เรื่องและภาพ : ณรงค์ สุวรรณรงค์

– สัตว์ตระกูลไพรเมตในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว
– ค่างแว่นถิ่นเหนือ
– แด่…วิเชียร นาทองบ่อ

กลางฤดูฝน

ทั้ง ๆ ที่ท้องฟ้าเป็นสีฟ้าสดใสมาตั้งแต่เช้า จู่ ๆ กลุ่มเมฆดำทะมึนก็เคลื่อนตัวมาโอบคลุมไปทั่วทั้งผืนแผ่นฟ้า จากนั้นฝนก็เทลงมาชนิดไม่ลืมหูลืมตา ผมเอาเสื้อกันฝนออกมาคลี่คลุมตัวแล้วยืนคร่อมกระเป๋ากล้องเอาไว้ ถึงกระเป๋าจะเป็นชนิดที่กันน้ำได้ แต่ผมก็ไม่อยู่ในสถานะที่จะเอาอุปกรณ์หากินมาเสี่ยงอีก ฝนลงเม็ดหนักสม่ำเสมอ ไม่มีความเกรี้ยวกราดของลมพายุ มันเป็นฝนที่เราเรียกกันว่า “ฝนงาม” ในยามที่ต้องออกมาตากฝนทำงานอยู่กลางป่า

พอฝนซาลงในชั่วโมงต่อมา ผมก็มานั่งขดตัวอยู่ติดกับวิเชียรที่ซุกตัวอยู่ใต้ผ้ายางผืนเล็ก ๆ ส่วนแกรม–หนุ่มอังกฤษ นั่งก้มหน้านิ่งอยู่บนขอนไม้ไม่ห่างจากผมนัก เหนือหัวของเราขึ้นไปราว ๒๐ เมตร ฝูงค่างแว่นถิ่นเหนือที่แยกย้ายกันหลบฝนอยู่ตามจุดที่มีใบไม้หนาทึบยังคงสงบนิ่ง บางตัวดูเหมือนยังหลับอยู่ ขณะที่บางตัวเริ่มเด็ดใบไม้กินโดยไม่สนใจสายฝน

เมื่อฝนหยุด ฟ้าสดใส และแสงแดดกลับมา ฝูงค่างก็เริ่มเคลื่อนไหว ก่อนจะทยอยกระโดดตามเรือนยอดไม้ไปหากินยังแหล่งอาหารอื่น เราออกติดตามฝูงค่างไปอีกครั้งพร้อมกับเสื้อผ้าที่ชุ่มชื้นไปด้วยน้ำฝน จนเย็นย่ำ เมื่อค่างเข้านอนแล้วนั่นแหละ เราจึงหันหลังกลับออกมาจากผืนป่า…

ถึงสัมภาระน้ำหนักราว ๑๕ กก. บนหลังและไหล่ของผมจะเท่าเดิมไม่ต่างจากทุกวัน แต่วันนี้ จะด้วยฝน ความเหนื่อยล้า หรืออะไรก็เหลือจะเดา ทำให้มันดูหนักกว่าวันที่ผ่าน ๆ มา ผมเดินช้าลงจนวิเชียรที่เดินอยู่ข้างหน้าทิ้งระยะห่างออกไปเรื่อย ๆ แกรมคงเห็นท่าทางอ่อนล้าของผมจึงเข้ามาอาสาช่วยแบกขาตั้งกล้องให้และเดินปิดท้ายขบวน

ตลอด ๔ วันที่ผ่านมา ถึงจะมีเวลาอยู่กับฝูงค่างวันละไม่น้อยกว่า ๑๒ ชั่วโมง แต่ผมแทบจะไม่ได้ถ่ายภาพเลย ยิ่งวันนี้ผมไม่ได้เปิดกระเป๋ากล้องด้วยซ้ำไป ๒-๓ เดือนมาแล้วที่ต้องเผชิญกับสภาพเช่นนี้ สำหรับปุถุชนคนหนึ่ง ผมต้องยอมรับว่ามันเหนื่อยและบางครั้งก็นึกท้อ… เวลาเช่นนี้ผมมักจะนึกถึงคำตอบสั้น ๆ ของผู้หญิงคนหนึ่ง เมื่อผมถามถึงงานของเธอ

“งานของฉันไม่ยากหรอก เพียงแต่ต้องใช้เวลา”

 

ต้นฤดูหนาวปี ๒๕๔๓ ผมพบกับ Dr. Carola Borries หญิงวัยกลางคนชาวเยอรมัน ที่บ้านพักในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวซึ่งจัดไว้สำหรับนักวิจัย เธอมาทำงานวิจัยสัตว์ในตระกูลไพรเมตที่หากินในเวลากลางวันในป่าภูเขียว โดยจะเริ่มต้นศึกษาเรื่องค่างแว่นถิ่นเหนือเป็นอันดับแรก ผมสนใจอยากเรียนรู้จึงเอ่ยปากขออนุญาตว่า ถ้าหากไม่เป็นการรบกวนการทำงานของเธอและคณะจนเกินไป ผมอยากจะขอติดตามเข้าไปศึกษาการทำงานและถ่ายภาพชีวิตของค่างแว่นถิ่นเหนือบ้าง เธอตอบรับด้วยความยินดี

Dr. Carola ทำงานวิจัยร่วมกับ Dr. Andreas Koenig สามีของเธอ โดยมีเล็กกับวิเชียร เจ้าหน้าที่จากฝ่ายจัดการทรัพยากรธรรมชาติของเขตฯ เป็นผู้ช่วยวิจัยในภาคสนาม นอกจากนั้นในแต่ละปีจะมีอาสาสมัครผู้ช่วยนักวิจัยจากโลกตะวันตกหลายประเทศผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาช่วยทำงาน เพื่อเรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์

ช่วงแรกชุดวิจัยหมดเวลาไปหลายเดือนกับการสำรวจหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการทำงาน เมื่อได้พื้นที่และพบกลุ่มค่างแว่นถิ่นเหนือ เป้าหมายที่จะศึกษา จึงทำแปลงศึกษาพ

ร้อมกับสร้างความคุ้นเคยกับฝูงค่างไปในเวลาเดียวกัน ทุกวันชุดวิจัยจะแบ่งกันออกไปทำงาน บางส่วนจะไปกวาดใบไม้ออกจากเส้นทางเดินในป่า เวลาเดินตาม

ค่างจะได้ไม่มีเสียง และบางส่วนก็ออกติดตามฝูงค่างตั้งแต่เช้าตรู่จนกระทั่งค่างเข้านอน ในตอนเริ่มต้น การทำงานเป็นไปด้วยความยากลำบาก แค่ฝูงค่างรู้ว่ามีคนเข้ามาในบริเวณที่มันอาศัย ทั้งฝูงก็จะหายตัวไปในทันที ทุกคนต้องทำงานกันอย่างอดทน เคร่งครัด ระมัดระวังทั้งการเคลื่อนไหว การใช้เสียง เพื่อให้ฝูงค่างค่อย ๆ คุ้นชินกับชุดวิจัย

๖ เดือนผ่านไป ฝูงค่างจึงค่อย ๆ เริ่มยอมรับว่า สิ่งมีชีวิตที่มีตัวตั้งฉากกับพื้นโลกกลุ่มนี้ดูไม่มีอันตราย แต่ทั้งฝูงก็ยังคงรักษาระยะห่างไว้เสมอ ชุดวิจัยเรียกค่างแว่นถิ่นเหนือฝูงนี้ว่า PA ( Phayre’s leaf monkey group A) เริ่มแรกทั้งฝูงมีสมาชิกทั้งหมด ๒๐ ตัว เป็นตัวผู้ที่โตเต็มวัย ๒ ตัว ชื่อ M1 และ M2 วัยหนุ่มที่ยังโตไม่เต็มที่นักชื่อ M3 ตัวเมียทั้งที่เพิ่งเป็นสาวและโตเต็มวัยแล้ว ๑๐ ตัว ชื่อ A1-A10 และลูกค่างวัยรุ่นรวมทั้งวัยเด็กอีก ๗ ตัว