|
|
จิตรกรไร้สำนักเรียน ช่างเขียนนอกสถาบัน
(ต่อ) |
ุเรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน |
|
|
|
ผมลองนำเอาสำเนาแบบเรียนของครูเหมชุดนี้
ไปขอฟังความเห็นจาก ดร. สันติ เล็กสุขุม อาจารย์พลิกดูอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนจะกล่าวอย่างระมัดระวังว่า
"ผมเชื่อว่าอันนี้ได้จากตำราต่างประเทศ ทีท่าของเส้น action ของคน ผมคิดว่าเคยเห็นจากตำราฝรั่ง เขาต้องอาศัยตำราฝรั่ง...
แต่ก็แน่นอนว่า
ด้วยความเป็นช่างของเหม เห็นตำราฝรั่งนิดหนึ่งก็เอามาเขียนอธิบายต่อได้"
น่าสนใจว่า จำเนียร สรฉัตร ลูกศิษย์ก้นกุฎิ
ก็เคยได้ยินมาว่า
ครูเหมนั้นเรียนวาดรูปกับ "ครูฝรั่ง" ทางไปรษณีย์ด้วยเช่นกัน
คนใกล้ชิดครูเหมแทบทุกคน
มักจะมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับขุมคลังความรู้แบบฝรั่งของครู ซึ่งได้รับการสะสมเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา เช่นคุณแช่ม เวชกร ภรรยา
ทราบมาว่าครูเหมได้ตำรับตำรา
จากตู้หนังสือในวังบูรพาภิรมย์ ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช มามาก เพราะพวกวังนั้นเป็น "ญาติทางแม่เขา" วิตต์ สุทธเสถียร
นักหนังสือพิมพ์ซึ่งครั้งหนึ่ง
เคยไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของเหม
เห็นว่าครูของเขาได้รับอิทธิพลไม่น้อย
จากมาตาเนีย (F. Matania 1881-1963)
นักวาดภาพลายเส้นชาวอิตาเลียน
ผู้ข้ามฟากมามีชื่อเสียงในอังกฤษ ปยุต เงากระจ่าง จำได้ว่าตู้หนังสือที่บ้านครูมีวารสาร National Geographic อยู่เป็นตั้ง ๆ ส่วนประจักษ์ วงษ์มงคล ลูกศิษย์อีกคนหนึ่งในรุ่นใกล้ ๆ กับปยุต
ยังเคยเห็นครูเหมเก็บรูปยาซิกาแร็ต
ที่แถมมาในซองบุหรี่ที่เป็นรูปตัวงิ้วจีน หรือรูปเรือรบสมัยใหม่เอาไว้ค้นคว้าเป็นแบบ
|
|
|
เอนก นาวิกมูล
นักเขียนนักค้นคว้าเรื่องเก่า
คนสำคัญของเมืองไทย ซึ่งสนใจเรื่องนักวาดภาพรุ่นเก่าด้วย ถึงกับฟันธงฉับว่า "ครูเหมมีชื่อทางภาพชีวิตไทยก็จริง แต่ครูเหมเขียนลายไทยไม่เป็น"
แต่นี่ก็ไม่ใช่เรื่องประหลาดลึกลับอะไร เพราะจากประวัติวัยเยาว์ของ เหม เวชกร
เราก็ได้เห็นแล้วว่า
การฝึกฝนเบื้องต้นของเขา
แตกต่างไปจากขนบ
ของช่างเขียนไทยโบราณ
ชนิดที่ต้องนั่งหัดเขียนลายกนกตามครู
เป็นพันเป็นหมื่นตัว ก่อนจะไต่เต้าไปเขียนภาพอะไรต่อได้ ทว่าเหมนั้นไม่มีครู หรือถึงหากจะมีบ้าง ก็เป็นครูฝรั่งอย่าง คาร์โล ริโกลี เสียอีก เมื่อเป็นดังนี้ เหมจึงไม่มีพื้นฐานทางวิชาช่างของไทย หากแต่มีที่มั่นอยู่ในงานเทคนิคแบบฝรั่ง
"คนที่เขียนภาพลายไทยสวย ก็ต้องครูอาด อ๊อดอำไพ..."
คุณเอนกให้ความรู้กับผมว่า
วงการช่างเขียนภาพปก
ภาพประกอบหนังสือสมัยนั้น ยังมีคนอื่น ๆ อีกมากมาย เฉพาะที่ถือกันว่าเป็นระดับหัวแถว นอกจาก เหม เวชกร แล้ว ก็ได้แก่ เฉลิม วุฒิโฆษิต เสน่ห์ คล้ายเคลื่อน และ ธัญญ อุทธกานนท์
"พวกนี้เขาไม่ได้ประชันขันแข่งกัน เป็นเพื่อนกันด้วยซ้ำ"
|
|
|
ผมถามต่อว่า ก็ในเมื่อมีช่างเขียนที่มีชื่อเสียงอยู่หลายคน
ทำไมครูเหมถึงยังคงยืนยงชื่อเสียง
หรือความโด่งดังเอาไว้ได้ ในขณะที่ผมไม่เคยได้ยินชื่อคนอื่น ๆ เลยด้วยซ้ำ คุณเอนกตอบคำถามนั้นว่า
"ที่ครูเหมดังกว่า
เพราะได้ทำงานมาก วาดมาก เฉลิมวุฒิต้องมาแบ่งงาน แบ่งหน้าที่ ไปเป็นบรรณาธิการ ต้องมาเขียนหนังสือด้วย ส่วน เสน่ห์ คล้ายเคลื่อน ก็อายุสั้น ตายเร็ว หรืออย่างครูอาด อ๊อดอำไพนี่ ที่จริงวาดสวยมาก แต่ทำในนาม 'คณะช่าง'...
