น.ส. สุญญาตา เมี้ยนละม้าย

โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพฯ

เรื่อง คู่มือมนุษย์…แก่นพุทธศาสน์
ใครพลาดอ่านจะอดเป็นมนุษย์

     คู่มือมนุษย์…แก่นพุทธศาสน์นี้ แม่รบเร้าหลายทีให้ลูกอ่าน
เพื่อขัดเกลาฝึกฝนกมลสันดาน เพื่อเป็นฐานชีวิตไม่ผิดทาง
     ท่านพุทธทาสฉลาดล้ำนำมาเล่าองค์พระสัมพุทธเจ้าเปิดโลกกว้าง
ให้รู้ทุกข์รู้ธรรมรู้ปล่อยวางถึงความว่างเปิดทางรอดปลอดอบาย
     ลูกบ่ายเบี่ยงเกี่ยงงอนก่อนได้รู้ นี่แหละครูฉุดเธอฉันก่อนวันสาย
ไม่เสียทีเกิดเป็นคนพ้นงมงาย ตายก่อนตายหายกลัวทุกข์สุขสุดแล้ว
     จึงอยากให้เพื่อนรักประจักษ์ค่าเป็นมรรคาส่องทางทิพย์หยิบดวงแก้ว
เปิดตาใจไขนิพพานสานสืบแนวจักเพริศแพร้วสมคุณค่า “ตรามนุษย์”

ณ บ้านริมบึงราชบุรี
20 เมษายน 2547

แก้วใส เพื่อนรัก

จดหมายฉบับนี้คงสร้างความฉงนแก่เธอไม่น้อยสินะ ที่มีบทเกริ่นนำแบบนี้ เป็นเพราะความรู้สึกสนุกครึ้มใจของเราที่อยากบอกเล่าสิ่งมหัศจรรย์ ที่เปี่ยมไปด้วยความสุขให้เธอรู้ (อดใจไว้ก่อนนะ) เธอคงสบายดีไม่น้อยไปกว่าเรา ปิดภาคเรียนนี้เพื่อนร่วมห้องของเรามีที่ไปดีๆ กันทุกคน หลังประกาศผลสอบไล่และผลสอบเรียนต่อได้สมใจ กลุ่มของเราตบเท้าเข้าเป็นสมาชิกชาวพระเกี้ยว น้อยได้หลายคนรวมทั้งเธอและเราด้วย ยังปลื้มไม่หายเลย เธอคงกวดวิชาเป็นว่าเล่นอยู่ กทม. รอเราไปพลางๆ ก่อนนะ

กลังมาถึงที่จั่วหัวกระดาษเอาไว้ นี่แหละคือสิ่งมหัศจรรย์ที่เราได้ค้นพบในระหว่างปิดภาคเรียนนี้ แต่เป็นนักเขียนและนักอ่านของฉันมันฉุดไม่อยู่จึงต้องออกตัวก่อนว่า “เป็นนักกลอนนอกเปล่าก็เศร้าใจ เป็นนักอ่านอ่านแล้วไม่เล่าก็เหงาจัง” สนใจละสิ เดี๋ยวจะเล่าให้ฟัง

ว่าด้วยหนังสือชื่อลำบากใจวัยรุ่น สองเล่ม คือ คู่มือมนุษย์ และ แก่นพุทธศาสน์ แต่งโดยท่านพุทธทาสภิกขุ ปราชญ์เมธีพระสุปัฏิปันโนแห่งสวนโมกขพลาราม ซึ่งมรณภาพไปแล้วเมื่อปี 2536 แม่เราคะยั้นคะยอถึงขนาดหยิบใส่มือให้หลายครั้ง เราไม่อยากอ่านเลย แม้ชื่อจะแปลกแต่ไม่กระตุ้นความอยากในวัยเราเอาเสียเลย จึงผัดวันประกันพรุ่งเรื่อยมา แต่คราวนี้ผัดผ่อนไม่ได้อีกต่อไป แม่อ้างว่าเราต้องจากอกแม่ไปเรียนที่กรุงเทพฯ จึงต้องเรียนรู้จักตัวเองเอาชนะใจตนเองก่อนจะไปสู้ศึกในเมืองกรุงซึ่งรายล้อมไปด้วยสิ่งยั่วยวนมัวเมา “หากลูกไม่อ่านเอาตัวไม่รอดเป็นแน่” เอาเข้าไป

