กีฬา_ทางเลือก โดย วายร้ายสีแดง กะเทาะโลกกีฬา นักกีฬายอดนิยม (ในกระแส) แม้แต่เสียงข้างสนามแบบมี “ทางเลือก” ชวนขบคิด ปนขำๆ |
แน่ชัดอยู่แล้ว ผมเริ่มวิ่งทีหลัง “มูราคามิ” นานนัก ยิ่งพูดถึงการเคี่ยวกรำร่างกายอย่างนักวิ่งมืออาชีพ ก็ยิ่งผลักให้ช่องว่างเต็มไปด้วยความว่างเปล่า
พอได้อ่านงานเขียนของเขา-เกร็ดความคิดบนก้าววิ่ง ผมถึงกับต้องกลับมาทบทวนเรื่องการวิ่งเสียใหม่
แต่ยังไม่ชวนขมขื่นเท่าเชิงอรรถที่แนบมากับตัวบท บอกให้ใคร่ครวญพิจารณา “การเขียน” ใหม่ด้วยนี่สิ !
ชายชื่อ ฮารุกิ มูราคามิ เป็นใคร ? (ชั่วโมงนี้คงไม่ต้องแนะนำกันแล้วมั้ง)
……….
หากเปรียบเทียบกับกีฬายอดฮิตทั้งหลาย วิ่งระยะไกลหรือวิ่ง (ตาม) ถนน แบบฝรั่งเรียก เป็นกีฬาไร้ซึ่งซูเปอร์สตาร์ให้กรี๊ด และยังต่างจากกีฬาอื่นอย่างน่าประหลาด ตรงคุณมักเข้าไปมีส่วนร่วมกับมันในฐานะของผู้เล่นเท่านั้น หาใช่ผู้ชมขอบสนามไม่
กล่าวอย่างจริงจัง การดูแข่งขันวิ่งมาราธอนอย่างสนุกเร้าใจเกิดขึ้นยากเต็มทน เว้นแต่จะสวมรองเท้าติดเบอร์ที่หน้าอกลงไปลุยเอง
ก่อนลงมาราธอนระยะ ๔๒.๑๙๕ กม. นักวิ่งแทบทุกคนจะต้องผ่านการวิ่งมินิและฮาล์ฟมาราธอน ระยะ ๑๐.๕ และ ๒๑.๑ กม. ตามงานเดินวิ่งที่จัดกันทั่วไป (ทุกเช้าวันอาทิตย์) มาระยะหนึ่ง ดังวิชาบังคับ ไต่ระดับจนกล้ามเนื้อ เอ็น ข้อต่อ แกร่งขึ้น พร้อมๆ กับระบบสูบฉีดเลือดเข้าที่เข้าทาง ในทางกลับกัน ไม่ได้หมายความว่านักวิ่งที่ผ่านวิชาบังคับแล้วจะก้าวไปสู่เต็มมาราธอนกันทุกคน
แน่ละ อาจมีอยากบ้าง-เป็นเกียรติประวัติสักครั้งในชีวิต แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ได้ต้องการซ้อมและวิ่งเอาเป็นเอาตายขนาดนั้น ผมก็คนนึงละ
ในงาน UN Day Run ๑๐ กม. เมื่อ ๖-๗ ปีก่อนซึ่งเป็นสนามแรกของตัวเอง ทุกคนเริ่มต้นจากหน้าสำนักงานสหประชาชาติ วิ่งเป็นวงรอบผ่านวังสวนจิตรฯ ถนนสุโขทัย เพื่อวกกลับทางบางลำพู บนถนนพระสุเมรุ จำได้ว่าวิ่งเลยแยกสะพานวันชาติมาหน่อยก็แทบหน้ามืด แข้งขาปัด มีนักวิ่งสูงอายุแซงไปชิลล์ๆ แต่พอลงสะพานผ่านฟ้า-ปากทางสำนักงานสารคดี ก็มีแรงฮึดขึ้นมาเพราะเห็นเส้นชัยอยู่ลิบๆ และยังคุมสตินึกว่าแม้ลาออกจากงานประจำที่นี่โดยยังไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน อย่างน้อยขอเหรียญรางวัลจากการวิ่งติดมือ-ชนิดเข้าเส้นชัยไม่หมดสภาพดูน่าสมเพช-เป็นรางวัลแรกสำหรับชีวิตฟรีแลนซ์ก็พอ
