสุดยอดของตระกูลซามูไรชั้นสูง แต่หลังจากสิ้นยุคทองของซามูไรแล้ว คนญี่ปุ่นทั่วไปก็เห็นการพับกระดาษเป็นเพียงของเล่นสำหรับเด็กมาอีกร่วม ๑๐๐ ปี จนในที่สุดโลกแห่งโอริงามิอันไร้ขอบเขตก็ได้ถูกบุกเบิกโดยนักพับกระดาษยากจนคนหนึ่งชื่อ อากิระ โยชิซาวะ (Akira Yoshizawa) ผู้ที่ได้รับการขนานนามจากนักพับกระดาษทั่วโลกให้เป็น “บิดาแห่งโอริงามิสมัยใหม่”

อากิระ โยชิซาวะ มีพรสวรรค์ในการพับกระดาษไม่เป็นสองรองใคร ดังจะเห็นได้จากผลงานที่เขาออกแบบขึ้นมาใหม่จำนวนมากถึง ๕ หมื่นแบบ แหวกแนวโอริงามิที่เคยมีมา  อย่างไรก็ดีผลงานของเขาได้รับการบันทึกไว้เพียงไม่กี่ร้อยแบบเท่านั้น โดยบางส่วนตีพิมพ์ในหนังสือจำนวน ๑๘ เล่ม และอีกส่วนหนึ่งตีพิมพ์ในนิตยสารต่าง ๆ

งานของโยชิซาวะเป็นงานศิลป์ชั้นครูที่ลอกเลียนแบบได้ยาก  โมเดลของเขาไม่ได้เน้น “ความสมจริง” แต่เน้นการแสดงออกถึง “ชีวิตที่สัมผัสได้จริง” มีผู้ยกย่องงานของเขาว่า “หากคุณให้เขาพับไก่ คุณแทบจะได้ยินเสียงไก่ขันอยู่ทีเดียว แม้คุณจะไม่เห็นขนของมันเลยสักเส้น”

โยชิซาวะยังได้พัฒนาเทคนิคแบบใหม่ที่ช่วยให้โมเดลเสมือนหนึ่ง “มีชีวิต” เทคนิคนี้เรียกว่า การพับแบบเปียก (wet folding) เคล็ดลับอยู่ที่การทำให้กระดาษชื้นเล็กน้อย
โดยการพรมน้ำลงไป หรือใช้ผ้าชุบน้ำหมาด ๆ เช็ดไปด้วยในขณะพับ ทำให้สามารถจัดรูปทรงกระดาษได้ง่าย หรือแม้กระทั่ง “ปั้น” กระดาษให้อยู่ตัวได้อีกด้วย

นอกจากนี้เขายังได้ประดิษฐ์สัญลักษณ์แสดงวิธีการพับเพื่อให้คนส่วนใหญ่เข้าใจได้โดยไม่ต้องรู้ภาษาญี่ปุ่น  ปัจจุบันสัญลักษณ์โอริงามิของโยชิซาวะได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง โดยมีการดัดแปลงเพิ่มเติมเล็กน้อย เรียกว่า ระบบสัญลักษณ์โยชิซาวะ-แรนด์เล็ตต์ (Yoshizawa-Randlett system of notation) ซึ่งหนังสือพับกระดาษทั่วโลกต่างก็ใช้มาตรฐานดังกล่าวนี้

เบื้องหลังชีวิตของโยชิซาวะก็น่าสนใจไม่น้อย เพราะเป็นชีวิตที่พลิกผันจากคนขายปลาต้มเค็มสู่ปรมาจารย์โอริงามิที่คนทั้งโลกต้องทึ่ง

วันที่ ๑๔ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๑  อากิระ โยชิซาวะ เกิดในเมืองเล็ก ๆ ห่างไกลความเจริญชื่อคามิโนะคาวะ ในจังหวัดโทชิงิ แถบตอนกลางของประเทศญี่ปุ่น  ครอบครัวชาวไร่ของเขาสามารถส่งเสียให้เขาเล่าเรียนได้ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ เท่านั้น  ในยุคนั้นเด็กผู้ชายมักพับกระดาษเป็นกบและเครื่องร่อน ส่วนเด็กผู้หญิงก็ชอบพับนกกระเรียนเล่นกันจนเป็นเรื่องปรกติในหมู่บ้าน  นี่คือจุดเริ่มต้นของนักพับกระดาษผู้ยิ่งใหญ่

โยชิซาวะในวัย ๑๓ ปีได้เข้ามาหางานทำในเมืองโตเกียว  ด้วยคุณวุฒิการศึกษาที่ไม่สูงนักทำให้เขาได้งานในโรงงานผลิตเครื่องมือสำหรับเครื่องจักรกล อันเป็นงานยอดฮิตในประเทศอุตสาหกรรมใหม่อย่างญี่ปุ่นในขณะนั้น  โยชิซาวะกระตือรือร้นที่จะเรียนภาคค่ำควบคู่ไปกับการทำงาน นอกจากนี้เขายังมีโอกาสได้ร่ำเรียนพระธรรมวินัยในพุทธ-ศาสนาอีกด้วย

เมื่ออายุได้ ๒๒ ปี โยชิซาวะก็ได้เลื่อนขั้นเป็นพนักงานเขียนแบบ  ตอนนั้นเองที่เขาเริ่มนำศิลปะการพับกระดาษมาใช้ในการอธิบายเรขาคณิตให้เพื่อนร่วมงานรุ่นน้องฟัง  ในเวลาว่างเขามักนำกระดาษขึ้นมาพับเป็นอะไรต่อมิอะไร  แม้กระทั่งนายจ้างก็เห็นความพิเศษในตัวเขา และอนุญาตให้เขาพับกระดาษในเวลางานได้ด้วย

ด้วยความรักความหลงใหลในการพับกระดาษเป็นชีวิตจิตใจ ในที่สุดโยชิซาวะก็พร้อมอุทิศเวลาให้แก่การพับกระดาษอย่างเต็มตัว  เขาลาออกจากงานตอนอายุ ๒๖ ปี และต้องอยู่อย่างยากจน ทำงานพิเศษเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อประทังชีวิต เช่นขายปลาต้มเค็มตามบ้าน

เมื่อคราวสงครามมหาเอเชียบูรพา โยชิซาวะถูกเรียกตัวไปช่วยหน่วยแพทย์ที่ฮ่องกงในปี ๑๙๔๓  เพื่อนร่วมงานเล่าว่าโยชิซาวะมักจะพับโอริงามิสีสันสดใสประดับเตียงผู้ป่วยอยู่เป็นประจำ  ในปี ๑๙๔๕ เขาล้มป่วยลง และถูกปลดประจำการในปีนั้น  เขากลับไปยังบ้านเกิด เดินหน้า “วิจัย”งานพับกระดาษที่เขารักต่อไป และหาเลี้ยงชีพด้วยการขายปลาต้มเค็มตามบ้านดังเดิม

พ่อของโยชิซาวะได้ช่วยวิ่งเต้นให้มีนิทรรศการโอริงามิเล็ก ๆ ขึ้นตามงานประชุมคุณครู  ผลงานของโยชิซาวะค่อย ๆ เป็นที่รู้จักมากขึ้น จนชื่อเสียงของนักพับกระดาษแห่งโทชิงิรู้ไปถึงหู ทาดาซึ อิซาวะ (Tadasu Iizawa) บรรณาธิการนิตยสารภาพของญี่ปุ่นที่ชื่อ Asahi Graph

ตัวอย่างหนังสือรวบรวมผลงานของ อากิระ โยชิซาวะ


โมเดลการแสดงดนตรีของสัตว์

โมเดล ๑๒ นักษัตร

นายอิซาวะต้อง “ตระเวน” หาตัวนายโยชิซาวะด้วยตนเอง เพราะไม่ทราบว่าจะหาตัวนักพับกระดาษคนนี้ได้อย่างไร  ว่ากันว่าเขาพบสุดยอดนักพับกระดาษในสภาพน่าอนาถใจ คือกำลังขายปลาต้มเค็มอย่างขะมักเขม้นในชุดทหารโทรม ๆ ซึ่งเป็นมรดกชิ้นเดียวที่โยชิซาวะได้จากสงคราม  โยชิซาวะรับข้อเสนอฟ้าประทานที่อิซาวะมอบให้อย่างรวดเร็ว  อิซาวะรีบจัดแจงหาเสื้อผ้าให้ใหม่ เช่าห้องโรงแรม และเตรียมกระดาษนานาชนิดให้โยชิซาวะ  โจทย์ที่โยชิซาวะได้รับคือ โอริงามิ ๑๒ นักษัตร

สัตว์ ๑๒ ตัวนี้นี่เองที่จะเปลี่ยนชะตาชีวิตของ อากิระ โยชิซาวะ ในอนาคต !

นิตยสาร Asahi Graph ตีพิมพ์ผลงาน “๑๒ นักษัตร” ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๕๒ ขณะโยชิซาวะมีอายุ ๔๑ ปี  นับเป็นครั้งแรกที่คนญี่ปุ่นด้วยกันเองยังแทบไม่อยากจะเชื่อในสิ่งที่เห็น  ชื่อเสียงของยอดนักพับกระดาษคนนี้แพร่สะพัดออกไปอย่างรวดเร็ว ผลงานของเขาได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารหลายต่อหลายครั้ง ตามมาด้วยนิทรรศการโอริงามิ ณ ย่านกินซ่า ใจกลางกรุงโตเกียว  และในที่สุดหนังสือเล่มแรกของเขาชื่อ Atarashii Origami Geijutsu หรือ “ศิลปะโอริงามิแบบใหม่” ก็คลอดออกมาในปี ๑๙๕๔  หนังสือเล่มนี้ทำให้โยชิซาวะลืมตาอ้าปากได้ และปรากฏการณ์โอริงามิแบบใหม่นี้เองก็ดังข้ามทวีปไปถึงนักวิจัยโอริงามิชื่อ เกอร์ชอน เลกแมน (Gershon Legman) ที่ฝรั่งเศส

โยชิซาวะได้รับการติดต่อจากเลกแมนหลายครั้ง ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจส่งผลงานกว่า ๓๐๐ ชิ้นไปร่วมแสดงในนิทรรศการโอริงามิซึ่งจัดที่พิพิธภัณฑ์ Stedelijk ณ เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในปี ๑๙๕๕  งานนี้นับเป็นการแจ้งเกิดของยอดนักพับกระดาษในเวทีโลก และยังเป็นแรงบันดาลใจให้นักพับกระดาษในซีกโลกตะวันตกกลับไปตั้งสมาคมพับกระดาษในประเทศของตน เช่น โรเบิร์ต ฮาร์บิน (Robert Harbin) ริเริ่ม British Origami Society ในอังกฤษ  ลิลเลียน ออปเพนไฮเมอร์ (Lillian Oppenheimer) ตั้ง Origami USA ในสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

มีเกร็ดเล็ก ๆ เกี่ยวกับการจัดแสดงผลงานครั้งแรกที่อัมสเตอร์ดัมว่า ในบรรดาโมเดลจำนวน ๓๐๐ ชิ้นที่นำไปจัดแสดงนั้น มีอยู่ ๔๐ โมเดลที่หายไป  แต่ในที่สุดโยชิซาวะก็ได้โมเดลเหล่านี้กลับคืนมาหลังจากที่พลัดจากกันไปนานถึง ๕๑ ปี  เบื้องหลังเรื่องนี้ก็คือ ศาสตราจารย์ชาวอเมริกันคนหนึ่งเก็บโมเดลเหล่านี้เอาไว้โดยไม่ได้แจ้งแก่โยชิซาวะเมื่อศาสตราจารย์ผู้นี้เสียชีวิต ครอบครัวของเขาก็ได้มอบโมเดลทั้งหมดนี้ให้แก่ British Origami Society ต่อมาภรรยาของโยชิซาวะได้ไปเห็นภาพ “นกฮูก” ของโยชิซาวะในสิ่งพิมพ์ของ British Origami Society จึงได้มีการขอคืน  เมื่อได้โมเดลเหล่านี้คืนแล้ว โยชิซาวะกล่าวว่า “น่ายินดีเหลือเกินที่ได้เห็นโมเดลเหล่านี้อีกครั้งหนึ่ง…”

น่ารู้ไว้ด้วยว่าโยชิซาวะไม่เคยขายโมเดลของเขาให้ใคร แต่บางครั้งก็จะมอบบางโมเดลให้บางคนเป็นของที่ระลึก ทั้งนี้เนื่องจากเขาถือว่าโมเดลทั้งหลายเสมือนหนึ่งบรรดาลูก ๆ ของเขานั่นเอง

โยชิซาวะ สาธิตการพับกระดาษที่ British Origami Society ในปี ๑๙๘๓

โมเดลใบหน้าแบบต่างๆ (ซ้าย) และขั้นตอนการพับ

 

ข่าวโยชิซาวะได้โมเดลคืนหลังจากหายไปนานถึง ๕๑ ปี ในภาพ โยชิซาวะถือโมเดลรูปคล้ายใบหน้าของตนเอง(Self-Portrait) ตีพิมพ์ใน Asahi Newspaper ฉบับวันที่  ๘ กันยายน ค.ศ.๒๐๐๔

 

นับแต่การเปิดตัวครั้งปฐมฤกษ์นั้น อากิระ โยชิซาวะ ก็กลายเป็นฮีโร่นักพับกระดาษในสายตาของชาวญี่ปุ่น  ทางการญี่ปุ่นยังมอบงานด้านการเผยแพร่วัฒนธรรมให้แก่เขาอีกด้วย  เขาเดินทางไปประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ ในปี ๑๙๖๖ และอีกหลายประเทศในเวลาต่อมา รวมถึงอังกฤษและสหรัฐอเมริกา

ในบั้นปลายชีวิต โยชิซาวะเปิดบ้านต้อนรับเพื่อนนักพับกระดาษจากทั่วโลกทุก ๆ ปีในช่วงฤดูร้อน เพื่อเปิดโอกาสให้นักพับกระดาษรุ่นหลังมีโอกาสชื่นชมผลงานคอลเล็กชันส่วนตัวของเขาบ้าง

โยชิซาวะแต่งงาน ๒ ครั้ง ครั้งแรกในปี ๑๙๓๘  ภรรยาคนแรกเสียชีวิตในช่วงสงคราม  ในปี ๑๙๕๖ เขาแต่งงานอีกครั้งกับสุภาพสตรีชื่อ คิโย ซึ่งเธอได้ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการส่วนตัวของโยชิซาวะและเป็นครูสอนพับกระดาษด้วย

ในปี ๒๐๐๐ ชาวญี่ปุ่นร่วมกันเฉลิมฉลองงานครบรอบวันเกิดปีที่ ๘๙ ให้แก่เขา  สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Order of the Rising Sun ในการนี้ด้วย

จะบังเอิญหรือไม่ก็ตาม เขาเสียชีวิตด้วยโรคปอดอักเสบเมื่ออายุ ๙๔ ปี ในวันที่ ๑๔ มีนาคม ค.ศ. ๒๐๐๕ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของตัวเขาเอง และของอัจฉริยะระดับโลกอย่าง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ด้วย

แหล่งข้อมูล