เรื่อง : ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
sirote@hawaii.edu
เอื้อเฟื้อภาพ : จีเอ็มเอ็ม พิคเจอร์ส, ไท เอ็นเตอร์เทนเมนท์, หับโห้หิ้น ฟิล์ม

แฟนฉัน เป็นหนังไทยที่ทำรายได้เหนือกว่าหนังไทยทุกเรื่องที่ฉายในปีที่แล้ว  และไม่ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะมีจำนวนผู้ชมมากกว่า อีโล้นซ่า และ พระอภัยมณี หรือไม่   แฟนฉัน ก็เป็นปรากฏการณ์ของปี ๒๕๔๖ เหมือน ๆ กับที่นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เป็นปรากฏการณ์ของปี ๒๕๔๕

อะไรที่เป็นปรากฏการณ์นั้น หากคิดใคร่ครวญให้ดี ก็ล้วนเป็นเรื่องที่ต้องการคำอธิบาย

-แฟนฉัน และวรรณะ-

แฟนฉัน เป็นภาพยนตร์ว่าด้วยความโหยหาอดีตที่มองจากสายตาของปัจจุบัน  และก็เหมือนกับภาพยนตร์แนวโหยหาอดีตโดยทั่วไปที่ปัจจุบันจะเป็นอย่างไรก็ไม่ใช่เรื่องที่สำคัญนัก  ภาพยนตร์เรื่องนี้พูดถึงปัจจุบันอยู่แค่ไม่เกิน ๑๐ นาทีในช่วงต้น และ ๕ นาทีในช่วงท้าย  ขณะที่เวลาที่เหลือเกือบทั้งหมดนั้น อุทิศให้แก่การพรรณนาว่าตัวละครหลักมีอดีต และความทรงจำในวัยเด็กอย่างไร

แม้ แฟนฉัน จะไม่สนใจปัจจุบันมากเท่าอดีต แต่ภาพของปัจจุบันเท่าที่ปรากฏในภาพยนตร์ก็เพียงพอที่จะบอกให้รู้ว่าตัวเอกของเรื่องคือคนชั้นกลาง  ซึ่งนอกจากจะเป็นคนชั้นกลางที่หน้าตาดีแล้ว ก็ยังเป็นคนชั้นกลางที่มีฐานะดี ทำงานในวิชาชีพที่ทันสมัย ฉลาด แต่งตัวดี มีบุคลิกอิสระ  และที่สำคัญก็คือ ดูเป็นตัวของตัวเองอย่างไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร

ตัวเอกของ แฟนฉัน คือคนชั้นกลางที่เป็นลูกจ้างของบริษัทที่ไหนสักแห่ง คนชั้นกลางรายนี้ไม่ใช่พนักงานระดับล่างของบริษัท แต่ก็ไม่ได้เป็นคนที่อยู่ในระดับสูงสุดของบริษัทอีกเช่นกัน  และหากผู้กำกับเมตตาให้ตัวเอกรายนี้มีทักษะในการอ่านบ้าง หนังสือที่จะอยู่ในมือของตัวเอกของเรื่องก็คงเป็นหนังสืออย่าง อะเดย์, โอเพ่น, จีเอ็ม มากกว่าจะเป็น ฟอร์บส์ หรือ เฮรัลด์ ทรีบูน

ตัวเอกของภาพยนตร์เรื่องนี้มีอดีตเป็นเด็กต่างจังหวัด และไม่ว่าต่างจังหวัดในที่นี้จะเป็นอะไรระหว่าง เพชรบุรี ราชบุรี อุทัยธานี นครปฐม ฯลฯ  ภาพของความเป็นเด็กต่างจังหวัดใน แฟนฉัน ก็แตกต่างจากบักหำน้อยใน ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น อย่างปฏิเสธไม่ได้  กล่าวคือในขณะที่บักหำน้อยเป็นลูกชาวนาไร้ที่ดินในเขตชายขอบของความยากจนในภาคอีสาน ตัวละครทุกรายใน แฟนฉัน กลับเป็นลูกคนชั้นกลางระดับล่างในเขตเมือง

เจี๊ยบเป็นลูกช่างตัดผม เด็กอีกคนเป็นลูกเจ้าของโรงน้ำแข็งระดับห้องแถว และที่มีฐานะดีที่สุดก็คือเป็นบุตรหลานของเจ้าของตลาดสดประจำอำเภอ

