สุทัศน์ ยกส้าน
ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสถาน

ในพุทธศตวรรษที่ ๒๔ เมื่อนักผจญภัยชาวตะวันตกเดินทางมาถึงเกาะน้อยใหญ่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ทุกคนรู้สึกประทับใจในความงามของภูมิประเทศที่เป็นเกาะแก่ง หาดทราย รวมถึงสิ่งมีชีวิตต่างๆ บนเกาะ แต่เมื่อได้เห็นชาวเกาะบางคนมีขาที่ใหญ่โตมโหฬารจนดูเหมือนขาช้าง และบางคนมีอวัยวะเพศบวมใหญ่น่าขยะแขยง บันทึกเหตุการณ์ที่พบเห็นนี้ได้ทำให้โลกเริ่มรู้จักโรคเท้าช้างในเวลาต่อมา

การศึกษาธรรมชาติของโรคนี้ทำให้แพทย์ปัจจุบันรู้ว่า ๗๖ ประเทศในเขตร้อน เช่น จีน อินเดีย แอฟริกา คือพื้นที่ที่ผู้คน ๙๐ ล้านคนกำลังถูกโรคเท้าช้างคุกคาม

ตามปรกติโรคเท้าช้างจะเริ่มสำแดงอาการในเด็กวัย ๑๐-๑๕ ขวบ โดยขาหรือแขนมีอาการอักเสบก่อน และรู้สึกปวดอย่างรุนแรง อีกทั้งมีไข้สูง จากนั้นอีก ๒-๓ วันอาการอักเสบก็จะหายไปเอง แต่ตามบริเวณแขนหรือขาจะมีอาการบวมเล็กน้อย แล้วตลอดเวลา ๕-๑๐ ปีต่อมา อาการอักเสบจะหวนกลับมาเป็นระยะๆ ในขณะเดียวกันแขนหรือขาก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้นๆ เพราะในร่างกายผู้ป่วยมีหนอนที่มีลักษณะคล้ายเส้นด้าย ชื่อ Filaria bancrofti (filarial เป็นคำในภาษาละตินที่แปลว่า เส้นด้าย)

ในระยะแรกตัวหนอนจะเข้าไปอาศัยอยู่ในต่อมน้ำเหลืองตามบริเวณบั้นเอว สะโพก ขาหนีบ และกระเพาะช่วงล่าง โดยไม่ทำอันตรายใดๆ ต่อร่างกาย การสำรวจพื้นที่ที่โรคเท้าช้างระบาดพบว่า มีผู้ใหญ่เพียง ๑-๑๕% ที่ป่วยด้วยโรคเท้าช้าง โดยอาการของโรคจะสำแดงเมื่อหนอนจำนวนมากได้แพร่พันธุ์ไปทั่วร่างกายจนทำให้เนื้อเยื่ออักเสบ และเนื้อเยื่อส่วนที่สลายไปได้เข้าไปอุดตันในต่อมน้ำเหลือง ทำให้ผิวหนังของผู้ติดเชื้อมีอาการบวมเป่ง

การศึกษาด้านชีววิทยาของเชื้อโรคทำให้แพทย์รู้ว่า Filaria bancrofti ตัวเมียที่โตเต็มที่จะมีลำตัวยาวประมาณ ๘ เซนติเมตร ส่วนตัวผู้ยาวประมาณครึ่งหนึ่งของตัวเมียและผอมกว่า แต่ก็สามารถผลิตเชื้อได้มากพอกับจำนวนไข่ที่ตัวเมียผลิตได้ ดังนั้นเวลาผสมพันธุ์ เชื้อโรคตัวอ่อนจึงถือกำเนิดได้ครั้งละมากๆ แต่ก็นับว่าโชคดีสำหรับผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อ เพราะการพบปะระหว่างเชื้อตัวผู้กับเชื้อตัวเมียในร่างกายคนมิได้เกิดบ่อย ทั้งนี้เพราะเชื้อตัวผู้มีประสาทสัมผัสไม่สู้ดีในที่มืด ดังนั้นมันจึงเห็นเชื้อตัวเมียได้ยาก ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นได้ว่าเชื้อโรคชนิดนี้จะแพร่พันธุ์ได้ดีเฉพาะในบริเวณที่มีเชื้อตัวผู้และตัวเมียอยู่ด้วยกันเท่านั้น และเหตุผลนี้ก็ได้ชี้นำให้แพทย์รู้วิธีจำกัดการระบาดหรือการลุกลามของโรค คือให้เชื้อตัวผู้และเชื้อตัวเมียอยู่แยกกันให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

