เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์ / ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

ตัวอย่างสมุดบัญชีเงินฝากต้นไม้

นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า ป่าธรรมชาติเป็นแหล่งเก็บกักคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดีที่สุดในโลก โดยจะเก็บคาร์บอนไว้ในรูปของเนื้อไม้ รวมถึงมีสารอินทรีย์สะสมในดินสูงกว่าป่าปลูก หากแม้ป่าปลูกจะมีศักยภาพในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่า ก็ถือว่าเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญในยามที่ป่าธรรมชาติลดน้อยลงทุกที

ในแต่ละปี ต้นไม้ปริมาตร ๑ ตัน จะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ๑.๑๘ ตัน และสังเคราะห์ออกซิเจนออกมา ๑.๓๒ ตัน เทียบเท่ากับเครื่องปรับอากาศขนาด ๑๒,๐๐๐ บีทียู รวมกับเครื่องฟอกอากาศอีก ๑ เครื่อง สามารถผลิตกระดาษ A4 ได้ ๒๕ รีม ยังไม่นับคุณค่าที่มีต่อระบบนิเวศของโลกอีกมหาศาล

นักวิทยาศาสตร์พบว่า หากต้องการให้ต้นไม้ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่มนุษย์ปล่อยออกมาในอัตราปัจจุบัน เพื่อให้โลกกลับเข้าสู่ภาวะสมดุลเหมือนในอดีต จะต้องใช้พื้นที่ในการปลูกต้นไม้เท่ากับโลกอีกใบหนึ่ง

สถิติของกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า จากการสำรวจด้วยดาวเทียมเมื่อปี ๒๕๔๗ ไทยมีพื้นที่ป่า ๑๖๗,๕๙๐ ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ ๓๒.๖๖ ของพื้นที่ทั้งหมด ถ้าต้องการเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ถึงร้อยละ ๔๐ ตามเป้าหมายที่วางไว้ในนโยบายการปลูกป่าแห่งชาติปี ๒๕๒๘ จะต้องปลูกป่าเพิ่มอีก ๑๙ ล้านไร่ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยากเพราะมีการบุกรุกป่าเพิ่มขึ้นทุกปี

หลายปีที่ผ่านมา ว่าที่ ร.ต. ไสว แสงสว่าง ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาหลังสวน ได้ร่วมกับผู้ห่วงใยสิ่งแวดล้อมกลุ่มหนึ่งในจังหวัดชุมพร หาทางแก้โจทย์ดังกล่าวด้วย “ธนาคารต้นไม้” (Tree Bank) เพื่อให้การปลูกต้นไม้สามารถยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรไปด้วยนอกเหนือจากการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว

ว่าที่ ร.ต.ไสว แสงสว่าง ผู้จัดการธนาคารต้นไม้

ว่าที่ ร.ต. ไสว ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้จัดการธนาคารต้นไม้ เล่าว่า ตัวเขาทำงาน ธ.ก.ส. มานาน เห็นปัญหาของเกษตรกร ไม่ว่าราคาผลผลิตตกต่ำ สูญเสียที่ดิน ฯลฯ เกิดซ้ำซาก จนเมื่อปี ๒๕๐๕ ที่บ้านเขาประสบภัยจากพายุแฮเรียต ชาวบ้านจึงร่วมกันปลูกต้นตะเคียนทองกันพายุนับร้อยต้นจนภายหลังได้ไม้มาสร้างบ้านแบบไม่ต้องกู้เงิน ทำให้เขามองเห็นหนทางที่เกษตรกรจะลืมตาอ้าปากได้ ต่อมาเมื่อไปเป็นผู้จัดการ ธ.ก.ส. สาขาท่าแซะ ชุมพร ในช่วงที่พายุเกย์ถล่ม หลังพายุสงบเขาต้องอนุมัติเงินกู้ให้เกษตรกรฟื้นฟูความเป็นอยู่ จึงถือโอกาสส่งเสริมการปลูกต้นไม้ โดยชักชวนเกษตรกรปลูกต้นไม้ชนิดอื่นๆ ร่วมกับพืชเชิงเดี่ยวที่มีอยู่เดิม และร่วมกับหน่วยเพาะชำกล้าไม้แจกต้นไม้ให้ชาวบ้านฟรี

“จนปี ๒๕๔๐ เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ มีม็อบเกษตรกรล้อมทำเนียบและสำนักงานใหญ่ ธ.ก.ส. เรียกร้องให้รัฐบาลปลดหนี้ จากนั้นปี ๒๕๔๗ เกิดสึนามิ ผมคุยกับผู้รู้จนได้ข้อสรุปว่าต้องนำต้นไม้มาแก้ปัญหาเหล่านี้”

