ภัทรวดี สุพรรณพันธุ์

แอนนาเป็นเด็กหญิงวัย ๙ ขวบที่ไม่ธรรมดา เธอเฉลียวฉลาด มั่นใจ แต่งตัวเนี้ยบ และไม่เคยลังเลที่จะตัดสินคนอื่น โลกของเธอคือโลกของชนชั้นกลางผู้มีอันจะกิน พ่อเป็นทนาย แม่เป็นคอลัมนิสต์ของนิตยสารแฟชั่นชื่อดัง ส่วนตายายก็เป็นเจ้าของคฤหาสน์หลังงามในชนบท เธอเข้าโรงเรียนคาทอลิก มีพี่เลี้ยงซึ่งทำกับข้าวแสนอร่อยและคอยอาบน้ำแต่งตัวให้ เธอตั้งตัวเป็นพี่ใหญ่ในหมู่ญาติ (ตัวเล็ก ๆ) และบอกทุกคนว่าเธอชอบฟังแต่นิทานที่มีเจ้าชายกับเจ้าหญิงเท่านั้น

อยู่มาวันหนึ่ง พี่เลี้ยงก็โพล่งออกมาว่า “อาของเธอน่ะเป็นคอมมิวนิสต์”

“อะไรนะคะ” เธอถามอย่างงุนงงกับศัพท์คำใหม่

“คอมมิวนิสต์ไง” พี่เลี้ยงกระแทกกระทั้นอย่างมีน้ำโห “ไอ้พวกสีแดงมีหนวด (rojos barbudos) ป้าต้องหนีออกจากคิวบาก็เพราะไอ้ฟิเดล กับพวกคอมมิวนิสต์นี่ละ พวกมันยึดเอาของของป้าไปทุกอย่างเลย ทั้งบ้าน…ที่ดิน…ทุกสิ่งทุกอย่าง …ไอ้พวกสารเลวเอ๊ย…พวกมันเกือบทำให้เกิดสงครามนิวเคลียร์แน่ะ”

จากนั้นความเปลี่ยนแปลงก็ทยอยเข้ามาเยือนโลกอันแสนสุขของแอนนา เริ่มจากน้าสาวพาลูกอพยพจากสเปนมาพักอยู่ที่บ้านชั่วคราว ไม่นานพ่อก็ลาออกจากงานและหันมาเป็น “นักเคลื่อนไหวทางการเมือง” อย่างเต็มตัว ส่วนแม่ก็พาผู้หญิงแปลกหน้าเข้าบ้านไม่เว้นแต่ละวัน แล้วพูดกันถึงสิ่งที่เธอไม่เข้าใจอย่างเรื่อง “ทำแท้ง” นอกจากนี้ยังไม่รวมพวกผู้ชายท่าทางแปลก ๆ ไว้ผมเผ้าและหนวดเครารุงรัง ที่แวะเวียนกันมาสนทนายามดึกกับพ่อแม่ของเธออยู่เสมอ

แต่อะไรก็ไม่ร้ายเท่ากับการต้องย้ายออกจากบ้านหลังโก้ที่มีสวนสวย ไปอยู่อพาร์ตเมนต์เล็ก ๆ ที่เธอต้องแชร์ห้องนอนและเตียงสองชั้นกับน้องชายตัวแสบ เท่านั้นยังไม่พอ พี่เลี้ยงคนโปรดยังถูกเชิญออก และพ่อแม่ยังห้ามไม่ให้เธอเรียนวิชาไบเบิลด้วย

“เกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของชั้น !!” แอนนาคงรู้สึกคับแค้นใจและอยากประท้วงโลกที่ช่างหมุนเปลี่ยนไปราวกับว่าเธอไม่มีตัวตน แต่สิ่งที่เธอทำได้ในอายุขนาดนี้คือการตั้งคำถาม…ถาม…และถาม…

ฉากหลังของหนัง Blame it on Fidel (Julie Gavras, ๒๐๐๖) คือกรุงปารีสช่วงต้นทศวรรษ ๑๙๗๐ ที่อุณหภูมิทางการเมืองทั่วโลกกำลังร้อนระอุจากการปะทะกันระหว่างค่ายโลกเสรีกับค่ายสังคมนิยม อันมีสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตเป็นโต้โผใหญ่ หนังผูกโยงเหตุการณ์ทางการเมืองในสเปน ชิลี และฝรั่งเศสเข้าด้วยกัน แล้วถ่ายทอดความซับซ้อนและลักลั่นของสิ่งที่เรียกว่า “อุดมการณ์ทางการเมือง” ได้อย่างแหลมคม โดยดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของตัวละครซึ่งเป็นเด็กผู้หญิงในครอบครัวเล็ก ๆ ครอบครัวหนึ่ง อันเป็นวิธีการที่คล้ายคลึงกับ Pan’s Labyrinth (Guillermo del Toro, ๒๐๐๖) และ Persepolis (Vincent Paronnaud / Marjane Satrapi, ๒๐๐๗) หนังวิพากษ์ระบอบการปกครองในสเปนและอิหร่านซึ่งออกฉายไปไม่นานนี้

