เรื่อง : ฐิตินันท์ ศรีสถิต
ภาพ : www.seanursery.com
ที่มา : A Rising Tide of Ocean Debris and What We Can Do about It
รายงานประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๒ เนื่องในวันอนุรักษ์ชายฝั่งสากล โดยองค์กรพิทักษ์มหาสมุทร และ http://www.oceanconservancy.org
วันเสาร์สัปดาห์ที่ ๓ ในเดือนกันยายนของทุกปีถือเป็นวันอนุรักษ์ชายฝั่งสากล ซึ่งองค์กรพิทักษ์มหาสมุทรจะรณรงค์ให้อาสาสมัครผู้มีใจรักท้องทะเลจากทุกสารทิศทั่วโลกเข้าร่วมกิจกรรมเก็บขยะทำความสะอาดชายฝั่งทะเลกันอย่างคึกคักโดยครั้งล่าสุดจัดขึ้นเมื่อ ๑๙ กันยายนที่ผ่านมา
เร็วเกินไปที่องค์กรพิทักษ์มหาสมุทรจะเปิดเผยผลการเก็บขยะชายหาดอย่างเป็นทางการของปี พ.ศ.๒๕๕๒ อีกทั้งตัวเลขสถิติต่างๆ จากการลงมือลงแรงในปีที่แล้วก็ถือว่ายังไม่ล้าสมัย จึงขอหยิบยกบางส่วนมาให้ผู้อ่านได้ ตาโต กับความรุนแรงของขยะทะเล…หนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมที่หลายคนมองข้าม
เพียงวันเดียวในเดือนกันยายน ปี ๒๕๕๑ อาสาสมัคร ๓๙๐,๘๘๑ คนจาก ๑๐๔ ประเทศ ที่กระโดดเข้าร่วมกิจกรรมทำความสะอาดชายฝั่งเป็นปีที่ ๒๓ สามารถเก็บขยะทะเลได้มากถึง ๓,๔๐๒ ตัน เทียบเท่ากับน้ำหนักของวาฬสีน้ำเงิน วาฬขนาดใหญ่ที่สุดในโลกจำนวน ๑๘ ตัว !
พวกเขารวบรวมขยะทะเลจำนวน ๑๑,๔๓๙,๐๘๖ ชิ้นจากแนวชายฝั่งทะเลความยาวประมาณ ๒๗,๒๐๐ กิโลเมตร
สิ่งที่พบมากที่สุด ๓ อันดับแรกคือ ก้นบุหรี่ ๓,๒๑๖,๙๙๑ ชิ้น ตามมาด้วยถุงพลาสติก ๑,๓๗๗,๑๔๑ ใบ หีบห่อและภาชนะบรรจุอาหาร ๙๔๒,๖๒๐ ชิ้น ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วก็ปาเข้าไปถึง ร้อยละ ๔๘ ของจำนวนขยะทะเลทั้งหมด
อาสาสมัครที่ร่วมกิจกรรมในวันนั้นรายงานว่า พบสัตว์ทะเลและนกทะเล ๔๔๓ ตัวถูกพันธนาการร่างกายด้วยขยะทะเล มีเพียง ๒๖๘ ตัว เท่านั้นที่ยังมีชีวิตและสามารถช่วยเหลือให้คืนสู่ท้องทะเลได้อย่างปลอดภัย
เหยื่อที่โดนขยะทะเลทำร้ายมากที่สุดจำนวน ๑๙๗ ตัว หรือคิดเป็นร้อยละ ๔๔ คือสัตว์ในกลุ่มปลา ซึ่งรวมถึงฉลาม ปลากระเบน และม้าน้ำ ส่วนใหญ่ได้รับอันตรายจากเอ็นตกปลา ปลาเคราะห์ร้ายบางตัวมีขยะทะเลอัดแน่นอยู่ในช่องเหงือก ฉลามถูกพันรัดร่างกายด้วยเชือกหรืออวนเก่าๆ
ภาพซ้ายจากองค์กรพิทักษ์มหาสมุทร, ภาพขวาจากองค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา
เหยื่อกลุ่มถัดมาเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เช่น หมึก ปู ลอบสเตอร์ และ แมงกะพรุน จำนวน ๑๒๒ ชีวิต ส่วนใหญ่ได้รับอันตรายจากลอบดักปู–ปลา–กุ้งที่ไม่มีเจ้าของ ตามติดด้วยนกทะเลโชคไม่ดีอีก ๙๙ ตัว พวกมันมากกว่าครึ่งโดนเอ็นตกปลาเล่นงาน
จากภาพรวมในระดับโลก ลองมาดูตัวเลขในระดับประเทศกันบ้าง เพราะบ้านเราก็เข้าร่วมกิจกรรมกับเขาด้วย โดยในปี ๒๕๕๑ อาสา สมัครชาวไทย ๒,๔๐๖ คนเดินเก็บขยะได้มากถึง ๙,๙๑๘ กิโลกรัม ตลอดแนวชายหาดความยาวรวมกันเกือบ ๓๐ กิโลเมตร ทั้งยังมีอาสาสมัครนักดำน้ำอีก ๗๑๖ คนมาช่วยดำน้ำเก็บขยะที่จมอยู่ใต้ทะเลอีก ๔,๑๔๒ กิโลกรัม
ขยะทะเลที่พบมากที่สุดในน่านน้ำไทยคือ หีบห่อและภาชนะบรรจุอาหาร ๑๖,๗๖๓ ชิ้น รองลงมาเป็นเชือก ๑๑,๔๑๑ ชิ้น และเสื้อผ้ารองเท้า ๙,๐๕๔ ชิ้น
แม้ขยะทะเลทั้งหมดที่พร้อมใจกันเก็บในวันนั้นจะมีจำนวนมหาศาล แต่คงเทียบไม่ได้กับอีกนับไม่ถ้วนที่ตกค้างอยู่ท่วมท้น และอีกไม่รู้เท่าไรที่จะเพิ่มขึ้นในวันต่อๆ ไปลองนึกง่ายๆ ผู้คนทิ้งขยะทุกวัน ลำพังคนกลุ่มเล็กๆ มาช่วยเก็บกวาดในวันเดียว ทะเลก็คงสะอาดขึ้นแค่ชั่วคราว
เพราะขยะไม่ได้หล่นจากฟ้า แต่มาจากมือของทุกคน จึงเป็นภารกิจของมือคู่เดียวกันนี้ที่จะแก้ปัญหาอย่างได้ผล ถึงเวลาหรือยังที่จะใส่ใจเรื่อง ไม่เล็ก ของขยะในทะเล…ให้มากกว่าที่เคย