เรื่อง : คำข้าว
ภาพประกอบ : วายูร
เดือนสองเดือนที่ผ่านมามันร้อนเสียจริง ร้อนเสียจนอดเอาคำนี้มาฝากคุณผู้อ่านไม่ได้ ก็ตลอด ๒ เดือนนั่น เราคอยแต่จะเงี่ยหูฟังข่าวพยากรณ์อากาศว่า อุณหภูมิวันพรุ่งนี้จะสูงขึ้นไปอีกเท่าไร
อากาศยิ่งร้อน อุณหภูมิยิ่งสูง แถวอีสานเขาร้อนกันขนาดโอ่งระเบิด ถนนบวม ความร้อนทำให้สิ่งต่างๆ ขยายตัว ความเย็นทำให้หดตัว
สสารทั้งหลายในโลกนี้ล้วนตอบสนองความร้อน-เย็น นี่เป็นหลักการพื้นฐานของเทอร์โมมิเตอร์
เมื่ออากาศร้อน ของเหลวในเทอร์โมมิเตอร์ยืดตัวสูงขึ้น (เพราะมันถูกใส่ไว้ในหลอดแก้วใสทรงกระบอกเล็กๆ ที่มีกระเปาะตรงก้น พร้อมเลขบอกระดับอุณหภูมิ) ยืดขึ้นไปถึงเลขไหน อุณหภูมิก็สูงเท่านั้น และเมื่ออากาศเย็นลง ของเหลวเดียวกันนี้จะหดเตี้ยลงด้วย
ในบรรดาหน่วยที่ใช้บอกอุณหภูมิ “เซลเซียส” เป็นหน่วยยอดฮิตสำหรับเราชาวไทยมากกว่า “ฟาเรนไฮต์” อันเป็นหน่วยที่คนอเมริกันใช้ ในอุตสาหกรรมการผลิตส่วนประกอบของเครื่องใช้ไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ก็ใช้หน่วยเซลเซียสทั้งนั้น จะยกเว้นก็แต่อุตสาหกรรมการผลิตชิป ที่ใช้หน่วยเป็น “เคลวิน”
หน่วยเซลเซียสมีพื้นฐานเชื่อมโยงกับการเดือดและการเยือกแข็งของน้ำ อย่างที่เรารู้กันดีว่า น้ำเดือดที่ ๑๐๐ องศาเซลเซียส และกลายเป็นน้ำแข็งที่ ๐ องศาเซลเซียส
ใครบางคนอาจคุ้นหูกับคำว่า “เซนติเกรด” (centigrade) ที่จริงมันคือหน่วยเดียวกันนั่นเอง แถมยังใช้มาก่อน
เซนติเกรด แปลว่า การประกอบกันหรือการแบ่งเป็น ๑๐๐ องศา
ค.ศ. ๑๙๔๘ ที่ประชุมนานาชาติว่าด้วยการชั่งตวงวัด โหวตให้เปลี่ยนคำว่า “เซนติเกรด”เป็น “เซลเซียส” ตามชื่อของ แอนเดอร์ส เซลเซียส (Anders Celsius) นักดาราศาสตร์ผู้เกิดมาในโลกเมื่อ ๓๐๔ ปีก่อน ณ เมืองอุปป์ซาลา (Uppsala) ประเทศสวีเดน
เมื่ออายุได้ ๒๙ ปี เซลเซียสเข้าเป็นศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยแห่งอุปป์ซาลา เขาสนใจแสงเหนือ (aurora borealis) มากขนาดเฝ้าสังเกตและจดบันทึกมากกว่า ๓๐๐ ครั้ง เขาสนใจความโค้งของเส้นเมอริเดียนที่แลปแลนด์ และยังพยายามพิสูจน์ว่าบริเวณขั้วโลกนั้นแบนราบอย่างที่นิวตันเคยพูดไว้จริงหรือไม่
อายุ ๔๑ เขานำเสนอหน่วยการวัดอุณหภูมิแบบใหม่พร้อมเทอร์โมมิเตอร์ที่เขาคิดประดิษฐ์ขึ้น ต่อหน้าสำนักราชบัณฑิตยสถานสาขาวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน และตีพิมพ์ผลงานดังกล่าวในวารสารประจำปีของราชบัณฑิตยสถานด้วย
การค้นพบดังกล่าวถือว่าเป็นหมุดไมล์ของเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งแห่งยุคบาโรก
สองปีถัดมา เซลเซียสถึงแก่กรรม เขามีอายุเพียง ๔๓ ปี