เขาจึงเสนอแนวทาง “ปลูกต้นไม้ใช้หนี้” โดยมีหลักการว่า “ที่ผ่านมารัฐบอกว่าการดูแลป่าเป็นหน้าที่ของรัฐ ตั้งหน่วยงานใช้งบประมาณมากมาย แต่ยิ่งทำป่ายิ่งหมด เราคิดว่าน่าจะส่งเสริมประชาชนที่ปลูกและดูแลต้นไม้ในพื้นที่ตัวเอง จ่ายเงินให้ต้นละ ๑๐๐ บาทสำหรับต้นไม้อายุ ๖ เดือนถึง ๑ ปี ก่อนจะค่อยๆ เพิ่มมูลค่าเมื่อต้นไม้อายุมากขึ้น ราคานี้เราได้จากกรมป่าไม้ที่คำนวณค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการปลูกป่าของภาครัฐ นี่คือการทำให้ต้นไม้มีค่าขณะมันมีชีวิต จากเดิมที่มีค่าต่อเมื่อแปรรูปขายเท่านั้น ถ้าทำได้จะแก้ปัญหาเรื่องหนี้สินเกษตรกร รัฐจะได้พื้นที่สีเขียวเพิ่มโดยไม่ต้องจ้างใครปลูกป่า แถมได้คนดูแลฟรีๆ ผลต่อเนื่องคือคนไม่เข้าไปตัดไม้ในป่าธรรมชาติอีกด้วย”

ต่อมาคณะกรรมการผู้นำชุมชนแห่งชาติได้เสนอแนวคิดนี้ต่อรัฐบาลพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ จนมีการประกาศเป็นวาระแห่งชาติว่าด้วย “การปลูกต้นไม้ใช้หนี้” เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๐ โดยมีแนวทางจะรับงบประมาณสนับสนุนจากโครงการพัฒนาชุมชน/หมู่บ้านตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ขณะนี้อยู่ระหว่างรอท่าทีรัฐบาลชุดนายสมัคร สุนทรเวช ว่าจะสนับสนุนโครงการต่อหรือไม่

แต่ว่าที่ ร.ต. ไสวได้ริเริ่มโครงการไปก่อนแล้วในจังหวัดชุมพร มีการทำทะเบียนต้นไม้ ระบุพิกัดภูมิศาสตร์ด้วยแผนที่ดาวเทียม คำนวณมูลค่าต้นไม้ที่แต่ละคนมีอยู่ลงสมุดบัญชีเงินฝากต้นไม้ รวมกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ทำธนาคารต้นไม้ระดับสาขา ส่งเสริมให้ปลูกไม้ท้องถิ่นเพื่อรักษาระบบนิเวศป่าภาคใต้ จนปัจจุบันจังหวัดชุมพรมีธนาคารต้นไม้ทั้งสิ้น ๕๑ สาขา มีต้นไม้ปลูกใหม่กว่า ๒ ล้านต้น รวมพื้นที่ ๓ หมื่นไร่ และในอนาคตมีเป้าหมายจะสร้างธนาคารต้นไม้ให้ได้ ๘๔ สาขา ปลูกต้นไม้ ๙ ล้านต้นเพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

“เราไม่รอว่ารัฐบาลอนุมัติงบประมาณหรือไม่ เพราะระหว่างต้นไม้โตมันออกดอกออกผลตลอดเวลา ตอนนี้เฉพาะธนาคารต้นไม้สาขาบากแดงก็สร้างงานให้คนในพื้นที่เลี้ยงตัวเองได้ อนาคตเรายังจะทำสหกรณ์โรงเลื่อยเองเพื่อรับซื้อไม้ปลูกเหล่านี้ นอกจากนี้เรายังปลูกต้นไม้หลายระดับ ทั้งบนดิน ใต้ดิน ฯลฯ ซึ่งมีศักยภาพการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์สูง ดังนั้นไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่กว้างขวางก็สามารถปลูกต้นไม้ได้นานาชนิด ที่บอกว่าต้องใช้ที่ดินเท่ากับโลกอีกใบหนึ่งเพื่อปลูกต้นไม้นั้นเป็นการคำนวณของฝรั่งที่คิดจากต้นไม้บนดินระดับเดียว”

การปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้แก่โลกจึงเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ทุกคนลงมือทำได้ทันที ธนาคารต้นไม้นี้เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า นอกจากต้นไม้จะนำความมั่งคั่งยั่งยืนมาให้แล้ว ยังช่วยชะลอภาวะโลกร้อนและช่วยให้เราสามารถส่งมอบแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ให้แก่คนรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป