น.ส. วรพรรณ นาคทับ

ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6/7 โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี อ. เมือง จ. ราชบุรี

เรื่อง ก้าวแรกของการเดิน

ในโลกปัจจุบันการอ่านเข้ามีบทบาทอย่างยิ่งในชีวิตประจำวัน มีโครงการต่างๆ ที่ส่งเสริมการอ่านเกิดขึ้นมากมาย อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังพร้อมใจกันสนับสนุน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการอ่าน จึงมีพระราชประสงค์ให้เยาวชนไทยรักการอ่าน ข้าพเจ้าซึ่งเป็นเยาวชนไทยคนหนึ่งก็ตระหนักถึงความสำคัญของการอ่าน เพราะจะเป็นหนังสือประเภทใดก็ล้วนแต่มีคุณค่าในตัวเองทั้งสิ้น เพียงแต่เราจะมองจากแง่มุมไหนของหนังสือเล่มนั้น เนื่องจากคำว่า "หนังสือดีใช่ว่าต้องดีทุกหน้า" เพียงแต่มีหน้าใดหน้าหนึ่งที่ดีเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านก็นับว่าเป็นวรรณกรรมที่ทรงคุณค่าได้ ข้าพเจ้าจึงอยากให้คนไทยทุกคนรักที่จะอ่าน สิ่งหนึ่งที่เป็นการจุดประกายให้เราเริ่มอ่านหนังสือคือการมีหนังสือสักเล่มที่เป็นเล่มโปรด สุภาษิตจีนบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า "หนทางหมื่นลี้ เริ่มต้นที่ก้าวแรก" คือการรักที่จะอ่านเริ่มต้นที่การอ่าน สำหรับหนังสือเล่มโปรดของข้าพเจ้านั้นมีหลายเรื่องด้วยกัน แต่ข้าพเจ้าอยากแนะนำหนังสือสามเรื่องนี้ให้ได้ลองอ่าน เริ่มจากเรื่องแรก

อยู่กับก๋ง มีรูปแบบการนำเสนอผ่านทางการถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตในวัยเยาว์ของคุณหยก บูรพา เนื้อเรื่องเป็นการดำเนินเรื่องไปตามวันเวลาที่ผันเปลี่ยนไป ผู้แต่งเขียนเรื่องขึ้นมาจากประสบการณ์จริงโดยใช้ตัวเอกของเรื่องคือ หยก เป็นผู้ดำเนินเรื่อง ชวนให้ติดตาม สะท้อนให้เห็นเรื่องราวชีวิตของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่เข้ามาอยู่อาศัยบนแผ่นดินไทย ให้แผ่นดินไทยเป็นที่อยู่ ที่ทำมาหากินและบ้างก็ให้เป็นที่ฝังกลบคราสิ้นชีวิต ซึ่งคนกลุ่มนี้เรียกตัวเองว่า "คนจีน"

ตัวละครสำคัญในเรื่องมี ก๋ง หยก ครูบรรยงค์ ลำดวน เพ้ง คุณนายทองหล่อ นวล และป้าเง็กจู ต่างก็มีความสำคัญลดหลั่นกันไปตามลำดับ แต่ทุกตัวละครก็มีการดำเนินชีวิตในแง่มุมที่ต่างกันออกไป มีทัศนคติที่น่าสนใจ มีความขัดแย้ง ความเกี่ยวพันกันตลอดเรื่อง สะท้อนถึงการอยู่ร่วมกันในสังคม