ในปี พ.ศ. ๒๔๒๘ แพทย์มิชชันนารีชาวอังกฤษชื่อ Patrick Manson ซึ่งทำงานอยู่ที่เมือง Amoy ในจีน ได้รายงานการพบชายจีนหลายคนมีอัณฑะบวมโต จึงทำการผ่าตัดให้คนไข้ทุกคนมีอาการดีขึ้น เมื่อ Manson เดินทางกลับถึงลอนดอน เขาได้ศึกษาค้นคว้าเอกสารเกี่ยวกับโรคเท้าช้างนี้จนรู้ว่า Filaria bancrofti คือเชื้อที่ทำให้เกิดโรคร้าย ซึ่งสามารถพบได้ในปัสสาวะและเลือดของผู้ป่วย และเมื่อ Manson เดินทางกลับจีน เขาก็ได้เริ่มวิจัยเรื่องโรคเท้าช้างอย่างจริงจัง โดยตั้งคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับเชื้อตัวอ่อน microfilariasis ที่อยู่ในเลือดของผู้ป่วย และเหตุใดหนอนตัวอ่อนจึงมีพบในเลือด แต่หนอนที่มีอายุกลับชอบอยู่ในต่อมน้ำเหลือง ฯลฯ แต่แล้ว Manson ก็ฉุกคิดได้ว่าที่ Amoy มียุงชุกชุม ดังนั้นเวลายุงกัดผู้ป่วย หนอนตัวอ่อนที่อยู่ในเลือดอาจถูกยุงดูดเข้าไปในตัวยุงและเติบโตที่นั่น

ตัวอ่อนของเชื้อโรคในเลือดคนเส้นผ่าศูนย์กลางของหนอนในภาพนี้ขยาย ๑,๒๕๐ เท่า

ตัวอ่อนหลังจากอยู่ในยุง ๓ วันจะมีลักษณะคล้ายไส้กรอก เส้นผ่าศูนย์กลางของตัวอ่อนในภาพขยาย ๗๐๐ เท่า

เพื่อทดสอบความคิดนี้ Manson จึงทำการผ่ายุงที่กัดผู้ป่วยด้วยโรคเท้าช้าง และก็ได้พบว่าหลังจากที่ยุงดูดเชื้อตัวอ่อนเข้าไปในตัวยุงแล้ว อีก ๑๐ วันต่อมาหนอนจะมีขนาดใหญ่ขึ้นมาก และเมื่อยุงบินไปกัดคนอื่น คนคนนั้นก็จะรับตัวหนอนขนาดปานกลางเข้าสู่ร่างกาย

นี่เป็นการทดลองครั้งแรกที่แสดงให้โลกรู้ว่า โรคสามารถแพร่จากคนสู่คนได้โดยอาศัยแมลงเป็นสื่อ (หลายปีหลังจากที่ Manson พบความรู้นี้ Ronald Ross ก็ได้พบเช่นกันว่ามาลาเรียสามารถระบาดได้โดยมียุงก้นปล่องเป็นพาหะ และ Ross ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ประจำปี ๒๔๔๕ แต่ Manson ไม่ได้)

ในเวลาต่อมา Manson ได้ว่าจ้างผู้ช่วยชาวจีน ๒ คนให้เจาะเลือดคนป่วยเพื่อค้นหาหนอนโรคเท้าช้างมาวิเคราะห์ โดยให้ผู้ช่วยคนหนึ่งเจาะเลือดในเวลากลางวัน ส่วนอีกคนเจาะเลือดในเวลากลางคืน แล้ว Manson ก็ได้ข้อสรุปว่า เชื้อตัวอ่อนจะปรากฏอยู่ในเลือดในเวลากลางคืนเป็นจำนวนมากกว่าเวลากลางวัน ในอัตราส่วน ๑๐:๑ เขาจึงติดตามความ “อปรกติ” นี้โดยให้ผู้ช่วยเจาะเลือดคนป่วยทุก ๔ ชั่วโมง เป็นเวลานาน ๑๐ วัน ตั้งแต่เก้าโมงเช้าซึ่งเป็นเวลาที่หนอนตัวอ่อนสาบสูญไปจากเลือด แล้วเริ่มปรากฏตัวอีกเมื่อพระอาทิตย์ตกดิน จากนั้นจำนวนหนอนก็เพิ่มมากขึ้นๆ จนมากที่สุดเมื่อถึงเวลาเที่ยงคืน แล้วก็ลดจำนวนลงจน “สาบสูญ” ไปอีกในตอนเช้า Manson ยังพบอีกว่า วัฏจักรการเพิ่ม-ลดของเชื้อตัวอ่อนนี้เป็นไปอย่างสม่ำเสมอทุกวัน ครั้นเมื่อ Manson รายงานการพบความจริงนี้ในที่ประชุมของแพทยสมาคมแห่งลอนดอน เขาก็โดนแพทย์คนหนึ่งล้อว่า “นี่คุณกำลังบอกพวกเราว่า หนอนพวกนี้มีนาฬิกาติดตัวหรือไง”

