นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร |
สารคดี เล่มแรกที่ผมซื้ออ่านคือฉบับหน้าปกบวชลูกแก้ว ตอนนั้นผมเพิ่งย้ายจากอำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เมื่อเห็น สารคดี ที่แผงก็ซื้อเลย เป็นหนังสือที่แปลกใหม่มาก เมืองไทยไม่เคยมีหนังสืออย่าง สารคดี มาก่อน
ผมเลือกเก็บเล่มที่คิดว่าอยากกลับมาอ่านอีกเมื่อมีเวลาว่างในชีวิตมากขึ้น เช่นเล่มที่พูดถึงสามเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในสังคมไทย คือ ๑๔ ตุลา ๑๖, ๖ ตุลา ๑๙ และเหตุการณ์พฤษภา ๒๕๓๕ หรือเล่มอาจารย์ป๋วย อาจารย์ปรีดี หรือเล่มครูโกมล คีมทอง เรื่องเหล่านี้ไว้อ่านตอนที่เรามีคำถามกับตัวเองว่า เรากำลังทำอะไรอยู่ เป้าหมายเราชัดเจนมั้ย และท้อแท้หรือเปล่า อ่านแล้วก็เหมือนกับได้ยาชูกำลังใจ
ผมได้อ่านบทสัมภาษณ์คุณมกุฏ อรฤดี เรื่องสถาบันหนังสือแห่งชาติ ใน สารคดี ฉบับเดือนเมษายน ๒๕๔๔ ตอนนั้นผมยังเป็นรัฐมนตรีช่วยฯ สาธารณสุขอยู่ เล่มนั้นผมเก็บแยกไว้เลย และคิดมาตลอดว่าจะทำให้ความคิดเรื่องสถาบันหนังสือแห่งชาติเป็นจริงได้อย่างไร พอได้มาทำงานที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศฯ ก็รีบติดต่อคุยกับคุณมกุฏ ถึงตอนนี้ แนวคิดเรื่องสถาบันหนังสือแห่งชาติก็กลายมาเป็นสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์กรมหาชน) นี่เป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของการใช้ประโยชน์จาก สารคดี ที่มีผลสืบเนื่องตามมา
ผมชอบคอลัมน์ “สัมภาษณ์” ที่ทำให้เรามีโอกาสได้รู้จักความคิดและตัวตนของคนคนนั้น ชอบคอลัมน์ “อ่านเอาเรื่อง” ที่นำเสนอความเห็นของคนทั้งสองฝ่าย นอกจากนั้นก็เป็นสารคดีพิเศษที่เป็นเรื่องขึ้นปก ซึ่งกองบรรณาธิการคัดสรรมาให้แล้วว่าน่าสนใจ อย่างเล่มหน้าปกวิทยาศาสตร์ฯ ในศตวรรษที่ ๒๑ สารคดี ก็ถือเป็นนิตยสารเล่มแรกๆ ที่พูดถึงนาโนเทคโนโลยี
ผมว่า สารคดี เปรียบได้กับอาหารฟิวชั่น คืออาหารที่มีการผสมผสาน นำอาหารตะวันตกมาทำให้เป็นรสชาติแบบตะวันออก เช่นสปาเกตตีปลาเค็มซึ่งถูกปากคนไทย แต่หากินไม่ได้ในอิตาลีนะ หรือนำอาหารตะวันออกมานำเสนอด้วยรูปแบบตะวันตก ดูแล้วร่วมสมัย
พวกเราที่เป็นนักอ่านสารคดี ต้องถือว่าเป็นคนส่วนน้อยที่โชคดีที่ได้เติบโตขึ้นมาท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมให้เราอ่านหนังสือ และโชคดีที่มีหนังสือแบบ สารคดี เป็นสิ่งแวดล้อมส่วนหนึ่ง แต่ทำอย่างไรสังคมไทยจึงจะเป็นสังคมการอ่านอย่างแท้จริง ทุกคนคงต้องช่วยกัน
ภัทราวดี มีชูธน
นักแสดง ผู้กำกับการแสดง นักเขียนบทละคร ผู้ปฏิวัติและพัฒนาวงการละครเวทีและศิลปะการแสดงร่วมสมัยของไทย และผู้ก่อตั้งภัทราวดีเธียเตอร์ |
ดิฉันอ่าน สารคดี มาสิบปีได้แล้วมั้ง สมัยสาวๆ ดิฉันอ่านพวก โวค อยู่มาวันหนึ่งรู้สึกเบื่อหนังสือแฟชั่น พอเห็น สารคดี ก็…เฮ้ย มีหนังสืออย่างนี้ด้วยเหรอ…เออ สนุกดีนะ มีแต่เรื่องสารคดี ภาพสวย อ่านง่าย ไม่ค่อยอยากวาง ก็เลยสมัครสมาชิก มีบางช่วงหายไปบ้างเวลาเปลี่ยนเลขาฯ นึกขึ้นได้ก็ต่อทีหนึ่ง