เมื่อเปรียบเทียบกับ Pan’s Labyrinth หนังดรามากึ่งแฟนตาซีซึ่งใช้วิธีผสมผสานการเล่าเรื่องแบบสมจริงและเหนือจริงเข้าด้วยกัน เพื่อถ่ายทอดสภาพสังคมสเปนในยุคหลังสงครามกลางเมืองที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการทหารอันโหดร้ายทารุณของนายพลฟรังโก้ และ Persepolis ที่เล่าถึงสงครามกลางเมืองอิหร่าน ตลอดจนระบอบการปกครองอันเคร่งครัดและการกดขี่ทางเพศในยุคโคไมนี ผ่านการ์ตูนขาวดำแนวเอกซเพรสชันนิสม์ที่เรียบง่ายทว่าทรงพลัง

Blame it on Fidel ดู “จืด” ไปสนิทใจไม่ว่าจะมองจากมุมไหน

แต่ถ้ามองผ่านสไตล์เรียบ ๆ แบบสมจริงและพล็อตเรื่องที่ไม่หวือหวาตื่นเต้นแล้ว จะพบว่า Blame it on Fidel พูดถึง “การเมือง” ได้อย่างเข้มข้นและถึงแก่นไม่แพ้กัน

หนัง “พูด” ผ่านตัวละครในครอบครัวของแอนนา ซึ่งเห็นได้ชัดว่านอกจากจะทำหน้าที่เป็นครอบครัวตามความหมายทั่วไปแล้ว ยังสะท้อนถึงความเป็นประเทศฝรั่งเศส หรือถ้าให้เฉพาะเจาะจงลงไปก็คือ กรุงปารีสที่เพิ่งผ่านพ้นเหตุการณ์ “พฤษภา ๖๘” มาได้ไม่นาน

ครอบครัวซึ่งมีสมาชิกเพียงไม่กี่คนนี้จึงเป็นที่รวมของความหลากหลายอันน่าตื่นตา ทั้งในแง่ “ภูมิหลัง” (แม่เป็นปัญญาชนชาวฝรั่งเศส พ่อหนีระบอบเผด็จการของนายพลฟรังโก้มาจากสเปนและยังมีบรรดาพี่เลี้ยงที่อพยพลี้ภัยมาจากคิวบา กรีก และเวียดนาม) และ “อุดมการณ์” (พ่อโปรสังคมนิยม แม่เสรีนิยมเอียงซ้าย ตายายเป็นพวกอนุรักษนิยม ส่วนพี่เลี้ยงชาวคิวบานั้นมีจุดยืนทางการเมืองอย่างไรไม่ปรากฏ แต่ที่แน่ ๆ คือเกลียดคอมมิวนิสต์เข้ากระดูกดำ)

จุดที่น่าสนใจคือ “อุดมการณ์” ซึ่งแตกต่างกันจนถึงขั้นขัดแย้งกันนี้ ไม่ได้ลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างตัวบุคคล หากดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสันติภายในครอบครัวเล็ก ๆ และสมองน้อย ๆ ที่กำลังสับสนของแอนนา เราจึงไม่เคยเห็นตัวละครทะเลาะเบาะแว้งกันเพราะคิดเห็นแตกต่าง หนังเรื่องนี้เลยมีบรรยากาศคล้าย ๆ สถานีชุมทาง ที่แม้จะอื้ออึงและวุ่นวายไปด้วย “อุดมการณ์ต่างกระแส” แต่ก็เป็นความ “อื้ออึงวุ่นวาย” ที่ดำเนินไปอย่างสงบยิ่ง

และเมื่อจัดระเบียบความ”อื้ออึงวุ่นวาย” ให้เข้าที่เข้าทางแล้ว ก็พบว่าหนังได้ส่งสารกระตุกเตือนถึงธรรมชาติอันลื่นไหลของอุดมการณ์ทางการเมือง ที่บางครั้งก็ไหลลื่นเสียจนออกนอกลู่นอกทางไปคนละทิศละทาง ซึ่งสะท้อนความจริงที่ว่า ผู้คนมักจะตีความอุดมการณ์ทางการเมืองไปต่าง ๆ นานาตามประสบการณ์ส่วนตัวและค่านิยม ความเชื่อที่ถูกปลูกฝังมา ดังที่พี่เลี้ยงชาวคิวบาสาปแช่ง
คอมมิวนิสต์ไม่เว้นแต่ละวันเพราะถูก “ไอ้พวกสีแดงมีหนวด” ยึดบ้านยึดที่ดินไป ขณะที่พ่อแม่ของแอนนาเชื่อว่าลัทธิสังคมนิยมจะช่วยให้คนจนจนน้อยลงและสังคมโดยรวมดีขึ้น ฝ่ายขวาจัดอย่างยายรังเกียจคอมมิวนิสต์เพราะคิดว่าคอมมิวนิสต์คือคนจนที่เกลียดคนรวย ส่วนเจ้าน้องชายสงสัยว่าคอมมิวนิสต์ต่างจากซานตาคลอสตรงไหน ก็ในเมื่อ “สีแดงมีหนวด” เหมือนกันนี่นา

ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ หนังชี้ให้เห็นถึงพื้นที่ “สีเทา” อันเป็นพื้นที่ซึ่ง “อุดมการณ์” อาจถูกตีความบิดเบือนให้เป็นอื่นได้ เช่นตอนที่พ่อแม่พาแอนนาไปร่วมเดินขบวนต่อต้านนายพลฟรังโก้ของสเปน และสอนว่าเป็นการแสดงออกถึง “ความเป็นปึกแผ่นของกลุ่ม” (group solidarity) แต่เมื่อแอนนานำวิธีนี้มาใช้กับการตอบคำถามครูในห้องเรียน เธอหัวเสียมากที่พบว่ามันทำให้เธอตอบผิด พ่ออธิบายว่าการตอบตามเพื่อน ๆ คนอื่นนั้นเรียกว่า “พฤติกรรมแบบแกะ” (sheep behaviour) ไม่ใช่ “ความเป็นปึกแผ่นของกลุ่ม” แต่แล้วพ่อแม่ก็ต้องอึ้งเมื่อแอนนาถามกลับไปว่าเราจะแยกแยะ “พฤติกรรมแบบแกะ” ออกจาก “ความเป็นปึกแผ่นของกลุ่ม” ได้อย่างไร แล้วจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเราเป็นอย่างที่เราคิดว่าเราเป็นจริง ๆ

บน Pan’s Labyrinth, ล่าง Persepolis

โอฟิเลียใน Pan’s Labyrinth และมาร์จี้ใน Persepolis ไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับโลกที่อุดมไปด้วย
เสรีภาพทางการเมืองเช่นนี้ แต่กลับต้องเผชิญกับพิษร้ายจากสงครามและอำนาจเผด็จการ หนังสองเรื่องนี้จึงตีความว่า “การเมือง” คือความสับสนอลหม่าน หายนะ และความตาย และให้ตัวละครเลือกที่จะ “หนี” โดยให้โอฟิเลียค้นพบประตูลับที่นำเธอไปสู่เขาวงกตพิศวงในโลกแห่งจินตนาการ ส่วนมาร์จี้ก็ถูกส่งตัวไปเรียนต่อที่กรุงเวียนนา Persepolis วาดภาพยุโรปว่าเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพและความหวัง ขณะที่อิหร่านคือซากปรักหักพังแห่งความทรงจำ Pan’s Labyrinth และ Persepolis จบลงที่ความตายของโอฟิเลีย ส่วนมาร์จี้ตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่ในยุโรป

Pan’s Labyrinth และ Persepolis คือโลกที่อุดมการณ์ทางการเมืองถูกแทนที่ด้วยความบ้าคลั่ง…โลกที่เมื่อสิ้นเสียงปืน เสียงระเบิด และเสียงร่ำไห้ สิ่งที่หลงเหลืออยู่ก็คือความเงียบงัน …ความรู้สึกกลัว โกรธ สับสน ท้อแท้ สิ้นหวัง และโหยหาสังคมอันสงบสุขแผ่ซ่านอยู่ในทุกอณูของหนัง และสอดรับอย่างเหมาะเจาะกับตัวละครซึ่งมีลักษณะ “ถูกกระทำโดยไร้อำนาจตอบโต้” (passive) โอฟิเลียและมาร์จี้คือตัวละครที่สะท้อนจิตสำนึกของประชาชนชาวสเปนในยุค ๑๙๔๐ และชาวอิหร่านในยุค ๑๙๗๐ เมื่อรัฐยึดอำนาจจากประชาชน แล้วใช้อำนาจนั้นกดขี่และลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้แก่ชนชั้นผู้นำกลุ่มเล็ก ๆ เพียงบางกลุ่ม

ในทางตรงข้าม Blame it on Fidel เป็นหนึ่งในหนังไม่กี่เรื่องที่มอบ “อำนาจ” ให้แก่ตัวละครซึ่งไร้อำนาจ… ซึ่งก็ต้องขอบคุณหนังที่เปิดพื้นที่ให้แอนนาได้มีโอกาส “หายใจ” หรืออีกนัยหนึ่ง แอนนาโชคดีกว่าโอฟิเลียและมาร์จี้ตรงที่เธอไม่ได้ตกอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการหรือระบอบการปกครองที่สุดโต่งจนไม่เหลือความเป็นมนุษย์ แต่ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศซึ่งเด็กหญิงเล็ก ๆ คนหนึ่งมีเสรีภาพที่จะพูด-ถาม-เถียงได้ทุกเรื่อง