ชีวิตของก๋งบนแผ่นดินไทย คือชีวิตของชายชราผู้หนึ่งที่พลัดจากบ้านเกิดเมืองนอนมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของกษัตริย์ไทย ก๋งเป็นคนจีนแท้ที่จากเมืองจีนตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 20 ปี แม้ก๋งจะเป็นคนจีนแต่ก๋งก็ปฏิบัติตนเยี่ยงพลเมืองไทยคือเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายไทย รักแผ่นดินไทย เข้าใจคนไทย เทิดทูนองค์พระมหากษัตริย์ไทย และก๋งไม่เคยที่จะลืมขนบธรรมเนียมประเพณี พร้อมทั้งกฎแห่งกรรมตามความเชื่อประเพณีเก่าของจีน อีกทั้งก๋งยังเป็นบุคคลตัวอย่าง คือเป็นคนที่สามารถสงวนวัฒนธรรมดั้งเดิมอันเป็นสิ่งที่ดีงามของประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองไว้ นอกจากนั้นยังยอมรับวัฒนธรรมไทยซึ่งเป็นวัฒนธรรมใหม่ที่ไม่ขัดกับวัฒนธรรมเดิมของก๋งได้ ตัวอย่างหนึ่งที่จะยืนยันถึงการยอมรับวัฒนธรรมของก๋งคือ

"ธรรมเนียมมันเกิดเพราะคนเป็นผู้กำหนดไม่ใช่หรือ เมื่อกำหนดขึ้นมาแล้วก็เปลี่ยนแปลงไปได้ และอย่าลืมว่าธรรมเนียมของคนแต่ละชาติแต่ละภาษาไม่เหมือนกัน คนสองคนนี้ผิด ถ้าเราคิดแต่ยึดถือธรรมเนียม แต่การหาคู่ของเราธรรมเนียมไม่ได้เป็นผู้กำหนด ธรรมชาติต่างหากละที่เป็นผู้กำหนด"

หยกตัวแทนของเด็กชาวจีนที่เกิดในเมืองไทย เมื่อได้รับการเลี้ยงดูและสั่งสอนจากผู้มีคุณธรรมอย่างก๋ง หยกจึงเป็นตัวแทนของเด็กไทยเชื้อสายจีนที่สำนึกอย่างแน่นแฟ้นถึงความเป็นไทยซึ่งจะเห็นได้จากคำกล่าวหนึ่งที่ว่า

"ข้าพเจ้ามั่นใจอย่างยิ่งว่า คนจีนในเมืองไทยทั้งมวลรักแผ่นดินนี้ รู้บุญคุณและกตัญญูต่อร่มเงาที่ให้ความเกษมสุขและให้เสรีภาพอย่างเต็มเปี่ยมจนกล่าวได้เต็มปากว่า "ไม่เคยมีแผ่นดินไหนให้ความสุขคนจีนได้เท่ากับที่ได้รับจากแผ่นดินไทย"

อยู่กับก๋ง จึงเป็นนวนิยายที่ทรงคุณค่า ให้ข้อคิดหลายประการที่ผู้เขียนจงใจแทรกไว้ในแต่ละตอนและในตัวละครแต่ละตัว ซึ่งเราต้องทำความรู้จักไปเรื่อยๆ ผู้เขียนได้พรรณนาถึงความผูกพันระหว่างก๋งกับหลาน และภาพการดำเนินชีวิต ความเชื่อ ปรัชญาชาวบ้านที่ได้จากการดำรงชีวิตที่ต้องต่อสู้มาตลอด นอกจากนี้อยู่กับก๋ง ยังใช้ภาษาที่ชวนให้เกิดจินตนาการทำให้เรารู้สึกว่าได้ก้าวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเรื่อง การบรรยายถึงฉากและตัวละครแสดงถึงความมีชีวิตชีวาซึ่งจะเห็นได้ในเกือบทุกตอนของเรื่องดังข้อความต่อไปนี้

"ฝ่าเท้าเปลือยของฉันย่ำลงไปบนทางเดินที่ก้าวไปสู่ตลาดกลางอย่างไม่แยแสไปกับความขรุขระหยาบกร้านของมัน เด็กห้องแถวอย่างฉันหรือคนหาเช้ากินค่ำทั่วไปไม่เคยพักให้ความสนใจกับความลำบากเล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้"

