นิรมล มูลจินดา : เรื่อง
บุญกิจ สุทธิญาณานนท์ : ภาพ

“ผมคงไม่เหมือนคนญี่ปุ่นทั่วไป” เขาตอบเป็นภาษาอังกฤษสำเนียงญี่ปุ่นคู่กับเสียงหัวเราะ

เจ้าหน้าที่คนไทยที่มูลนิธิญี่ปุ่นบอกว่าคุณฮมมะใจดี  และความใจดีของคุณฮมมะอาจไม่เกี่ยวกับความเป็น “ญี่ปุ่นทั่วไป” ของเขา

ความเป็น “ญี่ปุ่นทั่วไป” ในความรับรู้ของคนกรุงเทพฯ มักเชื่อมโยงกับบาร์ที่ถนนธนิยะ การเล่นกอล์ฟ คาราโอเกะ การจับจ่ายซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตเฉพาะ และความเหนียวแน่นของชุมชนคนต่างชาติ ที่ได้ชื่อว่าเป็นชุมชนคนญี่ปุ่นนอกประเทศที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก  ที่ลงทะเบียนเป็นสมาชิกสมาคมญี่ปุ่นมีอยู่ประมาณ ๑ หมื่นคน แต่ในความเป็นจริงอาจมีคนญี่ปุ่นพำนักอยู่ในประเทศไทยถึง ๓ หมื่นคน หรืออาจจะมากกว่านั้น

คุณฮมมะบอกว่า คนไทยมักรู้จักคนญี่ปุ่นที่เป็นนักธุรกิจและเล่นกอล์ฟเท่านั้น  “คุณต้องเปิดใจรู้จักคนญี่ปุ่นอย่างเป็นอิสระมากกว่านี้  คุณต้องเรียนรู้คนญี่ปุ่นหลาย ๆ แบบ”

-๑-

คุณฮมมะไม่ได้เป็นนักธุรกิจ

เขาทำงานเป็นผู้อำนวยการมูลนิธิญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหน่วยงานเผยแพร่ แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม สอนภาษา และให้ทุน  เขาไม่เล่นกอล์ฟ ไม่เที่ยวบาร์ย่านธนิยะ ไม่ได้พาครอบครัวมาอยู่เมืองไทย และถ้าไม่ได้รับเชิญไปร่วมกิจกรรมทางวัฒนธรรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการแสดง ละคร นิทรรศการ และพิธีการที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมไทย  เขามักจะเดินทางออกไปยังจังหวัดใกล้ ๆ อย่างอยุธยา ลพบุรี เพชรบุรี นครปฐม ฉะเชิงเทรา และจันทบุรี

ชายชาวญี่ปุ่นวัย ๕๕ ปีผู้นี้อยู่เมืองไทยมา ๔ ปีเศษ พูดภาษาไทยไม่ได้ และนั่งรถทัวร์เที่ยวต่างจังหวัดแบบไปเช้าเย็นกลับคนเดียว

“ทุกคนประหลาดใจเมื่อได้ยินเรื่องนี้  ผมไม่เข้าใจว่าทำไม  มันง่ายออก แค่ซื้อตั๋ว ขึ้นรถ แล้วก็ไปถึงที่นั่น”  โดยไม่ใช้คู่มือนำเที่ยว เขาบอกว่า “ไกด์บุ๊กไม่มีประโยชน์ โดยเฉพาะที่เป็นภาษาญี่ปุ่น  หนังสือพวกนั้นพูดถึงแต่เมืองใหญ่ ๆ เท่านั้น”

แล้วอะไรกันเล่าที่เป็นเนวิเกเตอร์สำหรับการเดินทางของเขา ?

คำตอบคือสามอย่างนี้ : บอร์ดแสดงสถานที่ท่องเที่ยวในสถานีขนส่ง วินมอเตอร์ไซค์ และชาวบ้าน  เขาไม่กลัวที่จะเดินทางคนเดียวในประเทศไทย

ครั้งหนึ่งผมไปเที่ยวเพชรบุรี  ผมถามทางผู้ชายคนหนึ่งว่าเขาวังไปทางไหน  เขาชี้ทางให้และผมก็มองเห็นประตูทางขึ้นแล้ว แค่เดินไปอีกสัก ๑๐-๒๐ นาที  ในญี่ปุ่นเป็นเรื่องง่ายมากที่จะเดิน ๒๐ นาที แล้วผมก็บอกลาผู้ชายคนนั้น  อีกไม่กี่นาทีต่อมา ผู้ชายคนนั้นขี่มอเตอร์ไซค์กลับมารับผมไปส่งที่เขาวัง  เขาใจดีมาก

อีกครั้งหนึ่งที่อยุธยา ผมจะไปที่ตัวเมืองอยุธยาแต่ขึ้นรถบัสผิดคัน  ผมจึงลงจากรถแล้วถามผู้ชายคนหนึ่ง เพียงแต่พูดคำว่า city center ออกไป  แต่ว่าที่ที่ผมลงจากรถนั้นไกลจากตัวเมืองมาก เขาจึงกลับไปเอารถมอเตอร์ไซค์เพื่อขับไปส่งผมที่ตัวเมือง

เห็นได้ชัดว่าคนที่มีตำแหน่งการงานอย่างคุณฮมมะ เมื่อเดินพ้นออกไปจากสำนักงานซึ่งตั้งอยู่บนชั้น ๑๐ อาคารเสริมมิตรทาวเวอร์ ย่านอโศกแล้ว เขาก็ดูเป็นลุงชาวญี่ปุ่นธรรมดาคนหนึ่งในสายตาชาวบ้าน  แต่ว่าในสายตาลุงญี่ปุ่นคนนี้ ชาวบ้านในชนบทไทยอาจไม่ได้เป็นของธรรมดา

ชีวิตของชาวบ้านธรรมดาเป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับผม  ผมเดินเล่นและเที่ยวตลาด  ผมเห็นนกและปลาแปลก ๆ ที่ไม่เคยเห็น  ตอนเป็นนักศึกษา ผมเคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่งของ มัตซูโอะ บาโช ชื่อ โอคึโนะ โฮโซมิฉิ (Narrow Road to the Interior) แล้วผมก็เดินทางไปตามเส้นทางที่กล่าวถึงในหนังสือเล่มนั้น

-๒-

เมื่อผมอยู่ในเมืองใหญ่นาน ๆ บางทีผมอาจลืมไปว่า ชีวิตคืออะไร  ชีวิตที่แท้จริงคืออะไร  ผมจึงอยากรู้จักชีวิตหลาย ๆ แบบหรือหลาย ๆ ความเป็นจริงให้มากที่สุด  ไม่อย่างนั้น จิตวิญญาณของผมอาจสูญเสียสมดุล

ในเมืองใหญ่มีความเครียดหลายอย่าง มีเสียงดังหนวกหู มีปัญหาเรื่องระบบขนส่ง มีมลพิษ  บางทีเราจำเป็นต้องลืมความเครียดเหล่านั้น ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตของคนที่อยู่กับธรรมชาติ  และใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้  เป็นชีวิตที่เรียบง่าย  บางทีผมอาจต้องการชีวิตที่เรียบง่าย  ผมเกรงว่าชีวิตที่เราอยู่กันนี้เกือบจะเป็นชีวิตที่ห่างไกลความเป็นจริง (virtual) บางทีคนรุ่นใหม่อาจจะไม่เข้าใจ  เราดูและฟังจากทีวี หรืออ่านจากหนังสือพิมพ์  แต่ไม่เคยสัมผัสความเป็นจริง  ผมก็เป็นอย่างนั้นด้วย คำหลังของเขาอาจแสดงถึงความถ่อมตัวเช่นเดียวกับอีกหลายคำตลอดการสนทนา

ตอนที่เราเป็นเด็กมีคนบอกว่า ข้าวที่เรากินปลูกโดยชาวนา  แต่เมื่อกินข้าวก็ไม่มีใครคิดถึงเรื่องนี้เลย  “ความเป็นจริง” ที่ผมหมายถึงคือ สิ่งต่าง ๆ มาจากไหน เกิดมาได้อย่างไร  ถ้าเราไม่คิดถึงเรื่องนี้ หรือไม่ได้จินตนาการ
เราจะรู้สึกเหมือนหุ่นยนต์ที่ได้แต่กินข้าวและไปทำงาน  ผมเกรงว่าจิตวิญญาณของเราจะสูญเสียสมดุล หรือสูญเสียความเป็นมนุษย์ไป  เป็นเรื่องง่ายมากที่เราจะอยู่ในสังคมโดยไม่คิดอะไรเลย  แล้วเราจะมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร  ผมรู้สึกว่าชีวิตประจำวันของผมเป็นเหมือนกันทุกวัน บางทีผมต้องการเป็นอิสระจากชีวิตประจำวัน

“คนญี่ปุ่นเรานำธรรมชาติเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวัน  คนไทยก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน  เราปักดอกไม้ในแจกัน แต่ไม่ได้เพื่อตกแต่งอย่างวัฒนธรรมตะวันตกที่ใช้ดอกไม้จำนวนมาก ๆ  แต่เราปักดอกไม้เพียงดอกเดียว  นี่อาจเรียกว่าเป็นความสมถะ”