ในนามบริษัท ก็เลยไม่มีชื่อเสียง"
"แล้วทำไมครูเหมถึงได้งานทำมากครับ" ผมซักอีก
"ครูเหมเป็นคนมีอัธยาศัย กินเหล้าได้ มีเพื่อนมีฝูง...
เป็นคนมีเพื่อนมีฝูง
เมื่อมีมิตรสหาย
ก็ดึงให้ไปช่วยโน่นช่วยนี่ การมีเพื่อนฝูงมากน่าจะมีส่วน..."
เพื่อนนับเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในชีวิตของเหม เมื่อ "พลตระเวน" เขียนประวัติ เหม เวชกร ในปี ๒๔๙๓ ได้กล่าวอารัมภบทไว้ว่า เขา "มีชีวิตอยู่ด้วยงานกับเพื่อนฝูงเท่านั้น"
ผมไม่รู้แน่ว่าอะไรมาก่อนกัน ระหว่างการมีเพื่อนมาก การเป็นศิลปิน กับการกินเหล้าเก่ง แต่เท่าที่เคยเห็นมา
บรรดานักเขียน
และศิลปินที่รู้จัก
ก็ยังคงเป็นประจักษ์พยานได้ดีว่า
คงต้องมีความเกี่ยวข้องบางประการ
ในระหว่างคุณสมบัติสามข้อนี้แน่นอน
และครูเหมก็ประกอบขึ้นด้วย
องค์สามนั้นอย่างบริบูรณ์
วีรกรรมการกินเหล้าของครูเหมนั้น
เป็นเรื่องที่กล่าวขวัญกันในหมู่ลูกศิษย์ลูกหา
และเพื่อนฝูงจนทุกวันนี้ ใหญ่ นภายน อดีตหัวหน้าวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งเคยรับใช้ใกล้ชิดครูเหมสมัยเป็นวัยรุ่น ถึงกับประกาศตัวว่า "ผมเป็นลูกศิษย์ครูเหมคนเดียว
ที่วาดรูปไม่เป็น แต่ได้มาอย่างหนึ่งคือกินเหล้าเก่ง..."
|
|
|
ส่วน เสาว์ บุญเสนอ ซึ่งเคยร่วมวงกับเหมเล่าว่า "คุณเหมชอบสนุกแบบพวกลูกทุ่ง สมัยนั้นกินเหล้ายาปลาปิ้งกันจริง ๆ เหล้ายาคือเหล้าโรงดองยา ปลาปิ้งคือหัวปลาช่อนตากแห้งที่ร้อยขายเป็นพวง ๆ เอามาย่างไฟให้สุกพอประมาณแล้วทุบให้นุ่มสักหน่อย กินเป็นกับแกล้มกับพวกยาดอง หรือเครื่องดื่มของพวกลูกทุ่งดีนัก"
ใหญ่ นภายน
ซึ่งเคยนั่งหลังวงเหล้าของครู
ก็ยังจำเรื่องปลาปิ้ง (รวมทั้งกับแกล้มอื่นๆ) นี้ได้เช่นกัน
"วิธีกินเหล้าท่านแปลก...
มีกะละมังตั้ง ตรงกลางมีโหลวาง ทุบน้ำแข็งอัดรอบ ๆ เทเซี่ยงชุนลงไปหกขวด ใส่น้ำตาลทรายลงไปคน ๆ บีบมะนาวลงไปสองลูก ฝานใส่ลงไปอีก มีจอกลอยกลางโหล กับแกล้มมีหัวปลาแห้ง...
หัวปลาช่อน ไม่ทอดนะ... ต้องเอามาปิ้ง มันจะหอม แกรู้ว่าผมชอบ ก็ฉีกตรงแก้มส่งให้ กับแกล้มอีกอย่างก็ปลาทูเค็ม...
ครูเหมเก่ง เอาใบตองซ้อน ๆ กัน ปลาทูเค็มวาง หั่นพริกใส่ขิงใส่หอมใส่ มะพร้าวขูดชุบน้ำ บีบเป็นกะทิโรยบนปลาให้ดี เอาไปย่างไฟ เป็นแบบงบ พอปลาทูระอุกับกะทิดีเอามากิน ของจิ้มมีขมิ้นขาว ผักบุ้ง ผักกระเฉด"
|
|
|
ถึงจะมีตำนานว่าด้วยการ "ตั้งวง" ขนาดนี้ แต่เหมก็เป็นคนที่ทำงานหนักมาก ชนิดคืนยันรุ่ง เคยมีผู้ลองคำนวณเล่น ๆ ไว้ในหนังสืองานศพของเขาว่า ภายในเวลาราว ๔๓ ปีที่เหมเขียนภาพมา คิดเฉลี่ยเป็นวันได้ ๑๕,๖๙๕ วัน ถ้าเหมผลิตผลงานเป็นภาพวาดเพียงวันละ ๓ ภาพ (บ่อยครั้งจะมากกว่านั้นมาก) ก็จะได้ถึง ๔๗,๐๘๕ ภาพ !