ไม่มีลูกหลานของชาวนาไร้ที่ดินใน แฟนฉัน  และก็ไม่มีลูกหลานของผู้ดีเก่าหรือมหาเศรษฐีอยู่ใน แฟนฉัน ด้วยเหมือนกัน

เด็ก ๆ ทุกคนในภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นลูกหลานของคนชั้นกลางระดับล่าง ซึ่งมีวิถีการทำมาหาเลี้ยงชีพที่ผูกพันอยู่กับการขยายตัวของเมืองจากส่วนกลางไปสู่ภูมิภาค  หรือพูดอีกอย่างว่าเป็นบุตรหลานของผู้ประกอบการรายย่อยที่เติบโตขึ้นมาในฐานะหางเครื่องของนโยบายกระจายความเจริญ

ถ้ายอมรับว่าพ่อแม่ของเด็ก ๆ ใน แฟนฉัน คือคนชั้นกลางระดับล่างที่หาอยู่หากินอยู่ในรอยต่อของหัวเมืองขนาดใหญ่กับส่วนกลาง  การปิดร้านและย้ายบ้านของพ่อน้อยหน่าคือคำประกาศที่แสดงให้เห็นว่า ระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ไม่ได้ให้โอกาสแก่คนกลุ่มนี้ที่จะลงหลักปักฐานอย่างมั่นคงได้ทุกคนไป  และเมื่อไม่สามารถลงหลักปักฐานได้ การต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้เกิดการเลื่อนชั้นทางสังคมก็กลายเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น

หลังจากบอกเล่าว่า พ่อของน้อยหน่าต้องปิดร้านตัดผมและอพยพไปตั้งรกรากที่ไหนสักแห่ง ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ปิดฉากลงอย่างไม่มีใครรู้ว่าชีวิตของน้อยหน่าหลังจากนั้นเป็นอย่างไร  ความล้มเหลวของผู้แพ้ในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่กลายเป็นสิ่งที่หายไปเฉย ๆ จากภาพยนตร์เรื่องนี้ เหมือน ๆ กับชะตากรรมของผู้แพ้ในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นในโลกจริง ๆ

สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ อย่างเดียวที่ผู้กำกับอนุญาตให้ผู้ชมรับรู้เกี่ยวกับน้อยหน่าก็คือ เธอเป็นเด็กผู้หญิงแก้มแดง  และเธอได้แต่งงาน

ชะตากรรมเช่นนี้แตกต่างจากเจี๊ยบ ซึ่งไม่เพียงครอบครัวของเขาจะสามารถรักษาธุรกิจของตัวเอาไว้ได้ แต่ตัวเจี๊ยบเองก็ดูจะประสบความสำเร็จในการไต่เต้าขึ้นไปสู่สังคมของคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ได้อย่างน่าพึงพอใจ

แฟนฉัน เป็นภาพยนตร์ที่พูดถึงความทรงจำอันหอมหวานแต่ในอดีต แต่ในการพูดถึงอดีตนั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้กลับผลิตซ้ำและตอกย้ำอุดมการณ์ว่าด้วยการดิ้นรนและไต่เต้าทางสังคมแบบคนชั้นกลางภูธรเอาไว้อย่างแยบคาย มีชั้นเชิง และน่าสนใจ (แต่อาจไม่รู้ตัว)

-พื้นที่และเวลา

แฟนฉัน เดินเรื่องบนปฏิสัมพันธ์ของความคิดที่สำคัญสองอย่าง อย่างแรกคือความคิดเรื่องพื้นที่  อย่างที่ ๒ คือความคิดเรื่องเวลา

เด็ก ๆ ใน แฟนฉัน เป็นเด็กที่เติบโตขึ้นในตลาด และตลาดในภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เหมือนกับตลาดในอำเภอใหญ่ ๆ ทุกแห่ง  ซึ่งนอกจากจะมีบทบาทเป็นศูนย์กลางของความเจริญและรายได้ในจังหวัดต่าง ๆ แล้ว ก็ยังมีฐานะเป็นศูนย์กลางของข้อมูลข่าวสารและความเคลื่อนไหวต่าง ๆ อีกด้วย

เพราะเจี๊ยบ แจ็ค มาโนช ฯลฯ อยู่ในพื้นที่แบบนี้  เด็ก ๆ กลุ่มนี้จึงร้องเพลงฮิตทุกเพลงได้อย่างทันสมัย  ดูป๋าเปรมปราศรัยในพิธีเปิดวันเด็ก  รู้ว่าละครโทรทัศน์และหนังจีนเรื่องไหนกำลังฮิต  และรู้ว่ากินน้ำขวดยี่ห้อไหนแล้วจะเท่และอินเทรนด์ได้เท่ากับเด็ก ๆ ในกรุงเทพมหานคร