-๓-

เดี๋ยวนี้ศิลปินญี่ปุ่นมักเดินทางมายังเมืองไทย แทนที่จะไปยุโรปหรือสหรัฐอเมริกาอย่างแต่ก่อน  มีหลายคนที่มาคุยกับผมว่าวัฒนธรรมตะวันตกได้มาถึงขีดจำกัดแล้ว  คนตะวันตกไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อไป  ด้วยเหตุนั้นคนตะวันตกจึงพากันเดินทางมาเอเชีย เพื่อหาสิ่งใหม่ ๆ เพื่อหาความพึงพอใจให้ตนเอง  แต่เอเชียก็คือเอเชีย  ไม่ใส่ใจกับโลกข้างนอก  คนเอเชียมีชีวิตตามแบบของตนเองได้โดยไม่ต้องรับวัฒนธรรมอื่น ๆ  ถึงแม้ว่าจะมีคนเอเชียที่กระตือรือร้นรับวัฒนธรรมตะวันตก แต่ผมคิดว่าในที่สุดเขาจะตระหนักถึงสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ และจะค้นพบตัวเองอีกครั้ง

วัฒนธรรมเอเชียค่อนข้างสมถะและพอใจในตนเองมากกว่าวัฒนธรรมทางยุโรป  วัฒนธรรมไม่ได้เป็นเรื่องของความมั่งคั่งร่ำรวย แต่บางทีเป็นเรื่องของคุณภาพ  ผมคิดว่าคนยุโรปอาจไม่สมถะโดยวัฒนธรรมของเขา เขาจึงต้องเสาะหาวัฒนธรรมอื่น ๆ  แต่คนในเอเชียกลับกำลังเดินตามประเทศตะวันตกและถูกทำให้เป็นตะวันตก  เป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับผม

ญี่ปุ่นเองก็กระตืือรือร้นรับวัฒนธรรมตะวันตกและกำลังจะสูญเสียวัฒนธรรมดั้งเดิม  นี่เป็นเหตุให้กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายโดยให้มีการสอนวิชาเกี่ยวกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นในโรงเรียนอีกครั้ง หลังจากเปลี่่ยนระบบการศึกษาตามอย่างตะวันตกในสมัยเมจิ (ตรงกับรัชกาลที่ ๕)  แต่เรากลับหาครูสอนไม่ได้  เวลาผ่านไปร้อยกว่าปี เหลือคนเพียงน้อยนิดที่เล่นเครื่องดนตรีญี่ปุ่นเป็น และเครื่องดนตรีอย่างซามิเซ็นก็มีราคาแพงอย่างไม่น่าเชื่อ

-๔-

ที่่นี่คุณฮมมะไม่มีรถยนต์ส่วนตัว

“บ้านของผมอยู่ฝั่งตรงข้าม” เขาชี้ไปออกไปยังอีกฟากหนึ่งของถนนอโศก “เดิน ๕ นาทีก็ถึงแล้ว ไม่ค่อยได้ออกกำลังเท่าไร”

เขาชอบอากาศร้อนของเมืองไทย และไม่จำเป็นต้องพึ่งเครื่องปรับอากาศ จะเว้นก็แต่หน้าร้อน  เขาจึงไม่รูู้สึกลำบากในการปรับตัวตอนที่มาอยู่ใหม่ ๆ

เขายังเล่าว่าประทับใจความช่วยเหลือเล็ก ๆ น้อย ๆ บางอย่างที่พบเห็นได้ในสังคมไทย  “คนไทยจูงคนแก่ข้ามถนน  บางครั้งเวลาผมข้ามถนนก็มีคนไทยช่วยจูงพาข้ามถนนด้วย ผมไม่เคยเห็นอะไรอย่างนี้ในญี่ปุ่นเลย”

แล้วคนแก่ที่ญี่ปุ่นข้ามถนนอย่างไรกันนะ ?

“เรามีไฟสำหรับคนข้ามถนนน่ะ”

อ๋อ ที่เมืองไทยต้องผจญภัยมากกว่านั่นเอง คุณฮมมะหัวเราะ

หมายเหตุ : ปัจจุบันคุณฮมมะย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการมูลนิธิญี่ปุ่น ณ เมืองโคโลญน์ ประเทศเยอรมนี หลังจากทำงานครบตามวาระ ๔ ปีในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา  ก่อนจาก เขาฝากบอกถึงบริษัทผู้ผลิตหนังไทยว่าควรจะมีคำบรรยายภาษาญี่ปุ่นในหนังไทยด้วย เพราะเขามักได้รับฟังคำบ่นจากคุณแม่บ้านชาวญี่ปุ่นที่สนใจหนังไทยแต่ไม่เข้าใจภาษาไทยและอ่านคำบรรยายภาษาอังกฤษไม่ได้อยู่เสมอ