อาสาสมัครสันติอาสาสักขีพยานและคณะทำงานยุติธรรม เพื่อสันติภาพกำลังเจรจากับทหาร เพื่อขอให้ญาติร่วมเป็นพยานในการชันสูตรพลิกศพโต๊ะอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ซึ่งเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวที่ค่ายทหารหน่วยเฉพาะกิจที่ ๓๙ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เมื่อ ๒๑ มีนาคม ๒๕๕๑ (ภาพ : ชาวบ้านอำเภอรือเสาะ) |
สันติอาสาสักขีพยาน | |
คุณสมบัติ | :สามารถพูดและเข้าใจภาษามลายูและภาษาไทยได้ดี สามารถรับผิดชอบตนเองขณะปฏิบัติหน้าที่ มีจิตใจเสียสละ กล้าหาญ ข้ามพ้นความกลัว ทำงานด้วยใจเป็นกลาง มีทักษะการสื่อสารอย่างสันต มีวินัยในตนเอง ผ่านการอบรมแนวคิด และปฏิบัติการสันติวิธี |
อายุ | : เป็นนักศึกษาปีที่ ๓ ขึ้นไป หรืออายุไม่น้อยกว่า ๒๒ ปี |
เวลาทำงาน | :ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ |
อุปกรณ์ | :เครื่องแต่งกายสุภาพ เครื่องบันทึกเสียง เทป สมุด ปากกา กล้องถ่ายภาพ ฯลฯ |
ติดต่อ | :โครงการสันติอาสาสักขีพยาน จ. ปัตตานี โทร. ๐-๗๓๓๓-๔๑๒๖, ๐๘-๑๑๘๙-๗๒๘๐ อีเมล rohanee.2525@gmail.com ดูรายละเอียดได้ที่ www.santiasa.org |
“พื้นที่ที่เกิดความรุนแรง เราต้องเข้าไประงับยับยั้ง”
หน่วยกล้าตายเหล่านี้ประกาศตนเป็นนักรบสันติวิธีในนาม “สันติอาสาสักขีพยาน”(Peace Witness Volunteer)ทำงานในพื้นที่ ๓ จังหวัดภาคใต้ที่ความรุนแรงปะทุไม่เว้นวัน พร้อมสมุดบันทึก ปากกา กล้องถ่ายภาพ ที่สำคัญที่สุดและขาดไม่ได้นั่นคือ จิตใจที่กล้าหาญ
“พวกเธอ” เป็นเพียงเยาวชนอาสาสมัครกลุ่มเล็กๆ หากกล้าที่จะ “เปิดเผยตัว” ในที่แจ้ง แม้รู้ทั้งรู้ว่าจะถูกจับตามองจากทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ฝ่าย “ผู้ก่อการ” รวมถึงชาวบ้านในพื้นที่
“นับตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืนปี ๒๕๔๗ เหตุรุนแรงรายวันมักทำให้ฉันรู้สึกหดหู่กับความสูญเสียของผู้คน ฉันเริ่มตั้งคำถามตลอดเวลาว่าเกิดอะไรขึ้น ฉันจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้ความรุนแรงบานปลาย เพราะการนิ่งเฉยคือการยอมจำนน” ซุกกรียะห์ บาเหะ เล่าถึงแรงบันดาลใจก่อนมาเป็นสันติอาสาฯ
เช่นเดียวกับ รุสนีย์ กาเซ็ง ชาวปัตตานีโดยกำเนิด เธอไปทำงานอยู่เมืองกรุงได้ไม่ถึงปีก็ขอกลับมาเป็นอาสาสมัครที่บ้านเกิดด้วยเหตุว่า “ฉันไม่อาจนิ่งเฉยกับเหตุการณ์รุนแรงที่บ้านเกิดของฉัน แม้ว่าเหตุการณ์รุนแรงจะเกิดที่บ้านเกิดของฉัน แต่หลายเรื่องฉันก็รู้จากสื่อ ซึ่งไม่สามารถนำเสนอความจริงทั้งหมดได้ ฉันจึงได้แต่ตั้งคำถามว่า แล้ว “ความจริง” ที่เหลือมันอยู่ที่ไหน ? “ความจริง” ที่เกิดขึ้นกับบ้านเกิดของฉันคืออะไร ?”