แต่ในที่สุดเมื่อแพทย์อีกหลายคนได้พบเห็นเหตุการณ์นี้เช่นกัน วัฏจักรการอุบัติของเชื้อในเลือดก็เป็นเรื่องจริง และ Manson ก็ได้อธิบายที่มาของวัฏจักรนี้ว่า เพราะยุงที่เป็นพาหะโรคเท้าช้างมักกัดคนในเวลากลางคืน ดังนั้นหนอนตัวอ่อนจึงพากันกรูออกมาในเลือดเพื่อให้ยุงดูดตัวไป แต่เมื่อถึงเวลากลางวัน หนอนจะหลบไปอยู่ที่ปอด (๘๕%) ตับ ไต (๔.๓%) เลือด (๘.๔%) ม้าม (๐.๕%) ตัวเลขดังกล่าวนี้ Manson ได้จากการผ่าตัดผู้ป่วยด้วยโรคเท้าช้างที่ฆ่าตัวตายเมื่อเวลา ๐๘.๓๐ น.

ในขณะที่ F.Hawking ซึ่งใช้ลิงเป็นกรณีศึกษาเรื่องนี้เพราะลิงมีลักษณะทางกายภาพคล้ายคน กลับพบว่าไม่ว่าจะเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน อวัยวะ เช่น ตับ ไต ม้าม ผิวหนัง และกล้ามเนื้อของลิงแทบไม่มีเชื้อตัวอ่อนเลย ส่วนปอดซึ่งมีเส้นเลือดขนาดใหญ่หล่อเลี้ยงจะมีเชื้อตัวอ่อนมากในเวลากลางวัน แต่จำนวนจะลดลงเล็กน้อยในเวลากลางคืนเพราะเชื้อส่วนหนึ่งถูกขับออกมาในเลือด Hawking อธิบายว่าการที่เป็นเช่นนี้เพราะที่ปอดมีออกซิเจนมากพอให้หนอนตัวอ่อนใช้ในการดำรงชีวิต และตัวอ่อนบางส่วนจะผละจากปอดในเวลากลางคืนเพื่อลอยตัวตามกระแสเลือด คอยโอกาสที่จะให้ยุงดูดตัวไป แต่ถ้าไม่พบยุงมันก็จะกลับไปอยู่ที่ปอดใหม่เพื่อพักผ่อน จนกระทั่งถึงเวลากลางคืนมันก็จะออกมาเป็นเหยื่อยุงอีก และถึงจะอยู่ที่ปอดเป็นจำนวนมาก Hawking ก็พบว่ามันไม่ทำอันตรายปอดเลย

สำหรับคำถามที่ว่า หนอนตัวอ่อนรู้ได้อย่างไรว่าถึงเวลาที่มันจะออกมาเผชิญยุงได้แล้ว Hawking พบว่า อุณหภูมิของร่างกาย ความเป็นกรดด่างของเลือด และปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในปอดที่แปรปรวนอย่างเป็นวัฏจักรตลอด ๒๔ ชั่วโมงมีบทบาทในการควบคุมเรื่องนี้ โดยเฉพาะถ้าคนไข้ออกกำลังกายมากในเวลากลางคืน เลือดของเขาแทบจะไม่มีหนอนตัวอ่อนเลย เพราะหนอนส่วนใหญ่จะไปอยู่ที่ปอดซึ่งขณะนั้นมีออกซิเจนมาก ในทางตรงกันข้าม ถ้าร่างกายขาดออกซิเจน หนอนตัวอ่อนจำนวนมากจะผละจากปอดออกมาตามกระแสเลือด ทั้งๆ ที่ขณะนั้นเป็นเวลากลางวันแสกๆ

