ผมชอบดื่มกาแฟ…คือแค่ “ชอบ” น่ะครับ ยังไม่ถึงกับติด วันไหนไม่ได้ดื่มก็ไม่รู้สึกทุรนทุรายอะไร แต่ถ้าเดินผ่านร้านกาแฟชั้นดีตามห้างสรรพสินค้า ก็ไม่อาจห้ามเท้าตัวเองไม่ให้เดินตามกลิ่นกาแฟเข้าไปในร้านได้
ทำไมกาแฟจึงจูงใจเราได้ขนาดนั้น ?
(หนุ่ม / กรุงเทพฯ)
เมื่อแรกเริ่มที่กาแฟถูกนำเข้าสู่ทวีปยุโรปในครึ่งหลังของศตวรรษที่ ๑๗ นั้น ผู้คนต่างมีความเห็นขัดแย้งกันต่อการบริโภคกาแฟ “แพทย์ผู้รู้” หลายคนฟันธงว่ากาแฟเป็นยาพิษร้ายแรงและควรห้ามดื่มเด็ดขาด แต่คนอีกส่วนหนึ่งกลับเห็นต่างและยืนยันว่า การดื่มกาแฟมีคุณประโยชน์ และโรงกาแฟ (Coffee-houses) ก็ผุดขึ้นทุกหนทุกแห่ง
อันที่จริงกาแฟอาจเป็นยาพิษเมื่อให้ในปริมาณมากกับสัตว์ในห้องทดลอง และอาจก่อพิษในเด็กเล็ก แต่สำหรับผู้ใหญ่ซึ่งดื่มกาแฟในปริมาณพอสมควร กาแฟย่อมไม่ใช่ยาพิษอย่างแน่นอน
เม็ดกาแฟมีสารที่รู้จักกันในชื่อว่า “คาเฟอีน” ซึ่งมักรวมอยู่กับกรดในปริมาณเพียง ๑ เปอร์เซ็นต์ คนส่วนใหญ่เชื่อว่าสารคาเฟอีนนี่แหละที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่าง ๆ ต่อร่างกายของเรา แต่สารตัวอื่นในเม็ดกาแฟก็มีส่วนเช่นกัน
ต่อไปนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเราดื่มกาแฟ
กลิ่นกาแฟสามารถกระตุ้นส่วนต่างของร่างกาย เส้นเลือดในสมองขยายตัวทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ช่วยพาความอิดโรยออกไปจากสมอง กาแฟยังเพิ่มอัตราการเต้นของชีพจร นั่นหมายถึงว่ามันช่วยกระตุ้นหัวใจ กาแฟยังช่วยทำให้กล้ามเนื้อกระชับแข็งแรง ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลำไส้ก็ตื่นตัวจากผลของกาแฟซึ่งมีสรรพคุณเป็นยาระบายอ่อน ๆ กาแฟส่งผลให้ต่อมที่เยื่อบุกระเพาะอาหารหลั่งน้ำย่อยและกรดออกมามากขึ้น สำหรับคนสุขภาพดี ผลกระทบนี้ย่อมเป็นคุณโดยเฉพาะหลังรับประทานอาหารมื้อหนัก แต่สำหรับบางคน อาจเป็นโทษทำให้จุกเสียดแน่นเฟ้อ กาแฟยังช่วยร่างกายขับเกลือออกจากเลือดด้วย
นอกจากนี้กาแฟยังส่งผลกระทบต่อร่างกายแตกต่างกันไป ตามช่วงเวลาต่าง ๆ ของวัน ตัวอย่างเช่น กาแฟช่วงเช้าส่งผลต่อไต โดยช่วยขจัดของเสีย ซึ่งสะสมมาตลอดช่วงกลางคืนออกจากร่างกาย กาแฟหลังอาหารกลางวัน ส่งผลต่อต่อมที่เยื่อบุกระเพาะอาหาร ช่วยในขบวนการย่อยอาหาร กาแฟในช่วงบ่าย ส่งผลต่อกล้ามเนื้อช่วยคลายความเมื่อยล้า ส่วนกาแฟซึ่งดื่มในช่วงเย็น ช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง และจินตนาการ