ความสับสนระหว่างข้อมูลที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อกับความจริงอีกด้านที่พวกเธอรับรู้เป็นแรงผลักดันให้ทั้งสองอาสามาแสวงหาความจริงด้วยตัวเอง โดยเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครในโครงการสันติอาสาสักขีพยานที่นำทีมโดย นารี เจริญผลพิริยะ หรือคุ้ง
หลังจากทำงานฝึกอบรมและรณรงค์เรื่องสันติวิธีในเมืองไทยมานานปี คุ้งก็พบว่าแม้สันติวิธีจะเป็นหนทางในการจัดการความขัดแย้ง แต่คนทำงานผลักดันเรื่องนี้กลับมีเพียงหยิบมือ “เราต้องฝึกคนให้เป็นนักปฏิบัติการสันติวิธี” และสันติอาสาสักขีพยานคือการเสนอสันติวิธีที่เป็นรูปธรรม
เค้าโครงความคิดดังกล่าวกลั่นมาจากประสบการณ์การทำงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ หรือที่คุ้งเรียกว่า “งานเช็ดเลือด” คือการ “ตัดวงจรของความรุนแรงรอบใหม่ ด้วยการดูแลให้ทุกฝ่ายได้รับความเป็นธรรม ฟื้นคืนความรู้สึกสูญเสียให้อยู่ในระดับที่พอจะคุยกันรู้เรื่อง
“ทำไประยะหนึ่งเราก็พบว่าสถานการณ์รุนแรงขึ้น มีการใช้กำลัง/อาวุธในการเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับกลุ่มที่ถูกเรียกว่า “ขบวนการ” และหลายครั้งกลุ่ม “ขบวนการ” ก็อยู่กับประชาชน เวลาสองฝ่ายใช้ความรุนแรงต่อกันจึงไม่พ้นที่คนบริสุทธิ์จะถูกลูกหลงไปด้วย คนที่อยู่ตรงกลางโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง แล้วมันผลักให้คนเหล่านี้ต้องเลือกข้าง ผลักให้คนเข้าไปเป็นเชื้อไฟของความรุนแรง
“เวลาที่เกิดความรุนแรง เราไม่รู้ว่าความจริงคืออะไร หลายอย่างที่รายงานผ่านสื่อกระแสหลักไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในพื้นที่ การที่ข่าวสารไม่ตรงกับความจริงก็ก่อให้เกิดการเผชิญหน้าและสร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรง ตัวอย่างกรณีสะบ้าย้อย จ.สงขลา (๑๗ มี.ค. ๒๕๕๐) ที่ปอเนาะเปาะซูเลาะห์ถูกโจมตีโดยกองกำลังไม่ทราบฝ่าย มีเด็กเสียชีวิต ๓ คน ทางการแถลงว่าเด็กทำระเบิดเอง ฝ่ายเด็กบอกว่าเขาโดนยิง แต่ข่าวที่ออกไปก็เสนอเพียงข้อสันนิษฐานของเจ้าหน้าที่รัฐว่าเด็กทำระเบิดเองแล้วชุมนุมปิดถนนเพื่อขับไล่ ตชด.ที่ตั้งกองกำลังอยู่ใกล้ๆ ขณะที่ชาวบ้านทั้งผู้หญิงและเด็กชุมนุมปิดทางเข้าโรงเรียน บอกว่าที่ไม่ให้ทหารเข้าไปเก็บหลักฐานเพราะเขาเชื่อว่าทหารเป็นคนยิง ทหารอาจจะเข้ามาทำลายหลักฐาน จะเห็นได้ว่าความจริงจากสองฝ่ายคนละเรื่องกันเลย