ที่น่าประหลาดใจ (และน่าเศร้าใจ) ก็คือผลงานมหาศาลนี้ หลงเหลือต้นฉบับตกทอดมาถึงปัจจุบันเพียงน้อยนิด
"ครูเหม เวชกร เป็นศิลปินรุ่นเก่า ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่ใช่ยุคที่ศิลปินเฟื่องฟู
คงมีแต่ครูเหมคนเดียวกระมัง
ที่มีผลงานทางภาพวาดอย่างสม่ำเสมอ ทำนองเดียวกับ ไม้ เมืองเดิม หรือสุนทราภรณ์
และคนส่วนมากก็ถือว่างานของครูเหม
เป็นเพียงภาพประกอบเรื่อง (Illustration)
จึงไม่มีใครเก็บผลงานของครูไว้
ด้วยความเคารพในคุณค่า"
อาจารย์จรรมนง แสงวิเชียร คณบดี คณะศิลปกรรมศาสตร์ และหัวหน้าศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เท้าความ
"เมื่อประมาณ ๒๐ ปีที่แล้ว ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีอาจารย์ที่มองเห็นการณ์ไกลอยู่หลายท่าน
จากการที่เริ่มมีการเก็บผลงาน
ที่มีคุณค่าของจิตรกรบางคนไว้แล้ว ก็ได้ตั้งเป็นโครงการรวบรวมผลงานศิลปกรรมขึ้น
ซึ่งนอกจากจะเป็นโอกาสได้สะสมผลงานที่มีคุณค่า
ของศิลปินที่มีฝีมือดีแล้ว ยังเป็นแนวทางส่งเสริมศิลปินใหม่ ๆ ให้ได้มีโอกาสก้าวขึ้นสู่เวทีทางศิลปะอีกด้วย
|
|
|
"ในส่วนของครูเหม เวชกร นั้น เริ่มต้นจากศาสตราจารย์ ดร. ระวี ภาวิไล ได้เปรยถึงลูกศิษย์ของครูเหม เวชกร ว่า คุณแช่ม ภรรยาของครู มีปัญหาทางการเงิน กำลังจะถูกยึดบ้าน
หากมีหนทางขายรูปของครูเหมได้บ้าง
ก็คงจะบรรเทาปัญหาได้ ขณะนั้นอาจารย์ที่จุฬาฯ
ก็ไม่เคยเห็นรูปของครูเหม
ที่กล่าวถึงนั้นเลย
แต่ก็ตกลงกันเป็นการภายในเสียชั้นหนึ่งก่อน
ว่าอยากจะช่วย เพราะสงสารภรรยาครู ทางจุฬาฯ ได้ติดต่อกับคุณบัญชา ล่ำซำ ประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทย ท่านก็มอบเงินสนับสนุนมาให้จำนวนหนึ่ง และจุฬาฯ สมทบเงินอีกจำนวนหนึ่ง
"จากนั้น ผู้แทนของจุฬาฯ ก็ไปที่บ้านครูเหม พบว่ามีรูปปะปนกันอยู่หลายประเภท รวมๆ อยู่ใต้บันไดปนกับข้าวของอื่น รูปส่วนใหญ่เป็นภาพต้นฉบับ (original) ที่ครูเหมเขียนส่งโรงพิมพ์ บางรูปก็วาดบนถุงกระดาษที่ตัดเอากระดาษด้านในมาใช้ บางทีก็เป็นกระดาษไข บางรูปก็เป็นกระดาษกล่อง กระดาษร้อยปอนด์ก็มี
เห็นได้ว่าครูเหม
ไม่ได้เน้นคุณภาพของกระดาษ"
จนถึงวันนี้ คุณแช่ม เวชกร
ก็ยังชีพอยู่ได้ด้วยดอกผล
ของเงินก้อนนั้น และภาพเขียนฝีมือเหม เวชกร จำนวน ๑,๐๓๔ ภาพ (รวมทั้งโต๊ะทำงานของเขา) ก็ได้กลายเป็นกรุศิลปะสมบัติ (collection) อันล้ำค่ายิ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
|
|
|
๘ สิงหาคม ๒๕๔๒ บริษัทคริสตี้ส์ อ๊อกชั่น (ประเทศไทย) จำกัด
เปิดตัวด้วยการจัดประมูลภาพผลงาน
ศิลปินชั้นครูของเมืองไทย
มีนักสะสมส่งผลงานของครูเหม
เข้าร่วมประมูลด้วยสี่ภาพ เป็นลายเส้นดินสอกับสีน้ำ ขนาดเล็ก ๆ (ประมาณ ๒๓x๒๗ เซนติเมตร)
ภาพขนาดนี้เอง
เคยทำเงินให้แก่ครูเหมได้ไม่เกิน ๒๐๐-๓๐๐ บาท แต่ในวันนั้น
ราคาเฉลี่ย
ที่มีผู้ประมูลไป คือภาพละ ๕ หมื่นบาท และมีภาพหนึ่งที่สู้ราคากันขี้นไปถึงกว่า ๙ หมื่นบาท !
