คุณลุงและรอยสัก

คุณลุงและรอยสัก

บ้านแบบห้องแถว ก่อด้วยอิฐฉาบปูน ตั้งอยู่หัวมุมถนนอันสงบเงียบ ประตูไม้บานสีเขียว ที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่วันก็เปิดอ้าซ่า

ชายชราคนนั้นยังดื่ม ดื่มจนเมามาย คล้ายว่าวันเวลาสามารถฆ่าให้หมดไปได้ด้วยฤทธิ์สุรา

เรื่องระหว่างผมกับเขาเกิดขึ้นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ริมสี่แยกซึ่งถนนเจ้าอนุตัดกับถนนขุนบูลม กลางนครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

นักเดินทางคนหนึ่งบอกว่าระหว่างเดินทางต้องใช้สัญชาตญาณมากกว่าที่คิด

ใช้เพื่ออ่านคน อ่านสิ่งแวดล้อมและสถานการณ์ฉับพลันที่พร้อมเข้ามาจู่โจมเราทุกเมื่อ

ความจริงเรื่องนี้ไม่มีข้อยกเว้นแม้แต่ในประเทศลาว

ลาว – – ประเทศซึ่งไม่ได้มีแค่ความงามของผู้คนและสถานที่ท่องเที่ยว หากแต่มีประวัติศาสตร์บางหน้าที่ไม่เคยถูกบอกเล่าในนามของหัวข้อที่ “ห้ามพูด” เพื่อรักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศในยุคปัจจุบัน

 

dscf4412bwg

– 1 –

สายวันนั้น ดูจากสีหน้าท่าทางแล้ว ผมประเมินว่าชายชราต้องเมามาไม่ต่ำกว่าสามชั่วโมง

ตามมารยาทผู้มาเยือน เมื่อเจ้าของบ้านใจดีเชื้อเชิญถึงขนาดนี้ก็จำต้องนั่งลงริมวงสุรากลั่นที่ใสหยั่งกับน้ำเปล่า (ทั้งที่ตนเองไม่นิยมเสพสุราบ่อยนักถ้าไม่ถึงวาระจริงๆ)

ชายชราพูดภาษาไทยชัดเจน ผมเดาว่าท่านคงมีญาติโกโหติกาอยู่ทางอีสานบ้านเราซึ่งก็เป็นเรื่องปรกติเพราะแต่ดั้งเดิมคนแถบนี้กินดอง (แต่งงาน) สานสายสัมพันธ์กันก่อนพรมแดนสมัยใหม่จะโผล่ขึ้นบนแผนที่เสียอีก

สักพัก ก็คล้ายกับมีแม่เหล็กมาดึงดูดผมให้ไม่อยากไปไหนต่อ

ชายชราเล่าเรื่องเมืองลาวสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ในปี 1975/2518 

“ผมรบอยู่แถบเชียงขวาง (ภาคเหนือของลาวติดกับเวียดนาม) ตายกันเป็นเบือ สุดท้ายก็ถูกจับแล้วก็ถูกส่งไปสัมมนาอยู่ 9 ปี ลำบากมาก โดนบังคับให้ทำนา ใช้แรงงานอยู่นาน ก่อนจะถูกส่งกลับมาบ้าน”

แม้จะมีอาการมึนเมา แต่แววตานั้นบอกผมว่าสิ่งที่แกพูดนั้นเป็นเรื่องจริง

ประวัติศาสตร์หน้าที่ผมไม่เคยได้เรียนในสมัยประถม มัธยม หรือแม้กระทั่งในห้องเลคเชอร์ของมหาวิทยาลัยพรั่งพรูออกมาจากชายชรา

 

– 2 –

เวียงจันทน์ ปลายทศวรรษ 1960/2510

กระแสธารประวัติศาสตร์นำลาวเข้าสู่จุดที่ความขัดแย้งภายในเขม็งเกลียวขึ้นสู่จุดสูงสุด ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลลาวฝ่ายขวากับกองกำลังของแนวลาวรักชาติกำลังดำเนินไปถึงขั้นใกล้แตกหัก

เชียงขวาง แขวง (จังหวัด) ที่มีพรมแดนติดต่อกับภาคเหนือเวียดนามกลายเป็นสมรภูมิรบที่รุนแรงที่สุดแห่งหนึ่งในอินโดจีน ด้วยกองทัพฝ่ายดำเนินนโยบายเป็นกลางได้ถูกขับพ้นไปจากทุ่งไหหิน เหลือแต่การต่อสู้ระหว่างกำลังของรัฐบาลราชอาณาจักรลาวที่ได้ทุนสนับสนุนจากซีไอเอและเครื่องบินทิ้งระเบิดอเมริกัน กับกองกำลังแนวลาวรักชาติ (คอมมิวนิสต์) ที่หนุนหลังโดยเวียดนามเหนือและจากโซเวียตผู้นำโลกคอมมิวนิสต์เวลานั้น

ทุ่งไหหิน บริเวณที่เต็มไปด้วยไหหินยักษ์นับพันนับหมื่นใบเรียงราย ไฟสงครามถูกโหมกระหน่ำโดยที่สังคมโลกไม่รู้ ด้วยสนามรบในลาวเป็นสงครามลับ (Secret War) เป็นสนามรบรองที่มีสนามรบหลักอยู่ในเวียดนามที่ถูกแบ่งเป็นเหนือและใต้ในขณะนั้น

จากการศึกษาของศาสตราจารย์แกรนท์ อีแวนส์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ลาวระบุว่าช่วงเวลาดังกล่าวมีทหารไทยไปรบร่วมกับอเมริกาในฐานะทหารรับจ้างราว 18,000 คน โดยถือเป็นกำลังหลักที่ช่วยนายพลวังเปา – -นายพลชาวม้งที่ซีไอเอสนับสนุนรบกับทหารเวียดนามเหนือ

แต่ทว่า กำลังของวังเปานั้นถดถอยลงเรื่อยๆ จากการที่ชาวม้งเสียชีวิตไปจำนวนมากในสนามรบประกอบกับที่สหรัฐอเมริกากระแสการต่อต้านสงครามเวียดนามพุ่งขึ้นสูง ทำให้รัฐบาลสหรัฐถูกกดดันจากประชาชนของตนเองให้ค่อยๆ ถอนตัวออกจากหล่มสงครามในอินโดจีนที่ทำให้ลูกหลานของคนอเมริกันต้องตายไปนับพัน

เครื่องบินทิ้งระเบิดสหรัฐใช้อุดรธานีเป็นฐานบินไป “ทิ่ม” (ทิ้ง) ระเบิดในลาวทุกวันนับพันเที่ยว โดยเฉพาะในแขวงเชียงขวาง ทุกหย่อมหญ้าลุกเป็นไฟจากจำนวนระเบิดตลอดสงครามกว่า 3 ล้านตันที่ทิ้งแบบ “เหมารวม” (ไม่สนใจที่ตั้งทางทหารหรือพลเรือน) ซึ่งทั้งหมดมากกว่าระเบิดที่สหรัฐทิ้งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ในสงครามระหว่างค่ายโลกเสรีกับคอมมิวนิสต์ ชะตากรรมของคนจำนวนมากสูญหายไปอย่างเงียบๆ

คนที่เจ็บปวดที่สุดคือประชาชน และเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยที่ต้องทำตามคำสั่งระหว่างศึกอุดมการณ์

ชีวิตลุงบุญมี (ถ้าแกไม่เมาแล้วเล่าผิด) คือหนึ่งในหลายชีวิตที่อยู่ท่ามกลางสงครามครั้งนั้นในฐานะทหารลาวฝ่ายพระราชอาณาจักร และสนามรบที่แกไม่ลืมก็คือการรบที่ทุ่งไหหิน

