สุเจน กรรพฤทธิ์ เกศินี จิรวณิชชากร : แปลและสรุปความ
“กิจกรรมของมนุษย์มีส่วนในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึงร้อยละ ๖๐”
ผลการศึกษาและคาดการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์โลกร้อน ฉบับที่ ๑ (ค.ศ. ๑๙๙๐)
IPCC First Assessment Report (FAR) ได้รับการตีพิมพ์ในปี ค.ศ. ๑๙๙๐ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (UNFCCC) ครั้งแรกที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี
รายงานฉบับนี้ถือเป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์ตั้งข้อสงสัยออกมาดังๆ ว่า “มนุษย์” อาจเป็นต้นเหตุทำให้ก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศโลกเพิ่มขึ้น แต่ด้วยหลักฐานที่มีอยู่ IPCC ก็ยังไม่กล้าฟันธง
ข้อสังเกตการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ
สาเหตุและผลที่เกิดขึ้น
– IPCC เชื่อว่าปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อาจเกี่ยวข้องกับกิจกรรมของมนุษย์
– ในรอบ ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้น ๐.๓-๐.๖ องศาเซลเซียส และที่สำคัญการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศตามธรรมชาติยังอาจเป็นสาเหตุให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน
– ภาวะเรือนกระจกมีสาเหตุจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กว่าร้อยละ ๕๐ โดยเฉพาะกิจกรรมของมนุษย์มีส่วนในการปล่อยก๊าซชนิดนี้ถึงร้อยละ ๖๐
การคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
– อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจากนี้ไปจนถึงศตวรรษที่ ๒๑ จะเพิ่มขึ้น ๐.๓ องศาเซลเซียส ถือว่ามากที่สุดในรอบ ๑ หมื่นปีที่ผ่านมา ถ้าควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากขึ้นจะทำให้อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นเหลือประมาณ ๐.๑-๐.๒ องศาเซลเซียส ดังนั้นควรลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ทันที
– มีปัจจัยหลายอย่างถูกนำมาใช้ทำนายสถานการณ์ซึ่งอาจทำให้ผลที่ได้มีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะการพิจารณาช่วงเวลา ขนาด พื้นที่ และรูปแบบการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เนื่องจากความเข้าใจเกี่ยวกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกในพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าท้องฟ้า มหาสมุทร รวมถึงพืดน้ำแข็งของเรามีจำกัด
– ความไม่ชัดเจนในการหาต้นตอของก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นน่าจะได้คำตอบในช่วง ๑๐ ปีหลังจากนี้
“หนึ่งศตวรรษหลังจากนี้ ธารน้ำแข็งบนยอดเขาอาจหายไป”
ผลการศึกษาและคาดการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์โลกร้อน ฉบับที่ ๒ (ค.ศ. ๑๙๙๕)
IPCC Second Assessment Report (SAR) เป็นรายงานฉบับที่ ๒ ได้รับการเผยแพร่ในปี ค.ศ. ๑๙๙๕ IPCC มีน้ำเสียงหนักแน่นขึ้นในการระบุว่า “มนุษย์” อาจเป็นตัวการของภาวะโลกร้อน
ข้อสังเกตการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ
สาเหตุและผลที่เกิดขึ้น
– ก๊าซเรือนกระจกยังเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นับตั้งแต่เริ่มมีการตรวจวัดเมื่อปี ๑๙๘๙ อัตราการเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสออกไซด์ คือร้อยละ ๓๐, ๑๔๕ และ ๑๕ ตามลำดับ เป็นไปได้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล การใช้ที่ดินและการเกษตร ก๊าซเหล่านี้ใช้เวลายาวนานกว่าจะแสดงผลกระทบ โดยคาดว่าจะเริ่มต้นในช่วงศตวรรษที่ ๒๑ เป็นต้นไป ถ้าอัตราเพิ่มยังเป็นเช่นนี้ ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศอาจเพิ่มขึ้นถึง ๕๐๐ ppm (๕๐๐ ส่วนต่ออากาศ ๑ ล้านส่วน) ภายใน ๒๐๐ ปี หรือเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม
– ละอองลอย (aerosol) ในอากาศที่เกิดจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล เชื้อเพลิงชีวมวล ส่งผลกระทบด้านลบในบางพื้นที่ เช่นเป็นพิษต่อการหายใจ แต่ก็อาจส่งผลกระทบด้านบวกด้วย เช่น ทำให้อุณหภูมิลดลง และในระยะสั้น ละอองลอยในอากาศในบางพื้นที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าก๊าซเรือนกระจก
– ปี ๑๙๙๕ เป็นปีที่ร้อนที่สุดนับตั้งแต่ปี ๑๘๖๐ เป็นต้นมา แม้ว่าก่อนหน้านี้ในปี ๑๙๙๑ ภูเขาไฟปินาตุโบในฟิลิปปินส์จะระเบิดและปล่อยเถ้าถ่านจำนวนมากออกมาช่วยให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลก
ลดลง และในทศวรรษ ๑๙๙๐ ปรากฏการณ์เอลนีโญได้ทำให้ฝนแล้งและน้ำท่วมในหลายพื้นที่มากที่สุดในรอบ ๑๒๐ ปี
– อุณหภูมิเฉลี่ยบนภาคพื้นทวีปช่วงกลางคืนมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยช่วงเวลากลางวัน ในระดับภูมิภาคนั้นชัดเจนแล้วว่าสถานการณ์บางอย่างน่าจะมาจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ
การคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
– เมื่อสิ้นศตวรรษที่ ๒๐ อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะเพิ่มขึ้น ๐.๓-๐.๖ องศาเซลเซียส จากการจำลองสถานการณ์ในหลายเงื่อนไขคาดว่าในอนาคตภูมิอากาศโลกจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เลวร้ายลง IPCC ได้สร้างสถานการณ์จำลองชื่อ IS92 a-f เพื่อคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกและละอองลอยโดยอ้างอิงอยู่บนพื้นฐานจำนวนประชากร การเติบโตทางเศรษฐกิจ การใช้ที่ดิน ฯลฯ พบว่าตั้งแต่ปี ๑๙๙๐-๒๑๐๐ ในสถานการณ์ a มองในแง่ดีที่สุดอุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้น ๒ องศาเซลเซียสในปี ๒๑๐๐ ตัวเลขนี้ถือว่าลดลงกว่าการคาดการณ์ที่เคยทำในปี ๑๙๙๐ ส่วนสถานการณ์ e บอกว่าเมื่อถึงปี ๒๑๐๐ อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้น ๓.๕ องศาเซลเซียส สุดท้ายแล้วการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ว่ามากเท่าใดก็ล้วนมากที่สุดในรอบ ๑ หมื่นปีที่ผ่านมา
– การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศยังส่งผลต่อป่าไม้ในพื้นที่ต่างๆ ที่อาจเปลี่ยนแปลงไป ช่วง ๑ ศตวรรษหลังจากนี้ ธารน้ำแข็งบนยอดเขาต่างๆ อาจหายไป ประชากร ๔๖ ล้านคนทั่วโลกบนที่ราบชายฝั่งทะเล ที่ราบปากแม่น้ำบนเกาะเล็กๆ มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ การกัดเซาะชายฝั่งจะรุนแรง น้ำท่วม ความแห้งแล้งจะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง พายุอาจเกิดถี่ขึ้น การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ๕๐ เซนติเมตรจะมีผลต่อประชากร ๙๒ ล้านคน และถ้าเพิ่ม ๑ เมตรจะมีผลกระทบกับคนกว่า ๑๑๘ ล้านคน
– การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศยังส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพมนุษย์ เช่น คลื่นความร้อน พายุ น้ำท่วม ฯลฯ ผลโดยอ้อมนั้นอาจเกิดโรคระบาดใหม่ๆ หรือโรคระบาดเดิมกลับมาระบาดอีกครั้ง ผลผลิตทางการเกษตรโดยเฉพาะพืชอาหารจะลดลง ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลให้มีการย้ายถิ่นครั้งใหญ่ โรคระบาด และยังอาจก่อให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจที่จะส่งผลกระทบกับบริการด้านสาธารณสุขของประเทศต่างๆ
ผลกระทบในระยะยาวนั้นยากจะคาดเดา เราอาจพบสถานการณ์ “น่าตกใจ” ก็เป็นได้ เพราะมนุษย์ยังมีหลักฐานและข้อมูลเรื่องนี้ค่อนข้างจำกัด แม้ช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาองค์ความรู้จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การปรับตัวจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การจัดการเงินทุนและการแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลในบางพื้นที่ของโลกที่ยังเข้าถึงเรื่องเหล่านี้ได้จำกัด นอกจากนี้ยังมีปัจจัยหลายอย่างที่มีอิทธิพล ไม่ว่ากฎหมาย วัฒนธรรม การศึกษา ฯลฯ และยังมีปัจจัยที่ไม่แน่นอนอีกมากที่จะมีผลต่อสถานการณ์
ทางเลือกในการปรับตัวและลดก๊าซเรือนกระจก
– แนะนำให้เปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด อาทิ เปลี่ยนจากใช้ถ่านหินไปใช้ก๊าซธรรมชาติซึ่งปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่า (ที่น่าสนใจคือมีการเสนอ “นิวเคลียร์” เป็นทางเลือกถ้า “รับรองได้ว่าจะดูแลความปลอดภัยของเตาปฏิกรณ์ กากนิวเคลียร์ การขนส่งสารกัมมันตรังสีที่เกี่ยวข้อง และควบคุมการแพร่กระจายได้”)
– การบรรเทาสถานการณ์จะสำเร็จหรือไม่ยังขึ้นอยู่กับการลดอุปสรรคในการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี การระดมทรัพยากรทางการเงินให้ประเทศกำลังพัฒนา และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม นโยบายที่ดีที่สุดคือรัฐบาลทุกประเทศต้องเริ่มลงมือดำเนินมาตรการข้างต้น ซึ่งจะทำได้หรือไม่ยังขึ้นอยู่กับโครงสร้างทางการเมือง การเปิดกว้างทางความคิดของสังคมนั้นๆ ด้วย
“หลายสิ่งหลายอย่างจะเปลี่ยนไปโดยไม่มีวันกลับมาดีได้เหมือนเดิม”
ผลการศึกษาและคาดการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์โลกร้อน ฉบับที่ ๓ (ค.ศ. ๒๐๐๑)
IPCC Third Assessment Report (TAR) รายงานฉบับนี้ระบุอย่างชัดเจนว่าภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นในช่วง ๕๐ ปีส่วนมากเกิดจากฝีมือมนุษย์ และคณะทำงานชุดนี้ได้พัฒนาเทคนิคและเครื่องมือใหม่ๆ เพื่อเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลจนนำไปสู่ข้อสรุปที่แน่นอนขึ้นหลายประการ
ข้อสังเกตการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ
สาเหตุและผลที่เกิดขึ้น
– ในช่วงศตวรรษที่ ๒๐ อุณหภูมิเฉลี่ยเหนือผิวโลกเพิ่มขึ้น ๐.๖ องศาเซลเซียส นับแต่ปลายทศวรรษ ๑๙๗๐ พื้นที่ที่มีหิมะปกคลุมลดลงประมาณ ๑๐ % ช่วงเวลาที่ทะเลสาบและแม่น้ำทางตอนเหนือเย็นเป็นน้ำแข็งลดลงราว ๒ สัปดาห์ ระดับน้ำทะเลเฉลี่ยทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น ๑๐-๒๐ เซนติเมตร อันเป็นผลมาจากอุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นและการละลายของน้ำแข็ง
– การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยฝีมือมนุษย์ยังคงสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสัดส่วนก๊าซในชั้นบรรยากาศ โดยจะส่งผลกระทบต่อภูมิอากาศด้วย และความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโดยน้ำมือมนุษย์จะยังดำเนินต่อไปอีกหลายร้อยปี
การคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
– สถานการณ์จำลองเพื่อพยากรณ์ความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศล้วนสรุปตรงกันว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกและระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน โดยในช่วงระหว่างปี ๑๙๙๐-๒๑๐๐ หากมนุษยชาติยังคงดำเนินชีวิตแบบเดิม อุณหภูมิเฉลี่ยบนผิวโลกจะเพิ่มขึ้น ๑.๔-๕.๘ องศาเซลเซียส และระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้น ๐.๑-๐.๙ เมตร
– ระบบธรรมชาติเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก และหลายสิ่งหลายอย่างจะเปลี่ยนไปโดยไม่มีวันกลับมาดีเหมือนเดิม
– ระบบของมนุษยชาติเองก็อ่อนไหวและเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ผลกระทบจะปรากฏในเรื่องทรัพยากรน้ำ การเกษตร (โดยเฉพาะความมั่นคงทางอาหาร) ป่าไม้ ระบบนิเวศทางทะเล การตั้งถิ่นฐาน พลังงาน อุตสาหกรรม การประกัน บริการทางการเงิน และสุขภาพ ซึ่งผลกระทบแต่ละอย่างอาจเป็นได้ทั้งทางบวกและทางลบ โดยผลกระทบจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับปัจจัยทางภูมิศาสตร์ ช่วงเวลา สภาพสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม และยังไม่อาจคาดเดาผลที่เกิดขึ้นกับแต่ละพื้นที่ได้แน่ชัด โดยเฉพาะในพื้นที่ขนาดเล็กๆ
– ผู้ที่ครอบครองทรัพยากรน้อยที่สุดจะมีศักยภาพในการปรับตัวได้น้อยที่สุด และจะเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อผลกระทบมากที่สุดด้วย
ทางเลือกในการปรับตัวและลดก๊าซเรือนกระจก
– ควรส่งเสริมมาตรการการปรับตัวของมนุษย์ในด้านต่างๆ โดยส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและความเท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากร ข้อมูลข่าวสาร และองค์ความรู้
ถึงแม้รายงานฉบับนี้จะยังไม่ได้ให้เพดานตัวเลขปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่โลกรับได้เต็มที่ แต่ก็ได้สรุปไว้ว่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะช่วยลดความเสี่ยงลงได้อย่างแน่นอน ยิ่งเริ่มต้นได้เร็วเท่าใดก็ยิ่งมีผลดีมากขึ้นเท่านั้น เพราะหลายสิ่งหลายอย่างยังอยู่นอกเหนือการคาดเดาของเรา ดังจะเห็นว่ากว่าที่รายงาน IPCC แต่ละฉบับจะเผยแพร่นั้นทิ้งระยะห่างกัน ๕-๖ ปี ก็เพราะต้องรอวิทยาการและความรู้ใหม่ๆ เพื่อตอบคำถามหลายสิ่งหลายอย่าง
“การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือการปรับตัว ไม่ทำให้เราหลีกเลี่ยงผลกระทบได้ แต่การทำทั้งสองสิ่งร่วมกันจะลดความเสี่ยงลงได้มาก”
ผลการศึกษาและคาดการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์โลกร้อน ฉบับที่ ๔ (ค.ศ. ๒๐๐๗)
IPCC Fourth Assessment Report (AR4) รายงานฉบับนี้เผยแพร่ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๐๐๗ เป็นครั้งแรกที่นักวิทยา-ศาสตร์ระบุชัดเจนว่า ต้นเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่าร้อยละ ๙๐ มาจาก “มนุษย์”
อาชิม สไตเนอร์ (Achim Steiner) ประธานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) กล่าวว่า “วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๐๐๗ ควรได้รับการจดจำว่า คำถามเรื่องมนุษย์เป็นตัวการหรือไม่ถูกทำให้หมดไป” นั่นหมายความว่ารายงานฉบับที่ ๔ มีค่าเทียบเท่ากับการยอมรับว่าบุหรี่ทำให้คนเป็นมะเร็ง
ขณะที่ บัน คี-มูน (Ban Ki-moon) เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมที่จัดขึ้น ณ เมืองวาเลนเซีย ประเทศสเปน เพื่อรับรองรายงานฉบับนี้ต่อหน้านักวิทยาศาสตร์จำนวนมากว่า “ผมมาพบพวกท่านด้วยความนอบน้อมและอับอาย หลังเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับโลกอันเป็นที่รัก โลกซึ่งกำลังถูกทำลายด้วยมือมนุษย์เอง”
ทั้งนี้ การที่รายงานฉบับนี้เผยแพร่หลังการฉายภาพยนตร์ An Inconvenient Truth ไปทั่วโลก ก็ยิ่งเท่ากับตอกย้ำปัญหาโลกร้อนให้หนักแน่นยิ่งขึ้น
ข้อสังเกตการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ
สาเหตุและผลที่เกิดขึ้น
– ภาวะโลกร้อนไม่เป็นที่สงสัยอีกต่อไป ช่วงปี ๑๙๙๕-๒๐๐๗ เป็นปีที่ร้อนที่สุดนับแต่มีการเก็บสถิติในปี ๑๘๕๐ โดยตั้งแต่ปี ๑๙๐๖-๒๐๐๕ อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้น ๐.๗๔ องศาเซลเซียส ปริมาณหิมะและน้ำแข็งที่ลดลงมีความเกี่ยวเนื่องกับอุณหภูมิเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น และใน ๕๐ ปีที่ผ่านมา ทุกทวีปยกเว้นแอนตาร์กติกามีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น อัตราการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลปัจจุบันยังสูงกว่าในอดีต หากคำนวณตั้งแต่ปี ๑๙๙๓ ถึงปัจจุบัน ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเฉลี่ย ๓.๑ มิลลิเมตรต่อปี
– ตั้งแต่กลางศตวรรษที่ ๒๐ อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มขึ้นสัมพันธ์กับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมนุษย์ ปี ๑๙๗๐ มนุษย์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกปีละ ๒๘.๗ พันล้านตัน ขณะที่ปี ๒๐๐๔ เพิ่มขึ้นเป็น ๔๙ พันล้านตัน คาร์บอนไดออกไซด์เป็นก๊าซที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นมากที่สุด ส่วนใหญ่มาจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และการสูญเสียพื้นที่ป่า ปัจจุบันความเข้มข้นของคาร์บอนได-ออกไซด์เท่ากับ ๓๗๙ ppm มากที่สุดในรอบ ๖๕๐,๐๐๐ ปี
การคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
– จากการจำลองสถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกพบว่า อีก ๒๐-๓๐ ปีข้างหน้า อุณหภูมิเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นประมาณ ๐.๒ องศาเซลเซียสต่อทศวรรษ ซึ่งถ้าสามารถคุมระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เท่ากับในปี ๒๐๐๐ อุณหภูมิจะเพิ่มเหลือ ๐.๑ องศาเซลเซียสต่อทศวรรษ
– ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้น ๑๘-๕๙ เซนติเมตร แต่จะเพิ่มเท่าไรนั้นขึ้นอยู่กับรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ ปี ๒๐๙๐-๒๐๙๙ อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกอาจเพิ่มขึ้นถึง ๑.๘-๔ องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับปี ๑๘๙๐-๑๙๙๙ ในกรณีที่อุณหภูมิเฉลี่ย ๑.๘ องศาเซลเซียส น้ำทะเลจะเพิ่มขึ้น ๑๘-๓๘ เซนติเมตร แต่ในกรณี ๔ องศาเซลเซียส ระดับน้ำทะเลจะเพิ่ม ๒๖-๕๙ เซนติเมตร ในช่วงปลายศตวรรษที่ ๒๑ หรือภายในปี ๒๐๕๐ คาดว่าทุกปลายฤดูร้อน น้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติกจะหายไปเกือบหมด ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มถึง ๗ เมตร ส่วนที่เกาะกรีนแลนด์ ถ้าอุณหภูมิเพิ่มขึ้นถึงระดับเท่ากับเมื่อ ๑๒๕,๐๐๐ ปีก่อน หลักฐานในอดีตบอกเราว่า ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นถึง ๖ เมตร
– ป่าฝนเมืองร้อนและป่าเขตทุนดรา (เขตขั้วโลก) ที่เปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิจะได้รับผลกระทบก่อนเพื่อน วัฏจักรน้ำจะเกิดการเปลี่ยนแปลง น้ำอุปโภคบริโภคในลุ่มน้ำต่างๆ ในทวีปเอเชียจะลดลง ที่ราบปากแม่น้ำจะเสี่ยงกับอุทกภัยที่เกิดจากน้ำทะเลหนุนและน้ำล้นตลิ่ง จะเกิดโรคระบาดและมีคนเสียชีวิตจำนวนมาก พายุเขตร้อนจะเคลื่อนที่ขึ้นมาทางซีกโลกเหนือมากขึ้น น้ำทะเลจะเป็นกรดมากขึ้นเพราะคาร์บอนไดออกไซด์ละลายในน้ำ ส่งผลต่อสัตว์ทะเลที่มีเปลือกและกระดอง และถ้าหากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเกิน ๒.๕ องศาเซลเซียสจากอุณหภูมิเฉลี่ยของปี ๑๙๘๐-๑๙๙๙ สิ่งมีชีวิต ๒๐-๓๐ เปอร์เซ็นต์ของโลกจะสูญพันธุ์
ทางเลือกในการปรับตัวและลดก๊าซเรือนกระจก
– เทคโนโลยีแบบใดแบบหนึ่งไม่สามารถตอบสนองการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ปัจจุบันมีทางเลือกหลายรูปแบบ แต่เราจำเป็นต้องมีทางเลือกมากกว่านี้ การเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวัน การบริหารจัดการกิจกรรมของมนุษย์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ประสบการณ์จากภัยธรรมชาติที่เคยเกิดขึ้น เราสามารถนำมาใช้สร้างมาตรการการปรับตัวได้ รัฐบาลมีเครื่องมือมากมายที่จะใช้ในการนี้ ไม่ว่านโยบาย การสร้างมาตรฐาน มาตรการทางภาษี ฯลฯ
– ภายในปี ๒๐๓๐ มนุษย์มีโอกาสลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง ๖,๐๐๐ ล้านตันต่อปี ด้วยการใช้พลังงานสะอาดและมีประสิทธิภาพ การลดก๊าซเรือนกระจกยังนำไปสู่ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้คือสุขภาพของประชาชนจะดีขึ้น หากแต่ความกดดันอื่นๆ เช่น ความยากจน ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงแหล่งทรัพยากร ความไม่มั่นคงด้านอาหาร เศรษฐกิจ โลกาภิวัตน์ อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศลดลง
– การควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมนุษย์ไม่ให้ถึงระดับ “เป็นอันตรายต่อระบบภูมิอากาศ” ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ต้องใช้หลักทางวิทยาศาสตร์กำหนดกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพราะบางกรณีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นน้อยแต่มีความเสียหายเกิดขึ้นสูง ในอนาคตผลกระทบจะเห็นได้ก่อนในระบบนิเวศแถบเทือกเขาสูง ประเทศด้อยพัฒนาจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้มากที่สุด ยิ่งนานวันมูลค่าความเสียหายจะเพิ่มขึ้น ภาวะโลกร้อนยาวนานจะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น เราจะสูญเสียพื้นที่ชายฝั่งและได้รับผลกระทบต่อเนื่อง การละลายของน้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนืออาจสูงกว่าแบบจำลองและเกิดขึ้นยาวนานหลายร้อยปี
– การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัว อย่างใดอย่างหนึ่งไม่ทำให้เราหลีกเลี่ยงผลกระทบได้ แต่การทำทั้งสองสิ่งร่วมกันจะลดความเสี่ยงลงไปได้มาก การปรับตัวต้องทำทั้งระยะสั้นและระยะยาว แต่ถึงแม้มนุษย์จะควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจนกระทั่งมีปริมาณคงที่ในระดับต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก๊าซเรือนกระจกก็ยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยจะเข้มข้นถึงจุดสูงสุดในระยะเวลาหนึ่งแล้วจึงจะลดระดับลง
– การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนับแต่วันนี้จนถึงช่วง ๒ ศตวรรษหลังจากนี้ จะลดภาระผูกพันของมนุษย์ บรรเทาความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การกำหนดจุดที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศคงที่มีหลายทางเลือก ยิ่งกำหนดอัตราต่ำเท่าใด จุดสูงสุดที่ยอมให้มนุษย์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็จะมาถึงเร็วขึ้น และถ้ามนุษย์ทำสำเร็จ ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็จะลดลงเร็วขึ้น
ระดับต่ำ กำหนดให้คงที่ที่ ๓๕๐-๔๐๐ ppm จะทำให้คาร์บอนไดออกไซด์ทวีความเข้มข้นในบรรยากาศสูงสุดที่ ๔๔๕-๔๙๐ ppm ภายในปี ๒๐๑๕ อัตรานี้มีเงื่อนไขว่ามนุษย์ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ถึงร้อยละ ๕๐-๘๐ ภายในปี ๒๐๕๐ จากอัตราที่ปล่อยในปี ๒๐๐๐ ถ้าทำได้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะเพิ่มขึ้น ๒-๒.๔ องศาเซลเซียส ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้น ๔ เซนติเมตรถึง ๑.๔ เมตร
ระดับปานกลาง กำหนดให้คงที่ที่ ๔๘๕-๕๗๐ ppm จะทำให้คาร์บอนไดออกไซด์มีความเข้มข้นสูงสุดที่ ๕๙๐-๗๑๐ ppm ภายในปี ๒๐๒๐-๒๐๖๐ อัตรานี้ยอมให้มนุษย์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มจากปี ๒๐๐๐ ได้อีกร้อยละ ๑๐-๖๐ ภายในปี ๒๐๕๐ ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกเพิ่มขึ้น ๓.๒-๔ องศาเซลเซียส น้ำทะเลเพิ่มขึ้น ๖๐ เซนติเมตรถึง ๒.๔ เมตร
ระดับสูง กำหนดให้คงที่ที่ ๖๖๐-๗๙๐ ppm จะทำให้คาร์บอนไดออกไซด์เข้มข้นสูงสุดที่ ๘๕๕-๑,๑๓๐ ppm ภายในปี ๒๐๖๐-๒๐๙๐ อัตรานี้ยอมให้มนุษย์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มจากปี ๒๐๐๐ อีกร้อยละ ๙๐-๑๔๐ ภายในปี ๒๐๕๐ โดยอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะเพิ่มขึ้น ๔.๙-๖.๑ องศาเซลเซียส ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้น ๑-๓.๗ เมตร
รายงานฉบับที่ ๔ สรุปว่า มนุษย์ไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการที่ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นได้ เพราะแค่การละลายของน้ำแข็งที่เกาะกรีนแลนด์และการขยายตัวของน้ำจากความร้อนที่เพิ่มขึ้นก็ทำให้น้ำทะเลเพิ่มระดับมากกว่าที่ประมาณการเอาไว้เสียอีก และน้ำทะเลจะมีระดับไม่คงที่ไปอีกหลายร้อยปี
สถานการณ์หลังการเผยแพร่รายงาน ฉบับที่ ๔
มีการประชุมของประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (UNFCCC) ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ตั้งแต่วันที่ ๓-๑๔ ธันวาคม ๒๐๐๗ โดยมีผู้แทนจากภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมนับหมื่นคนเพื่อกำหนดแนวทางการทำข้อตกลงในการลดภาวะโลกร้อนฉบับใหม่แทนที่ “พิธีสารเกียวโต” (Kyoto Protocol) ที่กำลังจะหมดอายุลงในปี ๒๐๑๒
โดยที่ประชุมลงมติยอมรับแผนในการสร้างข้อตกลงเพื่อบรรเทาภาวะโลกร้อนฉบับใหม่ ภายหลังจากที่สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกายอมประนีประนอมกันในเรื่องการกำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีผลผูกมัดประเทศอุตสาหกรรมอย่างชัดเจน ในเอกสารการประชุมที่ว่า “ให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากระดับที่เคยปล่อยเมื่อปี ๑๙๙๐ ให้ได้ ๒๕-๔๐ เปอร์เซ็นต์ ภายในปี ๒๐๒๐” โดยข้อสรุปคือ ให้ระบุเป้าหมายดังกล่าวลงไปในเชิงอรรถของเอกสารการประชุมแทนในฐานะ “เป้าหมายที่ควรจะทำให้ได้”
ข้อขัดแย้งอีกประการคือ การที่ประเทศกำลังพัฒนาเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยช่วยเหลือทางด้านเทคโนโลยีที่ใช้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งถูกคัดค้านจากสหรัฐอเมริกา ความขัดแย้งตรงนี้เองทำให้การเจรจายืดเยื้อไปจนถึงวันที่ ๑๕ ธันวาคม จนในที่สุดก็ตกลงกันได้หลังจากสหรัฐฯ ทนแรงกดดันไม่ไหวจนต้องยอมรับข้อเสนอดังกล่าว
ผลจากการประชุมครั้งนี้คือโลกได้ “แผนปฏิบัติการบาหลี” (Bali Roadmap) ที่มีข้อกำหนดว่า ต้องยกร่างแผนการบรรเทาภาวะโลกร้อนฉบับใหม่ที่จะมาแทนพิธีสารเกียวโตในปี ๒๐๐๙ ให้สำเร็จในการประชุม UNFCCC ที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ซึ่งจะจัดขึ้นในปี ๒๐๐๙
อย่างไรก็ดี มติการประชุมครั้งนี้ก็ถูกโจมตีจากหลายฝ่ายว่า ยอมประนีประนอมกับสหรัฐอเมริกามากเกินไปจนทำให้ข้อความในเอกสารการประชุมออกมาไม่เข้มข้นเท่าที่ควรจะเป็น