ในกรณีนี้ เหม เวชกร
ก็คงไม่ต่างจากศิลปินระดับโลก
และศิลปินไทยอีกหลายคน ที่กว่าจะมีใครเห็นคุณค่า (และ "มูลค่า") เจ้าตัวก็ล่วงลับไปเสียก่อนแล้ว และถึงแม้ว่า เหม เวชกร
อาจจะเริ่มต้นชีวิตศิลปินของเขา
ได้ถูกจังหวะอย่างที่ ดร. สันติวิจารณ์ไว้ แต่ในหลายครั้ง โอกาสก็อาจจะมาช้าไป
เหมวางมือจากกิจการสำนักงานช่าง เหม เวชกร ที่เชิงสะพานพุทธเมื่อประมาณปี ๒๔๙๖ เพราะเครื่องไม้เครื่องมือไม่ทันสมัย สู้บริษัทอื่นไม่ได้ ทว่า ในส่วนตัวของเขาเอง ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ชื่อเสียงของ เหม เวชกร จะพุ่งขึ้นติดอันดับศิลปินนักวาด "ภาพวิจิตร" อันดับหนึ่งของประเทศ
ฝีมือของเขาเป็นที่ชื่นชม
ตั้งแต่ระดับเด็กนักเรียน
ไปจนถึงองค์พระประมุข
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
โปรดฝีมือการวาดภาพของเขา
เคยพระราชทานพระราชวโรกาส
ให้ครูเหมเข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์หลายครั้ง ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้รับเขาไว้เป็นจิตรกร
ในพระบรมราชานุเคราะห์ด้วย
|
|
|
งานชุดใหญ่ที่ถือได้ว่าเป็น "อนุสาวรีย์"
อีกชิ้นหนึ่ง
ที่เหมได้สร้างขึ้นในช่วงระยะนี้
ก็คือภาพพุทธประวัติ
ที่เขาได้รับมอบหมายจากศึกษานิธิ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ให้เขียนขึ้น แล้วส่งไปพิมพ์ที่ต่างประเทศ มาให้ประชาชนเช่าเป็นการกุศล เพื่อหาเงินมาบำรุงการศึกษา
ภาพชุดนี้เป็นชุดภาพสี
ที่เหมใช้เวลาเขียนติดต่อกันยาวนาน ตั้งแต่ราว พ.ศ. ๒๔๙๘
นอกจากนั้น ในระยะหลังนี้ ผลงานที่สร้างชื่อเสียงอีกด้านหนึ่งให้แก่เหม ก็คืองานเขียนชุด "ผีไทย"
ที่เขาเขียนเองทั้งเรื่อง
และภาพ
เหมเริ่มจับเขียนเรื่องผี
มาตั้งแต่สมัยอยู่เพลินจิตต์ เรื่องแรกของเขาคือ เรื่องผี
ซึ่งใช้ฉากสมัยที่เหมยังทำงานกรมทดน้ำ
ที่ท่าหลวง สระบุรี
เหมเขียนเรื่องผีสืบต่อมาจนถึงช่วง พ.ศ. ๒๕๑๐ ถ้าคิดเป็นจำนวนก็น่าจะมีร่วมร้อยเรื่อง เฉพาะที่เคยเห็นพิมพ์รวมเป็นเล่มใหญ่ๆ ก็มี เช่น ผู้ที่ไม่มีร่างกาย, ปีศาจของไทย, ใครอยู่ในอากาศ, วิญญาณเร่ร่อน เมื่อไม่ถึงสิบปีมานี้ ก็ยังมีสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งนำมาพิมพ์ซ้ำ
สร้างความหวาดเสียวขนลุกขนพอง
ให้แก่นักอ่านรุ่นเยาว์ได้ไม่น้อย
คนรุ่นใหม่หลายคน
ที่อาจจะเคยได้ยินชื่อของเหมบ้าง ก็คือจากงานเขียนชุดนี้นี่เอง
จักรพันธ์ โปษยกฤต ก็เคยเป็นแฟนของเรื่องชุดนี้
|
|
|
"...ภาพประกอบเรื่อง 'ผี'
ซึ่งเป็นเรื่องที่ครูเหมเป็นทั้งผู้แต่ง
และผู้เขียนขึ้นเองนั้น ให้ความรู้สึกน่ากลัวมาก แค่เพียงอ่านเรื่องก็กลัวอยู่แล้ว ยิ่งเห็นรูปยิ่งน่ากลัวใหญ่ บางครั้งยังไม่กล้าดู เพราะตอนนั้นเป็นเด็กอยู่ พอเปิดเจอก็รีบพลิกผ่านๆ ไป..."
แต่เมื่อผลงานเรื่องผีของเหม
กำลังเป็นที่ฮือฮานั้น ภาพวาดของเขากลับแปลกเปลี่ยน
ลูกศิษย์ส่วนใหญ่ของครูเหม
ที่ผมมีโอกาสพูดคุยด้วย ยอมรับว่าครูเริ่ม "มือตก"
รูปคนของเหม
มักยืดยาวขึ้นจนผิดส่วน
นี่คงเป็นผลมาจากการที่เหมยังต้องทำงานหนัก ในขณะที่สังขารเสื่อมถอยลงทุกขณะ
เพราะนอกจากอายุ
ที่ล่วงเลยวัยกลางคนมาแล้ว
ครูเหมยังมีอาการทั้งโรคหัวใจ
และโรคปอด
เหมเคยระบายความในใจไว้เป็นกลอนตอนหนึ่งว่า
"จนป่านนี้ยังมิได้ใกล้สบาย เห็นเป้าหมายแล้วข้างหน้าตายคางาน"
|
|
|
ตามปรกติ ในวันที่ ๖ เมษายน เป็นวันที่ครูเหมกำหนดมีงานปี เป็นงานไหว้ครู หรือวันรับไหว้ลูกศิษย์ มีการทำบุญเลี้ยงพระ
และการสังสรรค์รื่นเริง
ในหมู่ลูกศิษย์ลูกหา หลังงานประจำปี ๒๕๑๒ ครูเหมก็ไม่ค่อยสบาย ไม่ยอมกินข้าวกินปลา กินแต่น้ำชงข้าวคั่ว และน้ำฝนลอยดอกกุหลาบ
๑๗ เมษายน ๒๕๑๒ สิบเอ็ดวันหลังจากวันไหว้ครู เหม เวชกร หมดสติตอนบ่ายสามโมงครึ่ง ที่บ้านเลขที่ ๘๓ ถนนตากสิน ธนบุรี และไปถึงแก่กรรมที่สถานพักฟื้นของเทศบาล อำเภอคลองสาน (ปัจจุบันคือโรงพยาบาลตากสิน) สิริรวมอายุได้ ๖๖ ปี ๓ เดือน
คุณแช่มเล่าว่าก่อนจะหมดสติ
ครูเหมเอามือขวาจีบ
เหมือนจับดินสอเขียนรูปประหลาด ๆ ในอากาศ ปากก็พึมพำว่า "ต้องเขียนอย่างนี้..."
หลังจากนั้นไม่กี่วัน สุทธิชัย หยุ่น เมื่อครั้งยังเป็นนักหนังสือพิมพ์หนุ่มแน่นของ บางกอกโพสต์ ได้เขียนบทความไว้อาลัยเหม เวชกร ชื่อ Elegy for an Artist - อาลัยศิลปิน
ลงพิมพ์เต็มหน้าหนึ่ง
ของฉบับพิเศษวันอาทิตย์ ๒๐ เมษายน ๒๕๑๒ ข้อเขียนสั้น ๆ
เรื่องนี้ของสุทธิชัย
กลายเป็นงานชิ้นประวัติศาสตร์
ที่ถูกอ้างถึงมากที่สุดชิ้นหนึ่งของเขา
|
|
|
หลังจากที่พรรณนาถึงประวัติ ผลงาน และการเสียชีวิตของครูเหมแล้ว สุทธิชัยหยอดท้ายด้วยคำถามที่ว่า Will Thailand ever produced another Hem Vejakorn? Only time will tell. - ประเทศไทยจะมีเหม เวชกรอีกคนได้หรือไม่ ? เวลาเท่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์
ถ้า เหม เวชกร หมายถึงเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีปัญหา หมายถึงวัยรุ่นผู้กำลังแสวงหาตัวตน หมายถึงคนที่ทำงานหนักด้วยใจมุ่งมั่น หรือหมายถึงครูผู้อุทิศตัวในการเผยแพร่ความรู้ เหม เวชกรก็ยังน่าจะวนเวียนอยู่รอบ ๆ ตัวเรา และเมืองไทยก็ไม่เคยขาดแคลนเขา
แต่ถ้าเหมหมายถึงอย่างอื่นล่ะ ?
ครูเหมเป็นคนพิเศษ ของเวลาพิเศษ ที่เฉพาะเจาะจงสำหรับตัวของเขา สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือ ถึงจะมีครูเหมอีกคนหนึ่งจริง ๆ แต่โลกของ เหม เวชกร นั้นจบสิ้นไปแล้ว
ระหว่างสนทนากันหนหนึ่ง
ลูกศิษย์ของเขาหยิบนิตยสารรายปักษ์
ฉบับล่าสุดจากโต๊ะข้างตัว
พลิกให้ผมดูรูปเขียน
ฝีมือนักเขียนภาพประกอบคนดังข้างใน พร้อมกับบอกว่า "นี่มันไม่ใช่ภาพประกอบ..."
เมื่อผมเรียนถามอาจารย์จรรมนง แสงวิเชียร ว่า เหม เวชกร
จะมีความหมายอะไร
กับนิสิตศิลปกรรมของท่านบ้าง ในเมื่อทุกวันนี้ แทบไม่มีใครเคยได้ยินชื่อเขาแล้วด้วยซ้ำ
|
|
|
"งานของครูเหม
เป็นการนำเอาวิธีเขียนภาพแบบตะวันตก
มาใช้กับเนื้อหาที่เป็นไทย นับได้ว่าเป็นผลงานที่ประสบความสำเร็จอย่างมากทีเดียว
นิสิตนักศึกษาสมัยนี้
มีความรู้ทางด้านเนื้อหาของประวัติศาสตร์
และวรรณคดีไทยน้อย เช่น อิเหนา ขุนช้างขุนแผน หรือ พระอภัยมณี ก็ไม่รู้จักลงไปกว่าเดิมมาก
เวลาเขียนภาพกัน
ก็มีเนื้อหาเป็นสากลเป็นส่วนใหญ่
น่าอาจเป็นเหตุผล
ที่ทำให้พวกเขามองข้ามคุณค่าของงานครูเหมไป..."