สำหรับการป้องกันควบคุมและรักษาโรคเท้าช้างนั้น แพทย์ได้พบว่ายาฆ่ายุงสามารถฆ่ายุงที่เป็นพาหะนำเชื้อโรคได้ถ้าให้คนไข้กิน Hetrazan ยาสามารถกำจัดหนอนตัวอ่อนในเลือดได้เกือบหมดภายในเวลา ๑ ชั่วโมง และถ้าให้คนไข้กินยานี้ไปเรื่อยๆ หนอนมีอายุก็จะเป็นหมัน แต่นี่มิใช่การรักษาเพราะตราบใดที่หนอนยังไม่ตาย การอุดตันของต่อมน้ำเหลืองโดยเนื้อเยื่อที่สลายก็ยังมีโอกาสสูง วิธีที่ดีในการบำบัดโรคคือ การให้ยา albendazole; ivermectin หรือ diethylcarbamazine ที่นิยมเรียกสั้นๆ ว่า DEC แก่ทุกคนในพื้นที่ที่โรคนี้กำลังระบาด โดยต้องตั้งเป้าว่าการกำจัดหนอนให้หมดจากร่างกายไม่ใช่เรื่องสำคัญ ประเด็นสำคัญคือทำให้จำนวนหนอนลดลงมากจนหนอนมีโอกาสในการแพร่พันธุ์เป็นศูนย์ แล้วในที่สุดมันก็จะตายไป ซึ่งอาจใช้เวลานานถึง ๘ ปี

ตามปรกติการขอร้องให้คนไข้กินยานั้นมิใช่เรื่องง่าย ถ้าจะให้เหตุผลเพียงว่าเพื่อป้องกันไม่ให้คนอื่นๆ เป็นโรคด้วย ทั้งนี้เพราะคนเหล่านี้มีฐานะยากจนและแทบไม่ได้รับการศึกษา อีกทั้งมีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าเดือนละ ๑,๔๐๐ บาท และรัฐบาลมีงบประมาณค่ายาให้คนละ ๑๔๐ บาท/ปี คนป่วยจึงไม่มีเงินซื้อยาแพงๆ คนเหล่านี้จึงต้องการยาฟรี แต่ถึงจะได้ยาเขาก็มักไม่ไว้ใจยา เช่นผู้หญิงมักกลัวว่ารัฐบาลกำลังให้ยาเพื่อทำให้เธอมีลูกยาก ส่วนผู้ชายก็มักคิดว่ากินยาแล้วจะทำให้ร่างกายเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น แต่ความจริงมีว่าการควบคุมการระบาดของโรคเท้าช้างจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพถ้าบริเวณนั้นมีการระบาดอย่างรุนแรง เมื่อใครๆ ก็เกลียดและกลัวคนที่เป็นโรคนี้ ดังนั้นพวกเขาจึงให้ความร่วมมือในการกินยาแต่โดยดี แต่ในบริเวณที่โรคเท้าช้างระบาดไม่มาก การชักชวนและชักจูงผู้คนให้กินยาเป็นเรื่องไม่ง่ายเลย

ตั้งแต่ปี ๒๕๔๓ เป็นต้นมา รัฐบาลแทนซาเนียจึงได้ร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก และบริษัทยา Merck กับ GlaxoSmithKline ซึ่งได้อุทิศเงิน ๑,๐๐๐ ล้านดอลลาร์เพื่อการนี้ กำจัดโรคเท้าช้างบนเกาะ Mafia ในแอฟริกา ที่ซึ่งประชากรบนเกาะจำนวนกว่าครึ่งป่วยเป็นโรคนี้ โดยใช้ยา Mectizan และ albendazole ในการรักษา โครงการนี้ได้วางแผนป้องกันโดยการชักจูงให้ทุกคนนอนกางมุ้ง และชี้ให้เห็นว่าผู้ชายที่อัณฑะโตผิดปรกติเป็นปัญหาเพราะมีแนวโน้มว่าแต่งงานไปแล้วจะไม่มีลูก ส่วนผู้หญิงที่เป็นโรคนี้ก็ถูกติเตียนสาปแช่งว่าได้ทำบาปมากจนหาใครแต่งงานด้วยไม่ได้และจะไม่มีใครเลี้ยงดูยามชรา สังคมจึงเริ่มตระหนักในภัยนี้และให้ความร่วมมือด้วยดี

ถึงโครงการนี้จะยังไม่ลุล่วง แต่ก็กำลังรุดหน้าไปเรื่อยๆ และถ้าโครงการนี้ประสบความสำเร็จ ประชากรแทนซาเนียอีก ๑๒ ล้านคนที่อยู่ใกล้เกาะ Mafia ก็จะปลอดภัย สำหรับที่หมู่เกาะ Solomon นั้น องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้เป็นพื้นที่ปลอดโรคเท้าช้างแล้ว

เมื่อถึงปี ๒๕๖๓ องค์การอนามัยโลกได้ตั้งความหวังว่า โรคเท้าช้างจะถูกกำจัดจนสิ้นโลกเช่นเดียวกับโรคฝีดาษครับ