ทำไมอยู่กับก๋ง จึงเป็นวรรณกรรมที่อยู่ในใจใครหลายต่อหลายคน ไม่เพียงแต่ข้าพเจ้าเท่านั้น คงไม่ใช่เรื่องยากที่จะตอบ เพราะวรรณกรรมเรื่องนี้เป็นวรรณกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติที่มีต่อชีวิต สังคม สัมมาชีพ และขนบธรรมเนียมทั้งของจีนและไทย พร้อมทั้งได้ชวนให้ผู้อ่านตระหนักถึงความงดงามของภาษา ความทรงคุณค่าทางวรรณศิลป์ ความงามทางความคิด คุณค่าของการสะท้อนสังคม แนวคิดของการใช้ชีวิต และค่านิยมของกลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่งในสังคม สำหรับข้าพเจ้าอยู่กับก๋ง จึงนับเป็นนวนิยายอมตะที่สามารถเป็นตัวอย่างของวรรณกรรมยอดเยี่ยมไม่ว่าจะเป็นด้านใด ไม่มีใครที่สามารถสัมผัสความงดงามของอักษรได้จากคำบอกเล่าของผู้อื่น แต่เราจะสามารถสัมผัสถึงรสวรรณกรรมจากการอ่านด้วยตนเอง

นอกจากเรื่องอยู่กับก๋ง แล้วหนังสือเล่มต่อไปที่ข้าพเจ้าจะแนะนำอาจเข้าไปอยู่ในใจใครหลายคนได้ไม่ยาก แต่ถ้าถามว่าเพราะอะไร ข้าพเจ้าอยากให้ผู้อ่านได้สัมผัสกับหนังสือเล่มนี้ด้วยตนเองแล้วเมื่อนั้นคำถามที่มีจะหายไปพร้อมกับคำว่า ทองแดง หนังสือในดวงใจเข้ามาแทนที่

ทองแดง เป็นวรรณกรรมในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ถ้ากล่าวถึงทองแดง ในประเทศไทยคงไม่มีใครไม่รู้จักคุณทองแดงสุนัขพันทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งครั้งหนึ่งพระองค์ทรงพระดำรัสว่า "ทองแดงเป็นสุนัขธรรมดาที่ไม่ธรรมดา" ในเรื่องทองแดง นี้เป็นเรื่องอ่านง่ายๆ สบายๆ แต่ในทุกตอนจะทรงแทรกข้อคิดให้เราได้ตระหนักแม้เพียงข้อความเล็กๆ ถ้าเราลองพิจารณาให้ถ่องแท้เราจะเห็นความนัยที่ทรงแทรกเพื่อเป็นการสอน

เรื่องทองแดง เป็นเรื่องที่ทรงพระราชนิพนธ์ด้วยสำนวนภาษาที่เข้าใจง่าย เป็นวรรณกรรมประเภทสารคดี เมื่อได้ยินคำว่าสารคดีหลายคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ ไม่น่าสนใจ แต่เมื่อลองเปิดหนังสือเล่มนี้ความคิดที่มีอาจจะเปลี่ยนไป ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงถ่ายทอดเรื่องราวเชิงสารคดี ทองแดงเป็นเรื่องราวของสุนัขพันทางที่มีโอกาสได้ถวายตัวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จากการที่ทองแดงเป็นสุนัขแสนรู้ มีสัมมาคารวะ และมีกิริยามารยาทเรียบร้อย เจียมเนื้อเจียมตัว รู้จักที่ต่ำที่สูง เวลาเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ก็จะนั่งต่ำกว่าเสมอแม้จะทรงดึงตัวขึ้นมากอด ทองแดงก็จะทรุดตัวลงหมอบกับพื้น และทำหูลู่อย่างนอบน้อม คล้ายๆ กับแสดงว่า "ไม่อาจเอื้อม"