แต่ก็จริง คู่มือมนุษย์ คือหนังสือเล่มที่ดีที่สุดเท่าที่คนอย่างฉันเคยอ่าน ไม่ใช่บันเทิงประโลมโลก แต่เป็นศาสนคดีจรรโลงโลก ท่านพุทธทาสภิกขุได้แสดงเรื่องอันสำคัญที่สุดที่มนุษย์ทุกคนควรจะรู้และปฏิบัติให้ได้ เพื่อจะได้ไม่เสียชาติเกิด การได้พบพุทธศาสนา เป็นเคล็ดลักของการมีชีวิตอยู่บนโลก อย่างไร้ความทุกข์ มีแต่ความสุขทางใจ ไม่ว่าชาวโลกจะวุ่นวายอย่างไร ซึ่งหลักธรรมที่แสดงไว้ในหนังสือเล่มนี้จะทำให้เราได้พบกับอิสรภาพทางใจอย่างแท้จริงที่ไม่เคยพบมาก่อนและชี้ให้เห็นว่า พุทธศาสนาที่แท้นั่นพระพุทธเจ้าเริ่มสอนเรื่องอะไร และผลของการปฏิบัติตามคำสอนเป็นอย่างไรในที่สุด หากคำสอนของผู้ใดผิดไปจากหลักที่อธิบายไว้ในหนังสือนี้ท่านชี้ว่านั่นไม่ใช่คำสอนของพระพุทธองค์

เนื้อหาโดยรวมคือ คนเราต้องรู้จักพุทธศาสนาอย่างถูกต้องก่อนเพื่อปฏิบัติตนไปถึงเป้าหมายของชีวิตขั้นสุดยอด โดยต้องเข้าใจให้ชัดว่าพุทธศาสนาคือระเบียบปฏิบัติเพื่อให้รู้จักสิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่เราไม่รู้ตามความจริงนี้จึงหลงยึดถือว่าเป็นตัวเราบ้าง ของเราบ้าง ทำให้เป็นทุกข์จึงมีการดำเนินเพื่อการปล่อยวางความคิดยึดติด โดยการศึกษาและปฏิบัติ ศีล เจริญสมาธิ เพื่อให้มีปัญญาเป็นนิสัย และทำให้รู้แจ้งเห็นจริงว่าชีวิตนี้ประกอบด้วยรูปกับนาม ซึ่งไม่ใช่ตัวของเรา ควรปล่อยวางไว้ ทำได้สองหนทาง คือ ทำตามวิธีธรรมชาติ และทำตามหลักวิชาเป็นขั้นตอน ก็จะทำให้พ้นจากวิถีชีวิตแบบชาวโลกที่วนเวียนอยู่กับทุกข์ๆ สุขๆ ไม่จบสิ้น ไปสู่วิถีชีวิตแบบเหนือโลก คือมีชีวิตอยู่เหนือความสุขความทุกข์ เมื่อละจากกิเลสได้ก็เข้าถึงเป้าหมายสูงสุดในพุทธศาสนาเรียกว่า “นิพพาน”

เป็นอย่างไรบ้าง รู้สึกเหมือนเราหรือเปล่า อย่าเพิ่งวางจดหมายฉบับนี้ล่ะ เมื่อได้อ่านเล่มนี้แล้ว เราเห็นด้วยกับคำพูดที่ว่า นี้คือคู่มือมนุษย์เล่มเดียวที่คนเราจะต้องมีเพื่อเป็นบันไดขั้นต้นไปสู่การศึกษาธรรมะในขั้นสูงต่อไป นอกจากนี้ยังได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส แพร่ไปทั่วโลกแล้วด้วย

ในส่วนที่เราชอบมากที่สุดที่ได้อ่านคือบทแรกที่ว่าด้วยมุมมองของคนที่มีต่อพุทธศาสนาในแง่มุมต่างๆ ท่านได้วิเคราะห์เอาไว้อย่างน่าทึ่งว่า

  • พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นหลักจิตวิทยาชั้นสูงตามหลักอภิธรรมปิฎกเปรียบเทียบกับจิตวิทยาเชิงวิทยาศาสตร์ว่าเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
  • พุทธศาสนาเปรียบเทียบกับวิทยาศาสตร์ ชี้ให้เห็นความลึกซึ้งของพระ พุทธศาสนาว่าเป็นวิทยาศาสตร์ทางจิตเข้าถึงได้ด้วยสติปัญญาขั้นสูง
  • พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นวัฒนธรรมประเภท เช่น การทอดกฐิน ทอดผ้าป่า บวชพระ และเป็นศิลปะแห่งการครองชีวิต ในฐานะเป็นอาหารใจอย่างดีสำหรับปลอบประโลมใจให้สงบระงับ

ประเด็นที่น่าทึ่งมากคือ ในฐานะที่เป็นวิธีปฏิบัติเพื่อให้รู้ความจริงว่าสิ่งทั้งปวงเป็นอะไร เพื่อจะได้มีท่าทีต่อสิ่งทั้งปวงโดยไม่ยึดถือหลงใหลเป็นการเข้าถึงตัวศาสนาที่แท้ที่ตรงไปสู่การปฏิบัติด้วยกาย วาจา ใจ เพื่อทำงายกิเลสให้บางเบาและสิ้นไปในที่สุด โดยไม่ต้องอาศัยประเพณีพิธีกรรมใดๆ ทั้งสิ้นซึ่งเป็นเสมือนเปลือกนอกของพุทธศาสนา

