ดนตรี / พื้นที่ / เวลา
อติภพ ภัทรเดชไพศาล
แถลงการณ์ของกลุ่ม Fluxus เขียนโดย George Maciunas
Fluxus เป็นกลุ่มนักแต่งเพลงและศิลปินในอเมริกาช่วงทศวรรษ ๑๙๖๐ กลุ่ม Fluxus ทำงานในแนวทาง Experimental Music โดยที่ดนตรีชนิดนี้ได้รับการบุกเบิกโดย จอห์น เคจ (John Cage) มาตั้งแต่ในทศวรรษ ๑๙๕๐
Experimental Music มาจากไหน ? และอะไรคือ Fluxus ?
Experimental Music เกิดขึ้นมาจากการที่นักแต่งเพลงจำนวนหนึ่งเริ่มรู้สึกอึดอัดกับขนบของเพลงดนตรีตะวันตกแบบเดิมๆ (หรือที่มักเรียกกันว่าดนตรีคลาสสิก) ที่เคร่งขรึมและวางตัวอยู่บนวัฒนธรรมของชนชั้นสูง
ลักษณะนี้เห็นได้ชัดจากการแสดงดนตรีคลาสสิกทั่วไป ที่ผู้ฟัง (ซึ่งมีวัฒนธรรม) จะต้องนั่งนิ่ง ตั้งอกตั้งใจฟังเพลงอย่างเงียบๆ ไม่พูดไม่จากัน และรู้วิธีการปรบมือที่ถูกต้อง ว่าตรงไหนควรปรบมือ ตรงไหนไม่ควรปรบมือ เป็นต้น
สิ่งที่นักแต่งเพลง Experimental Music ทำจึงเป็นการดึงเพลงดนตรีให้เข้ามาใกล้ชิดชีวิตประจำวันมากขึ้น โดยแสดงให้เห็นว่าดนตรีไม่ใช่เรื่องศักดิ์สิทธิ์ โดยอาศัยแนวคิดใหม่ๆ มาท้าทายขนบแบบเดิมๆ ของดนตรีตะวันตก
ผลที่ได้คือนักแต่งเพลงแบบใหม่นี้ไม่ให้ความสนใจกับความไพเราะของเพลง เพราะความไพเราะของเพลงนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง และเป็นการเรียนรู้ทางวัฒนธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้น เช่นการจะเข้าใจงานของเบโทเฟน (Beethoven) ว่าไพเราะอย่างไรตรงไหน ย่อมต้องอาศัยภูมิความรู้ทางวัฒนธรรมแบบ “ตะวันตก” ก่อน จึงจะเข้าใจได้ เป็นต้น
การข้ามให้พ้นพรมแดนทางวัฒนธรรมไปสู่ “เสียง” ที่เป็น “สากล” จึงเป็นเป้าหมายหลักของนักแต่งเพลงชนิดนี้ จนถึงขนาดที่ไม่ให้ความสำคัญกับความเป็น “ดนตรี” อีกต่อไป และเรียกวิธีการทำงานของพวกตนว่าเป็นเพียงการจัดการกับ “เสียง” (organized sound)
เมื่อใช้คำว่า “เสียง” จึงไม่ได้หมายความถึงเสียงที่เพียงเกิดจากไวโอลินหรือเปียโนเท่านั้น แต่เสียงของนักแต่งเพลง Experimental หมายถึงเสียงทุกชนิดที่ดำรงอยู่ในโลก
กลุ่ม Fluxus ในทศวรรษ ๑๙๖๐ ได้รับอิทธิพลวิธีคิดนี้จากกลุ่มของ จอห์น เคจ และยังได้รับอิทธิพลส่วนหนึ่งจากกลุ่ม Neo-Dadaism* ในอเมริกาช่วงนั้นด้วย ดังจะเห็นได้จากส่วนหนึ่งของแถลงการณ์กลุ่ม Fluxus ที่ว่าจะ
“กำจัดทิ้งโลกของพวกกระฎุมพี ความทรงภูมิปัญญา ความเป็นมืออาชีพ และธุรกิจทางวัฒนธรรม…นำเสนองานศิลปะปฏิวัติที่เต็มไปด้วยความเคลื่อนไหว เสนองานศิลปะที่มีชีวิต ศิลปะที่ต่อต้านศิลปะ และศิลปะที่อยู่กับชีวิตผู้คนจริงๆ ไม่ใช่อยู่กับศิลปิน นักวิจารณ์ พวกมืออาชีพ หรือพวกที่มีรสนิยมสูงเท่านั้น”
โดยเฉพาะแนวคิดเกี่ยวกับ “เสียง” ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นดนตรีนี้ ได้รับการบุกเบิกโดย เอดการ์ ฟาแรส (Edgar Varèse) นักแต่งเพลงในกลุ่ม Neo-Dadaism (ซึ่งนิยามงานของตัวเองว่าเป็น organized sound เช่นกัน) มาตั้งแต่ในช่วงทศวรรษ ๑๙๒๐ แล้ว โดยมีตัวอย่างเช่นงาน Ionisation ที่นำเสียงไซเรนมาเป็นส่วนประกอบของงานเพลงด้วย