ระหว่างทางนักวิ่งมือใหม่จะก่นด่าตัวเอง–“เหนื่อยสุดๆ” “ไม่เอาอีกแล้ว” หรือ “เรามาทำอะไรอยู่ที่นี่” ไม่ช้านาน พอผ่านเส้นชัยจะเริ่มคิดใหม่–“เฮ้, เราก็ทำได้…ไม่เลวนิ” บางคนคิดว่า วิ่ง ๑๐ กม. เข้าเส้นชัยก็น่าจะฟันฝ่าอุปสรรคอื่นๆ สำเร็จบ้าง หายเหนื่อยก็มองหารายการวิ่งทดสอบตัวเองต่อไป พร้อมวาดฝันว่าเวลาน่าจะดีกว่าเดิมได้อีก
เสน่ห์ของการวิ่งเป็นอย่างนั้นจริง
และมันก็ดีจริงอะไรจริง คล้อยตามวาทกรรมนักวิ่งที่ว่า “วิ่งระยะไกลเป็นการเปลี่ยนแปลงชีวิต”
เอมิล ซาโตเปก (Emil Zátopek) นักวิ่งระยะไกลชั้นยอดของศตวรรษที่ ๒๐ ชาวเช็ก กล่าวไว้ “ถ้าคุณอยากวิ่งให้วิ่งสักไมล์หนึ่ง แต่ถ้าคุณอยากพบชีวิตใหม่ก็จงวิ่งมาราธอน”
ซาโตเปกเป็นแชมป์โอลิมปิก ๓ รายการรวดในปี ๑๙๕๒ คือ ๕,๐๐๐ เมตร ๑๐,๐๐๐ เมตร และมาราธอน และเป็นคนเดียวที่ทำได้เช่นนี้ (ในกีฬาโอลิมปิกไม่มีการจัดแข่งขันระยะ ๒๑.๑ กม.)
ฮารุกิ มูราคามิ นักเขียนนิยายชาวญี่ปุ่นที่มีแฟนคลับหนาแน่นในบ้านเรา ก็เลือกวิ่งตอนอายุ ๓๓ ปี เมื่อต้องการเปลี่ยนวิถีชีวิตไม่เหลือเค้าเดิมจากเจ้าของธุรกิจบาร์แจ๊ซสู่นักเขียนอาชีพ และเลิกบุหรี่ ภายในเวลาไม่กี่เดือนเขาก็ร่วมแข่งระยะ ๑๕ กม. และฝึกจนสามารถวิ่งต่อเนื่องราวเครื่องจักรกล หมายถึงการมีทรงของนักวิ่ง เมื่อนั้นเขาเข้าร่วมรายการ ๔๒ กม. รายการใหญ่ๆ ของโลกเฉลี่ยปีละครั้ง ต่อเนื่องเป็นเวลา ๓๐ ปี ไม่ว่าบอสตัสมาราธอน นิวยอร์กซิตีมาราธอน โตเกียวมาราธอน รวมถึงวิ่งจากกรุงเอเธนส์ไปยังหมู่บ้านริมทะเลที่ชื่อมาราธอน เจ้าของตำนานกีฬาประเภทนี้ในประเทศกรีซ
มูราคามิทำเวลาในการวิ่งมาราธอนราว ๓ ชั่วโมง ๔๐ กว่านาที ในช่วงวัย ๔๐ ปี ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดในชีวิตนักวิ่งของเขา แม่เจ้า…เวลาต่ำกว่า ๔ ชั่วโมงเป็นที่ฝันถึงสำหรับนักวิ่งสมัครเล่นทุกคนตลอดทาง ๔๒ กม. !
ในสายตาของเขา เรื่องความเร็ว ระยะทาง ไปถึงพวกเทคนิคทำอย่างไรให้วิ่งดี ยังสำคัญน้อยกว่าการลุกออกไปวิ่งเป็นประจำทุกวัน ไม่มีวันพักวันลา
ฝืนทำในสิ่งที่ไม่คุ้น ไม่สะดวกสบาย เข้าขั้นทรมานกาย
ในหนังสือ What I Talk About When I Talk About Running ที่ นพดล เวชสวัสดิ์ แปลว่า เกร็ดความคิดบนก้าววิ่ง มูราคามิเสนอว่า กายภาพอันแข็งแกร่งจำเป็นมากสำหรับนักเขียนบานช้าอย่างเขา (หรือใครก็ตาม) โดยเฉพาะการเขียนเรื่องยาวๆ เช่นนวนิยาย
นักเขียนประเภทบานช้า ย่อมมิใช่กลุ่มผู้มีพรสวรรค์ที่มีอยู่เพียงน้อยนิด นักเขียนเหล่านั้นจะเขียนได้อย่างไหลรื่น แทบไม่ต้องออกแรงขุดผืนดินก็พบตาน้ำที่ไหลผุดเป็นน้ำพุ “ถ้อยคำไหลพรั่งพรูไม่ขาดสาย ไม่ว่าจะตักไปใช้มากแค่ไหน สายธารใต้ดินของเขาไม่เคยเหือดแห้ง”
“โชคร้ายที่ผมไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มนั้น ผมมองหา ไม่เห็นตาน้ำอยู่ใกล้ตัว ต้องคว้าสิ่วคว้าค้อนสกัดชั้นหิน ขุดหลุมให้ลึกก่อนจะพบสายแร่ความคิดสร้างสรรค์ ในการเขียนนิยายผมต้องเคี่ยวตัวเองอย่างหนักทางกายภาพ ทุกคราวที่ผมเริ่มนิยายเรื่องใหม่ ผมจะขุดหลุมลึกอีกหลุม ขุดเจาะลงไปจนพบธารน้ำเบื้องล่าง ในทันทีที่สังเกตเห็นว่าแหล่งน้ำแห้งผาก ผมจะย้ายไปขุดอีกหลุม สำหรับคนที่พึ่งพาตาน้ำธรรมชาติ พรสวรรค์ติดตัวมาตั้งแต่เกิด เมื่อใดที่ตาน้ำแห้งผาก นักเขียนนิยายผู้นั้นมีปัญหาแล้ว
“สิ่งที่ผมรู้ทั้งหมดในการเขียนนิยาย ผมเรียนรู้จากการวิ่งเป็นประจำทุกวัน”
“เฮียมู” เล่าว่าตัวเขาซ้อมวิ่งเดือนละ ๒๖๐ กม. (สัปดาห์ละ ๖๐ กม.) ในขั้น “เอาจริงเอาจัง” วิ่งเดือนละ ๓๑๐ กม. (สัปดาห์ละ ๗๐ กม.) ในขั้น “เคี่ยวกรำ” โดยปรกตินักวิ่งจะไม่ซ้อมวันละ ๑๐ กม. เท่ากันทุกวัน ถ้าวันหนึ่งวิ่งไป ๑๕ กม. วันถัดมาก็ลดลงเหลือ ๕-๖ กม. หรือ ๑๕ รอบสนามบนลู่วิ่งมาตรฐาน และวันถัดมาก็อาจวิ่งเร็วเป็นชุดๆ ที่เรียกว่า interval running ซึ่งเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับนักวิ่งชั้นแนวหน้า ตารางฝึกซ้อมคร่าวๆ แบบนี้ก็ไม่แตกต่าง พอใกล้วันแข่งบางคนอาจเพิ่มฝึกวิ่งขึ้นเนิน วิ่งบนหญ้า สลับการว่ายน้ำ หรือฝึกซ้อมท่ามกลางสภาพอากาศเบาบาง ถือว่านำปฏิบัติการทั้งไม้แข็งไม้นวมเข้าช่วย