โลกสมัยใหม่บดเบียดโลกของเหม เวชกรจนแทบไม่เหลือร่องรอย
ตึกสำนักงานเพลินจิตต์เก่า
ที่สี่แยกแม้นศรียังอยู่ แต่ในสภาพทรุดโทรมคร่ำคร่า
และไม่มีใครแถวนั้นหลงเหลือความทรงจำอะไร
เกี่ยวกับชื่อ เพลินจิตต์ ส่วนตึกที่เคยเป็นที่ตั้งของสำนักงานช่าง เหม เวชกร เชิงสะพานพุทธ
ถูกปราบลงราบ
เพื่อสร้างเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งใหม่
ตั้งแต่เมื่อ ๒๐ ปีก่อน แม้แต่บ้านที่เป็นเรือนตาย
ก็ถูกรื้อไล่ที่
หลังจากเขาเสียชีวิตไม่นาน
|
|
|
ผมเดินลัดเลาะแหวกนักท่องเที่ยวนานาชาติ
ที่เดินกันขวักไขว่ในวัดพระแก้ว พวกเขาผจญกับแดดกรุงเทพฯ บ่ายสามโมงด้วยแว่นดำ หมวกสารพัดรูปทรง
รวมทั้งอะไรบรรดามี
ที่พอจะหยิบฉวยมาโบกพัดไล่ความร้อนได้
ไม่นานนัก ผมก็ถึงจุดหมาย
ความจริงที่ตรงนั้นก็อยู่หน้าพระอุโบสถวัดพระแก้วเลยทีเดียว แต่กลับไม่ค่อยมีใครผ่านไปมามากนัก นาน ๆ จะมีฝรั่งผ่านมาสักคนสองคน แล้วก็เดินเลยไป
ห้อง ๖๙ พระรามแผลงศรล้างมังกรกัณฐ์ ถูกมังกรกัณฐ์ตาย ยังคงอยู่ที่นั่น เหมือนที่อยู่มา ๗๐ ปี
ชายคาหลุบต่ำทำให้ภายในพระเบียงค่อนข้างครึ้มสลัว
ผมได้ยินเสียงกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน
หัวเราะกันครืนมาแต่ไกล ๆ คงเป็นอะไรตลก ๆ สักอย่างที่ไกด์เล่าให้ฟัง
ผมทรุดตัวลงขัดสมาธิกับพื้นหินเย็นเยียบ หลังพิงเสา
คุยกับครูเหม
|
|
|
อ้างอิง
-ข้อความในอัญประกาศ
ซึ่งมิได้อ้างไว้เป็นอย่างอื่น คือส่วนที่ผู้เขียนสัมภาษณ์ด้วยตนเอง; ชื่อเรื่อง "เหม จิตรกรไร้สำนักเรียน ช่างเขียนนอกสถาบัน"
ผู้เขียนขอยืม
และดัดแปลงมาจากตอนหนึ่งในคำไว้อาลัยของ เปล่ง ตันศุขะ "ชั่วสองนาที" ใน ครูเหม ที่ว่าเหมเป็น "จิตรกรผู้ไร้สำนักเรียน ช่างเขียนผู้ปราศจากสถาบัน"
-ข้อความที่กล่าวถึงเหมว่า "ผู้ชายอ้วนๆ ดำๆ ตาคมๆ ผมหยิกๆ " มาจากคอลัมน์ "สังคม" ของหนังสือพิมพ์ เอกชน รายสัปดาห์ ปีที่ ๓ เล่ม ๕ วันเสาร์ที่ ๑๒ มกราคม ๒๔๘๙ หน้า ๔๗
-คำพรรณนาชุดทำงานของเหม มาจากคำไว้อาลัยของ เสาว์ บุญเสนอ "เหม...
ผู้บุกเบิกภาพวิจิตร" ในครูเหม
-หนังสือ ศิลปินเอกของกรุงรัตนโกสินทร์ โดย "พลตระเวน" (สุนทร ทวีโภค) หนังสือพิมพ์ นครไทย จัดพิมพ์จำหน่าย ๒๔๙๔
เป็นการรวมเรื่อง
จากที่เคยลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ พวงพยอม รายสัปดาห์ เมื่อปี ๒๔๙๓ หนังสือเล่มนี้ค่อนข้างหายาก ในหอสมุดแห่งชาติมีรายชื่อแต่ไม่พบตัวเล่ม ในที่นี้
ได้รับความกรุณาเอื้อเฟื้อต้นฉบับ
จากคุณเอนก นาวิกมูล
นอกจากนั้นยังทราบว่า
มีในสำนักวิทยบริการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย
|
|
|
-หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพของเหม เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๑๒ มีสองเล่ม เล่มหนึ่งจัดทำโดยคณะศิษย์ ปกแข็งสีดำ มีรูปเหมทำด้วยทองแดงดุน พิมพ์ปกที่มุมขวาล่างว่า ครูเหม (เล่มนี้ไม่มีเลขหน้า) อีกเล่มหนึ่ง ไทยวัฒนาพานิชย์จัดพิมพ์ ปกอ่อนสีเทา มีรูปถ่ายเหม เวชกร เป็นปก ใช้ชื่อว่า อนุสรณ์ เหม เวชกร ส่วนหนังสือเฉพาะกิจ ที่อาจินต์ ปัญจพรรค์จัดทำให้ ชื่อ แด่ เหม เวชกร ฉบับที่ใช้ในที่นี้
