เรื่อง : สรณรัชฎ์ กาญจนวณิชย์

ชัยชนะของ บารัก โอบามา เป็นชัยชนะของความหวังที่จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในโลก แต่สำหรับภูมิภาคฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างได้เกิดขึ้นล่วงหน้าไปแล้ว

พลิกปฏิทินกลับไปสู่สหรัฐอเมริกายุคสมัย ราชวงศ์บุช ท่ามกลางวิกฤตโลกร้อนและความทุกข์ยากของชีวิตมนุษย์ พืชและสัตว์ทั่วโลก สหรัฐอเมริกาคงยืนหยัดเป็นประเทศพัฒนาแล้วเพียงประเทศเดียวที่ไม่ยอมลงนามพิธีสารเกียวโต ๑๙๙๗ (Kyoto Protocol) เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก ทั้งๆ ที่อเมริกาปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากถึงร้อยละ ๒๒ สูงเป็นอันดับ ๑ ในโลกเทียบเคียงกับจีน

แต่แล้วในวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๐๐๗ มลรัฐและจังหวัดในภูมิภาคฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกาและแคนาดาตัดสินใจพากันร่วมลงนามประกาศพันธสัญญา “ปฏิบัติการด้านภูมิอากาศของภูมิภาคตะวันตก” (Western Climate Initiative) เป็นการริเริ่มของตนเอง ข้ามหัวรัฐบาลกลางที่หน้าด้านหน้าทนไม่สะท้านสะเทือนกับการเรียกร้องของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์หรือเสียงด่าจากชาวโลก

เป้าระยะกลางที่วางไว้คือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ถึงร้อยละ ๑๕ ภายในปี ๒๐๒๐ และถึงร้อยละ ๘๐ ภายในปี ๒๐๕๐

คริสตีน เกรกัวร์ ผู้ว่าการหญิงมลรัฐวอชิงตัน แถลงว่าจำเป็นต้องลุกขึ้นก้าวข้ามหัวบุช เพราะอเมริกาตกอยู่ในภาวะสุญญากาศผู้นำ แต่พันธสัญญานี้ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญที่มลรัฐเหล่านี้มีกลุ่มผู้ว่าฯ เป็นผู้นำมีวิสัยทัศน์ เพราะอันที่จริงผู้ว่าฯ บางคนก็ไม่ค่อยจะเท่เท่าไรนัก แต่ปรากฏการณ์นี้เป็นผลพวงจากการเคลื่อนไหวของประชาคมท้องถิ่นเอง จึงเป็นยอดก้อนน้ำแข็งกลางทะเลที่มีทุนสังคมก่อร่างสร้างตัวสะสมเป็นฐานมายาวนานหลายสิบปี ส่อเค้าให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่จะต้องเกิดขึ้นในอเมริกาและในสังคมโลกไม่ช้าก็เร็ว

เป็นการเปลี่ยนแปลงวิถีในสังคมที่จะไม่ขึ้นกับผู้นำไม่กี่คนอีกต่อไป

ชาวเมืองซีแอตเทิลเดินถนนที่บังเอิญมีโอกาสคุยด้วยบอกเราว่า “เพียงเพราะเฟดฯ (รัฐบาลกลาง) มันโง่ ไม่ได้หมายความว่าคนอื่นๆ ต้องยอมโง่ตามไปด้วย เรายังไม่เท่าไรนะ พวกชาวมลรัฐออริกอนสิ ชูนิ้วกลางเสียบตูดส่งเลย”

เขาชูนิ้วบอกว่า เราจะไม่สร้างเขื่อนเพิ่ม ไม่เอาถ่านหิน ไม่เอานิวเคลียร์ แต่จะลดคาร์บอนด้วยเครือข่ายประชาชน มีรัฐทำหน้าที่สนับสนุน ให้ร่วมกันผลิตพลังงาน อนุรักษ์พลังงาน จัดการพลังงาน และกำหนดชะตาชีวิตตนเอง

อยากจะเล่าให้ฟังว่ามันเป็นไงมาไงกัน

มลรัฐวอชิงตันและมลรัฐออริกอนทางฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกาเป็นมลรัฐที่ขึ้นชื่อว่าหัวก้าวหน้าและสีเขียว ประชาคมเข้มแข็ง มีระบบตรวจสอบและมีกระบวนการมีส่วนร่วมของสาธารณชนต่อการวางแผนการพัฒนาเป็นอย่างดี ทางกลุ่มพลังไท ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ ทำงานด้านการจัดการพลังงานในประเทศไทย นำโดย คริส กรีเซน และ ชื่นชม สง่าราศรีกรีเซน ร่วมกับสถาบันโลกเพื่อมนุษยชาติอันยั่งยืน (A World Institute for a Sustainable Humanity, A W.I.S.H.) และกองทุนพระจันทร์สีน้ำเงิน (Blue Moon Fund) จึงจัดโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศให้กลุ่มคนไทยจากหลายภาคส่วนในสังคม โดยเฉพาะคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานซึ่งเพิ่งตั้งไข่ขึ้นมายังไม่ถึงปีในเมืองไทย มีโอกาสศึกษาการทำงานของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานในสหรัฐอเมริกา

ฉันไปด้วยในฐานะองค์กรอนุรักษ์และคนเขียนสื่อธรรมชาติ/สิ่งแวดล้อม แยกเดินทางคนเดียวไปถึงเมืองซีแอตเทิลในมลรัฐวอชิงตันก่อนงานเริ่ม ๑ วัน โดยจับรถเมล์ราคา ๑ ดอล ๕๐ เซ็นต์จากสนามบินไปพักที่โรงแรม “เต่าเขียว” อันมีชื่อในหมู่แบ็กแพ็กเกอร์หนีบลายแทงโลกเหงา เพราะราคาถูกและอยู่ติดกับตลาดขายปลาไพก์เพลซ (Pike Place Market) ดัดจริตคิดไปว่าจะได้ตื่นมาจิบกาแฟซึมซับจิตวิญญาณเมืองซีแอตเทิล

ถ้าใครคลุกคลีวงการสิ่งแวดล้อมหรือการเมืองภาคประชาชนเมื่อเกือบ ๒๐ ปีก่อน จะต้องได้ยินได้ฟังกลุ่ม ดร. อนุชาติ พวงสำลี และอาจารย์ขวัญสรวง อติโพธิ ที่เริ่มผลักดันงานประชาคมเพื่อสร้างเมืองน่าอยู่ เล่าถึงเมืองซีแอตเทิลกันอย่างออกรส เพราะซีแอตเทิลเป็นเมืองแรกๆ ที่กลุ่มประชาคมรวมตัวกันระดมสมองค้นหาหนทางสู่ความยั่งยืนในปี ๑๙๙๑ ก่อนหน้าการประชุม Earth Summit ครั้งแรกในโลกที่ประเทศบราซิลเมื่อปี ๑๙๙๒ จึงนับว่าล้ำหน้าสุดๆ ชาวซีแอตเทิลหลากหลายอาชีพได้ร่วมกันวิเคราะห์จัดทำตัวชี้วัดความยั่งยืนของเมืองจนกลายเป็นต้นแบบให้แก่เมืองอื่นๆ ในภายหลัง

ไม่แค่นั้น ซีแอตเทิลยังเป็นบ้านเกิดของ บิลล์ เกตส์ และ พอล อัลเลน คู่หู กับตำนานไมโครซอฟต์ เป็นแหล่งกำเนิดกาแฟสตาร์บัคส์ที่เปิดสาขาไปทั่วโลก แต่ก็กลับเป็นเวทีประท้วงโลกาภิวัตน์ต่อต้านองค์การการค้าโลก (WTO) และเป็นที่มาของปรัชญาการทำงานอย่างมีพลังสนุกสนานแบบ “ฟิช” ของคนโยนปลาไปขายปลาไปหัวเราะไปในตลาดไพก์เพลซ เป็นที่ที่วงการดนตรีคึกคัก บ้านเกิดมือกีตาร์ระดับพระเจ้า จิมมี่ เฮนดริกซ์ และยังเป็นที่ตั้งของโรงเรียนระบำหน้าท้องที่มีชื่อมากอีกด้วย

ชื่อ “ซีแอตเทิล” เองก็เป็นตำนานบันลือโลก มาจากชื่อของชีฟซีแอตเทิล (Chief Seattle) หัวหน้าอินเดียนแดงเผ่าดูวามิชและเผ่าซูความิช เจ้าของสุนทรพจน์อินเดียนแดงที่ถูกนำมาใช้อ้างอิงกันมากที่สุด เมื่อรัฐบาลผิวขาว “ขอ”ซื้อดินแดนของชาวอินเดียนแดงแถบนี้ในยุคสมัยกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙

“ประธานาธิบดีที่วอชิงตันได้ส่งข่าวมาว่าท่านใคร่ซื้อผืนแผ่นดินของเรา แต่พวกท่านอาจซื้อขายผืนฟ้าได้หรือไร และความอบอุ่นของผืนแผ่นดินนี้เล่า อาจซื้อขายได้ละหรือ สำหรับพวกเราแล้ว ความคิดเช่นนี้ ช่างเป็นความคิดที่ประหลาดนัก ในเมื่อพวกเรามิได้เป็นเจ้าของความสดชื่นในอากาศ ทั้งประกายระยิบระยับของสายน้ำก็ไม่ใช่สมบัติของเรา เช่นนี้แล้ว ท่านจะสามารถซื้อมันได้ด้วยหรือ”

คู่มือท่องโลกเหงาพูดถึงเมืองซีแอตเทิลไว้ว่า

“เป็นเมืองใหญ่สุดในแถบแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งบังเอิญกลั่นกรองสิ่งที่ดีที่สุดทุกอย่างของภูมิภาคนี้ไว้ รู้จักกันในนาม มรกตนคร… เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา เป็นเมืองก้าวหน้า เต็มไปด้วยสวนสาธารณะและโอบล้อมด้วยธรรมชาติงดงาม คนที่นี่ชอบออกไปอยู่กับธรรมชาติและจริงจังกับการปกป้องสิ่งแวดล้อม…”

ที่นี่เป็นถิ่นป่าฝนเขตหนาว สูงใหญ่ เขียวชอุ่ม อลังการด้วยไม้สนยักษ์ชนิดต่างๆ ที่คนเดินป่าทุกคนใฝ่ฝันจะได้สัมผัสสักครั้งในชีวิต มีแนวภูเขาไฟชื่อดังอย่างเซนต์เฮเลนส์และเรนเนียร์ มีทุ่งดอกไม้อัลไพน์ตามเทือกเขาสูงคาสเคด ปกคลุมด้วยหิมะที่ส่งน้ำเชี่ยวไหลเย็นลงมาเลี้ยงหลากหลายชีวิตมหัศจรรย์ รูปหมียืนบนหินริมน้ำรองับปลาแซลมอนกระโดดเข้าปากที่เราเห็นๆ กันตามนิตยสารและปฏิทินก็ถ่ายมาจากดินแดนแถบนี้ หรือจากอะแลสกา เช่นเดียวกับสารคดีวาฬเพชฌฆาตหลายเรื่อง และยังได้อ่านมาว่าเป็นถิ่นที่มีกบแปลกมีจู๋

ถ้านำชิ้นจิ๊กซอว์หลากสีเหล่านี้มาต่อกันก็จะได้ภาพซีแอตเทิลเมืองน่าอยู่ จนอาจเข้าใจไปว่ามันเป็นเมืองสวย สนุก ฮิป มีชีวิตชีวาแบบอัลเทอร์เนถีบ

แต่เสน่ห์ของซีแอตเทิลไม่ได้อยู่ที่กายภาพ เพราะความสวยของเมืองซีแอตเทิลบางส่วนแทบจะเทียบได้กับความงามของกรุงเทพฯ แถวถนนสุขุมวิท มีหอทรงขวดพริกไทยชื่อว่า “Space Needle” หรือ “เข็มอวกาศ” เป็นประติมากรรมอนุสรณ์ของเมือง มรดกจากมหกรรมสู่โลกอนาคต World’s Fair ปี ๑๙๖๒ ซึ่งจัดขึ้นมาเพื่อปั๊มชีวิตเมืองซีแอตเทิลในยุคนั้น กำหนดทิศทางพัฒนาให้เป็นเมืองไฮเทค สมกับศักดาภาพอเมริกายุคท่องอวกาศ เมื่อปี ๑๘๘๙ ฝรั่งเศสเองก็เคยจัดงานเอ็กซ์โปแสดงวิทยาการโมเดิร์นลักษณะนี้ที่ปารีสเพื่อฉลอง ๑๐๐ ปีปฏิวัติฝรั่งเศส และได้สร้างหอไอเฟลขึ้นมาเป็นจุดโฟกัสกลางงาน จนงานเลิกก็ตัดสินใจทิ้งไว้ กลายเป็นสัญลักษณ์เมืองปารีสถึงทุกวันนี้ สื่อถึงความเป็นเลิศในศิลปะควบคู่กับวิศวกรรม แข็งแกร่งและอ่อนช้อยในลีลาเดียวกัน

ทางเมืองซีแอตเทิลก็กะสร้างเจ้า “เข็มอวกาศ” ให้ทำหน้าที่เดียวกันกับหอไอเฟลในปารีส แต่เจ้าแท่งประติมากรรมชิ้นนี้และการออกแบบพื้นที่รอบข้างมันออกจะไร้ความสง่างาม ดูเหมือนจรวดจำลองกลางสวนสนุกเศร้าๆ เชยๆ มีรถไฟลอยฟ้ารางเดี่ยวสายสั้นป้ายเดียวสร้างคู่กับเข็มอวกาศให้คนเดินทางเข้าชมงาน World’s Fair ในครั้งนั้น และแทนที่จะมีระบบรางขนส่งมวลชน กลางเมืองซีแอตเทิลกลับมีทางด่วนลอยฟ้าตัดผ่านเหมือนกรุงเทพฯ เป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการพัฒนาซีแอตเทิลให้เป็นเมืองจักรยานได้จริงๆ อย่างที่เครือข่ายประชาคมที่นี่อยากให้เป็น โครงสร้างคอนกรีตพวกนี้ล้วนแล้วแต่เป็น “ความก้าวหน้า” ที่ปรากฏตัวขึ้นในยุค ๖๐ และต้น ๗๐

เห็นแล้วเพลง “Where do the children play?” ของ แคต สตีเวนส์ ปี ๑๙๗๐ ผุดเข้ามาในหัวทันที เนื้อเพลงเรียกร้องให้ทบทวนการพัฒนาเมืองในอเมริกายุคสมัยนั้นว่า

มันก็ดีอยู่หรอก ที่จะสร้างเรือบินจัมโบ้
หรือขี่รถไฟอวกาศ
เปิดรับฤดูร้อนด้วยตู้สลอตพนัน…
ปูถนนทับหญ้าเขียวสด
ให้รถบรรทุกวิ่งเผาน้ำมัน…
ฉันรู้ว่าเราก้าวมาไกล
เราเปลี่ยนแปลงกันทุกวัน
แต่บอกหน่อยสิว่า
เด็กๆ จะเล่นที่ไหนกัน ?