เมื่ออ่านบทแรกเรารู้สึกได้ว่าได้รู้ในสิ่งที่เคยรู้มาก่อนและอ่านง่าย เข้าใจง่าย ไม่ยุ่งยาก เหมือนอ่านหนังสือแนวธรรมะอื่นๆ เพราะเป็นภาษาพูดบรรยายไปเรื่อยๆ เหมือนนั่งฟังผู้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้เป็นอย่างดีค่อยๆ เล่าให้ฟังเป็นลำดับ ทำให้มีกำลังใจดีมาก หายวิตกกังวงและอยากอ่านบทต่อไปอย่างไม่รู้จักเบื่อ

สำหรับอีกเรื่องหนึ่งคือ แก่นพุทธศาสน์ เป็นหนังสือที่ดีมาก ท่านพุทธทาสภิกขุได้แสดงใจความทั้งหมดของพระพุทธศาสนา เป้าหมายสูงสุดของพุทธศาสนาและวิธีปฏิบัติเพื่อให้ถึงเป้าหมายสูงสุด กล่าวคือ

หลักพระพุทธศาสนา มุ่งสอนเฉพาะเรื่องความดับทุกข์โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นเสมือนแพทย์ทางวิญญาณรักษาโรคที่มีเชื้อโรค คือความรู้สึกว่ามีตัวกู ของกู ดำเนินชีวิตไปด้วยความเห็นแก่ตัว

คำสอนทั้งหมดสรุปลงสั้นๆ ว่า ”สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ” แปลว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ผู้ใดเข้าถึงได้เท่ากับเข้าถึงพระพุทธศาสนาทั้งหมด

นิพพานคือความว่าง “นิพพานัง ปรมัง สุญญัง” ความว่างจากความยึดมั่นถือมั่นว่ามีตัวกูของกู ความหมายเดียวกับชื่อเราเลย สุญญาตา ไงล่ะ และคนเราควรจะเป็นอยู่ด้วยการควบคุมตัวเอง โดยไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วย นิพพานมีทั้งนิพานถาวร คือการดับไม่เหลือ และนิพพานชั่วคราว คือ ความว่างจากตัวกูของกูชั่วคราวตามธรรมชาติ

ท่านกล่าวว่าจิตใจดั้งเดิมของคนเราว่างจากการปรุงแต่ง เมื่อมีสิ่งมากระทบจะปรุงแต่งไปตามเหตุและปัจจัย สุดท้ายมนุษย์เราควรทำความรู้สึกให้ได้ว่าไม่มีอะไรน่าเอาน่าเป็นอยู่เสมอ เพื่อจะทำให้จิตว่างเป็นนิพพานได้บ่อยขึ้นและยาวนานขึ้น

ท้ายที่สุดควรทำจิตให้น้อมไปสู่ความไม่ยึดมั่นถือมั่นดังกล่าวให้ได้ นี่แหละคือสิ่งมหัศจรรย์ที่เราได้อ่านและพยายามสรุปด้วยสติปัญญาอันน้อยนิด อย่างไรก็ตามเราอยากให้เธอได้ลองอ่านดูสักครั้ง เราจะได้ช่วยกันคิดและแลกเปลี่ยนความเห็น แต่เราขอยืนยันว่านี่คือหนังสือที่ดีมากที่สุดที่เราเคยได้อ่ายอยากบอกเธอ เหมือนในโฆษณาชักชวนให้เยาวชนทั้งหลายหันมาดื่มนมเพื่อสุขภาพกายที่ “รักใครให้ดื่มนม” ในขณะที่เราอยากบอกทุกคนว่าอยากมีสุขภาพที่ดีมีความสุขหมดความทุกข์ด้วยคำกล่าวที่ว่า “รักใครให้อ่านคู่มือมนุษย์และแก่นพุทธศาสน์”

ท้ายที่สุดขอให้เธอมีความสุขกับการอ่านและหมดทุกข์ด้วยหนังสือที่เราแนะนำนำจ๊ะ

 รักและคิดถึง
สุญญาตา เมี้ยนละม้าย
น.ส.สุญญาตา เมี้ยนละม้าย
เกิด 8 เมษายน 2532
ศึกษาชั้น ม. 4 ห้อง 223 รร. เตรียมอุดมศึกษา ถนนพญาไทย เขตปทุมวัน กทม.
ที่อยู่ 117/102 หมู่ 10 ซ. วิศวเสนานิยม ถ. เพชรเกษม ต. ดอนตะโก อ. เมือง จ. ราชบุรี 70000
โทร. 0-6518-4603, 0-3231-9739, 0-6705-0565
อาจารย์ผู้รับทราบการส่งผลงานเข้าประกวด
อ. ผจงวาด พูลแก้ว
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
ถนนพญาไทย เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