เรื่อง : สฤณี อาชวานันทกุล
http://www.fringer.org

“ใครก็ตามที่ตายอย่างมั่งคั่ง ตายอย่างน่าอัปยศอดสู” แอนดรูว์ คาร์เนกี

ในบรรดาตำนานการสร้างตัวที่เหลือเชื่อระดับ “จากดินสู่ดาว” หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “from rags to riches” ตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมจวบจนปัจจุบัน มีน้อยคนที่จะยิ่งใหญ่เท่า แอนดรูว์ คาร์เนกี (Andrew Carnegie, ค.ศ. ๑๘๓๕-๑๙๑๙) อภิมหาเศรษฐีชาวอเมริกัน ชาวสกอตอพยพผู้สร้างธุรกิจเหล็กกล้าจากศูนย์จนเป็นผู้ครองตลาดอันดับหนึ่ง ถึงแม้ว่าเขาจะล่วงลับไปกว่าค่อนศตวรรษแล้ว เรื่องราวของคาร์เนกียังเป็นแรงบันดาลใจของสามัญชนจำนวนนับไม่ถ้วน และคงจะเป็นเช่นนั้นไปตราบนานเท่านาน ตราบใดที่คนเรายังฝันอยากจะเป็นเศรษฐีกันอยู่ หรืออย่างน้อยก็อยากใช้ชีวิตในบั้นปลายอย่างสุขสบายไร้กังวล

Braddock Carnegie Library ห้องสมุดคาร์เนกีที่เก่าแก่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1889 ตั้งอยู่ที่เมือง Braddock รัฐเพนซิลวาเนีย

สามัญชนนอกประเทศสหรัฐอเมริกาอาจคิดถึงคาร์เนกีแต่ในฐานะนักธุรกิจผู้ยิ่งใหญ่ แต่สำหรับชาวอเมริกันหลายล้านคน เขาคือ “บิดาแห่งการกุศล” ผู้มอบมรดกมหาศาลให้แก่สังคม จนไม่อาจลืมเลือน ลำพังกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงของสหรัฐอเมริกาเพียงเมืองเดียว ก็มีตำนานที่เป็นรูปธรรมของ คาร์เนกีหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุดคาร์เนกี (Carnegie Library) และสาขา ๓ แห่ง, สถาบันคาร์เนกี (Carnegie Institution) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์อิสระชั้นนำของโลก, มูลนิธิคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ (Carnegie Endowment for International Peace) องค์กรไม่แสวงหากำไรที่อาจเป็น “think tank” แห่งแรกที่มีเครือข่ายและอิทธิพลระดับโลก และสำนักงานของมหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน (Carnegie Mellon University) มหาวิทยาลัยชั้นนำในกรุงพิตส์เบิร์ก มลรัฐเพนซิลเวเนีย เมืองที่คาร์เนกีก่อร่างสร้างตัวจนเป็นหนึ่งในอภิมหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยที่สุดในโลก

ตลอดอายุขัยของเขา คาร์เนกีบริจาคเงินกว่า ๓๕๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เท่ากับประมาณ ๑๐,๐๐๐ ล้านดอลลาร์ในมูลค่าปัจจุบัน) ให้แก่มูลนิธิ (ส่วนใหญ่ที่เขาก่อตั้งเอง) มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยอิสระ และองค์กรอื่นๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วน ความที่คาร์เนกีเป็นนักอ่านตัวยง ทำให้เขาชอบสร้างห้องสมุดและบริจาคหนังสือให้ห้องสมุด ในระหว่างที่คาร์เนกียังมีชีวิตอยู่ เขาสร้างห้องสมุด ๒,๕๐๙ แห่งทั่วโลก ในจำนวนนี้ ๑,๖๘๙ แห่งอยู่ในสหรัฐอเมริกา (คิดเป็นกว่าร้อยละ ๕๐ ของห้องสมุดทั้งหมดในประเทศในสมัยนั้น) ๖๖๐ แห่งในอังกฤษและไอร์แลนด์ ๑๕๖ แห่งในแคนาดา และที่เหลือในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เซอร์เบีย ประเทศหมู่เกาะในทะเลแคริบเบียน และฟิจิ การสร้างห้องสมุดจำนวนมหาศาลทำให้เขามีสมญานามว่า “นักบุญแห่งห้องสมุด” (patron saint of libraries) ตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่