เพลงนี้เข้าบรรยากาศจริงๆ เพราะบริษัทเรือบินโบอิ้งผู้สร้าง “Jumbo” ก่อตั้งอยู่ในซีแอตเทิลพอดี

แต่ตำแหน่งสุดน่าเกลียดต้องยกให้เขตอุตสาหกรรมปากแม่น้ำดูวามิช ซึ่งแผ่รัศมีมาถึงเขตชุมชนบริเวณหน้าทะเลหลังตลาดไพก์เพลซ เป็นแนวทางด่วนเส้นก๋วยเตี๋ยวลอยฟ้าเชื่อมทิศเหนือ-ใต้ สร้างเสร็จในปี ๑๙๕๓ แม้ปัจจุบันจะมีความพยายามปลูกต้นไม้แซม สร้างพิพิธภัณฑ์ สร้างพื้นที่สาธารณะติดทะเลให้มีชีวิตชีวาขึ้นมาอย่างไร มันก็ยังอิหลักอิเหลื่อคงความน่าเกลียดอยู่ดี

สิ่งที่ทำให้หน้าทะเลซีแอตเทิลดูน่าเกลียดไม่ใช่แค่เพราะธรรมชาติชายฝั่งถูกทำลายไปหมดแล้ว แต่ลักษณะการพัฒนาแต่เดิมมันไม่มีความงามความสุนทรีย์ใดๆ เข้ามาเกี่ยวข้องเลย จะมาสร้างสถาปัตยกรรมแสนวิเศษอะไรแค่ไหนกันตอนนี้ก็ไม่สามารถสยบพลังหยาบกร้านมโหฬารของทางด่วนอลาสกานเวย์ที่ครอบเหนือพื้นที่หน้าน้ำเคลือบคราบน้ำมันและเงาทะมึนของอุตสาหกรรมหนักบริเวณปากน้ำลงได้ ขอให้นึกภาพตีนยักษ์หนังด้านหนาเตอะเหยียบโครมลงบนดอกไม้หอมกลีบบางที่มีเต่าทองแสนสวยเกาะอยู่ อารมณ์มันประมาณนั้น

การพัฒนาอุตสาหกรรมและเมืองซีแอตเทิลในช่วง ๑๐๐ กว่าปีที่ผ่านมาได้ทำลายพื้นที่ชุ่มน้ำธรรมชาติบริเวณปากแม่น้ำดูวามิชหมดไปแล้วถึงร้อยละ ๙๗ ส่วนที่เป็นหนองบึงน้ำกร่อยถูกถมหมดไปตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ น้ำก็สกปรกสุดๆ เต็มไปด้วยสารพิษอย่างปรอท พีซีบี (Polychlorinated biphenyls-PCBs) คราบน้ำมัน เคมีจากการเกษตรและปฏิกูล จนช่วง ๕ ไมล์สุดท้ายของแม่น้ำดูวามิชเข้าข่ายรับทุน “ซูเปอร์ฟันด์” (Superfund Site) จากรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ที่ตั้งไว้สำหรับพื้นที่ปนเปื้อนที่สุดของประเทศ

คิดถึงชีฟซีแอตเทิลอีกแล้ว–“เมื่ออินเดียนแดงคนสุดท้ายหายสาบสูญไปจากผืนป่านี้ ทิ้งไว้เพียงความทรงจำในหลืบเงาเมฆ…ชายฝั่งทะเลและผืนป่านี้จะยังคงอยู่หรือไม่ ? จิตวิญญาณคนของข้าจะคงหลงเหลืออยู่หรือไม่ ? เรารักโลกนี้เฉกเช่นทารกรักเสียงเต้นของหัวใจแม่ ถ้าเราขายผืนแผ่นดินนี้ให้แก่พวกท่าน ขอให้ท่านรักมันเหมือนที่เรารัก ดูแลเหมือนที่เราดูแล จดจำสภาพที่ท่านรับมันไว้ รักษาแผ่นดินนี้ให้แก่ลูกหลาน และรักมันเฉกเช่นที่พระเจ้ารักเรา”

ดินแดนแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือนี้เป็นดินแดนของปลาแซลมอน (Salmon) โดดเด่นถึงขั้นเป็นสัญลักษณ์ระดับภูมิภาค พวกปลาแซลมอนเป็นปลาทะเล แต่อพยพขึ้นแม่น้ำมาวางไข่บริเวณต้นน้ำที่มันเกิดก่อนตาย ทิ้งให้ลูกปลาเดินทางกลับลงไปสู่ทะเลเอง ทั้งอินเดียนแดงในยุคก่อนและสัตว์แถวนี้จึงกินปลาแซลมอนเป็นอาหารหลัก ไม่ว่าจะหมีในป่าหรือวาฬเพชฌฆาตในทะเลละแวกนี้ ร้อยละ ๙๓ ของอาหารที่พวกมันกินเป็นปลาแซลมอนชนิดต่างๆ และพวกมันจะเดินทางตามฝูงปลาแซลมอนอพยพ พูดได้ว่าชีวิตถิ่นนี้จากต้นน้ำถึงทะเลพึ่งปลาแซลมอนเหมือนคนอ่าวไทยตอนในพึ่งข้าวน้ำพริกปลาทู

วงจรชีวิตน้ำจืดสลับน้ำเค็มของแซลมอนหมายความว่าลูกปลาที่เดินทางกลับลงมาจากต้นน้ำจะต้องอาศัยพื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นน้ำกร่อยแถวปากน้ำเพื่อค่อยๆ ปรับตัวกับน้ำเค็มก่อนว่ายออกสู่ทะเล มลพิษกับการทำลายธรรมชาติปากแม่น้ำดูวามิชจึงเป็นปัญหาใหญ่

เมื่อประชาคมเมืองซีแอตเทิลรวมหัวกันหาวิธีประเมินความยั่งยืนของเมือง จึงหนีไม่พ้นที่จะสรุปว่าตัวบ่งชี้ที่แสดงถึงความยั่งยืนและคุณภาพชีวิตในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าสิ่งแวดล้อม สังคม หรือเศรษฐกิจ ได้แก่การฟื้นตัวของประชากรปลาแซลมอนในธรรมชาติ เพราะนอกจากระบบนิเวศและคุณภาพสิ่งแวดล้อมแล้ว มันยังส่อถึงทัศนคติและวิถีชีวิตของคนในสังคมว่าสามารถอยู่ร่วมกับชีวิตอื่นๆ ในพื้นที่นี้ได้หรือไม่

ซีแอตเทิลในวันนี้ยังไปไม่ถึงดวงดาว พวกเขายังคงต้องอาศัยการปล่อยปลาแซลมอนที่เพาะเลี้ยงเองเป็นหลัก และไม่มีวี่แววว่าจะสามารถฟื้นฟูระบบธรรมชาติปากน้ำดูวามิชกลับคืนขึ้นมาได้

แต่ปัญหาของปลาแซลมอนไม่ได้อยู่แค่ปากน้ำ ชีวิตมันยังต้องเจออุปสรรคอีกมากมายตลอดสายน้ำ

ได้แก่เขื่อนและฝายกว่า ๔๐๐ แห่งในแม่น้ำแถบนี้

ไฟฟ้ามากกว่าร้อยละ ๖๐ ในภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือผลิตด้วยพลังน้ำจากเขื่อน พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในลุ่มน้ำโคลัมเบีย กว้างใหญ่ขนาด ๒๕๙,๐๐๐ ตารางไมล์ มีรูปร่างคล้ายผีคลุมผ้าปูที่นอนในการ์ตูนฝรั่ง ต้นน้ำโคลัมเบียสาขาด้านบนไหลจากแคนาดาและมลรัฐมอนแทนา สาขาล่างหรือแม่น้ำงู (Snake River) ไหลจากเขาหิมะสูงในมลรัฐไอดาโฮ มาสบกันเป็นแม่น้ำโคลัมเบียสายหลัก แบ่งเขตมลรัฐวอชิงตันทางซีกฝั่งเหนือและมลรัฐออริกอนทางซีกฝั่งใต้ไปตลอดแนวจนถึงปากน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิก

ด้วยความยาว ๑,๒๔๙ ไมล์ แม่น้ำโคลัมเบียยาวเป็นอันดับ ๑๒ ของแม่น้ำในสหรัฐอเมริกา แต่มีปริมาณน้ำท่ามากเป็นอันดับ ๔ คือ ๒๖๕,๐๐๐ ลูกบาศก์ฟุต สถิติภูมิศาสตร์พื้นฐานแค่นี้ส่งสัญญาณภาพในจินตนาการของคนแต่ละคนได้แตกต่างกัน นักธรรมชาติวิทยาเห็นภาพแม่น้ำยิ่งใหญ่ ลึก กว้าง เต็มไปด้วยน้ำตก แก่งเชี่ยวและวังวนที่หอบอุ้มมวลน้ำพลังมหาศาล ลึกลับ งดงาม น่ายำเกรง และแน่นอนว่าต้องมีภูมิประเทศใต้น้ำสลับซับซ้อน เป็นที่สิงสู่ของพรายน้ำและที่อยู่อาศัยใช้ประโยชน์ของสัตว์มากมายหลากหลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ที่อาศัยตามแก่งน้ำมีลักษณะการปรับตัวพิเศษ ตั้งแต่ระบบเลือดที่ไม่เหมือนปลาอื่น ไปจนถึงรูปร่างและอวัยวะประหลาดๆ ที่ช่วยให้มันอยู่ในน้ำเชี่ยวแรงตามแก่งได้ นี่ยังไม่ต้องพูดถึงสัตว์อพยพไกลๆ ตามสายน้ำอย่างปลาแซลมอน ปลาเทราต์ทะเล (Sea Trout) ปลาชาด (Shad) และปลาดูดเลือดแลมเปร (Lamprey)

แต่สำหรับวิศวกรรุ่นปู่รุ่นพ่อที่ถูกกำหนดบทบาทให้พัฒนาประเทศ เขาก็เห็นแม่น้ำยิ่งใหญ่พลังมหาศาลเช่นกัน เป็นพลังที่ต้องนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคมมนุษย์ ไม่ใช่ทิ้งไว้ “เสียเปล่า” ให้พืชและสัตว์อื่นๆ ในระบบนิเวศ ถ้าการพัฒนาต้องทำลายธรรมชาติและทำให้สัตว์สูญพันธุ์ไปบ้าง ก็เป็นการสูญเสียที่จำเป็นต้องแลก (ส่วนพรายน้ำ จิตวิญญาณ ความศักดิ์สิทธิ์อะไรพวกนั้นไม่ต้องพูดถึงได้ไหม หน่อมแน้มน่ารำคาญ)

มุมมองที่แตกต่างกันสร้างความขัดแย้งที่กลายเป็นการประสานงาสองขั้ว ความคิดต่างขั้วประเภทนี้กลายเป็นเอกลักษณ์ของศตวรรษที่ ๒๐

ที่ผ่านมาความคิดแบบวิศวกรรมเหนือระบบนิเวศเป็นความคิดกระแสหลัก เพราะพื้นที่และทรัพยากรธรรมชาติในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษยังคงมีอยู่มากมาย พลังน้ำมหาศาลของแม่น้ำโคลัมเบียและน้ำสาขาจึงถูกเก็บเกี่ยวมาผันเป็นกระแสไฟฟ้าในรูปแบบของเขื่อนกั้นแม่น้ำเขื่อนแล้วเขื่อนเล่าตลอดศตวรรษที่ ๒๐ ซึ่งรวมถึงเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำแกรนด์คูลี (Grand Coulee) ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา ขนาด ๖,๘๐๐ เมกะวัตต์ จนแม่น้ำโคลัมเบียและสาขากลายเป็นระบบแม่น้ำที่มีเขื่อนผลิตไฟฟ้ามากที่สุดในโลก ผลิตไฟได้ถึง ๒๑ ล้านกิโลวัตต์ (๒๑,๐๐๐ เมกะวัตต์) ส่วนใหญ่เป็นผลพวงจากการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมหนักในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะในช่วงสงครามและหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒

อย่างไรก็ตาม ยุคสร้างเขื่อนยักษ์จริงๆ แล้วเกิดในทศวรรษ ๑๙๓๐ ช่วงเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ (Great Depression) ก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการก่อสร้าง ให้มีการลงทุน ให้มีอุตสาหกรรม ให้คนมีงานทำ และก่อนยุคเขื่อนยักษ์เองก็มีการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาดย่อมและฝายกั้นแม่น้ำจำนวนไม่น้อย ฝายพวกนี้สร้างโดยกลุ่มคนทำไม้ที่เข้ามาประกอบการตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ ๑๙

แต่แค่การสร้างฝายกั้นแม่น้ำในยุคแรกๆ ก็ส่งผลกระทบชัดเจนต่อวงจรชีวิตปลาแซลมอนแล้ว เพราะพวกมันเดินทางขึ้นแม่น้ำไม่ได้ มีบันทึกของนายดี.แอล. แมคโดนัลด์ ฝรั่งกลุ่มนักบุกเบิกที่เข้ามาอาศัยทำไร่ผสมผสานกับการหาของป่าแบบครอบครัวของ ลอรา อิงกัลส์ ในหนังสือชุดอมตะ “บ้านเล็กในป่าใหญ่” เล่าถึงการสูญเสียปลาเป็นระยะๆ ตั้งแต่ฝายเล็กฝายน้อยถึงเขื่อนร็อกไอส์แลนด์ (Rock Island) ในน้ำสาขา พอถึงคราวสร้างเขื่อนแกรนด์คูลีในน้ำสายหลัก เขาก็รายงานว่า

“…มันเป็นวันแสนเศร้าสำหรับพวกนักบุกเบิก ผู้พึ่งพาปลาแซลมอนเป็นอาหารหลักอย่างหนึ่ง แต่สำหรับพวกอินเดียนแดง มันถึงขั้นหายนะเลยทีเดียว”

หากปลาแซลมอนเป็นเพียงอาหารพิเศษของอินเดียนแดง คงไม่มีใครแยแสมากไปกว่ากบมีจู๋เท่าไรนัก แต่บังเอิญมันเป็นสัตว์แสนอร่อยที่มีจำนวนมหาศาล มันจึงเป็นปลาเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดในแถบนี้ สนองอุตสาหกรรมปลากระป๋องใหญ่โตมาตั้งแต่ ๑๐๐ กว่าปีก่อน

การสร้างเขื่อนในดินแดนแถบนี้จึงตระหนักต่อปัญหาปลาอพยพมาตั้งแต่ต้น มีการทำสถานเพาะพันธุ์ปลาแซลมอนควบคู่กับเขื่อนและฝายมาตั้งแต่ปี ๑๘๗๗ และมีการระเบิดเขื่อนทิ้งเพราะการประมงล่มสลายในปี ๑๙๑๔ ด้วย ฉะนั้นพอถึงยุคสร้างเขื่อนยักษ์ในทศวรรษ ๑๙๓๐ ก็มีความพยายามออกแบบเขื่อนให้เป็นมิตรกับแซลมอนมากขึ้น ด้วยการติดตั้งบันไดปลาโจน พร้อมระบบเฝ้านับจำนวนประชากรปลาแซลมอนสายพันธุ์ต่างๆ รวมถึงปลาอพยพอื่นบางชนิด เก็บเป็นสถิติทุกปีมาจวบจนทุกวันนี้

เราจึงรู้ว่าพอถึงกลางศตวรรษ ประชากรปลาแซลมอนที่เคยมีอยู่ ๑๖-๑๘ ล้านตัวในแม่น้ำโคลัมเบีย ลดลงเหลือเพียงไม่กี่แสนตัว

แม้จะจัดการติดตั้งบันไดปลาโจนจนครบทุกเขื่อนในลุ่มน้ำ พร้อมสถานเพาะพันธุ์ปลา แต่ก็มีซูเปอร์ปลาจำนวนเพียงน้อยนิดที่สามารถว่ายกระโจนขึ้นบันไดแล้วบันไดเล่าไปถึงที่วางไข่ได้สำเร็จ แค่นั้นไม่พอ เมื่อลูกปลาฟักออกจากไข่ ว่ายน้ำกลับสู่ทะเล พวกมันก็ต้องผ่านกังหันน้ำมากมายหลายตัว ส่วนใหญ่ไม่รอด จบชีวิตเป็นปลาป่น ต่อมามีการออกแบบกังหันใหม่ ป่นปลาน้อยลง แต่ก็ยังแก้ปัญหาได้ไม่เพียงพอ

จึงต้องจัดบริการเสริม จับปลาใส่รถบรรทุกขนขึ้นลงแม่น้ำเอาดื้อๆ ซึ่งก็ได้ผลเหมือนกัน เพราะถึงวันนี้ประชากรปลาแซลมอนเพิ่มขึ้นมาได้เป็นกว่า ๑ ล้านตัว

แต่ร้อยละ ๘๐ เป็นปลาเพาะเลี้ยง มีพันธุกรรมแตกต่างจากปลาธรรมชาติ และอ่อนแอขี้โรคกว่า ต่างกันประหนึ่งเสือโคร่งกับแมวเหมียว แถมวิถีชีวิตปลาคุณหนู มีคนเทียวขับรถพารับส่งขึ้นเขาลงเขา ทำให้แซลมอนจำนวนมากไม่ได้รับการศึกษาเรียนรู้แบบที่ปลาแซลมอนควรจะได้รับอย่างเพียงพอ ตอนเป็นเด็กไม่ได้รับการปลูกฝังแผนที่ว่ายกลับบ้านในบั้นปลายชีวิต ไม่ได้ผ่านกระบวนการคัดเลือกทางธรรมชาติตามวิถีพฤติกรรมปลาแซลมอน ปลาว่ายน้ำไม่เก่ง กระโดดไม่เป็น ไม่มีสัมผัสจับทิศทางดีพอ คงอยู่รอดออกลูกออกหลานแทนตัวว่ายเก่งๆ หนีการถูกจับขึ้นรถบรรทุกไปได้ แต่ดันไปโดนกังหันป่นตายก่อนถ่ายทอดพันธุกรรมสู่รุ่นต่อไป การแทรกแซงของมนุษย์นับเป็นการบั่นทอนกระบวนการวิวัฒนาการของแซลมอนในระยะยาว ปลาแซลมอนสายพันธุ์อนาคตจะปรับตัวดำรงชีวิตเองในธรรมชาติไม่ได้

นักอนุรักษ์จึงมองว่ามาตรการฟื้นฟูประชากรปลาแซลมอนในปัจจุบันไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืน

นอกจากกีดกั้นการเดินทางของปลาแล้ว เขื่อนในลุ่มน้ำโคลัมเบียยังกักตะกอนร้อยละ ๙๐ หรือทราย ๒๒๗ ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อปี (๑๘.๒ ล้านตัน) ไม่ให้ไหลลงถึงชายฝั่ง หน้าหาดชายทะเลจึงถูกคลื่นมหาสมุทรแปซิฟิกกัดเซาะหายไปเรื่อยๆ เป็นปัญหาใหญ่ในวันนี้

รายงานพวกนี้ถ้าอ่านก่อนนอนเวลาง่วงๆ อาจเผลอไผลคิดว่ากำลังพูดถึงเมืองไทย เพราะไม่ค่อยต่างกันเท่าไร กรณีวัดขุนสมุทรจีนที่สมุทรปราการจมน้ำทะเลถูกสื่อหยิบยกมาเป็นสัญลักษณ์ตัวอย่างระดับน้ำทะเลสูงขึ้นจากปัญหาโลกร้อน แต่แท้จริงแล้วทีมนักธรณีวิทยาจากจุฬาฯ วิจัยออกมาชัดเจนว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากหลายปัจจัย และปัจจัยใหญ่ที่สุดได้แก่การดักตะกอนเดือนละ ๑๘.๗ ล้านตันโดยเขื่อนใหญ่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตลอด ๓๐ กว่าปีที่ผ่านมา คิดเป็นสัดส่วนได้ร้อยละ ๗๕ ของปริมาณตะกอนที่ควรเดินทางมาถึงปากน้ำ ตามธรรมชาติ พื้นที่ชายฝั่งเป็นสนามรบระหว่างแผ่นดินกับทะเลอยู่แล้ว ยิ่งแผ่นดินโคลนตะกอนปากน้ำอย่างบางกอกยิ่งไม่ต้องพูดถึง มากักตะกอนถอนกำลังรบแผ่นดินกันอย่างนี้จะเหลืออะไร

ก็ต้องแพ้ทะเลลูกเดียว

ชีฟซีแอตเทิลเคยเตือนไว้–“ผิวน้ำที่ส่องประกายซึ่งเคลื่อนไหวแผ่วเบาอยู่ในลำธารและในแม่น้ำ มันมิได้เป็นเพียงน้ำเท่านั้น หากแต่เป็นสายเลือดของบรรพบุรุษ…แม่น้ำคือพี่ชายของเรา มันช่วยดับกระหาย แม่น้ำช่วยหนุนส่งเรือแคนู และให้ลูกหลานได้ดื่มกิน…ท่านจะต้องให้ความเคารพและเมตตาแก่แม่น้ำเหมือนดังที่ท่านให้แก่พี่ชายของตน”

การทำไม้ อุตสาหกรรมหนัก และสลัมเขื่อน สร้างแผลเหวอะหวะให้แก่ดินแดนแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ จนเกิดกระแสคัดค้าน ผลักดันให้มีกฎหมายอนุรักษ์และกฎระเบียบสิ่งแวดล้อมต่างๆ ออกมาไม่น้อย แต่เมื่อนั่งไล่ประวัติศาสตร์ประชาคมกับสิ่งแวดล้อมที่มหาวิทยาลัยมลรัฐวอชิงตันเรียบเรียงขึ้นมา กลับพบว่าแผลแค่นี้ยังเหวอะไม่พอ เรื่องเน่าที่เป็นฟางเส้นสุดท้าย ปลุกประชาชนให้ลุกขึ้นแย่งบังเหียนชีวิตตัวเองคืนมาจนได้ชื่อว่าเป็นประชาคมที่เข้มแข็งที่สุด คือปัญหาพลังงานนิวเคลียร์

ที่นี่ โดยเฉพาะมลรัฐวอชิงตัน เป็นถิ่นฐานนิวเคลียร์มาแต่ดั้งเดิม ประมาณว่าถ้านึกถึงกล้วยแขกเจ้าเก่าต้องเป็นกล้วยแขกแยกตะเกียงฉันใด นึกถึงนิวเคลียร์เจ้าเก่าก็ต้องเป็นนิวเคลียร์แฮนฟอร์ดฉันนั้น

แต่เดิม แฮนฟอร์ด (Hanford) เป็นชื่อเมืองเล็กๆ ไม่กี่หลังคาเรือนในพื้นที่แล้งอับฝนหลังเทือกเขาคาสเคดทางฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของมลรัฐวอชิงตัน ตั้งอยู่บริเวณสบน้ำสาขาโคลัมเบีย สเนก และยากิมา ช่วงที่เข้ามารวมตัวเป็นน้ำโคลัมเบียสายหลัก มีทุ่งไม้พุ่มเตี้ยกึ่งทะเลทราย (shrub-steppe) ขึ้นสุดลูกหูลูกตา ออกดอกเล็กๆ สีขาว เหลือง ชมพู ม่วง กลางสายลม ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร จนวันหนึ่งแฮนฟอร์ดถูกรัฐบาลกลางแอบกำหนดเงียบๆ ให้เป็นเขตสงวนนิวเคลียร์รองรับโครงการแมนฮัตตัน (Manhattan Project) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลอเมริกา อังกฤษ และแคนาดา เพื่อพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เป็นครั้งแรกในโลกในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ อยู่ๆ พลเมือง ๑,๕๐๐ คนก็ถูกโยกย้ายในปี ๑๙๔๒ และมีปฏิบัติการลับสุดยอดเข้ามาแทนที่ มารู้ว่าเป็นปฏิบัติการอะไรก็เมื่อสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดปรมาณูลงถล่มฮิโรชิมาและนางาซากิในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ เป็นอันสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒

ปฏิบัติการที่แฮนฟอร์ดในช่วง ๒๕-๓๐ ปีแรกเน้นการผลิตพลูโทเนียมเพื่อทำอาวุธนิวเคลียร์เป็นหลัก ยุคนั้นเป็นยุคสงครามเย็นระหว่างทุนนิยมเสรีกับสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ เป็นยุคที่โลกแบ่งออกเป็นสองสีสองขั้ว ดำรงอยู่ได้ด้วยโปรแกรมโฆษณาชวนเชื่อ ไม่ให้ผู้คนในเขตตนแตกแขนงแยกฝ่ายออกไป

ฉะนั้น เสียงตั้งคำถามที่ดังจ้อกแจ้กขึ้นมาโดยธรรมชาติ ถึงความเหมาะสมของการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์หลังฮิโรชิมา จึงถูกสยบอย่างรวดเร็ว สิ่งที่เข้ามาแทนที่กลายเป็นความภาคภูมิใจในบทบาทสหรัฐอเมริกาบนเวทีโลก ยิ่งสำหรับชาวมลรัฐวอชิงตันด้วยแล้ว–คิดดูดิ มีส่วนในชัยชนะสงครามมากขนาดไหน

ไม่ใช่แค่ผลิตระเบิดที่หยุดสงครามนะ ไอ้นั่นมันไม้ผลัดตีนสุดท้ายสู่เส้นชัย แต่เขื่อนยักษ์ในน้ำโคลัมเบียของเรา โอ้มายก้อด ! สร้างเสร็จช่วงที่สหรัฐฯ เข้าร่วมสงครามเลย ทั้งเขื่อนแกรนด์คูลี เขื่อนบอนนีวิลล์ นี่มันวิสัยทัศน์กว้างไกลเยี่ยมยอดจริงๆ เพราะไฟฟ้าจากพลังน้ำของเราเป็นตัวหล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมสำคัญๆ จนเราชนะสงครามได้ ไหนจะถลุงโลหะ ไหนจะสร้างเรือบินรบ โอ้ ภูมิใจจริงๆ มายก้อด แต่ตอนนี้เผลอไม่ได้ ต้องพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ฯลฯ ให้ล้ำหน้าโซเวียตเข้าไว้ คานอำนาจมันไว้ เพราะเรา-กัปตันแฟลช กอร์ดอน-ต้องเป็นฝ่ายธรรมดูแลโลก

เบื้องหลังกระแสความภาคภูมิใจมีเสียงเพลง “Roll on, Columbia, Roll on” ดังติดปากประชาชนจนกลายเป็นเพลงประจำมลรัฐวอชิงตัน แต่งโดยนักร้องเพื่อชีวิตชาวมะกัน วูดดี้ กูทรี ที่รัฐบาลกลางจ้างให้ประชาสัมพันธ์เขื่อนในช่วงสงคราม เนื้อเพลงบรรยายถึงการแปรความมืดสู่รุ่งอรุณแห่งแสงสว่างด้วยพลังน้ำโคลัมเบีย

จากยุคมืดเศรษฐกิจถดถอย ๑๙๓๐ สู่ช่วงโชติชัชวาลแห่งโลกวิทยาการโมเดิร์นหลังสงครามโลก มีระบบสายส่งไฟฟ้าจากเครือข่ายเขื่อนเชื่อมโยงทั้งภูมิภาคให้เป็นหนึ่งเดียว พอรัฐบาลกลางโหมประชาสัมพันธ์พลังงานนิวเคลียร์กับคุณประโยชน์อนันต์นานัปการแก่อนาคตมนุษยชาติหลังสงคราม ก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมืองใหม่ ๓ เมืองใกล้เขตสงวนนิวเคลียร์แฮนฟอร์ดอย่างเมืองริชแลนด์ พลเมืองภูมิใจบทบาทโอทอปปรมาณูคานดุลอำนาจสงครามเย็นกันมาก มีสัญลักษณ์นิวเคลียร์ปรากฏอยู่ทั่วเมือง รวมทั้งชื่อสถานที่ต่างๆ ว่ากันว่าคุณสามารถนอนที่ตรอกโปรตอน (Proton Lane) โยนโบว์ลิงที่อะตอมมิกโบวล์ (Atomic Bowl) และกินอาหารร้านฟิสชันชิปส์(Fission Chips) ที่ถนนไอน์สไตน์ (Einstein Avenue) ถึงช่วงฤดูร้อนก็มีเทศกาลหรรษา “วันแนวหน้าปรมาณู” เหมือนบ้านเรายุคนั้นมีงานกาชาดสวนอัมพร

ทางเมืองซีแอตเทิลก็ไม่น้อยหน้า สร้างทางด่วนผ่าเมืองหลายสาย บริษัทโบอิ้งเริ่มผลิตเครื่องบินโดยสารระบบเจ๊ตลำแรก จนซีแอตเทิลได้ชื่อว่า “เมืองไอพ่น” (Jet City) และด้วยไฟฟ้ามากมายจากพลังน้ำ พลเมืองภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือก็กลายเป็นคนน่าอิจฉา จ่ายค่าไฟฟ้าราคาถูกที่สุดในประเทศ