แฟนฉัน เป็นภาพยนตร์ของเด็กตลาด ซึ่งในทางเศรษฐกิจและภูมิศาสตร์นั้น ตลาดเป็นพื้นที่เฉพาะที่ตั้งอยู่ระหว่างความเป็นภูธรกับความเป็นมหานคร  พื้นที่เฉพาะแห่งนี้เป็นพื้นที่ซึ่งลื่นไหลและเต็มไปด้วยความเคลื่อนไหว และเพราะเหตุนี้ เด็กทุกคนในเรื่องนี้จึงมีชีวิตที่ลื่นไหลและเคลื่อนไหวอยู่ระหว่างความเป็นภูธรกับความเป็นมหานครอยู่ตลอดเวลา

เด็กเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ และพื้นที่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ก็มีองค์ประกอบที่สำคัญสองส่วน ส่วนแรกคือพื้นที่ทางกายภาพ  และส่วนที่ ๒ คือพื้นที่ทางสังคม

ในแง่ของพื้นที่ทางกายภาพนั้น ตัวละครทั้งหมดใน แฟนฉัน มีชีวิตวนเวียนอยู่ในพิกัดทางภูมิศาสตร์ที่เป็น “บ้านนอก” ขณะที่ในแง่ของพื้นที่ทางสังคม แฟนฉัน เป็นเรื่องราวของผู้คนในสังคมที่พร้อมจะผนวกตัวเองเข้าเป็นส่วนหนึ่งของมหานครอยู่ตลอดเวลา

แฟนฉัน เป็นเรื่องราวของเด็กในชุมชนซึ่งแยกตัวออกจากความเป็นต่างจังหวัด และอยู่ท่ามกลางการดิ้นรนที่จะผนึกแน่นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเมืองหลวงของประเทศไทย  ชุมชนแบบนี้ทำให้เด็กกลุ่มนี้ไม่บ้านนอกขนาดเด็ก ๆ ในแม่สะเรียง หนองฉาง ตะพานหิน  แต่ก็ไม่ทันสมัย ไม่ใส่ Pacchino และไม่รู้จัก วิชัย เชวู เหมือนกับเด็กสยาม สุขุมวิท และสะพานควาย

แม้เจี๊ยบ แจ็ค และเพื่อน ๆ จะฟังเพลง “รักคือฝันไป” และ “รักบึงเก่า” แทนที่จะเป็น “ความรักเหมือนยาขม” แต่พวกเขาก็ไม่ได้ทันสมัยถึงขั้นจะรู้จัก บีจีส์, สติ๊กซ์ หรือ แวน ฮาเลน

ลองไปในดูเรื่องของ “เวลา” กันบ้าง

แฟนฉัน เปิดเรื่องด้วยการเดินทางกลับบ้านของเจี๊ยบซึ่งโตขึ้นเป็นคนชั้นกลางที่ทำมาหากินเป็นมนุษย์เงินเดือนในกรุงเทพฯ  ผู้ชมจะรู้ตั้งแต่วินาทีแรก ๆ ว่าเจี๊ยบเป็นตัวละครที่ชีวิตในอดีตไม่ได้มีความสัมพันธ์กับชีวิตของเขาในปัจจุบันต่อไป  เขาลงหลักปักฐานอยู่ในกรุงเทพฯ ในขณะที่อดีตทั้งหมดของเขาอยู่ในพื้นที่อีกแห่งซึ่งอยู่ห่างไกลออกไป

พูดอีกอย่างก็ได้ว่า ตัวละครรายนี้อยู่ในโลกที่ปัจจุบันและอดีตเป็นคู่ขนานที่ไม่มีทางบรรจบกัน

เจี๊ยบใช้โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ ขับรถรุ่นใหม่ แต่งตัวด้วยสูทสมัยใหม่ รวมทั้งทำงานในโลกที่ความทันสมัยคือพระเจ้า  และสำหรับตัวละครรายนี้ หนทางเดียวที่เขาจะสัมพันธ์กับอดีตได้ก็คือการบริโภคเพลง ภาพยนตร์ ฯลฯ เพื่อเข้าไปสู่ความทรงจำ