George Brecht ขณะกำลังแสดงงาน Solo for Violin ที่เป็นเพียงการนำไวโอลินออกไปขัดเงาให้ผู้ชมดูบนเวทีเมื่อปี ๑๙๖๔ (ภาพโดย George Maciunas)
Ben Vautier กำลังแสดงงาน Anima 1 ของ Takehisa Kosugi และ violin piece ของ George Maciunas ในงาน Street Events ที่นิวยอร์ค เมื่อปี ๑๙๖๔
เวลากับดนตรี
เวลาในดนตรีคลาสสิกแบบขนบนิยม [เช่นในกรณีของเบโทเฟน ไล่จนไปถึงวากเนอร์ (Wagner)] เป็นเวลาที่ต้องได้รับการจัดการอย่างละเอียดรอบคอบ การควบคุมเวลาในท่อนดนตรี (movement) ต่างๆ จะต้องได้รับการจัดสมดุลอย่างเหมาะสม
ช่วงเวลาที่ใช้ในการบรรเลงเพลงต่างๆ จึงมีปริมาณที่ค่อนข้างชัดเจนและตายตัว ยิ่งเมื่อมีอุปกรณ์อย่าง metronome ที่สามารถกำหนดอัตราความเร็วได้อย่างแม่นยำให้แก่การบรรเลงดนตรีได้แล้ว ความแม่นยำของเวลาที่ใช้ในการบรรเลงเพลงหนึ่งๆ ก็ยิ่งชัดเจนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
นักแต่งเพลงในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ที่ยึดถือแนวทาง modernism จึงนิยมที่จะกำกับอัตราความเร็วในเพลงของตนไว้อย่างละเอียดถี่ถ้วน
เช่นแทนที่จะกำหนดความเร็วคร่าวๆ อย่างในงานสมัยก่อน ที่กำหนดไว้ด้วยคำเช่น “เร็ว” หรือ “เร็วมาก” “ช้ามาก” นักแต่งเพลงสาย modernist ในช่วงนั้นจะลงละเอียดไปกว่านั้น เช่นกำกับให้โน้ตตัวดำมีค่าเท่ากับ ๑ วินาที หรือกำหนดลงไปเลยว่า ใน ๑ นาทีต้องประกอบไปด้วยโน้ตตัวดำ ๘๖ ตัว เป็นต้น
แนวคิดเรื่องของเวลาในลักษณะนี้เป็นแนวคิดที่เห็นเวลาเป็นเครื่องจักร เป็นการมองเวลาแบบนิวตัน ที่เชื่อมั่นในความเป็นจริงทางวิทยาศาสตร์
“เวลา” ที่ดำเนินไปเรื่อยๆ โดยตัวของมันเองด้วยนาฬิกา จึงกลายเป็นสิ่งสร้างความหมายให้ “เหตุการณ์” ต่างๆ นั่นคือเวลากลายเป็นสิ่งที่ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่าง และกลายเป็น “ความจริง” ที่ทุกคนต้องตกอยู่ภายใต้ปฏิทิน เข็มบอกเวลา ชั่วโมง นาที และวินาที อย่างไม่อาจหลบเลี่ยง
แต่เวลาในวัฒนธรรมตะวันออกกลับไม่เป็นอย่างนั้น เพราะเวลาของชาวตะวันออกถูกยึดโยงอยู่กับ “เหตุการณ์” อย่างแนบแน่น และเหตุการณ์ต่างหากเป็นสิ่งสร้างความหมายให้แก่ “เวลา”
และเวลาชนิดนี้เองที่นักแต่งเพลงแนว Experimental Music นำมาใช้เป็นแนวคิดหลัก นั่นคือเวลาในการแสดงนั้นผูกติดอยู่กับ “กิจกรรม” (activity) ในการแสดงนั้นอย่างแยกออกจากกันไม่ได้
ตัวอย่างเช่นงานของ สตีฟ ไรค์ (Steve Reich) ที่ชื่อว่า Pendulum Music นั้นเป็นการกำหนดให้ผู้แสดงแกว่งไมโครโฟนที่แขวนไว้กับเพดานห้อง ซึ่งเมื่อไมโครโฟนนี้เคลื่อนผ่านหน้าลำโพงที่จงใจวางเปิดทิ้งไว้ ก็จะเกิดเสียง feedback ออกมาเป็นจังหวะตามความเร็วของไมโครโฟนที่แกว่งตัวเองไปมา