พ่อแม่ของคาร์เนกีเป็นชาวสกอตอพยพผู้ยากไร้ ตั้งรกรากในเมืองพิตส์เบิร์กเมื่อปี ค.ศ. ๑๘๔๘ คาร์เนกีเริ่มทำงานตั้งแต่อายุเพียง ๑๓ ปี ในตำแหน่งเด็กเปลี่ยนกระสวยในโรงงานทอฝ้าย รับเงินค่าจ้าง ๑.๒๐ ดอลลาร์ต่อสัปดาห์ ต่อมาในปี ๑๘๕๑ คาร์เนกีได้งานเป็นเด็กวิ่งส่งข้อความในสำนักงานโทรเลข ความขยันขันแข็ง เฉลียวฉลาด แคล่วคล่องว่องไว และอุปนิสัยร่าเริง เข้ากับคนง่าย ทำให้เขากลายเป็นพนักงานดาวเด่นในบริษัทอย่างรวดเร็ว ต่อมาคาร์เนกีย้ายไปเป็นพนักงานส่งโทรเลขของบริษัทรถไฟเพนซิลเวเนีย (Pennsylvania Railroad) บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลกในยุคนั้น ชีวิตการงานของเขารุดหน้าอย่างรวดเร็วจนได้รับความไว้วางใจจาก โทมัส สกอตต์ (Thomas Scott) นายของเขา ผู้กลายเป็นเพื่อนและพันธมิตรทางธุรกิจในเวลาต่อมา

สกอตต์เป็นคนแรกที่ชี้ให้คาร์เนกีเห็นความมหัศจรรย์ของ “ดอกเบี้ยทบต้น” (compound interest) จากการลงทุน เขาให้คาร์เนกีกู้เงิน ๖๐๐ ดอลลาร์ไปลงทุนในหุ้นของบริษัท Adams Express ซึ่งเป็นบริษัทรับส่งของที่ประสบความสำเร็จสูงมาก ในอีกหลายปีต่อมาคาร์เนกีเขียนบรรยายความตื่นเต้นตอนที่เขาได้รับเช็คเงินปันผลใบแรกจากบริษัทนี้ไว้ว่า “ผมจะจดจำเช็คใบนี้ไปจนวันตายเพราะมันทำให้ผมมีรายได้สตางค์แรกจากการลงทุน เงินก้อนแรกที่ผมได้รับโดยไม่ได้มาจากหยาดเหงื่อแรงงานของตัวเอง …นี่เอง ห่านที่ไข่ออกมาเป็นทองคำ !”

หลังจากที่คาร์เนกีค้นพบว่าเขามีพรสวรรค์และความสามารถเพียงใดในการเป็น “นายทุน”(capitalist) เขาก็ไม่จำเป็นต้องใช้หยาดเหงื่อแรงงานในการหาเลี้ยงชีพอีกต่อไป เมื่อสงครามกลางเมืองอเมริกาปะทุขึ้น คาร์เนกีจ้างชายชาวไอริชผู้หนึ่งด้วยเงิน ๘๕๐ เหรียญ ให้ไปเกณฑ์ทหารแทนเขา งานส่งโทรเลขและประสบการณ์ในบริษัทรถไฟของคาร์เนกี สองช่องทางหลักในการสื่อสารและติดต่อค้าขายในสมัยนั้น ช่วยให้เขามองเห็น “ช่องทางรวย” ในธุรกิจใหม่ๆ ก่อนคนอื่น เขาริเริ่มกิจการผลิตเหล็กกล้าเป็นคนแรกๆ ในอเมริกา คิดค้นกระบวนการผลิตที่ผลิตเหล็กได้ทีละมากๆ (mass production) ด้วยต้นทุนต่ำแต่มีประสิทธิภาพสูง ระหว่างนั้นก็ลงทุนอย่างชาญฉลาดในธุรกิจอื่นๆ เช่นบ่อน้ำมัน ในปี ๑๘๖๕ เมื่อคาร์เนกีมีอายุเพียง ๓๐ ปี เขาก็มีรายได้ถึง ๓๘,๗๓๕ ดอลลาร์ (เท่ากับประมาณ ๕.๖ ล้านดอลลาร์ในมูลค่าปัจจุบัน)

ถึงแม้ว่าจะได้เป็นเศรษฐีเงินล้านตั้งแต่อายุยังน้อย คาร์เนกีก็ไม่เคยรู้สึกสบายใจกับความมั่งคั่งของเขา เมื่ออายุ ๓๓ ปี ในปี ๑๘๖๘ คาร์เนกีก็เขียนข้อความต่อไปนี้ในจดหมายถึงตัวเอง

“ผมปวารณาว่าจะไม่รับรายได้เกิน ๕๐,๐๐๐ ดอลลาร์ต่อปี ! (เท่ากับประมาณ ๓ ล้านดอลลาร์ในมูลค่าปัจจุบัน) ผมจะนำส่วนเกินจากเงินจำนวนนี้ที่ผมจำเป็นต้องใช้จริงๆ ไปเพื่อเป้าหมายทางสังคม ! ผมจะเลิกทำธุรกิจตลอดกาล เว้นแต่จะทำเพื่อผู้อื่นเท่านั้น เราจะตั้งรกรากในออกซฟอร์ด ผมจะเรียนจนจบสูงๆ และทำความรู้จักกับปัญญาชนทั้งหลาย ผมคิดว่าเรื่องนี้จะต้องใช้เวลา ๓ ปี ผมจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการพูดในที่สาธารณะ เราจะตั้งรกรากในลอนดอน ผมจะซื้อหุ้นใหญ่ในหนังสือพิมพ์หรือวารสารวิจารณ์งานศิลปะอะไรสักอย่าง แล้วก็จะให้เวลากับการบริหารจัดการกิจการนั้นๆ ผมจะมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะทั้งหลาย โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการศึกษาและการปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของชนชั้นรายได้น้อย มนุษย์ทุกคนล้วนมีวัตถุบูชา และการสะสมความมั่งคั่งก็เป็นหนึ่งในลัทธิบูชาวัตถุที่เลวร้ายที่สุด ! ไม่มีสิ่งใดที่จะทำให้คุณค่ามนุษย์เสื่อมถอยเท่ากับการบูชาเงินเป็นพระเจ้าอีกแล้ว ! อะไรก็ตามที่ผมเข้าไปมีส่วนร่วม ผมจะต้องทำอย่างดีที่สุด และดังนั้นผมจึงต้องเลือกวิถีชีวิตที่สูงส่งที่สุด ถ้าผมทำธุรกิจไปนานกว่านี้ หมกมุ่นอยู่กับความคิดที่ว่าจะหาเงินอย่างไรให้ได้เร็วที่สุด วิญญาณของผมคงจะเสื่อมจนถึงจุดที่ไม่สามารถกอบกู้มันคืนมาได้อีก ผมจะวางมือจากธุรกิจตอนอายุ ๓๕ ปี แต่ในระยะเวลาที่เหลืออีก ๒ ปีนับจากนี้ ผมอยากใช้เวลาทุกบ่ายเรียนหนังสือและอ่านหนังสืออย่างเป็นระบบ !”

คาร์เนกีไม่เคย “วางมือ” จากธุรกิจตอนอายุ ๓๕ ตามที่เขาตั้งใจไว้ แต่มุ่งมั่นทำธุรกิจเหล็กกล้าและลงทุนอย่างชาญฉลาดต่อไปอีกกว่า ๓ ทศวรรษ ในปี ๑๙๐๑ เมื่อเขาขายธุรกิจเหล็กกล้าให้แก่บริษัท เจ.พี. มอร์แกน (J.P. Morgan)ด้วยราคาสูงถึง ๔๐๐ ล้านดอลลาร์ (ต่อมาบริษัทนี้กลายเป็น U.S. Steel ผู้ผลิตเหล็กกล้ารายสำคัญของโลก) คาร์เนกีก็กลายเป็นชายผู้ร่ำรวยที่สุดในอเมริกา

