นายธนาคม ดังก้องชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/1 โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี อ. ชะอำ จ. เพชรบุรี | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
เรื่อง นฤมิตรพินิจถ้อยอักษรา ในรวมกวีนิพนธ์ คำหยาด ชักม้าชมเมือง และเพลงขลุ่ยผิว
กวีนิพนธ์ นกขมิ้น" ข้างต้นเป็นผลงานของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ อยู่ในหนังสือรวมบทกวีคำหยาด ซึ่งสมาคมภาษาและหนังสือเคยแปลไปแสดงร่วมในงานทางภาษาและหนังสือที่กรุงเซอูล ประเทศเกาหลี ในฐานะกวีนิพนธ์สมัยปัจจุบันของไทย นอกจากนั้นแล้วกระทรวงศึกษาธิการยังได้บรรจุไว้ในตำราเรียนด้วย นักเขียนผู้นี้จัดเป็นกวีร่วมสมัยที่มีผลงานจำนวนมากที่สุดและมีลีลาเฉพาะตนอันมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง กวีนิพนธ์ของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ได้รับการยกย่องว่ามีความไพเราะ อ่อนหวาน พริ้งพราย เป็นที่ซาบซึ้งตรึงใจของผู้อ่านนับแต่กวีผู้นี้เริ่มสร้างสรรค์งานในยุคแรกๆ ผลงานรวมบทกวีเล่มแรก เมื่อปี พ.ศ. 2502 คือ คำหยาด นับเป็นงานกวีนิพนธ์ร่วมสมัยที่ได้รับการยกย่องอย่างสูง เป็นงานที่รู้จักแพร่หลายที่สุด และต่อมาอีกหลายๆ เล่ม อาทิ อาทิตย์ถึงจันทร์ เพียงความเคลื่อนไหว ชักม้าชมเมือง เพลงขลุ่ยเหนือทุ่งข้าว เพลงขลุ่ยผิว เป็นต้น จึงเป็นการยากนักที่จะหยิบยกเอื้อนเอ่ยถ้อยอักษราที่กวีรัตนโกสินทร์ผู้นี้จารจารึกไว้ได้ครบถ้วน ด้วยเนื้อความอันจำกัดจึงขอพินิจเพียงบางบท และชี้ให้เห็นความดีเด่นงดงามในสองประเด็นของกวีนิพนธ์ที่ชื่นชอบจากสามเล่ม คือ คำหยาด ชักม้าชมเมือง และเพลงขลุ่ยผิว เพื่อปูทางชวนเชิญแก่ผู้สนใจในกวีนิพนธ์ของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ได้อ่านสืบไป ว่าด้วยเรื่อง "ขนบ" แห่งบทกวีของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ในเพลงขลุ่ยผิว และชักม้าชมเมือง อาจกล่าวได้ว่า เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นกวีที่สร้างสรรค์งานด้วยภาษาและลีลาตาม "ขนบ" วรรณศิลป์โบราณของไทยมากที่สุด เนาวรัตน์ประกาศอยู่เสมอว่า งานของตนได้รับอิทธิพลจากสุนทรภู่กวีเอก ลีลากลอนและภาษาที่กวีผู้นี้ใช้เป็นภาษาที่มีสัมผัสแพรวพราวอ่อนหวานเป็นส่วนใหญ่ อันปรากฏในผลงานชิ้นแรกนั่นคือ คำหยาด ดังตัวอย่างบท "ใบศรี" ที่มีว่า...