งานชิ้นนี้จะจบลงก็ต่อเมื่อไมโครโฟนหมดแรงส่งและหยุดนิ่งอยู่กับที่ ซึ่งนั่นคือ “เหตุการณ์” หรือ “กิจกรรม” ต่างหากที่ควบคุมเวลาในการแสดง
“กิจกรรม” จึงเป็นหัวใจหลักในงานของนักแต่งเพลงกลุ่ม Fluxus เช่นในงานของ จอร์จ เบรคท์ (George Brecht) ที่กำหนดให้ผู้เล่นรินน้ำในเหยือกหนึ่งลงในอีกเหยือกหนึ่ง เวลาที่ใช้ในการแสดงงานชิ้นนี้ก็คือเวลาที่น้ำในเหยือกถูกรินจนหมดเท่านั้น
หรืออย่างงานชุด Audience Piece ของ เบน ฟอทิเยร์ (Ben Vautier) ที่จงใจเล่นกับคนดู โดยชิ้นหนึ่งเป็นการขังคนดูทั้งหมดไว้ในหอแสดงดนตรี และบอกว่าชิ้นงานจะจบลงเมื่อคนดูหาทางออกจากหอแสดงดนตรีได้
พื้นที่กับ Fluxus
พื้นที่และการจัดระเบียบพื้นที่ในหอแสดงดนตรีเป็นขนบอันศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่อาจมีใครก้าวล่วง นั่นคือตำแหน่งของผู้เล่นกับผู้ฟังจะถูกจัดแบ่งออกจากกันอย่างชัดเจน และที่ยืนของวาทยกรก็จัดเป็นตำแหน่งที่สำคัญที่สุดในหอแสดงดนตรีประดุจศูนย์กลางของจักรวาลก็ว่าได้
ในมุมหนึ่ง การจัดระเบียบแบบนี้จึงถูกอธิบายว่าเป็นลักษณะของเผด็จการอำนาจนิยมที่มีวาทยกรเป็นศูนย์กลาง เพราะเสียงต่างๆ ที่ถูกวาทยกรควบคุมนั้น แน่นอนว่าจะรับฟังได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุดก็ตรงจุดที่วาทยกรยืนอยู่เท่านั้น
ดังนั้นผู้ฟังที่อยู่ใกล้กับประตูทางออกกับผู้ฟังที่นั่งอยู่ใกล้เวทีย่อมได้รับฟังเสียงที่แตกต่างกันและจะไม่มีวันเหมือนกับสิ่งที่วาทยกรได้ยินไปได้ ที่จริงแม้กระทั่งในหมู่นักดนตรีเองก็ไม่มีใครเคยได้ยินเสียงอันสมบูรณ์แบบชนิดที่วาทยกรได้ยินเลยสักครั้ง
สิ่งที่กลุ่ม Fluxus ทำ จึงเป็นการทำลายขนบดั้งเดิมด้วยการไม่ใส่ใจกับระเบียบแบบแผนเดิม เช่นในบางครั้งอาจมีการให้นักดนตรีบรรเลงไปพร้อมๆ กับเดินไปรอบๆ หอแสดงดนตรีหรือในหมู่ผู้ฟัง เป็นต้น
และยังอาจไปไกลกว่านั้น อย่างในงาน No. 6 ของ ลามองต์ ยัง (La Monte Young) ที่จงใจสลับพื้นที่ (และบทบาท) ของผู้เล่นกับผู้ชม ด้วยการกำหนดให้ผู้เล่นเดินออกมาหน้าเวทีและจ้องมองไปยังผู้ชม ซึ่งผลที่ได้จึงเป็นการพลิกบทบาทและสถานะของผู้เล่นกับผู้ชมอย่างชวนให้สับสนแปลกประหลาด
แนวคิดเกี่ยวกับเวลาและพื้นที่ของนักแต่งเพลงกลุ่ม Fluxus นี้เป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในเพลงดนตรีตะวันตกมาก่อน และมีเป้าประสงค์หลักเพื่อที่จะทำลายล้างขนบความเชื่อเดิมๆ เกี่ยวกับดนตรีตะวันตกที่สถาปนาตัวเองจนยิ่งใหญ่เลิศเลอ และลอยตัวอยู่เหนือผู้คนและชีวิตประจำวันที่เรียบง่ายนั่นเอง
…………………………
* เรียกกลุ่มศิลปินในช่วงทศวรรษ ๑๙๖๐ ที่ทำงานในวิถีทางเดียวกับกลุ่ม dadaism (๑๙๑๖-๑๙๒๒) ซึ่งโดยหลักใหญ่ๆ แล้วนำเสนองานศิลปะที่ต่อต้านศิลปะกระแสหลักและต่อต้านสงคราม
- อ่านประวัติ แนวคิดและผลงานของกลุ่ม Fluxus ได้ที่ http://www.artnotart.com/fluxus/
- ฟังเพลงดนตรีหรือชมการแสดงของกลุ่ม Fluxus ได้ทาง YouTube โดยพิมพ์ชื่อนักแต่งเพลงที่กล่าวถึงในบทความ