คาร์เนกีเป็น “นายทุนใจบุญ” คนแรกๆ ของโลก ผู้มีความเชื่อว่า คนรวยทุกคนมี “หน้าที่ทางศีลธรรม” ที่จะมอบความมั่งคั่งกลับคืนสู่สังคม อุดมการณ์ของคาร์เนกีได้รับอิทธิพลอย่างมากจากแนวคิดและข้อเขียนของ เฮอร์เบิร์ต สเปนเซอร์ (Herbert Spencer, ๑๘๒๐-๑๙๐๓) นักปรัชญาชาวอังกฤษ ผู้สอนคาร์เนกีว่า ความสำเร็จของเขาในฐานะนักธุรกิจนั้นตั้งอยู่บนความยึดมั่นในกฎเกณฑ์ของตลาดการแข่งขัน ซึ่งมีมิติของศีลธรรมพอๆ กับที่มันมีเหตุมีผล ถึงแม้ว่าคาร์เนกีจะไม่เคร่งศาสนาใดๆ เขาก็เชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่า เขาเป็นหนึ่งใน “ผู้ที่ถูกเลือก” (โดยโชคชะตา พระเจ้า หรืออะไรก็แล้วแต่) ให้ทำหน้าที่จัดสรรความมั่งคั่งในทางที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคม เพราะนายทุนมีความสามารถในการทำให้เงินงอกเงยสูงกว่าคนทั่วไป คาร์เนกีเชื่อว่า ยิ่งความมั่งคั่งกระจุกตัวในมือ “นายทุนผู้มีจิตสาธารณะ” อย่างเขาเท่าไร สังคมก็จะยิ่งได้รับประโยชน์มากขึ้นเท่านั้น เพราะเมื่อนายทุนเหล่านี้วางมือจากธุรกิจแล้ว ก็จะสามารถจัดสรรความมั่งคั่งนั้นให้แก่กลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคม ในฐานะตัวแทนและผู้ดูแลผลประโยชน์(trustee) ของพวกเขา ประสบการณ์และความสามารถในการบริหารจัดการของนายทุนจะทำให้นายทุนสามารถทำประโยชน์ให้แก่ผู้ด้อยโอกาสได้ดีกว่าที่พวกเขาจะทำด้วยตัวเองได้

คาร์เนกีไม่เพียงแต่ทำตามสิ่งที่เขาเชื่อเท่านั้น แต่ยังถ่ายทอดความคิดของเขาไว้ในบทความและหนังสืออย่างสม่ำเสมอ ในบทความชิ้นสำคัญเรื่อง “Wealth” หรือที่ชาวอเมริกันรู้จักในชื่อ “The Gospel of Wealth” (ตำราแห่งความมั่งคั่ง) ตีพิมพ์ในวารสาร North American Review ในปี ๑๘๘๙ คาร์เนกีสรุปความคิดของเขาในประเด็นสำคัญๆ ที่เริ่มเลือนหายไปจากความทรงจำของสังคมแม้แต่ในอเมริกาเอง ไว้ดังต่อไปนี้

ว่าด้วย “หน้าที่ของคนรวย”
“(คนรวย) ควรใช้ชีวิตอย่างสมถะ ไม่โอ้อวดให้เป็นเยี่ยงอย่าง หลีกเลี่ยงการแสดงออกที่ฟุ่มเฟือยและวิถีชีวิตแบบหรูหรา กันเงินจำนวนหนึ่งให้พอเพียงสำหรับความต้องการที่มีเหตุมีผลของคนที่พึ่งพาเขา (เช่นลูกหลาน) หลังจากนั้นก็ควรเอารายได้ส่วนเกินทั้งหมดที่ได้รับไปไว้ในกองทุน (trust fund) ที่เขาปวารณาตัวว่ามีหน้าที่บริหารจัดการในทางที่เชื่อว่าก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชน ในแง่นี้คนรวยจะเป็นเพียงตัวแทนและผู้ดูแลผลประโยชน์ให้แก่พี่น้องในสังคมที่จนกว่าเขาเท่านั้น”

ว่าด้วย “การกุศลตามอำเภอใจ” (indiscriminate charity)
“เป็นเรื่องดีกว่าสำหรับมนุษยชาติ ถ้าจะโยนเงินล้านของเศรษฐีลงทะเล แทนที่จะใช้เงินนั้นในทางที่ส่งเสริมคนเกียจคร้าน คนมัวเมา และคนที่ไม่สมควรได้รับเงินนั้น ในทุกๆ ๑,๐๐๐ เหรียญที่อ้างว่าทำไปเพื่อการกุศลในปัจจุบัน ผมคิดว่ากว่า ๙๕๐ เหรียญถูกใช้ไปในทางที่ไม่เหมาะไม่ควร ในทางที่เอื้ออำนวยให้เกิดเรื่องเลวร้ายทั้งหลายที่การกุศลเหล่านั้นอ้างว่าจะช่วยบรรเทา”

ว่าด้วยภาษีมรดก
“ในบรรดาภาษีทุกรูปแบบ ผมคิดว่าภาษีมรดกเป็นภาษีที่ดีที่สุด คนที่สะสมความมั่งคั่งไปเรื่อยๆ ตลอดชีวิตของพวกเขา ความมั่งคั่งที่ควรจะทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคม ควรจะถูกบังคับให้รู้สึกว่าสังคมซึ่งมีรัฐเป็นตัวแทน ไม่ควรจะถูกกีดกันจากสัดส่วนของความมั่งคั่งที่ควรจะได้รับ รัฐควรจะเก็บภาษีมรดกสูงๆ ตอนคนรวยตาย เพื่อลงโทษเศรษฐีผู้เห็นแก่ตัวที่ใช้ชีวิตอย่างไร้คุณค่า ผมคิดว่าทุกประเทศควรจะทำเช่นนี้ ว่ากันตามจริง เป็นเรื่องยากที่จะกำหนดสัดส่วนของมรดกคนรวยที่ควรจะตกเป็นของรัฐเมื่อเขาตายลงอัตราภาษีทำนองนี้ควรเป็นขั้นบันได เริ่มจากศูนย์บนมรดกจำนวนพอประมาณที่เหลือไว้ให้ลูกหลาน และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเม็ดเงินเพิ่มขึ้น”

ภาพวาดเหตุการณ์ Homestead Strike บนหน้าปกวารสาร Harper’s Weekly ฉบับวันที่ 16 กรกฎาคม 1892

ถึงแม้ว่าคาร์เนกีจะเป็น “นายทุนใจบุญ” อย่างมั่นคงไม่เสื่อมคลาย ก็ใช่ว่าเขาจะทำธุรกิจอย่างเปี่ยมสำนึกตามไปด้วย ตรงกันข้าม ประวัติของคาร์เนกีในฐานะนักธุรกิจเต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมแพรวพราว ที่แม้หลายกรณีอาจไม่ถึงกับผิดกฎหมายเต็มๆ แต่ก็เป็นเรื่องผิดจรรยาบรรณหรือศีลธรรม กรณีที่สร้างความด่างพร้อยให้ประวัติของเขาที่สุดคือเหตุการณ์ปี ๑๘๙๒ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่รู้จักในชื่อ “Homestead Strike” เมื่อคนงานที่โรงงานเหล็กของคาร์เนกีนัดหยุดงานประท้วงเพื่อพยายามกีดกันไม่ให้บริษัทระบุในสัญญาจ้างงานว่า ลูกจ้างยินยอมจะไม่เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานใดๆ (สัญญาจ้างงานแบบนี้เรียกว่า “yellow-dog contract” และเป็นเรื่องผิดกฎหมายแล้วในอเมริกาตั้งแต่ปี ๑๙๓๒) แล้วเกิดการปะทะกันอย่างดุเดือดระหว่างคนงานกับนักสืบเอกชนติดอาวุธจากบริษัท Pinkerton National Detective Agency ที่โรงงานเหล็กจ้างให้มารับมือกับคนงานทั้งสองฝ่ายยิงต่อสู้กันจนทำให้คนงาน ๗ คนถึงแก่ชีวิต

หลุมฝังศพของคาร์เนกีที่สุสาน Sleepy Hollow ในเมือง Sleepy Hollow รัฐนิิวยอร์ก

ถึงแม้ว่าตอนที่เกิดเหตุ Homestead Strike คาร์เนกีจะเป็นเพียงผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ไม่ได้เป็นผู้บริหารบริษัทโดยตรงแล้ว แต่เขาก็ไม่เคยปริปากพูดถึงเหตุการณ์รุนแรงระหว่างบริษัทกับพนักงานของตัวเองซึ่งยังเป็นที่โจษขานในแง่ลบจนถึงทุกวันนี้ นอกจากนี้คาร์เนกีเองก็ไม่เคยใช้ชีวิตอย่าง “สมถะ” เท่ากับที่เขาชอบเรียกร้องให้เศรษฐีคนอื่นๆ ทำ อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าคาร์เนกีจะเป็น “นักธุรกิจสำคัญ” ผู้มีข้อบกพร่องและรอยด่างในชีวิตมากมายเกินกว่าที่ใครจะยกย่องให้เป็น “นักบุญ” ได้อย่างสนิทใจ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาเป็น “นักการกุศล (ไม่) สำคัญ” ผู้มอบมรดกอันมีค่ามหาศาลและยั่งยืนให้แก่สังคม โดยเฉพาะด้านการศึกษาและวัฒนธรรม และความเชื่อของเขาที่ว่า นายทุนทุกคนมี “หน้าที่” ที่จะต้องตอบแทนสังคมด้วยการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ก็เป็นแนวคิด (ไม่) สำคัญที่ควรได้รับการกล่าวขานและศึกษาวิเคราะห์มากกว่าประวัติการสร้างฐานะของตัวเขาเอง