ภาพยนตร์เรื่อง แฟนฉัน แบ่งแยกมิติของเวลาระหว่างอดีตกับปัจจุบันออกจากกัน  และพร้อม ๆ กับที่แบ่งแยกมิติของเวลา ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ยังแสดงให้เห็นว่า ตลาด ต่างจังหวัด ชนบท บ้านนอก ฯลฯ เป็นเรื่องของอดีต ขณะที่เมืองและมหานครนั้นผนึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับปัจจุบัน

ในภาพยนตร์เรื่อง แฟนฉัน ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นภาค “นอกเมือง” ดูจะมีที่ทางให้เป็นได้อย่างมากก็แค่ความทรงจำจากคืนวันในอดีต แต่จะมีตัวตนและมีชีวิตชีวาได้ก็ต่อเมื่อผนวกตัวเองเข้ามาสู่หนทางของการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นเมือง

ประโยคนี้ฟังผิวเผินแล้วดูดี แต่ความหมายที่แท้จริงก็คือ ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำงานอยู่บนความคิดบางอย่างที่มองว่าอะไรที่ไม่ใช่ “เมือง” และปรับตัวให้เข้ากับ “ปัจจุบัน” ไม่ได้ ก็สมควรที่จะถูกผลักออกไป  ซึ่งในหลายกรณี “อะไร” ที่ว่านี้ก็กินความไปถึงผู้คนที่มีวิถีชีวิตซึ่งไม่เป็นไปตามทิศทางภาคบังคับของสังคม

แฟนฉัน เป็นเรื่องราวของเจี๊ยบและเพื่อนอีก ๕ ราย  แต่เมื่อภาพยนตร์เรื่องนี้จบลง ก็มีแต่เจี๊ยบเท่านั้นที่สามารถไต่เต้าขึ้นไปสู่ความเป็นชนชั้นกลางสมัยใหม่ในเขตเมืองได้  ขณะที่ผู้ชมไม่ได้รับอนุญาตให้รับรู้ว่า แจ็ค พริก มาโนช เงาะ ตี่ และเด็กคนอื่น ๆ หายไปไหน ทำมาหากินอะไร เรียนหนังสือจบหรือไม่  และมีวิชาชีพอะไร ระหว่างกรรมกรรับจ้าง ช่างฟิต พนักงานส่งหนังสือ ฯลฯ ในเขตเมือง

-แฟนฉัน และโลกทัศน์ว่าด้วยปัจจุบัน

ในหนังสือเล่มสำคัญเรื่อง Cinema 1 และ Cinema 2 Gilles Deleuze พูดถึงภาพในภาพยนตร์ว่ามีอยู่สองชนิด ภาพชนิดแรกคือ subjective image หรือภาพที่แสดงให้เห็นว่า เอกบุคคลหรือตัวละครกำหนดความหมายของการกระทำและความสัมพันธ์กับสิ่งต่าง ๆ อย่างไร  ส่วนภาพชนิดที่ ๒ คือ time image หรือภาพย่อย ๆ ซึ่งเมื่อรวบรวมและประกอบเข้าด้วยกันแล้ว ก็จะทำให้เกิดความหมายที่ขัดแย้งและแตกต่างออกไปจากภาพประเภทแรก

ภาพยนตร์เรื่อง แฟนฉัน ประกาศไว้แต่ต้นว่า ตัวเอก (และผู้ชม) มีคุณสมบัติของการโหยหาอดีต  และการเดินทางจากกรุงเทพฯ กลับสู่บ้านเกิดก็คือการเดินทางจากปัจจุบันไปหาอดีตเหล่านั้น  อดีตในที่นี้เป็นอดีตว่าด้วยมิตรภาพเมื่อครั้งเยาว์วัย ซึ่งในอีกแง่หนึ่งก็คืออดีตในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่และเวลาในช่วงที่ผ่านมา

คนเรากำหนดความหมายของอดีตได้หลายแบบ  อดีตอาจถูกจดจำในแง่ของอะไรบางอย่างที่พึงฟื้นฟูให้กลับมีชีวิตชีวาขึ้นมาใหม่ก็ได้  และอดีตสามารถถูกจดจำในแง่ที่เป็นวัตถุสำหรับการระลึกถึงล้วน ๆ ก็ได้เช่นกัน

ในกรณีของ แฟนฉัน อดีตถูกจดจำในฐานที่เป็นวัตถุของการระลึกถึง แต่อดีตไม่ใช่สิ่งที่พึงฟื้นฟูให้กลับคืนขึ้นมาใหม่  และเมื่อเป็นเช่นนี้ มิตรภาพและน้ำใจไมตรีในภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและปิดฉากลงไปอย่างดุษณี แต่ไม่ได้เป็นอะไรที่มีค่าพอจะกลับไปรื้อฟื้นให้เกิดชีวิตชีวาขึ้นมาใหม่ในปัจจุบัน

ท่ามกลางความทรงจำแสนอ่อนหวานที่เจี๊ยบมีต่อเพื่อน ๆ ในวัยเด็ก  ผู้ชมที่ถี่ถ้วนจะเห็นได้ทันทีว่า เจี๊ยบอยู่ในโลกที่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเพื่อนครั้งเยาว์วัย  ชัยชนะในการไต่เต้าทางสังคมผลักส่งให้เจี๊ยบมีเพื่อนกลุ่มใหม่ มีวิถีชีวิตแบบใหม่ และอยู่ในโลกใหม่ ซึ่งแจ็ค พริก มาโนช ตี่ บอย ฯลฯ กลายเป็นมนุษย์ที่มีตัวตนอยู่แต่ในความทรงจำสีจาง ๆ

ในฉากแรกของภาพยนตร์เรื่องนี้ ผู้ชมจะรู้ทันทีว่าเจี๊ยบอยู่ในโลกใหม่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเพื่อน ๆ ในวัยเด็ก  ขณะที่ในฉากสุดท้าย ผู้ชมก็จะเห็นได้อีกเหมือนกันว่า แม้กระทั่งเมื่อกลับไปยังโลกเก่า เจี๊ยบก็ไม่มีสายสัมพันธ์อันใดกับผู้คนในโลกนั้นอีกต่อไป

โลกของเจี๊ยบใน แฟนฉัน เหมือนกับโลกของคนอีกเป็นอันมากที่เข้ามาเรียนหนังสือและทำงานในเขตเมืองจนได้ดิบได้ดีและประสบความสำเร็จ  แต่หากมองย้อนกลับไป ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ความสำเร็จนี้มาพร้อมกับวิถีชีวิตแบบแพ้คัดออก  ซึ่งมีเพื่อนร่วมห้องเรียน เพื่อนร่วมหมู่บ้าน เพื่อนร่วมจังหวัด ฯลฯ เป็นผู้แพ้ซึ่งไม่แม้แต่จะมีใครจดจำ

แฟนฉัน เป็นภาพยนตร์ว่าด้วยการคิดถึงอดีต  แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่คิดถึงอดีตในฐานะของอะไรบางอย่างที่ต้องขุดคุ้ยและฟื้นฟูให้มีชีวิตชีวาขึ้นมาใหม่  อดีตมีที่ทางอยู่แต่ในความทรงจำ และปัจจุบันเท่านั้นที่มีความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด

แฟนฉัน พูดถึงอดีต แต่อดีตในที่นี้เป็นวัตถุที่ถูกอธิบายและให้ค่าจากมุมมองและสายตาของปัจจุบัน เรื่องเล่าต่ออดีตจึงไม่ใช่ตัวอดีต ซ้ำเรื่องเล่านั้นยังสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นปัจจุบันมากกว่าจะเป็นตัวอดีตเอง

แฟนฉัน เป็นภาพยนตร์ที่พูดถึงมิตรภาพ แต่มิตรภาพในที่นี้เป็นมิตรภาพที่สัมพันธ์กับโลกทัศน์ว่าด้วยการไต่เต้าทางสังคมของคนชั้นกลางภูธร–คนกลุ่มที่เป็นผลผลิตของความเปลี่ยนแปลงทางประวัติ ศาสตร์ในปลายทศวรรษ ๒๕๓๐ ที่นโยบายการพัฒนาประเทศไปสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่แพร่ระบาดไปทั่วสังคมไทย  คนกลุ่มที่มีมากทั้งปริมาณและคุณภาพ  แต่ยังปราศจากการแสดงตัวตนทางการเมืองในแง่ใด ๆ

สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ คติที่สำคัญที่สุดก็คือการบอกผู้ชมอยู่กลาย ๆ ว่า  เพื่อนเป็นสิ่งที่มีได้ แต่จะดีกว่ามาก หากเพื่อนนั้นจะอยู่ในสถานะเดียวกันในทางสังคม