ในเรื่องจะทรงกล่าวถึงประวัติของคุณทองแดงตั้งแต่เกิด เข้าวัง มีลูก การอบรมสั่งสอนลูกและความเป็นและความเป็นสุนัขแสนรู้ของคุณทองแดง จึงขอยกตัวอย่างตอนหนึ่งในพระราชนิพนธ์ในเรื่องทองแดง เพื่อแสดงถึงความไพเราะทางภาษา

"ทองแดงเป็นสุนัขกตัญญูรู้คุณ ดังที่กล่าวแล้ว เมื่อมาใหม่ๆ ทองแดงอายุเพียง 5 อาทิตย์จึงต้องอาศัยนม แม่มะลิ ซึ่งเป็น หมาเทศ ทองแดงไม่เคยลืมคุณ แม่มะลิ คอยติดตามแม่นมตลอดเวลา แม้เลิกกินนมแม่แล้ว แม้ลูกสุนัขตัวอื่นจะออกไปวิ่งเล่นกัน ทองแดงมักจะคลอเคลียอยู่กับแม่มะลิเลียหน้าเลียตาประจบประแจง บางทีแม่มะลิสอนให้ทองแดงไปคาบกิ่งไม้ (เมื่ออายุ 3 เดือน) ต่อมาเมื่อแยกกันอยู่ เมื่อพบกันทองแดงก็ยังแสดงความเคารพแม่มะลิ ผิดกับคนอื่นเมื่อกลายมาเป็นคนสำคัญ แล้วมักจะลืมตัว และดูหมิ่นผู้มีพระคุณที่เป็นคนต่ำต้อย"

จากบทประพันธ์ข้างต้นจะเห็นถึงพระปรีชาสามารถในการแทรกพระอารมณ์ขันในงานประพันธ์เพื่อให้เกิดความไพเราะทางภาษาซึ่งจะเห็นจากคำว่า หมาเทศ ในความหมายของพระองค์คือหมาเทศบาลไม่ใช่หมาต่างประเทศ อีกทั้งข้อความดังกล่าวยังแสดงถึงแนวคิดที่พระองค์มีพระราชประสงค์ให้เยาวชนได้ตระหนักถึงสิ่งที่พระองค์ทรงสอนผ่านทางตัวหนังสือ ทองแดง จึงนับเป็นวรรณกรรมเล่มหนึ่งที่เหมาะสำหรับผู้ที่จะเริ่มอ่านหนังสือ เพราะเป็นเรื่องที่อ่านเข้าใจง่ายไม่ยุ่งยาก สามารถอ่านไปอมยิ้มไปได้ เมื่ออ่านจะได้สัมผัสกับความมีน้ำพระทัยขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงมีต่อทองแดง และพระอัจฉริยภาพของพระองค์ที่จะทรงสอนเยาวชนไทยผ่านทางหนังสือที่ชื่อว่า ทองแดง

คงไม่แปลกอะไรถ้า ทองแดง จะเป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมจากนักอ่านหลายท่าน และเรื่องสุดท้ายที่ข้าพเจ้าจะแนะนำให้อ่านคือเรื่องเด็กชายจากดาวอื่น คำว่าเรื่องสุดท้ายคือสุดท้ายที่จะแนะนำไม่ใช่สุดท้ายที่จะอ่าน มีคำกล่าวบทหนึ่งกล่าวว่า "การอ่านไม่มีวันจบ มีแต่การเริ่มต้น"

เด็กชายจากดาวอื่น ถ้าพูดถึงชื่อเรื่องหลายต่อหลายคนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องราวของมนุษย์ต่างดาว หรือพวกเอเลี่ยนอะไรพวกนั้น หลายครั้งที่การตั้งชื่อเรื่องทำให้เราสนใจอยากหยิบหนังสือเล่มนั้นมาอ่านว่าเป็นเรื่องอย่างไร ข้าพเจ้าก็เป็นคนหนึ่งที่จับหนังสือเล่มนี้เพราะชื่อเรื่อง แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าประทับใจมากแม้เรื่องจริงไม่ได้เกี่ยวอะไรกับพวกมนุษย์ต่างดาวเลยก็ตาม