ฉะนั้น เมื่อการไฟฟ้ารายใหญ่ได้แก่ WPPSS (Washington Public Power Supply System) คาดการณ์ในปี ๑๙๗๒ ว่าความต้องการไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ ๖ ต่อปี และประเมินว่าต้องสร้างโรงไฟฟ้าปีละ ๑-๒ โรงในช่วงเวลา ๒๐ ปีข้างหน้า กระแสต่อต้านจึงไม่รุนแรงมาก กลุ่มอนุรักษ์ในช่วงนั้นมาจากสายนักนิยมธรรมชาติเป็นหลัก คัดค้านการตัดไม้ทำลายป่า การสร้างเขื่อนท่วมพื้นที่ธรรมชาติและทำลายวงจรชีวิตปลาอพยพ รณรงค์อนุรักษ์สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ และเริ่มมีการต่อต้านการตัดถนน การใช้สารเคมีในการเกษตร ฮิปปี้หลายกลุ่มเริ่มรวมตัวกันก่อตั้งชุมชนชีวิตทางเลือก ชุมชนพึ่งตนเอง ทำเกษตรอินทรีย์หรือเกษตรธรรมชาติแนวต่างๆ

คนพวกนี้เป็นแอ็กทิวิสต์หรือนักกิจกรรมสังคมตัวเล็กตัวน้อยในยุคบุปผาชน ที่เริ่มตั้งคำถามกับนโยบายรัฐและแสวงหาทางเลือกต่างๆ กันไป แต่จุดร่วมที่ดึงมวลชนเข้ามาเคลื่อนไหวต่อต้านนโยบายรัฐบาลจนเป็นปรากฏการณ์ประวัติศาสตร์ ได้แก่ขบวนการต่อต้านสงครามเวียดนามตั้งแต่ยุคกลาง ๖๐ ถึงกลาง ๗๐

บทเรียนเกือบ ๑๐ ปีจากการเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพได้สร้างนักเคลื่อนไหวในสังคมขึ้นมาจำนวนไม่น้อย เมื่อไซ่ง่อนแตก และสงครามเวียดนามสิ้นสุดลงในปี ๑๙๗๕ พวกแอ็กทิวิสต์ก็เริ่มว่างและหันมาจับงานเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม

เหมือนพระเจ้าเขียนบทละคร-มันเป็นช่วงวิกฤตการเมืองน้ำมันโลกพอดิบพอดี กลุ่มประเทศน้ำมันในตะวันออกกลางรวมตัวกันขึ้นราคาน้ำมัน สหรัฐอเมริกาจึงต้องแสวงหาความมั่นคงทางพลังงานเพิ่มเติม มีการวางแผนสร้างโรงผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่หลายโครงการในมลรัฐวอชิงตัน รวมถึงโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งมีทั้งโครงการของเอกชนและของสาธารณะ มีโปรแกรมดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำสำหรับการลงทุนนิวเคลียร์เพื่อสร้างแรงจูงใจ สรุปแล้วมีแผนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมด ๙ โรง โดย ๕ โรงเป็นโครงการของ WPPSS

แต่ท้ายที่สุดกลับสร้างเสร็จและใช้ผลิตไฟฟ้าจริงเพียงโรงเดียว

หลายโรงต้องยกเลิกโครงการครึ่งทาง บางโรงลงทุนทำแผนไปแล้ว ๔๔๐ ล้านดอลลาร์แต่ไม่ได้สร้าง อีกโรงของการไฟฟ้าเมืองพอร์ตแลนด์ PGE (Portland General Electric) สร้างเสร็จแล้วแต่เกิดความผิดพลาด ต้องรื้อทิ้งเพราะดันไปสร้างบนรอยแยกเปลือกโลก โรงนี้มีชื่อไม่ค่อยเป็นมงคลนักว่า โทรจัน (Trojan) เด็กฝรั่งทุกคนที่ต้องเรียนเรื่องสงครามเมืองทรอยในยุคกรีกโบราณทราบดีว่าชื่อนี้ไว้ใจไม่ได้ เพราะนอกจากใช้เรียกชื่อสงครามแล้ว โทรจันยังเป็นชื่อเรียกม้าไม้ขนาดยักษ์ที่ทหารกรีกใช้ซ่อนตัวอยู่ ชาวเมืองทรอยไม่รู้ คิดว่าศัตรูหนีศึกไปหมดแล้วจึงลากหุ่นม้าเข้ามาในเมือง ตกกลางคืนทหารกรีกก็ออกมาถล่มเมืองทรอยจนย่อยยับไป

อนุสรณ์สถานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Satsop ซึ่งสร้างไม่เสร็จ ปัจจุบันพัฒนาไปเป็นอุทยานอุตสาหกรรม

อีกโรงของ WPPSS เองสร้างจนเกือบเสร็จ แต่ต้องยกเลิก โรงนี้ชื่อว่า Satsop จะอ่านว่าซัดซบให้ฟังดูไทยๆ หรือให้ฟังเป็นฝรั่งว่าแซดซอบ–เศร้าสะอื้น ยังไงก็ไม่รื่นหูพอๆ กับชื่อโทรจัน

ปัจจุบันซัดซบถูกปรับมาใช้ประโยชน์เป็นอุทยานอุตสาหกรรม เพราะมีระบบหนุนอย่างดี เช่น ระบบเคเบิลใยแก้ว อาคารและสาธารณูปโภคต่างๆ แถมกลางหอหล่อเย็นที่ยังสร้างไม่เสร็จยังมีการเอาเสาไฟฟ้าไปตั้ง ใช้เป็นที่ฝึกช่างไฟได้หัดปีนขึ้นเสาแล้วก็เข้าพิธีรับประกาศนียบัตรกันตรงนั้นเลย

มันเกิดอะไรขึ้น ?

จิม ลาซาร์ นักเศรษฐศาสตร์อิสระ เล่าให้คณะเราฟังถึงกรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของ WPPSS ซึ่งเริ่มสร้างในช่วงกลางทศวรรษ ๑๙๗๐ ว่าเดิมทั้ง ๕ โครงการตั้งงบไว้ ๔ พันล้านดอลลาร์ แต่พอถึงเวลาเซ็นสัญญาก็บานปลายเป็น ๘ พันล้านดอล และเอาเข้าจริง สร้างไปสร้างมาหมด เงินไปถึง ๒๔ พันล้านดอล แต่ก็สร้างเสร็จไปเพียงร้อยละ๗๕ และถ้าจะสร้างต่อให้เสร็จก็ต้องการเงินเพิ่มอีกกว่าเท่าตัวของที่ลงทุนไปแล้ว ถึงจุดนี้ก็ระดมทุนไม่ขึ้นอีกต่อไป โครงการจึงเป็นอันต้องล้มพับ

สาเหตุที่งบบานมาจากหลายปัจจัย ประการแรกเจอช่วงภาวะเงินเฟ้อ ประการสองเกิดความผิดพลาดในการบริหารจัดการโครงการ เช่นใช้แบบต่างกันถึง ๓ แบบแทนที่จะใช้แบบเดียวสำหรับทุกโรง และแทนที่จะใช้ผู้รับเหมาหลักรายเดียวกลับจ้างหลายเจ้าและไม่ประสานงานกัน หลายส่วนเป็นการทำงานไม่รอบคอบ มีการอ่านแบบกลับหน้าเป็นหลัง สร้างไปแล้วต้องรื้อทำใหม่ หรือในกรณีโรงไฟฟ้าซัดซบเลือกที่ตั้งไม่เหมาะสมแต่แรก ไม่พิจารณาภูมิประเทศและธรณีสัณฐานให้ดี แค่เริ่มเคลียร์พื้นที่ป่า โดนฝนหนักชะทีเดียว ฐานที่เตรียมไว้ก็ไหลพังลงมาหมด สูญเสียทีเดียวหลายล้านดอล และต้องใช้เวลาฟื้นพื้นที่ ๑ ปี โดยไประเบิดหินภูเขาจากที่อื่นมาอุด

แต่ถึงแม้จะมีการจัดการที่ดี จิม ลาซาร์ ก็สรุปว่า ปัญหางบบานปลายเป็นเรื่องปรกติของการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ พบเกิดขึ้นในกรณีอื่นๆ ทั่วไป

ทุนมหาศาลที่ลงไปกับการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และการลงทุนโรงไฟฟ้าอื่นๆ ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่ายขึ้นไปถึงร้อยละ ๓๐ พอค่าไฟแพงขึ้น คนก็ใช้ไฟน้อยลง ความต้องการที่ WPPSS คาดว่าจะสูงขึ้นปีละ ๖ เปอร์เซ็นต์กลับลดลง แต่คนกลับต้องมาแบกภาระการลงทุนล่วงหน้า ๘-๑๐ ปี แถมโครงการล้มเหลวก็เกิดการฟ้องร้องให้จ่ายค่าไฟคืน ช่วงที่เราไปดูงาน บังเอิญตรงกับการตัดสินของศาลออริกอนให้ PGE ชดใช้ค่าไฟย้อนหลังจากกรณีลงทุนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โทรจันเป็นเงิน ๓๓.๑ ล้านดอลลาร์

สำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของ WPPSS มีอยู่ ๒ โรงใน ๕ โรงที่ระดมทุนโดยออกพันธบัตรให้ประชาชนซื้อ เป็นการร่วมลงทุนแต่ไม่รับประกันความเสี่ยง พอโครงการยกเลิก นอกจากผู้จ่ายค่าไฟทั่วไปจะฟ้องให้คืนค่าไฟที่ไปเก็บเขาเกินล่วงหน้าก่อนการผลิตไฟให้ใช้ได้จริงแล้ว คนซื้อพันธบัตรยังฟ้องด้วยอีกกระทงหนึ่งข้อหาฉ้อฉลหลอกลวง ท้ายสุดศาลตัดสินให้ชดใช้ผู้บริโภค ๗๐๐ ล้านดอล ชดใช้ผู้รับเหมา ๓๐๐ ล้านดอล ส่วนผู้ลงทุนซึ่งรวมผู้ถือพันธบัตรและทุนเกษียณต้องสูญเสียไป ๑,๒๐๐ ล้านดอล

ชื่อย่อ WPPSS เลยถูกเอามาอ่านออกเสียงล้อเลียนกันว่า “วุปส์ !” (whoops!) หรือ “อุ๊ยตาย (ฉิบหาย) แล้ว !” ในสำนวนฝรั่ง

ระหว่างที่เกิดแผนพัฒนาพลังงานและการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เหล่านี้ การเมืองภาคประชาชนก็พัฒนาขึ้นมาด้วย ส่วนหนึ่งเพราะกลุ่มเคลื่อนไหวมีประสบการณ์การเมืองจากการต่อต้านสงครามเวียดนามอย่างที่เล่าไว้แล้ว แต่ส่วนหนึ่งก็เพราะสังคมต้องเจอกับสารพัดปัญหาที่พัวพันกับนโยบายพลังงาน ไม่ว่าจะปัญหาค่าไฟที่สูงขึ้นอย่างไม่เป็นธรรม ปัญหาการลงทุนโดยไม่จำเป็นที่เกิดจากการคาดการณ์ความต้องการไฟฟ้าสูงเกินจริง ปัญหาการไม่ไว้ใจโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุเตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้าทรีไมล์ (Three Mile) ในมลรัฐเพนซิลเวเนียละลายหลังสร้างเสร็จได้เพียง ๓ เดือน ปัญหาการทำงานไร้ประสิทธิภาพจนพูดได้ว่าชุ่ยของวุปส์ ต่างๆ นานาเหล่านี้ทำให้เกิดกฎหมายใหม่ๆ ขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ ๑๙๘๐

เริ่มด้วย Pacific Northwest Electric Power Planning and Conservation Act ว่าด้วยการวางแผนพลังงานของภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือ มีการจัดตั้งสภาพลังงานภูมิภาค (Northwest Power and Conservation Council) ขึ้นมีหน้าที่กำกับดูแลตรวจสอบแผนพลังงาน โดยกำหนดไว้ว่าในการจัดสรรพลังงาน แผนพลังงานจะต้องพิจารณาการอนุรักษ์และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการพลังงานให้เต็มที่ก่อนเป็นอันดับแรก ตามด้วยพิจารณาลงทุนพลังงานหมุนเวียนเมื่อพบว่ามีความต้องการพลังงานเพิ่มเติม ส่วนการลงทุนโรงไฟฟ้าอื่นๆ ให้ถือเป็นทางเลือกสุดท้าย ทำเมื่อจำเป็นจริงๆ

แต่แล้วกลับรู้สึกกันว่า คณะกรรมการฯ แสดงอาการโอนเอียงไปทางผู้ประกอบการนิวเคลียร์มากกว่าจะสนองนโยบายสาธารณะตามข้อกำหนดของกฎหมายที่ตั้งไว้ ปีถัดไปองค์กรภาคประชาชนหลายองค์กรจึงรวมตัวกันสร้างเครือข่าย “แนวร่วมพลังงานภาคตะวันตกเฉียงเหนือ” (Northwest Energy Coalition) ขึ้นมา และได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการฯ ไมเคิล คาร์ป ผู้อำนวยการสถาบันโลกเพื่อมนุษยชาติอันยั่งยืนที่เป็นองค์กรร่วมจัดการดูงานครั้งนี้ ก็เป็นตัวแทนคนหนึ่งในครั้งนั้น

ตามติดๆ ด้วยการลงประชามติ “วาระพลเมือง” (Citizen Initiatives) ที่กลุ่มประชาคมผลักดันขึ้นมา ระบุให้การลงทุนของรัฐทุกโครงการต้องผ่านการเห็นชอบจากประชาชน

ด้วยพัฒนาการทีละก้าวเป็นเวลาร่วม ๒๐ กว่าปี ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ จนมีสมาชิก “แนวร่วมพลังงานภาคตะวันตกเฉียงเหนือ” มากกว่า ๑๐๐ องค์กร รวมทุกภาคส่วนของประชาคม ทั้งองค์กรสาธารณูปโภคการไฟฟ้าหัวก้าวหน้ากลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติ กลุ่มสิทธิมนุษยชน กลุ่มตกปลา กลุ่มผู้มีรายได้ต่ำ กลุ่มแรงงาน ฯลฯ ร่วมกันเพิ่มมิติรายละเอียดส่วนนั้นส่วนนี้จากประสบการณ์ประเภททำไปเรียนรู้ไป ในวันนี้มลรัฐวอชิงตันและมลรัฐออริกอนมีกระบวนการวางแผนพลังงานที่เป็นระบบโปร่งใสมากกว่าเดิมหลายเท่าตัว

ทุก ๒ ปี การไฟฟ้าในแต่ละเขตไม่ว่ารัฐหรือเอกชน จะต้องเสนอแผนงานต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เป็นแผนที่มีชื่อน่าอ้าปากหาวมากๆ ว่า “แผนจัดการทรัพยากรอย่างบูรณาการ” (Integrated Resource Planning) ก็เป็นเรื่องน่ากลุ้มใจว่า เรื่องอะไรๆ ที่สำคัญมักต้องมีชื่อน่าเบื่อ

คือถ้าใช้ชื่อง่ายๆ ว่า “แผนพลังงาน” เฉยๆ คนก็จะคิดว่าเป็นเรื่องของการสรรหาพลังงานจากแหล่งต่างๆ มาสนองความต้องการของผู้บริโภค แทนที่จะคิดถึงการอนุรักษ์พลังงานเป็นอันดับแรก

การมองเห็นสรรพสิ่งรอบตัวเป็นทรัพยากรทำให้เราเปลี่ยนวิธีคิดบัญชี

ฝรั่งมีสำนวนว่า “๑ สตางค์ที่ออมได้ คือ ๑ สตางค์ที่หาได้” แปลเงินทองให้เป็นของจริงก็คือ “๑ กิโลวัตต์ที่ออมได้ คือ ๑ กิโลวัตต์ที่ผลิตได้” ฉะนั้น ไม่ว่าจะประหยัดพลังงานด้วยการออกแบบอาคารประหยัดพลังงาน ผสมผสานกับการใช้อุปกรณ์กินไฟน้อยและการปรับพฤติกรรมการใช้ไฟ ฯลฯ ทั้งหมดนี้ต้องถือว่าเป็นทุน เป็นทรัพยากรที่มีอยู่ ซึ่งควรใส่ไว้ในช่องรายได้ในบัญชี

ในเมืองไทย ผู้บริหารโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ตใช้แนวคิดนี้บริหารองค์กรอย่างชาญฉลาด โดยเอาเงินที่ประหยัดค่าไฟได้ร้อยละ ๗ ในองค์กร ซึ่งรวมแล้วคิดเป็นเงินถึง ๒๐ ล้านบาท มาแบ่งเป็นโบนัสและขึ้นเงินเดือนแก่พนักงาน ๑๐๐ กว่าคนที่ได้ช่วยกันประหยัดพลังงานเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่ทั่วโลกกำลังตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย

เมื่อประหยัดได้เยอะก็ไม่จำเป็นต้องผลิตเพิ่มมากนักให้สิ้นเปลืองทรัพยากรธรรมชาติ และถ้าเรามองทุกอย่างเป็นทรัพยากรด้วยกันหมด เวลาที่จำเป็นต้องผลิตไฟเพิ่ม เราก็จะพยายามเลือกใช้แหล่งพลังงานที่ไม่เพียงแต่ผลิตไฟได้ราคาถูก แต่ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนและสิ่งแวดล้อมไม่มากนัก พูดแบบเศรษฐศาสตร์คือ มีราคาค่าเสียหายเยียวยาไม่สูงเกินไป และถ้าให้ดีก็ต้องลงทุนไม่สูงเกินไปด้วย

แน่นอนว่าการปฏิบัติจริงมันไม่ง่าย ต้องอาศัยศาสตร์ ศิลป์ และเทคโนโลยี หาความสมดุล การไฟฟ้าในแต่ละเขตจึงต้องทำแผนการจัดการพลังงานและการกำหนดราคาค่าไฟเสนอต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเพื่อพิจารณาและให้คำแนะนำ

ส่วนการไฟฟ้าจะรับคำแนะนำไปปรับปรุงแผนหรือไม่ก็สุดแล้วแต่ คณะกรรมการฯ ไม่มีสิทธิ์ลงโทษ

แต่ภาคประชาชนมีตัวแทนทำหน้าที่ตรวจสอบและฟ้องร้องอยู่หลายองค์กร ฟ้องทั้งการไฟฟ้า ฟ้องทั้งคณะกรรมการฯ ถ้าเห็นว่าไม่ให้การพิจารณาอย่างเหมาะสม

อเมริกาจึงมีคนหากินเป็นทนายความมากกว่าอาชีพอื่นๆ ถ้ามองสังคมอเมริกันเป็นระบบนิเวศ มันคงไม่ใช่ที่ที่มีกลไกธรรมชาติที่สมดุลนัก เพราะมีสัตว์กินเนื้อชนิดหนึ่งมากเกินไป

“ตอนนี้ผมก็โดนอยู่หลายคดี” จอห์น ซาเวจ กรรมการกำกับกิจการการไฟฟ้าสาธารณะมลรัฐออริกอนเล่าให้ฟังอย่างอารมณ์ดี ดูใครๆ จะนับถือเขามาก ทั้งฝ่ายการไฟฟ้าและฝ่ายคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค

“ผมก็โดน เพราะคาดการณ์ความต้องการไฟฟ้าสูงเกินไป” เคน ไนลส์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการกรมพลังงานมลรัฐออริกอนเล่า “มันเป็นศาสตร์ที่ไม่ง่ายเลย เมื่อก่อนจอห์นเคยทำหน้าที่นี้ เขาแม่นมาก รอบคอบจริงๆ ไม่เคยคลาดเคลื่อนมากเกินไปเลย”

อย่างไรก็ตาม การกำหนดค่าไฟก็มีกติกาอยู่ ไม่ใช่ว่าการไฟฟ้าอยากกำหนดลอยๆ ขึ้นมาอย่างไรก็ได้ ค่าไฟนี้จะคิดตามค่าใช้จ่ายจริง ซึ่งรวมถึงค่าเชื้อเพลิงและการจัดการ แต่ห้ามรวมค่าอะไรต่อมิอะไรที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่นเงินเฟ้อหรือค่าลงทุนล่วงหน้า ถ้าการไฟฟ้าอยากจะลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ก็ต้องพร้อมรับความเสี่ยงในอนาคตเอง ไม่มีการการันตีให้ จะเอามาคิดรวมกับค่าไฟไม่ได้จนกว่าโรงไฟฟ้านั้นจะผลิตไฟใช้ได้จริง

ฟังดูก็คล้ายๆ กับค่า Ft (fuel tariff) หรือค่าไฟฟ้าผันแปรของเรา แตกต่างตรงที่ค่า Ft ปรับเปลี่ยนทุก ๔ เดือนโดยการไฟฟ้าเอง ผู้บริโภคไม่ต้องรับรู้ว่ามีรายละเอียดอะไรอย่างไร เป็นห่อดำสำเร็จรูป ไม่เห็นตับไตไส้พุง ผู้บริโภคมีหน้าที่จ่ายอย่างเดียว ไม่ต้องรู้ว่าขนมสอดไส้อะไรแค่ไหนไม่มีกระบวนการสาธารณะผ่านคณะกรรมการและองค์กรอื่นๆ จับตาดูทุกขั้นตอน

ข้อแตกต่างสำคัญระหว่างเมืองเขากับบ้านเราจึงเป็นตัวกระบวนการ มันไม่ใช่แค่การมีส่วนร่วมให้ความคิดเห็นในบางวาระโอกาสเฉยๆ แต่ที่นี่ นับแต่ก้าวแรกทุกฝ่ายต้องได้รับข้อมูลเท่าเทียมกัน จะสร้างโรงไฟฟ้าอะไร ที่ไหน เมื่อไร คิดค่าไฟเท่าไร อย่างไร ต้องรับรู้ด้วยกัน

ในมุมมองของผู้ปฏิบัติหรือผู้ประกอบการ กระบวนการสาธารณะลักษณะนี้ออกจะรุ่มร่าม เสียเวลาน่ารำคาญ ให้คนรู้งานผู้เชี่ยวชาญจัดการดีกว่า อย่างค่า Ft คำนวณทุก ๔ เดือนสะดวกรวดเร็วกว่ามาก ทันสถานการณ์ตลาดดีด้วย แต่ถ้ามองระยะยาว งานที่ผ่านกระบวนการสาธารณะอย่างครบถ้วนทุกขั้นตอนกลับประหยัดทั้งเวลาและแรงงาน เพราะรอบคอบกว่าและได้รับการยอมรับมากกว่า จบเรื่องแล้วไม่ยื้อ ก้าวไปทำงานอื่นต่อได้ สำหรับค่าวัตถุดิบหรือเชื้อเพลิงที่ราคาขึ้นๆ ลงๆ ไม่คงที่มากๆ เช่นก๊าซธรรมชาติ ก็มีการปรับให้ทำแผนกำหนดราคาทุกปี แทนทุก ๒ ปี

วิธีการนี้ค่อนข้างยุติธรรม เพราะผู้บริโภคเองก็ต้องจ่ายราคาจริง นักการเมืองไม่มีสิทธิ์ลุกขึ้นลดราคามั่วซั่วเรียกคะแนนประชานิยมตามใจชอบ จึงสร้างแรงจูงใจให้คนทั่วไปประหยัดพลังงานและใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ยกเว้นคนรายได้ต่ำลำบากจริงๆ ถึงมีการช่วยเหลือพิเศษ

แต่แน่นอนว่ามาตรการแค่นี้ไม่เพียงพอ ในหลายกรณีถ้าจะประหยัดพลังงานได้เต็มที่ เราก็ต้องลงทุน

มลรัฐออริกอนมีกองทุนพลังงานออริกอน (Energy Trust of Oregon) ทำหน้าที่ด้านนี้โดยเฉพาะ เป็นองค์กรสาธารณะ แรกเริ่มตั้งด้วยเงินภาษีพลังงาน ให้บริการที่ปรึกษาและเงินกู้ปรับปรุงอาคารบ้านเรือน ตลอดจนส่งเสริมการลงทุนพลังงานหมุนเวียนตั้งแต่ระดับครัวเรือนถึงผู้ประกอบการธุรกิจ

ตัวนี้เป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนสังคมฝ่าวิกฤตพลังงานในยุคโลกร้อน แต่ก่อนพูดถึงเรื่องนี้ต่อ ขอแวะเติมแบ็กกราวนด์ให้ทันต่อกระแสอินเทรนด์ในวงการก่อนเล็กน้อย

ระบบจัดการไฟฟ้าที่กำลังมาแรงที่สุดในขณะนี้คือ การผลิตแบบกระจายศูนย์ ผู้อ่านที่คุ้นเคยกับระบบในยุโรปหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะเยอรมนีและประเทศในแถบสแกนดิเนเวียอาจรู้จักระบบนี้ดี เป็นระบบที่สนับสนุนให้หน่วยต่างๆ ในสังคมผลิตไฟฟ้าเอง แล้วส่งกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้เข้าระบบสายส่ง การเก็บค่าไฟก็พิจารณาดุลบัญชี ถ้าใครใช้ไฟมากกว่าที่ผลิตก็จ่ายเพิ่มในส่วนที่ใช้เกิน แต่ถ้าผลิตได้มากกว่าใช้เอง แทนที่จะจ่ายค่าไฟก็กลับได้เงินส่วนต่างคืน ซึ่งมักจะได้ในอัตราสูงกว่าค่าไฟที่ซื้อจากการไฟฟ้า โดยเฉพาะถ้าผลิตด้วยพลังงานหมุนเวียน รู้ไว้ใช่ว่าเรียกว่าระบบ Feed-in Tariff

ระบบนี้ช่วยโลกได้อย่างไร ?

ทุกวันนี้ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศไทยราวร้อยละ ๗๐ เป็นพลังงานสูญหาย ไม่มีใครได้ใช้ ร้อยละ ๖๐ แปรสภาพเป็นความร้อน ณ โรงผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่เอง อีกประมาณร้อยละ ๕ เป็นความร้อนที่หายไปตามสายส่ง ที่เหลือหายไปกับเจเนอเรเตอร์เพื่อกระจายไปสู่จุดใช้ไฟ เชื้อเพลิงฟอสซิลที่เอามาผลิตไฟส่วนใหญ่จึงกลายเป็นก๊าซเรือนกระจกโดยไม่มีใครได้ประโยชน์เลย

มันน่าเจ็บใจไหมล่ะ

อันนี้ไม่ได้แปลว่าการไฟฟ้าเราไม่เก่ง ใครๆ ก็ยอมรับว่าการไฟฟ้าเราเก่งระดับอินเตอร์ แต่มันเป็นปรากฏการณ์ปรกติที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต ที่ไหนๆ ก็เป็นเหมือนกันทั้งโลก ในส่วนของก๊าซเรือนกระจก เราสามารถติดตั้งตัวดักจับก๊าซได้ ถึงอย่างนั้นเราก็ยังไม่ได้ใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพที่สุดอยู่ดี

ถ้าจะจัดการไฟฟ้าให้สูญเสียทรัพยากรน้อยที่สุด จึงต้องให้ศูนย์ผลิตไฟตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งใช้ไฟมากที่สุด นอกจากพลังงานจะไม่สูญหายไปกับการเดินทางแล้ว ยังใช้ประโยชน์จากความร้อนที่คายออกมาได้

แทนที่จะเป็นโรงใหญ่ๆ ไม่กี่โรง ก็ให้เป็นโรงเล็กๆ กระจายทั่วไปตามที่ที่ใช้ไฟ ลดความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้าโรงใหญ่ๆ ลงไป

ตามโรงงานอุตสาหกรรมเราสามารถนำความร้อนที่ปล่อยออกมาจากการผลิตไฟฟ้ารอบแรกมาหมุนเวียนใช้เป็นพลังงานภายในโรงงานต่อได้ เรียกว่าระบบพลังงานความร้อนร่วม พูดสั้นๆ เป็นสแลงว่า “โคเจน” ย่อมาจาก co-generation ซึ่งก็ใช้กันอยู่มานานนับศตวรรษแล้ว และในช่วงหลังนี้ก็มีการปรับปรุงประสิทธิภาพระบบโคเจนให้ดีขึ้นมาก เหมือนที่ติดตั้งใหม่ในโรงงานปูนซีเมนต์ไทย หรือที่ใช้ในสนามบินสุวรรณภูมิ ไฟฟ้าเหลือใช้ที่ผลิตได้จากระบบโคเจนก็สามารถส่งเข้าสู่ระบบกลางได้

สำหรับหน่วยย่อยๆ เช่น ชุมชน โรงพยาบาล โรงเรียน หรือแม้แต่ในระดับบ้านเรือน เราสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เสริมได้เองจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่หลากหลาย นอกจากโคเจนแล้วยังมีก๊าซชีวภาพ ซึ่งคนเอเชียดูจะพัฒนาเก่งกันมาก พลังน้ำขนาดเล็กแบบไม่กั้นสายน้ำ พลังลม และพลังแสงอาทิตย์ ซึ่งปัจจุบันมีแผง photovoltaics หรือ PV ใช้ผลิตไฟฟ้าส่งเข้าระบบสายส่งแทนการกักเก็บในแบตเตอรี่ เพราะฉะนั้นถ้าเราอนุรักษ์พลังงานได้ดีกว่านี้ด้วยการออกแบบอาคาร เครื่องใช้ และปรับพฤติกรรมการใช้ไฟ ผสมกับการผลิตพลังงานหมุนเวียนในหน่วยเล็กๆ ของเราเอง รวมกันแล้วก็จะได้ทุนทรัพยากรพลังงานในสัดส่วนไม่น้อยเลย

