|
"ฟันธง" แปลว่าอะไร ในระยะสี่ห้าปีมานี้ ผมสังเกตว่าบทความในหนังสือพิมพ์จำนวนมาก นิยมใช้ศัพท์ "ฟันธง" มีความหมายทำนองว่า แน่นอน มั่นใจว่าผลจะเป็นเช่นนั้น และพลอยทำให้ศัพท์คำนี้ฮิตติดตลาด เป็นที่นิยมกันทั่วไป ผมอยากทราบว่า คำว่า "ฟันธง" มีที่มาจากอะไร ทำไมต้องฟันธงด้วย (ธรรมนูญ / กรุงเทพฯ) |
|
ก่อนจะพูดถึงคำว่า "ฟันธง" ขอพูดถึงคำว่า "ฟัน" ที่เป็นคำกริยาก่อน ดร. นิตยา กาญจนะวรรณ อธิบายไว้ว่า คำว่า ฟัน นอกจากมีความหมายว่าเอาของมีคมฟาดลงไปแล้ว ปัจจุบันคำนี้มีความหมายที่ขยายออกไปเป็นจำนวนมาก เช่น -กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ตัวอย่างประโยค "งานนี้ฟันไปหลายล้านบาท" -จัดการอย่างใดอย่างหนึ่ง ตัวอย่างประโยค "เจ้านายเป็นคนตรง ถ้าลูกน้องทำผิดก็จะฟันทันที" -กระทำการทางเพศ ตัวอย่างประโยค "ยายคนนั้นน่ะ กูฟันไปเรียบร้อยแล้ว" ทีนี้มาถึงคำว่า "ธง" และ "ฟันธง" คำว่า ธง ตรงกับคำว่า flag ในภาษาอังกฤษ The American Heritage Dictionary of the English Language กล่าวไว้ว่า หมายถึงการส่งสัญญาณให้หยุดได้ด้วย ดังในความว่า "flag down a passing car" คำว่า flag down เมื่อแปลมาเป็นไทย ก็กลายเป็น "ฟันธง" ไปได้อย่างไม่เคอะเขิน กิริยาฟันธงนี้ จะเห็นได้ในกีฬาแข่งรถ ใช้เป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่าถึงเส้นชัยแล้ว ธง นอกจากเป็นอุปกรณ์ซึ่งใช้เป็นอาณัติสัญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ความหมายยังขยายออกไป หมายถึง แนวคำตอบสำหรับข้อสอบ ได้ด้วย ตัวอย่างประโยค "อาจารย์ใหญ่ให้ธงคำตอบมาแล้ว เดี๋ยวพวกเราช่วยกันตรวจข้อสอบพวกนี้ก็ได้" คำอธิบายความหมายนี้ ตรงกับข้อมูลที่ "ซองคำถาม" ได้มาจากเว็บไซต์ pantip.com ห้องสมุด มีผู้เข้ามาอธิบาย (ขออภัยที่ลืมชื่อผู้ให้ข้อมูล) ว่า "ศัพท์นี้ใช้มาก่อนในวงการนิติศาสตร์ เวลาตอบข้อสอบหรือตัดสินคดีความ 'ธง' คือประเด็นใหญ่ หลักใหญ่ คือตัวบทมาตราข้อกฎหมายหลักที่นำมาปรับใช้กับกรณีนั้นหรือโจทย์ข้อสอบนั้น การให้คะแนนของอาจารย์จะแบ่งเป็นส่วน ๆ แต่ส่วนแรกต้องถูกต้องเสียก่อน เรียกว่า 'ธงถูก' หรือ 'ฟันธงถูก' สามารถอ้างอิงบทมาตราได้ชัดเจน ถ้าไม่ถูกตั้งแต่ต้น อาจารย์จะไม่อ่านต่อ ไม่ให้คะแนนเลย แต่ถ้าธงถูก ฟันธงถูก ก็ได้คะแนนไปเกินครึ่ง แต่จะได้มากได้น้อยแค่ไหนต้องตามไปดูอรรถาธิบายขั้นต่อ ๆ ไป การตอบ 'ฟันธง' ก็คือสรุปให้ชัดเจนก่อน ณ เบื้องต้นว่าหลักการคืออะไร จากนั้นจึงค่อย ๆ สาธยายเหตุผล" สรุปว่า ปัจจุบันคำ "ฟันธง" มีความหมายว่า ตัดสินว่าต้องเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ ตัวอย่างประโยค "การชกมวยนัดนี้ ฟันธงลงไปได้เลยว่าฝ่ายแดงจะต้องเป็นฝ่ายชนะ" โดยคำนี้มีที่มาจากแวดวงการเรียนนิติศาสตร์ |
|
เขาเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกากันอย่างไร ดูข่าวการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ แล้วไม่เข้าใจว่าเขามีวิธีการเลือกตั้งแบบใด ทีแรกเข้าใจว่าเหมือนบ้านเราเลือก ส.ส. คือผู้สมัครคนใดได้คะแนนจากประชาชนมากที่สุด คนนั้นได้เป็นประธานาธิบดี แต่ที่ฟังมาไม่ยักใช่อย่างนั้น ขอความกรุณา "ซองคำถาม" ขยายความเรื่องนี้ให้ด้วย (ชนาภรณ์ สิทธิชัย / จ. ลพบุรี) |
|
ทุก ๆ สี่ปี ในวันอังคารแรกถัดจากวันจันทร์แรกของเดือนพฤศจิกายน สหรัฐอเมริกาจะเลือกประธานาธิบดี หลังผ่านกระบวนการที่ซับซ้อนยาวนานกว่าหนึ่งปี การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ไม่เพียงเป็นกิจกรรมทางการเมืองที่ชาวอเมริกันให้ความสนใจ