“เราเข้าไปที่เกิดเหตุก็พบร่องรอยของการใช้อาวุธปืน ไปเยี่ยมเด็กที่โรงพยาบาลก็พบว่ากระสุนฝังใน เพราะฉะนั้นความจริงมันบอกอะไรบางอย่างได้ ขณะนั้นทหารยื่นคำขาดกับโรงเรียนว่า ถ้าไม่ให้ทหารเข้าเก็บหลักฐานวันนี้จะสั่งปิดโรงเรียน เราก็ประสานไปทางผู้ชุมนุมว่าในการเก็บหลักฐานถ้ามีคนกลางเป็นพยานเขายอมรับไหม เขาก็ตกลง และขอให้เป็นคนที่เขาเชื่อถืออย่างคุณหมอพรทิพย์ (โรจนสุนันท์) เราจึงประสานไปทางหมอพรทิพย์ ซึ่งหมอตอบตกลงจะมาวันรุ่งขึ้น ขณะเดียวกันเราก็ประสานไปที่ทหารว่าชาวบ้านยอมให้เข้าที่เกิดเหตุได้ในวันรุ่งขึ้น โดยตามหมอเข้ามาและเจ้าหน้าที่ต้องปลอดอาวุธ ซึ่งทหารก็ตกลง คืนนั้นสองฝ่ายยังไม่วางใจว่าจะเป็นไปตามข้อตกลงหรือไม่ ซึ่งคนกลางก็ต้องเป็นคล้ายๆ ตัวประกันจำเป็น คือพอมีข้อตกลงแล้วมันมีระยะเวลาก่อนทำตามข้อตกลง ช่วงเวลานี้จึงต้องมีความไว้วางใจ วันรุ่งขึ้นหมอพรทิพย์มา ทหารก็ตามเข้ามา ผู้ชุมนุมจึงเปิดทาง ดังนั้นในสถานการณ์แบบนี้คนกลางมีความจำเป็น แล้วทำงานได้จริง คลี่คลายความขัดแย้งที่กำลังเผชิญหน้ากันลงได้”
นารี เจริญผลพิริยะ หัวหน้าโครงการสันติอาสาสักขีพยาน (ภาพ : บุญกิจ สุทธิญาณานนท์) |
คณะสันติอาสาสักขีพยาน – รอฮานี จือนารา(คนกลาง) รอมือละห์ แซแยะ(ซ้าย) และ อรชพร นิมิตกุลพร (ขวา) เข้าเยี่ยมผู้ต้องสงสัยที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๕๐ (ภาพ : รุสนีย์ กาเซ็ง) |
เพราะความจริงมีหลายด้าน บางทีอยู่ตรงกันข้าม ถ้ามีสักขีพยานให้ข้อเท็จจริงได้ก็จะลดความชอบธรรมในการที่แต่ละฝ่ายจะกล่าวหากันเพื่อใช้ความรุนแรงกับอีกฝ่าย “พยานความจริง” จึงถูกเรียกร้องจากคู่กรณี สันติอาสาสักขีพยานเป็น “ฝ่ายที่ ๓”ที่จะเข้าไปรับฟังเพื่อลดอารมณ์ที่รุนแรงและได้รู้ถึงความต้องการที่แท้จริงของแต่ละฝ่าย
ถ้างานเยียวยาคือการแก้ปัญหาที่ปลายทาง งานของสันติอาสาฯ ก็เรียกได้ว่าขยับขึ้นมาอยู่กึ่งกลางของเส้นทางการแก้ปัญหาความรุนแรงใน ๓ จังหวัดภาคใต้
“เราทำงานเช็ดเลือดอย่างเดียวก็มีคนตายทุกวัน สถิติไม่ลดลง ถึงกับพูดกันว่าเราต้องเช็ดเลือดจนมือหักหรือเปล่า จนเมื่องานเยียวยาขยายเข้าไปสู่กลไกของรัฐซึ่งมีบุคลากรในพื้นที่ทำงานในระดับกว้างขวางกว่า เราจึงขยับตัวมาที่งาน “ยับยั้ง” ไม่ให้ความรุนแรงขยายตัว เรียกได้ว่าเป็นการพยายามแช่แข็งความขัดแย้งเอาไว้ในระดับที่ไม่พัฒนาไปสู่ความรุนแรง เพราะพอเกิดความรุนแรงแต่ละครั้งมันทำให้เกิดบาดแผลและความเกลียดชังระหว่างผู้คนเพิ่มขึ้น”