ความเยาว์วัย ไร้เดียงสา และอ่อนต่อโลกของแอนนา จึงไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้และรู้จักธรรมชาติของ “การเมือง” หากแต่เป็นข้อได้เปรียบ …ด้วยสายตาที่จับจ้องอย่างพินิจพิเคราะห์และสงสัยใคร่รู้ของเด็กหญิงตัวเล็ก ๆ คนนี้ เราเรียนรู้ว่า “การเมือง” ไม่ได้เป็นสีขาว-ดำ ไม่ใช่การเลือกข้างพระเอกหรือผู้ร้าย ไม่ได้ตัดสินกันง่าย ๆ ด้วยมาตรฐานทางจริยธรรม และที่สำคัญที่สุด “การเมือง” จะเผยโฉมหน้าที่แท้จริงออกมาก็ต่อเมื่อกระบวนการเรียนรู้และการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของเราไม่ถูกปิดกั้น

Blame it on Fidel จบลงด้วยการที่แอนนาตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนคาทอลิกแล้วย้ายไปอยู่โรงเรียนสหศึกษาที่เปิดรับเด็กทุกเชื้อชาติและศาสนา ความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่เกิดขึ้นสอนให้เธอกลัวความเปลี่ยนแปลงน้อยลง และมองโลกด้วยหัวใจที่เปิดกว้าง ไม่ยึดมั่นเอาแต่ความคิดของตัวเองฝ่ายเดียว จากเด็กหญิงหัวอนุรักษนิยมที่ไม่รู้จักคอมมิวนิสต์ เธอเรียนรู้ว่า การยอมรับความแตกต่างและความเปลี่ยนแปลงต่างหากเล่า ที่เป็นสัญลักษณ์ของการเติบโตอย่างเข้มแข็งและแข็งแรง

ฉากสุดท้ายที่โรงเรียนใหม่บอกอะไรเราได้มาก ภาพถ่ายจากมุมสูงเห็นแอนนายืนโดดเดี่ยวอยู่ท่ามกลางเด็กนักเรียนทั้งหญิงและชาย ซึ่งกำลังเดิน วิ่ง นั่ง ตะโกน และเล่นกันอย่างไร้ระเบียบ แต่เมื่อเด็กหญิงกลุ่มหนึ่งชวนเธอเล่นด้วย เธอก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของความสับสนอลหม่านนั้น

สำหรับแอนนา ความสับสนอลหม่านไม่ได้หมายถึงความแตกแยก หากแต่เป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพและความเสมอภาค และที่สำคัญ “การเมือง” คือสิทธิและเสียงของคนทุกคน ไม่ใช่เครื่องมือแสวงหาอำนาจหรือผลประโยชน์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ผู้กำกับเรื่องนี้กล่าวว่า Blame it on Fidel เป็นเรื่องของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ และตระหนักว่าทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกนี้ล้วนมีความซับซ้อนกว่าที่คิดมากนัก๓ ผู้เขียนคิดว่า Blame it on Fidel คือหนัง coming-of-age ที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับสังคมที่ “ประชาธิปไตย” กำลังถูกกลืนกินไปทีละน้อยด้วยอำนาจเผด็จการ ทว่าคำถามที่ยังไม่มีใครยอมตอบคือ…เราพร้อมแล้วหรือยังที่จะละ-เลิก “ความไร้เดียงสาทางการเมือง” แล้วใช้ “อำนาจ” ในมือสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบเสียท

เชิงอรรถ

๑. ฟิเดล คาสโตร ผู้นำทางการเมืองของประเทศคิวบาระหว่างปี ค.ศ.๑๙๕๙ – ๒๐๐๘ (ประกาศสละตำแหน่งทางการเมืองเมื่อ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๐๐๘) และเป็นผู้นำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศให้เป็นระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์
๒. “Mai 68” หรือเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ๑๙๖๘ – การเดินขบวนประท้วงรัฐบาลของนักศึกษาฝ่ายซ้ายและกลุ่มศิลปิน (รวมทั้งผู้กำกับอย่าง ฟรังซัวส์ ทรุฟโฟต์ และ ฌอง-ลุก โกดาร์) ซึ่งนำไปสู่การนัดหยุดงานของผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ รวมทั้งสั่นคลอนความเป็น “สังคมจารีต” ของฝรั่งเศสในขณะนั้น
๓. http://www.ioncinema.com/news.php?nid=1117