เด็กชายจากดาวอื่น เป็นวรรณกรรมที่มีลักษณะการถ่ายทอดโดยให้ปานเป็นผู้ดำเนินเรื่อง ปานเด็กชายที่มีปานแดงที่หน้า มีความเป็นเด็กที่พิเศษกว่าเด็กคนอื่น ถ้าคุณอยากรู้ว่าปานมีความพิเศษที่แตกต่างจากเด็กคนอื่นอย่างไรก็ต้องลองอ่านจากเรื่องนี้ เนื้อเรื่องกล่าวถึงปาน เด็กชายคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าของหมอที่ปานและเพื่อนๆ เรียกว่าแม่ จากเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นมุมมองของเด็กอายุ 6 ขวบ เช่นปาน ซึ่งในบางครั้งเด็กก็จะมีจินตนาการที่เราคาดไม่ถึง บางเวลาเราอาจไม่รู้เลยว่าเด็กคิดอะไรอยู่ แต่ปานจะเป็นตัวแทนของเด็กที่จะสื่อถึงเรา หลายครั้งที่เราอาจมองข้ามความรู้สึกของเด็กไป ตอนที่จะยกตัวอย่างต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องที่จะแสดงให้เห็นถึงความรู้สึกที่เด็กต้องการสะท้อนสู่สังคม

"ปานอยากรู้เหลือเกินว่าเด็กที่ได้กินนมจากอกของแม่นั้นจะมีความรู้สึกอย่างไร"

อีกทั้งเรื่องนี้ยังมีกลวิธีการใช้ภาษาที่สละสลวยชวนให้ติดตามทำให้เรารู้สึกร่วมไปกับตัวละครที่กำลังดำเนินเรื่อง ดังจะเห็นจากตอนหนึ่งของเรื่องเด็กชายจากดาวอื่นที่ว่า

"ปานเห็นน้ำตาของแม่ไหลลงมาตามรอยเหี่ยวย่นของแก้มทั้งสองข้างในขณะที่ภาพดาวอื่นปรากฏชัดอยู่บนหยดน้ำตาซึ่งสะท้อนแสงไฟ"

เรื่องเด็กชายจากดาวอื่น ในที่นี้จึงไม่ได้หมายถึงเด็กที่มาจากดาวคนละดวงกับโลก แต่พวกเขาก็เป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดาเหมือนพวกเรา แต่คำว่าดาวอื่นในหนังสือเล่มนื้คงหมายถึงโลกส่วนตัวที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งเมื่ออ่านเรื่องนี้จบคุณอาจจะคิดว่าคุณก็มาจากดาวอื่นเหมือนกัน แม้จะไม่ใช่ดาวดวงเดียวกับปานก็ตาม

เรื่องเด็กชายจากดาวอื่น จึงนับเป็นวรรณกรรมที่ควรอ่านเรื่องหนึ่ง เรื่องราวสะท้อนถึงสังคมของคนกลุ่มหนึ่งที่ขาดความรับผิดชอบ มีลูกแล้วไม่สามารถรับผิดชอบปล่อยให้เด็กกลายเป็นปัญหาสังคม ปานและเพื่อนอาจโชคดีที่ได้รับการเลี้ยงดูที่ดี มีความรักให้อย่างเต็มที่ แต่เด็กอีกมากมายที่ขาดโอกาสอย่างปานพวกเขาจะเป็นเช่นไร จะอยู่เป็นคนส่วนไหนของสังคม ร้อยล้านคำพูดที่บอกเล่าผ่านตัวอักษรแทนความรู้สึกของเด็กที่บริสุทธิ์คนหนึ่งที่มีต่อสังคม สะท้อนถึงความไร้เดียงสาที่ต้องการบอกแก่สังคม เมื่ออ่านเรื่องนี้จบคุณค่าที่คุณได้มากที่สุดคือคุณค่าทางสังคม แต่เรื่องนี้ไม่ได้เป็นเพียงวรรณกรรมที่ทรงคุณค่าเพียงด้านเดียวเท่านั้น ยังมีคุณค่าทางด้านวรรณศิลป์ ค่านิยม และแนวคิดอีกด้วย

จากวรรณกรรมสามเรื่องที่แนะนำข้างต้น อาจเป็นบ่อเกิดที่จุดประกายให้คนไทยอีกหลายคนได้เริ่มที่จะอ่านหนังสือ พร้อมที่จะให้หนังสือเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ข้าพเจ้าไม่ได้มุ่งหวังให้ทุกคนที่อ่านบทความนี้แล้วต้องชื่นชอบในวรรณกรรมทั้งสามเรื่องที่กล่าวมาข้างต้น ข้าพเจ้าเพียงแต่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ใครสักคนที่ไม่ชอบการอ่านเริ่มที่จะอ่าน เพราะหลายครั้งที่ข้าพเจ้าเริ่มจับหนังสือจากการฟังคำบอกเล่าของคนอื่น จากบทความในสื่อต่างๆ แต่สิ่งที่ข้าพเจ้ายึดถือคือ "ร้อยคำบอกเล่าไม่เท่าหนึ่งการพิสูจน์เอง" รสของวรรณกรรมไม่อาจฟังจากปากของคนอื่น แต่รสของวรรณกรรมเกิดจากการสัมผัส การอ่านด้วยตัวเอง ใช้ลิ้นคนอื่นชิมอาหารแล้วไม่รู้รสฉันใด การฟังคนอื่นอ่านก็ไม่รู้รสวรรณกรรมฉันนั้น อาจเป็นการยากที่จะเปลี่ยนความไม่ชอบให้เป็นความชอบ แต่เมื่อเราทำได้ สิ่งนั้นจะติดตัวเราไปตลอด

"ชีวิตหลายต่อหลายชีวิตที่มีความหวังวาดฝันไว้มากมายแต่มิได้ลงมือกระทำก็คงไม่ต่างอะไรกับการไม่มีก้าวแรกของการเดิน" เหมือนกับการมีหนังสือดีในมือร้อยเล่มแต่ไม่เคยอ่านสักหน้าแล้วจะมีหนังสือเหล่านั้นไว้ทำไม

มีของไม่กี่สิ่งในโลกที่เปลี่ยนโลกมืดให้สว่างไสว เปลี่ยนความไม่รู้ให้เป็นความรู้เปลี่ยนความไม่เข้าใจให้เป็นความเข้าใจ เปลี่ยนความเขลาให้เป็นความฉลาด ของสิ่งนั้นเรียกว่าการอ่านและหนังสือ

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความในกระดาษเพียงไม่กี่แผ่นนี้จะสามารถทำให้ใครสักคนสนใจหนังสือขึ้นมาบ้างไม่จำเป็นต้องเป็นหนังสือที่แนะนำและสิ่งหนึ่งที่ข้าพเจ้าอยากจะบอกแก่สังคม คือ การที่เยาวชนจะรักการอ่านหรือไม่นั้นมีส่วนมาจากสังคม สิ่งแวดล้อม และตัวอย่างที่ดี ดังคำกล่าวถึงที่ว่า "ร้อยคำพูดไม่เท่าหนึ่งตัวอย่างดี" เพราะการอ่านไม่ว่าจะเป็นหนังสือเล่มไหนก็มีคุณค่าทั้งสิ้นเพียงแต่เราจะเอาคุณค่าดังกล่าวมาใช้ได้แค่ไหน สามารถเข้าถึงรสวรรณกรรมที่ผู้แต่งต้องการบอกผ่านการร้อยเรียงอักษรได้เพียงใด อย่างไรก็ตามเพียงบทความนี้ทำให้ใครคนหนึ่งหยิบหนังสือสักเล่มขึ้นมาอ่านก็นับว่าบทความนี้ประสบผลอย่างที่สุดแล้ว