ลุงบอกว่าการสู้รบกินเวลายาวนานดั่งไม่รู้จบ จนปี 1975 รัฐบาลลาวซึ่งขณะนั้นเป็นรัฐบาลผสมนำโดยเจ้าสุวรรณภูมา เพลี่ยงพล้ำยอมทำอนุสัญญาตั้งรัฐบาลร่วมกับแนวลาวรักชาติโดยเป็นฝ่ายเสียเปรียบทุกประตู

ตรงกับที่ศาสตราจารย์แกรนท์เขียนถึงสถานการณ์ดังกล่าวไว้ว่า 

“รัฐมนตรีทุกคน (ของรัฐบาลฝ่ายพระราชอาณาจักร) จะมีรัฐมนตรีช่วยจากอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งจะมีอำนาจยับยั้งคำสั่งใดๆ ของรัฐมนตรี ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคือแนวลาวรักชาติสามารถบงการให้ระบบบริหารราชการของรัฐบาลหยุดชะงักได้ตลอดเวลาที่ตนต้องการ” ที่สำคัญคือ “กองกำลังปะเทดลาว (คอมมิวนิสต์) จะได้เคลื่อนเข้าสู่หลวงพระบางและเวียงจันทน์เพื่อเข้าร่วมสมทบกองกำลังตำรวจประสม แต่ทางฝ่ายราชอาณาจักรลาวมิได้มีโอกาสเข้าไปยังเขตยึดครองของอีกฝ่ายหนึ่ง…”

ทั้งนี้ในอนุสัญญายังระบุว่ากองทหารต่างชาติต้องถอนตัวออกไป

ในทางหนึ่งผลของมันคือ ทหารสหรัฐและทหารรับจ้างไทยต้องถอนกำลัง

แต่อีกทางหนึ่ง ทหารเวียดนามเหนือนั้นไม่มีการยืนยันว่าถอนตัวออกจากลาวหรือไม่

ระหว่างนี้ กองกำลังนายพลวังเปาซึ่งส่วนมากเป็นทหารม้งปะทะกับทหารฝ่ายเวียดนามเหนือเป็นระยะจนในที่สุดเดือนธันวาคม 1975/2518 “แนวลาวรักชาติ” หรือ “กองกำลังปะเทดลาว” หรืออีกนัยหนึ่ง “คอมมิวนิสต์” ก็ครอบงำระบบบริหารราชการทั้งหมดได้

ประกอบกับสถานการณ์ในประเทศเพื่อนบ้านมาถึงจุดแตกหัก เวียดนามเหนือเข้ายึดกรุงไซ่ง่อนได้ในวันที่ 30 เมษายน 2518 สิงหาคมปีเดียวกันเขมรแดงยึดกรุงพนมเปญ บังคับประชาชนออกสู่ชนบท นำลัทธิคอมมิวนิสต์สุดขั้วมาใช้จนเกิดตำนาน “ทุ่งสังหาร” (Killing Field) จนคนกัมพูชาตายนับล้านจากการทำงานหนักในชนบท

แรงกดดันจากฝ่ายซ้ายทำให้พระเจ้าสว่างวัฒนากษัตริย์ลาวลงนามในพระราชบัญญัติยุบสภาแห่งชาติโดยไม่มีการระบุเวลาเลือกตั้งใหม่

นักการเมือง นักการทหารและปัญญาชนลาวจำนวนมากลี้ภัยไปนอกประเทศ

สถานการณ์เลวร้ายลงจน “ขณะนั้นเจ้ามหาชีวิตลาวทรงอยู่ระหว่างการเสด็จเยือนแขวงหัวพัน เจ้าสุภาณุวงศ์เป็นผู้นำเสด็จ และพวกปะเทดลาวก็เสแสร้งว่าเคารพนับถือพระองค์ ผู้ทรงอดทนฟังเพลงปลุกใจที่ฝ่ายประเทดลาวขับร้องต้อนรับ เมื่อพระองค์เสด็จกลับมายังหลวงพระบางการรัฐประหารเงียบในเวียงจันทน์ก็สิ้นสุดลงแล้ว”

สิ่งที่ไม่เคยถูกบอกเล่าคือคนฝ่ายรัฐบาลพระราชอาณาจักรจำนวนมากถูกนำตัวไป “สัมมนา” ในค่ายกักกัน  โดยที่ไม่มีการคำนึงถึง “สิทธิมนุษยชน” ให้สมกับคำว่า “ปลดปล่อยประเทศ” ให้มี “สันติภาพ เอกราช ประชาธิปไตย เอกภาพ วัฒนาถาวร”  และยังยุบสื่อมวลชนเสรีทั้งหมดที่เริ่มเติบโตขึ้นมาในลาวช่วงทศวรรษที่ 1960/2503

“ลูกเมียลุงตอนนี้อยู่ต่างประเทศ”

“แล้วทำไมลุงไม่ตามไป”

“บ้านลุงอยู่ที่นี่”

ลุงยังบอกว่าในค่ายกักกันนั้นมีความพยายาม “ล้างสมอง” คนที่ไม่เชื่อลัทธิคอมมิวนิสต์ บังคับให้ทำงานหนักและมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกอย่าง

ไม่เคยมีข้อมูลเปิดเผยว่าคนลาวฝ่ายตรงข้ามกับ “พรรคประชาชนปฏิวัติลาว” ตายด้วยวิธีการนี้กี่คน

ตรงกับที่ศาสตราจารย์แกรนท์ระบุว่า “ฝ่ายปะเทดลาวบอกพวกเขา (นายพลและนายทหารของราชอาณาจักรลาว) และภรรยาว่า พวกเขาจะต้องจากบ้านไปเป็นเวลาไม่กี่เดือน แต่ความจริงหลายคนต้องจากไปนานเป็นสิบปี สิบห้าปี และบางคนไม่เคยได้กลับมาหาครอบครัวอีกเลย”

มันทำให้ผมนึกถึงเหตุการณ์บางอย่างที่ผมพบระหว่างหลงเข้าไปในเขตบางเขตของลาว ซึ่งต้องจ่ายเงินค่าคอรัปชั่น รวมถึงอดทนต่อการปฏิบัติตัวของเจ้าหน้าที่ลาวที่ได้ชื่อว่าเป็น “สมาชิกพรรค”เพื่อเอาชีวิตรอดออกมา

 

– 3 –

เวียงจันทน์ ปลายปีพุทธศักราช 2551

ลุงบุญมีถลกแขนเสื้อขึ้นโชว์รอยสักที่อ่านทับได้ว่า “ฮันโด่ย” ซึ่งผมคาดว่าน่าจะมีอะไรบางอย่างเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมอเมริกันหรือเป็นผลพวงหนึ่งจากสงคราม

“เฮาบอกคนอื่นๆ ว่าแปลว่ารักชาติ แต่จริงๆ มันแปลว่าเกลียดคอมมิวนิสต์” แกเอ่ยคำที่ผมไม่คิดว่าจะได้ยินในประเทศลาวออกมา

“แล้วคอมมิวนิสต์ไม่ดียังไงลุง” ผมถามทั้งๆ ที่ไม่แน่ใจในความหมายของรอยสักที่แกบอก

ลุงไม่ตอบ แต่ชวนผมไปดูห้องแถวที่อยู่ด้านข้าง

“ทั้งแนวนี่ใครบางคนยึดหมดไปแบ่งให้กับพรรคพวกตัวเอง ทุกวันนี้พูดไม่ได้ คิดไม่ได้”

แน่นอนฝ่ายคอมมิวนิสต์กล่าวหาว่ารัฐบาลลาวสมัยราชอาณาจักรว่าพึ่งพาจักรพรรดินิยมอเมริกา และเอาอิทธิพลของต่างชาติมาครอบงำคนลาวและชักศึกเข้าบ้าน และแน่นอนว่าไทยเองก็มีส่วนก่อกรรมทำเข็ญกับประเทศและประชาชนลาวในสงครามครานั้นด้วย

แต่ในทางกลับกันผมก็พบว่ารัฐบาลลาวตั้งแต่ปี 1975/2518  เป็นต้นมาดำเนินนโยบายไม่ต่างกันคือพึ่งต่างประเทศเพียงแต่เปลี่ยนไปพึ่งประเทศในค่ายคอมมิวนิสต์อย่างรัสเซีย เวียดนาม แทนเท่านั้น ทั้งยังมีการนำนโยบายเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมมาใช้ก่อนจะพบความล้มเหลวในทศวรรษที่ 1980/2520  ทำให้ต้องหันมาใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบตลาดในชื่อ “นโยบายจินตนาการใหม่” ซึ่งได้แนวคิดจากโซเวียตยุคมิคาอิล กอร์บาชอฟ ที่ผ่อนคลายให้การดำเนินธุรกิจดำเนินไปตามกลไกตลาดมากยิ่งขึ้น และผ่อนคลายกฎระเบียบการปกครองอันเข้มงวดให้ลดลงแต่อำนาจทางการเมืองพรรคการเมืองพรรคเดียว แม้จะมีการร่างรัฐธรรมนูญและประกาศใช้ในปี 2534 และมีการเลือกตั้งเมื่อไม่นานมานี้ก็ตาม แต่นั่นก็ล้วนเป็นการจัดตั้งโดยพรรคคอมมิวนิสต์พรรคเดียวทั้งสิ้น

สื่อมวลชนทั้งหมดในลาวยังอยู่ภายใต้ระบบราชการ และพวกเขาบางคนกระซิบผมว่าอาจ “ถูกอุ้ม” ได้ทุกเมื่อถ้าเสนอข่าวไม่เป็นที่ถูกใจพรรคคอมมิวนิสต์

สำหรับนักท่องเที่ยว ลาวเป็นประเทศที่สงบสุขดี มีวิถีที่ไหลเอื่อยไปตามครรลองอย่างน่าชื่นชม

แต่ภายใต้วิถีที่เห็นนั้นมีบางสิ่งซ่อนอยู่

คนอย่างลุงบุญมียังคงมีกระจัดกระจายอยู่ทั่วลาวพร้อมกับชะตากรรมที่พวกเขาเก็บซ่อนเอาไว้ในใจ

ประชาธิปไตย – –  คอมมิวนิสต์ – – ระบอบกษัตริย์

สัจธรรมที่ผมพบคือ ไม่ว่าระบอบการปกครองใด ชื่อใด หากเนื้อแท้ขึ้นกับครอบครัวครอบครัวเดียว ขึ้นอยู่กับคณะบุคคลคณะหนึ่ง  ไม่ได้เป็นไป “โดยประชาชน เพื่อประชาชน” การปกครองนั้น ย่อมไม่ยังประโยชน์สุขให้กับประชาชนตัวเล็กตัวน้อยอย่างผมหรือลุงบุญมีแต่อย่างใด

แม้ว่าจะเอาคำว่า “ประชาธิปไตย” มาใส่ไว้ในชื่อประเทศ

หรือบอกว่าประเทศปกครองใน “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ก็ตาม

4 thoughts on “คุณลุงและรอยสัก

  • ได้อ่านเรื่องนี้ในปาจารยสาร ฉบับปก ขึ้นปีที่ ๓๓
    ชอบมากค่ะ ทุกคนที่ไปเที่ยวลาว มักไม่ค่อยกล้าคุยเรื่องแบบนี้ หรือคุยแล้วก็ไม่กล้าเขียนออกมาเล่าให้ฟัง
    ในยุคโลกไร้พรมแดนและไร้รัฐแบบนี้ อยากฟังเรื่องราวแบบนี้อีกค่ะ เขียนเยอะๆ นะคะ

  • บ้านไหนๆ ก็ไม่สุขใจเท่าบ้านเรา
    รักเมืองไทยที่สุด

    ขอให้เมืองไทยสงบ…

Comments are closed.