เมื่อบวกกับการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดย่อมอื่นๆ กระจัดกระจายทั่วประเทศ ก็เริ่มเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์อนาคต

และอย่าลืมว่าไฟฟ้าไม่จำเป็นต้องมาจากโรงไฟฟ้าหรือหลังคาบ้าน รถหรือเรือก็ผลิตไฟฟ้าได้ ที่ยุโรปเริ่มใช้รถไฟฟ้ากันมากขึ้น (หมายถึงรถ ๔ ล้อ ไม่ใช่รถวิ่งบนราง) คุณสามารถชาร์จไฟที่สถานีได้ และถ้ารถคุณผลิตไฟฟ้าได้เกินความต้องการ ก็สามารถป้อนเข้าระบบสายส่งได้เช่นกัน เดี๋ยวนี้เรือวิ่งข้ามฟากตามแม่น้ำเทมส์เมืองลอนดอนก็ขับเคลื่อนด้วยพลังงานจากแสงอาทิตย์ ทั้งๆ ที่อากาศอังกฤษขึ้นชื่อว่าเทาๆ ทึมๆ แฉะๆ วันไหนมีแดด วันนั้นเป็นข่าว

เทรนด์ด้านพลังงานไม่ต่างไปจากเทรนด์อื่นๆ ที่เคลื่อนสู่การกระจายศูนย์ เมื่อ ๓๐ ปีก่อนคนทั่วไปนึกไม่ถึงว่าเราจะมีคอมพิวเตอร์ส่วนตัวใช้กันเป็นปรกติ ๑๐ ปีก่อนก็ไม่คิดว่าทุกคนสามารถทำภาพยนตร์คุณภาพดีได้เองในราคาย่อมเยา ตัดต่อบนคอมพิวเตอร์ส่วนตัว และ ๕ ปีก่อนเราก็นึกไม่ถึงว่าหนังอินดี้ของเราจะฉายให้คนอื่นดูได้ทางอินเทอร์เน็ต ไม่ต้องง้อเจ้าของโรงหนัง มีจำนวนคนคลิกเข้าชมเป็นล้านๆ ครั้ง

ดูเผินๆ การผลิตพลังงานส่วนตัวเหมือนเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อย กิ๊บเก๋ เรื่องของคนเท่ อินเทรนด์สีเขียว อยากดูดี ขี่รถถีบยี่ห้อบรอมตัน สะพายเป้ติดแผงโซลาร์ ชาร์จคอมแล็ปท็อปได้ ชาร์จมือถือและไอพอดได้ ติดแผงพีวีบนหลังคาบ้าน ๓ แผง เสริมด้วยกังหันลมผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก รวมแล้วผลิตไฟแค่พอดูทีวีและป้อนหลอดไฟประหยัดพลังงานยี่ห้อเมก้าแมนที่ใช้ในบ้าน อาจพอเหลือป้อนตู้เย็นนิดหน่อย อุ๊ย ! เก๋จัง ของเล่นคนรวย

ไม่ได้แกล้งประชด รับฟังมาหมดแล้วจริงๆ ถ้าคุณไม่ใช่ไฮโซสีเขียว คุณอาจไม่ถูกหมั่นไส้ แต่จะได้รับความเอ็นดู ประมาณว่า ฟาร์มหมูที่ราชบุรีนี่ก็ดีนะ เอาแก๊สจากขี้หมูมาเป็นพลังงาน สะอาดด้วย ไม่เหม็นเลย เหมาะทำเป็นจุดท่องเที่ยวเชิงนิเวศประจำจังหวัด เหมือนที่ชุมชนบนเขาปั่นไฟจากกังหันน้ำ โรแมนติกจริงๆ เศรษฐกิจพอเพียง แต่มันจะสร้างความแตกต่างสักเท่าไรเชียว ?

สองสามีภรรยาชาวเกาะโลเปซ มลรัฐวอชิงตัน ผลิตไฟฟ้าใช้เองจากพลังงานแสงอาทิตย์

ฟาร์มลมขนาด ๒๒๙ เมกะวัตต์ในมลรัฐวอชิงตัน ใช้กังหันรุ่นใหม่ไม่ปั่นนกตาย สร้างเสร็จภายใน ๑๔ เ้ดือน

ขอบอกว่าแตกต่างประมาณปฏิวัติวัฒนธรรม

จุดแข็งของคนตัวจิ๊บๆ ทำอะไรได้แค่จิ๊บๆ คือจำนวนมหาศาลของคนตัวจิ๊บๆ เอาแค่กรุงเทพฯ บ้านเรือนเราทั้งหมดใช้ไฟรวมกันเป็นร้อยละ ๒๒ อันนี้ไม่ใช่ปริมาณจิ๊บๆ และถ้าสถานประกอบการต่างๆ อย่างห้างยักษ์ ตึกยักษ์ ผลิตไฟบางส่วนจากพลังงานหมุนเวียนเองด้วย ปัญหาพลังงานก็ไม่ใช่เรื่องวิกฤตระดับชาติที่เป็นภาระรับผิดชอบของการไฟฟ้าแต่เพียงผู้เดียวอีกต่อไป

ที่สำคัญ ประสบการณ์ของคนที่ลุกขึ้นผลิตพลังงานใช้เองทั่วโลกพูดคล้ายๆ กันหมดว่า มันทำให้วิธีคิดและพฤติกรรมของเขาเปลี่ยนไป

“เมื่อเรารับผิดชอบผลิตพลังงานของเราเอง แม้เพียงบางส่วน” ชื่นชมอธิบาย “เราเริ่มเกิดความตระหนักในวิถีชีวิตเรา และควบคุมการใช้ทรัพยากรตัวเองได้ มันทำให้เรารู้ว่าเราต้องการใช้อะไรเท่าไหร่ อย่างสมมุติว่าเรามีลูก ๑ คน เราใช้พลังงานเดือนละแค่นี้ พอมีลูกเพิ่มอีกคนต้องต่อห้องเพิ่ม เราก็วางแผนได้ว่าเราต้องลงทุนผลิตพลังงานเพิ่มอีกเท่าไหร่ ก็จะผลิตไฟแค่เพียงพอต่อความต้องการ

“ที่ผ่านมา แผนพลังงานของประเทศไทยมักคาดการณ์ความต้องการไฟฟ้าสูงเกินจริง เรามีไฟฟ้าสำรองสูงถึงร้อยละ ๓๐ อันนี้เป็นตัวเลขในช่วงหน้าร้อนที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในรอบปี ทั้งๆ ที่สำรองร้อยละ ๑๕ ก็พอแล้ว”

ทัศนคติที่เห็นค่าของทรัพยากรและใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ใช้ให้หมุนเวียนมาใช้ใหม่ได้ คือพลังปฏิวัติแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ในยุคสมัยที่ประชากรล้นหลาม ธรรมชาติร่อยหรอ จะใช้ทิ้งใช้ขว้าง จัดการชุ่ยๆ แบบในช่วง ๓๐-๔๐ ปีที่ผ่านมาไม่ได้อีกแล้ว วิธีการเดิมๆ ที่ผลาญทรัพยากรธรรมชาติจนหมดโลกไป ๑ ใน ๓ ที่เคยมีอยู่ในพริบตาเดียวเป็นวิถีที่จำเป็นต้องตกยุค เพราะมันเป็นทางตันและบั่นทอนคุณภาพชีวิตเรา

ข้อพิพาทระหว่างความคิดสองขั้ว-อนุรักษ์ชนพัฒนา ที่เป็นวิถีแห่งศตวรรษที่ ๒๐ จำเป็นต้องสลายไปโดยปริยาย เพราะการอนุรักษ์กลายเป็นการพัฒนาทางเดียวที่พาเราขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้

ประเทศเยอรมนีใช้แนวทางนี้จัดการพลังงานจนสามารถเพิ่มผลผลิตทางเศรษฐกิจ โดยไม่ต้องเพิ่มการผลิตพลังงาน ประเทศเดนมาร์กก็พัฒนาแนวทางลักษณะนี้มาร่วม ๒๐ ปี และประหยัดพลังงานลงได้ร้อยละ ๔๐ อังกฤษช้าหน่อย เพิ่งคิดจะเริ่มใช้เป็นนโยบายหลักของประเทศอย่างจริงจัง โดยพรรคอนุรักษนิยมออกแถลงเป็น ๑ ใน ๓ หัวใจนโยบายเลือกตั้ง ให้ชื่อเก๋ไก๋ว่า “Power to the People”–คืนพลังสู่ประชาชน

กระนั้นทางยุโรปก็รู้ตัวว่ายังต้องส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนและการกระจายศูนย์ผลิตอีกมาก ที่ผ่านมาเป็นเพียงการเริ่มต้น ทางสหภาพยุโรปจึงตั้งเป้ากันไว้ว่าภายในปี ๒๐๒๐ หรืออีก ๑๐ ปีข้างหน้า ร้อยละ ๒๐ ของพลังงานในสหภาพยุโรปต้องมาจากพลังงานหมุนเวียน ประเทศเดนมาร์กถึงจุดนี้แล้ว จึงสามารถตั้งเป้าได้สูงขึ้นเป็นร้อยละ ๔๐ สำหรับอังกฤษ มันไม่เป็นแค่เป้า ประเภททำได้ถึงก็ดี ไม่ถึงก็แล้วไป แต่มันกลายเป็นกฎหมายที่ผูกมัดรัฐบาลเรียบร้อยแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

ที่อื่นๆ ก็ออกกฎหมายกึ่งจูงใจแกมบังคับ ประเทศสเปนกำหนดให้ทุกบ้านและสถานประกอบการมีการผลิตพลังงานเสริมของตัวเอง สเปนมีแดดมากตลอดปี จึงสนับสนุนให้ทุกบ้านติดแผงโซลาร์เซลล์ ควบคู่ไปกับการลงทุนฟาร์มลมและฟาร์มแสงอาทิตย์ อิตาลีออกนโยบายเก็บภาษีพลังงานจากอาคารที่ไม่ประหยัดพลังงาน โดยให้เวลาปรับปรุงอาคารและติดตั้งระบบพลังงานหมุนเวียน ๕ ปีก่อนบังคับใช้กฎหมาย พร้อมกับสรรหาแนวทางสนับสนุนการลงทุนมากมายหลายรูปแบบเพื่อสร้างแรงจูงใจและให้คนทั่วไปปฏิบัติได้ ทั้งหมดนี้ต้องใช้เวลาและเจตจำนงทางการเมืองอย่างแรงกล้า ที่ที่พัฒนาแนวทางนี้มานานนับ ๒๐ ปีอย่างเดนมาร์กจึงประสบความสำเร็จมากกว่าที่อื่น

ย้อนกลับมาที่ภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา ทางนี้ออกจะช้ากว่าฝั่งยุโรป ทั้งๆ ที่ในยุคต้น ๘๐ มีการออกกฎหมายกฎระเบียบในด้านพลังงานก้าวหน้ากว่ายุโรป มิสเตอร์จอห์น สมิท (นามสมมุติ) เจ้าหน้าที่สถานทูตอเมริกาคนหนึ่งบอกฉันว่า เป็นเพราะอเมริกาตกอยู่ใต้ราชวงศ์บุชเศรษฐีวงการน้ำมันเสียหลายปี เลยเกิดปรากฏการณ์พัฒนาการชะงักงัน จนมลรัฐฝั่งตะวันตกทนไม่ไหวต้องออกมาแถลงนโยบายพลังงานของตัวเองในปี ๒๐๐๗ ด้วยการประกาศพันธสัญญา “ปฏิบัติการด้านภูมิอากาศของภูมิภาคตะวันตก” ร่วมกัน

เพราะเริ่มช้า เป้าที่กำหนดไว้ในแผน “ปฏิบัติการด้านภูมิอากาศของภูมิภาคตะวันตก” จึงต่ำ คือกะจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ ๑๕ ภายในปี ๒๐๒๐ ทั้งๆ ที่ทางกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) เรียกร้องให้ทั่วโลกลดการปล่อยคาร์บอนลงให้ได้ถึงร้อยละ ๔๐ ใน ๑๐ ปีข้างหน้า หากจะประคองความหวังไม่ให้โลกร้อนเพิ่มมากขึ้นกว่า ๒ องศาเซลเซียส ซึ่งจะทำให้ปรับตัวกันได้ยาก แต่เริ่มช้าไปก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

ช่วงที่คณะเราไป เราแล่นรถผ่านรถบรรทุกขนชิ้นส่วนเสาและใบพัดกังหันพลังงานลมหลายอัน เห็นการก่อสร้างฟาร์มลมขึ้นหลายแห่ง ดูจากสายตาทัวริสต์อย่างเราๆเหมือนจะเป็นกิจการที่กำลังคึกคักที่สุด กังหันลมพวกนี้ไม่ใช่ขนาดเล็กๆ แบบติดตามบ้าน ใบพัดอันหนึ่งๆ ยาวกว่ารถบัสทั้งคัน เราไปดูฟาร์มหนึ่งในมลรัฐวอชิงตัน ชื่อฟาร์มลม”ม้าป่า” (Wild Horse Wind Farm) เป็นฟาร์มขนาด ๒๒๙ เมกะวัตต์ ใช้กังหันลม ๑๒๗ ตัววางตามแนวสันเขาวิสกีดิก เป็นกังหันรุ่นใหม่ ไม่ปั่นนกตายอย่างรุ่นก่อน และกินลมต่ำ ลมแรงแค่ ๑๔ กม./ชม. ก็ผลิตไฟฟ้าได้ เจ้าหน้าที่เล่าว่าทั้งฟาร์มใช้เวลาก่อสร้างเพียง ๑๔ เดือน เสร็จเมื่อธันวาคม ค.ศ. ๒๐๐๖

ในพื้นที่เดียวกันก็มีฟาร์มแสงอาทิตย์ไม่ใหญ่มาก ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ๒,๗๐๐ แผง ผลิตไฟฟ้า ๕๐๐ เมกะ-วัตต์ ส่งตรงเข้าระบบสายส่ง

“ระยะเวลาก่อสร้างที่สั้นเป็นข้อดีอีกอย่างของพลังงานลม” ชื่นชมกล่าว “ถ้าเทียบกับการลงทุนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซึ่งใช้เวลาสร้างอย่างน้อย ๑๐ ปี ออกจะรุ่มร่าม เกิดพัฒนาการอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาระหว่างนั้นก็ปรับเปลี่ยนแผนไม่ได้”

สังคมโลกเรากำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เรากำลังลอกคราบจากยุคโมเดิร์นแห่งศตวรรษที่ ๒๐ สู่ยุคนิวเอจแห่งศตวรรษที่ ๒๑ เรากำลังเผชิญกับโจทย์ใหม่ๆ ที่มนุษยชาติไม่เคยพบมาก่อน ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นเกือบ ๓ เท่า ภายใน ๕๐ ปี แต่ต้องอยู่บนโลกที่ป่าบกหายไปแล้วร้อยละ ๘๐ ปลาทะเลหายไปร้อยละ ๙๐ และไม่ว่าจะมองไปยังสังคมส่วนไหนในโลก ก็เห็นแต่การเมืองที่กำลังดิ้นรนหาทางออกใหม่ๆ ปัญหาทั้งหมดเกี่ยวพันกันนัวเนียอย่างแยกไม่ออก รวมถึงวิกฤตพลังงานที่พึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลมากเกินไป ในภาวะแปรปรวนแบบนี้ เราจำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นสูง หูตาเปิดกว้าง ตื่นตัวตลอดเวลา เพื่อจะปรับตัวได้ทันการณ์

ในอนาคตไม่ไกลเกินฝัน ดูเทรนด์แล้วเราน่าจะมีพลังงานไฮโดรเจนที่ผลิตได้เองในบ้านและตามสถานประกอบการ เป็นเทคโนโลยีที่เห็นศักยภาพการประยุกต์ใช้ได้จริง แต่ ณ วันนี้ยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ฉะนั้นจึงไม่แปลกที่หลายคนจะฟันธงว่าในระยะกลางนี้เราจำเป็นต้องใช้นิวเคลียร์เป็นตัวหนุน เพราะมันไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก

แต่…เหมือนวัยรุ่น-วัยวุ่น ช่วงเปลี่ยนผ่านจากยุคคาร์บอนไปสู่ยุคพลังงานสะอาดเป็นช่วงอ่อนไหว จึงเป็นช่วงที่เราน่าจะประคองโลกใบนี้ไว้ดีๆ และพยายามสุดฤทธิ์ที่จะไม่สร้างปัญหาเพิ่มเติมให้แก่คนรุ่นหลัง การแก้ปัญหาระยะสั้นและระยะกลางในช่วงนี้ควรจะต้องเป็นก้าวก้าวหนึ่งที่นำโลกไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

ไม่ว่าเทคโนโลยีนิวเคลียร์จะพัฒนาก้าวหน้ามากขึ้นเพียงไร ทุกวันนี้เราก็ยังไม่สามารถกำจัดกากนิวเคลียร์ได้อยู่ดี รายงานผลกระทบจากการปนเปื้อนผุดขึ้นมาเรื่อยๆ ตลอดเวลา จะปิดข่าวแค่ไหนมันก็โผล่ เหมือนช้างเหยียบต้นโด่ไม่รู้ล้มที่ยังคงเด้งดึ๋งกลับขึ้นมาชูช่อโชว์ดอก รายงานพวกนี้มีทั้งจากอเมริกา จากญี่ปุ่น รวมถึงจากประเทศฝรั่งเศสที่ไว้วางใจพลังงานนิวเคลียร์กันมากด้วย ล่าสุดเป็นข่าวรอยเตอร์สั้นๆ แวบออกมาเมื่อปีกลายนี้เอง

ทางฝ่ายประชาคมแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือจึงตกลงร่วมกันว่า ไม่เอาถ่านหิน ไม่เอานิวเคลียร์ ไม่เอาเขื่อนยักษ์เพิ่ม เพราะถ่านหินปล่อยคาร์บอนทำโลกร้อน ตัดออกไปได้เลย ปัญหาจากเขื่อนก็มหาศาลอย่างที่เล่าไปแล้ว ไม่มีใครเอาเขื่อนเพิ่มแล้ว ตอนนี้มีแต่การถกถึงการรื้อเขื่อนบางเขื่อนออกไป

“เมื่อโลกร้อนขึ้นและหิมะบนเขาต้นน้ำหดหายไป กำลังผลิตไฟฟ้าของเขื่อนก็จะตกลงไปด้วย แต่ปัญหากีดกั้นการอพยพของปลาแซลมอนยังคงอยู่” แนนซี เฮิร์ช ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายแนวร่วมพลังงานภาคตะวันตกเฉียงเหนืออธิบาย “เราจึงเรียกร้องให้รื้อเขื่อนในต้นแม่น้ำงูออกไป ๔ เขื่อน เขื่อนพวกนี้เป็นเขื่อนขนาดเล็ก รวมกันแล้วผลิตไฟฟ้าเพียงร้อยละ ๕ ของไฟฟ้าพลังน้ำโคลัมเบีย ซึ่งเราสามารถทดแทนได้ด้วยพลังงานหมุนเวียน แต่การรื้อเขื่อนจะช่วยปลาแซลมอนที่เดินทางเกือบถึงต้นน้ำได้มาก ปลาที่วางไข่ในระดับสูงขนาดนี้เป็นปลาที่ชอบน้ำเย็นจัด ยิ่งโลกร้อนขึ้นเรายิ่งต้องรักษาพื้นที่น้อยนิดของมันไว้ มันเดินทางไกลผ่านบันไดปลาโจนมามากมายหลายอัน ตัวที่ผ่านมาได้นับว่ามีพันธุกรรมดีแข็งแรงมาก แต่มันเหนื่อยล้าเต็มที เราต้องช่วยมัน”

ส่วนเหตุผลของการปฏิเสธโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เป็นเรื่องของสุขภาพและความปลอดภัย ไม่ใช่ปฏิกิริยาเข็ดหลาบกับการจัดการล้มเหลวของวุปส์เมื่อ ๒๐ ปีก่อน ชาวมลรัฐออริกอนยื่นคำขาดว่า เขาจะไม่รับนิวเคลียร์จนกว่าเฟดฯ หรือรัฐบาลกลางจะแก้ปัญหากากนิวเคลียร์ได้ เพราะในกรณีล่าสุด เฟดฯ ก็ผิดสัญญา ไม่ได้นำกากไปจัดการฝังในหุบเขายุกคา (Yucca Mountain) ตามแผน กลับปล่อยกากทิ้งไว้ในถัง ตั้งอยู่ในบริเวณโรงไฟฟ้านั่นแหละ

ทางเลือกที่เหลือนอกเหนือจากลงทุนกับก๊าซธรรมชาติซึ่งปล่อยคาร์บอนน้อย จึงเป็นแนวทางเดียวกันกับสหภาพยุโรป ได้แก่ การอนุรักษ์พลังงาน การกระจายศูนย์ผลิต และการลงทุนพลังงานหมุนเวียน อย่างที่เกริ่นไว้บ้างแล้ว โจทย์ใหญ่สำหรับแนวทางนี้คือการสร้างแรงจูงใจ

เราต้องยอมรับว่าคนจำนวนไม่น้อยไม่แคร์สิ่งแวดล้อมมากเท่ากับเงินในกระเป๋า ทั้งๆ ที่ธรรมชาติเป็นเรื่องของปากท้องและสุขภาพเช่นเดียวกับเศรษฐศาสตร์ และคนที่แคร์จำนวนมากก็ไม่มีเงินต้นที่จะลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม แม้แต่ในอังกฤษเองซึ่งน่าจะเป็นสังคมสมัยใหม่ที่มีนักนิยมธรรมชาติหนาแน่นมากที่สุดในโลก ก็ไม่สามารถทำให้รัฐบาลจริงจังกับปัญหาโลกร้อนได้เต็มที่ จนนักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม ท่านลอร์ดสเติร์น จัดทำรายงานเศรษฐศาสตร์แห่งการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกออกมาเมื่อเดือนตุลาคม ๒๐๐๖ เรียกกันสั้นๆ ว่า “รายงานสเติร์น” (The Stern’s Report) คำนวณให้เห็นว่า เราต้องการเงินเพียงร้อยละ ๑-๒ ของค่าจีดีพีโลกต่อปีมาลงทุนเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบร้ายแรงที่สุดจากภาวะโลกร้อน ซึ่งถ้าไม่ทำ ค่าจีดีพีโลกจะร่วงลงมาถึงร้อยละ ๒๐

ตลกดี เหมือนบอกว่าลูกคุณจะตายไป ๓ คน เหลือแค่คนเดียว ไม่รู้สึกสะทกสะท้าน แต่พอบอกว่าเงินจะหายไป ๒๐ ล้าน เหลือแค่ ๘๐ ล้านบาทเท่านั้นเอง กลับตื่นตระหนกตกใจ

ถ้าจะให้คนธรรมดาทั่วไปสามารถควักกระเป๋าลงทุนปรับปรุงอาคารและผลิตพลังงานหมุนเวียนเสริมเอง ก็ต้องมีการจัดโปรแกรมที่มีเสน่ห์เพียงพอในระยะสั้น ตั้งแต่ราคาค่าไฟส่งเข้าระบบที่รัฐจะรับซื้อจากบ้านเรือนและสถานประกอบการต่างๆ ให้ความช่วยเหลือทางการเงินในการลงทุนพลังงานหมุนเวียนหรือปรับปรุงอาคาร เช่นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น ในช่วงที่เราไปดูงาน ทางมลรัฐวอชิงตันกำลังส่งเสริมการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ในระดับบ้านเรือน ด้วยการเสนอรับซื้อค่าไฟในราคาหน่วยละ ๑๕ เซ็นต์ แต่ถ้าใช้แผงโซลาร์เซลล์ที่ผลิตในมลรัฐวอชิงตันเอง ก็จะได้มูลค่าแถมเพิ่มอีกหน่วยละ ๓๖ เซ็นต์ และบวกเข้าไปอีก๓ เซ็นต์ถ้าใช้ตัวแปลงไฟของท้องถิ่น

ก็แหม ! ทีน้ำมันกะนิวเคลียร์ รัฐต่างๆ ทั่วโลกยังอุดหนุนกันตรึม ไม่ใช่ราคาจริงสักหน่อย

เพราะถ้าคิดราคากันจริงๆ แล้ว ก็ต้องพิจารณาทั้งค่าวัตถุดิบ ค่าประกอบการ ค่าลงทุน ตลอดจนค่าผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งเราแทบจะไม่เคยเอามาคิดในบัญชีธุรกิจ คน สัตว์ พืชที่ไม่เกี่ยวข้องต้องเป็นผู้รับภาระแทนเสมอมา มีแต่สังคมเสียสติเท่านั้นที่จะมองเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งปรกติ

วิกฤตโลกร้อนเป็นโอกาสทองของนักเศรษฐศาสตร์และนักการตลาดที่จะใช้พรสวรรค์ของตัวเองกอบกู้โลก ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์ได้ทำหน้าที่อธิบายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ตอนนี้เราต้องการเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่จะเข้าถึงมวลชนในวงกว้าง เพราะถ้ามนุษยชาติจะไปรอด เราจะงอมืองอตีน หวังให้รัฐบาลแก้ปัญหาอยู่ข้างเดียวไม่ได้ ทุกคนต้องลงแรง

คุณสตีฟ ชาวบ้านที่เราบังเอิญได้คุยด้วยคนหนึ่งพูดเรียบๆ ถึงทางออกในอนาคตว่า “We need to invest in each other-เราต้องลงทุนใน (การพึ่งพา) กันและกัน”

พิพิธภัณฑ์แก้ว เมืองทาโคมา

“Mirrored Murrelets” งานประติมากรรมแก้วในสระน้ำด้านนอกพิพิธภัณฑ์แก้ว (Musuem of Glass) เมืองทาโคมา มลรัฐวอชิงตัน โดย Joseph Rossano แสดงฝูงนก Marbled Murrelet ซึ่งเป็นนกทะเลชายฝั่งใกล้สูญพันธุ์ เพราะป่าเก่าแก่แถบแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือที่มันอาศัยทำรังถูกทำลาย

หอสมุดกลางซีแอตเทิล แหล่งเรียนรู้ไม่ธรรมดาที่เป็นทั้งขุมทรัพย์ทางปัญญาและให้แรงบันดาลใจ

เราเดินทางจากเมืองซีแอตเทิลที่เขียวชอุ่ม ข้ามเทือกเขาคาสเคดไปพื้นที่อับฝนหลังเขา ชมฟาร์มลมและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แฮนฟอร์ด เลียบตัดแม่น้ำโคลัมเบียที่ครั้งหนึ่งเคยยิ่งใหญ่ แต่บัดนี้เขื่อนจำนวนมากแปรสภาพให้เป็นน้ำเอื่อยสายยาว ดั่งคูเมืองยักษ์กั้นเขต ๒ มลรัฐวอชิงตันและออริกอน แวะดูเขื่อนยักษ์บอนนีวิลล์ และมาตรการเฝ้าระวัง/ฟื้นฟูปลาแซลมอน ก่อนไปเมืองพอร์ตแลนด์ แล้วตีกลับขึ้นเหนือไปเมืองโอลิมเปียและอุทยานอุตสาหกรรมซัดซบ จนวนกลับมายังเมืองซีแอตเทิลอีกครั้งหนึ่ง การเรียนรู้ส่วนใหญ่มาจากการเจอผู้คนหลากหลายฝ่ายในห้องสัมมนา ตั้งแต่นักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน การไฟฟ้ามากมายหลายเจ้า ทั้งของรัฐ เอกชน และของสาธารณะที่มีประชาชนเป็นสมาชิก องค์กรเอกชนต่างๆ นักวิชาการ นักกฎหมาย และนักเคลื่อนไหว

ฉันใช้โอกาสระหว่างห้องสัมมนาต่างๆ ซึมซับรายละเอียดรอบตัวในสังคม ตั้งแต่ไลเคนตามต้นไม้ริมทางไปจนถึงวิถีชีวิตคน เพราะถ้าจะตัดสินเมืองอย่างซีแอตเทิลจากรูปร่างหน้าตา เห็นแต่ทางด่วนกับขวดพริกไทยยักษ์อย่างเดียว เราก็จะพลาดไม่เห็นความงามที่แท้จริง สิ่งที่ฉันสนใจคือวิธีคิดและวิธีเรียนรู้ของคนในสังคม-ก็ดินแดนแถบนี้ขึ้นชื่อเรื่องความเข้มแข็งของประชาคม

และก็จริงๆ ด้วย จุดแข็งของสังคมที่นี่คือการศึกษาสาธารณะ

แน่นอนว่าที่นี่มีพิพิธภัณฑ์คุณภาพหลายแห่ง ทั้งประวัติศาสตร์ ศิลปะ ดนตรี และธรรมชาติ ไม่ใหญ่โตลงทุนมโหฬารอย่างสมิทโซเนียนหรือของมหานครนิวยอร์ก แต่มีคุณภาพและเน้นข้อมูลท้องถิ่น อควาเรียมของซีแอตเทิลมีฐานคิดคนละเรื่องกับโอเชี่ยนเวิลด์ในห้างพารากอนบ้านเราที่เน้นจับสัตว์เอ็กโซติกมาให้คนดูร้องว้าว ที่นี่แม้จะมีการขังสัตว์ในที่แคบให้คนดูตามปรกติวิสัยอควาเรียม แต่ส่วนมากเป็นสัตว์เกาะหินในโซนน้ำขึ้นน้ำลง และเน้นการเรียนรู้ระบบนิเวศชายฝั่งท้องถิ่น ระบบลุ่มน้ำ และการวิจัยเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติ มีเจ้าหน้าที่หลายคนคอยให้ความรู้ทั้งในระดับเด็กและผู้ใหญ่ มีโฟกัสพิเศษเรื่องปลาแซลมอน สัญลักษณ์ของดินแดนแถบนี้

วันที่ไปพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำบังเอิญตรงกับวันเสาร์ เป็นวันของครอบครัว เด็กเลยแน่น แต่ไม่ยักเจี๊ยวจ๊าวหูแตก พ่อคนหนึ่งแนะนำลูก “ดูไส้เดือนทะเลมันโผล่ออกมาจากบ้านมันสิลูก มันใช้หนวดจับอาหาร” เจ้าหนูน้อย ๒ ขวบก็เกาะกระจกจ้องไส้เดือนตาแป๋ว เด็กอีก ๒ คนนั่งฟังเจ้าหน้าที่ให้อาหารสัตว์เล่าเรื่องดาวทะเล ดูมีความสุขและมีสมาธิดีกว่าเด็กเที่ยวห้าง

อควาเรียมซีแอตเทิลไม่สามารถใช้ธรรมชาติชายฝั่งในพื้นที่พิพิธภัณฑ์เป็นองค์ประกอบของนิทรรศการได้เต็มที่เหมือนของที่ซานฟรานซิสโก เพราะสภาพแวดล้อมชายฝั่งถูกทำลายหมดแล้ว แต่ช่วงเดือนนี้มีนิทรรศการพิเศษ แสดงภาพถ่ายสถานการณ์แม่น้ำดูวามิช ให้ชื่อสิ้นหวังว่า “ดูวามิช แม่น้ำที่สูญหาย ?” (The Duwamish: a River Lost?) เปิดฉากด้วยชีวิตเศร้าไร้โอกาสของอินเดียนแดงท้องถิ่นดั้งเดิมเผ่าดูวามิชที่เอามาใช้เป็นชื่อแม่น้ำ ตามด้วยความพยายามฟื้นฟูแม่น้ำของนักนิเวศและกลุ่มประชาคม มองอย่างเศร้าๆ ว่าเป็นความพยายามไร้ประโยชน์ ประมาณขัดถนนพหลโยธินด้วยแปรงสีฟัน ฉันไม่เห็นด้วยกับการทิ้งท้ายแบบสิ้นหวังอย่างนี้ แต่ก็เข้าใจความหดหู่ และต้องยอมรับว่าเป็นนิทรรศการเล็กๆ ที่สามารถถ่ายทอดข้อมูลได้มหาศาล

พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ก็นำเสนอเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สังคมและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในลุ่มน้ำโคลัมเบีย ไม่ใช่ประวัติศาสตร์พระราชา ขุนพล หรือประธานาธิบดี

ก็คนที่นี่เขามองตัวเองเป็นชาวเทือกเขาคาสเคด เป็นเขตชีวภาพ ไม่ใช่รัฐชาติ ชีวิตและวัฒนธรรมเขาจึงแตกต่างจากที่อื่น

แต่ที่สำคัญ การเรียนรู้ไม่ได้มีอยู่แต่ในพิพิธภัณฑ์ จะเดินไปไหนก็เห็นการศึกษาสาธารณะอยู่ทั่วไป ในตลาดไพก์เพลซมีอนุสรณ์สถานพร้อมคำอธิบายถึงประวัติและบทบาทตลาดประชาชน แสดงให้เห็นว่าแตกต่างจากห้างสรรพสินค้าอย่างไร เราได้รู้จักฮีโร่ประชาชนอย่างนายวิกเตอร์ สไตน์เบริก สถาปนิกผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงผลักดันให้รักษาตลาดไว้ได้ในช่วงทศวรรษ ๑๙๗๐ ริมถนนท่าเรือเฟอร์รีไปเกาะก็มีป้ายอธิบายภูมิศาสตร์และระบบนิเวศอ่าวตรงนั้นให้คนขับรถรอลงเรือได้ดู แค่ ๓ ป้ายแต่ได้ความรู้มากกว่าพิพิธภัณฑ์ยุคดิจิทัลกดปุ่มแสงเสียงราคาแพงที่ให้ข้อมูลตื้นๆ แถมเจ๊งตลอดเวลา

และสุดยอดต้องยกให้หอสมุดกลาง ตั้งอยู่กลางเมืองซีแอตเทิลแถวย่านชอปปิง เป็นตึกสมัยใหม่ที่ออกแบบไว้เพื่อการนี้โดยเฉพาะ ด้วยความมุ่งมั่นให้เป็น “…หอสมุดสาธารณะที่ดีที่สุดในโลก โดยปรับคลื่นให้ตรงกับผู้ใช้บริการ จนสามารถพึ่งพาและตอบสนองกันและกัน” เพิ่งเปิดบริการเมื่อปี ๒๐๐๔ ตัวตึกเองเป็นเครื่องมือการศึกษาเสร็จสรรพในตัว ออกแบบให้ประหยัดพลังงานและใช้วัสดุรีไซเคิลมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ภายในจัดแบ่งโซนอย่างดี น่าเชื้อชวนให้เดินกระเตงลูกเล็กเด็กแดงเข้าไปใช้ ไม่ขรึมเคร่งเครียดให้แต่คนคงแก่เรียน เหนือชั้นครอบครัวซึ่งมีร้านกาแฟและร้านหนังสือเล็กๆ ก็เป็นชั้นห้องเสวนาที่ใครจะมาจองใช้ก็ได้ มีห้องให้วัยรุ่นและห้องธรรมดา ต่อด้วยโซนหนังสือ ซีดี ฯลฯ ตามหมวดวิชาและความสนใจต่างๆ รวมทั้งทะเบียนสาแหรกพันธุกรรมให้ค้นหารากเหง้าบรรพบุรุษ สามารถเดินวนขึ้นไปได้เรื่อยๆ เหมือนเดินตามเกลียวหอย จนไปถึงชั้นบนสุด มีห้องหนังสือหายาก และระเบียงชมวิวโครงสร้างภายในหอสมุด ผู้คนเข้ามาใช้บริการกันเต็มไปหมด ทั้งคุณแม่ คุณลูก และสกินเฮดโกนหัวสักรูปนกอินทรีกางปีกที่ต้นคอ มีการจัดกิจกรรมพิเศษสม่ำเสมอ ช่วงที่เราไป เห็นโปสเตอร์โฆษณา “สัปดาห์หนังสือต้องห้าม”

ต่างกับหอสมุดแห่งชาติบ้านเราอย่างไรไม่ต้องพูดถึง เอาเป็นว่าฉันเคยเข้าไปค้นหนังสือพิมพ์ช่วงกรณีสวรรคต ปรากฏว่าไมโครฟิล์มหนังสือพิมพ์ไทยปี พ.ศ. ๒๔๘๘-๒๔๘๙ หายไปเกือบหมด มีแต่หนังสือพิมพ์ฝรั่ง แต่ก็มีถึงแค่วันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๙ แถมมีการป้ายสีดำปิดคอลัมน์ข่าวบางชิ้นไว้ ซึ่งคาดว่าเป็นเหตุการณ์ตอนต้นของกระบวนการรังแก ปรีดี พนมยงค์ ที่ฉันกำลังหาอยู่พอดี

ประชาคมภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือใส่ใจทำหน้าที่พลเมืองแอ็กทีฟ เพราะเขาเจอบทเรียนราคาแพง การพัฒนาผิดทางได้สร้างประชาคมที่เข้มแข็งขึ้นมา แต่ปัจจัยสำคัญที่หล่อเลี้ยงให้ประชาคมมีประสิทธิภาพอยู่ได้เพราะเขาใฝ่รู้ ที่นี่เป็นสังคมคนอ่านหนังสือ

ร้านหนังสือแถวนี้สนุกดั่งสวนสวรรค์ มีร้านเล็กร้านใหญ่ และหนังสือทุกแนว

หลังสัมมนาเสร็จเราได้มีโอกาสเข้าร้านพาวเวลล์สำนักงานใหญ่ในเมืองพอร์ตแลนด์ มลรัฐออริกอน คุณสฤณี อาชวานันทกุล คอลัมนิสต์ “คน (ไม่) สำคัญ” ประจำนิตยสาร สารคดี และฉันแยกย้ายไปนั่งแช่กันคนละโซน คุณเอ๋ย ! แค่สัตว์กับต้นไม้อย่างเดียวก็ดูกันไม่หวาดไม่ไหว ชั้นวางเต็มสุดลูกหูลูกตา มีตั้งแต่เบสต์เซลเลอร์อย่าง The Wild Trees ที่เล่าเรื่องราวงานวิจัยและชีวิตมหัศจรรย์บนยอดไม้ในป่าสูงแคลิฟอร์เนีย ไปจนถึงคู่มือดูนกออสเตรเลียเก่าๆ เชยๆ “โอ๊ะ ! นั่นนกอะไร” (What Bird is That?) พิมพ์ปี ๑๙๓๑ ที่อาจารย์มหา’ลัยสูงอายุของฉันเคยใช้สมัยเป็นเด็ก และไม่มีใครซื้อแล้วนอกจากนักสะสมหนังสือ

พอดีนึกขึ้นได้ว่าเป็นโอกาสจะหาซื้อหนังสือของยอดนักเขียนในดวงใจชาวโปแลนด์ ริสซาร์ด คาปุสคินสกี (Ryszard Kapuscinski) ที่ปรกติจะหาไม่ค่อยได้ คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยรู้จัก เลยเดินไปถามเจ้าหน้าที่แถวหมวดวรรณกรรม ซึ่งดูเป็นนักศึกษามหา’ลัยทำงานหารายได้พิเศษ เขาไม่ต้องขอให้ลูกค้าจดชื่อใส่เศษกระดาษให้ดู แต่หันไปพิมพ์ชื่อค้นให้ในคอมฯ ได้ทันที “เยส…คาปุสคินสกี อยู่ในหลายหมวดนะยู ดูที่โซนแอฟริกาก็ได้ โซนสีม่วงน่ะ”

เราหอบหนังสือกันไปนั่งพักครึ่งเวลา เติมพลังด้วยแซนด์วิชที่มุมกาแฟในร้านหนังสือ แล้วเลยนั่งดูคนเพลิน มันเป็นเหมือนชมรมโกะผสมชมรมหนังสือของฮิปปี้ไม่มีฟอร์มฮิป ไม่มีมาดปัญญาชนนักปฏิวัติคาเฟ่เดอปารีส แต่เนิร์ดแว่นหนาก็รู้สึกกลมกลืนได้พอๆ กับสาวโซดา

มีแต่คนรักหนังสือที่จะบริหารร้านหนังสือให้มีวัฒนธรรมแบบนี้ได้ บ้านเราร้านหนังสือเจ้าใหญ่โชว์แต่หนังสือของบริษัทตัวเอง ถ้าไม่ทำหนังสือขายเป็นสินค้าอย่างเดียวอย่างบีทูเอส ก็มุ่งขายแต่หนังสือขายดี นโยบายล่าสุด–หนังสือของสำนักพิมพ์ไหนขายไม่ดีจะขึ้นบัญชีดำไว้ ถ้ายังดันทุรังอยากส่งมาขายก็ต้องเก็บตังค์ค่าขึ้นชั้น เพราะงั้นไม่ต้องแปลกใจหากสังคมไทยจะมีแต่บันทึกดาราและคู่มือทำไงจะรวยเป็นทรัพยากรการเรียนรู้

ขอบอกด้วยความสัตย์จริงว่า แม้ฉันจะเขียนบทความนี้จากมุมมองของคนในวงการสิ่งแวดล้อม ชัดเจนว่าไม่อยากเลือกยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ท้าทายพลังธรรมชาติ แต่กระนั้นฉันก็พร้อมจะยอมรับนิวเคลียร์ ถ้ามันเป็นสิ่งที่ประชาคมตกลงใจหลังจากมีโอกาสพิจารณาอย่างรอบคอบ รู้จริงๆ ว่ากำลังเลือกอะไร เพราะอะไร บนความเสี่ยงอะไรบ้าง และมีทางเลือกอื่นๆ อีกอย่างไรบ้าง และเผื่อใจไว้แล้วว่าหลานฉันอาจต้องเสี่ยงโตมากับนิวเคลียร์

ถ้าคนในสังคมไทยเราไม่ยอมร่วมรับผิดชอบการใช้พลังงานของตัวเองเพียงพอ ปล่อยให้เป็นธุระของกระทรวงพลังงานคอยประเคนให้เราบริโภคลูกเดียว ก็ไม่รู้ว่ากระบวนการประชาคมที่ดีจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ตราบใดที่การเรียนรู้ระดับมวลชนของเรายังจำกัดอยู่แค่ข่าวนักการเมืองกัดกัน และชั้นหนังสือที่เต็มไปด้วยคู่มือสานฝันทำเงินหรือว่าต้องรอให้โลกเปลี่ยน แล้วเราค่อยกระดิกหางเปลี่ยนตาม

ขอขอบคุณ :

กลุ่มพลังไท และ A W.I.S.H.

คุณชื่นชม สง่าราศรี กรีเซน กรุณาตรวจทานต้นฉบับ

เชิงอรรถ

๑.พันธมิตรระยะแรกได้แก่มลรัฐวอชิงตัน ออริกอน แคลิฟอร์เนีย แอริโซนา นิวเม็กซิโกในอเมริกา และบริติชโคลัมเบียในแคนาดา ต่อมามีพันธมิตรเพิ่มเข้ามาจนถึงปัจจุบันมีพันธมิตรรวมทั้งสิ้น ๑๑ มลรัฐ/จังหวัด

๒.หัวหน้าซีแอตเทิลพูดในภาษาลูชุตซีด (Lushootseed) ซึ่งถูกแปลเป็นภาษาชีนุก (Chinook) และแปลเป็นภาษาอังกฤษอีกต่อในลักษณะโน้ต สุนทรพจน์นี้ถูกนำมาเผยแพร่มากๆ ในช่วงทศวรรษ ๑๙๖๐ ยุคฮิปปี้ บางคนเชื่อว่าผ่านการใส่สีตีไข่เพื่อใช้เป็นเครื่องมือนำเสนอแนวคิดวิถีธรรมชาติของอินเดียนแดง ในการรณรงค์สิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม ๓.ข้อความส่วนหนึ่งในสุนทรพจน์ยกมาจาก “ถ้อยประท้วงของคนป่า” แปลโดย พจนา จันทรสันติ ตีพิมพ์ในหนังสือ ณ ที่ดวงตะวันฉายแสง

๔.เพิ่งอ้าง

๕.เล่นคำล้อ Fish and Chips อาหารจานด่วนขนานแท้ดั้งเดิมประจำชาติอังกฤษ