ประกอบกับสถานการณ์ขณะนั้นเมื่อฝ่ายความมั่นคงประกาศ “แผนยุทธการพิทักษ์แดนใต้” ในเดือนมิถุนายน ๒๕๕๐ มุ่งเน้นการปิดล้อม กวาดจับผู้ต้องสงสัยทั้งหมดโดยไม่ต้องมีหมายจับ แล้วดำเนินยุทธการ “แยกปลาออกจากน้ำ” จำนวนผู้ต้องสงสัยที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลในทางลบตามมาและยิ่งสุมเชื้อไฟแห่งความไม่ไว้วางใจระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน บทบาทหน้าที่ของสันติอาสาฯ จึงต้องปรับตามไปด้วย
รอฮานี จือนารา ผู้ประสานงานพื้นที่โครงการสันติอาสาฯ จ.ปัตตานี เล่าถึงบทบาทการเป็นคนกลางในการเจรจากับเจ้าหน้าที่เพื่อขอให้ชาวบ้านไอบาตู จ.นราธิวาส เข้าเยี่ยมญาติที่ถูกกวาดจับ (๘ ก.พ.๒๕๕๑) มาไว้ที่ค่ายกองพันพัฒนาที่ ๔ “เมื่อไปถึงค่าย ภาพที่เห็นคือชาวบ้านประมาณ ๓๐ คนต่างจูงลูกหลานเข้าเยี่ยมลูกหรือสามีอย่างดีอกดีใจ เพราะไม่ได้เห็นหน้ากันมาเกือบ ๒ สัปดาห์แล้ว” ขณะที่ผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ ๔๕ ยังไม่เปิดให้เยี่ยมอ้างว่าอยู่ในขั้นตอนการสอบสวน สันติอาสาฯ ได้เข้าไปเจรจากับเจ้าหน้าที่ว่าญาติเพียงอยากมั่นใจว่าลูกหลานเขายังมีชีวิตอยู่เท่านั้น การเจรจาประสบผล ภาพแม่โบกมือให้ลูกชายที่เห็นอยู่ไกลๆ ขณะที่ลูกชายยกมือปาดน้ำตา เป็นภาพที่ชาวสันติอาสาฯ ไม่มีวันลืม
อีกบทบาทคือการลงพื้นที่ภายหลังเกิดเหตุปะทะกันในชุมชน ดังโศกนาฏกรรมไอร์ปาแย จ. นราธิวาส ที่คนร้ายสาดกระสุนเข้าใส่ชาวบ้านที่กำลังละหมาดในมัสยิดอัลฟุรกอน ชาวสันติอาสาฯ ไม่รอช้าที่จะเข้าไปในพื้นที่ที่ความหวาดระแวงระหว่างชาวพุทธกับมุสลิมเริ่มก่อตัว สิ่งหนึ่งที่คุ้งย้ำกับเพื่อนร่วมทีมก็คือ “ต้องมีการประเมินสถานการณ์ก่อน ไม่ใช่บุ่มบ่ามไป และอาศัยต้นทุนทุกอย่างไม่ว่าความสัมพันธ์อื่นใดที่มีเพื่อสร้างความไว้วางใจ หรือสร้างความสัมพันธ์นอกพื้นที่ เช่นไปเยี่ยมผู้บาดเจ็บที่โรงพยาบาล พอญาติเริ่มคุ้นหน้าถึงตามเขาเข้าหมู่บ้าน”
