นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
ข่าวสังหารหมู่ที่เวอร์จิเนียเทคผ่านมาหลายเดือนแล้ว ถึงเวลาคุยเรื่องโรคจิตและความรุนแรงกันดี ๆ อีกสักครั้ง ข่าวในเวลานั้นนำมาซึ่งความรู้สึก ๒ ประการ ประการแรกคือ ผู้ป่วยโรคจิตเป็นอันตราย ประการที่ ๒ คือ เด็กที่ชอบเก็บตัวเป็นอันตราย
ซึ่งเป็นความรู้สึกทั้งคู่ อาจจะเป็นอคติทั้งคู่ด้วย
ก่อนจะอ่านต่อไป ตกลงเรื่องคำศัพท์กันก่อนครับ
โรคทางจิตเวช (psychiatric disorders) มีหลายชนิด โรคจิตเป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง
โรคจิต (psychosis) มีหลายชนิด โรคจิตเภทเป็นโรคจิตชนิดหนึ่ง
โรคจิตเภท (schizophrenia) คือโรคจิตชนิดหนึ่งที่พบบ่อยที่สุด แบ่งย่อยออกไปได้อีกหลายชนิด
การค้นหาหลักฐานเพื่อบอกว่าผู้ป่วยโรคจิตเป็นอันตรายจริงหรือไม่จริงเป็นเรื่องยาก เวลาอ่านตำราหรืออ่านงานวิจัยก็จะพบตัวเลขบางประการที่ชวนให้เข้าใจว่า ท่าจะจริง แต่ทุกบทความหรืองานวิจัยเหล่านั้นก็มักจะลงท้ายด้วยวลีที่ว่า “ผู้ป่วยโรคจิตส่วนใหญ่ไม่ทำร้ายใคร และบุคคลที่ทำร้ายคนอื่นส่วนใหญ่แล้วไม่ใช่ผู้ป่วยโรคจิต” ซึ่งเวชปฏิบัติของจิตแพทย์ในประเทศไทยก็ยืนยันได้ว่าเป็นเช่นนั้น
ผมจะเล่าถึงบทความวิชาการเรื่อง “Violence and Mental Illness – How Strong is the Link?” เขียนโดย Richard A. Friedman, M.D. ให้ฟัง บทความนี้ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ที่มีชื่อเสียงคือ The New England Journal of Medicine ฉบับวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ค.ศ. ๒๐๐๖ นี้เอง
ย่อหน้าแรกบอกว่า ในตอนบ่ายวันอาทิตย์ที่ ๓ กันยายน ๒๐๐๖ พบศพคุณหมอเวย์น เฟนตัน ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคจิตเภท สถาบันสุขภาพจิตแห่งชาติ (National Institute of Mental Health-NIMH) ในสำนักงาน ก่อนหน้านั้นคุณหมอเพิ่งได้พบกับเด็กหนุ่มอายุ ๑๙ ปีที่ป่วยด้วยโรคจิตเภท ซึ่งให้การรับสารภาพในภายหลังว่าเป็นคนทำร้ายคุณหมอด้วยมือของเขาเอง
ก่อนที่จะเข้าใจผิดกันต่อไปว่าผู้ป่วยโรคจิตเภทเป็นบุคคลอันตราย ผมสามารถพูดได้อย่างมั่นใจก่อนเลยว่า ผู้ป่วยโรคจิตเภทมิใช่บุคคลอันตราย หรือถ้าเขาทำอันตรายใคร ส่วนใหญ่เป็นเพราะถูกยั่วยุก่อน สำหรับคนหลายคนที่เนื้อตัวสกปรกเดินตามถนนหนทางก็มิใช่บุคคลอันตราย และเขาจะไม่ทำร้ายใครตราบเท่าที่ไม่ถูกด่าทอ เยาะเย้ยถากถาง หรือถูกรังแกก่อน คนไร้บ้านก็มิใช่ผู้ป่วยโรคจิตเภทด้วย อย่าเอามาปะปนกัน
บทความที่ยกมาเขียนไว้อย่างชัดเจนว่าที่เป็นอันตรายมิใช่ “โรค” เราไม่ควรกังวลหรือให้ความสนใจกับตัว “โรค” มากเกินไป ที่เป็นอันตรายคืออาการหูแว่วสั่งให้ทำร้ายผู้อื่น (command hallucination) และการใช้สารเสพติด (substance abuse) ดังนั้นจิตแพทย์ที่มีความสามารถจึงต้องตรวจพบอาการหูแว่วชนิดนี้ให้ได้อย่างเร็วและรักษาอย่างเข้มงวดที่สุด ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือของญาติผู้ป่วยด้วย