เป็นการพิมพ์ซ้ำ
โดยสำนักพิมพ์ปาปิรัส เมื่อปี ๒๕๓๕ ในชื่อใหม่ว่า แด่ เหม เวชกร จิตรกรและนักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่ของไทย (ต่อไปจะอ้างถึงว่า แด่ เหม เวชกร) อนึ่ง ยังมีงานเขียนประวัติของเหมอีกเรื่องหนึ่ง คือ เหม เวชกร จิตรกรมือเทวดา โดย เริงไชย พุทธาโร พิมพ์ครั้งแรกใน ถนนหนังสือ เล่มที่ ๓๙ กันยายน ๒๕๒๙ และต่อมาพิมพ์รวมเล่มกับ หลวงสารานุประพันธ์
ราชาเรื่องลึกลับ
ผู้ประพันธ์เพลงชาติไทย ครั้งแรกโดยธานธิศรเพรส ในปี ๒๕๓๑ และมีการตีพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้งในเวลาต่อมา
เนื้อหาส่วนใหญ่ของเริงไชย
ก็อ้างอิงจากหนังสือสี่เล่มนี้เช่นกัน
|
|
|
-ดูเรื่องทั่วไปเกี่ยวกับเรือโยง ใน ของเก่าเราลืม รถไฟ-
เรือเมล์- ทะเล- รถราง โดย ฒ. ผู้เฒ่า พิมพ์ครั้งที่ ๒ พี. วาทิน พับลิเคชั่น ๒๕๓๒ หน้า ๑๑๗-๑๒๔ ส่วนชีวิตเรือโยงของ ป. อินทรปาลิต ดูใน ป. อินทรปาลิต ชีวิตของคนขายฝัน โดย เริงไชย พุทธาโร พิมพ์ครั้งที่ ๒ โดยธานริศรเพรส ๒๕๓๐ หน้า ๖๕-๖๖ และเรื่องชีวิตนายท้ายเรือประมงของ สง่า อารัมภีร ดู "ผีไทย แจ๋วเจอผีพี่เหม" ใน แด่ เหม เวชกร หน้า ๖๖-๖๗
-เหมเล่าเรื่องการเล่นดนตรีของเขาไว้ใน "สำเนียงบอกภาษา" แด่ เหม เวชกร หน้า ๑๔๙
-สงบ สวนสิริ
เล่าเรื่องบรรยากาศการเล่นดนตรี
ประกอบหนังเงียบไว้ใน "ไม่แต่พระวิษณุกรรม พระประโคนธรรพก็ต้องการ เหม เวชกร" แด่ เหม เวชกร หน้า ๓๑-๓๒ และอาจดูเพิ่มเติมได้จากรายงานข่าวการอภิปรายเกี่ยวกับ เหม เวชกร ที่จัดขึ้นที่จุฬาลกงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๒๔ ในโอกาสการแสดงนิทรรศการผลงาน เหม เวชกร ที่ทางจุฬาฯ จัดซื้อมาใน "รำลึกถึง เหม เวชกร...ศิลปิน" โลกหนังสือ ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๒๔ หน้า ๘-๑๓
-ชีวิตนักดนตรีไทยของ มนัส จรรยงค์ ดูในคำไว้อาลัยของ เหม เวชกร "มายากแต่จากง่าย" หน้า ๒๓๕ คำไว้อาลัยของ นิยม จรรยงค์ "พี่นัส จรรยงค์ ในความทรงจำของน้องทุกคน" หน้า ๓๕๑-๓๕๒ และของ ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ "ลูกน้ำเพชร" หน้า ๓๖๓-๓๖๔ ทั้งหมดอยู่ใน อนุสรณ์ มนัส จรรยงค์ พิมพ์ครั้งที่ ๒ โดยแหล่งพิมพ์เรือใบ ๒๕๐๙
|
|
|
-ประวัติศาสตร์ของหนังเงียบ
และภาพยนตร์เสียงในเมืองไทย ดูใน สารคดี ฉบับที่ ๑๕๐ สิงหาคม ๒๕๔๐ (๑๐๐ ปี ภาพยนตร์ในประเทศไทย)
-ดูภาพหน้าปกนิยายฝีมือเหม รุ่นแรก ใน ส. บุญเสนอ (เสาว์ บุญเสนอ) ตามรอยลายสือไทย ต่วย'ตูน ปีที่ ๑๔ เล่ม ๗ มีนาคม ๒๕๒๘ หน้า ๒๒-๒๕ และดูเรื่องเกี่ยวกับคณะเพลินจิตต์ เวช กระตุฤกษ์ และยุคของนิยาย ๑๐ สตางค์ ในงานชุดตามรอยลายสือไทย ของ ส. บุญเสนอ พิมพ์ใน ต่วย'ตูน ปีที่ ๑๖ เล่ม ๑ กันยายน ๒๕๒๙-เล่ม ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๐
-ศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์ เล่าเรื่องการเรียนวาดเขียนกับเหมไว้ในเรื่อง "ด้วยความอาลัยยิ่ง" อนุสรณ์ มนัส จรรยงค์ หน้า ๑๓๕-๑๓๖