งานอาสาที่ต้องอาศัยความกล้านี้ทำให้เราอดสงสัยไม่ได้ว่าอาสาสมัครจัดการกับความกลัวอย่างไร รอฮานีบอกว่า “ครั้งหนึ่งเคยรู้สึกกลัว ตอนเกิดเหตุชุมนุมหน้ามัสยิดกลางเมื่อปี ๒๕๕๐ ชาวบ้านร่ำลือกันว่าเราไม่สามารถเข้าไปในที่ชุมนุมเพราะไม่รู้ว่าจะเกิดเหตุอะไรขึ้น ตอนนั้นคิดไปสารพัด พอวันรุ่งขึ้น รู้สึกว่าเราต้องทำหน้าที่คนกลาง ต้องกล้าไปสิ เมื่อเข้าไปปรากฏว่าไม่ได้น่ากลัวอย่างที่เราจินตนาการ หากเราเผชิญหน้ากับมัน ความกลัวนั้นก็จะหายไป”
กว่าจะมาถึงวันนี้พวกเธอต้องผ่านการฝึกอบรมอย่างเข้มข้น ทั้งการใช้สันติวิธี การวิเคราะห์ความขัดแย้ง การลดอคติ ทักษะการสื่อสาร ฯลฯ รวมถึงต้องมีวินัยในการทำงานอย่างสูง อาทิ การแต่งกายที่เคารพวัฒนธรรมท้องถิ่น การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง ห้ามนอนในที่ชุมนุมเพราะไม่รู้ว่าการชุมนุมนั้นจะถูกกวาดจับเมื่อไร เป็นต้น ทั้งนี้เพราะความผิดพลาดแม้เพียงนิดอาจกลายเป็นชนวนให้เหตุการณ์รุนแรงบานปลายได้
คุ้งเล่าว่าในการอบรมครั้งแรกมีผู้สมัครทั้งชายทั้งหญิงทั้งพุทธทั้งมุสลิมเข้ามา แต่สุดท้ายเหลืออาสาสมัครที่ทำงานจริงเป็นผู้หญิงทั้งหมด ด้วยเหตุว่าหลังการอบรมไม่นานเกิดเหตุนักศึกษาชาวพุทธถูกยิงเสียชีวิต กลุ่มผู้สมัครชาวพุทธได้หายหน้าไปและขาดการติดต่อ ส่วนผู้ผ่านการอบรมชาวมุสลิมในพื้นที่เองบางคนก็ทำใจได้ยากถ้าต้องมาเป็นฝ่ายที่ ๓
“เราทำสถานการณ์จำลองว่าขณะอาสาสมัครทำงานอยู่ในพื้นที่ที่มีการชุมนุม มีข่าวว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐจะมีการใช้กำลังปราบปรามโดยที่เราพยายามยับยั้งแล้วแต่ไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้นเซ็นเตอร์ต้องเรียกตัวอาสาสมัครกลับ เป้าหมายของสถานการณ์จำลองก็เพื่อให้เกิดข้อตกลงร่วมกัน ว่าเมื่อเรียกตัวกลับต้องกลับเพื่อความปลอดภัยในชีวิตของอาสาสมัคร เพราะในสถานการณ์แบบนี้เขาอาจตกเป็นผู้ต้องหา ถูกรวบพร้อมชาวบ้าน หรืออาจเสียชีวิต แต่อาสาสมัครบางคนไม่ยอมกลับ ด้วยเหตุผลว่าถ้าผู้ชุมนุมเป็นพ่อแม่เขาเขาจะทิ้งไปได้อย่างไร เราก็อธิบายว่าสมมุติเขาถูกจับเป็นคนที่ ๑,๐๐๑ กับออกมาทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายที่ ๓ รายงานความจริงว่าเกิดอะไรขึ้น อย่างไหนจะส่งผลให้สถานการณ์ดีขึ้นกว่ากัน สุดท้ายเขาบอกว่า “เข้าใจ แต่ทำใจไม่ได้” ถ้าต้องทำงานภายใต้ข้อตกลงแบบนี้