ส่วนสารเสพติดนั้นแน่นอนอยู่แล้วว่า สามารถทำให้ทุกคนขาดสติได้ทั้งสิ้น ไม่จำเพาะแต่ผู้ป่วยโรคจิต
บทความนี้บอกต่อไปว่า งานวิจัยเรื่องโรคจิตและความรุนแรงนั้นมักเก็บตัวอย่างด้วยอคติ (selection bias) เช่นมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่าร้อยละ ๕ ของอาชญากรที่ต้องโทษหรือถูกบังคับรักษาในโรงพยาบาลจิตเวชด้วยข้อหาฆาตกรรม เป็นผู้ป่วยโรคจิตเภท ตัวเลขนี้ย่อมสูงเกินจริงเพราะกลุ่มตัวอย่างที่นำมาศึกษานั้นเป็นกลุ่มตัวอย่างที่กวาดเอาผู้ป่วยโรคจิตเภทประเภทรุนแรงมาอยู่ก่อนแล้ว ความจริงก็คือผู้ป่วยโรคจิตเภทส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในชุมชนไม่เคยก่อความรุนแรง
อย่างไรก็ตามเมื่ออ่านบทความที่ยกมาไปเรื่อย ๆ ก็จะพบตัวเลขที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยโรคจิตกับความรุนแรงในระดับที่สูงกว่าประชากรทั่วไปอยู่ดี คำถามคือตัวเลขเหล่านี้จัดเก็บด้วยอคติมากน้อยเพียงใด หากตัวเลขเหล่านี้จริงสำหรับสหรัฐอเมริกา จะเป็นจริงสำหรับสังคมอื่นด้วยหรือเปล่า ในบ้านเราซึ่งความสัมพันธ์ในครอบครัวและชุมชนยังแน่นแฟ้นกว่าของอเมริกา ผู้ป่วยโรคจิตของเราก็น่าจะไม่มีอันตรายอะไร ปัญหาคือเราไม่เห็นงานวิจัยอะไรเช่นนี้ในบ้านเราเลย
ความสัมพันธ์ในครอบครัวและชุมชนจะเป็นเครื่องมือดูดซับความรุนแรงในสังคมได้อย่างดีที่สุดไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม แต่ก่อนมิใช่พ่อแม่เท่านั้นที่เลี้ยงลูก แต่ญาติทั้งสองตระกูลก็ช่วยกันเลี้ยงหลาน หากวัยรุ่นคนหนึ่งจะออกไปเฉไฉนอกบ้าน ก็ยังมีครู พระ เพื่อนบ้าน และคนทั้งชุมชนช่วยกันสอดส่อง แต่ปัจจุบันนี้คล้าย ๆ จะไม่มีใครเลี้ยงลูก มีแต่โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และสารเสพติดที่ช่วยกันเลี้ยง
ผมจะเล่าถึงงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์ในครอบครัวหรือชุมชนมีความสำคัญมากเพียงไร งานชิ้นนี้ชื่อว่า “Prejudice and schizophrenia : a review of the ‘mental illness is an illness like any other’ approach” โดยนักวิจัยกลุ่มหนึ่ง ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ Acta Psychiatrica Scandinavica เป็นงานใหม่ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี ๒๐๐๖ เช่นกัน
นักวิจัยกลุ่มนี้ทบทวนโปรแกรมลดอคติในผู้ป่วยโรคทางจิตเวช ๑,๔๓๗ โปรแกรม และโปรแกรมลดอคติในผู้ป่วยโรคจิตเภท ๒๘๓ โปรแกรมทั่วโลก ซึ่งไม่มีประเทศไทยรวมอยู่ด้วย พบข้อสรุปที่สำคัญและสร้างความแปลกใจอย่างยิ่งว่า สาธารณชนไม่สบายใจเท่าใดนักที่ทราบว่า โรคจิตรวมทั้งโรคจิตเภทมีสาเหตุมาจากความผิดปรกติของสมอง
ปัจจุบันเรามีความรู้ว่าโรคจิต โดยเฉพาะโรคจิตเภท เกิดจากสารเคมีบางตัวในสมองเสียสมดุล และสามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม จิตแพทย์จำนวนมากทั่วโลกแจ้งแก่พ่อแม่ของผู้ป่วยอย่างชัดเจนว่า โรคจิตเภทเกิดจากปัจจัยทางชีววิทยาล้วน ๆ และไม่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดูแต่อย่างใด
การแจ้งข้อมูลเช่นนี้น่าจะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ของผู้ป่วยโรคจิตเภทลดความรู้สึกผิด ลดความรู้สึกโทษตนเอง และให้ความร่วมมือในการรักษามากขึ้น ซึ่งก็น่าจะจริง แต่ในขณะเดียวกันการแจ้งข่าววิธีนี้ก็นำมาซึ่งปรากฏการณ์ที่นึกไม่ถึงด้วย ดังที่งานวิจัยชิ้นนี้สรุปให้ฟัง
กล่าวคือการที่สังคม รวมทั้งคุณพ่อคุณแม่ ทราบว่าโรคจิตเภทเกิดจากปัจจัยทางชีววิทยา (biological factors) สมอง (brain) สารสื่อนำประสาท (neurotransmitter) และกรรมพันธุ์ (genetics) กลับนำมาซึ่งความรู้สึกที่ว่า เรื่องราวทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของแพทย์ ทำนายไม่ได้ เกินความสามารถของคนธรรมดา และที่แย่กว่านั้นคือ ผู้ป่วยเหล่านี้มีพันธุ์ที่ต่ำกว่ามนุษย์ (lower than human) นำมาซึ่งอคติที่เพิ่มมากขึ้น ความรู้สึกถึงอันตราย และไม่อยากเข้าใกล้
ผลสรุปเช่นนี้น่าจะจริงในบ้านเราด้วย บ้านเรานั้นมักมีทัศนคติว่า อะไรที่เป็นเรื่องของคุณหมอก็จะไม่ใช่เรื่องของเรา เมื่อโรคจิตเภทเป็นเรื่องของชีววิทยาและสมองเสียแล้ว การรักษาที่ถูกต้องคือใช้ยา และยาเป็นเรื่องของคุณหมอล้วน ๆ
เวลามีโรคอะไรที่เป็นเรื่องของสมอง ก็จริงอีกเช่นกันว่ามักนำมาซึ่งความรู้สึกว่า เราทำนายอะไรไม่ค่อยได้ ตัวอย่างที่ดีคือโรคลมบ้าหมู (epilepsy) ผู้ป่วยโรคลมบ้าหมูนั้น บทจะชักก็ชักจนไม่มีใครหยุดได้ นอกจากทำนายไม่ได้แล้ว ยังเกินความสามารถของคนธรรมดาอีกต่างหาก
การกล่าวโทษกรรมพันธุ์ยิ่งง่ายต่อการสร้างอคติในรูปแบบใหม่ที่นึกไม่ถึง ลำพังสีผิว ศาสนา และชาติพันธุ์ที่เห็นได้ด้วยตา ก็แบ่งแยกกันพอแรงอยู่แล้ว พันธุกรรมประหลาดยิ่งสร้างความแปลกแยกได้ในระดับที่ลึกยิ่งขึ้น เรื่องนี้สำหรับนักดูหนัง X-Men น่าจะเข้าใจได้ดี
บางทีการแพทย์อาจจะต้องพูดถึงโรคจิตเภทในรูปแบบใหม่ นั่นคือให้สังคมรู้สึกได้ว่าที่จริงแล้วความสัมพันธ์ในครอบครัวและชุมชนสามารถช่วยเหลือผู้ป่วย และป้องกันความรุนแรงที่อาจจะเกิดจากผู้ป่วยได้มาก พูดง่าย ๆ ว่าความเห็นอกเห็นใจ ยอมรับ และไม่ตำหนิติเตียนผู้ป่วยโรคจิตเภท เป็นหนทางหนึ่งของการรักษาและป้องกันความรุนแรง
แม้กระทั่งเรื่องที่ว่าผู้ป่วยโรคจิตเภทต้องใช้ยารักษานั้น สังคมก็สามารถช่วยเหลือได้มากด้วยการกดดันให้รัฐบาลประกาศมาตรการบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรยา (Compulsory Licensing, CL) เช่นเดียวกับที่ทำกับยาต้านไวรัสเอดส์ เพราะราคายารักษาผู้ป่วยโรคทางจิตเวช รวมทั้งโรคจิตเภทในปัจจุบันนั้น ขึ้นไปถึง “เม็ดละ” ๕๐-๔๐๐ บาทแล้ว
เรียกได้ว่าผู้ป่วยโรคจิตเภทจะเป็นอย่างไร ความรุนแรงในสังคมจะเป็นอย่างไร ก็เป็นหน้าที่ของสังคมที่ต้องช่วยกันอยู่ดีครับ