เหตุผลที่ต้องเคี่ยวกรำร่างกายประหนึ่งลงทัณฑ์ เขาบอกว่า กล้ามเนื้อของคนเราเหมือนวัวควายไถนา ไม่มีความคิดแต่หัวไว ถ้าเราเพิ่มน้ำหนักทีละน้อย สัตว์เรียนรู้ที่จะแบกภาระเพิ่ม ถ้าภาระงานหายไปสองสามวัน มัดกล้ามจะอนุมานโดยอัตโนมัติว่าไม่มีความจำเป็นต้องทำงานหนักอีกแล้ว จะลดเพดานสูงสุดของตนทันที หากเราต้องการสอนสั่งประทับความจำใหม่ก็ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ในกระบวนการนั้น (แน่ละ การพักเป็นธรรมชาติที่ขอละไว้กล่าวถึงต่อไป)
วิ่งระยะไกลเป็นโครงการกินเวลายาวนาน ปัญหาอยู่ที่การทำให้มู่เล่ (รอกสำหรับสายพาน) หมุนให้ได้อัตราเร็วที่ต้องการเสียก่อน การเพิ่มพูนทักษะเพื่อเขียนเรื่องยาวๆ ก็ไม่ผิดแผกกัน เขาย้ำ
จุดเริ่มต้นของการติดวิ่งของคนเราจึงอยู่ตรง การบังคับให้กล้ามเนื้อรับรู้และจดจำความเจ็บปวดอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการซ้อม ซ้อม และซ้อม เทียบเคียงได้กับนักกอล์ฟที่ซ้อมตีลูกอย่างโหยหาจนกล้ามเนื้อจำวงสวิงได้ [คำว่า ความจำของกล้ามเนื้อ (mascle memory) เป็นสำนวนเพื่อให้เข้าใจง่ายๆ หมายถึงการฝึกกล้ามเนื้อให้ยืดหดจนชิน สามารถสั่งลูกกอล์ฟได้โดยไม่ต้องคิดว่าจะตีอย่างไร ถ่ายน้ำหนักแบบไหน ตัวกล้ามเนื้อเองไม่มีความจำ แต่ได้รับคำสั่งและควบคุมจากสมองส่วนหน้า]
นอกเหนือจากยิ่งวิ่งยิ่งได้แรง ชีพจรช้าลง น้ำหนักตัวคงที่ ฯลฯ การฝึกวิ่งระยะไกลยังช่วยชำระล้างมลภาวะออกจากจิตใจของคนเราด้วย ดังที่มูราคามิใช้สนามวิ่งช่วยบั่นทอนความไม่สบอารมณ์ (เช่น จากการถูกวิจารณ์อย่างไม่เป็นธรรม) ให้เหนื่อยล้าไปเอง “เวลาชั่วโมงหรือสองชั่วโมงที่ใช้ไปในการวิ่งจะเป็นการปกป้องห้วงเวลาเงียบสงัดส่วนตัว มีความสำคัญต่อสุขภาพจิตของผม”
ผม (คนเขียนคอลัมน์) เคยคิดว่า ถ้าอายุ ๗๐ ปีแล้วยังคง (อยู่) วิ่งและเขียนหนังสือ ชีวิตจะไม่มีวันเหงาซึมเซา
ซึ่งสอดรับกันกับข้อความข้างบน รวมไปถึงหลักหมายแห่งการวิ่งที่เฮียมูสอนว่า เขาไม่คิดว่านักวิ่งส่วนใหญ่วิ่งเพื่อยืดชีวิตตนเองให้ยืนยาว แต่วิ่งเพราะอยากให้ชีวิตเต็มความหมาย
“หากเราอยากใช้ชีวิตสืบไปนานหลายปี จะเป็นการดีกว่าถ้าใช้ชีวิตโดยมีเป้าหมายชัดเจน มีชีวิตชีวาเต็มเปี่ยม ผมเชื่อว่าการวิ่งช่วยให้เกิดผลนั้น การเคี่ยวกรำตนเอง ผลักดันให้เต็มขีดความสามารถของเพดานจำกัดของแต่ละคน นั่นเป็นหัวใจ”
หมายเหตุ : การอ้างคำพูดมูราคามิเป็นสำนวนแปลของ นพดล เวชสวัสดิ์ หากมีการปรับทอนและสลับใจความบางส่วน