-ยศ วัชรเสถียร เล่าเรื่อง แผลเก่า และ ไม้ เมืองเดิม ในหนังสือ มนัส จรรยงค์ และ 'ไม้ เมืองเดิม' เคล็ดไทย ๒๕๒๐
-ดูประวัติ เฉลิม วุฒิโฆษิต-"เฉลิมวุฒิ" ใน นักเขียนสยาม ของ ส. พลายน้อย หน้า ๑๗๑-๑๙๑ และเฉลิมเล่าเรื่องความหลังกับเหมไว้ใน "แด่ยอดจิตรกร" ครูเหม
-เหมเล่าเรื่องการ "ขาดทุนฉิบหายขายตัว" ของคณะเหมให้ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ฟัง ใน "ย่ามความจำรั่วสู่มือ อาจินต์ ปัญจพรรค์ แด่ เหม เวชกร หน้า ๙๓
|
|
|
-ดูตัวอย่างงานช่วง ประมวญวัน และ สร้างตนเอง ของ เหม ใน ครูเหม
-ฉันท์ สุวรรณบุณย์ เขียนประวัติของเหมไว้ในหนังสือ ประวัติครู คุรุสภา ๒๕๑๔ (หน้า ๒๕๖-๒๗๒)
ช่วยหนึ่งฉันท์เล่าถึงช่วงที่เหมเข้ารับราชการ
ในกระทรวงศึกษาธิการไว้ นอกจากนั้นแล้วยังเล่าด้วยว่า ในช่วงปี ๒๔๙๖-๙๗ เหมเคยกลับเข้ามาเป็นลูกจ้างกระทรวงศึกษาฯ อีกครั้งหนึ่ง แต่เป็นเพียงระยะสั้น ๆ
-สันต์ เทวรักษ์ เล่าเรื่องหนังสือ โบว์แดง และการก่อตั้งสำนักงานช่าง เหม เวชกร ไว้ใน "บทบันทึกพี่เหมกับผม" แด่ เหม เวชกร หน้า ๔๕-๖๔
-วิตต์ สุทธเสถียร ให้สัมภาษณ์กับ โลกหนังสือ ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๔ มกราคม ๒๕๒๕ ว่าเขาเคยไปเป็นลูกศิษย์เหมด้วย
และเขาเห็นว่าเหมได้รับอิทธิพล
จากรูปของมาตาเนีย
ที่พิมพ์ในหนังสือรายเดือนชื่อ Britania&Eve ไม่น้อย
|
|
|
-เสาว์ บุญเสนอ เล่าเรื่องการกินเหล้าของเหมไว้ใน "เหม...
ผู้บุกเบิกภาพวิจิตร" ครูเหม
-การคิดคำนวณจำนวนผลงานของเหมนี้ ไม่ปรากฏว่าเป็นผลงานของใคร แต่ลงพิมพ์ในชื่อเรื่องว่า "อมตะ" ดู ครูเหม
-การกำหนดอายุภาพชุดพุทธประวัติที่เหมเขียนให้แก่ศึกษานิธิ ของวัดพระเชตุพนฯ เป็นการประมาณโดยอาจารย์ปยุต เงากระจ่าง
-ส. บุญเสนอ เล่าเรื่องการเริ่มเขียนเรื่องผีของเหมไว้ใน "ตามรอยลายสือไทย" ต่วย'ตูน ปีที่ ๑๗ เล่ม ๑๒ สิงหาคม ๒๕๓๑ หน้า ๕๐
-จักรพันธุ์ โปษยกฤต เล่าเรื่องหนังสือชุดผีของเหม ใน "เหม เวชกร เอกศิลปินในงานภาพประกอบไทย" โดย ดลหทัย บ้านและสวน ปีที่ ๒๐ ฉบับที่ ๒๓๙ กรกฎาคม ๒๕๓๙ หน้า ๒๒๓
-คำกลอนของเหม ใช้ชื่อว่า "ตามอารมณ์" ใน ครูเหม
-เรื่องเกี่ยวกับช่วงสุดท้ายในชีวิตของเหม มาจากที่ อาจินต์ ปัญจพรรค์ เล่าไว้ใน "ย่ามความจำรั่วสู่มือ อาจินต์ ปัญจพรรค์ แด่ เหม เวชกรหน้า ๑๐๓-๑๐๔
|
|
|
ขอขอบพระคุณ
บริษัทคริสตี้ส์ อ๊อกชั่น (ประเทศไทย) จำกัด, อาจารย์จรรมนง แสงวิเชียร, คุณจำเนียร สรฉัตร, คุณแช่ม เวชกร, โรงเรียนเทพศิรินทร์, อาจารย์ปยุต เงากระจ่าง, อาจารย์ประจักษ์ วงษ์มงคล, ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ, คุณสมาน (ใหญ่) นภายน, ศ.ดร. สันติ เล็กสุขุม, อาจารย์สุวัฒน์ เกสรกุล, คุณเสาว์ บุญเสนอ, โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก, คุณเอนก นาวิกมูล, คุณมณู พีระพันธุ์, คุณโอม รัชเวทย์, คุณสุรพล พิทยาสกุล, คุณสุระ นิยมวัน, คุณมานิตย์ จรูญชนม์, สมาคมการ์ตูนไทย โทร. ๖๒๓-๓๑๔๒, ๘๖๙-๑๙๐๒, กลุ่มรักครูเหม โทร. ๐๑-๔๙๗-๕๔๕๔, ๔๑๒-๔๗๑๗
|
|
|
|