หลายครั้งที่เอาเรื่องใน สารคดี มาเป็นข้อมูลในการทำงาน อย่างได้อ่านที่ “หมูอมตะ” สาธิตการใช้ผ้าขาวม้า มันก็เป็นแรงบันดาลใจให้ทำโชว์ชุด “๑๐๐ ways of using pakaw-ma” คือเสนอสาระของการใช้ผ้าขาวม้าด้วยการแสดงที่สนุกและตลกมากๆ แล้วก็นำไปแสดงในหลายๆ ประเทศ รูปสวย ๆ ใน สารคดี ก็ใช้เป็นไอเดียทำฉากหรือเสื้อผ้า…เอาหนอนแบบนี้ สีอย่างนี้… ภาพของสัตว์ แมลง ก็เอาไว้คุยกับหลานๆ ได้ เวลาเขาถาม…นี่อะไร…บางทียายลืมไปแล้วก็ได้กลับมาอ่านอีก แต่ก่อนจำได้ว่าที่บ้านซื้อหนังสืออยู่เล่มเดียวเลยนะ คือ สารคดี นี่แหละ
ดิฉันไม่ใช่นักอ่าน แต่จะพยายามอ่านหมดทุกอย่าง บางเรื่องที่ยาวมาก พอเห็นก็…อู้หู บางทีแอบไปอ่านสั้น ๆ ก่อน อ่านเท่าที่มีแรงอ่าน แต่ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตอย่างเรื่องศิลปะก็จะอ่านไปจนจบ เรื่องที่ประทับใจก็อ่านแล้วอ่านอีก ไม่จำเป็นต้องอ่านหนเดียว เพราะเมื่ออ่านหนที่ ๒ มันเป็นการค้นหาว่ามีอะไรอีกมั้ยที่ยังไม่เห็น
หวังว่า สารคดี จะยังอยู่ต่อไป ถ้าหนังสืออย่างนี้อยู่ไม่ได้ มันคงเศร้านะ แปลว่าประเทศชาติเรามีแต่คนไร้สาระเหรอ ดิฉันไม่ชอบอะไรเหมือนชาวบ้านเสียด้วย ไม่งั้นที่นี่คงรวยแล้ว ถ้าจะกินของ ก็ไม่ต้องแพง แต่ต้องอร่อย มีประโยชน์ ถ้าจะเสียตังค์ซื้อหนังสือ ก็จะซื้อหนังสือที่เก็บไว้อีกสิบปีก็ยังกลับมาอ่านได้อีก ที่สำคัญ ดิฉันไม่ใช่ไม่ใช่นักปราชญ์ เพียงแต่ชอบอ่านอะไรที่เป็นสาระ ไม่ชอบอ่านนวนิยาย เพราะชีวิตจริงเห็นมาเยอะแล้ว อยากรู้เรื่องอื่นอย่างชีวิตหมู หมา กา ไก่ บ้าง
เราอ่าน สารคดี แล้วรู้สึกว่ามันเท่ คนเขาจะได้รู้ว่าเรามีสาระ (หัวเราะ) มีคนว่า สารคดี แก่หรือ ?…อาจจะเป็นไปได้ แต่ดิฉันไม่รู้สึก เหมือนเรากินน้ำพริกปลาทูจนชินแล้ว ถึงไปกินอะไรอื่นบ้าง แต่ก็ยังกลับมากินน้ำพริกปลาทู อาจจะต้องปรับหน้าตาให้กิ๊บกั๊บ แต่คงสิ่งดีๆ ไว้คือสาระ ต้องเข้าใจว่ามันคลาสสิก เหมือนแกงไก่ จะผ่านไปกี่ร้อยปี จะใส่ชามแบบไหน กะลา ชามเบญจรงค์ หรือชามกระเบื้องสมัยใหม่ แต่ข้างในมันก็คือแกงไก่
อาจจะต้องมี generation ใหม่ อย่างงานของดิฉัน จะให้เด็กรุ่นใหม่เข้ามา ดิฉันจะนั่งดูแล้วคอยคอมเมนท์ว่าคนแก่ดูแล้วดีมั้ย อย่างรำไทย เด็กรุ่นใหม่มันทำพิสดาร ดิฉันก็บอกว่า…เธอจะทำอะไรก็ได้ ถ้ารู้จริงก็ทำไปเลย แต่เธออย่าก้าวร้าวต่อศิลปะ…เราอยากเห็นว่าไอ้บ้าพวกนี้มันคิดอะไรอยู่ บางทีดูแล้ว…โอ้โห มันคิดได้ไง…ดิฉันก็ชอบ ฉะนั้นทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงได้ อย่ายึดติด ถ้าเปลี่ยนแปลงด้วยรสนิยมอันดีงามแล้ว ทุกอย่างก็ลงตัวได้ทั้งนั้น
ฝากเรียนบรรณาธิการด้วย ว่าดิฉันเอาใจช่วย อย่าทิ้ง แล้วส่งใบต่ออายุสมาชิกมาด้วย…