ในยุคต่อมาเมื่อกวีบางท่านได้ประกาศอุดมคติและปณิธานของตน เนาวรัตน์ก็ได้ประพันธ์บทกวีอันหมายถึงความหมายของกวีนิพนธ์ รวมทั้งคุณสมบัติของกวีไว้ในเพลงขลุ่ยผิว บทที่ 25 ว่า
เนาวรัตน์ได้อธิบายความหมายของกวีนิพนธ์ไว้อย่างละเอียดกว้างขวางในรูปของนามธรรมที่ประณีต จากความเปรียบของกวีสะท้อนให้เห็นว่า กวีเห็นกวีนิพนธ์เป็นการสร้างสรรค์และความหวังอันงดงาม คือนาทีของดอกไม้ใกล้จะผลิ ความใฝ่ความฝันอันเริ่มริ เป็นศิลปะที่สร้างจากความชำนิชำนาญของปราชญ์ภาษา การเน้นความเข้มข้นงดงามของอารมณ์และความรู้สึกที่จะต้องบ่มร่ำขัดเกลาให้เต็มเปี่ยมก่อนจะถ่ายทอดออกมาเป็นศิลปะ ที่มีพลังสร้างอารมณ์และความสะเทือนใจแก่ผู้อ่าน คือความลึกของอารมณ์ที่บ่มร่ำ นอกจากศิลปะเพื่อสร้างอารมณ์แล้ว กวีนิพนธ์ยังเป็นเครื่องสื่อความจริงหรือสัจธรรมแก่ผู้อ่านด้วย คือ ชีวิตชีวาของสัจธรรม การสื่อความจริงนี้ยังรวมถึงการทำให้ความซาบซึ้งตรึงตราใจไม่รู้ลืม คือความจำรำลึกผนึกนาน จึงอาจกล่าวได้ว่า คุณสมบัติของกวีนิพนธ์ตามที่เนาวรัตน์ได้อธิบายแล้วนั้นมีลักษณะเป็นไปตาม ขนบ เดิมอยู่ไม่น้อย เพราะเนาวรัตน์ให้ความสำคัญกับศิลปะการใช้ภาษาและการสร้างอารมณ์สะเทือนใจอันเป็นลักษณะสำคัญของวรรณคดีนั่นเอง นอกจากจะอธิบายความหมายของกวีนิพนธ์แล้ว เนาวรัตน์ยังได้กล่าวถึง คุณสมบัติ ของกวีอย่างละเอียด คุณสมบัติที่สำคัญประการหนึ่งที่กล่าวไว้คือ มีวิญญาณหยั่งรู้มธุรทัศน์ คำว่า มธุรทัศน์ ออกจะเป็นศัพท์พิเศษที่กวีต้องการจะชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่เป็นกวีจำเป็นต้องมีผัสสะแห่งสุนทรีย์เป็นสำคัญ เพราะการมีผัสสะแห่งสุนทรีย์อันประณีตลึกซึ้งนี้เป็นคุณสมบัติสำคัญที่จะทำให้กวีสามารถ รับรู้สัมผัส โลกและสิ่งต่างๆ รอบข้างและผัสสะที่เกิดในใจตนได้อย่างวิจิตรเพริศแพร้วจนสามารถถ่ายทอดให้ผู้อื่นรับรู้ในรูปของศิลปะที่สร้างสรรค์ นั่นคือกวีนิพนธ์และวรรณคดีได้อย่างดี นอกจากนี้ มธุรทัศน์ แล้ว กวียังต้องมีความสามารถในการ เขียนชีวิตจากชีวิต คือ สามารถสร้างงานอย่างสมจริง มีชีวิตชีวาได้ หมายถึงการสร้างงานอย่างหนักแน่น ไม่ว่างเปล่า เลื่อนลอย ทั้งในด้านเนื้อหา และลีลา การเขียนชีวิตจากชีวิตนั้นจำเป็นต้องมีศิลปะแห่งภาษารองรัง คือ นฤมิตรถ้อยคำด้วยสัมผัส การที่เนาวรัตน์ให้กวีสามารถ นฤมิตร ถ้อยคำนั้น เป็นการย้ำความเป็นปราชญ์ทางภาษาของกวี แต่สิ่งที่เนาวรัตน์อธิบายต่อไปนั้นคือ การเนรมิตรที่ใช้ สัมผัส อันเป็นการคล้องจองกันของคำและเสียงตามภาษาของฉันทลักษณ์เท่านั้น เพราะสิ่งที่กวีจำเป็นต้องมีได้แก่ สัมผัสใจสู่ใจ ซึ่งเป็นการถ่ายทอดสุนทรียศิลป์ทางภาษาอย่างประณีตลึกซึ้งกว่าสัมผัสด้านภาษาอย่างเดียว เนาวรัตน์ได้สรุปความคิดในเรื่องคุณสมบัติของกวีไว้ว่า ไม่จำกัดกวีไว้แต่ในคำ อันเป็นประกาศ อิสรภาพ ของกวีนิพนธ์ว่ามิได้เป็นเพียงศิลปะแห่งภาษาและถ้อยคำเท่านั้น แต่กวีนิพนธ์เป็นสุนทรียะอันกว้างขวางลึกซึ้งที่สามารถสัมผัสได้โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบแห่งฉันทลักษณ์หรือไวยากรณ์ของภาษา ในนัยนี้ ดูเหมือนว่าเนาวรัตน์จะมีความเห็นใกล้เคียงกับอังคารผู้ประกาศว่า มีกวีนิพนธ์อยู่ในสรรพสิ่งทั้งหลาย ในธรรมชาติและในจักรวาล ในท้องฟ้า ดวงดาว ใบไม้ ลำธาร ฯลฯ เป็นหน้าที่ของกวีที่จะมีสติปัญญาและผัสสะอันแหลมคมที่จะมองเห็น รับรู้ สุนทรีย์อันเป็นกวีนิพนธ์นี้ แล้วนำมาสร้างสรรค์ ถ่ายทอดเป็นศิลปะให้ผู้อื่นได้รับรู้ซาบซึ้งตาม ในชักม้าชมเมือง กวีนิพนธ์เรื่องยาวของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ได้มีการแสดงทรรศนะเรื่องคุณค่าของวรรณคดีไว้ว่า กวีนิพนธ์และวรรณคดีนั้นมีค่าประดุจ เพชร สูงค่าที่ประดับ คือเป็นเกียรติยศแสดงความเป็นเอกราชของชาติ
ความคิดว่าวรรณคดีหรือกวีนิพนธ์เป็นศิลปะอันสูงเปรียบประดุจเพชรแห่งภาษานั้น เป็นความคิดอันมีลักษณะเป็น ขนบ ที่สืบทอดกันมานานแล้วในวรรณคดีไทย อาจกล่าวได้ว่าเป็นแนวคิดที่ได้รับอิทธิพลจากวรรณคดีสันสกฤตที่มักเปรียบวรรณคดีเป็นพวงดอกไม้หรือแก้วมณีอันมีค่า เนาวรัตน์ยังได้กล่าวถึงจุดกำเนิดของวรรณคดีว่า เกิดจากชีวิตของมนุษย์อันเป็นเนื้อหาและแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์วรรณคดี เพราะชีวิตของมนุษย์มีเรื่องมากมายอันสร้างแรงบันดาลใจแก่กวีได้ แต่กวีจะต้องเข้าใจศึกษาชีวิตมนุษย์ด้วยปัญญาเพื่อนำมาสร้างงานของตน
การใช้ชีวิตมนุษย์เป็นต้นแบบในการสร้างวรรณคดีนี้ เป็นการย้ำถึงทรรศนะที่กวีแสดงไว้แล้วว่า เธอต้องเขียนชีวิตจากชีวิต เพื่อให้วรรณศิลป์ที่สร้างสรรค์ขึ้นนั้นเป็น สัมผัสใจสู่ใจ โดยไม่มีกรอบแห่งฉันทลักษณ์เป็นตัวกำหนดนั่นเอง ผูกพันรัดรึงด้วยความงดงามแห่งธรรมชาติในคำหยาด และเพลงขลุ่ยผิว การบรรยายหรือพรรณนาธรรมชาติถือเป็นแก่นสำคัญประการหนึ่งของวรรณคดีไทย กวีไทยให้ความสนใจกับธรรมชาติในฐานะที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของความเป็นวรรณคดี คือ การสร้างความสะเทือนใจในระดับต่างๆ ด้วยเหตุนี้ในคำหยาด อันเป็นงานรวมบทกวีเล่มแรก จึงมีกวีนิพนธ์หลายบทที่เขียนพรรณนาธรรมชาติโดยเฉพาะ มีความไพเราะซาบซึ้ง และมีลักษณะการพรรณนาที่ให้รายละเอียดของธรรมชาติที่พรรณนา จนผู้อ่านเห็นภาพนั้นอย่างชัดเจนใจได้ แม้ภาพนั้นจะเป็นภาพรวมๆ หรือเป็นเพียงบรรยากาศและอารมณ์ร่วมของกวีที่เกิดจากการรำลึกถึงธรรมชาติ ตัวอย่างการพรรณนาธรรมชาติเช่นในบท คืนหนึ่งในแควน้อย ด้วยความรัก กลับบ้าน บนพรมใบไม้ เป็นต้น เนาวรัตน์พรรณนาธรรมชาติจากความทรงจำรำลึกอันมีเต็มเปี่ยมมากกว่าจะมานั่งมองธรรมชาติในปัจจุบันขณะนั้น แต่ลีลาการพรรณนายังมีรายละเอียดทั้งใน สี แสง เสียง อันปรากฏเป็น ชีวิต ของธรรมชาติ กวีได้อธิบายการรับรู้และรำลึกนึกถึงธรรมชาตินี้ไว้อย่างชัดเจนว่า ภาพเช่นนี้นึกเห็นเป็นเพียงภาพ ยังกำซาบซึ้งจิตยามคิดฝัน ในบท ด้วยความรัก กวีใช้การขึ้นต้นบทที่ทำให้เห็นว่า เป็นการระลึกย้อนหลังถึงภาพของธรรมชาติว่า เคยคิดถึง เมืองทองแม่กลองแก้ว คิดถึงแนวเนินเขาเป็นเงาเขียว หรือในบท กลับบ้าน เป็นลักษณะการผสมผสานการพรรณนาให้รู้สึกถึง ปัจจุบัน และการใช้จินตนาการสร้างภาพตามที่ปรารถนา โดยขึ้นต้นบทด้วยความเศร้าเดียวดายของธรรมชาติว่า ควันไฟลอยอ้อยอิ่งทิ้งทิวไม้ เป็นภาพไหวอยู่หว่างกลางความเหงา ฟ้าสีจืดชืดหม่นปนทึมเทา ทาบทิวเขาครึ้มเขียวดูเดียวดาย และจบด้วยอารมณ์เดียวกัน คือ ความอ้างว้างเศร้าสร้อยด้วยการซ้ำกับวรรคแรกว่า ควันไฟลอยอ้อยอิ่งทิ้งทิวไม้ เป็นภาพไหวอยู่หว่างกลางเวหน และในบท บนพรมใบไม้ อันเป็นบทกวีที่รู้จักแพร่หลาย เนาวรัตน์ได้พรรณนาธรรมชาติที่สะท้อนสุนทรีย์ในฐานะของความงามและจินตนาการสร้างภาพและอารมณ์โดยการเลียนเสียงธรรมชาติ และให้ภาพของธรรมชาติบวกกับ ภาพฝัน คือเจ้าหญิงกับเจ้าชาย สร้างขึ้นเป็นประดุจ ตัวละคร ในบทกวีนั้นกล่าวไว้ว่า
เพลงขลุ่ยผิว เป็นหนังสือกวีนิพนธ์รวมเล่มที่รู้จักกันมากอีกเล่มหนึ่งของเนาวรัตน์ เราจะได้เห็นการใช้ธรรมชาติมาเป็นสื่อวรรณศิลป์อย่างหลากหลาย เพราะงานเล่มนี้เป็นการใช้กวีนิพนธ์ บรรยายภาพ คือมีภาพธรรมชาติอันงดงามยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ ดอกไม้ ท้องฟ้า กลุ่มเมฆ หรือดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ อาจกล่าวได้ว่าภาพอันงดงามของธรรมชาติเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของ สาร ทางอารมณ์ที่กวีต้องการจะสื่อ การพรรณนาธรรมชาติในเพลงขลุ่ยผิว นี้มีลักษณะเป็นการให้ข้อคิด คติธรรม ตลอดจนการเห็นธรรมะจากธรรมชาติ เป็นการมองสภาพธรรมชาติ ในแง่ของความเป็นสัญลักษณ์แทนความหมายอันลึกซึ้ง มิใช่การมองเห็นเพียงความงามความประทับใจจากธรรมชาติ แต่เป็นการสำรวจ สัมผัส ธรรมชาติด้วยปัญญา ทำให้เห็นสิ่งที่ธรรมชาติจะบอกกล่าวแก่มนุษย์ เช่นในเพลงขลุ่ยผิว บทที่ 9 กวีได้พรรณนาสภาพของดวงจันทร์และดวงดาว ว่ามีความเปลี่ยนแปลงเหมือนความสุขทุกข์ในชีวิต ที่ขึ้นอยู่กับความหวังและพลังใจของแต่ละคน กวีได้ปลุกปลอบใจ ให้กำลังใจ ตลอดจนให้ ธรรมะ แก่ผู้อ่านไปด้วยพร้อมๆ กันอย่างกลมกลืน โดยเฉพาะการจบบทด้วยการให้กำลังใจในรูปประโยค คำสั่ง ที่กวีพูดกับผู้อ่านโดยตรงว่า จงก้าวทีละก้าว ละก้าวไปถึงปลายทาง ลักษณะการให้กำลังใจและให้ธรรมะเช่นนี้ปรากฏในบทอื่นๆ อีกหลายบท เช่นบทที่ 10 ที่ว่า
นอกจากนี้ในบางบทเนาวรัตน์ยังใช้กลวิธีเล่าเรื่องให้มีธรรมชาติเป็นตัวละครอันมีพฤติกรรมในเรื่อง เช่น บทที่ 27 ฉันได้เรียนได้รู้อยู่อย่างหญ้า ยืนหยัดฉกาจกล้าทำหน้าที่ กวีใช้กลวิธีการพูดกับผู้อ่าน คือใช้สรรพนาม ฉัน เป็นผู้เล่าเรื่อง ซึ่งทำให้เรื่องกวีเล่าดูเป็นเรื่องปัจจุบันใกล้ตัว มิใช่เรื่องนิยายในอดีต ทำให้สารที่กวีต้องการจะสื่อมีความชัดเจนยิ่งขึ้น และในบทที่ 31 กวีใช้จินตนาการผสมผสานสร้างสัญลักษณ์ ธรรมะ จากธรรมชาติอย่างแนบเนียนงดงาม สร้างความนุ่มลึกซึ้งในแง่การตีความ ผู้อ่านจะได้ข้อคิดหรือธรรมะจากการตีความของตน ต้องไปจนสุดโคนรุ้ง แล้วมุ่งคืนสู่หล้า ฉันเห็นนกน้อยผินพา นกร้อยพันผวาบินสวนทาง มีผู้กล่าวไว้ว่า กวีเป็นผู้มีพันธกิจต่อสังคมด้วยบทกวีนิพนธ์ นั่นคือภาระหน้าที่ของกวีในฐานะที่เป็นผู้สร้างศิลปะด้วยภาษา และเป็นปราชญ์ทางภาษาผู้จะมีส่วนสร้างสรรค์วัฒนธรรมของสังคม พันธกิจของกวีมิใช่กฎบัญญัติที่ตั้งขึ้นเพื่อให้กวีประพฤติปฏิบัติตาม แต่เป็นสถานภาพและทัศนคติของสังคมที่มองกวีรวมทั้งความคาดหวังจากกวี หรืออาจเป็นความมุ่งมาดของกวีที่มองตนเองว่า มีภาพกิจและหน้าที่ประการใดบ้างต่อผู้อ่านงานของตน ต่อสังคม และต่อโลกโดยรวม งานกวีนิพนธ์ทั้งสามเล่ม คำหยาด ชักม้าชมเมือง และเพลงขลุ่ยผิว ผลงานเพียงส่วนหนึ่งของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ก็คงเป็นไปตามคำกล่าวนั้น กวีผู้นี้จึงถือเป็นปราชญ์ทางภาษา ที่สามารถสืบทอดวิญญาณวรรณศิลป์จากอดีตให้มีชีวิตอันสอดคล้องกับสังคมปัจจุบัน ด้วยรากฐานสร้างสรรค์แห่ง ขนบ การเลือกสรร ขนบ มาใช้ทำให้งานของกวีร่วมสมัยยังคงมี เสน่ห์ แห่งวรรณศิลป์ เป็นที่ยอมรับแก่ผู้อ่านเสมอมา และธรรมชาติอันเป็นแก่นสำคัญในวรรณคดีไทยยังคงเป็นพลังบันดาลใจแก่กวี และกวีผู้นี้ยังใช้ธรรมชาติสร้างศิลป์และอารมณ์สะเทือนใจในระดับต่างๆ ในงานของตนอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นผู้แสวงหาและกระหายอยากความงดงามแห่งสุนทรีย์ด้วยการเสพสุขถ้อยอักษราจึงมิควรผินหน้าผ่านเลยหนังสือรวมกวีนิพนธ์ ผลงานของปราชญ์ทางภาษานาม เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ แม้แต่เล่มเดียว |