และตื่นเต้นเป็นพิเศษเท่านั้น นานาชาติต่างก็สนใจติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย ระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ให้ความสำคัญต่อคะแนนเสียงจาก "คณะผู้เลือกตั้ง" (electoral votes) ไม่ใช่จากคะแนนเสียงที่เลือกโดยตรงจากประชาชน (popular votes) electoral votes มีความสัมพันธ์กับ popular votes ดังนี้ ๑. ในแต่ละมลรัฐ แต่ละพรรคชั้นนำทั้งสองพรรคจะเตรียม "คณะผู้เลือกตั้ง" ของตนไว้ก่อน โดยการเลือกสรรของแต่ละพรรค หมายความว่า แต่ละพรรคต่างก็จะมี "คณะผู้เลือกตั้ง" ของตนเตรียมไว้คนละชุดก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดี ๒. "คณะผู้เลือกตั้ง" ในแต่ละรัฐ (มีคนละชุดในแต่ละพรรค) จะมีจำนวนเท่ากับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของรัฐนั้น บวกกับจำนวนสมาชิกวุฒิสภาของรัฐนั้น (ซึ่งแต่ละรัฐมีวุฒิสมาชิกสองคนเท่ากัน) ๓. "คณะผู้เลือกตั้ง" มีจำนวนทั้งหมดรวมกัน ๕๐ รัฐทั่วประเทศ คือ ๕๓๕ เสียง บวกกับ ๓ เสียงจาก District of Columbia (คือที่ตั้งของกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.) เป็นจำนวนทั้งหมด ๕๓๘ เสียง คะแนนเสียงตัดสินคือ ๒๗๐ เสียง ๔. ในวันเลือกตั้ง ผู้สมัครคนใดได้รับคะแนนเสียงข้างมาก จากการเลือกโดยตรงของประชาชน หมายความว่า "คณะผู้เลือกตั้ง" จากพรรคนั้นได้รับเลือก ๕. เมื่อผลของการเลือกตั้งโดยตรงประกาศออกมาครบทั้งหมดแล้ว หมายความว่า "คณะผู้เลือกตั้ง" ทั้ง ๕๓๘ เสียงจากทั่วประเทศนั้น เป็นคะแนนเสียงของทุกรัฐแบบคละพรรค คือผสมระหว่างพรรคเดโมแครตกับพรรครีพับลิกัน ตามแต่ว่าใครจะชนะในรัฐใด ๖. "คณะผู้เลือกตั้ง" จากแต่ละรัฐจะถูกยกไปทั้งชุดตามคะแนนเสียงข้างมาก ของผู้สมัครจากพรรคนั้นที่ได้จากประชาชน เรียกว่า winner-take-all's system เช่น พรรคแคลิฟอร์เนียมี ๕๔ เสียงของคณะผู้เลือกตั้ง ถ้าอัล กอร์ ชนะ จอร์จ ดับเบิลยู บุช เพียง ๕๑ : ๔๙ เปอร์เซ็นต์ อัล กอร์ ก็ต้องได้เสียง ๕๔ เสียงนั้นไปทั้งหมด ไม่ต้องแบ่งให้จอร์จ ดับเบิลยู บุช ตามสัดส่วนที่จอร์จ ดับเบิลยู บุช ได้คะแนนจากประชาชน ๔๙ เปอร์เซ็นต์ ๗. แม้ว่าในวันเลือกตั้ง เมื่อมีการประกาศผลของการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน อันนำมาซึ่งการคำนวณได้ว่าคะแนนเสียงของ "คณะผู้เลือกตั้ง" จะเป็นเท่าใด ผู้สมัครคนใดจะได้รับคะแนนเสียงเกิน ๒๗๐ เสียงแล้วก็ตาม แต่รัฐธรรมนูญกำหนดว่า "คณะผู้เลือกตั้ง" ของแต่ละรัฐจะต้องประชุมกันอีกครั้งหนึ่งในวันจันทร์แรกหลังจากวันพุธที่ ๒ ของเดือนธันวาคมในปีเลือกตั้ง แล้วลงคะแนนเสียงให้แก่ผู้สมัครที่ตนต้องการอีกครั้งหนึ่ง โดยผู้เลือกตั้ง (elector) แต่ละคนมีสิทธิ์เลือกใครก็ได้ (ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ยังไม่เคยเกิดกรณีที่ผู้เลือกตั้ง ออกเสียงคัดค้านผู้ที่ชนะคะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชนส่วนใหญ่) แล้วจึงส่งคะแนนเสียงไปยังรัฐสภาที่กรุงวอชิงตัน เพื่อเปิดซองของทุกรัฐออกนับคะแนน แล้วจึงประกาศคะแนนเสียงของผู้ได้รับเสียงข้างมาก อย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง ๘. ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี จะทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ ๒๐ มกราคมของปีถัดไป |
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สั่งซื้อหนังสือ
| WallPaper
]
สงวนสิทธิ์ ตามกฏหมาย CopyRight. All rights reserved.