“นี่เป็นตัวอย่างของข้อจำกัดที่ต่างจากงานอาสาประเภทอื่น คือการเป็นอาสาสมัครในพื้นที่ภายใต้ความขัดแย้งนั้นแยกได้ยากว่าจะยืนอยู่ตรงไหน การเป็นฝ่ายที่ ๓ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับพวกเขา อาจเป็นด้วยเหตุนี้ที่แม้ชาวบ้านหรือทางการเห็นว่าฝ่ายที่ ๓ มีประโยชน์ช่วยยับยั้งความรุนแรง แต่จะหาคนมาทำบทบาทนี้ไม่ง่ายนัก จนถึงทุกวันนี้จึงยังมีจำนวนน้อย”
ถึงอย่างนั้นเรายังคงต้องการ “อิฐก้อนแรก” เช่นเดียวกับสันติอาสาทั่วโลกก็ล้วนเกิดขึ้นจากจิตอาสาของคนกลุ่มเล็กๆ ที่เชื่อมั่นในพลังแห่งสันติวิธี เกิดเป็นขบวนการสันติวิธีที่มีพลังถึงขั้นพลิกเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์โลกมาแล้ว ดังเช่นการเคลื่อนไหวของขบวนการสันติเสนาในอินเดียภายใต้การนำของมหาตมะคานธี เป็นต้น
พวกเธอกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า สิ่งที่ได้รับจากการเป็นสันติอาสาสักขีพยานคือ “ได้ฝึกการใช้สันติวิธีภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้ง”
วันนี้ซุกกรียะห์บอกตัวเองว่า “สันติวิธีสามารถแก้ปัญหาได้โดยที่ทุกคนต้องร่วมมือกันยุติความรุนแรง ยุติการใส่ร้ายป้ายสีกัน เพราะการพูดความจริงเป็นสิ่งสำคัญที่คนในพื้นที่ต้องการมากที่สุด”
“ภายใต้สถานการณ์ความรุนแรง หลายคนรู้สึกว่าตัวเองทำอะไรไม่ได้ เห็นคนตายทุกวี่วันก็เกิดความคับแค้นใจ พอได้มาทำงานนี้เขาพบทางออกว่าเขาทำอะไรได้ แล้วสิ่งที่ทำมันช่วยลดความรุนแรงจากการเผชิญหน้าอย่างเห็นผล และช่วยคลี่คลายความรู้สึกไร้อำนาจของเขา พอเขาได้เป็นผู้ให้ เขาก็รู้สึกดี เหมือนเป็นน้ำใจที่รดลงไปบนเมล็ดพันธุ์แห่งความกรุณาของตนเอง พอทำบ่อยครั้งเมล็ดพันธุ์แห่งความกรุณานี้ก็เติบโต เขาก็รู้สึกมีความสุขที่ได้ช่วยเหลือสังคม” คุ้งกล่าวทิ้งท้าย
ส่วนจะแก้ปัญหาความรุนแรงใน ๓ จังหวัดภาคใต้อย่างไรนั้น เธอว่าไม่หวังผลทันตา เพราะการได้สร้างคนที่จะเป็นผู้ปฏิบัติการสันติวิธีภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งอย่างเป็นตัวเป็นตนและยั่งยืนเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งสันติในพื้นที่ต่างหาก เป็นความหวังสูงสุด
หมายเหตุ : เรื่องเล่าของอาสาสมัครและภาพจากหนังสือ สันติอาสาสักขีพยาน “เสียงกระซิบจากความเงียบ”, ๒๕๕๒
ขอขอบคุณ : คุณพจน์ กริชไกรวรรณ และศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล